รายงาน: 10 ประเด็นใหม่ที่ค้นพบจากงานวิจัยการโกงในสังคมไทย

คอร์รัปชันเป็นปัญหาสำคัญลำดับต้นๆ ที่สังคมไทยพูดถึงและพยายามหาทางแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง แต่เดิมผู้คนมักมองว่า คอร์รัปชันหมายถึงความไม่ซื่อสัตย์ จึงควรแก้ด้วยการสอนให้คนซื่อสัตย์และเป็นคนดี แต่ในปัจจุบันสังคมไทยเริ่มมองเห็นความซับซ้อนคอร์รัปชั่นมากขึ้น มีการนำเอาปัจจัยและบริบทแวดล้อมเข้ามาทำความเข้าใจปัญหา เช่น การต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากในการเลือกระหว่างความสัมพันธ์ส่วนตัวและผลประโยชน์สาธารณ์ ซึ่งหลายครั้งก็ไม่ได้แบ่งกันชัด เป็นต้น

ล่าสุด ในงาน Thailand Research Expo 2018 เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2561 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และนักวิจัยจาก SIAM Lab ได้เข้าร่วมเสวนาว่าด้วยประเด็น ‘กลไกต้านคอร์รัปชั่นเชิงพื้นที่’ โดย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการ SIAM Lab นำเสนอ 10 ประเด็นใหม่ที่ค้นพบมาจากโครงการวิจัย “สังคมไทยไร้คอร์รัปชั่น” ที่ทำมาตลอด 1 ปี

จากนี้ไปคือ 10 ประเด็นใหม่ที่จะทำให้คุณเข้าใจคอร์รัปชั่นมากขึ้น

 

 

1

คนแต่ละช่วงอายุเข้าใจคำว่า ‘คอร์รัปชัน’ ไม่เหมือนกัน โดยสังคมก็ไม่เคยให้ความชัดเจน

 

มีการสอบถามคนไทย 1,200 คน (แทนคนไทยทั่วประเทศได้ตามหลักสถิติ) ด้วยคำถามง่ายๆ ที่ว่า “คอร์รัปชั่นคืออะไร” โดยให้ตอบเป็นคำพูด ไม่ได้กรอกแบบสอบถาม เพื่อให้ได้คำตอบที่ตรงกับความคิดของผู้คนที่สุด ผลออกมาว่า

ในกลุ่มคนอายุมากกว่า 30 ปี คนส่วนใหญ่ตอบว่า คอร์รัปชันคือการที่นักการเมืองโกงเงิน โดย 64 เปอร์เซ็นต์ตอบด้วยคำว่า นักการเมือง นักเลือกตั้ง และ ส.ส. ซึ่งตีความเป็นกลุ่มเดียวกัน  53 เปอร์เซ็นต์ตอบว่า ‘โกง’ (71 เปอร์เซ็นต์ใน 53 เปอร์เซ็นต์ จะตามด้วยคำว่า ‘เงิน’) 

ส่วนในกลุ่มคนอายุน้อยกว่า 25 ปี ผู้ตอบแบบสอบถาม 64 เปอร์เซ็นต์มองว่า การคอร์รัปชันคือ เจ้าหน้าที่รัฐฉวยโอกาสเอาประโยชน์เข้าตัวเอง มี 51 เปอร์เซ็นต์ที่มองว่า การคอร์รัปชันคือการใช้อำนาจในทางที่ผิด 

ผลจากแบบสอบถามดังกล่าวตีความได้ว่า คนอายุมากกว่า 30 ปี มองคอร์รัปชันในความหมายแคบกว่าคนอายุน้อยกว่า 25 ปี เพราะมองเฉพาะนักการเมือง แต่ไม่ได้กล่าวถึง ข้าราชการ ทหาร เจ้าหน้าที่ของรัฐ ฯลฯ และมองว่าต้องเป็นการ ‘โกงเงิน’ เท่านั้น จึงจะเรียกว่าเป็นการคอร์รัปชัน โดยไม่ได้กล่าวถึง การช่วยพวกพ้อง การใช้อำนาจในทางที่ผิด ฯลฯ กลุ่มคนอายุน้อยกว่า 25 ปี มองความหมายกว้างกว่า ทั้งผู้กระทำคอร์รัปชัน และครอบคลุมความผิดในหลายรูปแบบ

ผศ.ดร.ธานี เสนอว่า สาเหตุที่อาจเป็นไปได้ที่ทำให้คนต่างช่วงอายุมองคอร์รัปชันต่างกันคือ (1) คนที่อายุต่ำกว่า 25 ปีตอนนี้ ในชีวิตยังไม่เคยเลือกตั้งเลย ดังนั้นจึงมองไม่เห็นภาพของนักการเมืองคอร์รัปชัน แต่คุ้นกับภาพการคอร์รัปชันของข้าราชการ ทหาร ตำรวจมากกว่า (2) คนอายุน้อยกว่า 25 ปีเพิ่งเรียนจบ ยังไม่ได้เข้าทำงาน หรือพบเจอกับสภาพสังคมจริงๆ จึงอาจตีความไม่เหมือนคนอายุ 30 แต่เมื่อเวลาผ่าน อาจมีการตีความที่ต่างออกไป

การจะแก้ปัญหาได้จึงควรทำให้ คนแต่ละช่วงอายุเข้าใจคำว่าคอร์รัปชันในความหมายเดียวกันก่อน 

 

2

ภาษาที่เกี่ยวกับคอร์รัปชันมีความละมุนขึ้นจนกลมกลืนกับสังคมไทย

 

สังคมไทยคุ้นเคยกับคำว่าคอร์รัปชันเพราะอยู่ในชีวิตประจำวันมากขึ้น จากคำว่า ‘โกง’ สู่ ‘ทุจริต’ จนถึง ‘คอร์รัปชัน’ ซึ่งคำแต่ละคำส่งผลต่อความรู้สึกต่างกัน 

ปัจจุบัน คำว่า ‘คอร์รัปชัน’ ไม่ใช่คำที่มีความหมายรุนแรงที่สุด ยังมีอีกหลายคำที่ถูกนำมาใช้เพื่อให้ความหมายของการคอร์รัปชันบางเบาขึ้น เช่น สินบน สินน้ำใจ ให้ความหมายในทางบวก ไม่ได้ทำให้รู้สึกผิดมาก หรือคำว่า ค่าน้ำร้อนน้ำชา ให้ความหมายกลางๆ เป็นต้น ขณะที่คำว่า คอร์รัปชัน ให้ความหมายถึงการประพฤติมิชอบและเงินใต้โต๊ะ แต่ยังมีความหมายในทางลบไม่เท่ากับคำว่า ‘โกง’ ซึ่งหมายความในทางลบชัดเจนว่าเป็นการทุจริตในหน้าที่ ดังนั้น การใช้คำว่า ‘โกง’ จะให้ความรู้สึกรุนแรงกว่าคอร์รัปชัน

แต่ในบางสถานการณ์ บางคำก็สามารถเปลี่ยนจาก ความหมายลบมากเป็นความหมายบวกได้ เช่น ถ้านักธุรกิจขอให้ข้าราชการช่วยเหลือเพื่อลัดขั้นตอน ที่หมายถึงความมีน้ำใจ ช่วยเหลือกัน ซึ่งเป็นความหมายเดียวกับสินน้ำใจ แต่ในความเป็นจริง พฤติกรรมดังกล่าวเป็นการให้เงินพิเศษ โดย 66 เปอร์เซ็นต์ ทราบเป็นนัยอยู่แล้ว กลายเป็นรูปแบบของการช่วยเหลือและมีบุญคุณซึ่งกันและกัน กลมกลืนกับสังคมไทยจนแยกไม่ออก

นอกจากนี้ยังมีการสร้างคำที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้ความเข้าใจต่อการโกง ทุจริตและคอร์รัปชันยากขึ้นไปด้วย เช่น การบอกว่านักการเมืองปกปิดบัญชีทรัพย์สิน มีผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest)  ทำให้คนไม่สามารถตีความได้ว่าเป็นการคอร์รัปชันหรือไม่ และรูปแบบของการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันก็มีความหลากหลายมากขึ้น

 

3

คนต่างวัยกันมี “ค่านิยม”ที่ไม่เหมือนกัน 

 

จากแบบสอบถาม ถามว่า “ถ้าคุณมีลูก แล้วต้องจ้างพี่เลี้ยงเด็กมาเลี้ยงลูกของคุณ พี่เลี้ยงแต่ละคนที่ให้เลือก จะเลี้ยงลูกของคุณออกมาไม่เหมือนกัน โดยที่พี่เลี้ยงแต่ละคนจะมีลักษณะการเลี้ยงที่ได้ค่านิยมตามที่กระทรวงวัฒนธรรมกำหนด คือ กตัญญูรู้คุณ ขยันหมั่นเพียร ซื่อสัตย์สุจริต และประหยัดอดออม ไม่เหมือนกัน”

พี่เลี้ยงคนที่ 1 จ้างวันละ 500 บาท ให้เลี้ยงลูกแล้วจะได้ลูกที่มีความกตัญญูและความซื่อสัตย์ แต่ไม่ได้ความขยันกับการอดออม

พี่เลี้ยงคนที่ 2 จ้างวันละ 300 บาท ให้เลี้ยงลูกแล้วจะได้ลูกที่มีความประหยัด แต่ไม่ได้อย่างอื่น

พี่เลี้ยงคนที่ 3 จ้างวันละ 500 บาท ให้เลี้ยงลูกแล้วจะได้ลูกที่มีความขยันกับความซื่อสัตย์

จากการทดสอบนี้ พบว่า การให้คุณค่าต่อค่านิยม (norm) มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงอายุ 25-30 ปี 

ผลออกมาว่า กลุ่มคนอายุ 30 ปีขึ้นไป ให้ความสำคัญกับ ความกตัญญูรู้คุณ (42 เปอร์เซ็นต์) ความขยันหมั่นเพียร (31 เปอร์เซ็นต์) ความซื่อสัตย์สุจริต (23 เปอร์เซ็นต์) ความประหยัดอดออม (4 เปอร์เซ็นต์) ซึ่งสอดคล้องกับอีกหนึ่งคำถามที่ว่า “คุณมีลูกเพื่ออะไร” ส่วนมากตอบว่ามีเพื่อให้ลูกเลี้ยงดูตนเองตอนแก่ แต่มีน้อยมากที่ตอบว่า มีลูกเพื่อทำให้สังคมดีขึ้นในอนาคต

ในช่วงอายุ 15-25 ปี ให้ความสำคัญกับ ความซื่อสัตย์สุจริต (34 เปอร์เซ็นต์) ความขยันหมั่นเพียร (34 เปอร์เซ็นต์) ความกตัญญูรู้คุณ (30 เปอร์เซ็นต์) การประหยัดอดออม (2 เปอร์เซ็นต์)

น่าสังเกตว่าจากค่านิยมดังกล่าวข้างต้น ความซื่อสัตย์เป็นค่านิยมในแนวกว้าง คือการซื่อสัตย์กับคนอื่นๆ และสาธารณะ แตกต่างจากอีก 3 ค่านิยม (ความขยันหมั่นเพียร ความกตัญญูรู้คุณ การประหยัดออดออม) ที่เป็นการทำเพื่อครอบครัวและเพื่อตัวเอง

 

4

การเลือกเครื่องมือที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหา ต้องเริ่มจากการตั้งคำถามว่า ‘ความเจ็บปวด’ (pain) คืออะไร

 

ปัจจุบันยังมีการมองปัญหาคอร์รัปชันแบบ one size fits all แต่ไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาแบบไหน และแก้ให้ใคร ดังนั้นเครื่องมือที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันจะต้องเป็นเครื่องมือที่เหมาะกับคนบางกลุ่ม ในบางเรื่อง 

จากผลการศึกษา เด็กอายุน้อยกว่า 25 ปี มองว่าคอร์รัปชันเกิดจากโอกาส ทำให้เขาไม่สนใจเรื่องคอร์รัปชันตราบใดที่ไม่กระทบตัวเขาเอง ดังนั้น เครื่องมือต้องทำให้เห็นว่าเกิดผลกระทบต่อตัวเขาโดยตรง โดยเกิดขึ้นจากสังคมรอบตัวที่เขาอยู่ การแก้ปัญหาจึงต้องดูว่า ความเจ็บปวดในใจของคนแต่ละกลุ่มนั้นเกิดจากอะไร

ยกตัวอย่างเช่น ในโรงเรียน มีความเจ็บปวดที่เกิดจากการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกันของครู ผู้ตอบแบบสอบถาม 78 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าเคยทำหรือเคยเห็น เช่น ครูมีลูกศิษย์คนโปรดชัดเจน ครูเก็บเงินค่าสอนพิเศษให้เด็ก ครูอยากได้ของฝาก ความไม่เสมอภาคและความไม่เท่าเทียมกัน เป็นประเด็นของความเจ็บปวดได้ ดังนั้นควรเริ่มต้นแก้จากจุดใกล้ตัวเด็กก่อน ที่จะไปพูดเรื่องใหญ่ๆ เช่น การติดสินบนราชการ ซึ่งเด็กไม่เคยทำ จึงไม่สนใจ

ปัจจุบันมีการเปลี่ยนชุมชนจากบ้านใกล้เรือนเคียง กลายเป็นสังคมที่เกิดขึ้นจากความสนใจร่วมกัน เช่น คนจะสนใจกลุ่มแต่งรถ มากกว่ากลุ่มคนในหมู่บ้าน โดยเฉพาะในเขตเมือง กทม. เมื่อมีการโกงในกรรมการหมู่บ้าน อาจจะไม่ส่งผลต่อความรู้สึกคนเท่ากับการโกงในเรื่องที่พวกเขาสนใจอยู่ ดังนั้นความเจ็บปวดของคอร์รัปชันต้องผูกโยงกับความสนใจอื่น ซึ่งการเคลื่อนไหวของคนจากความสนใจ จะเป็นการเคลื่อนไหวที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการเคลื่อนไหวในพื้นที่

 

5

คอร์รัปชันแต่ละประเภทแก้ปัญหาได้ยากง่ายไม่เท่ากัน ต้องเคลียร์เรื่องง่ายก่อน 

 

ทีมวิจัย SIAM Lab ร่วมกับทีม Opendream บริษัทผลิตเกมออนไลน์ ผลิตเกมชื่อ corrupt the game โดยให้ผู้เล่นแก้ปัญหาในลักษณะนักสืบ เดินตามเรื่องไปเรื่อยๆ แต่ในระหว่างนั้นจะมีการเปิดโอกาสให้คนโกงได้ มีคอร์รัปชัน 2 แบบ คือ จ่ายสินบน และช่วยเหลือเพื่อนในทางที่ผิด เพื่อเข้าใจคนรุ่นใหม่ว่า หากเปิดโอกาสให้โกง พวกเขาจะโกงไหม

ผลการทดลองพบว่า เมื่อเปิดโอกาสให้จ่ายสินบน คนเล่นเกมประมาณ 24.73 เปอร์เซ็นต์ยอมจ่ายสินบน (1 ใน 4) และเมื่อถูกชักชวนให้ทำอะไรผิดเพื่อพวกพ้อง เกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ยอมช่วยเหลือเพื่อนในทางที่ผิด

เมื่อดูระยะเวลาในการตัดสินใจคอร์รัปชัน พบว่า กลุ่มคนอายุน้อยกว่า 30 ปี ใช้เวลาตัดสินใจที่จะจ่ายสินบนนานกว่าไม่จ่ายสินบน กล่าวคือใช้เวลาในการตัดสินใจจ่ายสินบน 6.83 วินาที ขณะที่ใช้เวลาในการตัดสินใจไม่จ่ายสินบน  6.39 วินาที สรุปได้ว่าตัวเลือกแรกที่ผู้เล่นเกมตัดสินใจคือ ไม่จ่ายสินบน

เปรียบเทียบกับการโกงแบบที่สองคือ การช่วยเหลือเพื่อนในทางที่ผิด พบว่าการช่วยเหลือเพื่อนในทางที่ผิดใช้เวลาตัดสินใจสั้นกว่าการไม่ช่วยเหลือ กล่าวคือใช้ในการตัดสินใจช่วยเหลือเพื่อน 5.29 วินาที ขณะที่ใช้เวลาในการตัดสินใจไม่ช่วย 6.34 วินาที สรุปได้ว่า ตัวเลือกแรกที่ผู้เล่นเกมตัดสินใจคือ ต้องช่วยเหลือเพื่อน

ดังนั้นการแก้ปัญหาคอร์รัปชันแบบจ่ายสินบน แก้ง่ายกว่า เพราะสัดส่วนน้อยกว่า และคนใช้เวลาคิดนานกว่า เมื่อแก้ได้แล้วจึงค่อยพัฒนาไปสู่ปัญหาที่ยากขึ้น

 

6

รูปแบบของเครือข่ายความสัมพันธ์ทางการเมืองแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน 

 

ยกตัวอย่างการวิจัยในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร น่าน นครราชสีมา และสงขลา ซึ่งเมื่อดูความสัมพันธ์ทางการเมืองจะพบความแตกต่าง เช่น ในกรุงเทพฯ มีความสัมพันธ์ของตำแหน่งทางการเมืองในเชิงตระกูลไม่มาก แต่ในน่าน หรือนครราชสีมา คนนามสกุลเดียวกันมีความสัมพันธ์ในตำแหน่งทางการเมืองเยอะมาก หมายถึง การที่ใครคนใดคนหนึ่งในตระกูลเข้าไปทำงานการเมืองแล้วจะสามารถพาคนอื่นๆ ตามเข้ามาได้ 

โครงสร้างความสัมพันธ์เช่นนี้ส่งผลต่อรูปแบบการต่อสู้ในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันของสังคม เพราะการที่คนในตระกูลเดียวกันมีความสัมพันธ์ไขว้ไปมาในตำแหน่งต่างๆ ทำให้การตรวจสอบของระบบการเมืองทำได้ไม่เต็มที่ ซึ่งปัญหานี้อาจจะดีขึ้นเมื่อสังคมไทยพัฒนาและมีการย้ายถิ่นที่สูงขึ้น

 

7

การทำงานภาคประชาสังคมยังเป็นเรื่องส่วนบุคคล และขาดระบบการจัดการ

 

คนที่รวมกลุ่มกันเพื่อคอร์รัปชันร่วมมือดีกว่าคนที่ต่อต้านโกง เพราะคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียประชุมกันตกลงชัดเจน มีความสัมพันธ์ที่ดีกว่า แต่หน่วยงานหรือองค์กรที่ทำหน้าที่ต่อต้านคอร์รัปชัน กลายเป็นกลุ่มที่กระจัดกระจาย ทำงานร่วมกันไม่ชัด 

ในปัจจุบัน ภาคประชาสังคมที่ต่อต้านคอร์รัปชันมีประมาณ 26 องค์กร ไม่ได้ทำงานด้วยกัน ยังเป็นการทำงานร่วมกันในระดับบุคคล เพราะฉะนั้นการเชื่อมโยงสร้างพลังในการต่อสู้ยังมีไม่มาก ควรเน้นการเชื่อมโยงให้มีประสิทธิภาพ จัดกลุ่มอุปสรรคกับทรัพยากรเพื่อสร้างความร่วมมือ

ภาคประชาสังคมสามารถทำคดีที่มีมูลค่าสูงจำพวกการจัดซื้อจัดจ้างได้ แต่เดิมขาดข้อมูล และมีต้นทุนในการรวบรวมสูง ถ้าใช้เทคโนโลยี blockchain มาช่วย จะมีข้อมูลและต้นทุนการรวบรวมที่ต่ำ 

 

8

ระบบที่มีอยู่ เช่น การเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ต้องการระบบอื่นมาทำงานร่วมกัน

 

ระบบตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินที่มีอยู่ในปัจจุบันของไทย คือ ก่อนรับตำแหน่ง นักการเมืองจะยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน ยื่นอีกครั้งหลังออกจากตำแหน่ง และหลังออกจากตำแหน่ง  1 ปี เพราะฉะนั้นถ้านักการเมืองจะโกง ก็สามารถเก็บเงินสดไว้ในบ้าน รอหลังออกจากตำแหน่ง ครบ 1 ปี ยื่นบัญชีทรัพย์สิน และหลัง 1 ปี ค่อยเอาเงินนี้เข้าบัญชีธนาคาร ก็ไม่มีใครสามารถตรวจสอบได้ ถ้าไม่กลับมาเป็นนักการเมืองอีก ผลการวิจัยพบว่า

  • นักการเมืองส่วนใหญ่มีทรัพย์สินเปลี่ยนแปลงประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์
  • ภรรยาหรือสามี มีทรัพย์สินมากกว่าตัวนักการเมือง 10 เท่า แต่ก็เปลี่ยนแปลงเพียง 2 เปอร์เซ็นต์
  • นักการเมืองส่วนใหญ่ 60 เปอร์เซ็นต์ มีทรัพย์สินเท่าเดิม หรือลดลง
  • ประชาชนตรวจสอบได้เฉพาะทรัพย์สินที่มีการแจ้ง แต่ไม่สามารถตรวจสอบการทรัพย์สินที่ไม่แจ้ง ซึ่งสำคัญกว่า
  • เมื่อวิเคราะห์มูลค่าทรัพย์สินของนักการเมืองที่มีระยะเว้นว่างทางการเมือง โดยเปรียบเทียบระหว่าง 1 ปีหลังพ้นจากตำแหน่ง และเมื่อรับเข้าตำแหน่งอีกครั้ง พบว่าโดยเฉลี่ยมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 20-200 ล้านบาท 

เพราะฉะนั้น มาตรการเปิดเผยบัญชีและหนี้สินจึงไม่ได้ผลมากนัก ในหลายประเทศทั่วโลกบังคับให้มีการยื่นบัญชีหรือตรวจสอบภาษีตลอดชีวิต

 

9

ระบบการจัดซื้อจัดจ้างต้องการเทคโนโลยีเข้ามาช่วยวิเคราะห์

 

จากฐานข้อมูลของกรมบัญชีกลาง ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ พบว่า ถ้านับจาก 3,000 หน่วยงานภาครัฐ ในการจัดซื้อสิ่งเดียวกัน เราจะเห็นความต่างของราคา ยกตัวอย่างการเปรียบเทียบ เช่น (1) คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก มีราคาต่อเครื่องตั้งแต่ 11,000 – 400,000 บาท (2) คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ มีราคาต่อเครื่องตั้งแต่ 10,000 – 2 ล้านบาท ซึ่งแตกต่างกันมาก

จากการวิเคราะห์ ผู้วิจัยเสนอว่า สินค้าประเภทเดียวกันต้องเทียบราคากันได้ ถ้ามีส่วนเพิ่มพิเศษ ให้ใช้ Machine Learning เข้ามาเรียนรู้และกำหนดราคากลางเปรียบเทียบในอนาคต และในการซื้อควรให้หน่วยงานดำเนินการตรงจากกรมบัญชีกลางโดยใช้ blockchain เพื่อให้มีบุคคลที่สามเข้ามาเป็นผู้จ่ายเงิน 

 

10

จำนวนมาตรการกับภาพลักษณ์คอร์รัปชันไม่สัมพันธ์กัน คงต้องมีปัญหาอะไรบางอย่างเกิดขึ้น

 

ในการวัดเรื่องการคอร์รัปชัน วัดได้ 2 แบบ คือ (1) Corruption Perceptions Index (CPI) จัดทำโดยองค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศ สำรวจจากทัศนคติของประชาชน และ (2) Control of Corruption Index (CC) วัดจากมาตรการจัดการคอร์รัปชันของรัฐบาล

ผลการวัดคอร์รัปชันทั่วโลก ดัชนี CPI และ CC เป็นไปในทางบวก หมายความว่า เมื่อมีมาตรการแก้ปัญหาคอร์รัปชันเพิ่มขึ้น ทัศนคติของคนที่มีต่อคอร์รัปชันก็ดีขึ้น ขณะที่ประเทศไทยความสัมพันธ์ (correlation) ของ 2 ดัชนีนี้เป็นไปในทางลบ แปลว่า CPI กับ CC วิ่งสวนทางกัน กว่าคือ ไทยมีมาตรการแก้ปัญหาคอร์รัปชันเยอะมาก แต่ทัศนคติที่มีต่อคอร์รัปชันไม่ดีขึ้น ซึ่งมีไม่กี่ประเทศในโลกที่มีความสัมพันธ์ทางลบ 

ผู้วิจัยตีความเป็น 2 แบบ คือ (1) มาตรการแก้ปัญหาเยอะไปหรือมาตรการใช้ไม่ได้ผล และ (2) คนไม่เชื่อว่ามาตรการที่ออกมาจะใช้ได้ผล แต่คนเชื่อสื่อที่บอกคอร์รัปชันไม่ดีมากกว่า รัฐออกมาตรการเท่าไหร่ก็ไม่รู้สึกว่าดีขึ้น โดยผู้วิจัยเสนอว่า อาจแก้ปัญหาด้วยการลดมาตรการลงมา หรือทำให้มาตรการมีประสิทธิภาพมากขึ้น 


ชมคลิป เสวนา “ประสบการณ์การทำงานเรื่องการโกงของสังคมไทย” และ “กลไกการต่อต้านคอร์รัปชั่นเชิงพื้นที่” สรุปบทเรียน 1 ปีแรกของการทำงานเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชั่น โดยทีม SIAM Lab