เมื่อพูดถึง ‘สังคมสูงวัย’ หลายคนมักจะมองว่าเป็นเรื่องของอนาคตที่ยังมาไม่ถึง หรือเป็นเรื่องของคนแก่ที่ไม่น่าสนใจสักเท่าไหร่ แต่รู้หรือไม่ว่าประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัยมาตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 2540 และกำลังจะกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในอีกไม่เกิน 15 ปี การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรครั้งใหญ่นี้ส่งผลกระทบต่อเนื่องแทบทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม รวมถึงวิถีชีวิต ในขณะเดียวกัน ผลพวงที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้กระทบต่อผู้สูงอายุเพียงเท่านั้น หากแต่ครอบคลุมทุกช่วงวัย โดยเฉพาะกับกลุ่มวัยรุ่น ‘เจนวาย’ ที่จะเติบโตมาเป็นแรงงานสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศภายภาคหน้า
และนี่คือ 5 ข้อควรคิด สำหรับเจนวายในยุคสังคมสูงวัย
1. ทำความเข้าใจผู้สูงวัย
ลองจินตนาการดูว่ารอบตัวของเราเต็มไปด้วยคนชราเดินจับจ่ายซื้อของ ใช้บริการสาธารณะ กินข้าว ดูหนังฟังเพลง หรือไปทำงานเหมือนคนหนุ่มสาวทั่วไป ภาพที่เห็นก็คงน่าประหลาดใจอยู่ไม่น้อย แต่ในอนาคตอันใกล้ภาพเหล่านั้นอาจไม่ได้อยู่แค่ในจินตนาการอีกแล้ว เพราะผู้สูงวัยจะมีจำนวนมากขึ้นจนมีสัดส่วนประมาณหนึ่งในสามของประชากรทั้งหมดในปี 2583 ส่วนหนึ่งก็เพราะวิทยาการแพทย์ที่ช่วยให้ผู้สูงวัยแก่ช้าลงและมีอายุยืนยาวขึ้น
เราจึงควรเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับคนวัยนี้ด้วยการทำความรู้จักและเข้าใจพวกเขาในหลายมิติ โดยเฉพาะด้านสุขภาพ เพราะร่างกายของคนวัยนี้ไม่เหมือนหนุ่มสาวเจนวายอีกต่อไป ทั้งเรื่องการมองเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหวร่างกาย และความคล่องแคล่วในการทำสิ่งต่างๆ จึงถือเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องช่วยเหลือเอื้ออำนวยในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการลุกให้ผู้สูงวัยนั่งบนรถโดยสารสาธารณะ การพาข้ามถนน หรือเวลาเร่งรีบก็ต้องระวังตัวไม่ให้ชนใครล้ม เพราะผู้สูงวัยมีโอกาสที่จะเจ็บป่วยได้ง่าย ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อคนในครอบครัวหรือสังคมที่ต้องรับภาระค่ารักษาพยาบาลและการเลี้ยงดู นอกจากข้อจำกัดด้านร่างกายของแล้วก็ควรคำนึงถึงสภาพจิตใจของผู้สูงอายุด้วย เพราะถ้าพวกเขารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ได้รับความสำคัญและความใส่ใจจากคนรอบข้างและสังคม ก็มีแนวโน้มที่เขาจะมีพลังในการใช้ชีวิตและมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสังคมต่อไป
2. สุขภาพ…มาก่อน
เมื่อโลกแก่ลง เราจะยอมแก่ตามง่ายๆ ไม่ได้ เพราะคนเจนวายต้องทำหน้าที่เป็นเสาหลักให้คนสูงวัยได้พึ่งพิง ดังนั้นตัวเราในฐานะคนเจนวายก็ต้องพยายามทำตัวให้แก่ช้าที่สุดด้วย เพื่อจะได้เป็นกำลังให้กับประเทศไปนานๆ และเป็นภาระให้กับคนรุ่นหลังน้อยที่สุด ดังนั้น สุขภาพจึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ข่าวดีคือคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มใส่ใจสุขภาพมากขึ้น เช่น บริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ หมั่นออกกำลังกาย และใส่ใจในการจัดสมดุลระหว่างชีวิตและงานมากขึ้น แทนที่จะโหมทำงานหนักโดยไม่คำนึงถึงมิติอื่นในชีวิต หากคนรุ่นใหม่มีไลฟ์สไตล์แบบนี้ในระยะยาว ก็มีโอกาสที่คนวัยอื่นๆ จะซึมซับและรับเอาพฤติกรรมเหล่านี้ไปใช้ด้วย
3. ออมไว้ได้ใช้แน่
เรื่องเงินเรื่องทองเป็นของสำคัญ แต่การอยู่ในเมืองที่มีแหล่งช็อปปิ้งล้อมรอบ มีของกินอร่อยๆ ทุกตรอกซอกซอย ไหนจะไลฟ์สไตล์ชอบท่องเที่ยวและอยากทำตามความฝัน คงจะมีบ้างที่คนเจนวายอดใจไม่ไหว แม้ว่าอยากจะประหยัดแค่ไหนก็ตาม แต่การออมเงินเพื่อเตรียมรับมือสังคมสูงวัยนั้นถือเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะในอนาคตเจนวายจะต้องเป็นกำลังแรงงานที่แบกรับภาระภาษีเพื่อใช้สร้างสร้างระบบสวัสดิการสังคมมารองรับผู้สูงวัยที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นคนเจนวายจะต้องวางแผนการเงินและแบ่งสรรปันส่วนเงินออมของตัวเองให้ดี รวมทั้งศึกษาช่องทางการลงทุนและการประกันชีวิตและสุขภาพที่หลากหลาย เพื่อเตรียมพร้อมในยามที่ตนเองเกษียณ เราจะได้แก่อย่างมีคุณภาพโดยไม่เป็นภาระของสังคม
4. มีลูกไว้ไม่เป็นภาระ
เมื่อพูดถึงยุคนี้ แน่นอนว่าการมีลูกมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายมหาศาล แถมกลายเป็นข้อผูกมัดระยะยาว ซึ่งขัดกับไลฟ์สไตล์ของเจนวายที่รักอิสระ อยากเผชิญโลกกว้าง และต้องการค้นหาตัวเอง ปัจจุบันนี้คนเจ็นวายไม่ได้มีค่านิยมที่มองว่าการแต่งงานและการมีครอบครัวเป็นเป้าหมายแรกที่ต้องพิชิตอีกต่อไป หากแต่ให้ความสำคัญกับการศึกษาระดับสูง หน้าที่การงาน การสร้างความมั่นคงให้ชีวิตตัวเองก่อน กว่าจะสร้างเนื้อสร้างตัวได้ วัยก็ล่วงเลยเข้าไป 30 กว่าแล้ว ซึ่งอาจไม่แข็งแกร่งเต็มร้อยหากคิดมีลูก ครั้นเมื่อตัดสินใจจะมีลูก ก็มีความกังวลว่าลูกที่เกิดมาจะต้องเสี่ยงต่อภยันตรายในสังคมที่แลดูไม่ปลอดภัยขึ้นทุกวัน
ที่กล่าวมาอาจจะมีแต่ข้อเสียแต่อยากให้ลองนึกดูว่าการที่เรามีลูกน้อยลง ประเทศของเราก็ขาดแคลนกำลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่อนาคต หากจะดึงดูดให้คนเจนวายอยากมีลูกมากขึ้น ภาครัฐก็ออกนโยบายสาธารณะที่ช่วยลดต้นทุนและสนับสนุนการมีลูก เช่น ปรับปรุงผลประโยชน์ของระบบประกันสังคมที่เกี่ยวเนื่องกับการคลอดบุตร นอกจากนั้น สภาพการทำงานในภาคเอกชนก็ต้องปรับให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่คนเจนวายต้องทำงานไปด้วยดูแลลูกไปด้วยได้ เช่น มีศูนย์ดูแลเด็กเล็กในที่ทำงาน มีการอนุญาตให้ลาเลี้ยงดูลูกอย่างยืดหยุ่น
ถ้ารัฐกับเอกชนจับมือกันช่วยโอบอุ้มขนาดนี้ คนเจนวายก็ลองเปิดใจดูสักหน่อย อย่างน้อยๆ แก่ตัวไปก็จะได้ไม่เหงาตายหากมีลูกหลานอยู่เคียงข้างกันพร้อมหน้า
5. เปิดรับโอกาสใหม่ๆ ทางอาชีพที่มากับเทรนด์สังคมสูงวัย
สังคมสูงวัยนอกจากจะมาพร้อมความท้าทายแล้วก็ยังนำมาซึ่งโอกาสด้วย เพราะผู้สูงอายุมีความต้องการไม่แตกต่างไปจากวัยอื่น ในแง่หนึ่งสังคมสูงวัยจึงถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่น่าจับตามองในอนาคต ซึ่งจะมีทั้งสินค้า บริการ หรืออาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย เช่น เทรนเนอร์ผู้สูงอายุ ธุรกิจด้านสุขภาพ ธุรกิจการวางแผนการเงิน ผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคเพื่อผู้สูงวัย หรือนวัตกรรมและการออกแบบเพื่อผู้สูงวัย อย่างเช่น อาคารที่เหมาะกับการอยู่อาศัยผู้สูงวัยที่เรียกกันว่า “อารยสถาปัตย์” เพราะฉะนั้น อย่ามัวแต่คิดว่าสังคมสูงวัยจะสร้างแต่ผลกระทบด้านลบเท่านั้น แต่ให้มองว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทางวัฒนธรรม และทางธุรกิจด้วย และแน่นอน ทุกการเปลี่ยนแปลงนำมาซึ่งโอกาสใหม่ในโลกใหม่เสมอ
สุดท้ายแล้วคนเจนวายอย่างเราก็ไม่ต้องเป็นกังวลมากไป เพราะสังคมสูงวัยถือเป็นปรากฏการณ์ที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องเผชิญทั้งนั้น ไม่ว่าจะประเทศแถบยุโรป หรือมองใกล้ตัวอย่างสิงคโปร์และญี่ปุ่นก็เข้าสู่สังคมสูงวัยนำหน้าประเทศไทยไปแล้ว ข้อดีก็คือเราสามารถเรียนรู้บทเรียนและศึกษาตัวอย่างจากประเทศที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงมาก่อน และนำมาพัฒนาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทเชิงสถาบันของประเทศไทย เพื่อก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ