ที่ผ่านมา การแก้ปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทยมักเป็นการแก้ปัญหาด้วยมุมมองจากส่วนกลาง มีข้อเสนอที่เป็น ‘one size fit all’ หรือสูตรสำเร็จที่ใช้เหมือนกันหมดทุกพื้นที่ แม้วิธีการนี้อาจจะเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพ (หากทำได้จริง) แต่ก็มีข้อจำกัดในการใช้แก้ปัญหาอยู่ไม่น้อย เพราะในความเป็นจริง ปัญหาคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่มีความหลากหลายและความซับซ้อน ขึ้นอยู่กับความแตกต่างของพื้นที่ ทรัพยากร และประชากร
หากต้องการแก้ปัญหาคอร์รัปชันอย่างถูกจุดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น การลงไปสำรวจอย่างเอาจริงเอาจังในแต่ละพื้นที่ จึงเป็นกระบวนการที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ในวงเสวนา “หลากมิติคอร์รัปชัน หลายประเด็นพฤติโกง : ประสบการณ์จากนักวิจัย” จากงาน Knowledge Farm Talk ครั้งที่ 4 “จากห้องทดลองสู่โลกจริง: เข้าใจคอร์รัปชันในสังคมไทย” ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการพูดคุยถึงประเด็นความแตกต่างของการคอร์รัปชันในแต่ละพื้นที่ และการประสานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันต่างๆ ให้ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Knowledge Farm – ฟาร์มรู้สู่สังคม ตั้งวงคุยกับคณะนักวิจัยจาก SIAM Lab ประกอบด้วย ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค นักวิจัยทีมข้อมูล ซึ่งทำงานวิจัยโดยใช้ข้อมูลและเครื่องมือใหม่มาวิเคราะห์ปัญหาคอร์รัปชั่น คุณอดิศักดิ์ สายประเสริฐ ผู้ประสานงานโครงการ ‘สังคมไทยไร้คอร์รัปชั่น’ และทีมนักวิจัยที่ทำงานในระดับพื้นที่ 3 คน คือ คุณปกรณ์สิทธิ ฐานา (กรุงเทพมหานคร) คุณจิรพันธ์ รวมพรรณพงศ์ (นครราชสีมา) และ คุณนิชาภัทร ไม้งาม (น่าน)
วงสนทนาเริ่มต้นด้วยคำถามที่ว่า ทำไมการศึกษาปัญหาคอร์รัปชันจึงต้องสนใจมิติในเชิงพื้นที่?
อดิศักดิ์ สายประเสริฐ อธิบายว่า เพราะการคอร์รัปชันเป็นเรื่องนามธรรม ดังนั้นการจะเข้าใจคอร์รัปชันได้ต้องผ่านสิ่งที่ง่ายและจับต้องได้ ซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็อาจมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน การลงไปดูว่าแต่ละพื้นที่มีความเข้าใจคอร์รัปชันแตกต่างกันอย่างไร จะช่วยให้เห็นปัญหาชัดขึ้น นำไปสู่การทำงานเพื่อต่อต้านคอร์รัปชันอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป โครงการวิจัยที่เขาเป็นผู้ประสานงานโครงการมีทีมวิจัยเพื่อท้องถิ่นของสกว. และ SIAM Lab ลงพื้นที่ทั้งหมด 3 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นครราชสีมา และน่าน ซึ่งทั้ง 3 แห่งนี้ก็มีความแตกต่างทั้งทางด้านลักษณะประชากรศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และความเข้าใจคอร์รัปชันของคนในพื้นที่ด้วย
น่าน – ภาพแทนสังคมชนบท
จังหวัดน่านเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ชาวบ้านพึ่งพิงการผลิตตามธรรมชาติเพื่อยังชีพ มีการผลิตเพื่อการเกษตร มีการเลี้ยงสัตว์และรับจ้างบางส่วน ดังนั้นน่านจึงอาจเป็นตัวแทนภาพสังคมชนบทในสังคมไทย
“เราเลือกเดินทางไปในที่ที่เดินทางลำบาก ส่งผลต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ พื้นที่ที่เราเลือกมีความโดดเด่นในความเป็นชุมชนชนบท มีความแน่นแฟ้นหรือความร่วมมือของชาวบ้าน เมื่อเปรียบเทียบกับชุมชนเมือง ชาวบ้านส่วนใหญ่มีการศึกษาที่น้อยอยู่ มีบางส่วนที่ใกล้เมืองซึ่งอาจจะได้รับการศึกษาเต็มที่มากกว่า” นิชาภัทร ไม้งาม อธิบายเพิ่มเติม ทำให้เห็นภาพชุมชนที่น่านชัดขึ้น
เพื่อทำให้เห็นว่าชาวบ้านมองปัญหาคอร์รัปชั่นอย่างไร มองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรแบบไหน และความสัมพันธ์ของชาวบ้านกับนักการเมืองเป็นอย่างไร ผู้วิจัยเลือกศึกษา 1 อำเภอ โดยแบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วน คือ
- พื้นที่ใกล้ตัวอำเภอ พบว่า ชาวบ้านตระหนักเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างไม่โปร่งใส รวมถึงเรื่องกินเปอร์เซ็นต์ ได้เงินทอน ซึ่งส่งผลต่อการตรวจสอบนักการเมืองท้องที่ด้วย จึงทำให้มีการเปลี่ยนผู้นำในพื้นที่ค่อนข้างบ่อย ชาวบ้านตรวจสอบนักการเมือง หรือโครงการที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองท้องถิ่นโดยตรง มองเห็นระบบค่อนข้างชัดเจน
- พื้นที่ไกลออกจากตัวอำเภอ พบว่า ชาวบ้านให้ความสำคัญกับปัญหาคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น ถนน หรือโครงการที่ไม่เป็นประโยชน์กับชาวบ้าน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าชาวบ้านสนใจเรื่องที่ใกล้ตัวมาก บทบาทของนักการเมืองท้องถิ่นคือมีการร่วมมือกับชาวบ้านสูง อยู่ในรูปแบบประสานความร่วมมือมากกว่าพื้นที่ใกล้ตัวอำเภอ
- พื้นที่ที่มีงบลงไปจำนวนมาก เช่น พื้นที่การปลูกป่า พื้นที่ที่มีภัยพิบัติ พบว่า ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลโครงการ ชาวบ้านได้รับข้อมูลจากโครงการน้อย
จากข้อมูลที่ได้รับจากการลงไปศึกษาในโครงงานวิจัยที่ดำเนินมาได้ 1 ปี ผู้วิจัยที่น่านมีข้อเสนอเชิงนโยบายว่าควรแก้ปัญหาอย่างไรจึงจะสอดคล้องและตอบโจทย์ในทางพื้นที่ โดยแบ่งเป็น 3 ข้อดังนี้
- ชาวบ้านบางส่วนยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการคอร์รัปชัน บางครั้งก็ไม่รู้ว่าพฤติกรรมบางอย่างของตัวเองก็ถือเป็นการคอร์รัปชันแล้ว เช่น เมื่อเกิดภัยพิบัติมีสัตว์เลี้ยงล้มตาย ก็มีการแจ้งจำนวนของสัตว์ที่ตายกับหน่วยงานช่วยเหลือมากกว่าจำนวนที่ตายจริง เพื่อให้ได้เงินมากขึ้น ดังนั้นจำเป็นต้องแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มความรู้ความเข้าใจให้คนในชุมชนเกี่ยวกับการคอร์รัปชัน
- เมื่อใดก็ตามที่มีการรวมกลุ่มมากขึ้นในพื้นที่ จะส่งผลต่อการตระหนักรู้ข้อมูลที่มากขึ้น ดังนั้นการมีส่วนร่วมหรือการรวมกลุ่มจึงสำคัญกับพื้นที่น่านมาก ควรเพิ่มการรวมกลุ่มให้มากขึ้น
- ควรเพิ่มการเปิดเผยข้อมูลของโครงการที่จะลงมาในพื้นที่ เพราะน่านเป็นพื้นที่ของการระบายงบ หลายครั้งงบที่ไม่มีที่ลงมักจะมาลงที่น่าน ตามโครงการปลูกป่า แก้ปัญหาไฟป่า เป็นต้น แต่ปัญหาคือชาวบ้านไม่รู้ว่ามีโครงการไหนบ้างเข้ามาในพื้นที่ บางครั้งรู้ตอนที่เข้ามาแล้ว แต่ไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับงบประมาณหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทำให้ชาวบ้านตรวจสอบไม่ได้ การเปิดเผยข้อมูลจึงสำคัญมากเพื่อทำให้ชาวบ้านตรวจสอบได้ง่ายขึ้น
ก่อนจบเรื่องน่าน นิชาภัทร ผู้วิจัยทิ้งท้ายไว้ว่า “ตอนนี้มีกลุ่ม มีการรวมตัวแล้ว กระบวนการมีส่วนร่วมเกิดขึ้นแล้ว แต่การตรวจสอบยังมีปัญหาอยู่ จะทำยังไงให้ชาวบ้านมีตัวแทนหรือคณะกรรมการที่มีส่วนในการตรวจสอบ และมีส่วนในการรับรู้ข้อมูลด้วย”
นครราชสีมา – ภาพแทนชุมชนกึ่งเมือง กึ่งชนบท
ขณะที่น่านเป็นภาพแทนสังคมชนบท มีความซับซ้อนน้อยกว่าในแง่ของลักษณะประชากรและการคอร์รัปชัน นครราชสีมาเป็นสังคมกึ่งเมือง กึ่งชนบท เพราะเป็นจังหวัดขนาดใหญ่ มีถึง 32 อำเภอ โดยบางอำเภอพัฒนาได้รวดเร็วกว่าอำเภออื่น ส่วนอำเภอที่อยู่ห่างไกล อาจเน้นการเกษตรเป็นหลัก จึงเกิดเป็นการผสมกันของชุมชนเมืองกับชุมชนชนบท สิ่งที่น่าสนใจคือ เพราะภูมิศาสตร์กว้าง การเดินทางยากลำบาก จึงทำให้การรวมกลุ่มข้ามพื้นที่ของภาคประชาชนมีน้อย แต่การรวมกลุ่มในอำเภอมีมากกว่า
จุดที่ทำให้การคอร์รัปชันในนครราชสีมาซับซ้อนมากขึ้นอยู่ตรงที่ในตัวเมืองมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จึงมีกลุ่มทุนหลายกลุ่มเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ในพื้นที่ จนเกิดการแข่งขันและความขัดแย้งขึ้นมา
เมื่อถามถึงความหมายของคำว่าคอร์รัปชัน ชาวบ้านในพื้นที่ให้ความหมายของคอร์รัปชันโดยเกี่ยวโยงกับกิจกรรม 4 อย่าง ได้แก่ (1) การเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่รัฐ (2) การหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง (3) การยักยอกทรัพย์สินราชการไปใช้เอง เพื่อประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง และ (4) การซื้อสิทธิ์ขายเสียง
จิรพันธ์ รวมพรรณพงศ์ ผู้วิจัยอธิบายเพิ่มเติมว่า นครราชสีมาเป็นจังหวัดที่ได้งบประมาณสูงที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนมากจะถูกจัดสรรไปที่องค์กรการพัฒนาเป็นหลัก ผ่านการจัดซื้อจัดจ้าง ดังนั้นบทบาทของนักการเมืองท้องถิ่นจะกลายเป็นคนประสานผลประโยชน์ของท้องถิ่นกับราชการส่วนกลาง
“ข้าราชการท้องถิ่นสนิทกับประชาชนอยู่แล้ว เขาก็มีอำนาจในการต่อรองกับกลุ่มทุนที่เข้ามา” จิรพันธ์ กล่าว
สิ่งที่น่าสนใจและเฉพาะตัวมากในพื้นที่นครราชสีมาคือ การแข่งขันระหว่างกลุ่มทุน การมีกลุ่มุทุนที่หลากหลายในพื้นที่ส่งผลให้เมื่อกลุ่มทุนไหนเสียประโยชน์ ก็จะไปแจ้งหน่วยงานของรัฐให้มาตรวจสอบทุจริต “ถ้ามีกลุ่มทุนหลากหลาย ก็เกิดการแข่งขันกันเอง มีการตรวจสอบกันเองมากขึ้น ตอนนี้สถิติการร้องเรียน ปปช. โคราชเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ” จิรพันธ์เล่าเพิ่มเติม
สำหรับการแก้ปัญหาในสภาพสังคมกึ่งชนบทกึ่งเมือง และมีกลุ่มทุนที่หลากหลายแข่งกันเอง ผู้วิจัยเสนอแนวทางแก้ไขว่า
“ในสภาพปัจจุบัน เป็นการขัดผลประโยชน์แล้วก็ไปแจ้งเบาะแสให้หน่วยงานรัฐเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการแจ้งข้อมูลจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเท่านั้น แต่ประชาชนยังไม่สนใจ ไม่มีการตื่นตัวมากขนาดนั้น ก็อาจจำเป็นต้องไปสนับสนุนเรื่องการเปิดข้อมูล ทำให้เขาเข้าถึงข้อมูลได้เร็ว ไม่ต้องไปเสียเวลาในการหา เพราะเวลาก็ต้องเอาไปทำมาหากินอยู่แล้ว ตรงนี้น่าจะเป็นส่วนสำคัญ ที่ทำให้เราต่อสู้กับการคอร์รัปชั่นได้ดีขึ้น”
ดังนั้นวิธีการสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาคอร์รัปชันในนครราชสีมาคือ ทำให้ต้นทุนในการเข้าถึงข้อมูลถูกลงและรวดเร็วขึ้น เพื่อให้กลุ่มทุนตรวจสอบกันและกันได้ง่ายขึ้น อีกทั้งประชาชนตระหนักถึงปัญหาและเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหามากขึ้น
กรุงเทพมหานคร – ภาพแทนชุมชนเมืองขนาดใหญ่
ในภาพรวม กรุงเทพมหานครมีความแตกต่างจากสองพื้นที่แรกอย่างมาก เพราะกรุงเทพฯ มีรูปแบบการปกครองแบบพิเศษ แบ่งออกเป็น 50 เขต ในแต่ละเขตก็แบ่งย่อยเป็นชุมชนออกไป โดยมีชุมชนมากกว่า มากกว่า 2,000 ชุมชน มีประชากรหลายล้านคน และแต่ละชุมชนก็มีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและประชากรภายในชุมชน
ผู้วิจัยเลือกพื้นที่วิจัยชายเมืองกรุงเทพฯ 4 แห่ง โดยแบ่งเป็นชุมชนแออัด 3 แห่ง และชุมชนบ้านจัดสรร 1 แห่ง โดยสาเหตุที่เลือกชุมชนแออัด เพราะมีฐานเสียงขนาดใหญ่และเป็นพื้นที่ที่ภาคการเมืองให้ความสนใจ นักการเมืองจึงเข้ามาลงทุนเยอะตามไปด้วย
หากอธิบายว่าคนกรุงเทพฯ มองคอร์รัปชันอย่างไร และลักษณะของพื้นที่ส่งผลต่อรูปแบบของการคอร์รัปชันอย่างไร ต้องแบ่งชุมชนของกรุงเทพฯ ออกเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มแรก สืบเนื่องมาจากการปกครองแบบพิเศษ แบ่งออกเป็นชุมชน เมื่อมีการตั้งชุมชนแล้ว เขตจะจัดเลือกตั้งคณะกรรมการชุมชนขึ้นมา มีวาระ 3 ปี โดยเขตแบ่งงบประมาณให้ชุมชนทุกเดือน เดือนละ 5,000 – 10,000 บาท แยกตามขนาดชุมชน สิ่งที่ชาวบ้านสนใจมุ่งไปที่การทำงานของคณะกรรมการชุมชน และสนใจรูปแบบการโกง เช่น การโกงเงิน โกงของ ได้งบมาแล้วไม่ทำงานต่อ ไม่แจกจ่ายถึงคนในชุมชน แต่มีเอกสารของบทุกเดือน และ การเลือกปฏิบัติให้เงินเฉพาะพวกพ้องตัวเอง เป็นต้น
กลุ่มที่สอง แบ่งจากที่อยู่อาศัย ในกรุงเทพฯ มีคนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองอยู่จำนวนหนึ่ง ดังนั้นรัฐบาลจึงมีหน่วยงานที่เข้ามาช่วยดูแลเรื่องที่อยู่อาศัย โดยมีเกณฑ์ว่า ใครที่ต้องการกู้เงินจากหน่วยงานไปสร้างบ้าน จำเป็นต้องมีเงินออม 10 เปอร์เซ็นต์ของยอดเงินกู้ก่อน จึงจะอนุมัติให้เงินกู้ไปสร้างบ้านได้ ดังนั้นชาวบ้านเลยสร้างสหกรณ์ออมทรัพย์ขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการออมและการไปขอกู้เงิน โดยมีการตั้งคณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมาบริหาร ชาวบ้านมองว่า การโกงมักเกิดขึ้นจากคณะกรรมการเอง
จากการลงพื้นที่ 4 ชุมชน ผู้วิจัยสรุปว่า ชาวบ้านมองพฤติกรรมการโกงว่ามี 4 รูปแบบ คือ (1) การโกงกิน โกงเงิน (2) การเลือกปฏิบัติ เลือกพวกพ้อง (3) คณะกรรมการไม่โปร่งใส (4) ไม่ประชาสัมพันธ์โครงการ ไม่มีการเปิดเผยข้อมูล
นอกจากนี้ คุณปกรณ์สิทธิยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า
- ชุมชนที่มีพื้นที่ส่วนกลางจะสร้างความร่วมมือได้มากกว่า เพราะธรรมชาติของชุมชนกรุงเทพฯ มีคนจากหลายแหล่งมารวมกัน คนจึงไม่รู้จักกัน ดังนั้นการมีพื้นที่ส่วนกลางจะทำให้คนรู้จักกันมากขึ้น ก่อเกิดความไว้วางใจ จนนำไปสู่ความร่วมมือที่มากขึ้น
- ชุมชนที่มีธุรกิจผิดกฎหมายเยอะ มักจะมีอุปสรรคในการรวมตัวกัน สาเหตุเพราะไม่มีความไว้ใจกัน ไม่เปิดเผยตัวในที่แจ้ง เพราะกลัวอันตราย
- การเลือกตั้งคณะกรรมการชุมชนมีความสัมพันธ์กับการคอร์รัปชัน คนที่โกงแล้วเข้าไปทำงานจะอยู่ได้ไม่นาน สาเหตุเพราะชาวบ้านรู้แล้วจึงไม่เลือกอีก แต่ก็จะเกิดการโกงแบบใหม่คือการโกงเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งมีจุดอ่อนคือ คนที่เข้าไปทำงานเป็นคณะกรรมการชุมชนไม่มีเงินเดือน บางครั้งอาจถึงต้องใช้เงินตัวเองช่วยในการทำงาน ดังนั้นการเลือกตั้งอาจช่วยลดการคอร์รัปชัน หรืออาจเป็นแหล่งให้คนโกงเข้ามาทำตรงนี้ได้
สำหรับข้อเสนอในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันจากพื้นที่กรุงเทพฯ สรุปออกมาได้ 3 ข้อ ดังนี้
- ต้องมีการออกแบบกลไกการทำงานของคณะกรรมการชุมชนให้ชัดเจนและเป็นระบบ เพราะกรรมการมีวาระ ครั้งละ 3 ปี ดังนั้นถ้าระบบชัดเจน เป็นที่ยอมรับทั่วกัน เมื่อมีการเปลี่ยนกรรมการ ก็สามารถดำเนินกิจกรรมต่อได้ทันที
- ควรเพิ่มการเปิดเผยข้อมูล ในแต่ละชุมชนควรจะมีบอร์ด ติดประกาศว่าในแต่ละเดือน คณะกรรมการทำโครงการอะไรไปบ้าง ควรมีเอกสารหรือใบเสร็จมาแสดงให้เห็นชัดเจน
- ให้มีการประชาสัมพันธ์ข้อมูล เมื่อได้รับงบประมาณจากรัฐ หรือจากองค์กรภายนอก ที่เกี่ยวกับกิจกรรมของชุมชน ต้องประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน
ในการศึกษาพื้นที่กรุงเทพฯ ครั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่เห็นความแตกต่างชัดเจนคือ ชุมชนชนชั้นกลางที่เป็นบ้านจัดสรร มีบุคลิกแตกต่างจากชุมชนแออัดมาก และแม้ว่าคนในชุมชนจะมีการศึกษาดี และรายได้สูง แต่ยังมีการคอร์รัปชันอยู่ ที่น่าสนใจคือ กระบวนการคอร์รัปชันในชนชั้นกลางกลับยิ่งมีความซับซ้อน ในแง่นี้จึงหมายความว่า การศึกษาและระดับรายได้ไม่ได้เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมการโกงแต่อย่างใด
พื้นที่ส่วนกลาง และการประสานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน
พื้นที่ทั้งสามแบบข้างต้น ต่างเป็นตัวแทนภาพสังคมคนละแบบในสังคมไทย จึงนำไปสู่การแก้ปัญหาคนละแบบ ขณะเดียวกันที่พื้นที่ส่วนกลางก็เกิดหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทยจำนวนมาก คำถามคือหน่วยงานต่างๆ มีความเชื่อมโยงกันอย่างไร และจะประสานงานกันอย่างไรให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด
ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค กล่าวว่า ในสมัยก่อนถ้าใครคิดจะทำเรื่องต่อต้านคอร์รัปชันต้องมีความกล้าหาญ คนมักจะดูถูกว่าไม่สามารถแก้ไขอะไรได้และเสียเวลา แต่ในปัจจุบันเมื่อศึกษาว่ามีกี่องค์กรที่ทำเรื่องต่อต้านคอร์รัปชัน ก็พบว่ามีจำนวนมาก ณ ตอนนี้รวมได้ 27 ที่ และยังมีอีกหลายที่ที่ต้องขยายพื้นที่ในการศึกษาวิจัยต่อไป
นอกจากเรื่องของจำนวนองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันที่มากแล้ว ยังมีเรื่องของรูปแบบการทำงาน ที่มีครบรูปแบบสามมุม ประกอบด้วย “ป้องกัน เปิดโปง ปลูกฝัง”
“มีโครงการที่ทำเต็มไปหมด มีอยู่ครบทุกแง่มุมแล้ว แต่ว่าแต่ละโครงการทำด้วยตัวเอง อาจจะเจอกันบ้างในที่ประชุม แต่ไม่ได้ร่วมมือกันเท่าไหร่ เราเลยคิดว่าแต่ละโครงการก็ทำงานดีคนละแบบ อีกคนเปิดโปงดี อีกคนป้องกันดี ถ้าเอาสองคนมาจับมือกัน เอาข้อมูลที่เปิดโปงมาไปใช้ในการป้องกัน จะเสริมสร้างประสิทธิภาพการทำงานมั้ย เพราะสุดท้ายแล้วที่กระจายกันอยู่ก็มีเป้าหมายเดียวกันคือการต่อต้านคอร์รัปชัน แค่วิธีการทำงานต่างกันไปเท่านั้น เพราะฉะนั้นคำถามคือจะเชื่อมโยงกันได้ยังไงบ้าง“ ดร.ต่อภัสสร์ ขยายความ
ปัญหาหลักที่ทำให้แต่ละองค์กรไม่ได้ทำงานร่วมกัน อาจเพราะแต่ละกลุ่มมีจุดมุ่งหมายของตัวเองชัดเจน ต่างคนต่างทำกันไปเต็มที่ เมื่อมาเจอกันในที่ประชุมตั้งใจว่าจะร่วมมือกัน แต่พอแยกย้ายกันไป ประกอบกับงานที่ล้นมือของแต่ละองค์กร ไม่มีคนประสานงาน ก็เลยทำให้ไม่ได้ทำงานร่วมกันต่อ ปัญหาที่สำคัญมากๆ จึงเป็นการขาดคนที่ช่วยประสานงาน
คำถามต่อไปก็คือว่า สาเหตุอะไรที่ทำให้พื้นที่ส่วนกลางกับพื้นที่ชุมชนไม่ค่อยได้มาร่วมกันเท่าไหร่ ดร.ต่อภัสสร์ อธิบายอย่างน่าสนใจว่า “คือบางส่วนมันก็ลิงก์กันได้นะครับ อย่างกลุ่มหมาเฝ้าบ้านก็มีเครือข่ายกระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่ประเด็นก็คือเวลารัฐบาลออกนโยบาย นโยบายถูกสร้างจากคนกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในส่วนกลาง แล้วก็เข้าใจว่าคอร์รัปชันมันต้องเป็นแบบนี้นะ ที่ฉันเห็นมามันเป็นแบบนี้ ข้อมูลที่ส่งมาถึงฉันเป็นแบบนี้ เพราะฉะนั้นวิธีการแก้ปัญหาคอร์รัปชันที่ดีที่สุด ก็คือแก้ปัญหาในมุมมองของฉัน ที่ผ่านมามันก็เป็นแบบนี้เรื่อยๆ แค่สามจังหวัดเล่าให้ฟังมาว่ามีอะไรบ้าง ก็ต่างกันแล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ถูกป้อนขึ้นไปอย่างมีประสิทธิภาพหรือครบถ้วน ทำให้คนที่อยู่ตรงกลางไม่มีส่วนที่ลิงก์กับคนที่อยู่ในพื้นที่จริงๆ”
เมื่อมีโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ทำให้คนสื่อสารกันได้ง่ายขึ้น จึงอาจเป็นข้อดีที่จะเชื่อมทั้งสองพื้นที่เข้าด้วยกัน SIAM Lab พยายามเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุย แลกเปลี่ยนกับทุกหน่วยงาน การพูดคุยอาจนำไปสู่การคิดโจทย์ใหม่ๆ ในระดับนโยบาย การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีจะนำไปสู่ความร่วมมือที่ดี และความร่วมมือก็จะนำไปสู่นวัตกรรมใหม่ๆ เช่น หากแต่ละทีมมีข้อมูลหรือประเด็นที่อยากแลกเปลี่ยน ก็อาจสร้าง Cloud Sourcing ขึ้นมาเพื่อส่งผ่านข้อมูล การทำงานในเชิงเน็ตเวิร์กทำให้ความเป็นทีมเหนียวแน่นขึ้น จนนำไปสู่พลังในการต่อสู้กับคอร์รัปชัน
จากการทำ Social Network Analysis เพื่อดูว่าแต่ละองค์กรร่วมมือกันอย่างไรบ้าง ผลปรากฏว่ามีความเชื่อมโยงกันเยอะพอสมควร สิ่งที่ต้องดูต่อไปคือดูว่าแต่ละองค์กรร่วมมือกันถูกจุดหรือไม่ มีการช่วยเหลือกันแค่ไหน โดยผู้วิจัยถามคำถาม 3 ประเด็น คือ (1) พันธกิจขององค์กร (2) อุปสรรคที่องค์กรเจอ (3) ทรัพยากรที่องค์กรมี เช่น องค์กรที่มีอุปสรรรคสามารถเสริมได้ด้วยทรัพยากรที่องค์การอื่นมีหรือเปล่า เป็นต้น
“ตอนนี้การรวมตัวกันขององค์กรเป็นลักษณะองค์กรเอกชนอยู่ด้วยกันเอง องค์กรภาคประชาชนอยู่ด้วยกันเอง องค์กรภาครัฐก็อยู่ด้วยกันเอง ไม่สามารถมีความเชื่อมโยงพันธกิจได้ อย่างองค์กรภาคประชาชนกับองค์กรภาครัฐมีพันธกิจเดียวกัน ก็ร่วมมือกันได้ ที่สำคัญก็คือ คนที่มีอุปสรรคบางประการสามารถได้รับการซัพพอร์ตจากคนที่มีทรัพยากรสนับสนุนเรื่องเดียวกันได้ด้วย เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าทุกคนมารวมกันทีเดียว สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ สิ่งที่ต้องทำคือการสร้างแบบจำลองมาให้เห็นก่อนว่ากลุ่มเล็กๆ ก็สามารถร่วมมือกันได้ถ้าทำให้เปิดประสิทธิภาพในการแชร์ข้อมูล
เมื่อมีพื้นที่ส่วนกลางก็จะทำงานได้ดี แล้วจะทำอย่างไรให้ภาพพวกนี้มันเกิดขึ้นจริง การรวมตัวกันเป็นธรรมชาติก็ดีอยู่แล้ว แต่เมื่อรวมกันเป็นธรรมชาติแล้ว ก็ต้องมีคนไปติดตามต่อว่าเป็นยังไง หรืออย่างมีกลุ่ม Hand Social Enterprise ที่เข้ามาช่วยจัดกลุ่มต่างๆ เข้าหากัน จับคู่เชื่อมให้ถูกจุด ประสานงานต่อให้ไม่หายกันไป เพราะฉะนั้นการมีตัวกลางที่ดีจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อนำไปสู่การแบ่งปันทรัพยากรที่ถูกต้อง
แล้วสุดท้ายต้องมีการวัดผลสำเร็จ ไม่ใช่ว่าไม่เป็นไรหรอก ก็ทำไป เดี๋ยวก็เห็นอนาคตอีก 20 ปี แต่เราก็ไม่รู้ว่าเราจะพัฒนาให้โครงการเรามีประสิทธิภาพไปยังไง แล้วควรจะไปแมตช์กับใคร เพราะฉะนั้น Social Impact Assessment ก็จะมีประโยชน์ค่อนข้างเยอะ ทำให้เกิดการรวมตัวกันอย่างมีระบบ มีการจัดการที่เหมาะสม” ดร.ต่อภัสสร์ อธิบายถึงวิธีการรวมตัวขององค์กรที่จะทำให้เกิดประสิทธิผล
เมื่อมองภาพรวมจะเห็นว่าเทคโนโลยีมีความสำคัญในการเข้ามาจัดการอย่างมาก คุณอดิศักดิ์ สายประเสริฐ ผู้ประสานงานโครงการพูดถึงประเด็นการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ไว้ว่า “เรามองหาว่ามีเทคโนโลยีอะไรที่เข้ามาช่วยวงการวิจัยของเราได้บ้าง อันไหนมีประสิทธิภาพในสังคมไทย อะไรเหมาะ อะไรง่าย อะไรยาก ต่อไปเราพยายามจะร่วมมือกับหลายหน่วยงานที่เราไม่เคยร่วมมือ ซึ่งก็คิดว่ามีข้อมูลหลายอย่างเหมือนกันที่ยังไม่ถูกนำมาวิจัย เราก็จะนำมาใช้“
หลังจากคุยกันมาหลายประเด็น ดร.ต่อภัสสร์ ทิ้งท้ายด้วยการสรุปโจทย์ที่หน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันต้องทำต่อไป
“โจทย์ที่ทำแล้วอิมแพ็ค คือโจทย์ที่มาจากคนทำงานในปัจจุบัน คือกลุ่มคนเหล่านี้ ทำงานเรื่องโซเชียลเน็ตเวิร์กต่อไป ดึงคนเก่งๆ มามีส่วนร่วมในการคิดมากขึ้น ดึงโจทย์จากความจริงมากขึ้น มาดูว่าคนที่ทำงานอยู่มีปัญหาอะไรบ้าง เราสามารถสร้างโมเดลได้ ไม่ใช่งานวิจัยที่นักวิจัยนั่งเทียนเขียนอยู่ในห้อง เราลงพื้นที่เก็บข้อมูลตั้งแต่วันแรก ถ้ามันล้มเหลวก็ต้องไปศึกษาว่าล้มเหลวเพราะอะไร สุดท้ายเราก็จะได้บทเรียนที่นำไปสู่การพัฒนา ภาพที่อยากให้เกิดในสังคมไทยจริงๆ คือการร่วมมือกันต่อต้านคอร์รัปชัน โดยการทำสิ่งที่ตัวเองถนัดอยู่แล้ว“
ชมคลิปวงเสวนา “หลากมิติคอร์รัปชัน หลายประเด็นพฤติโกง : ประสบการณ์จากนักวิจัย” จากงาน Knowledge Farm Talk ครั้งที่ 4 “จากห้องทดลองสู่โลกจริง: เข้าใจคอร์รัปชันในสังคมไทย” ได้ ที่นี่