สัมมนา: “สังคมสูงวัย : ความท้าทายและการปรับตัวสู่สมดุลใหม่”

หลังจากที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ทุกหน่วยงานจัดทำแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี รวมถึงแผนอนาคตของสังคมสูงวัย โดยให้ครอบคลุมไปถึงเทคโนโลยีที่จะใช้ในอนาคต เพื่อให้ผู้สูงวัยยังทำงานได้หลังเกษียณ พัฒนาคุณภาพชีวิต สามารถสื่อสารกับลูกหลานได้ รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมให้กลุ่มผู้สูงอายุสามารถก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในมิติอื่นๆ และต้องมองมิติของการลดลงของประชากรในวัยแรงงานและเตรียมความพร้อมในสมรรถนะของแรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพ

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ตระหนักถึงความส าคัญของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรต่อความมั่นคงทางสังคม และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว จึงกำหนดให้ “การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและสังคมสูงวัย” เป็นกรอบประเด็นการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ที่ สกว. ให้การสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อนำข้อค้นพบที่สำคัญมากำหนดเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายหรือแนวทางแก้ไขผลกระทบที่มีความชัดเจนสำหรับการนำไปใช้ในการพัฒนาประชากรของประเทศในระยะยาว
ล่าสุด สกว. ได้ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทยได้จัดเวทีสาธารณะ “สังคมสูงวัย: ความท้าทายและการปรับตัวสู่สมดุลใหม่” เพื่อสร้างความตระหนักให้สังคมในการเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรสู่สังคมสูงวัย รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเพื่อเตรียมการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อไป

ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบรูณ์ คือมีสัดส่วนประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 หรือหนึ่งในห้าของประชากรทั้งหมดในอีก 5 ปีข้างหน้า ในขณะที่ประชากรวัยแรงงานอายุ 15 – 59 ปีจะลดลงจาก 43 ล้านคนในปัจจุบันเป็น 40.7 ล้านคนในอีกสิบปีและลดลงเหลือ 35.1 ล้านคนในปี 2583 ทำให้จำนวนประชากรวัยแรงงานที่ต้องเกื้อหนุนผู้สูงอายุมีแนวโน้มลดลงจาก 4 : 1 ในปัจจุบันเป็น 1.7 : 1 ในปี 2583 แผนประชากร 20 ปีของสำนักงาน คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมระบุว่าสังคมสูงวัยนำไปสู่ความท้าทายต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนใน 3 ประเด็นที่สำคัญ คือ

(1) การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
(2) ความมั่นคงทางรายได้เพื่อการเกษียณอายุ
(3) ความอยู่ดีมีสุขของครอบครัวไทย

ผลของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

สัดส่วนแรงงานที่ลดลงจะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศโดยเฉลี่ยที่ร้อยละ 4.5 ในช่วง  10 ปีผ่านมาชะลอลงเป็นร้อยละ 3 – 3.5 ในอนาคตคุณภาพชีวิตของคนไทยจะเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่ควรจะเป็น 2 เท่า หากไม่สามารถนำเทคโนโลยีมาช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ไทยจะติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางตลอดไป ในด้านคุณภาพแรงงาน ปัจจุบันไทยมีแรงงานจ้างตนเองร้อยละ 35 ของจำนวนแรงงานทั้งหมดในอีก 20 ปีข้างหน้า แรงงานจ้างตนเองในวัย 50 – 60 ปีจะเพิ่มเป็นร้อยละ 60 ของแรงงานจ้างตนเองทั้งหมด แต่แรงงานจ้างตนเองมีผลิตภาพต่ ากว่าแรงงานที่เป็นเจ้าของกิจการและลูกจ้าง ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประเทศลดลงถึงร้อยละ 30 ในอีก 30 ปีข้างหน้า ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของประเทศจะทวีความรุนแรงมากขึ้น

รศ. ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ และคณะ เสนอว่ารัฐบาลควรพิจารณาขยายอายุเกษียณการทำงาน เพื่อ ‘เลื่อน’ ผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลงออกไปได้ประมาณ 10 ปีแต่มาตรการนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างถาวร   แรงงานจ้างตนเองควรเรียนรู้ทักษะการบริหารองค์กรและการบริหารการเงิน  แรงงานที่เป็นลูกจ้างควรมีทักษะเฉพาะทางที่เหมาะสมกับงาน เพื่อช่วยให้ผลิตภาพการผลิตของประเทศเพิ่มสูงขึ้นในระยะยาว

ขณะที่ ดร.จิระวัฒน์ ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ และคณะ เสนอให้มีการวางแผนกำลังคนในอนาคต เพื่อให้ภาคการศึกษาผลิตบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและทิศทางการพัฒนาประเทศให้มากที่สุด เพื่อการใช้ทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การประมาณการความต้องการแรงงานของประเทศในอนาคตควรคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร รวมถึงการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมให้แรงงานต่างชาติที่มีทักษะความสามารถตรงกับความต้องการของประเทศสามารถเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้

ความมั่นคงทางรายได้เพื่อการเกษียณอายุ

ผลการสำรวจประชากรสูงวัยในปี 2557 พบว่ามีผู้สูงวัยเพียงร้อยละ 4 เท่านั้นที่มีรายได้หลักในการดำรงชีพจากเงินออม/ดอกเบี้ย ผู้สูงวัยส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพิงเงินเกื้อหนุนจากบุตรหรือญาติพี่น้องในการดำรงชีพ แต่สัดส่วนดังกล่าวมีแนวโน้มลดลงเหลือร้อยละ 41 ในปี 2557 ในขณะที่ผู้สูงอายุที่มีรายได้จากการทำงานพึ่งตนเองมีแนวโน้มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 40 ในช่วงเวลาเดียวกัน (วรเวศน์ 2557 และวรวรรณ 2559) จึงจำเป็นต้องส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงวัย ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบทั้งการจ้างแรงงงานเดิมกลับเข้าทำงานการขยายอายุเกษียณ หรือการใช้รูปแบบการจ้างงานเป็นรายชิ้นเพื่อความยืดหยุ่นในเวลาทำงานและสถานที่ทำงาน

การศึกษาของ ผศ. ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติพบว่าปัจจัยที่ส่งเสริม/เป็นอุปสรรคต่อการจ้างแรงงานสูงวัยของสถานประกอบการคือ ประเภทของธุรกิจ ความสามารถในการหาแรงงานทดแทน และศักยภาพทางการเงินของสถานประกอบการ ในขณะที่ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจทำงานของแรงงานสูงวัยคือ ศักยภาพด้านร่างกาย สถานะทางการเงินและทัศนคติของครอบครัวต่อการทำงานของผู้สูงอายุ ผู้วิจัยเสนอว่ามาตรการส่งเสริมการจ้างแรงงานสูงวัยควรใช้ระบบที่มีความยืดหยุ่นตามลักษณะงานและประเภทกิจการ โดยควรมีการศึกษาเพื่อจัดวางระบบให้มีความครอบคลุม

อุตสาหกรรมอย่างกว้างขวางและมีความลึกซึ้งในรายประเภทงาน เพื่อการปรับเปลี่ยนลักษณะงาน และการจัดการแรงงานที่เหมาะสม สร้างประโยชน์สูงสุดแก่ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง โดยในระยะแรกรัฐควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจ้างงานแรงงานสูงวัยโดยความสมัครใจก่อน ด้วยการใช้มาตรการสนับสนุนทางภาษีหรือทางการเงิน และอาจใช้มาตรการเชิงบังคับในระยะที่สอง อย่างไรก็ตาม มาตรการที่จัดทำขึ้นต้องตั้งอยู่บนแนวคิดของศักยภาพและศักดิ์ศรีของแรงงานสูงอายุที่ยังคงสามารถสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม ไม่ใช่มาตรการสงเคราะห์ผู้สูงอายุ รวมถึงการสร้างทัศนคติใหม่ของสังคมเกี่ยวกับแรงงานสูงวัย

ความไม่เพียงพอของรายได้หลังเกษียณของผู้สูงวัยจำนวนมาก และอัตราการเกื้อหนุนผู้สูงวัยที่มีแนวโน้มลดลง สะท้อนถึงความจำเป็นที่ประชากรวัยทำงานและเด็กควรเรียนรู้และตระหนักถึงความสำคัญของการออมเพื่อชราภาพ ดร.จิระวัฒน์ ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ และคณะ เสนอว่าควรมีการพัฒนารูปแบบความรู้ทางการเงินที่เหมาะสมกับประชากรในแต่ละช่วงวัย การสร้างวินัยการออมเพื่อการใช้จ่ายในยามจำเป็นและยามชราภาพ บุคคลควรทราบว่าตนเองควรมีเงินออมเท่าใดจึงเหมาะสมแก่การดำรงชีพจนสิ้นอายุขัย สามารถบริหารจัดการเงินออมเพื่อกระจายความเสี่ยงและสร้างผลตอบแทนทางการเงินที่ดี สร้างระบบที่บูรณาการข้อมูลเงินออมสำหรับบุคคลให้ทราบถึงสถานะการออมของตนเอง โดยอาจมี check list ช่วยให้แรงงานทราบว่าตนเองได้มีการเตรียมการเพื่อการเกษียณอายุอะไรบ้างแล้ว และมีระบบหรือกลไกควบคุมการสร้างหนี้สินระดับครัวเรือนไม่ให้สูงเกินไป

บทบาทของชุมชนต่อความมั่นคงทางรายได้

ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ พบว่ากองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นระบบการเกื้อกูลกันของคนในชุมชนตามหลักการ ‘เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข’ ด้วยการจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิก  สิทธิประโยชน์หลักของกองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นสวัสดิการเสริมจากสวัสดิการสังคมที่รัฐจัดสรรให้ อาทิ เงินช่วยเหลือการคลอดบุตร ค่าเดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาล เงินบำนาญ และค่าฌาปนกิจศพสมาชิกที่เสียชีวิต ส่วนสวัสดิการเสริมจะมีความแตกต่างกันไปตามความต้องการของคนในชุมชน  จึงมีความสอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่  อย่างไรก็ตาม กองทุนสวัสดิการชุมชนส่วนใหญ่มีความเสี่ยงด้านความยั่งยืนทางการเงิน เนื่องจากมีจ านวนสมาชิกจำกัด ไม่สามารถระดมทุนในวงกว้าง สมาชิกสูงวัยมีช่วงเวลาการจ่ายเงินสมทบสั้น แต่มีโอกาสได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนมากกว่าเม็ดเงินที่สมทบ โดยเฉพาะเงินช่วยเหลือค่าฌาปนกิจที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ความไม่แน่นอนของเงินสมทบจากองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ผู้บริหารกองทุนส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยในชุมชนที่อาศัยการบริหารงานตามความคุ้นเคย และระบบธรรมภิบาลในการกำกับดูแล และตรวจสอบการทำงานของกองทุน

บทบาทของภาครัฐต่อความมั่นคงทางรายได้

รัฐบาลไทยได้ใช้มาตรการทั้งด้านภาษี และการใช้จ่ายภาครัฐในการส่งเสริมสุขภาพและสร้างหลักประกันรายได้เพื่อการชราภาพ แต่การจัดสรรระบบสวัสดิการแบบถ้วนหน้าทั้งในหลักประกันสุขภาพ และเบี้ยยังชีพ ทำให้งบประมาณของรัฐรั่วไหลไปนอกกลุ่มเป้าหมาย (inclusion  error) ทำให้ผู้เดือดร้อนจริงได้รับความช่วยเหลือน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ระบบสวัสดิการแบบถ้วนหน้าจึงสร้างภาระทางการคลังที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นและโรคเรื้อรังของผู้สูงอายุ World Bank (2015) ประมาณการว่า ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของรายจ่ายด้านสาธารณสุขสูงกว่าจีดีพี 1.6 เท่า และสูงกว่าทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียน Thai  PBO  (2558) ประมาณการว่าภาระทางการคลังจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 502,476 ล้านบาท ในปี 2559 เป็น 760,943 ล้านบาท ในปี 2567(ดร.ปัณณ์ อนันอภิบุตร 2558) ดร.จิระวัฒน์ ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ และคณะ เสนอให้มีการศึกษาแนวทางการส่งเสริมสุขภาพ (health protection) เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านนี้ และภาวะการพึงพิงของผู้สูงวัยอาจทำให้เกิดอุปสงค์ต่อการดูแลระยะยาวที่บ้าน การศึกษารูปแบบการดูแลระยะยาว ค่าใช้จ่ายการด าเนินงาน และแหล่งการเงิน (financing) เป็นสิ่งจำเป็น

ความอยู่ดีมีสุขของครอบครัวไทย

ภาวะการเจริญพันธุ์ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องมีผลให้ครัวเรือนไทยมีขนาดเล็กลง โครงสร้างครอบครัวและการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างบุคคลในครอบครัวจึงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ในปี 2537-2556 และข้อมูล Townsend Thai ที่ติดตามตัวอย่างซ้ำของครัวเรือนแบบรายเดือนในช่วง 2541-2554 ดร.อนันต์ ภาวสุทธิไพศิฐ ศึกษาพบว่าในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา การย้ายเข้า/ออกเพื่อศึกษาต่อและการทำงานเป็นปัจจัยหลักของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครัวเรือนไทยในชนบท แม้ว่าครัวเรือน 2 รุ่นและครัวเรือน 3 รุ่นยังมีสัดส่วนมากที่สุด แต่มีแนวโน้มลดลงด้วยอัตราการเติบโต -3.0% และ -1.4% ในขณะที่ครัวเรือนแบบอยู่คนเดียว ครัวเรือน 1 รุ่น และครัวเรือนแหว่งกลาง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่6.0% 5,5% และ 3.0% ตามลำดับหากใช้รายได้และรายจ่ายต่อหัวเป็นดัชนีวัดการกินดีอยู่ดีเชิงเศรษฐกิจแล้ว ครัวเรือนแหว่งกลางมีความเป็นอยู่แย่ที่สุด เงินโอนจากสมาชิกครัวเรือนที่ย้ายออกมีความสำคัญต่อครัวเรือนแหว่งกลางในชนบทมาก โดยหากตัดรายได้จากเงินโอนแล้ว ครัวเรือนแหว่งกลางจะมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ จึงเป็นรูปแบบครัวเรือนที่มีความเปราะบางที่สุดในชนบท และสมควรได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐต่อไป แต่ต้องมีการศึกษาเพื่อกำหนดรูปแบบและระดับความช่วยเหลือที่เหมาะสมเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ไม่จูงใจให้ครัวเรือนประเภทอื่นเปลี่ยนสภาพครัวเรือนเพื่อขอรับความช่วยเหลือจากรัฐ

รายงานสถานการณ์ประชากรไทย พ.ศ. 2558 โฉมหน้าครอบครัวไทย ยุคเกิดน้อยอายุยืน จัดทำโดยกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานว่าครัวเรือนไทยโดยเฉลี่ยมีขนาดเล็กลงแต่มีรูปแบบครอบครัวที่หลากหลายมากขึ้น การเพิ่มขึ้นของครอบครัวที่ไม่มีบุตร อัตราการคลอดในวัยรุ่นที่เพิ่มสูงขึ้นและมีความอ่อนไหวสูงต่อการกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ทัศนะคติของคนเจนเนอเรชันวายที่ให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางหน้าที่การงานและทรัพย์สินจึงชะลอการสร้างครอบครัวออกไป และความยากลำบากในการหาสถานบริการดูแลเด็กเล็กหรือพี่เลี้ยงเด็กที่เหมาะสมและมีคุณภาพในราคาไม่แพงจนเกินไป เป็นอุปสรรคขัดขวางการตัดสินใจมีบุตรของคู่สามีภรรยา และการศึกษาที่สูงขึ้นมีส่วนทำให้ผู้หญิงชะลอการสร้างครอบครัวและมีบุตรช้าลง

รายงานดังกล่าวเสนอให้มีนโยบายสาธารณะที่ครอบคลุมการส่งเสริมสถาบันครอบครัว โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพและบริการทางสังคมแก่แม่และเด็ก โดยเฉพาะแม่เลี้ยงเดี่ยวและแม่วัยรุ่นที่ส่วนใหญ่มาจากครัวเรือนยากจน และมีการศึกษาระดับประถมศึกษา ให้มีงานทำและมีรายได้ที่เพียงพอแก่การเลี้ยงดูบุตร การปรับปรุงบริการดูแลเด็กให้ครอบคลุมตั้งแต่เด็กหัดเดินจนถึงอายุ 2 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกณฑ์อายุที่จะสามารถเข้ารับบริการจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของรัฐ จัดพื้นที่สำหรับมารดาให้นมบุตรในสถานที่ทำงาน ศูนย์บริการเลี้ยงเด็กควรมีคุณภาพ เป็นมาตรฐานในการเข้าถึงได้ง่าย มีราคาเหมาะสม และครอบคลุมแรงงานนอกระบบที่ทำงานในเมือง เพื่อป้องกันการส่งเด็กให้ปู่ย่า/ตายายในชนบทเลี้ยงดูอันเป็นแนวโน้มที่กำลังเพิ่มขึ้น และการส่งเสริมนโยบายการทำงานและการลางานที่มีความยืดหยุ่นเอื้อต่อการดูแลบุตร และลดความกดดันของผู้หญิงทำงานที่ต้องเลือกระหว่างการทำงานกับการเลี้ยงดูบุตร

งานศึกษาของผศ. ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร และคณะ พบว่าสมดุลชีวิตและงานสามารถทำได้ถ้าสถานประกอบการให้ความสำคัญและผู้ชายสามารถแบ่งเบาภาระในครอบครัว ศูนย์เด็กเล็กในเมืองเช่นกรุงเทพมหานครมีจำนวนมากแต่บุคลากรจำกัดและต้องดูแลเรื่องคุณภาพ ส่วนในชนบทพบว่าผู้สูงอายุตอนต้น ญาติพี่น้องและเพื่อน ยังมีบทบาทสำคัญต่อการเกื้อกูลครอบครัว โดย อปท. ยังมีบทบาทรองลงมา แต่บทบาทของครอบครัวและชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนาคุณภาพของคนรุ่นใหม่ยังเป็นคำถามส าคัญ


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่เว็บไซต์สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย วันที่ 2 มิถุนายน 2559 ในชื่อ “สังคมสูงวัย : ความท้าทายและการปรับสมดุลใหม่”