อินโฟกราฟิก: 3 มิติความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

Knowledge Farm – ฟาร์มรู้สู่สังคม ชวนมาสำรวจความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทย มาเปรียบเทียบกันว่าความเหลื่อมล้ำใน 3 มิติ มีการจัดสรรทรัพยากรต่างกันอย่างไร และความเหลื่อมล้ำนี้ส่งผลอย่างไรต่อคุณภาพนักเรียนและโรงเรียน

มิติที่ 1:  นักเรียนบ้านรวยกับนักเรียนบ้านจน 

This slideshow requires JavaScript.

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างนักเรียนบ้านรวยกับนักเรียนบ้านจนพบว่า แม้นักเรียนบ้านรวยจะมีค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาสูงกว่านักเรียนบ้านจน คือ 4,133 บาทต่อเดือนเปรียบเทียบกับ 1,251 บาทต่อเดือน แต่หากคิดเป็นสัดส่วนจากรายได้แล้ว นักเรียนบ้านรวยจะมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาต่ำกว่า นั่นคือนักเรียนบ้านรวยมีสัดส่วนร้อยละ 5.5 เปรียบเทียบกับนักเรียนบ้านจนที่มีสัดส่วนร้อยละ 23.7

ความเหลื่อมล้ำระหว่างนักเรียนบ้านรวยกับนักเรียนบ้านจนเห็นชัดขึ้นเมื่อเปรียบเทียบจากรายได้ของครอบครัวนักเรียน ครอบครัวที่มีรายได้สูงมีแนวโน้มที่จะมีสัดส่วนเด็กเก่งมากกว่าครอบครัวที่มีรายได้น้อย ครอบครัวที่มีรายได้น้อยกว่า 10,000 บาทมีสัดส่วนเด็กเก่งอยู่ร้อยละ 9.6 ขณะที่ครอบครัวที่มีรายได้ 100,000 – 199,999 บาทจะมีสัดส่วนเด็กเก่งสูงถึงร้อยละ 30.7

หมายเหตุ: เด็กเก่งหมายถึง เด็กที่สามารถทำคะแนนด้านการคิดวิเคราะห์ระหว่าง 8- 15 คะแนน ขณะที่เด็กไม่เก่งหมายถึง เด็กที่ทำคะแนนด้านการคิดวิเคราะห์ระหว่าง 0-4 คะแนน

ที่มา: รายงาน “การศึกษาความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์และการมีจิตสาธารณะเพื่อพัฒนาศักยภาพการเป็นคนดีคนเก่งของนักเรียนไทย” โดย อาจารย์ดวงจันทร์ วรคามิน รศ.ดร.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ และคณะ(2559)

มิติที่ 2: การศึกษาสายสามัญกับการศึกษาสายอาชีวะ

This slideshow requires JavaScript.

การจัดสรรทรัพยากรครูระหว่างโรงเรียนมัธยมสายสามัญกับปวช. อาชีวะ มีความแตกต่างกันค่อนข้างสูง โดยครูสายอาชีวะ 1 คนต้องดูแลนักเรียน 44 คน ขณะที่ครูในสายสามัญ 1 คนต้องดูแลนักเรียน 22 คน

เช่นเดียวกับงบประมาณจากรัฐที่ให้กับโรงเรียนสายสามัญและโรงเรียนสายอาชีวะ ในภาพรวมแล้วโรงเรียนสายสามัญได้รับเงินงบประมาณสูงกว่าสายอาชีวะ โดยโรงเรียนสายสามัญได้รับเงินงบประมาณรวมต่อนักเรียนคิดเป็น 28,261 บาทต่อนักเรียน ขณะที่โรงเรียนสายสามัญได้รับ 25,042 บาทต่อนักเรียน

กล่าวได้ว่าทั้งที่ประเทศไทยต้องการให้มีนักเรียนสายอาชีวะเพิ่มขึ้นแต่กลับไม่เพิ่มทรัพยากรทางการศึกษาให้กับโรงเรียนสายอาชีวะ

ที่มา:  เอกสารประกอบการประชุมเรื่อง “ร่างข้อเสนอจัดตั้งสถาบันวิจัยระบบการเรียนรู้” วันที่ 6 มีนาคม 2557 โดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

 

มิติที่ 3: โรงเรียนขนาดเล็กกับโรงเรียนขนาดใหญ่

This slideshow requires JavaScript.

โรงเรียนขนาดเล็กได้รับการจัดสรรงบประมาณโดยเฉลี่ยน้อยกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ โดยโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 50 คน จะได้รับงบประมาณโดยเฉลี่ย 3.4 แสนบาทต่อแห่ง ขณะที่โรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีจำนวนนักเรียนมากกว่า 1,500 คนขึ้นไป ได้รับการจัดสรรงบประมาณถึง 18 ล้านบาทต่อแห่ง

จำนวนครูในโรงเรียนขนาดเล็กก็มีจำนวนไม่ครบห้องเรียนขณะที่โรงเรียนขนาดใหญ่มีจำนวนครูล้นห้องเรียน เช่น โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 41-60 คน มีจำนวนครูน้องกว่าห้องเรียนรวมทั้งหมดถึง 10,131 คน เปรียบเทียบกับโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 500-1,499 คน มีจำนวนครูมากกว่าจำนวนห้องเรียนถึง 18,829 คน

ระหว่างโรงเรียนขนาดเล็กด้วยกันเองก็มีความเหลื่อมล้ำเช่นเดียวกัน ยิ่งโรงเรียนมีขนาดเล็กสัดส่วนครูต่อโรงเรียนยิ่งน้อยลง โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 101-120 คน มีสัดส่วนครู 8.3 คนต่อโรงเรียน ขณะที่โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 1-20 คน มีสัดส่วนครูเพียง 2.8 คนต่อโรงเรียน นั่นคือโรงเรียนขนาดเล็กบางโรงเรียนมีครูในโรงเรียนเพียง 3 คนเท่านั้น

ที่มา: 

  1. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (กันยายน 2557). Facesheet 28: ยกระดับคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก
  2. เว็บไซต์ไทยพับลิกา. เมื่อสัดส่วน “ครูต่อนักเรียน” บิดเบี้ยว โรงเรียนขนาดใหญ่และในกรุงเทพฯ ครูล้น แต่ “ขนาดเล็ก” กว่า 1 หมื่นแห่งครูไม่ครบชั้นเรียน ต้องแก้ปัญหากันเอง. วันที่ 2 มิถุนายน 2557
  3. พิริยะ ผลพิรุฬห์. (2558). ครุเศรษฐศาสตร์. กรุงเทพฯ: บริษัท พี.เอ.ลีฟวิ่ง จํากัด