การเตรียมความพร้อมทางการเงินก่อนวัยเกษียณเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้สูงวัย เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตบั้นปลายได้อย่างมีคุณภาพ แต่จากข้อมูลพบว่า ในปี 2554 ผู้สูงวัยมีรายได้หลักจากเงินออมเพียงร้อยละ 2.6 จากรายได้หลักทั้งหมดเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าผู้สูงวัยยังออมเงินกันน้อยมากจนไม่เพียงพอต่อการนำมาใช้หลังเกษียณ ประเด็นเรื่องความมั่นคงทางการเงินของผู้สูงวัยจึงยังคงเป็นปัญหาน่าห่วง คำถามสำคัญคือ เราจะสร้างความมั่นคงทางการเงินสำหรับสังคมสูงวัยได้อย่างไร
เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2559 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ได้จัดงานเสวนา “สังคมสูงวัย: ความท้าทายและการปรับตัวสู่สมดุลใหม่” เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนผลงานวิจัยเกี่ยวกับสังคมสูงวัยระหว่างเครือข่ายนักวิชาการ ผู้กำหนดนโยบาย และสาธารณชน ประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาแลกเปลี่ยนกันคือเรื่องสภาพปัญหาและแนวทางเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินในยุคสังคมสูงวัย โดยมี ดร.ปัณณ์ อนันอภิบุตร เศรษฐกร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และนักวิจัย สกว. และคุณสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ป่าสาละ จำกัด ร่วมเสวนา
มาตรการด้านการคลังกับสังคมสูงวัย
ดร.ปัณณ์ ฉายภาพเบื้องต้นว่าในอนาคตสังคมสูงวัยจะนำมาซึ่งปัญหามากมาย แนวทางจัดการสำคัญคือ การเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งขึ้นอยู่กับโครงสร้างพื้นฐานที่เพียบพร้อม คุณภาพทรัพยากรมนุษย์ที่ต้องเน้นสร้างแรงงานที่มีทักษะมากขึ้น ค่านิยมและวัฒนธรรมการเปิดรับสิ่งใหม่ที่เอื้อต่อการปรับตัวเมื่อเทคโนโลยีและสังคมเปลี่ยนแปลงไป ธรรมาภิบาลภาครัฐและเอกชนที่ทำให้การดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจมีความโปร่งใสและเกิดประสิทธิภาพ รวมถึงมาตรการด้านการคลังที่ต้องมีเงินไหลเวียนอย่างต่อเนื่องและเพียงพอต่อการจัดการปัญหาต่างๆ อย่างยืดหยุ่น อย่างไรก็ดี ดร. ปัณณ์ ก็ได้เปิดประเด็นว่า ปัจจัยการคลังนั้นยังไม่มีความพร้อมที่จะสร้างการเติบโตเพื่อรองรับสังคมสูงวัยได้
“สถานะการคลังในยุคสังคมสูงวัยมีความล่อแหลมอย่างมาก ทางฝั่งรายได้ ปัจจุบันยังมีข้อจำกัด โดยเฉพาะในแง่การหารายได้ เนื่องจากฐานภาษีหดแคบลงอย่างต่อเนื่อง เพราะคนวัยทำงานที่สามารถจ่ายภาษีได้มีน้อยลงทุกวัน ส่วนทางฝั่งรายจ่ายก็มากมหาศาล อันเกิดจากผู้สูงอายุมีสัดส่วนมากขึ้น ซึ่งผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีฐานะยากจนหรือไม่มีลูกหลานคอยดูแลหลังเกษียณ เมื่อเจ็บป่วย รัฐจึงจำเป็นเข้ามาช่วยเหลือ รายจ่ายส่วนนี้เพิ่มขึ้นทุกปี” ดร.ปัณณ์ กล่าว
ดร. ปัณณ์ จึงมีแนวคิดเพื่อปรับปรุงสถานะการคลังให้มีความสมดุลและเหมาะสมต่อสังคมสูงวัย โดย 3 องค์ประกอบหลักที่ควรคำนึงถึง ได้แก่ ความเพียงพอ ความครอบคลุม และ ความยั่งยืน
(1) ความเพียงพอ ผู้สูงอายุควรมีรายได้จากเงินออมที่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตหลังเกษียณ แต่สถานการณ์ปัจจุบันพบว่า ผู้สูงอายุมีรายได้จากครอบครัวเลี้ยงดู 37% ทำงานเอง 34% เบี้ยเลี้ยงชีพ 15% และเงินออม 2.6% กล่าวอีกอย่างคือ ผู้สูงอายุ ‘จนก่อนแก่’ ทำให้ไม่มีเงินเพียงพอต่อการใช้ชีวิตหลังเกษียณจึงต้องทำงานต่อ
(2) ความครอบคลุม คือ การมีสวัสดิการที่ครอบคลุมทุกกลุ่มแรงงาน เพื่อให้สามารถดูแลผู้สูงอายุที่ทำงานทุกประเภท ในปัจจุบัน จากจำนวนกำลังแรงงาน 43 ล้านคน มีแรงงานที่อยู่ในระบบและมีหลักประกันรายได้ 15 ล้านคน แรงงาน 3 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบแต่เข้าร่วมจ่ายประกันสังคมอย่างสมัครใจเพื่อให้มีหลักประกันหลังเกษียณอายุ แต่แรงงานจำนวนมากอีก 25 ล้านคนไม่ได้มีหลักประกันใดรองรับเอาไว้ แสดงว่าระบบสวัสดิการของไทยยังไม่ครอบคลุมแรงงานทุกประเภท
(3) ความยั่งยืน เมื่อพิจารณาความสมดุลของรายรับและรายจ่ายของรัฐบาล พบว่า รายได้ต่อปีของรัฐบาลเพิ่มขึ้น 5% ส่วนรายจ่ายต่อปีเพิ่มขึ้น 8.5% ซึ่งหากพิจารณารายละเอียดของรายจ่าย จะพบว่ารายจ่ายสวัสดิการต่างๆ ต่อปี เช่น กองทุนสงเคราะห์ งบประมาณสาธารณสุข เพิ่มขึ้น 10% ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สถานะการคลังของประเทศไทยที่ใช้รองรับสังคมสูงวัยไม่มีความยั่งยืน
เพื่อจัดการปัญหาดังกล่าว ดร.ปัณณ์ได้นำเสนอมาตรการทางการคลัง เช่น การงดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเมื่อบุคคลอายุเกิน 65 ปี หรือการหักลดหย่อนภาษี 30,000 บาท กรณีที่ลูกเลี้ยงดูพ่อแม่สูงวัย นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้มีการออมเงินผ่านกองทุนเพื่อการชราภาพ ซึ่งสะดวกและให้ผลประโยชน์แก่ผู้สูงวัยอย่างมาก เพราะช่วยหักภาษี 3 ต่อ นั่นคือ เมื่อผู้สูงอายุนำเงินมาฝากกองทุนก็ได้รับการยกเว้นภาษีในขั้นแรก เมื่อกองทุนนำเงินส่วนนี้ไปทำประโยชน์ก็จะได้รับการยกเว้นภาษีในขั้นที่สอง และเมื่อปันผลกำไรกลับไปยังผู้สูงวัยก็ได้รับการยกเว้นภาษีอีกทอดหนึ่ง นอกจากนี้ ภาครัฐยังอาจส่งเสริมมาตรการทางการเงิน เช่น เมื่อเกษียณไปแล้ว ผู้สูงอายุที่มีบ้าน แต่ไม่มีเงินใช้ ก็อาจนำบ้านมาค้ำประกันที่สถาบันการเงินของรัฐ และได้รับเงินรายเดือน
อย่างไรก็ดี ดร.ปัณณ์ได้ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า
แนวทางแก้ไขแบบพึ่งพิงภาครัฐอย่างเดียวคงไม่เพียงพอต่อการสร้างสถานะการคลังที่พร้อมรับมือสังคมสูงวัย สิ่งที่รัฐทำได้ดีคือสร้างแรงจูงใจทางภาษี หรือการให้เงินสมทบเข้ากองทุนต่างๆ เท่านั้น ผู้สูงอายุและผู้กำลังจะเป็นผู้สูงอายุจะต้องดูแลตัวเองด้วย
แนวทางแก้ไขแบบพึ่งพิงภาครัฐอย่างเดียวคงไม่เพียงพอต่อการสร้างสถานะการคลังที่พร้อมรับมือสังคมสูงวัย สิ่งที่รัฐทำได้ดีคือสร้างแรงจูงใจทางภาษี หรือการให้เงินสมทบเข้ากองทุนต่างๆ เท่านั้น ผู้สูงอายุและผู้กำลังจะเป็นผู้สูงอายุจะต้องดูแลตัวเองด้วย
ระบบสวัสดิการและความมั่นคงทางการเงิน
ทางด้าน ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ได้วิเคราะห์ถึงบทบาทของชุมชนในการรับมือสังคมสูงวัย
“สวัสดิการพื้นฐานหรือ basic need ที่ภาครัฐจัดให้นั้นครอบคลุมคนเพียง 1 ใน 3 ของประชาชนวัยทำงานเท่านั้น ด้วยเหตุผลหลักคือ รัฐส่วนกลางไม่รู้ว่าคนในชนบทรอบนอกต้องการอะไรบ้าง ทำให้การจัดสวัสดิการตกหล่นไม่ครอบคลุมทุกกลุ่ม คนที่เหลือและอยากได้สวัสดิการพื้นฐานเหล่านี้ หากมัวแต่รอภาครัฐก็อาจจะไม่ทัน ด้วยเหตุนี้ ชุมชนจึงต้องลุกขึ้นมาจัดสวัสดิการเอง” ดร.วรวรรณ กล่าว
ตั้งแต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ปราชญ์ชาวบ้านตามชุมชนต่างๆ ได้ออกมาทำงานร่วมกันเพื่อทำให้ชุมชนของตนพึ่งพิงตัวเองได้ เช่น การจัดตั้งกลุ่มสัจจะวันละบาท กลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มออมทรัพย์ ซึ่งเป็นกลุ่มกองทุนที่ให้สมาชิกในชุมชนสามารถนำเงินมาสมทบเข้ากองทุนเพื่อออมไว้ใช้ยามขัดสนหรือหลังเกษียณ การดำเนินการจัดตั้งกองทุนเบ่งบานไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว ภาคการเมืองและข้าราชการก็หันมาสนใจ เข้าไปช่วยจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนอย่างเป็นทางการ โดยมีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เป็นตัวช่วยสำคัญในการนำเงินจากรัฐบาลลงมาสู่ชุมชนอย่างเป็นระบบ
“แต่ละกองทุนสวัสดิการชุมชนจะถูกจัดการตามรสนิยมของคนในพื้นที่ เน้นให้มีขนาดเล็กกะทัดรัดเพื่อความยืดหยุ่นในการปรับตัว ที่สำคัญคือ เมื่อชุมชนเป็นผู้สร้างมันขึ้นมา ชุมชนจึงรู้สึกเป็นเจ้าของกองทุนเหล่านี้ และพยายามจัดการมันให้ดีที่สุด โดยสิทธิประโยชน์หลักของกองทุนที่มอบให้สมาชิกคือเงินทำขวัญ ค่ารักษา ค่าเดินทางไปโรงพยาบาล ค่าฌาปณกิจ ทุนการศึกษา ทุนช่วยเหลือเมื่อเผชิญภัยพิบัติ ทุนช่วยเหลือครอบครัว” ดร.วรวรรณ กล่าว
อย่างไรก็ดี ดร.วรวรรณ ได้ชี้ให้เห็นด้วยว่า ปัจจุบันเริ่มมีแนวโน้มว่ากองทุนสวัสดิการชุมชนจะไม่มีความยั่งยืน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่มีศักยภาพในการส่งเงินสมทบเข้ากองทุน ขณะเดียวกันการมีสมาชิกที่เป็นผู้สูงวัยจำนวนมากในกองทุน และไม่ได้กำหนดเวลาการได้รับสิทธิยามชราภาพที่เหมาะสม (มีบางตัวอย่างที่สมาชิกกองทุนเพิ่งสมัครก่อนเข้าวัยชราภาพได้ไม่นาน ส่งเงินสมทบยังไม่มากเท่าที่ควร แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยชราก็สามารถรับสิทธิได้เหมือนผู้สูงอายุรายอื่นที่ออมเงินมานาน) ทำให้ต้องมีรายจ่าย เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าฌาปณกิจ ค่าเดินทางไปโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่รายรับของกองทุนน้อยลง
กรณีตัวอย่างที่ ดร.วรวรรณ ยกขึ้นมาเล่าคือการจัดการกองทุนสวัสดิการของชุมชนตำบลอุโมงค์ จังหวัดลำพูน โดยในปี 2550 ชุมชนมีสัดส่วนผู้สูงอายุ 25% และภายในปี 2561 จะมีสัดส่วนสูงถึง 30% ในปัจจุบัน สมาชิกที่เสียชีวิต 79% คือ ผู้สูงอายุ นั่นหมายความว่าการเสียชีวิตของสมาชิกสูงอายุจะมีมากขึ้น ต้องจ่ายค่าสวัสดิการให้แก่สมาชิกที่เสียชีวิตมากตามไปด้วย สถานะการคลังของกองทุนสวัสดิการชุมชนก็จะเริ่มขาดทุน
เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดร.วรวรรณ จึงได้เสนอแนวทางการแก้ไข ดังนี้
(1) กำหนดเกณฑ์อายุสมาชิก และ/หรือ ตั้งเงื่อนไขการเกิดสิทธิหลังสมัคร เช่น สมาชิกต้องมีอายุไม่เกินกี่ปีถึงจะมีสิทธิสมัครกองทุน หรือหลังสมัครเป็นสมาชิกกองทุนแล้ว สมาชิกสมทบเงินไปแล้วกี่ปีจึงจะได้สิทธิ เพื่อให้มีเงินสมทบมากพอในการจัดการกองทุนอย่างยั่งยืน
(2) กำหนดแนวทางหารายได้ให้กับกองทุน ชุมชนควรผลิตสินค้าที่มีความน่าสนใจ สามารถสะท้อนคุณค่าทางวัฒนธรรมของตัวเอง เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มแก่ตัวสินค้า และสามารถสร้างรายได้มากขึ้น ไม่ใช่มุ่งขายผลิตภัณฑ์ที่ขายกันเป็นการทั่วไปอย่างการผลิตน้ำขวดขาย
(3) ปรับลดสิทธิประโยชน์บางประเภทของกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ทับซ้อนกับสิทธิประโยชน์ของสวัสดิการรัฐ เช่น เงินช่วยเหลือเด็ก ซึ่งนโยบายพื้นฐานของรัฐมักจัดให้อยู่แล้ว กองทุนไม่จำเป็นต้องจัดเองก็ได้ แต่หากชุมชนอยากจัดให้ก็ควรเป็นเพียงการสมทบเพิ่มเติมจากที่รัฐจัดให้
(4) จัดเก็บและเชื่อมโยงข้อมูลของกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศอย่างเป็นระบบ เพื่อรองรับสมาชิกกองทุนบางส่วนที่ต้องการย้ายถิ่นที่อยู่ แต่อยากเป็นสมาชิกต่อ และสามารถรักษาสิทธิประโยชน์ของสมาชิกได้ในระยะยาว หากรัฐบาลบูรณาการข้อมูลเหล่านี้เข้ากับนโยบายระดับชาติ จะทำให้การจัดการสวัสดิการในภาพรวมของประเทศมีความครออบคลุม เพราะรัฐบาลจะได้ข้อมูลที่จำเป็นมาวิเคราะห์อย่างครบถ้วน
การบริหารการเงินในครอบครัวอย่างยั่งยืน
คุณสฤณี อาชวานันทกุล กล่าวถึงบทบาทของปัจเจกบุคคลและครอบครัวต่อการสร้างความมั่นคงทางการเงินสำหรับสังคมสูงวัย โดยชี้ว่าคนในยุคสังคมสูงวัยต้องวางแผนทางการเงินเพื่อเตรียมเงินเก็บไว้ใช้ในช่วงเวลาที่เราไม่มีศักยภาพที่จะหาเงินได้ นั่นคือเมื่อชราภาพ
หลักวางแผนการเงินที่ถูกต้อง มีดังนี้ (1) ใช้เงินน้อยกว่าที่หามาได้ (2) หลีกเลี่ยงเงินกู้ (3) มีเงินสดที่เพียงพอไว้ใช้ยามฉุกเฉิน และ (4) มีการวางเป้าหมายระยะยาว ปัจจุบันคนหันมาวางแผนทางการเงินระยะยาวกันมากขึ้น โดยส่วนใหญ่จะตั้งเป้าหมายไว้ 5 ประเภท นั่นคือ (1) อยากมีอิสระทางการเงิน โดยให้เงินเลี้ยงดูเราเองอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องทำงานหนัก (2) อยากสะสมเงินไว้ทำบุญตามกรอบวัฒนธรรมของสังคมไทย (3) อยากปลดหนี้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระของลูกหลาน (4) อยากเลี้ยงดูครอบครัวได้ในระยะยาว และ (5) อยากนำเงินออมไปลงทุนสร้างธุรกิจของตัวเอง
“ความท้าทายของปัจเจก (และครอบครัว) ในวันนี้ คือทำอย่างไรที่จะตอบสนองเป้าหมายเหล่านี้ โดยเฉพาะการเลี้ยงดูครอบครัว แต่ขณะเดียวกัน เราก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีพอได้หลังเกษียณ” คุณสฤณีตั้งคำถาม
คุณสฤณีวิเคราะห์ว่าการตอบเสนอเป้าหมายเหล่านั้นเกิดขึ้นได้ยาก เพราะหากไปดูโครงสร้างบัญชีเงินฝาก ปลายเดือนมีนาคม 2559 จะพบว่า บัญชีที่มีเงินฝากไม่เกิน 50,000 บาท จำนวน 76 ล้านบัญชี มีเงินออมรวมกัน 370,000 ล้านบาท นั่นคือเงินฝากของแต่ละบัญชีจะมีไม่เกิน 490 บาท จำนวนบัญชีเงินฝากประเภทนี้คิดเป็น 86% ของบัญชีเงินฝากในระบบทั้งหมด ส่วนบัญชีเงินฝากอีกประเภทหนึ่งมีจำนวนบัญชีทั้งสิ้น 107,000 บัญชี แต่มีเงินออมรวมกัน 5.44 ล้านล้านบาท คิดเป็นงินฝากต่อบัญชีราว 5 ล้านบาท มูลค่าของเงินออมจากบัญชีเงินฝากประเภทนี้คิดเป็น 45% ของทั้งระบบเศรษฐกิจทั้งหมด
“มันสะท้อนให้เห็นว่า คนส่วนใหญ่ที่มีอยู่ราว 86% นั้นยังออมเงินไม่พอใช้หลังเกษียณ พูดง่ายๆ คือ แก่ก่อนรวย มีคนจำนวนน้อยประมาณหนึ่งแสนคนเท่านั้นที่จะรวยก่อนแก่ มีเงินพอใช้หลังเกษียณ สถานการณ์ตอนนี้นับว่าน่าเป็นห่วงมาก” คุณสฤณีกล่าว
เพื่อตอบข้อสงสัยว่าทำไมคนปัจจุบันถึงออมเงินกันน้อย คุณสฤณีจึงได้อธิบายปรากฏการณ์ตามหลักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมว่าที่เรายังออมเงินกันน้อยเพราะ (1) เรามีความเฉื่อย หมายความว่าเราจะไม่อยากเริ่มทำอะไรใหม่ ถึงแม้จะรู้ว่าสิ่งนั้นควรทำก็ตาม เช่น การเริ่มออมเงินวันละนิดตั้งแต่เยาว์วัย (2) เรามองการออมเงินเป็นความสูญเสีย เพราะคิดว่าการออมจะทำให้เราสูญเสียรายได้และทำให้เราได้ใช้จ่ายเงินน้อยลง และ (3) เราคิดถึงแต่ปัจจุบันมากกว่าอนาคต ได้เงินมาก็นำไปใช้จ่ายเพื่อให้ได้เห็นผลทันตา
นอกจากนี้ คุณสฤณีได้ยกตัวอย่างจากต่างประเทศที่มีการคิดกลไกเพื่อแก้ปัญหาเชิงพฤติกรรมเหล่านี้ เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีนโยบาย “Save for Tomorrow” กล่าวคือ เมื่อมีการเลื่อนตำแหน่งและเพิ่มเงินเดือนให้แก่พนักงาน บริษัทจะหักเงินจากค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นเพื่อเข้ากองทุนเงินออมยามชราภาพ วิธีนี้จะทำให้ผู้ออมเงิน (พนักงาน) ไม่รู้สึกสูญเสียเงินจากการออม ผลตอบรับจากนโยบายดังกล่าวดีอย่างคาดไม่ถึง และทำให้เห็นว่า ในการออมเงินเพื่อใช้ในยามชราภาพนั้น ปัจเจกชนหรือครอบครัวจะทำฝ่ายเดียวไม่ได้ ยังต้องมีฝ่ายอื่น เช่น ภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมกันสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการออมเงินด้วย
ในส่วนท้ายของงานเสวนา คุณสฤณียังได้ทิ้งท้ายว่า หากต้องการสร้างความมั่นคงทางการเงินในสังคมสูงวัยอย่างเป็นระบบ ผู้สูงอายุและผู้กำลังจะเป็นผู้สูงอายุจะต้องมีความรู้ทางการเงินหรือ financial literacy ที่ไม่ได้หมายถึงแค่มีความรู้ทางด้านการเงิน เช่น รู้ว่าการกู้มีกี่ประเภท ดอกเบี้ยทบต้นเป็นอย่างไร หรือการประเมินความเสี่ยงจากการลงทุนทำได้อย่างไรบ้างเท่านั้น หากจะต้องนำความรู้เหล่านั้นไปปฏิบัติจนเป็นนิสัย ฉะนั้น การสอนแต่ความรู้พื้นฐานทางการเงินให้แก่ผู้สูงอายุคงยังไม่พอ เรายังต้องการเครื่องมืออื่นๆ ที่จะดึงดูดให้คนมีพฤติกรรมออมเงินอย่างต่อเนื่อง