แม้ภาคอุตสาหกรรมไทยจะสามารถเติบโตและกินส่วนแบ่งในตลาดโลกได้มากขึ้นตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แต่ภายใต้ความไม่แน่นอนของระเบียบเศรษฐกิจโลก และความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังเผชิญความท้าทายสำคัญหลายประการ และถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องจัดการ
อย่างไรก็ตาม การจัดการความท้าทายในภาคอุตสาหกรรมไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ในด้านหนึ่ง ภาคอุตสาหกรรมไทยถูกวิจารณ์ว่า ใช้ค่าแรงราคาถูกเป็นจุดขายเพียงอย่างเดียวและไม่สามารถสร้างนวัตกรรมเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมได้โดยสิ้นเชิง แต่ในอีกด้านหนึ่ง มีงานวิจัยจำนวนไม่น้อยที่พยายามชี้ให้เห็น พลวัต การปรับตัว และจุดแข็งของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมไทย ความเข้าใจที่มีต่อภาคอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน ย่อมนำมาสู่แนวนโยบายและวิธีการแก้ปัญหาที่ต่างกันด้วย
Knowledge Farm – ฟาร์มรู้สู่สังคม ชวนสำรวจความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมไทยผ่านงานวิจัยของอาชนัน เกาะไพบูลย์ และคณะ (2558) ในโครงการวิจัยชุด ‘ความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมไทย’ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย โจทย์ใหญ่ของภาคอุตสาหกรรมไทยคืออะไร อะไรคือมายาคติ และไทยออกแบบนโยบายอุตสาหกรรมเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคตอย่างไร
ความท้าทายที่ 1: การเพิ่มความสามารถในความแข่งขันท่ามกลางกระแสชาตินิยมทางเศรษฐกิจ
กระแสชาตินิยมทางเศรษฐกิจ (Economic Nationalism) กำลังก่อตัวและมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของประเทศที่เป็นเสาหลักของเศรษฐกิจโลกอย่างสหรัฐฯ และหลายประเทศในสหภาพยุโรป แนวนโยบายเช่นนี้ส่งผลให้มีการผลักดันการใช้มาตรการกีดกันทางการค้ามากขึ้น เศรษฐกิจโลกจึงเริ่มเข้าสู่สถานการณ์เปราะบางที่อาจนำไปสู่สงครามการค้า และหากสงครามการค้าเกิดขึ้นจริง ประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศเล็กที่พึ่งพาการส่งออกสูงก็มีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจมากกว่าประเทศอื่นที่มีตลาดภายในประเทศใหญ่
ในสถานการณ์เช่นนี้ การปรับเปลี่ยนมุมมองเรื่องความสามารถในการแข่งขันของประเทศจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่ผ่านมา หลายฝ่ายยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยมองว่า ความสามารถในการแข่งขันระดับชาติมีลักษณะเหมือนกับความสามารถในการแข่งขันของบริษัทที่มุ่งเอาชนะคู่แข่งเพื่อกินส่วนแบ่งตลาด จึงมุ่งเน้นนโยบายที่ทำให้การส่งออกขยายตัวเป็นหลัก
แต่ในความเป็นจริง เศรษฐกิจของประเทศหนึ่งๆ ไม่อาจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องจากการกินส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่งไปเรื่อยๆ เพราะประเทศมีทรัพยากรที่จำกัด และเมื่อใช้ทรัพยากรไปถึงจุดหนึ่งแล้วจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไป เช่น ในกรณีของช่างฝีมือ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีน้อย การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้าและบริการที่ใช้ช่างฝีมือย่อมทำให้ค่าแรงของคนเหล่านี้ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศค่อยๆ ลดลง จนอาจประสบปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวและการว่างงานตามมา
ดังนั้น หัวใจสำคัญของการสร้างความสามารถในการแข่งขันภายใต้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดคือ การใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดอย่างแรงงานและเงินทุนให้เกิดมูลค่าสูงสุด หรือที่มักเรียกกันว่าการสร้างมูลค่าเพิ่ม
ความท้าทายที่ 2: การชี้นำอุตสาหกรรมเป้าหมายโดยรัฐ
ที่ผ่านมา รัฐไทยมีบทบาทในการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายมาอย่างต่อเนื่อง นโยบาย Thailand 4.0 ซึ่งเป็นกรอบนโยบายเศรษฐกิจสำคัญของรัฐบาลปัจจุบันก็ยังคงมีลักษณะนี้เช่นนี้ ดังจะเห็นว่า รัฐได้เข้าไปกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ 10 อุตสาหกรรมใหม่ที่เชื่อว่าจะเป็น New S-Curve
เกาหลีใต้เป็นตัวอย่างแห่งความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบชี้นำที่นักกำหนดนโยบายจำนวนมากเลือกเดินตาม แต่ความสำเร็จของเกาหลีใต้เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขพิเศษทั้งภายในและภายนอกหลายประการ เช่น ความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมเป้าหมายกับอาวุธยุทโธปกรณ์และภัยคุกคามจากสงคราม ลัทธิชาตินิยมซึ่งมีเหตุจากความเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปัญหาการแบ่งแยกเกาหลีที่ทำให้ความมั่นคงเป็นแนวโยบายที่สำคัญที่สุด แรงกดดันจากสหรัฐฯ ที่มีต่อรัฐบาลทหารในยุคนั้น ฯลฯ เงื่อนไขเหล่านี้เป็นกลจักรสำคัญที่ขับเคลื่อนการชี้นำของรัฐให้ประสบความสำเร็จ แต่ก็เป็นเงื่อนไขที่เกิดขึ้นได้ยากในประเทศอื่น
หลักฐานเชิงประจักษ์ชี้ให้เห็นว่า แทบไม่มีประเทศใดในโลกที่ประสบความสำเร็จได้จากการชี้นำเลย โดยเฉพาะการชี้นำแบบก้าวกระโดด ยิ่งในยุคเทคโนโลยีเขย่าโลก (Disruptive Technology) ที่มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การชี้เป้าหมายการพัฒนาแบบก้าวกระโดดจะยิ่งอันตรายขึ้นเป็นเท่าตัว เพราะสิ่งที่คิดว่าเป็นอุตสาหกรรมอนาคตในวันนี้ อาจไม่ใช่แล้วในอนาคตอันใกล้
นอกจากนี้ การใช้นโยบายแบบชี้นำยังส่งผลอย่างสำคัญต่อโครงสร้างแรงจูงใจในการลงทุนของบริษัท กล่าวคือ นโยบายแบบชี้นำจะทำให้รัฐบาลมีสถานะกลายเป็นผู้ค้ำประกันความสำเร็จ เอกชนจึงคาดหวังให้รัฐบาลช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นแนวทางที่ไม่ยั่งยืน ประเทศควรผลิตและส่งออกสินค้าที่ตนเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ไม่ว่าจะมาจากความสามารถในการผลิต (มีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย) หรือ การมีทรัพยากรที่ใช้ผลิตสินค้านั้นๆ อุดมสมบูรณ์ ในแง่นี้ รัฐต้องยอมให้ผู้ประกอบการที่มีประสิทธิภาพต่ำออกไปจากตลาด การทำเช่นนี้อาจเหมือนภาครัฐไม่แยแสกับชะตากรรมของผู้ประกอบการ แต่การ ‘อุ้ม’ เท่ากับว่า รัฐกำลังหนุนให้ผู้ประกอบการเหล่านั้นดันทุรังทำเรื่องที่ตนไม่ถนัดต่อไป และเข้ามาแย่งทรัพยากรอันจำกัดกับผู้ประกอบการรายอื่นที่มีอนาคต
แทนที่จะพยายามชี้นำการพัฒนา รัฐจึงควรให้ความสำคัญกับการผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ ที่บั่นทอนความสามารถในการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนโดยไม่จำเป็น อย่างไรก็ตาม ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน รัฐต้องมีมาตรการที่จำเป็นเข้ามาเสริมเพื่อให้การผ่องถ่ายแรงงานจากโรงงานที่ด้อยประสิทธิภาพไปสู่โรงงานที่มีประสิทธิภาพสูงเป็นไปอย่างราบรื่น เช่น การยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน และการให้เงินชดเชยแก่แรงงานที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนทักษะ เป็นต้น
ความท้าทายที่ 3 : ปริศนาของการทำวิจัยและพัฒนา (R&D)
ในสถานการณ์ที่ในประเทศไทยกำลังสูญเสียความได้เปรียบในการผลิตสินค้าราคาถูก และประเทศยากจนกว่าบีบไล่หลังมา เพราะค่าแรงของไทยไม่ได้ต่ำเหมือนในอดีต ภาคเอกชนไทยมักถูกวิจารณ์ว่า ไม่ค่อยทำวิจัยและพัฒนา ไม่มีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง และความสามารถในการแข่งขันต่ำ จนทำให้ประเทศไทยไม่สามารถยกระดับไปสู้กับประเทศร่ำรวยได้
การที่ประเทศไทยมีการลงทุนวิจัยและพัฒนาต่ำ (ร้อยละ 0.63 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในปี 2558) ทำให้ผู้ประกอบการถูกมองว่าขี้เกียจ รักสบาย และไม่รักความก้าวหน้า ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและไม่สร้างสรรค์
ผลการศึกษาของหลายโครงการย่อยในชุด ‘โครงการความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมไทย’ ชี้ให้เห็นว่า ภาคเอกชนไทยทำการวิจัยและพัฒนาอยู่บ้างและส่งผลให้การส่งออกของไทยขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องและขยายตัวมากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดยผู้ประกอบการไทยมีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในรูปแบบการนำระบบบริหารจัดการใหม่ๆ มาใช้เพื่อยกระดับกระบวนการผลิต (Process Upgrading) ซึ่งการลงทุนด้านนี้มักไม่ถูกนับรวมอยู่ในคำจำกัดความของการลงทุน R&D ซึ่งให้ความสำคัญกับการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ นี่เป็นสาเหตุที่ตัวเลขการลงทุนใน R&D ในระดับชาติต่ำกว่าความเป็นจริง
อย่างไรก็ตาม หากพิจาณาการลงทุน R&D เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม ผู้ประกอบการไทยก็ยังมีการลงทุนน้อยอยู่จริง เพราะโดยธรรมชาติ การลงทุน R&D เป็นกิจกรรมที่ใช้เงินลงทุนสูง มีความเสี่ยงสูง ต้องทำอย่างต่อเนื่องและระยะยาว ต้นทุนที่เกิดขึ้นเป็นต้นทุนจม และใช้เวลานานกว่าจะคืนทุน การตัดสินใจลงทุนในกิจกรรม R&D จึงขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นในการสร้างธุรกิจ ความกล้าลองผิดลองถูก และต้องมีเงินทุนมากพอที่จะลงทุนด้าน R&D ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นข้อจำกัดของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการขนาดยังต้องเผชิญกับข้อจำกัดในเรื่องของระยะเวลาในการรอคอยผลตอบแทนด้วย หลักฐานเชิงประจักษ์ในระดับบริษัทพบว่า กิจกรรม R&D ต้องใช้เวลาประมาณ 5-10 ปีกว่าจะคืนทุน ขึ้นอยู่กับประเภทของผลิตภัณฑ์และระดับความรุนแรงของการแข่งขันจากคู่แข่ง ในแง่นี้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กจึงมีแนวโน้มที่จะไม่ลงทุนในกิจกรรม R&D เพราะวงจรธุรกิจมักมีขนาดสั้น เช่น ลูกหลานไม่รับช่วงต่อทางธุรกิจ เป็นต้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการนึกถึงการเก็บทรัพย์สินไว้ใช้ในยามชรามากกว่าการนำไปเสี่ยงกับกิจกรรมใหม่ๆ
การตัดสินใจว่าจะลงทุนด้าน R&D หรือไม่ จึงเป็นการตัดสินใจโดยอิงกับผลประโยชน์สุทธิของผู้ประกอบการ และยังเป็นเหตุผลส่วนบุคคลด้วย ดังนั้น ลำพังนโยบายด้านภาษี (การให้นิติบุคคลนำค่าใช้การลงทุน R&D มาหักภาษีเงินได้) ซึ่งเป็นเครื่องมือหลักที่ภาครัฐใช้ส่งเสริม R&D จึงไม่สามารถทำให้การลงทุน R&D เกิดได้จริง
ยิ่งไปกว่านั้น รัฐจำเป็นต้องทบทวนนโยบายการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า เพราะแนวนโยบายเช่นนี้ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากเข้ามาทำธุรกิจเพียงเพื่อแสวงหาประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นการลงทุนของภาครัฐ ดังนั้น ต่อให้เราทุ่มเทงบประมาณเพื่อกระตุ้น R&D มากเท่าไร หรือพยายามออกแบบแรงจูงใจผ่านภาษีเงินได้อย่างไร ก็ยังเป็นไปได้ยากที่ยอดการลงทุนด้าน R&D รวมของทั้งประเทศจะเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด
ความท้าทายที่ 4: มายาคติของการผลิตสินค้าไฮเทค
ในการยกระดับผู้ประกอบการไทย สูตรสำเร็จที่เรามักได้ยินคือ การผลิตสินค้าไฮเทค การสร้างแบรนด์ หรือถ้าเป็นซัพพลายเออร์ในเครือข่ายการผลิตของบริษัทข้ามชาติ ก็ต้องไต่ขึ้นเป็นซัพพลายเออร์เกรด A หรือซัพพลายเออร์ Tier-1 ส่วนวิธีการบรรลุเป้าหมายมักวนไปจบที่ “ผู้ประกอบการต้องทำ R&D” ซึ่งไม่ได้ช่วยชี้ทางออกรูปธรรมเท่าใดนัก ที่สำคัญ ยังอาจสร้างมายาคติว่าการผลิตสินค้าไฮเทคที่มีความซับซ้อนคือทางเลือกเดียวของผู้ประกอบการ
การตัดสินใจว่าบริษัทควรลงทุนในกิจกรรม R&D แบบไหน หรือจะพัฒนาสินค้าแบบใด ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ทางธุรกิจของผู้ประกอบการและโครงสร้างตลาดที่ผู้ประกอบการแต่ละรายอยู่เป็นสำคัญ เช่น ในอุตสาหกรรมส่งออกกุ้งแช่แข็ง คนจำนวนมากเชื่อว่ากุ้งปรุงแต่ง (ready to cook/to eat) เป็นสินค้าไฮเทคเมื่อเทียบกับสินค้าอย่างกุ้งแช่เย็น/แช่แข็ง เพียงเพราะว่ากุ้งปรุงแต่งมีขั้นตอนการผลิตในโรงงานที่สลับซับซ้อนกว่า ทั้งในแง่การปรุงรส ส่วนผสม และกระบวนการผลิตจนได้สินค้าขั้นสุดท้าย ดังนั้น กุ้งปรุงแต่งจึงน่าจะขายได้ราคาดีกว่า ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด
เกณฑ์ชี้วัดที่สำคัญของการพัฒนาสินค้าคือ ‘คุณลักษณะของผลิตภัณฑ์’ ไม่ใช่ความสลับซับซ้อนของกระบวนการผลิตที่โรงงาน กล่าวคือ สินค้าจะต้องมีโอกาสจำหน่ายสินค้าในราคาสูง ผู้บริโภคจะต้องการสินค้าเหล่านี้มากขึ้นเมื่อรายได้เพิ่มขึ้น และปริมาณความต้องการสินค้าไม่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาจนเกินไป เช่น ในกรณีของกุ้งแปรรูป แม้ขั้นตอนการผลิตในโรงงานของผลิตภัณฑ์ทั้งสองจะแตกต่างกัน แต่ก็ไม่ได้ทำให้คุณลักษณะทางการค้าแตกต่างกันเสมอไป ปริมาณความต้องการกุ้งแช่เย็น/แช่แข็งไม่ได้อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของราคามากไปกว่ากุ้งปรุงแต่ง และที่สำคัญคือ ประเทศคู่แข่งที่มีค่าแรงถูกกว่าก็ไม่สามารถตัดราคาและเข้ามาแย่งตลาดแบบง่ายๆ ได้
ดังนั้น แม้วันนี้โครงสร้างการส่งออกกุ้งแปรรูปของไทยยังอยู่ในรูปของกุ้งแช่เย็น/แช่แข็งเป็นส่วนใหญ่ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้ประกอบการที่ส่งออกกุ้งแช่แข็งไม่ได้พัฒนาประสิทธิภาพการผลิต ไม่มีการยกระดับการผลิต โดยเอาแต่ผลิตสินค้าง่ายๆ ไม่ยอมยกระดับไปสู่สินค้าไฮเทค เหตุผลสำคัญที่ผู้ส่งออกเลือกผลิตกุ้งแช่เย็น/แช่แข็งก็เพราะโครงสร้างความต้องการกุ้งแปรรูปของโลกเป็นกุ้งแช่เย็น/แช่แข็งถึงร้อยละ 80 โดยกลุ่มผู้ซื้อรายใหญ่คือผู้ประกอบการร้านอาหาร ภัตตาคาร และซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อนำไปปรุงและจำหน่ายต่อ ในขณะที่ความต้องการกุ้งแปรรูปในลักษณะกุ้งปรุงแต่งยังจำกัดอยู่แค่กลุ่มผู้บริโภคที่มีเวลาค่อนข้างจำกัดและขยายตัวตามวิถีชีวิตแบบสังคมเมือง (Urbanization) ในแง่นี้ การที่บริษัทส่งออกกุ้งประเภทไหนและปริมาณมากน้อยเพียงใด จึงเป็นการตัดสินใจเรื่องกลยุทธ์ทางธุรกิจของผู้ประกอบการแต่ละรายว่าจะพึ่งพาตลาดใด
มายาคติอีกประการหนึ่งของการผลิตสินค้าไฮเทคคือ ความเชื่อที่ว่ากระบวนการผลิตที่สลับซับซ้อน มักทำให้คู่แข่งหน้าใหม่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดได้ยาก อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวน่าจะประยุกต์ใช้กับสินค้าในปัจจุบันได้น้อยลงเรื่อยๆ เพราะซัพพลายเออร์อิสระเข้ามามีบทบาทในการผลิตสินค้ามากขึ้น ผู้ประกอบการรายใหม่จึงสามารถเข้าสู่ตลาดได้ง่ายขึ้นด้วยการซื้อวัตถุดิบที่จำเป็นและเรียนรู้ ‘know how’ สารพัดได้จากซัพพลายเออร์เหล่านี้
ผลการวิจัยจากกรณีศึกษาหลายกรณี (ได้แก่ ซิลิคอน คราฟท์, ซัยโจ เด็นกิ และกุลธรเคอร์บี้) ยืนยันว่า ผู้ประกอบการสามารถสร้างความได้เปรียบให้กับตัวเองและสร้างอุปสรรคในการเข้าตลาดให้กับคู่แข่งโดยไม่จำเป็นต้องยกระดับความสลับซับซ้อนในกระบวนการผลิต แต่หันไปใช้กลยุทธการเลือกส่วนตลาด (market segment) ที่ตนมีความถนัดอยู่แล้ว และหลบเลี่ยงการปะทะโดยตรงกับผู้นำตลาดขณะนั้น แทน
ความท้าทายที่ 5: แนวนโยบายต่อแรงงานข้ามชาติ
หลายฝ่ายเชื่อว่าการแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลนด้วยการนำเข้าคนงานจากต่างประเทศ โดยเฉพาะแรงงานไร้ฝีมือจากประเทศเพื่อนบ้าน อาจบั่นทอนกระบวนการยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ความเชื่อนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า ตราบเท่าที่ผู้ประกอบการยังสามารถเข้าถึงแรงงานค่าแรงถูกได้ พวกเขาจะไม่ปรับตัว และทำตัวเป็นเสือนอนกินแทน ข้อเสนอรูปธรรมของผู้กำหนดนโยบายที่เชื่อในสมติฐานเช่นนี้ คือ การนำเครื่องจักรมาใช้แทน (capital deepening) หรือการย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศ (capital exporting)
อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยชี้ว่า สมมติฐานดังกล่าวไม่ถูกต้อง เพราะตราบใดที่ภาคการผลิตต้องแข่งขันอย่างรุนแรงในตลาดโลก (เช่น การส่งออกเครื่องนุ่งห่ม) ผู้ประกอบการต้องเดินหน้าปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตอยู่เสมอไม่ว่าโรงงานนั้นจะใช้แรงงานต่างชาติหรือไม่ก็ตาม
ประสบการณ์จากอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มของผู้ประกอบการกว่า 30 รายชี้ให้เห็นว่า ในปัจจุบันตลาดแรงงานไทยเผชิญกับสภาวะตึงตัวทำให้ค่าแรงสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม่เพียงแต่ค่าแรงของแรงงานไทยเท่านั้น แต่รวมไปถึงค่าแรงของแรงงานต่างด้าวด้วย โรงงานจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะโรงงานขนาดกลาง เริ่มไม่สามารถหาแรงงานต่างด้าวมาทำงานได้อย่างเพียงพอเสียด้วยซ้ำ
ในสถานการณ์ที่ไทยขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง แรงงานข้ามชาติจะช่วยให้โรงงานรับคำสั่งซื้อได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อธุรกิจเดินหน้าได้ไปต่อได้ กิจการก็จะมีเงินมากพอให้ไปลงทุนเพื่อยกระดับประสิทธิภาพ และลงทุนด้าน R&D เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
ส่วนการใช้เครื่องจักรและ/หรือการย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศนั้นเป็นข้อเสนอที่เป็นไปได้ยากสำหรับอุตสาหกรรมที่ยังไม่มีการพัฒนาเครื่องจักรให้เข้ามาทดแทนแรงงานได้อย่างเหมาะสม เช่น อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม และอาจรวมไปถึงอุตสาหกรรมกุ้งแปรรูปด้วย นอกจากนี้ การออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศก็ต้องใช้เงินจำนวนมาก กลายเป็นภาระต้นทุนจมก้อนใหญ่ จึงยิ่งเป็นไปได้ยากสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก แม้ผู้ประกอบการเหล่านั้นจะมีความสามารถในการผลิตที่สูงก็ตาม
ที่มา: ชุดโครงการวิจัย “ความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมไทย” โดย รศ.ดร.อาชนัน เกาไพบูลย์ และคณะ (2558) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)