“ความรู้” นับเป็น “หัวใจ” ของการพัฒนาประเทศ และควรจะถูกใช้เป็นฐานสำคัญในการกำหนดนโยบายสาธารณะ ในปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองขนานใหญ่ ความรู้ที่มีคุณภาพและทันสมัยจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการนำพาประเทศก้าวพ้นความท้าทายใหม่ได้อย่างยั่งยืน
แน่นอนว่าความรู้ที่มีคุณภาพต้องเกิดมาจากงานวิจัยที่มีคุณภาพ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่สนับสนุนการสร้างความรู้ผ่านการทำวิจัยอย่างมีคุณภาพและตอบโจทย์ของประเทศ
จากปี 2535 จนถึงปัจจุบัน สกว. สนับสนุนงบประมาณให้นักวิชาการแต่ละสาขาวิชาทั่วประเทศสร้างงานวิจัยที่มีคุณภาพจำนวนมาก และในช่วงปี 2557 สกว. ได้กำหนดยุทธศาสตร์การทำงานวิจัยให้มีผลกระทบกว้างขวางยิ่งขึ้น โดยได้กำหนดกรอบประเด็นการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Research Issues: SRI) ขึ้นมา เพื่อเป็นการยกระดับการสนับสนุนงานวิจัยในประเด็นที่มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศในอนาคตอย่างเป็นระบบและมุ่งเป้าหมายชัดเจน
Knowledge Farm – ฟาร์มความรู้สู่สังคม จับเข่าคุยกับ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล รองผู้อำนวยการด้านการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ สกว. เรื่องการทำงานวิจัยภายใต้ SRI
ทำไม สกว. ถึงต้องจัดทำ SRI ขึ้นมา
หลังจากที่คุณหมอสุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการ สกว. ในช่วงปีที่ร่างแผนยุทธศาสตร์ สกว. พ.ศ. 2557-2560 เราได้กำหนดให้ สกว. ต้องสร้างความรู้ที่สามารถรองรับการเติบโต (growth) ในหลายๆ ด้าน เช่น การเติบโตที่สามารถแข่งขันได้ (competitive growth) การเติบโตแบบมีส่วนร่วม (inclusive growth) และการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (green growth) โดยทั้งหมดจะรวมเป็นเรื่องการเติบโตอย่างยั่งยืน (sustainable growth) เราอาจเรียกแผนนี้ว่า “แผนยุทธศาสตร์ 4Gs” ก็ได้ ทั้งนี้ตอนร่างแผน คุณหมอเห็นว่า สกว. ควรกำหนดกรอบประเด็นการวิจัยไว้ในยุทธศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาสำคัญของประเทศ และสร้างความเติบโตให้กับประเทศได้ตรงจุด
ประเด็นการวิจัยในกรอบการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ของ สกว. มีอะไรบ้าง
ประเด็นสำคัญมีอยู่ 12 เรื่องใหญ่ สำหรับตอบโจทย์ 4Gs ได้แก่ 1. ประชาคมอาเซียนและภูมิภาคเอเชียตะวันออก 2. ความมั่นคงทางอาหารและความปลอดภัยของอาหาร 3. การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ น้ำ ที่ดิน และการจัดการสิ่งแวดล้อม 4. การลดความเหลื่อมล้ำและความยากจน 5. การสร้างสรรค์การเรียนรู้และปฏิรูปการศึกษา 6. ธรรมาภิบาลและการลดคอร์รัปชั่น 7. ผลประโยชน์แห่งชาติและความมั่นคงทางทะเล 8. คุณธรรม จริยธรรม วัฒนธรรม และระเบียบวินัยของคนไทย 9. การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร 10. องค์ความรู้ใหม่และนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ 11. พลังงานและพลังงานทางเลือก และ 12. การหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง
การทำงานวิจัยภายใต้ SRI เป็นอย่างไร
ในฐานะผู้ดูแล SRI จะแบ่งให้ฝ่ายงานวิจัยแต่ละฝ่ายใน สกว. รับผิดชอบดูแลกันฝ่ายละประเด็น ส่วนตัวเองจะอยู่ตรงกลางเพื่อดูแลภาพรวมทั้งหมด เรียกว่าเป็นทั้งผู้จัดการและผู้ประสานงานน่าจะเหมาะกว่า นอกจากนี้ ดิฉันจะดูแลเอง 3 ประเด็น ได้แก่เรื่องคอร์รัปชั่น การศึกษา และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ที่รับผิดชอบทั้งสามประเด็นนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้เคยทำงานวิจัยในประเด็นเหล่านี้มาก่อน
ตามยุทธศาสตร์ที่เราออกแบบไว้ เริ่มต้นก็ต้องดูว่าประเทศไทยมีปัญหาด้านใดบ้าง สอดคล้องกับกรอบทั้ง 12 ประเด็นที่เรากำหนดไว้อย่างไร สถานการณ์ในขณะนี้อยู่ตรงไหน เป้าหมายของเราคืออะไร ช่องว่างทางความรู้หรือช่องว่างทางนโยบายอยู่ที่ไหน และเราสามารถหาวิธีที่เราจะสามารถใช้งานวิจัยเข้าไปช่วยเติมเต็มช่องว่างหรือช่วยตอบโจทย์ประเด็นต่างๆ ได้อย่างไรบ้าง โดยงานวิจัยที่จะนำมาอยู่ในกรอบประเด็นเชิงยุทธศาสตร์นี้จะต้องต่างจากงานวิจัยอื่นๆ
ตอนออกแบบครั้งแรก เราก็รู้ว่าทั้ง 12 ประเด็นนี้อาจจะไม่ได้แยกจากกัน แต่มีความเชื่อมโยงกันอยู่ เราพยายามออกแบบการทำงานให้แต่ละฝ่ายไปลองทำ ทุกคนก็พยายามไปคิดโจทย์ จะมีทั้งจากมุมที่ตัวเองถนัดและจากมุมที่ตัวเองเพิ่งเคยมองเห็นด้วย แต่สุดท้าย เราก็รู้สึกว่าการให้หลายฝ่ายต่างแยกย้ายไปคุยกันในระยะหนึ่งอาจจะเกิดปัญหาว่าเราจะออกแบบการบริหารจัดการเรื่องใหญ่ๆ อย่างไร เราจึงปรับมาออกแบบและตั้งโจทย์ร่วมกัน พอได้โจทย์แล้ว ก็แบ่งสรรงบประมาณให้แต่ละฝ่ายเพื่อทำงานตอบโจทย์ตามแผนที่วางไว้ร่วมกัน
งานวิจัยภายใต้ SRI ต่างจากงานวิจัยทั่วไปอย่างไร
หนึ่ง งานวิจัย SRI ไม่ใช่งานวิจัยขนาดเล็กหรือเป็นเรื่องย่อยมาก สอง เป็นงานวิจัยที่ต้องตอบโจทย์ใหญ่ได้ สมมติว่าฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่นเคยมองเรื่องความเหลือมล้ำผ่านปัญหาในชุมชนเล็กๆ ก็ต้องยกระดับให้สามารถสะท้อนถึงปัญหาที่ใหญ่ขึ้นในระดับประเทศได้ เช่น มองว่าปัญหาที่ดินไม่ได้เป็นปัญหาเป็นเฉพาะชุมชน แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างในระดับประเทศ
การบริหารงานวิจัย SRI มีเครื่องมืออื่นใดมาช่วยในการทำงาน
เครื่องมือที่ช่วยในการทำงานก็คือ 1. การมี Advisory Board ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญตามประเด็นต่างๆ มาช่วยกำกับทิศทางการวิจัย 2. การมีทีมผู้ประสานงานที่เข้มแข็งและมีประสบการณ์ช่วยประสานการทำงานกับหลายฝ่ายได้ และ 3. งบประมาณวิจัย จริงๆ แล้ว งบประมาณ SRI ก็ไม่ได้มาก ฝ่ายงานวิจัยแต่ละฝ่ายต้องรับงาน SRI ไปทำ ควบคู่กับภาระงานเดิมของฝ่ายตัวเอง จึงต้องบริหารงบประมาณ 2 ก้อนพร้อมกัน คืองบที่แต่ละฝ่ายได้รับอยู่แล้ว และงบ SRI
การบริหารงานวิจัย SRI ทำให้แนวทางการทำงานของ สกว. ต้องปรับตัวอย่างไร
เราเห็นว่าศักยภาพของนักวิจัยในแต่ละฝ่ายที่ต้องเข้ามาทำงานร่วมกันมีความสามารถมองเชิงระบบกว้างๆ ได้ไม่มาก แต่ละคนมองในจุดเล็กๆ ของตัวเอง กลายเป็นว่า SRI อาจจะต้องมาออกแบบกันใหม่ ชวนกันทบทวนอีกครั้งว่าแต่ละประเด็น กลยุทธ์ของที่เราควรทำคืออะไร อย่างเรื่องการศึกษาก็กว้างมาก แตะตรงไหนก็เห็นปัญหาไปหมดเลย คำถามก็คือแล้วงานวิจัยของเราจะไปตอบตรงไหน แต่ละฝ่ายที่รับผิดชอบงาน SRI ต้องมอง
ด้วยเหตุนี้ จึงต้องให้แต่ละฝ่ายกลับไปทบทวนสถานการณ์งานวิจัย (review situation) ให้จริงจังมากขึ้น วิเคราะห์สถานการณ์เข้มข้นขึ้น ส่วนนี้อาจจะไม่ใช่งานวิจัยโดยตรง แต่มีความจำเป็นที่จะต้องทบทวนสถานการณ์ความรู้ของแต่ละประเด็น ซึ่งจะทำให้มองเห็นช่องว่างความรู้เชิงยุทธศาสตร์ในประเด็นของตนชัดขึ้น และส่งผลให้แต่ละฝ่ายสามารถขยับงานไปในทิศทางที่เป็นระบบและสอดคล้องกันได้มากขึ้น
สิ่งสำคัญของ SRI คือ ความรู้ที่ได้มาต้องตอบโจทย์ของประเทศหรือสามารถเอาไปใช้งานจริงต่อได้ ดังนั้น พันธมิตรจึงมีความสำคัญ เราทำงานร่วมกับพันธมิตรต่างๆ อย่างไร
เราออกแบบให้มีคณะกรรมการกำกับทิศทาง โดยมีพันธมิตรในแวดวงต่างๆ เข้าร่วม เพื่อช่วยกันควบคุมคุณภาพและทิศทางงานวิจัย ในทางปฏิบัติจริง หากเราจะต้องมี strategic partner ก็อาจต้องใช้คอนเน็คชั่น โชคดีที่บางฝ่าย เช่น SRI 12 ประเด็นกับดักรายได้ปานกลาง เราได้คนที่มีบทบาทในสภาอุตสาหกรรมมาร่วม ซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องงานวิจัยและการสร้างความรู้อย่างมาก
หรือในกรณีของ SRI 9 ประเด็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ตอนต้น คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนแผนประชากร 20 ปี เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการ ท่านก็ได้ดึงสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และองค์กรสำคัญอื่นๆ มาทำงานกับเราต่อ เราจึงได้คณะกรรมการที่มีคุณภาพสูง
อย่างไรก็ดี บางประเด็นเรายังไม่มี strategic partner เพราะเป็นเรื่องใหม่ หรือประเด็นใหญ่มากจนไม่รู้ว่า strategic partner ที่จะชวนมาจะตรงกับโจทย์หรือไม่ เช่น ประเด็น SRI 5 การปฏิรูประบบการเรียนรู้ เหมือนจะชัดเจนว่ากระทรวงศึกษาควรเป็น strategic partner แต่สุดท้ายก็ยังเชิญมาไม่ได้ ส่วนหนึ่งเพราะโจทย์เรื่องการศึกษาของเราเองยังไม่รู้ว่าจะวางหมากตรงไหน เพราะฉะนั้นในปีแรกที่เราเริ่มทำ SRI 5 ก็จะทำงานแบบไม่ได้ตั้งคณะกรรมการกำกับทิศทางงานวิจัย คงจะต้องหาตำแหน่งแห่งที่ของโจทย์วิจัยให้ชัดขึ้น
ด้วยข้อจำกัดเช่นนี้ จึงทำให้เราต้องมีนักวิจัยไปสังเคราะห์งานวิจัยในประเด็นเชิงยุทธศาสตร์แต่ละประเด็น เพื่อกำหนดตำแหน่งของโจทย์ให้ชัดและคมขึ้น แต่ใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ
ในช่วงปีที่ผ่านมา สกว. พยายามมุ่งเน้นงานวิจัย SRI สามประเด็น และสื่อสารสู่สังคมวงกว้าง ประเด็นเหล่านี้มีอะไรบ้าง และทำงานอย่างไร
ประเด็นแรกคือ SRI 2 ความมั่นคงทางอาหารและความปลอดภัยของอาหาร ประเด็นที่สองคือ SRI 5 การสร้างสรรค์การเรียนรู้และปฏิรูปการศึกษา และประเด็นที่สาม SRI 9 การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร
จะเห็นได้ว่าเรื่องการศึกษาและเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเป็นเรื่องของคน เราก็รู้สึกว่าเป็นประเด็นที่น่าจะเป็นตัวแกนกลางที่สำคัญของการพัฒนาประเทศ ส่วน SRI 2 จะเป็นเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เกี่ยวข้องกับภาคเกษตร ซึ่งเรามีพื้นฐานอยู่มาก เรายังมีคนจำนวนมากอยู่ในภาคเกษตร เลยหยิบสามเรื่องนี้ขึ้นมาก่อน อีกเหตุผลหนึ่งก็เพราะว่าบางเรื่องเรามีพื้นที่หรือมีพื้นฐานในการทำงานอยู่พร้อมแล้ว โดย SRI 5 และ SRI 9 ดิฉันจะเป็นคนดูแลโดยตรง ส่วน SRI 2 นั้นจะมี รศ.ดร.ประภาพร ขอไพบูลย์ ดูแลต่างหาก ซึ่งท่านมีความเชี่ยวชาญอย่างมากในด้านการเกษตร ซึ่งสัมพันธ์กับเรื่องอาหารโดยตรง
ประเด็นเรื่องการปฏิรูประบบการเรียนรู้ หัวใจคืออะไร
การศึกษาเป็นเรื่องของคน จากประสบการณ์การทำงาน เป็นเรื่องไม่ง่าย โจทย์สำคัญคือ เราจะสร้างองค์ความรู้จะช่วยสร้างเครื่องมือเพื่อแก้ปัญหาระบบการศึกษาอย่างไร
เราทำงานวิจัยในประเด็นการศึกษาหลายเรื่องมาก เช่น เรื่องการอ่านออกเขียนได้ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการศึกษา โดยเรามีชุดโครงการอยู่ 4 – 5 เรื่อง ที่ทำเรื่องนี้ บางโครงการเป็นเรื่องการสอนภาษาไทย มีข้อถกเถียงกันว่าวิธีการสอนการอ่านภาษาไทยควรจะสอนแบบไหนถึงจะเรียนรู้ได้ดี อ่านได้เร็ว บางโครงการก็เป็นเรื่องการอ่านเขียนภาษาไทยตามหลักสูตรแกนกลาง ซึ่งจริงๆ แล้วบริบทพื้นที่ประเทศไทยมีความแตกต่าง หลากหลายทางชาติพันธุ์อยู่ โจทย์ของงานวิจัยคือวิธีการเรียนการสอนด้านการเขียนอ่านภาษาในแต่ละที่ควรจะเป็นอย่างไร
หรือบางโครงการก็ทำเรื่องครู เช่น โครงการพัฒนาทักษะการสอนของครู โดยจับมือร่วมกับคณะครุศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 40 แห่ง ไปร่วมโค้ชครูตามแต่ละโรงเรียนทั่วประเทศ ภายใต้แนวคิดที่ว่า แทนที่กระทรวงศึกษาจะเรียกครูมาอบรมที่ส่วนกลาง ซึ่งจะทำให้ครูต้องทิ้งโรงเรียน ควรจะมีกระบวนการพัฒนาครูแบบที่ตรงกับปัญหาจริงที่ครูเผชิญโดยไม่ต้องทิ้งโรงเรียนไป เราใช้ระบบคล้ายกับที่ต่างประเทศใช้กันคือการโค้ชครู โดยให้อาจารย์มหาวิทยาลัยมาช่วยโค้ชครูอีกทีหนึ่ง จริงๆ แล้ว ครูควรมีชุมชนการเรียนรู้ของกลุ่มครูเองในโรงเรียน ครูเก่งอาจจะถ่ายทอดวิทยายุทธให้ครูใหม่ กระบวนการแบบนี้น่าจะเหมาะเพราะตรงกับปัญหาที่ครูเผชิญในเรื่องการสอน และไม่ต้องดึงครูออกนอกโรงเรียน
บางโครงการก็ทำเรื่องระบบโรงเรียน ปัจจุบันโรงเรียนถูกประเมินโดยหน่วยงานภายนอกคือ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์กรมหาชน) (สมศ.) แต่ไม่ได้ช่วยอะไรมาก สิ่งที่เราพยายามจะทำคือเปลี่ยนระบบใหม่ วิธีทำงานคือใช้ระบบการสะสมหน่วยกิต (accreditation) แปลว่าให้ครูตั้งเป้าหมายตัวเอง ตั้งเป้าเพื่อพัฒนาโรงเรียนของตัวเองและดูว่าอยากแก้ปัญหาตรงจุดไหนบ้าง เช่น เด็กมาโรงเรียนสายต้องแก้ปัญหาอย่างไร แต่ละโรงเรียนจะกำหนดปัญหาสำคัญที่เกี่ยวกับคุณภาพของเด็ก ตั้งเป้าหมายและมีการใช้ระบบโค้ชเข้ามาทำงานกับโรงเรียน ถ้าโรงเรียนพัฒนาคุณภาพตัวเองได้เรื่อยๆ ก็จะมีการนับหน่วยกิตไปเรื่อยๆ และจะมีการรับรองคุณภาพโรงเรียนโดยดูจากหน่วยกิตที่โรงเรียนสะสมได้ ระบบนี้ที่ต่างประเทศเขาทำกัน แต่ต้องเป็นระบบการรับรองกึ่งประเมินที่ควบคู่ไปกับการพัฒนา ไม่ใช่ว่าทำแค่เอกสาร ได้คะแนน แต่ไม่เกิดการพัฒนา
ประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร หัวใจสำคัญอยู่ตรงไหน
มีงานหลายชิ้นด้วยกันที่เพิ่งเสร็จสิ้นไป เช่น งานของอาจารย์อนันต์ ภาวสุทธิไพศิฐ เรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรในชนบทไทย งานของทีมอาจารย์ภูเบศร์ สมุทรจักร เกี่ยวกับการสร้างความอยู่ดีมีสุขของครอบครัวไทย งานของอาจารย์ปราโมทย์ ประสาทกุล เรื่องศตวรรษิกชน ซึ่งพาเราไปดูสภาพความเป็นอยู่ของคนร้อยปี รวมถึงงานเชิงสังเคราะห์งานวิจัยของ ดร.จิรวัฒน์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งสำรวจสภาพความท้าทายด้านการเงินในยุคสังคมสูงวัย
งานพวกนี้เป็นล็อตแรก ส่วนล็อตที่สอง เรากำลังพัฒนาโจทย์ไปเน้นเรื่อง work-life balance ถ้าชีวิตการทำงานมีความสมดุล มีเวลาสำหรับครอบครัวได้และทำงานได้ด้วย คนก็น่าจะมีความสุข ถ้าชีวิตมีแต่งานมากเกินไปก็อาจจะไม่มีเวลาดูแลครอบครัวและดูแลลูก เพราะฉะนั้นเรื่อง work-life balance เลยเป็นโจทย์ใหญ่ที่เรากำลังจะหาทางแก้ อาจจะดูในเชิงภาคธุรกิจเอกชนว่ามีที่ไหนที่ทำเรื่องนี้กันบ้าง ดูตัวนโยบายที่จะสนับสนุนให้เกิด work life balance อย่างบางประเทศ เช่น ให้ผู้ชายลางานเพื่อมาเลี้ยงดูลูกได้ ถ้าผู้ชายมีบทบาทในการช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัวด้วยก็จะทำให้ work-life balance ดีขึ้น ผู้หญิงก็อาจจะอยากมีลูกหรือพร้อมที่จะมีลูกมากขึ้น
แต่ก็มีผู้ใหญ่หลายคนใน Advisory Board มองว่าการตั้งโจทย์แบบนี้เป็นเชิงรับ เราจึงต้องมีการปรับปรุงหรือเสริมโจทย์ให้มีความแหลมคมขึ้น โดยอาจจะต้องมองนโยบายเรื่องการเกิดอย่างมีคุณภาพ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่ไปสัมพันธ์กับเรื่องของเศรษฐกิจประเทศ นอกเหนือจากเรื่องการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจใหม่ๆ และเรื่องการอพยพหรือการนำเข้าแรงงานฝีมือ ซึ่งประเทศไทยมีนโยบายนำเข้าแรงงานและบุคลากรที่ค่อนข้างล้าหลังกว่าหลายประเทศ เมื่อเทียบกับสิงคโปร์ที่มีคนเก่งเข้ามาทำงานมาก
อีกโจทย์หนึ่งที่อยากทำต่อคือ เรื่องครอบครัวแหว่งกลาง จากการวิจัยของ ดร.อนันต์ ครอบครัวแหว่งกลางมีความเปราะบาง เพราะมีแต่เด็กและผู้สูงอายุ แต่ก็มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นในชนบท คำถามคือว่าเรารับมือครอบครัวเปราะบางเหล่านี้อย่างไร ควรจะมีนโยบายเฉพาะสำหรับกลุ่มนี้อย่างไร
อีกโจทย์หนึ่งที่อยากจะทำคือ มาตรฐานรายได้ขั้นต่ำ (minimum income standard) โจทย์คือมาตรฐานรายได้ขั้นต่ำที่ทำให้คุณภาพชีวิตอยู่ในระดับที่ได้มาตรฐานควรอยู่ตรงไหน คงไม่ได้อยู่แค่ระดับเส้นความยากจน (poverty line) แน่ๆ
ที่ผ่านมา การทำงานวิจัย SRI มีความท้าทายอย่างไร
ความท้าทายคือเราจะตั้งเป้าปักธงที่จะทำวิจัยไว้ตรงไหน เรามีโจทย์วิจัยมากมาย แต่โจทย์แหลมคมที่เราจะผลักดันเชิงกลยุทธ์อยู่ตรงไหน อย่างเรื่องการศึกษา คนทำวิจัยเยอะมาก เช่น วิธีสอนภาษาอังกฤษ ฯลฯ เรารู้สึกว่าโจทย์เล็กมาก โจทย์ควรเป็นโจทย์ที่เป็นเรื่องสำคัญใหญ่ๆ เช่น ระบบการประเมิน แต่จะแก้ได้ต้องไปรื้อระบบด้วยการปฏิรูป ซึ่งรัฐก็มีแนวทางปฏิรูปของเขา ความท้าทายจึงอยู่ที่ว่าเราปักธงเป้าหมายงานวิจัยถูกที่หรือไม่
ในส่วนของความยาก ในระยะยาวเราจะทำงานวิจัยในเชิงยุทธศาสตร์อย่างไรให้สามารถแก้ปัญหาได้ในช่วงเวลา 3-4 ปี แน่นอนมันคงแก้ปัญหาทุกอย่างไม่ได้ใน 4 ปี แต่อย่างน้อยก็คงเห็นแนวทางบางอย่างในการพัฒนาบ้าง
ก้าวต่อไปของงานวิจัย SRI จะเป็นอย่างไร
ในประเด็นการปฏิรูประบบการเรียนรู้ ตัวเองยังเชื่อว่างานวิจัยเรื่องระบบพัฒนาโรงเรียนและระบบพัฒนาครูนั้นตอบโจทย์ แต่ว่างานยังไปไม่สุด มันต้องทำอีกนิด ส่วนเรื่องการอ่านก็สำคัญ แต่ยังเป็นแค่เรื่องของการสอนการอ่าน มันอาจจะมีปัจจัยอื่นๆ มากกว่านั้นเพื่อให้เด็กอ่านออกเขียนได้ อันนี้ต้องไปดูปัจจัยอื่นๆ คล้ายกับเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ ระหว่างทำอาจจะต้องดึงประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำออกมาให้ชัดว่ามันสร้างปัญหามากน้อยแค่ไหน จะแก้รากเหง้าของปัญหาจริงๆ ได้อย่างไร ความท้าทายของมันอยู่ตรงนี้
ในประเด็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร เราจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้ว เราต้องเตรียมอีกหลายเรื่อง ต้องออกแบบการแก้ปัญหา เตรียมบทบาทว่าใครอยู่ตรงไหนในการจัดการปัญหา งานวิจัยของเราหลายชิ้นตอบโจทย์ไปบ้างแล้วในเบื้องต้น เช่น งานเรื่องการเพิ่มอัตราการเกิดที่ทำร่วมกับสภาพัฒน์ ได้มีคนใช้ข้อมูลของเราไปออกแบบนโยบายเพื่อพัฒนาประเทศต่อไป
ตอนนี้โดยรวม งานด้าน SRI ที่เราทำงานอยู่เป็นการตอบโจทย์ไปขั้นหนึ่งเพื่อเขยิบไปอีกขั้น เช่น เราอยากให้เพิ่มอัตราการเกิด แต่งานวิจัยของเรายังไม่สามารถไปสู่การสร้างเครื่องมือที่นำไปสู่การเพิ่มอัตราการเกิดได้ เรากำลังอยู่ในขั้นตอนระบุสาเหตุปัจจัยที่ทำให้อัตราการเกิดลดลง ด้วยเหตุนี้ ก้าวต่อไปของงานวิจัย SRI คือการเขยิบเข้าไปสู่โจทย์ที่ใหญ่และสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าจะดูช้า แต่หวังว่าจะมีอิมแพคมหาศาล