“ถ้าไม่ให้ชาวบ้านปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แล้วจะให้เขาปลูกอะไร งานวิจัยมีทางออกให้ไหม”
เสียงสะท้อนของชาวบ้านที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรบนที่สูง ที่นำมาสู่งานวิจัย ในโครงการ Smart Farmer เกษตรทางเลือก และความมั่นคงทางอาหาร (2559-60) และโครงการการเพิ่มศักยภาพเกษตรกรและหมู่บ้านต้นแบบการผลิตและการตลาดสีเขียว มาตรฐานด่านซ้ายกรีนเนตฯ (2560-61) ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ปัจจุบัน หมู่บ้านก้างปลา กลายเป็นต้นแบบหมู่บ้าน Smart Farmer อ.ด่านซ้าย จ.เลย ที่เปลี่ยนจาก การเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว มาเป็น การปลูกพืชผักปลอดภัยส่งตลาด เช่น โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย และตลาดประชารัฐภายใต้มาตรฐาน “Dansai Green Net” จนเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และยังสร้างรายได้ให้กับ ชาวบ้านตลอดทั้งปี ที่สำคัญช่วยลดพื้นที่บุกรุก ผืนป่าซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญ
หมู่บ้านก้างปลามีพื้นที่กว่า 9,965 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นป่าสงวน ประชากรราว 223 คน หรือ 60 ครัวเรือน ด้วยสภาพภูมิประเทศเป็นที่ลาดชันและเชิงเขา พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 500-1,100 เมตร มีพื้นที่ราบระหว่างหุบเขาเป็นที่ราบลุ่มแคบๆ สลับกับหุบเขา เพียง 4-5% ของพื้นที่ทั้งหมดถูกใช้เป็นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำการเกษตร เมื่อชุมชนขยายตัวจึงต้องขยายพื้นที่ รุกเข้าไปในผืนป่า ที่ดินป่าไม้จึงถูกเปลี่ยนไป เป็นพื้นที่เกษตรอย่างถาวรและต่อเนื่อง แต่การนำไปใช้ประโยชน์ด้านการเพาะปลูก จะประสบปัญหาการชะล้างการพังทลายของหน้าดิน หากไม่มีระบบการอนุรักษ์ดินและน้ำที่ดีพอ โดยเฉพาะหน้าดินที่มีดินอยู่น้อย ยิ่งมีปัญหามาก
นอกจากก่อให้เกิด “เขาหัวโล้น” แล้ว การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีการใช้สารเคมี ในปริมาณมากๆ ยังส่งผลกระทบต่อคน ในพื้นที่ราบลุ่ม
งานวิจัยนี้จึงให้ความสำคัญกับการใช้ที่ดิน แหล่งน้ำและผืนป่า เพราะถือเป็นพื้นฐานสำคัญ ต่อวิถีการทำการเกษตรของชาวบ้านก้างปลา
ดร.เอกรินทร์ พึ่งประชา อาจารย์ประจำภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ ชี้สาเหตุที่เลือกทำงานวิจัยชิ้นนี้ว่า หมู่บ้านก้างปลาเป็นหมู่บ้านเล็กๆ บนพื้นที่สูง และเป็นหมู่บ้านต้นน้ำที่สำคัญส่งผลกระทบกับ คนพื้นราบ และมีความสำคัญต่อลุ่มน้ำหมัน จึงต้องการหาแนวทางในการจัดการเพื่อฟื้นฟู ฐานทรัพยากรอาหารในชุมชน ประกอบด้วย ดิน น้ำ ป่า ภายใต้เงื่อนไข เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา
“การไปพัฒนาอะไรในชุมชนนั้น เราจะต้องรับฟังเสียงของชาวบ้าน ต้องเข้าใจ ในวิถีชีวิตของคนในพื้นที่นั้นๆ ที่สำคัญคือ ความพร้อมในการเปลี่ยนแปลง เพราะถ้า ท้องถิ่นยังไม่พร้อมแล้วเราไปผลักดัน ปัญหา ในการขับเคลื่อนก็จะตามมา เราโชคดีมีผู้นำ ของหมู่บ้านที่พร้อมจะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงชุมชน ลดปริมาณการทำ พืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว ลดปริมาณเขาหัวโล้น และต้องการฟื้นฟูผืนป่า จึงนำมาสู่การจัดทำ โครงการ Smart Farmerเกษตรทางเลือก และความมั่นคงทางอาหาร หมู่บ้านก้างปลา ขึ้น เมื่อปี 2559”
ดร.เอกรินทร์ ยอมรับว่า “การทำงานวิจัย เชิงระบบไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการพัฒนาเรื่องของป่าต้นน้ำ การฟื้นฟูดินที่เสื่อมสภาพ จำเป็นต้องแก้ไขที่ตัวคน จึงต้องอาศัยคนเป็นศูนย์กลางในการแก้ปัญหา ต้องทำให้เข้าใจ วิถีชีวิตและหาแนวทางแก้ปัญหาไปพร้อมๆ กัน เพราะเราไม่สามารถไปบอกให้ชาวบ้านหยุดทำลายป่า อย่าปลูกข้าวโพด ทำให้ ต้องมาคิดใหม่”
จากโจทย์ใหญ่ที่ว่า ถ้าไม่ให้เขาปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ต้องใช้พื้นที่ปลูกเยอะๆ จะทำ อย่างไร และชาวบ้านจะต้องสามารถทำได้ด้วยตนเอง หลังพบว่าส่วนใหญ่จะปลูกข้าวโพด เฉลี่ย 40-50 ไร่/หนึ่งครัวเรือน และถ้าทั้งหมู่บ้านปลูกข้าวโพดกันหมด ก็จะกลายเป็น เขาหัวโล้นเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน จึงเกิดแนวคิด ในการทำ “เกษตรทางเลือก”เข้ามาให้กับชุมชน เริ่มจากทดลองใช้พื้นที่ 1 ไร่ของแกนนำ หมู่บ้านมาปลูกพริกปลอดภัย ซึ่งถือว่า ค่อนข้างเสี่ยง แต่หากทำสำเร็จก็จะสามารถสร้างรายได้ถึง 3 เท่าตัวเมื่อเทียบกับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยผลผลิตพริกสามารถเก็บขายได้ทุก 3-4 เดือน ขณะที่ การข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีรายได้เพียงปีละ 1 ครั้ง และในระหว่างสัปดาห์มีการปลูกผักสวนครัว ปลอดภัยขาย พอชาวบ้านเริ่มเห็นรายได้เกิดความเชื่อมั่น จึงหันมาทำเกษตรทางเลือก เพิ่มมากขึ้น โดยผลวิจัยจากโมเดลนี้ ทำให้เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจนได้ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี
ปัจจุบันเกษตรกรทั้งหมู่บ้านก้างปลา 80% ลด เลิก การปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวหรือ เลิกปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หันมาทำ Smart Farmer ผลิตพืชผักปลอดภัย มีตลาดรองรับ สร้างรายได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี เช่น พริก หรือพืชที่เพิ่มมูลค่าในพื้นที่จำกัด สามารถลดต้นในการผลิต โดยภายใน 1 สัปดาห์ ชาวบ้านมีรายได้จากการขายผักปลอดภัยเพิ่มขึ้นประมาณ 1,500 บาท/ครัวเรือน ทั้งที่ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย ทุกวันจันทร์, ลานเอนกประสงค์หน้าที่ว่าการอำเภอด่านซ้าย ขายทุกวันอังคาร ศุกร์และวันประชุมประจำเดือนของกำนันผู้ใหญ่ และที่ตลาดประชารัฐ ที่สำคัญ เกษตรกรได้สุขภาพที่ดีขึ้น
ดร.เอกรินทร์ กล่าวว่า “การจะเป็น Smart Farmerนั้น ต้องใช้เทคโนโลยีและองค์ความรู้เข้าไปช่วย ไม่ใช่อยู่ดีๆจะเป็นกันได้ ดังนั้น คุณสมบัติของเกษตรกรที่จะเป็นSmart Farmerได้ 1.จะต้องเป็นคนพร้อมเปิดใจรับความรู้ใหม่ๆ พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการปลูกพืชใหม่ๆ ก้าวทันเทคโนโลยี 2. เรื่องขององค์ความรู้การจัดการดิน น้ำ และโรคของพืช ที่มีประสิทธิภาพ เช่น การตรวจคุณภาพดินปุ๋ยสั่งตัด การใช้สารเคมี หรือการใช้น้ำแบบรู้คุณค่ามากขึ้น เช่น การใช้ระบบน้ำหยด นอกจากนี้ ยังมีการใช้ความรู้หลายอย่างที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เข้าไปให้ชาวบ้าน ผสมผสานกับฐานความรู้ภูมิปัญญาเดิม ก็จะนำไปสู่องค์ความรู้ของชุมชนในรูปแบบที่เหมาะสมกับนิเวศของชุมชนเอง และสิ่งสำคัญที่สุดคือ เรื่องของวิธีคิดและกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงจึงจะมีโอกาสเป็นSmart Farmerได้”
เมื่อการบุกรุกป่าลดลง ระยะยาวแหล่งต้นน้ำและผืนป่าก็จะได้รับการฟื้นฟู ปัจจุบันหากใครได้มีโอกาสไปเยือนหมู่บ้านก้างปลาจะเริ่มเห็นการปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นเข้ามาแทนที่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน มะขาม ส้ม ลิ้นจี่ ลำไย อโวคาโดและอื่นๆ ต่อไปในอีก 5 ปีข้างหน้าที่นี่จะเกิดความหลากหลายกลายเป็นวนเกษตรขึ้นแทนที่ภาพเขาหัวโล้น ซึ่งอนาคตอีกไม่นานจะทำให้เราเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของผืนป่ากลับคืนมาในที่สุด
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 ในชื่อ “Smart Farmer บ้านก้างปลา เกษตรทางเลือก ฟื้นฟูผืนป่า”