ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ภาคชนบทไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล “ชนบทที่เรารู้จัก” ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวขยายอันอบอุ่น สังคมหมู่บ้าน เศรษฐกิจแบบยังชีพ เหลือแค่ในแบบเรียนเท่านั้น หากสังคมไทยต้องการเดินตามยุทธศาสตร์การเติบโตแบบนับรวมทุกคน (inclusive growth) ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำความเข้าใจ “หน้าตาใหม่” ของครัวเรือนในชนบทไทย
Knowledge Farm – ฟาร์มรู้สู่สังคม ชวน ดร.อนันต์ ภาวสุทธิไพศิฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในนักวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและสวัสดิการสังคมของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มาพูดคุยถึงความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรในชนบทไทย และนัยทางนโยบายที่อาจารย์สกัดได้จากข้อมูลเชิงประจักษ์ที่จัดเก็บต่อเนื่องกว่า 13 ปี
………………………………………………………………………………………
โจทย์วิจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและชนบทไทยที่อาจารย์สนใจคืออะไร
โจทย์ที่ผมตั้งไว้คือ ผมต้องการเข้าใจสถานการณ์ในชนบทในแง่ของโครงสร้างประชากร ต้องการสำรวจดูว่าที่จริงแล้วที่ผ่านมาเป็นอย่างไร นอกจากนั้น ผมตั้งใจศึกษาว่าสังคมผู้สูงอายุส่งผลกระทบต่อครัวเรือนและสถาบันในชนบทอย่างไรบ้าง
จุดเด่นที่สุดอย่างหนึ่งของงานวิจัยที่อาจารย์ทำ คือเรื่องฐานข้อมูล ก่อนพูดคุยถึงข้อค้นพบจากงานวิจัย อยากให้อาจารย์เล่าเรื่องข้อมูลให้ฟังสักนิดว่า ข้อมูลที่อาจารย์ใช้มีลักษณะเด่นอย่างไร
ข้อมูลที่ผมใช้เรียกว่า “ข้อมูลไทยของทาวน์เซนด์” (Townsend Thai Data) ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลระยะยาวจากครัวเรือนเดิมมาตลอดตั้งแต่ปี 2541-2554 ข้อมูลของทาวเซนด์มีความมีความละเอียดค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับการสำรวจครัวเรือนแบบอื่นๆ เพราะเก็บทุกสองอาทิตย์ วิธีการนี้ทำให้ลดความผิดพลาดของข้อมูลได้มาก เช่น การถามข้อมูลเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย ถ้าเราไปถามต่อเดือนก็จะมีความผิดพลาดสูง ถ้าถามทุก 1-2 สัปดาห์ก็จะได้ข้อมูลที่เที่ยงตรงมากขึ้น ข้อดีอีกอย่างคือ การเก็บข้อมูลจากครัวเรือนเดิมซ้ำๆ อย่างต่อเนื่องทำให้เราสามารถมองเห็นความเปลี่ยนแปลงในครัวเรือนได้ชัดเจน
ครัวเรือนที่อยู่ในข้อมูลของทาวน์เซนด์ไทยเดต้า มีกี่ครัวเรือน
ข้อมูลที่ผมใช้เป็นแค่บางส่วนของทาวน์เซนด์ไทยเดต้า โดยมีข้อมูล 2,040 ครัวเรือน ครอบคลุม 4 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ลพบุรี บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ จริงๆ ทาวน์เซนด์ไทยเดต้ามีข้อมูลมากกว่านี้ แต่ที่ผมเลือก 4 จังหวัดนี้ เพราะ ข้อมูล Thai SES (การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ) เคยทำข้อมูลพื้นที่เหล่านี้ในอดีตและมีความสมบูรณ์มากที่สุด โอกาสในการทำความเข้าใจข้อมูล 4 จังหวัดนี้จึงมีสูงกว่าที่อื่น
อาจารย์ทำอะไรกับข้อมูลชุดนี้ครับ
ผมสนใจความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างครัวเรือนในชนบทไทย ในเบื้องต้นผมแบ่งโครงสร้างครัวเรือนออกเป็น 5 แบบ เป็นการแบ่งแบบหยาบๆ คือ (1) โครงสร้างแบบอยู่คนเดียว (2) โครงสร้างแบบ 1 รุ่น คือ มี สามี-ภรรยา หรือ คนรุ่นเดียวกันอยู่ด้วยกัน (3) โครงสร้างแบบ 2 รุ่น คือ มีลูก (4) โครงสร้างแบบ 3 รุ่น คือ มีหลาน (5) โครงสร้างแบบแหว่งกลาง คือ รุ่นพ่อแม่หายไป เหลือรุ่นหลานกับรุ่นปู่ย่าอยู่ร่วมกัน
หลังจากนั้นก็มาวิเคราะห์ว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของครัวเรือนไทยมีลักษณะอย่างไร อย่างแรกที่พบคือ ครัวเรือนคนเดียว ครัวเรือน 1 รุ่น และครัวเรือนแหว่งกลาง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนครัวเรือน 2 รุ่น และครัวเรือน 3 รุ่นมีแนวโน้มลดลง
อีกเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจคือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครัวเรือนมีสาเหตุมาจากอะไร เช่น การเปลี่ยนจากครัวเรือน 1 รุ่น เป็นครัวเรือน 2 รุ่นมีสาเหตุมาการเกิด หรือ การเปลี่ยนจากครัวเรือน 3 รุ่นมาเป็นครัวเรือนแหว่งกลางเป็นเพราะการย้ายเข้าออก เป็นต้น
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครัวเรือนในชนบทแบบไหน ที่อาจารย์พบว่าน่าสนใจเป็นพิเศษ
ส่วนใหญ่การเปลี่ยนแปลงก็เมคเซนส์นะ ถ้าจะบอกว่าน่าสนใจเป็นพิเศษก็คือการเปลี่ยนแปลงจากครัวเรือน 3 รุ่นมาเป็นครัวเรือนแบบแหว่งกลาง ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการย้ายออก ครัวเรือนแบบแหว่งกลางเป็นครัวเรือนที่มีสภาพความเป็นอยู่แย่ที่สุด อันนี้ผมดูจากค่าใช้จ่ายต่อหัว รายได้ต่อหัว เป็นตัวหลักในการวัด
ผมลองคำนวนดู สำหรับครัวเรือนแบบแหว่งกลางในชนบท ถ้าไม่รวมเงินโอน (เงินที่คนนอกครัวเรือนส่งกลับมาให้ เช่น คนในครัวเรือนย้ายออกไปทำงานนอกพื้นที่แล้วโอนกลับมา เป็นต้น) รายได้จะไม่พอค่าใช้จ่าย นั่นหมายความว่า เงินโอนมีความสำคัญกับครัวเรือนแหว่งกลางในเขตชนบทมาก
เรื่องนี้ชวนให้เราต้องคิดโจทย์ทางนโยบายต่อไป สิ่งที่ต้องเถียงกันคือ มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนที่รัฐจะต้องเข้าไปช่วยเหลือครัวเรือนแบบนี้ บางเสียงบอกว่าจำเป็นเพราะเห็นชัดว่า รายได้ไม่พอกับรายจ่าย แต่บางเสียงก็บอกว่า ณ ตอนนี้อาจจะยังไม่จำเป็น เพราะรายได้ที่รวมเงินโอนเฉลี่ยแล้วมันพออยู่ เขาสามารถเลี้ยงตัวเองได้ในระดับหนึ่ง แต่มันขึ้นอยู่กับโจทย์เชิงนโยบายด้วยเหมือนกันว่ารัฐต้องการอะไร ถ้ารัฐต้องการให้ครัวเรือนแบบแหว่งกลางมีสภาพความเป็นอยู่ใกล้เคียงกับครัวเรือนแบบอื่นๆ นโยบายก็เป็นแบบหนึ่ง แต่ถ้ามองแค่ความอยู่รอด นโยบายก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง
ประเด็นนี้จะมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต เพราะสัดส่วนครัวเรือนแบบแหว่งกลางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
มีความแตกต่างกันไหมระหว่างครัวเรือนในเมืองและในเขตชนบท
ในเขตเทศบาลไม่มีปัญหานี้
ถ้าจะบอกว่าน่าสนใจเป็นพิเศษก็คือการเปลี่ยนแปลงจากครัวเรือน 3 รุ่นมาเป็นครัวเรือนแบบแหว่งกลาง ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการย้ายออก ครัวเรือนแบบแหว่งกลางเป็นครัวเรือนที่มีสภาพความเป็นอยู่แย่ที่สุด …
สำหรับครัวเรือนแบบแหว่งกลางในชนบท ถ้าไม่รวมเงินโอน (เงินที่คนนอกครัวเรือนส่งกลับมาให้ เช่น คนในครัวเรือนย้ายออกไปทำงานนอกพื้นที่แล้วโอนกลับมา เป็นต้น) รายได้จะไม่พอค่าใช้จ่าย นั่นหมายความว่า เงินโอนมีความสำคัญกับครัวเรือนแหว่งกลางในเขตชนบทมาก
แล้วครัวเรือนที่อยู่คนเดียว มีสภาพความเป็นอยู่เป็นอย่างไร
จากข้อมูลที่ผมมี สภาพความเป็นอยู่ของพวกเขานับว่าดี ทั้งครัวเรือนที่อยู่คนเดียวและครัวเรือน 1 รุ่น ถ้าถามว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ผมยังไม่มีคำตอบที่น่าพอใจ ไม่รู้เป็นเพราะเขาอยู่คนเดียวเลยมีความเป็นอยู่ดี หรือเพราะเขามีความเป็นอยู่ที่ดีอยู่แล้ว เลยอยู่คนเดียว
เรื่องนี้น่าสนใจ เพราะถ้าเราอธิบายว่า การที่ครัวเรือน 1 รุ่น กับครัวเรือนที่อยู่คนเดียวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะมีความเป็นอยู่ที่ดี คำอธิบายเดียวกันนั้น มันใช้ไม่ได้กับครัวเรือนแบบแหว่งกลาง เพราะว่าเราเห็นแนวโน้มแบบแหว่งกลางเพิ่มขึ้นเหมือนกัน แต่สภาพความเป็นอยู่ของเขามันแย่
ลองเปรียบเทียบในเชิงพื้นที่บ้าง การวิเคราะห์ในเชิงพื้นที่บอกอะไรเราบ้างไหม
ในงานวิจัยมีการเปรียบเทียบระหว่างระหว่างภาคกลางกับภาคอีสานด้วยเหมือนกัน ผลการวิเคราะห์พบว่า ครัวเรือนแบบแหว่งกลางจะเกิดขึ้นที่ภาคอีสานมากกว่า เพราะมีการย้ายออกจากพื้นที่มากกว่า ซึ่งเรื่องนี้ก็สอดคล้องกับคำอธิบายดั้งเดิมอยู่แล้ว นั่นคือ สภาพความเป็นอยู่ สภาพทางภูมิศาสตร์ของอีสานแย่กว่าของภาคกลาง การอยู่ติดพื้นที่เดิมจะมีความเป็นอยู่ไม่ดีเมื่อเทียบกับการย้ายออกไปทำงานที่อื่น การย้ายออกของคนอีสานจึงมีมากกว่าในภาคกลาง
แต่เรื่องนี้ก็ต้องดูปัจจัยอื่นด้วยเหมือนกัน เช่น การศึกษา เราพบว่าคนย้ายออกมีการศึกษาเฉลี่ยสูงกว่า (ข้อมูลในงานวิจัยคือมีการศึกษาเฉลี่ย 7 ปี) คนย้ายเข้า (มีการศึกษาเฉลี่ย 5.5 ปี) ซึ่งก็มีเหตุผลนะ เพราะสำหรับคนที่มีการศึกษานั้น การย้ายไปทำงานนอกชนบทมีโอกาสที่ดีกว่า คนจึงมีแนวโน้มที่จะย้ายออก
ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความเป็นอยู่ของครัวเรือนในชนบทคืออะไร
คำตอบไม่ได้อยู่ในงานวิจัยชุดนี้ แต่อยู่ในงานวิจัยของอาจารย์ผม (ศาสตราจารย์ Robert M. Townsend อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ – MIT) คือท่านลงพื้นที่ชนบทของไทยแล้วพบว่า หมู่บ้านที่อยู่ใกล้ๆ กัน ซึ่งควรมีสภาพแวดล้อมใกล้เคียงกัน กลับมีความแตกต่างกันอย่างมากในแง่ของเศรษฐกิจ จึงเริ่มสนใจเรื่องนี้ เมื่อศึกษาดูก็พบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อเศรษฐกิจภายในหมู่บ้านคือ สถาบันภายในหมู่บ้านเอง เช่น ความเป็นผู้นำของผู้ใหญ่บ้าน ระบบการเงินอย่างไม่เป็นทางการภายในหมู่บ้าน หรือการกู้ยืมเงินกันของญาติพี่น้องและเพื่อนบ้าน
มีงานอีกชิ้นหนึ่งที่ผมทำ ผมพยายามไปดูว่า มีปัจจัยอะไรในระดับครัวเรือนที่ทำให้ครัวเรือนหนึ่งประสบความสำเร็จมากกว่าอีกครัวเรือนหนึ่ง เคสที่ผมไปศึกษาเป็นครอบครัวเกษตรกรวัวนมที่มีผลิตภาพสูงกว่าครัวเรือนอื่นๆ ผมพบว่า ครัวเรือนนี้มีการวางแผน มีการหาความรู้เรื่องพันธุ์ มีการคัดเลือกพันธุ์ เป็นต้น
งานวิจัยของโรเบิร์ต ทาวน์เซนด์ แห่งเอ็มไอที พบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อเศรษฐกิจภายในหมู่บ้านคือ สถาบันภายในหมู่บ้านเอง เช่น ความเป็นผู้นำของผู้ใหญ่บ้าน ระบบการเงินอย่างไม่เป็นทางการภายในหมู่บ้าน หรือการกู้ยืมเงินกันของญาติพี่น้องและเพื่อนบ้าน
เราบอกได้เลยไหมว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจครัวเรือน เริ่มตั้งแต่ตัวบุคคลเลย
การศึกษาเรื่องแบบนี้ต้องระวัง เพราะเรารู้แต่เพียงว่า ปัจจัยอะไรที่น่าจะมีความสำคัญ ทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ในแบบต่างๆ แต่เราไม่สามารถฟันธงได้ว่า ปัจจัยนั้นเป็นตัวกำหนดสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด
กลับมาที่งานวิจัยเรื่องโครงสร้างประชากรชุดนี้ งานชิ้นนี้ผมไม่ได้ทำแบบเดียวกับที่เคยทำ งานนี้มีเลยจุดอ่อนอยู่ คือ มันลงรายละเอียดน้อยไป มันจะมีเงื่อนไขที่เราไม่รู้อยู่ ทำให้ยังมีหลายอย่างที่เรายังไม่สามารถอธิบายได้ว่าเป็นเพราะอะไร
บนฐานของงานวิจัยชิ้นนี้ อาจารย์มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายอย่างไรบ้าง
อย่างที่บอกว่า ครัวเรือนที่มีปัญหามากที่สุดคือครัวเรือนแหว่งกลาง ดังนั้นการช่วยเหลือของรัฐควรจะโฟกัสที่ตรงนั้น กระบวนการช่วยเหลือต้อง customize ออกแบบให้เหมาะกับครัวเรือน
แต่เรื่องนี้ก็ต้องระวังอีกเหมือนกัน ผมบอกไม่ได้ว่าเงินช่วยเหลือจากรัฐควรเป็นเท่าไหร่ เรารู้แค่ว่า ถ้าน้อยไปก็ช่วยอะไรไม่ได้มาก แต่ถ้าเยอะไปก็กลายเป็นแรงจูงใจที่ผิดได้ เช่น พอรู้ว่าครัวเรือนแบบแหว่งกลางได้เงินช่วยเหลือเยอะ ครัวเรือนก็อาจจะเปลี่ยนเป็นแบบแหว่งกลางเพื่อจะเอาเงินได้