กว่า 20 ปีมาแล้วที่ประเทศไทยเป็นประเทศรายได้ปานกลาง และยังก้าวไม่พ้นกับดักรายได้ปานกลาง หนึ่งในข้อเสนอที่จะทำให้ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางนั่นคือการลงทุนด้านนวัตกรรม และยกระดับคุณภาพแรงงานของไทย แต่ผู้ประกอบการไทยมีการลงทุนด้านนวัตกรรมไม่มากนัก และคุณภาพของแรงงานไทยยังมีข้อจำกัด ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม ‘ทำไมไทยยังติดกับดักรายได้ปานกลาง’ ได้จากอินโฟกราฟิกชิ้นนี้
หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ประเทศไทยยังติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง เพราะลงทุนด้านนวัตกรรมน้อย
จากข้อมูล ‘การสํารวจผลิตภาพและบรรยากาศการลงทุน’ (Productivity and Investment Climate Survey – PICS) พบว่า สาเหตุที่ภาคอุตสาหกรรมไม่ต้องการลงทุนในการสร้างนวัตกรรมส่วนใหญ่เกิดจากต้นทุนในการสร้างนวัตกรรมที่สูง (ร้อยละ 43.6) และการขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ (ร้อยละ 42.7)
สำหรับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ เมื่อพิจารณาข้อมูลในรายละเอียดพบว่า แรงงานไทยร้อยละ 42 จบการศึกษาเพียงแค่ระดับประถมศึกษา และเมื่อจัดประเภทแรงงาน แรงงานกว่าร้อยละ 73 จัดอยู่ในแรงงานที่มีทักษะต่ำ
นอกจากนี้ สัดส่วนการจ้างงานแรงงานกลุ่ม STEM Field (วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ นักวิเคราะห์ และนักคอมพิวเตอร์) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการนวัตกรรมยังมีค่อนข้างน้อย โดยมีเพียงร้อยละ 4 เท่านั้นเมื่อเทียบกับสัดส่วนแรงงานทั้งหมด
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมจากงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ ‘ทุนมนุษย์กับผลิตภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรมไทย’ ได้ ที่นี่