ทางออกในการจัดการความท้าทายของสังคมสูงวัยไม่ใช่แค่ส่งเสริมการเพิ่มจำนวนประชากรเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญคือการเสริมสร้างคุณภาพของประชากร ศูนย์การศึกษาก่อนวัยเรียนมีบทบาทสำคัญยิ่งในกระบวนการสร้างประชากรที่มีคุณภาพตั้งแต่ต้นทาง โดยทำหน้าที่ส่งเสริมพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และจิตใจ ของเด็กแรกเกิดจนถึง 3 ปี ซึ่งเด็กในวัยนี้ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิดเพราะเป็นช่วงก่อร่างสร้างทักษะพื้นฐานเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นไป
นอกจากนั้น การมีสถานเลี้ยงเด็กซึ่งมีศักยภาพในการทำหน้าที่ศูนย์การศึกษาก่อนวัยเรียนเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจมีลูกของพ่อแม่ยุคใหม่อีกด้วย ถ้าพ่อแม่มั่นใจว่ามีผู้ดูแลบุตรที่ดีมีคุณภาพก็มีแนวโน้มที่จะตัดสินใจมีลูกหรือมีลูกมากขึ้น
งานวิจัยของ ดร.จงจิตต์ ฤทธิรงค์ สุภรต์ จรัสสิทธิ์ และ ดร.ธีรนงค์ สกุลศรี เรื่อง การให้บริการของศูนย์การศึกษาก่อนวัยเรียนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (2559) ภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง ความอยู่ดีมีสุขของครอบครัวไทย ของ ผศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร และคณะ แห่งสถาบันวิจัยสังคมและประชากร มหาวิทยาลัยมหิดล สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งใช้วิธีการวิจัยแบบผสานวิธี คือการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ เชิงคุณภาพ และเชิงพื้นที่ ได้ชี้ให้เห็นว่า
ในปัจจุบันผู้ปกครองในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีความตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมพัฒนาการเด็กแรกเกิดจนถึง 3 ปี แต่ความสอดคล้องระหว่างความต้องการของผู้ใช้บริการ (ผู้ปกครอง) และการให้บริการของสถานเลี้ยงเด็กในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลยังมีช่องว่าง ทำให้ผู้ปกครองใช้บริการสถานเลี้ยงเด็กไม่มากเท่าที่ควร
ผลการศึกษาบอกว่าพ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนร้อยละ 89 ตระหนักถึงความสำคัญของพัฒนาการของเด็กวัยแรกเกิด ซึ่งแตกต่างกันไปตามระดับการศึกษาและฐานะทางเศรษฐกิจของผู้ปกครอง โดยผู้ที่มีระดับการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีและมีรายได้มากจะมีความตระหนักในเรื่องนี้มากกว่า นอกจากนั้น ผู้ปกครองส่วนใหญ่เห็นว่าการใช้บริการสถานเลี้ยงเด็กเป็นการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กให้สมวัยมากกว่าการแก้ปัญหาเด็กขาดผู้ดูแลเพราะพ่อแม่ต้องทำงานนอกบ้าน อีกทั้งผู้ปกครองส่วนมากยังเห็นว่าเด็กที่ควรพามาใช้บริการสถานเลี้ยงเด็กควรมีอายุ 2 ปีขึ้นไป เพราะสามารถดูแลตัวเองและสื่อสารได้ระดับหนึ่งแล้ว
งานวิจัยพบว่า ปัจจัยกำหนดการตัดสินใจเลือกสถานเลี้ยงเด็กของผู้ปกครอง เรียงลำดับความสำคัญได้ดังนี้ (1) การเดินทางที่สะดวก กล่าวคือ ใกล้บ้านเป็นหลัก (ร้อยละ 60) รองลงมาคือใกล้ที่ทำงาน (ร้อยละ 25) (2) ผู้ดูแลมีประสบการณ์ ทักษะ และความเอาใจใส่ (3) ความสะอาด สภาพแวดล้อมไม่เสียงต่อการแพร่เชื้อ มีระบบรักษาความปลอดภัย มองเห็นเด็กได้ชัดเจน (4) อัตราค่าบริการที่สอดคล้องกับรายได้และค่าใช้จ่ายของครัวเรือน (5) ความน่าเชื่อถือโดยสถานเลี้ยงเด็กควรมีใบอนุญาตจัดตั้ง (6) ความรู้สึกอุ่นใจหรือความไว้วางใจของผู้ปกครอง (7) จำนวนผู้ดูแลที่เพียงพอ และ (8) ระยะเวลาที่ให้บริการมีความยึดหยุ่นต่อผู้ปกครอง
ในส่วนของการวิเคราะห์ช่องว่างงานระหว่างความต้องการของผู้ใช้บริการกับการให้บริการสถานเลี้ยงเด็กในปัจจัยที่สำคัญ งานวิจัยมีข้อค้นพบที่น่าสนใจ ดังนี้
- สถานเลี้ยงเด็กกระจายตัวครอบคลุมพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร กล่าวคือ อยู่ในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตรจากเขตที่อยู่อาศัย แต่เนื่องจากคุณภาพหรืออัตราค่าบริการไม่สอดคล้องตรงตามความต้องการ พ่อแม่จึงต้องเลือกสถานเลี้ยงเด็กที่อยู่ไกลออกไป ทำให้มีต้นทุนการเดินทางมากขึ้น
- ระดับรายได้ของครัวเรือนและรายจ่ายด้านที่พักอาศัยส่งผลต่อความสามารถในการใช้บริการสถานเลี้ยงเด็ก โดยครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน และต้องจ่ายค่าเช่าบ้าน มีงบประมาณเหลือจ่ายค่าบริการสถานเลี้ยงเด็กเพียง 1,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น ส่งผลลดทอนการเข้าถึงบริการสถานเลี้ยงเด็ก เพราะสถานเลี้ยงเด็กร้อยละ 82.1 มีอัตราค่าบริการสูงกว่า 1,000 บาทต่อเดือน
- ผู้ปกครองที่ใช้บริการสถานเลี้ยงเด็กส่วนมากให้คะแนนความพึงพอใจในภาพรวมสูงถึง 4.41 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 5) ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากผู้ปกครองเป็นผู้เลือกสถานเลี้ยงเด็กด้วยตัวเอง ถ้าไม่ถูกใจก็ไม่เลือกใช้บริการตั้งแต่ต้น ส่วนคะแนนด้านต่างๆ ได้แก่ การมีของเล่นหรืออุปกรณ์เสริมพัฒนาการที่เหมาะสมและเพียงพอ การให้บริการของบุคลากรโดยรวม การจัดกิจกรรมที่หลากหลาย จำนวนเด็กไม่แออัดเกินไป ก็สูงกว่า 4 คะแนน ยกเว้นด้านจำนวนผู้ดูแลต่อจำนวนเด็ก
- ผู้ปกครองให้คะแนนความพึงพอใจแก่สถานเลี้ยงเด็กเอกชน (4.23 คะแนน) สูงกว่าสถานเลี้ยงเด็กภายใต้หน่วยงานรัฐ (3.9 คะแนน) โดยเฉพาะด้านการจัดเตรียมของเล่นส่งเสริมพัฒนาการเด็กอย่างเพียงพอและเหมาะสม ส่วนที่ได้คะแนนไม่ต่างกันมากคือจำนวนผู้ดูแลต่อจำนวนเด็ก ซึ่งสถานเลี้ยงเด็กทั้งของเอกชนและของรัฐต่างมีปัญหาด้านนี้ทั้งคู่
- ครูพี่เลี้ยงเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับเด็กที่สุด จึงควรผ่านการอบรมให้มีคุณสมบัติที่เหมาะสม มีจำนวนครูพี่เลี้ยงที่เหมาะสมกับจำนวนเด็ก และกิจกรรมเสริมทักษะที่สำคัญคือการฝึกเด็กให้ช่วยตัวเองได้ การปรับตัวเข้าสังคม และไม่ควรมุ่งเน้นวิชาการจนเด็กเครียดและขาดจินตนาการ
- การเรียนรู้วิธีการบริหารจัดการและการให้บริการของสถานเลี้ยงเด็กในชุมชนและสถานประกอบการ ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามความต้องการของคนในชุมชนและพนักงานบริษัท ทำให้เข้าใจความต้องการของผู้ปกครองและเป็นต้นแบบในการพัฒนาสถานเลี้ยงเด็กในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในด้านข้อเสนอเชิงนโยบาย โจทย์สำคัญคือจะยกระดับสถานเลี้ยงเด็กให้มีศักยภาพสูงขึ้นและรับบทศูนย์การศึกษาก่อนวัยเรียนได้อย่างเต็มที่ได้อย่างไร คำตอบอยู่ที่การพัฒนาคุณภาพของสถานเลี้ยงเล็กทั้งในแง่บุคลากร ความสะอาดและปลอดภัย ความสามารถเข้าถึงได้ทั้งในแง่การเดินทางและอัตราค่าบริการ โดยมีแนวนโยบายเพื่อพัฒนาคุณภาพสถานเลี้ยงเด็ก ดังนี้
- ส่งเสริมศักยภาพของสถานเลี้ยงเด็กให้มีกิจกรรมที่กระตุ้นพัฒนาการของเด็กอย่างสมวัย โดยจัดให้มีของเล่นส่งเสริมพัฒนาการของเด็กอย่างเพียงพอและเหมาะสม จัดพื้นที่ให้เด็กได้ออกกำลังกาย
- สนับสนุนสถานเลี้ยงเด็กภายใต้หน่วยงานรัฐให้มีงบประมาณมากขึ้น
- กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ควรเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข จัดอบรมครูพี่เลี้ยงเพื่อให้ความรู้และพัฒนาทักษะที่เหมาะสมแก่การดูแลเด็กให้มีพัฒนาการสมวัยทั้งด้านร่างกาย สังคม จิตใจ อารมณ์ และสติปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาความรู้และทักษะสำหรับการดูแลเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ซึ่งยังคงเป็นปัญหาในกลุ่มครูพี่เลี้ยง
- ปรับการให้บริการของสถานเลี้ยงเด็กให้สามารถรองรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม เช่น พัฒนาความรู้ให้ครูพี่เลี้ยงในเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรม จัดกิจกรรมให้เด็กได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน มีสื่อรองรับภาษาต่างประเทศ
- กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และกระทรวงแรงงาน ควรจัดให้มีการเผยแพร่องค์ความรู้และนำเสนอต้นแบบ เพื่อการจัดตั้งสถานเลี้ยงเด็กในสถานประกอบการ
ข้อเสนอเชิงนโยบายเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในการลดช่องว่างของความไม่สอดคล้องระหว่างความต้องการของผู้ปกครองและการให้บริการของสถานเลี้ยงเด็ก เพื่อลดภาระการดูแลลูกของผู้ปกครองในบริบทของสังคมเมืองที่พ่อแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน กระนั้น นักวิจัยได้เน้นย้ำในรายงานว่า “พ่อแม่เป็นผู้ดูแลบุตรที่ดีที่สุด” ดังนั้น การส่งเสริมให้สถานเลี้ยงเด็กมีศักยภาพดูแลเด็กอย่างสมวัยต้องทำควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้พ่อแม่ใช้เวลาหลังเลิกงานและวันหยุดอย่างมีคุณภาพกับลูกด้วย
อ่านเพิ่มเติม: งานวิจัยเรื่อง การให้บริการของศูนย์การศึกษาก่อนวัยเรียนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (2559) โดย จงจิตต์ ฤทธิรงค์ สุภรต์ จรัสสิทธิ์ และธีรนงค์ สกุลศรี สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)