รายงาน: งานวิจัย สกว. ไขปริศนา ทำไมคนเจนวายไม่อยากมีลูก

ประเทศไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (aged society) หรือสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ภายในปี 2574 หลายฝ่ายกังวลว่าประเทศไทยในอนาคตจะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน เพราะในขณะที่จำนวนและสัดส่วนของผู้สูงวัยเพิ่มสูงขึ้น แต่จำนวนและสัดส่วนของคนวัยทำงานและเด็กเกิดใหม่กลับลดต่ำลง

ข้อมูลชี้ว่า คนเจนวาย (Generation Y) หรือประชากรที่เกิดในช่วงปี 2523-2546 ไม่ค่อยอยากมีลูกมากและเร็วนัก โดยผู้หญิงเจนวายหนึ่งคนให้กำเนิดลูกเพียง 1.6 คนในปี 2553 ลดลงจาก 2 คน ในปี 2540

คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมคนเจนวายถึงมีลูกช้าและน้อย?

งานวิจัยเรื่อง การส่งเสริมการมีบุตรผ่านการสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ (2559) โดย ผศ.ดร.มนสิการ กาญจนะจิตรา และคณะ ภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง ความอยู่ดีมีสุขของครอบครัวไทย ของ ผศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร และคณะ แห่งสถาบันวิจัยสังคมและประชากร มหาวิทยาลัยมหิดล สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยหลายประการที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจมีลูกของคนเจนวาย โดยชี้ว่าสาเหตุหลักที่คนเจนวายตัดสินใจมีลูกช้าและน้อยลงเพราะขาดสมดุลในการใช้ชีวิต (Balance of Life) ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อสมดุลในการใช้ชีวิตเพื่อสร้างครอบครัวและพร้อมสำหรับการมีลูก มีดังนี้

1. ปัจจัยมหภาค งานศึกษาพบว่าบทบาทชายหญิงเป็นปัจจัยมหภาคสำคัญ โดยผู้หญิงถูกกำหนดบทบาทให้มีหน้าที่ในการเลี้ยงดูลูก และทำงานบ้านมากกว่าผู้ชาย ส่วนผู้ชายได้ถูกกำหนดบทบาทให้เลี้ยงครอบครัว ซึ่งส่งผลให้ผู้ชายคาดหวังต่อบทบาทของตนโดยเน้นทำกินเพื่อเลี้ยงครอบครัว ส่วนผู้หญิงก็คาดหวังว่าตนจะมีเวลามากพอที่เลี้ยงดูลูกและทำงานบ้านได้

ดังนั้น หากไม่สามารถจัดสรรเวลาว่างนอกเหนืออาชีพการงานของทั้งหญิงชายให้มากพอและใกล้เคียงกัน การคิดแต่งงานหรืออยากมีลูกก็จะลดลง ถึงแม้คนรุ่นใหม่จะคาดหวังให้ผู้ชายมีบทบาททำงานบ้านและเลี้ยงดูลูกมากขึ้น แต่ในทางปฏิบัติยังไม่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งก็เพราะนโยบายยังไม่ตอบโจทย์ ปัจจุบันประเทศไทยพ่อมีสิทธิลาไปดูลูกหลังคลอดได้นานที่สุด 15 วัน โดยได้รับเงินเดือน งานศึกษาชี้ว่ายังน้อยเกินไป ไม่เพียงพอที่จะให้พ่อแบ่งเบาภาระแม่ในการเลี้ยงดูลูกได้

2. ปัจจัยด้านสังคม งานวิจัยชี้ให้เห็นว่าค่านิยมของคนเจนวายแตกต่างจากคนรุ่นก่อน คนเจนวายมีค่านิยมที่อยากมีลูกเพื่อพึ่งพาในยามชราน้อยลง โดยหวังว่าจะพึ่งพาตัวเองมากกว่า พวกเขาหวังให้ลูกมีชีวิตอย่างอิสระ ดังนั้นการแต่งงานและการมีลูกจึงไม่ใช่เป้าหมายสำคัญของชีวิต สำหรับผู้หญิง การมีลูกกระทบต่อการใช้เวลาเพื่อเป้าหมายอื่น ๆ ในชีวิตมากกว่าผู้ชายอย่างเห็นได้ชัด

นอกจากนี้ หากคิดจะมีลูก ด้วยแรงกดดันจากสังคมที่เน้นการแข่งขัน พวกเขาจะต้องเลี้ยงลูกให้มีความเป็นเลิศ ฉะนั้น พวกเขาจึงเลือกที่จะมีลูกน้อยโดยเน้นการเลี้ยงอย่างมีคุณภาพ

รูปแบบความสัมพันธ์ของครอบครัวคนเจนวายก็มีผลเช่นกัน หากไม่มั่นใจว่าพ่อแม่พร้อม หรือไม่ไว้ใจให้ช่วยดูแลลูก พวกเขาก็จะไม่ยอมมีลูกเร็วขึ้น

สุดท้ายคือ อิทธิพลของเพื่อนหรือญาติสนิท เช่น หากเพื่อนส่วนมากยังไม่แต่งงาน หรือมีประสบการณ์ที่แต่งงานมีลูกและมีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น คนเจนวายก็จะมีแนวโน้มแต่งงานหรืออยากมีลูกน้อยลง

3. ปัจจัยด้านที่ทำงาน สำหรับคนเจนวายที่กำลังอยู่ในช่วงวัยทำงาน ปัจจัยด้านนี้มีอิทธิพลสูงสุดในการตัดสินใจสร้างครอบครัวและมีลูก งานของคนเจนวายรุ่นใหม่เรียกร้องให้ต้องทุ่มเทเวลาเพื่อประสบความสำเร็จ จึงให้ความสำคัญกับงานมากกว่าเรื่องอื่น นอกจากนี้ งานวิจัยเผยว่าหากบริษัทมีทรัพยากรไม่เพียงพอและผู้บริหารไม่มีนโยบายที่เอื้อต่อสวัสดิการของพนักงาน เช่น ความยืดหยุ่นในการลาคลอดและเลี้ยงลูก จะทำให้พนักงานไม่เกิดสมดุลในการใช้ชีวิต และจะตัดสินใจมีลูกช้าลง

4. ปัจจัยด้านบุคคล เช่น วิถีชีวิต ค่านิยม ระดับฐานะทางเศรษฐกิจ การศึกษา ผลการศึกษาเผยว่าคนเจนวายในกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจนหรือรวย มองว่าการการเลี้ยงลูกมีราคาแพง โดยคนที่มีฐานะเศรษฐกิจปานกลางขึ้นไปจะให้ความสำคัญกับค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของลูกเป็นหลัก ส่วนคนที่มีฐานะเศรษฐกิจต่ำ จะกังวลเรื่องที่อยู่อาศัย การมีรถเพื่ออำนวยความสะดวกลูก และการซื้อของเล่นให้ลูกในโอกาสต่างๆ การมีลูกจึงทำให้สูญเสียโอกาสในการทำงานและการใช้ชีวิตตามที่ตัวเองต้องการไป เช่น การไปเที่ยว การตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ การเรียนต่อ และการใช้เวลาส่วนตัว จึงคิดที่จะชะลอการมีลูกออกไปจนกว่าชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวลงตัวมากกว่านี้

 

01_why_gen_y_do_not_have_chirldren

 

ท้ายที่สุด งานวิจัยได้นำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมการสร้างชีวิตที่สมดุลแก่คนเจนวายเพื่อให้ตัดสินใจมีลูกเร็วและมากขึ้น ทางออกไม่ได้อยู่ที่การมุ่งผลักดันนโยบายเพิ่มการเกิดเป็นหลัก (Pro-natalist policy) เพราะมักไม่ได้ผลและใช้งบประมาณมาก แต่ควรมุ่งเน้นนโยบายที่ครอบคลุมเกี่ยวกับการทำงานและการสร้างครอบครัว โดยให้การมีลูกเพิ่มเป็นผลพลอยได้ ข้อเสนอต่างๆ จากงานวิจัยมีดังนี้

หนึ่ง การขยายวันลาคลอดของแม่แบบได้รับค่าจ้าง (maternity leave with pay) แต่เดิมไทยกำหนดไว้ที่ 90 วัน หรือ 13 สัปดาห์ หากมีการขยายวัน ให้ขยายตามกรอบอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศเป็นอย่างน้อย 14 สัปดาห์ แต่สำหรับกรณีที่ต้องการให้แม่ให้นมลูกด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการเลี้ยงลูกอย่างมีคุณภาพ ก็ควรขยายวันลาคลอดไปถึง 6 เดือน หรือ 180 วัน โดยขยายเวลาการได้รับเงินสงเคราะห์หยุดงานเพื่อการคลอดบุตรให้ครอบคลุมด้วย

สอง การส่งเสริมการลาของบิดาเพื่อช่วยภรรยาดูแลลูกหลังคลอด (paternity leave) ควรขยายเวลาการลาดูแลลูกหลังคลอดของผู้ชายให้มากกว่า 15 วัน นอกจากนี้ไม่ควรจำกัดสิทธิการลาดูแลลูกหลังคลอดเฉพาะคู่สมรสที่จดทะเบียนเท่านั้น

สาม การเพิ่มการลาเพื่อดูแลบุตร (parental leave) ทั้งในระบบราชการและสถานประกอบการทั่วไปควรเพิ่มประเภทการลาเพื่อดูแลบุตร ซึ่งจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการดูแลครอบครัวและการทำงานของคนเจนวาย เช่น เมื่อลูกเจ็บป่วยพ่อแม่สามารถขอลาเพื่อไปดูแลลูกได้

สี่ การจัดบริการศูนย์ดูแลเด็กเล็กให้มีคุณภาพและครอบคลุมในทุกพื้นที่ เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการมีลูกแต่ไม่มีเวลามากพอที่จะเลี้ยงดูลูกได้เอง และ/หรือไม่มีเพื่อนหรือญาติช่วยดูแลลูก

ห้า การสร้างแรงจูงใจให้เอกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินนโยบาย โดยการลดภาษีสำหรับเอกชนที่มีนโยบายในองค์กรสนับสนุนความยืดหยุ่นในการทำงานของพนักงานในทางที่เป็นมิตรต่อครอบครัวของพนักงาน เช่น การสร้างห้องให้นมเด็กแรกเกิด

หก การจัดตั้งกองทุนครอบครัว โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ทำงานนอกระบบ กองทุนจะได้รับการสมทบจากสมาชิก (ที่ใช้ระบบสมัครใจ) และรัฐบาล เป้าหมายของกองทุนนี้คือ ช่วยแบ่งเบาภาระการดูแลสมาชิกในครอบครัว ทั้งผู้เป็นลูกและผู้สูงอายุ โดยสิทธิประโยชน์ที่สมาชิกจะได้รับ เช่น เงินชดเชยกรณีตั้งครรภ์และคลอดบุตร เงินสนับสนุนสำหรับการเลี้ยงดูบุตรหรือผู้สูงอายุในครอบครัว และเงินช่วยเหลือในการจ้างคนดูแลเด็กหรือผู้สูงอายุ เป็นต้น

ควรตระหนักด้วยว่า การเลือกใช้นโยบายใดนโยบายหนึ่งไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหา นโยบายส่งเสริมการเกิดควรเป็นชุดนโยบายที่มีความครอบคลุมมิติต่างๆ ของการตัดสินใจมีลูกให้มากที่สุด ตั้งแต่ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูก การเข้าถึงบริการดูแลเด็ก จนถึงความก้าวหน้าและมั่นคงในการงานของพ่อแม่

อ่านเพิ่มเติม: งานวิจัยเรื่อง การส่งเสริมการมีบุตรผ่านการสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ (2559) โดย มนสิการ กาญจนะจิตรา และคณะ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)