รายงาน: งานวิจัย สกว. ชี้ทุนมนุษย์ไทยยังไม่มีความพร้อมสร้างเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม

ความท้าทายหนึ่งของประเทศไทยในปัจจุบันคือ การหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง (middle income trap) สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถหลุดพ้นไปจากกับดักดังกล่าวได้เพราะความขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถมาสรรค์สร้างนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

งานวิจัยเรื่อง ทุนมนุษย์กับผลิตภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรมไทย (2557) โดย ศ.ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และ รศ.ดร.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ  วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนวิจัย (สกว.) ได้ชี้ให้เห็นว่าทุนมนุษย์ของไทยกำลังมีปัญหาหลักอยู่ 2 ประการนั่นคือ ความไม่สอดคล้องระหว่างความต้องการกำลังคนกับการผลิตกำลังคนผ่านระบบการศึกษา และคุณภาพของแรงงาน

ระบบการศึกษาไม่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน 

งานวิจัยแสดงภาพรวมของตลาดแรงงานไทยว่า ในปี 2554 ภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นภาคการผลิตที่สำคัญสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจมีแรงงานอยู่ราว 5,301,368 คน โดยแบ่งเป็นชาย 2,564,440 คน และหญิง 2,736,928 คน  ทั้งนี้แรงงานส่วนใหญ่ยังมีการศึกษาอยู่ในระดับต่ำ โดยแรงงานมากถึงร้อยละ 41.56 จบการศึกษาระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่าส่วนแรงงานที่จบการศึกษามัธยมต้นมีเพียงร้อยละ 22.97 ระดับมัธยมปลายร้อยละ 15.32 และระดับปริญญาตรีขึ้นไป ร้อยละ 7.93

ในส่วนของแรงงานที่จบอาชีวะนั้นมีปริมาณร้อยละ 12.22 แรงงานกลุ่มนี้มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมไทยอย่างมาก โดยร้อยละ 65-75 ของบริษัทในภาคอุตสาหกรรมมีการจ้างแรงงานระดับอาชีวะจบใหม่เข้าทำงาน โดยเห็นว่า “แรงงานระดับอาชีวะมีทักษะการทำงานที่ดีถึงดีมาก” แต่แรงงานอาชีวะกลับมีปริมาณน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าเด็กส่วนใหญ่เลือกเรียนต่อในระดับอุดมศึกษามากกว่าระดับอาชีวะ เพราะว่าหากจบจากระดับอุดมศึกษาจะได้ผลตอบแทนดีกว่า ถึงแม้ว่าแรงงานระดับอุดมศึกษาจะมีปัญหาคุณภาพทักษะที่ไม่ตรงตามความต้องการของผู้ว่าจ้างก็ตาม

เมื่อมาพิจารณาถึงประเภทของแรงงาน พบว่าภาคอุตสาหกรรมไทยยังพึ่งพิงแรงงานที่มีทักษะต่ำอยู่มาก โดยแรงงานถึงร้อยละ 73 ของประเทศเป็นแรงงานที่มีทักษะต่ำ (Unskilled Production Labor) ในส่วนแรงงานที่มีทักษะ (Skilled Production Labor) มีปริมาณเพียงร้อยละ 13 ในขณะที่แรงงานที่ไม่ได้อยู่ในด้านการผลิต (Non-Production Labor) มีร้อยละ 9 ส่วนประเภทแรงงานที่มีน้อยที่สุดคือ แรงงานประเภทผู้บริหารและวิชาชีพ (Manager and Professional) มีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น

ผลการศึกษายังได้ชี้อีกว่า แรงงานเชิงเทคนิค (Technical Staff) ได้แก่ นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร นักวิเคราะห์ และนักคอมพิวเตอร์ เป็นกลุ่มแรงงานที่มีความสำคัญที่สุดในการพัฒนานวัตกรรม แต่แรงงานประเภทนี้มีปริมาณเพียงร้อยละ 4 ของแรงงานทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งนับว่าขาดแคลนอย่างมาก

คุณภาพของทุนมนุษย์ไทยยังมีปัญหา

ปัญหาทุนมนุษย์ไทยมิใช่เป็นปัญหาเฉพาะเชิงปริมาณเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาในเชิงคุณภาพด้วยเช่นกัน

งานวิจัยชิ้นนี้ยังศึกษาว่า ทักษะ (skills) แต่ละประเภทส่งผลต่อการเพิ่มผลิตภาพของแรงงานอย่างไร โดยงานวิจัยได้แบ่งประเภททักษะเป็น 2 ประเภทนั่นคือ ทักษะทางปัญญา (Cognitive Skills) และทักษะทางพฤติกรรม (Non-Cognitive Skills)

จากผลวิจัย พบว่าทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะทางปัญญาคือ ทักษะที่มีความสำคัญอย่างมีนัยทางสถิติต่อการเพิ่มผลิตภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาตามประเภทแรงงาน หากแรงงานสายอาชีพมีทักษะการเข้าสังคมที่ดี และแรงงานสายการผลิตมีทักษะด้านการคำนวนและการปรับตัวที่ดี ก็จะทำให้ผลิตภาพแรงงานของบริษัทเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบความพร้อมด้านทักษะของแรงงานไทยพบว่า แรงงานไทยส่วนใหญ่มีปัญหาด้านทักษะทางปัญญามากกว่าทักษะทางพฤติกรรม โดยทักษะทางปัญญาที่มีปัญหามากที่สุดของแรงงานไทยคือ ทักษะทางภาษาอังกฤษ ทักษะทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ทักษะการคำนวน และทักษะการคิดสร้างสรรค์ ตามลำดับ สำหรับทักษะทางพฤติกรรมหรือทักษะการใช้ชีวิตของแรงงานไทย เช่น ทักษะการเป็นผู้นำ ทักษะการเข้าสังคม หรือทักษะในการแก้ไขปัญหา ทักษะเหล่านี้ก็ถูกระบุว่าเป็นปัญหาเช่นกัน แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า

ทักษะที่แรงงานไทยคลาดแคลน

การฝึกอบรมในบริษัทไทยยังไม่เพียงพอ

งานวิจัยพบว่า ปัจจุบันบริษัทต่างๆ พยายามหาทางพัฒนาทักษะของแรงงานอยู่เสมอด้วยการจัดฝึกอบรม (training) โดยทักษะส่วนใหญ่ที่อยู่ในหลักสูตรอบรม ได้แก่ ทักษะมาตรฐานความปลอดภัย  ทักษะการจัดการและใช้เทคโนโลยี และทักษะเทคโนโลยีการผลิต ส่วนทักษะทั่วไป เช่น ทักษะด้านภาษา ทักษะการตลาด และทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ มีสัดส่วนการจัดอบรมที่ค่อนข้างน้อย

ทั้งนี้ บริษัทในภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมแรงงานพอสมควร โดยสัดส่วนร้อยละ 63.5 ของบริษัททั้งหมดได้จัดฝึกอบรมภายในองค์กร ขณะที่ร้อยละ 64.1 ได้มีการจัดฝึกอบรมภายนอกองค์กร แต่เมื่อพิจารณาในภาพย่อย จะพบว่าบริษัทขนาดเล็ก (มีแรงงานน้อยกว่า 50 คน) ให้ความสำคัญในการจัดฝึกอบรมแรงงานน้อยกว่าบริษัทขนาดใหญ่ (มีแรงงานมากกว่า 200 คน) โดยบริษัทขนาดใหญ่ร้อยละ 92.6 ได้จัดฝึกอบรมภายในองค์กร และร้อยละ 88 ได้จัดฝึกอบรมภายนอกองค์กร ขณะที่บริษัทขนาดเล็ก มีเพียงร้อยละ 29.1 ที่จัดฝึกอบรมภายในองค์กร และร้อยละ 37.3 ที่จัดฝึกอบรมภายนอก

ข้อมูลข้างต้นชี้ว่า ภาคอุตสาหกรรมมีความพร้อมในการพัฒนาทุนมนุษย์ในการฝึกอบรมแรงงานไม่เท่าเทียมกัน โดยบริษัทขนาดใหญ่มีทรัพยากรมากกว่าจึงมีความพร้อมในการจัดฝึกอบรมแรงงานมากกว่าบริษัทขนาดเล็ก

การฝึกอบรมของบริษัทในประเทศไทย

ทางออก

งานวิจัยเสนอว่าทุนมนุษย์ไทยนั้นต้องได้รับการพัฒนาทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยแนวทางการพัฒนาทุนมนุษย์จะต้องครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาระบบการศึกษาหรือระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต การฝึกอบรมของแรงงาน และสถานที่ทำงาน

งานวิจัยมีข้อข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ดังนี้

  1. สนับสนุนให้ครอบครัวเข้ามาดูแลลูกในวัยปฐมวัยด้วยการทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การเล่น หรือการสังสรรค์ เพื่อเป็นการพัฒนาสมองของเด็ก สำหรับเด็กในชั้นประถมศึกษา โรงเรียนและครอบครัวต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อพัฒนาเด็ก โดยต้องปูพื้นฐานทางวิชาการแก่เด็กอย่างเหมาะสม สร้างทัศนคติรักการเรียนรู้ให้แก่เด็ก ที่สำคัญก็คือ ต้องกระตุ้นให้เด็กรู้จักตัวเองมากขึ้น สำหรับชั้นมัธยมศึกษา ต้องส่งเสริมให้เด็กได้เรียนตามที่ตัวเองต้องการและถนัด นอกจากนั้น ควรส่งเสริมให้เด็กได้เลือกเรียนสายอาชีวะเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศและศักยภาพของตนเอง
  2. ส่งเสริมและสนับสนุนให้โรงเรียนอาชีวะ มหาวิทยาลัย และหน่วยงานจัดฝึกอบรมของรัฐ ได้มีบทบาทร่วมกับภาคเอกชนยิ่งขึ้น ซึ่งรูปแบบความร่วมมืออาจเป็นในลักษณะ 1) การจัดให้นักศึกษาจากสถาบันการศึกษามาฝึกงานหรือประสบการณ์ตรงที่สถานประกอบการ โดยสถานศึกษาอาจกำหนดให้เป็นเงื่อนไขเพื่อให้จบการศึกษาของนักศึกษาก็ได้ หรือ 2) การแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยและสถานประกอบการ (industry-university linkage)
  3. สนับสนุนให้นักศึกษาได้เรียนรู้วิชาเรียนแบบสหวิชา (multi-disciplinary approach) เพื่อเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กับนักศึกษา และให้นักศึกษาได้ค้นพบความชอบของตัวเองได้เร็วขึ้น
  4. ควรสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนจัดฝึกอบรมให้แก่พนักงาน โดยรัฐสามารถเข้ามาช่วยในการเป็นผู้ฝึกอบรม และพัฒนาเครื่องมือการฝึกอบรม โดยหลักสูตรการฝึกอบรมที่จำเป็นสำหรับพัฒนาแรงงานไทย คือ ทักษะภาษาอังกฤษ ทักษเทคโนโลยีสารสนเทศ ทักษะการปรับตัว ทักษะภาวะผู้นำ ทักษะการเข้าสังคม และทักษะการทำงานเป็นทีม
  5. ส่งเสริมให้ภาคเอกชนสร้างสถานที่ทำงานมีความสุข (happy workplace) โดยการตอบสนองความต้องการของพนักงานอย่างเหมาะสมและสร้างสรรค์

ที่มา: งานวิจัยเรื่อง ทุนมนุษย์กับผลิตภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรมไทย (2559) โดย ศ.ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ และ รศ.ดร.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ