รายงาน: ชราบรรยากาศ

เขียน: ณัฐกานต์ อมาตยกุล

002_phone-03

คุณลืมตาตื่นขึ้น ศีรษะหนัก ขยับแข้งขาเล็กน้อยเพื่อเลื่อนตัวลงจากเตียง

พลัน… คุณรู้สึกปวดตามข้อเข่า และสังเกตเห็นริ้วรอยหย่อนคล้อยบนผิวหลังมือของตัวเอง

มองกระจกก็เห็นใบหน้าตัวเองที่เปลี่ยนไปอย่างฉับพลัน 30 ปี เพลงบอดี้แสลมที่คุณเคยชอบกลายเป็นเพลงเก่าที่ต้องเปิดฟังตามยูทูป มือของคุณเริ่มแตะสัมผัสหน้าจอสมาร์ทโฟนไม่คล่องเหมือนสมัยหนุ่มสาว

คุณก้มลงมองหน้าจอ ต้องเหยียดแขนให้สุดเพื่อมองตัวเลขเล็กๆ ให้ชัด

ปี 2583

ปีแห่ง ‘สังคมสูงวัยระดับสุดยอด’ ของประเทศไทย

ฟังดูดีและควรเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองของคนสูงวัยอย่างคุณ แต่จริงๆ แล้วคือปีที่ประเทศไทยจะมีประชากรผู้สูงอายุเกินร้อยละ 30 ของประชากรทั้งประเทศ

อาจจะเป็นดิสโทเปียหรือยูโทเปียก็ได้

คุณกลับไม่แน่ใจว่าหากเดินออกนอกประตูไป สังคมข้างนอกนั้นจะเป็นสังคมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของคนสูงวัยหรือเปล่า

คุณได้แต่นั่งเหม่ออยู่เฉยๆ ด้วยความหวาดกลัว และพลังงานร่างกายที่อ่อนแอลงกว่าหลายปีก่อน

พร้อมท่อนเพลง “ชีวิตยังมีพรุ่งนี้เสมอ…” ของพี่ตูน ก็ทำให้รู้สึกเศร้าพิกล

 

เก็บเบี้ย (ยังชีพ) ใต้ถุนร้าน

ดูเหมือนว่าบทสนทนาเกี่ยวกับการดูแลคนชราในประเทศไทยจะอยู่ที่เรื่องเงิน

เราถกเถียงกันเรื่อง “เบี้ยยังชีพ” ว่าควรจ่ายเท่าไรและจ่ายวิธีไหน เพราะเงินเป็นตัวแทนความต้องการอื่นๆ ในชีวิตที่ไม่เจาะจง ผู้ชราแต่ละคนมีความต้องการใช้เงินที่แตกต่างกันไป

แต่พร้อมกันนั้น จำนวนเงินที่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตนี้ก็มาพร้อมกับงบประมาณของรัฐที่ต้องดึงมาใช้ และยิ่งประชากรผู้สูงอายุมากขึ้น จำนวนเงินที่จำเป็นก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว สิ่งที่น่ากลัวคือมันจะทำให้เราเสียโอกาสในการนำเงินไปพัฒนาด้านอื่นๆ ในฐานะประเทศกำลังพัฒนา

นักวิชาการจึงแนะว่า การบรรเทาปัญหาที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าข้างต้น ตั้งแต่ พ.ศ. นี้ คงต้องเป็นการกระตุ้นการออมส่วนบุคคลตั้งแต่เรายังหนุ่มสาว เพื่อเตรียมตัวเป็นคนแก่ในอนาคต

แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ยังเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำของรายได้ และผู้สูงอายุในอนาคตหลายคนก็ไม่ได้อยู่ภายใต้ระบบสวัสดิการของรัฐหรือเอกชน จะคาดหวังให้ทุกคนมีเบาะนุ่มๆ ที่เรียกว่าความมั่นคงหลังวัยเกษียณก็คงไม่ได้

แล้วอันที่จริง การอยู่สบายในวัยชรา มันก็คงไม่ได้มีแค่เรื่องเงินๆ ทองๆ หรอก

จริงไหม

 

สังคมผมขาว

“ภาระของสังคม” เมื่อเอ่ยวลีนี้ออกมา เป็นใครก็ต้องแสลงหูเมื่อรู้ว่ามันหมายถึงตัวเอง

เครือข่าย HelpAge International เปิดเผยข้อมูลว่าเมกะเทรนด์สองอย่างที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้คือสังคมสูงอายุที่มาพร้อมกับสังคมเมือง นั่นหมายความว่าผู้สูงอายุจำนวนมากจะมีชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่ ความท้าทายที่ตามมาก็คือปัญหาด้านสิทธิทางสังคม เศรษฐกิจ และด้านพื้นที่ โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา

ในด้านสังคม พวกเขาถูกคลุมไปด้วยอคติและภาพจำเกี่ยวกับคำว่า “คนแก่” ลบเลือนความต้องการที่หลากหลายของปัจเจกบุคคล โดนนิยามว่าเป็นเพียงผู้สูงอายุที่ไม่มีส่วนร่วมกับการตัดสินใจทางสังคม (แต่อาจจะไม่เหมือนบ้านเราก็ได้)

ด้านเศรษฐกิจ คือ ค่าครองชีพที่สูงเกินไปสำหรับวัยชราที่ไม่มีรายได้มั่นคง

และด้านพื้นที่ พวกเขาขาดแคลนพื้นที่สาธารณะและบริการที่เข้าถึงได้ง่าย ระบบคมนาคมที่ไม่สะดวก ท้องถนนที่อันตราย และไม่มีกิจกรรมที่ให้คนชราได้ออกไปใช้ชีวิต

หญิงชราในประเทศเม็กซิโกคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า “ผู้คนเป็นเบาหวานกันมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะในเมืองนั้นมีแต่อาหารการกินที่ไม่เป็นประโยชน์ และยังไม่ได้ออกกำลังกาย พวกเราคนชราได้แค่อยู่เฉยๆ เท่านั้น”

ก่อนเราจะพูดถึงเรื่องเงิน บางประเทศก็พยายามแก้ไขปัญหาที่ต้นตอก่อน

 

Ireland: เป็นมิตรกับความชรา

ความชราอาจเป็นความทุกข์ในตัวเอง แต่การไม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมทั้งทางกายภาพและทางจิตใจคือความเจ็บปวดอีกรูปแบบหนึ่ง

เมือง Skerries ในเทศมณฑล Fingal ประเทศไอร์แลนด์ ประกาศตัวว่าจะปรับเปลี่ยนเมืองให้เป็นมิตรกับคนชราเพื่อให้ที่นี่เหมาะสมกับการ “ใช้ชีวิตอยู่ในวัยทำงานและผ่อนคลายวางใจได้เมื่ออยู่ในบั้นปลาย”

เขาทำอย่างไร ก็เริ่มจากการให้ความสำคัญกับการให้ข้อมูล โชคดีหน่อยที่สาธารณูปโภคพื้นฐานนั้นดีอยู่แล้ว แต่ยังขาดการสื่อสารที่ไปถึงกลุ่มผู้สูงอายุในเมือง เมื่อเข้าโครงการ พวกเขาจะได้รับแจกแผ่นติดตู้เย็นที่รวบรวมเบอร์โทรศัพท์สำคัญต่างๆ ทั้งบริการพื้นฐานและบริการฉุกเฉิน โครงการยังตรวจสอบความต้องการของประชาชนมากกว่าที่จะคิดแทน เพื่อทำให้บริการตรงเป้าหมาย เช่น กิจกรรมนันทนาการสำหรับผู้สูงวัย

รวมทั้งมีการทดลองโครงการ “ข้อความในขวดแก้ว” (Message in a bottle) ให้ผู้สูงอายุกรอกข้อมูลสุขภาพที่จำเป็นและเบอร์ติดต่อคนใกล้ชิดไว้บนกระดาษ บรรจุลงกระป๋อง ส่วนมากมักเก็บไว้ในตู้เย็น เพื่อที่ว่าหากเกิดเหตุฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ซึ่งเข้ามาช่วยเหลือจะแก้ปัญหาได้ถูกวิธีและทันเวลา

“มากกว่าการเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานหรือการให้บริการ คือการเปลี่ยนทัศนคติของชุมชน ให้ผู้คนตระหนักถึงความต้องการของผู้สูงวัย” Eithne Mallin หนึ่งในสมาชิกสภาเทศมณฑล Fingal กล่าว

 

Norway: มองการณ์ไกล

ขยับไปดูนโยบายระดับประเทศอย่างนอร์เวย์ซึ่งได้รับอันดับเป็นประเทศที่ดีที่สุดที่จะใช้ชีวิตในช่วงไม้ใกล้ฝั่ง เนื่องมาจากการมองการณ์ไกลตั้งแต่สองทศวรรษที่แล้ว ซึ่งมุ่งไปที่การสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้ประชาชน การวางระบบขนส่งมวลชนที่ทรงประสิทธิภาพ และยังรวมไปถึงรักษาอัตราการจ้างงานวัยชราให้คงระดับสูงเพื่อทำให้เกิดความมั่นคงทางใจ

Gustavo Toshiaki นักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมสูงอายุโลกได้กล่าวว่า นี่เป็นเพราะการวางแผนล่วงหน้า

เมื่อ 25 ปีที่แล้ว นอร์เวย์ก่อตั้งกองทุนน้ำมัน (Oil Fund) ซึ่งเป็นกองทุนเงินบำนาญของรัฐบาล มาจากการนำเงินรายได้จากน้ำมันส่วนใหญ่ไปลงทุนทั่วโลก เพื่อนำมาสนับสนุนความต้องการด้านการเงินของประชากรผู้สูงอายุ

นอร์เวย์ยังเป็นประเทศที่มีแรงงานอายุมากกว่า 60 สูงที่สุดในยุโรป มีข้อตกลงที่เรียกว่า More Inclusive Working Life ซึ่งสนับสนุนให้ผู้สูงอายุยังทำงานในตลาดแรงงานได้ ไม่เป็นอุปสรรค และยังมีเงินบำนาญที่ครอบคลุมและระบบประกันสุขภาพที่แข็งแกร่ง

“พวกเขารับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวด้วยวิธีการที่ปฏิบัติได้จริง ทั้งยังเป็นประเทศที่ไม่มองผู้สูงอายุเป็นตัวปัญหา” Toshiaki กล่าว

 

Sweden: คนละไม้คนละมือ

สวีเดนก็เป็นอีกประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องสวัสดิการ และสำหรับประเด็นผู้สูงอายุ การปฏิรูป Adel ในปี 1992 ก็พลิกโฉมระบบดูแลผู้สูงอายุให้กระจายไปอยู่ในความดูแลขององค์กรท้องถิ่น แทนที่จะเป็นระบบรวมศูนย์

นอกจากเงินภาษีประชาชน สวีเดนยังแบ่งเงินร้อยละ 3.6 ของ GDP มาสนับสนุนระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวในท้องถิ่น นำไปพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพ และที่สำคัญ ยังนำไปเป็นแรงจูงใจให้สถานพยาบาลลดการรักษาพยาบาลที่ไม่จำเป็น หรือลดการรักษาซ้ำๆ

ในขณะเดียวกัน สวีเดนก็สนับสนุนการใช้ชีวิตอย่างอิสระของผู้สูงอายุ เช่น การมีบริการส่งอาหารถึงบ้านและเรียกใช้บริการคนดูแลเมื่อต้องการเท่านั้น

ทั้งหมดนี้เองที่ทำให้สวีเดนได้รับอันดับสูงสุดในด้านการดูแลผู้สูงวัยใน The Global AgeWatch Index ที่สนับสนุนโดยองค์การสหประชาชาติ

 

Japan: ระบบแข็งแรง

ประเทศญี่ปุ่นเองก็เป็นตัวอย่างที่วางแผนเรื่องนี้มาเนิ่นนาน ผ่านทั้งการทดลองที่ล้มเหลวและเสียค่าใช้จ่ายมาก มาจนถึงนโยบายระบบประกันการดูแลระยะยาว (Long-term Care Insurance: LTCI) ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2000 เป็นการปรับโครงสร้างประกันสังคมที่แยก “การดูแลระยะยาว” ออกจาก “การประกันสุขภาพ” เพราะแน่นอนว่าการเป็นผู้สูงอายุไม่ได้มีแค่มิติเจ็บป่วยออดๆ แอดๆ แต่พวกเขา (หรือพวกเราในอนาคต) ก็ยังมีความต้องการในด้านอื่น

น่าสนใจที่ระบบนี้ใช้วิธี “จ่ายมาจ่ายไป” ใช้เบี้ยประกันที่เก็บจากผู้ประกันครึ่งหนึ่งและอีกครึ่งหนึ่งเป็นเงินภาษี มีการแบ่งเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มอายุ 40-64 ปี และกลุ่ม 65 ปีขึ้นไป สัดส่วนการเก็บเบี้ยต่างกันไป และเบี้ยประกันจะกำหนดตายตัวสำหรับรายได้ระดับต่างๆ

เมื่อไม่ได้มีแค่เรื่องสุขภาพ ระบบการดูแลจึงเน้นไปที่ฐานชุมชน มีการดึงบริการของภาคเอกชนทั้งแสวงหากำไรและอาสาสมัครในพื้นที่มาเข้าร่วม ให้ผู้รับบริการทำแบบสอบถามประเมินระดับความต้องการ และพวกเขาก็สามารถเลือกผู้ให้บริการเองได้ ถือเป็นการคัดกรองผู้ให้บริการไปในตัว

บางครั้งคนชราก็จะได้ออกไปทำกิจกรรมในศูนย์ดูแลที่มีลักษณะเป็นสังคมชุมชน ได้หัดวาดรูป หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ดีต่อใจ ไม่ใช่เพียงแต่ต้องการคนมาดูแลถึงบ้าน

ระบบแบบนี้จึงไม่ได้ผลักให้ผู้สูงอายุใช้สิทธิได้ก็ต่อเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย เผลอๆ จะลดรายจ่ายของรัฐในด้านสุขภาพด้วยซ้ำ เพราะการดูแลที่ดีก็ทำให้มีอัตราการเจ็บป่วยน้อยลง ในปี 2549 ยังมีการให้ “เบี้ยป้องกันการดูแลระยะยาว” จูงใจให้ผู้สูงอายุหันไปออกกำลังกาย ลดภาระในการใช้บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน

 

ชีวิตยังมีพรุ่งนี้เสมอ

คุณกระพริบตาสองทีหน้าพัดลมเก่าคร่า แสงแดดบ่ายเริ่มแยงเข้ามา

เอาล่ะ! คุณต้องออกจากบ้านสักที

มือเหี่ยวย่นจับลูกบิดประตู รวบรวมความกล้า

คุณได้แต่หวังว่า 2 ปีที่แล้ว ประเทศของคุณจะเรียนรู้จากตัวอย่างการแก้ปัญหาเหล่านี้ ทั้งการแก้ปัญหาระดับโครงสร้างในการระดมงบประมาณและวิธีแก้ปัญหาการใช้ชีวิตวัยชราที่ต้นตอ ไม่ใช่ที่บั้นปลาย

และทำให้คุณเป็นผู้สูงวัยอีกคนที่อยู่ในชุมชนเปื้อนยิ้มและรอยตีนกาแห่งความสุข

ไม่ใช่แค่ “ภาระของสังคม” ที่รัฐบาลอยากเขี่ยทิ้งเมื่อหมดประสิทธิภาพ