สัมภาษณ์: 10 ปัญหาครูไทย ผ่านแว่นตา “ครุเศรษฐศาสตร์” ของพิริยะ ผลพิรุฬห์

ในวงการการศึกษาไทย มีนักวิชาการจำนวนมากที่พยายามศึกษาปัญหาการศึกษาไทย หนึ่งในนั้นที่พยายามศึกษาปัญหาอย่างเป็นระบบ คือ ศ.ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ อาจารย์จากคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

ถึงแม้ว่าอาจารย์จะเป็นนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ แต่ก็มีความสนใจเรื่องการศึกษาอย่างมาก จนลงมือทำวิจัยและเขียนหนังสือเกี่ยวกับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างผลงานของอาจารย์พิริยะ เช่น หนังสือ ‘ครุเศรษฐศาสตร์’ (2557) ว่าด้วยปัญหาของระบบครู ผ่านมุมมองด้านเศรษฐศาสตร์แรงงานและเศรษฐศาสตร์ทรัพยากรมนุษย์

หนังสือเล่มนี้ใช้ ‘แว่นตา’ แตกต่างจากผลงานวิชาการทั่วไป ซึ่งมักใช้แนวคิดครุศาสตร์มาวิเคราะห์ปัญหา Knowledge Farm-ฟาร์มรู้สู่สังคม อ่านเจอข้อค้นพบที่น่าสนใจและกุญแจไขปริศนาปัญหาการศึกษาไทยหลายประการ จึงนัดหมายพูดคุยกับ ศ.ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ และนักวิจัยในหลายโครงการวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เกี่ยวกับแนวคิดและทางออกของการแก้ปัญหาครูไทย

 

ศ.ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ อาจารย์คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

 

ทำไมอาจารย์ถึงสนใจเรื่องครู 

พื้นฐานของผมคือเศรษฐศาสตร์ ทำวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์โดยเฉพาะด้านคน ด้านแรงงาน อย่างต่อเนื่องระยะหนึ่ง แต่ที่เริ่มหันมาสนใจเรื่องครูก็เพราะว่า ปัญหาการศึกษามีหลายประเด็น ปัญหาครูเป็นประเด็นที่มีความสำคัญมาก ผมสนใจว่าครูที่ดีนำไปสู่เด็กที่ดีได้อย่างไร

อีกส่วนหนึ่งก็คือ ผมอยู่กับอาชีพครูมาตั้งแต่เด็ก แม่ผมเป็นครู ญาติผมทั้งหมดเป็นครู ผมก็เป็นครู ภรรยาผมก็เป็นครู

ตอนหลังหลายคนบอกว่า ในปัจจุบัน โลกทุนนิยมทำให้เกิดอาชีพที่ให้ผลตอบแทนสูงมากมาย เช่น นักการเงิน หมอ หรือวิศวกร ครูจึงเป็นอาชีพที่ดูด้อยลงสำหรับคนรุ่นใหม่ คนเก่งไม่อยากเป็นครู การศึกษาก็เลยไม่ดี แต่ผมฟังแล้ว ไม่ค่อยเห็นด้วยนักว่าเป็นเพราะอาชีพครูด้อยลง ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่อยากเป็นครู เลยเกิดคำถามในใจว่า สาเหตุที่ครูไม่เก่ง เป็นเพราะเขาไม่เก่งเอง หรือว่าระบบทำให้เขาไม่เก่ง

เมื่อเรามาดูที่ปริมาณครู จะพบว่ามีครูอยู่ประมาณ 1 ใน 6 ของแรงงานทั้งประเทศ น่าจะเป็นแรงงานกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในประเทศกลุ่มหนึ่งเลยทีเดียว แต่ปรากฏว่าเรากลับไม่มีการบริหารจัดการแรงงานกลุ่มนี้อย่างมีประสิทธิภาพดีพอ แสดงว่าระบบครูต้องมีปัญหามากมาย

 

หนังสือ “ครุเศรษฐศาสตร์” มีจุดเริ่มต้นอย่างไร

ช่วงเวลานั้น ผมทำงานวิจัยให้กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล และ ศ.ดร.อภิชัย พันธเสน ในโครงการหนึ่งที่อาจารย์อภิชัยดูแล นั่นคือ ทุนมนุษย์กับผลิตภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรมไทย (2557) ผมได้พัฒนาโจทย์วิจัยเรื่องครู จนกระทั่งคลอดออกมาเป็นโครงการวิจัยชื่อ “ครุเศรษฐศาสตร์” ซึ่งผมเป็นคนตั้งชื่อเอง ต่อมาภายหลังก็กลายเป็นหนังสือในชื่อเดียวกัน

ที่ใช้ชื่อนี้เพราะเราอยากสะท้อนแนวทางการศึกษาแบบเศรษฐศาสตร์ ซึ่งน่าจะนำไปใช้อธิบายเรื่องครูได้มากขึ้น และส่วนหนึ่งที่นำแนวคิดเศรษฐศาสตร์มาวิเคราะห์เรื่องครู ก็เพราะเศรษฐศาสตร์เองเป็นสาขาที่มุ่งวิเคราะห์เชิงระบบ โดยมีสมมติฐานว่าถ้าเราจัดระบบได้ดี คนไม่เก่งก็เป็นคนเก่งได้ และในทางกลับกัน ถ้าระบบไม่ดีก็จะทำให้คนเก่งกลายเป็นคนไม่เก่งได้เช่นเดียวกัน

 

 

ถ้ามองปัญหาครู ผ่านแว่นตาเศรษฐศาสตร์ เราจะเห็นอะไร 

การศึกษาแบบครุเศรษฐศาสตร์ใช้แนวคิดเรื่องเศรษฐศาสตร์ทรัพยากรมนุษย์ (Human Resources Economics) และเศรษฐศาสตร์แรงงาน (Labor Economics) มาศึกษาเรื่องครู

ในภาคเอกชนใช้แนวคิด HR มาพัฒนาคนและองค์กรอย่างเป็นระบบกันเต็มบ้านเต็มเมือง แต่เมื่อมาดูที่ระบบครู กลับไม่มีการใช้ HR เข้ามาแตะเลย เราศึกษาระบบ HR ของครู ผ่านกรอบใหญ่ที่เรียกว่า R2R นั่นคือ การวิเคราะห์ระบบบุคลากรครูตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกครูจนถึงเกษียณ ว่าระบบครูใช้การได้แค่ไหน

ในส่วนของแนวคิดเศรษฐศาสตร์แรงงาน เราจะเริ่มศึกษาจากด้านอุปทานของแรงงาน นั่นคือ การผลิตครู เช่น ครูมีจำนวนเท่าไร ค่าจ้างและผลตอบแทนเป็นอย่างไร เมื่อเวลาผ่านไป เงินเดือนของเขาเพิ่มขึ้นหรือลดลงเมื่อเทียบกับอาชีพอื่น รวมถึงความแตกต่างภายในอาชีพของเขาเอง เช่น ครูอนุบาล ครูประถม ครูมัธยม ครูมหาวิทยาลัย มีความแตกต่างกันหรือไม่

จากนั้นเราจะศึกษาจากด้านอุปสงค์แรงงาน หรือการจ้างแรงงานครู ประเด็นที่สนใจ เช่น โรงเรียนมีความสามารถในการจ้างครูหรือไม่ เขาเลือกครูเองได้ไหม โรงเรียนใช้งานครูอย่างเหมาะสม ให้ทำงานที่ควรจะทำหรือไม่ มีวิธีการพัฒนาครูอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ นำไปสู่คุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้นหรือไม่

จากนั้นเราก็นำทั้งด้านอุปทานและอุปสงค์มาเชื่อมกัน เพื่อดูเรื่องประสิทธิผลว่า สุดท้ายแล้วคุณภาพของครูเป็นอย่างไร และอะไรที่ทำให้ครูเก่งหรือไม่เก่ง

คำว่า ‘ครูเก่ง’ นี่ก็มีปัญหาเยอะ เป็นหนึ่งในโจทย์วิจัยที่คิดมากว่าครูเก่งจะวัดอย่างไร เพราะในเมืองไทย เวลาเราไปวัดคุณภาพครู เรามักจะพิจารณาว่า หนึ่ง ครูดีต้องจบครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์ สอง ครูดีต้องจบปริญญาโท คำถามคือแค่ 2 เงื่อนไขนี้โอเคไหม

จริงๆ แล้ว ครูที่มีคุณภาพอาจมีสภาพเรียนไม่จบอะไรเลย แต่เป็นคนใส่ใจเด็ก รักเด็ก ทุ่มเทให้เด็ก ซึ่งตรงนี้เราวัดเชิงปริมาณไม่ได้

 

อาจารย์เจอข้อค้นพบสำคัญอะไรในงานศึกษา ครุเศรษฐศาสตร์ บ้าง 

ก่อนอื่นขอบอกว่าเราใช้หลายแนวทางในการศึกษา ใช้ข้อมูลจาก 2-3 แหล่ง ซึ่งอาจจะเก่าไปสักหน่อย ประมาณเกือบสิบปี แต่ก็ยืนยันได้ว่าสามารถสะท้อนภาพปัจจุบันได้อยู่ เพราะเราใช้วิธีการศึกษาแบบ cross-sectional ที่รวบรวมมาจากข้อมูล 3 ลักษณะ นั่นคือ ข้อมูลของครู โรงเรียน และนักเรียน ความแตกต่างของข้อมูลจากตอนนั้นถึงตอนนี้ยังเหมือนเดิม เปลี่ยนแปลงไม่มาก เพราะฉะนั้นต่อให้นำข้อมูลใหม่มาวิเคราะห์ ผลก็จะคล้ายๆ กัน

เบื้องต้นเราพบว่า ภายใน 10 ปี (นับจาก 2557) ครึ่งหนึ่งของครูในระบบจะเกษียณอายุ เราจะมองเรื่องนี้เป็นโอกาสก็ได้ ถ้าเราทำระบบให้ดี ก็จะช่วยให้ครูรุ่นใหม่สามารถพัฒนาการศึกษาได้

งานวิจัยนี้มีข้อค้นพบ (finding) ทั้งหมด 10 ข้อ ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาของระบบครูได้ทั้งสิ้น

ข้อค้นพบแรก ในเรื่องของการผลิตครู คณะครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์ที่ทำหน้าที่ผลิตครูยังมีปัญหา mismatch ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ เรามีความต้องการรับครูที่จำกัด ไม่สามารถรับครูได้ทั้งหมด แต่เราผลิตครูออกมาเยอะมาก นั่นคือ อุปทานมากกว่าอุปสงค์ สวนทางกับภาครัฐตอนนี้ที่กำลังเน้นการลดขนาดภาครัฐลงหรือ Downsizing เพราะฉะนั้นความต้องการรับครูจะยิ่งลดลงไปอีก เรียกว่าอุปทานสูงขึ้น แต่อุปสงค์ต่ำลงเรื่อยๆ

เราพบด้วยว่าเหตุที่เด็กเรียนครูจำนวนมาก เพียงเพราะอยากรีบจบปริญญาตรีแล้วไปทำอย่างอื่น ไม่ได้มีความตั้งใจอยากเป็นครูตั้งแต่แรก นี่คือความสูญเสียของเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง

ผมมีข้อเสนอแนะว่า ควรมีการประมาณการกำลังครูให้ถูกต้องว่า ในแต่ละพื้นที่ต้องการครูกี่คน และสาขาที่ต้องการคืออะไรบ้าง เมื่อประมาณการเสร็จก็ต้อง feed มาที่คณะครุศาสตร์ และคณะครุศาสตร์ก็ต้องเปิดการเรียนการสอนเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการดังกล่าวด้วย

ในส่วนข้อค้นพบที่สอง คือ สาขาที่ผลิตมาไม่สอดคล้อง ส่วนใหญ่เราผลิตครูพละ แต่เราต้องการครูคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะเพื่อการมุ่งสู่ไทยแลนด์ 4.0 เด็กต้องเก่งวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์

อย่างไรก็ตาม ขนาดโรงเรียนที่ดีๆ เรายังเห็นเอาครูภาษาไทยมาสอนคณิตศาสตร์อยู่เลย ด้วยสถานการณ์แบบนี้ เด็กเราเลยไม่เก่งคณิตศาสตร์เพราะครูที่สอนไม่ได้จบคณิตศาสตร์ แล้วเราจะไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างไร

ผมจึงมีข้อเสนอแนะว่าต้องมีการจัดสรรทุนการศึกษาแบบเต็มจำนวนในสาขาที่ขาดแคลน เช่น ถ้าเด็กระดับปริญญาตรีเป็นครูสอนวิทยาศาสตร์ก็ต้องมีการอุดหนุน (subsidize) ไป นอกจากนี้ ควรจ่ายค่าตอบแทนให้สูงขึ้นสำหรับครูที่ทำงานในสาขาที่ขาดแคลน

ข้อค้นพบที่สาม ระบบการจัดสรรทรัพยากรครูไม่เท่าเทียมกัน โรงเรียนขนาดใหญ่ในเขตเมืองมีจำนวนครูมากกว่าโรงเรียนขนาดเล็ก อันนี้เป็นคอมมอนเซนส์ เรารู้ตลอดว่าโรงเรียนขนาดเล็กขาดแคลนครู ทำให้เด็กต้องเผชิญปัญหาเหลื่อมล้ำสูง ครูคนเดียวต้องสอนหลายวิชาหลายชั้นเรียน เลยทำให้คุณภาพการสอนไม่ดี

ข้อเสนอแนะของผมคือ ให้จัดสรรครูไปสู่โรงเรียนเล็กๆ ที่ขาดแคลนมากขึ้น โดยกำหนดค่าตอบแทนให้สูงขึ้น ตัวอย่างเช่น ในประเทศจีนจะบังคับว่า ถ้าเป็นครูชนบทก็ต้องไปอยู่ในโรงเรียนเล็กอย่างต่ำ 2-3 ปีจึงจะได้รับการเลื่อนขั้น วิธีนี้ก็ช่วยทำให้โรงเรียนเล็กได้คนเก่งไป เมื่อมาดูที่บริบทไทยตอนนี้ หมอมีระบบ แต่ครูไม่มีระบบใดๆ

นอกจากนี้ ในเรื่องการเรียนการสอนของคณะครุศาสตร์ในปัจจุบัน เขาแบ่งสอนกันเป็นช่วงชั้น เช่น ปฐมวัย ประถมศึกษา ผมคิดว่าในอนาคตอาจจะต้องผลิตครูเพื่อจะสามารถสอนได้ทุกวิชา เหมือนอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เขาสอนได้ทุกวิชา ซึ่งอาจไม่ได้ชำนาญทั้งหมด แต่ก็สามารถเรียนรู้ที่จะสอนกันได้

ต่อไปอาจมีภาควิชาที่ผลิตครูเพื่อจะสอนได้ทุกวิชา ทั้งนี้ เราก็ต้องกำหนดให้มีแรงจูงใจ (incentive) มากขึ้น สำหรับเด็กที่จะมาเป็นครูแบบนี้ ผมว่าน่าจะดึงดูดคนรุ่นใหม่ได้ระดับหนึ่งเหมือนกัน

นอกจากนั้น โรงเรียนควรเป็นคนเลือกครูเองได้ โดยไม่ต้องให้ส่วนกลางคอยกำกับสั่งการ เช่น ถ้าพบข้าราชการเกษียณอายุ หรือบุคลากรอาวุโสที่มีความรู้ความสามารถ แต่อาจไม่มีใบประกอบวิชาชีพครู ก็น่าจะผ่อนผันให้คนเหล่านี้มีโอกาสเป็นครูได้ วิธีนี้ยังช่วยส่งเสริมการทำงานในสังคมสูงวัย (Aging Society) อีกด้วย ทำให้คนแก่มีงานทำและมีชุมชน

ข้อค้นพบที่สี่ ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างครูผู้สอน เช่น ครูโรงเรียนรัฐบาลได้ผลตอบแทนมากกว่าครูโรงเรียนเอกชน เพราะฉะนั้น ความใฝ่ฝันของครูโรงเรียนเอกชนก็คืออยากไปเป็นครูโรงเรียนรัฐบาล เพราะได้ผลตอบแทนดีกว่าทั้งด้านตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน

เมื่อเปรียบเทียบผลตอบแทนครูไทยระหว่างช่วงชั้นต่างๆ ครูอนุบาลกลับได้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ส่วนครูมัธยมได้ผลตอบแทนสูงที่สุด ซึ่งตรงกันข้ามกับต่างประเทศที่ครูอนุบาลจะได้ผลตอบแทนสูง เพราะเขามองว่าการเรียนในระดับชั้นอนุบาลมีบทบาทสำคัญในการสร้างและพัฒนาเด็กให้มีคุณภาพ รองลงมาคือประถมศึกษา ตามด้วยมัธยมศึกษา

ยกตัวอย่างเช่นในประเทศเกาหลีใต้ ในเรื่องการให้ผลตอบแทน เขากำหนดไว้ก่อนเลยว่าครูอนุบาลกับประถมสำคัญมาก ต้องจบจากคณะครุศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชั้นนำประมาณ 10 แห่งเท่านั้น แต่ระดับมัธยม เขาไม่ซีเรียสมาก พูดง่ายๆ คือเขามองเลยว่าต้องเอาคนเก่งมาเป็นครู การเป็นครูบาอาจารย์ที่นั่นได้รับการเคารพนับถือเหมือนเป็นหมอในบ้านเรา เราต้องส่งเสริมให้คนมีค่านิยมอยากเป็นครูกันมากขึ้น เหมือนเกาหลีใต้

 

 

ข้อค้นพบที่ห้า ปัญหาเรื่องการประกันคุณภาพครูผู้สอน นั่นคือ ใบประกอบวิชาชีพครูไม่ได้มีการจำแนกตามระดับชั้นและสาขาตามความชำนาญ ประกอบกับในการต่ออายุใบประกอบวิชาชีพครูที่ทุกคนต้องสอบทุก 5 ปี ก็ทำได้ง่ายมาก เนื่องจากไม่ได้เอาผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนมาประเมินด้วย คือไม่ได้เอา performance ของครูมาคิด การสอบต่ออายุจึงเหมือนจัดเพื่อให้สอบผ่านๆ ไป และในความเป็นจริงข้อสอบก็รั่วกันแทบทุกปีอยู่แล้ว รวมถึงตัวข้อสอบเองก็ยังไม่มีมาตรฐานที่ดีพอที่จะวัดคุณภาพครูได้

ปัญหาคือการวัดคุณภาพครูบ้านเราไม่มีความศักดิ์สิทธิ์

ข้อเสนอแนะก็คือ ควรจัดสอบใบประกอบวิชาชีพครู จำแนกตามระดับชั้นการศึกษาและสาขาวิชาด้วย และสำหรับการต่ออายุใบประกอบวิชาชีพครู เราควรเอา performance อย่างเช่น ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนมาประเมินด้วย

ข้อค้นพบที่หก การจัดการบุคลากรครู เราใช้หลักที่เรียกว่า R2R มาพิจารณา ซึ่งประกอบไปด้วย Recruit, Re-train, Reward และ Retire

Recruit หรือการรับครู ปกติเราสมัครงานที่ไหน บริษัทจะเลือกเราตามสเปคที่ต้องการ แต่สำหรับโรงเรียน เขาไม่มีสิทธิเลือกครู ผลที่ตามมาคือโรงเรียนได้ครูที่ไม่เหมาะสมตามความต้องการ

Re-train หรือการฝึกอบรมครู ปกติเวลาโรงเรียนขาดแคลนครูแบบไหน โดยเฉพาะถ้าครูขาดทักษะที่จำเป็นต่างๆ ก็ควรจัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะที่ขาดแคลนนั้น แต่ระบบที่เป็นอยู่ ส่วนกลางรวมศูนย์ในการจัดการ โรงเรียนมีหน้าที่ต้องทำตาม เวลาจัดอบรมโดยมากก็แค่เอาครูมานั่งในห้อง แล้วก็กลับ ด้วยระบบแบบนี้ มันจะไปเกิดการพัฒนาทักษะของครูได้อย่างไร

Reward หรือผลตอบแทน เช่น เงินเดือน  เราไม่ได้ใช้ระบบ pay for performance หรือระบบการจ่ายค่าตอบแทนตามผลงาน ไม่ดูว่าครูสามารถสร้างผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนได้จริงไหม ส่วนใหญ่เน้นให้ครูต้องทำเอกสารจำนวนมาก โดยไม่สนว่าจริงๆ แล้ว ครูสามารถสร้างให้เด็กเก่งขึ้นได้หรือไม่ เพียงแค่ครูทำเอกสาร ทำงานวิชาการได้ครบตามที่กำหนด ครูก็สามารถผ่านการประเมินได้แล้ว

ดังนั้นการแก้ไขระบบการประเมินครู จึงต้องเน้นการวัดผลงานมากขึ้น แต่ก็มีคำถามตามมาว่าเราจะใช้อะไรวัดผลงานของครู  โดยส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยกับการเอาคะแนนหรือเกรดมาเป็นตัวชี้วัดเสียทีเดียวนัก เพราะมีตัวแปรอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องอีกมาก สะท้อนความเก่งของครูและนักเรียนได้ไม่ครบถ้วน

ในประเทศอินเดีย เขาไม่ได้เอาเกรดของนักเรียนมาวัดผลงานครู เพราะครูโดดสอนเยอะ ทำให้เด็กไม่ได้เรียน แต่บางครั้งเด็กก็ทำคะแนนได้ดี จนเสมือนว่าคะแนนได้ไปสะท้อนความสามารถของครู ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ เด็กเขาดิ้นรนเอง ด้วยเหตุนี้เขาเลยเอากล้องมาติด และพบว่าการโดดสอนลดลง ครูใกล้ชิดกับเด็กมากขึ้น

หรือบางทีอาจจะใช้การประเมินผลความรู้ความเข้าใจของเด็ก หรือความชื่นชอบของเด็กต่อครู เช่น วิชานี้ยาก เกรดแย่ แต่ว่าเด็กชอบครู พ่อแม่ผู้ปกครองแฮปปี้กับครูคนนี้ เป็นต้น

นอกจากนี้ การวัดผลงานครูก็ไม่ควรดูแค่ความเก่งของนักเรียนเท่านั้น แต่ต้องพิจารณามิติอื่นๆ ด้วย งานวิจัยของ รศ.ดร.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ เรื่อง การศึกษาความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์และการมีจิตสาธารณะเพื่อพัฒนาศักยภาพการเป็นคนดีคนเก่งของนักเรียนไทย (2559) ที่ให้ความสำคัญในความสามารถด้านอื่นๆ ของเด็ก รวมถึงการมีจิตสาธารณะ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ เรายังไม่มีระบบประเมินที่ดีพอ

Retire หรือการเกษียณ ปัจจุบันเรามีโครงการเกษียณก่อนกำหนด (Early Retire) ค่อนข้างมาก ซึ่งน่าเสียดาย เพราะทำให้ครูดีๆ ออกจากระบบไปเยอะมาก เหตุผลหลักๆ ที่ทำให้ครูรีบออกจากระบบหรือปลดเกษียณตัวเองไวๆ ก็คงเพราะตัวระบบเอง อีกส่วนหนึ่งก็คือครูส่วนใหญ่มีงานพิเศษมาก การออกมาทำงานพิเศษน่าจะได้เงินเยอะกว่า

 

อะไรคือทางออกของการแก้ปัญหาด้านระบบบุคลากรครู

ควรปรับตั้งแต่กระบวนการรับครูเข้าทำงาน ควรมีการสอบที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกเขตพื้นที่การศึกษา รวมถึงเปิดโอกาสให้โรงเรียนสามารถเลือกครูได้เอง

ในส่วนของการฝึกอบรม ควรมีการจัดงบประมาณให้แต่ละโรงเรียน โดยให้โรงเรียนมีอิสระในการใช้งบประมาณดังกล่าวเพื่อจัดหลักสูตรตามที่ตัวเองต้องการ

เราควรใช้ระบบการเลื่อนขั้นเงินเดือนหรือวิทยฐานะแบบการจ่ายตามผลงาน แน่นอนว่าต้องเอาคะแนนสอบของเด็กมาคิดด้วย แต่ไม่ใช่ตัวชี้วัดเดียว แต่ละโรงเรียนควรมีการทดลอง เพื่อหาตัวชี้วัดผลงานที่เหมาะสมตามแต่ละบริบท

นอกจากนั้น สำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก ควรมีแนวทางเฉพาะในการจัดการครู

 

 

เคยได้ยินมาว่า ครูสมัยนี้ทำงานกันหนักมาก จนไม่มีเวลาทำอย่างอื่น จริงหรือไม่

จริงที่สุด ในข้อค้นพบที่เจ็ด เราพบว่า ระบบครูสร้างภาระงานให้ครูเยอะมาก ครูต้องทำงานอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสอนโดยตรง ตั้งแต่การประกันคุณภาพการศึกษา การพาเด็กไปสอบแข่งขัน การเข้าฝึกอบรม และที่สำคัญคืองานธุรการหรืองานเอกสารต่างๆ ของโรงเรียน งานทั้งหมดนี้ได้ดึงครูออกจากห้องเรียน จนครูไม่มีเวลามากพอที่จะทุ่มเทให้กับการสอนได้อย่างเต็มที่

ทางแก้หลักๆ ของปัญหาข้อนี้คือ ภาครัฐต้องมีการจัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนแต่ละแห่งจ้างเจ้าหน้าที่ธุรการมากขึ้น เพื่อช่วยครูทำงานด้านเอกสารต่างๆ ส่วนการฝึกอบรมครู ก็ควรจัดระหว่างปิดภาคเรียน จะได้ไม่กระทบเวลาสอนของครู เรื่องงานด้านประกันคุณภาพการศึกษา ควรกำหนดให้มีองค์กรหนึ่งทำหน้าที่นี้ไปเลย อาจจะจัดตั้งเป็นองค์กรกลางจากภายนอกโรงเรียน จะได้ไม่ต้องให้ครูวิ่งทำเอกสารเอง

ข้อค้นพบที่แปด แนวทางการเรียนการสอนยังยึดตัวครูเป็นศูนย์กลางมากเกินไป ทั้งที่ความจริงต้องเน้นที่ตัวเด็กหรือ student-centered มากขึ้นได้แล้ว เหตุผลหลักอาจเกิดจากครูเองก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร หรือครูที่สอนมายาวนาน ไม่อยากเปลี่ยนแปลง

ฉะนั้น การยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง การปรับบทบาทให้ครูรับบทโค้ช การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นตัวนำ อาจจะง่ายสำหรับครูรุ่นใหม่ แต่สำหรับครูรุ่นเก่า อาจจะปรับตัวได้ยาก

ในประเทศสิงคโปร์ บางวัน นักเรียนไม่ต้องไปเรียน เพราะเขาบอกว่า การตื่นเช้าไปเรียนจะทำให้เด็กเครียดมาก ดังนั้นให้เรียนที่บ้าน และส่งการบ้านมา การส่งการบ้านก็ทำผ่านระบบของโรงเรียน ระบบโรงเรียนของไทยเอื้อให้ทำแบบนี้ได้ไหม ก็รู้อยู่ว่าไม่ได้ เพราะระบบไม่วิ่งตาม

ฉะนั้น สำหรับทางแก้ เราเลยต้องปลดล็อคระบบให้มีความยืดหยุ่น จากนั้นจึงค่อยปรับแนวทางการสอนของครู ถ้าระบบเอื้อ ก็จะเห็นครูที่สอนแบบใช้นักเรียนเป็นศูนย์กลางมากขึ้น ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมากขึ้น

ข้อค้นพบที่เก้า งานวิจัยพบว่า ครูมี passion หรือมีไฟ ค่อนข้างต่ำ ตอนแรกเมื่อจบครูมาใหม่ๆ ก็ยังมีไฟมีเป้าหมายอยากจะทำอะไรที่มีคุณค่า แต่อยู่ในระบบไปนานๆ ไฟก็มอดหายไป อาจจะเป็นเพราะระบบที่แย่ หรือตัวงานที่ไม่เวิร์ค

จริงๆ การสร้าง passion ตามศาสตร์ HR ก็มีอยู่แล้ว เขาบอกว่างานที่สามารถสร้าง passion ได้ต้องคำนึงถึง 4 องค์ประกอบ

องค์ประกอบแรก คืองานที่ทำได้ใช้ทักษะที่หลากหลาย (multi-skill) เป็นงานที่ท้าทายตัวเองอยู่ตลอดไหม คนเป็นดาราได้ทำงานหลากหลายมาก ทั้งถ่ายหนัง เล่น MV บ้าง ถ่ายโฆษณาบ้าง ใช้หลายทักษะ และท้าทายตัวเองอยู่ตลอดเวลา แต่คนเป็นครู ต้องสอนหนังสือวิชาเดิมๆ ซึ่งน่าเบื่อมาก

องค์ประกอบที่สอง คือการมีส่วนร่วมในการทำงาน (team engagement) ลักษณะงานต้องมีการทำงานเป็นทีม ได้เจอผู้คน ได้มีส่วนร่วมกับองค์กร คำถามคือ ในการเป็นครู เรามีการสร้างทีมกันไหม พัฒนาการเรียนการสอนด้วยกันไหม ครูมีอำนาจในการกำหนดหลักสูตรร่วมกันได้ไหม ก็ไม่มี

องค์ประกอบที่สาม คือการมีอำนาจ มีอิสระ หรือมีสิทธิที่จะทำอะไรได้ด้วยตัวเอง (autonomy) ในบ้านเรา กระทรวงศึกษาธิการกำหนดมาหมดแล้วว่าครูต้องทำอะไรบ้าง ครูต้องสอนตามนี้ สอนอันนี้ไม่ได้ ต้องประเมินผลอย่างนี้ ครูไม่มี autonomy เลย

องค์ประกอบที่สี่ คือการได้รับผลสะท้อนกลับ (feedback) ครูต้องรู้ว่าสิ่งทำลงไปจะมี feedback กลับมาอย่างไร คนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร ปกติในระบบครูก็จะมีรางวัลยกย่องครูอยู่แล้ว แต่ว่านั่นก็ไม่ใช่ feedback ที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาครู สิ่งที่สำคัญคือ feedback จากนักเรียนต่างหาก

ข้อค้นพบที่สิบ การวัดคุณภาพการศึกษาผ่านคะแนนสอบอาจจะไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เราต้องพิจารณาอย่างอื่นด้วย เด็กต้องทั้งเก่งและดี ดังนั้น ครูจึงต้องมีทักษะการสอนเพื่อให้เด็กมีจิตสาธารณะด้วย

แต่จากงานศึกษา เราพบเพียงว่าคุณวุฒิของครู ความเชี่ยวชาญของครู และประสบการณ์ของครู มีผลกับคะแนนสอบของเด็ก แต่ไม่รู้ว่าคุณภาพหรือคุณลักษณะของครูที่ดีที่จะทำให้เด็กมีจิตสาธารณะที่ดีต้องเป็นครูแบบไหนกันแน่ นี่คือสิ่งที่เรายังต้องการคำตอบ

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยของอาจารย์ปังปอนด์ชี้ว่า เด็กเก่งอาจจะเป็นเด็กที่เห็นแก่ตัวก็ได้ ฉะนั้น จึงทำให้คิดต่อว่า คุณลักษณะของครูที่จะทำให้เด็กมีจิตสาธารณะ อาจจะแตกต่างจากคุณลักษณะของครูที่ทำให้เด็กเก่ง

เราจึงเสนอในเบื้องต้นว่า ครูที่จะสอนให้เด็กเป็นคนดีมีจิตสาธารณะน่าจะลักษณะ 3 ประการ

ประการที่หนึ่ง ครูต้องมีความรู้เกี่ยวกับจิตใจของเด็กอย่างลึกซึ้ง อย่าลืมว่า เด็กที่มาจากแต่ละช่วงอายุ สภาพแวดล้อม และลักษณะการเลี้ยงดู จะมี performance ในห้องเรียนแตกต่างกัน เราต้องมีครูที่เข้าใจเด็กจริงๆ แต่การอบรมครูไม่เคยสอนเรื่องพวกนี้

ประการที่สอง ครูต้องมีความรู้เกี่ยวกับการอบรมสั่งสอนเด็ก ไม่ใช่เอาแต่ลงโทษอย่างเดียว เอะอะก็หักคะแนน เด็กบางคนต้องใช้วิธีให้รางวัลจึงสำเร็จ สำหรับไทย ระบบลงโทษของเราก็ไม่ค่อยเวิร์ค ระบบให้รางวัลของเราก็ทำกันผิดๆ

ประการที่สาม ครูต้องเป็นผู้ที่เปลี่ยนวิธีการได้ รู้ว่าสอนแบบนี้ไม่เวิร์ค ก็ปรับเปลี่ยนวิธีการสอนให้เหมาะสมตามสถานการณ์

 

ถ้าต้องการยกระดับระบบครูหรือระบบการศึกษาไทย เพื่อให้สอดรับกับ Thailand 4.0 เราพอมีวิธีอะไรบ้าง 

ผมได้มีโอกาสไปพูดที่คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่พอดี ผมตั้งคำถามในห้องเสวนา ให้เขาตอบ โดยคำถามเป็นแบบ O-NET ไม่มีคำตอบแน่นอน นั่นคือ ถ้าต้องการปฏิรูปการศึกษา ข้อใดควรทำก่อน ข้อหนึ่ง ปฏิรูปหลักสูตร ให้การสอนสร้างสรรค์ขึ้น ข้อสอง ปฏิรูปครูผู้สอน แก้ที่ตัวครู ข้อสาม ปฏิรูปวิธีการสอนปฏิรูปหลักสูตร หลักสูตรจะต้องก้าวหน้าทันสมัย ไม่ใช่มานั่งเรียนอะไรไม่รู้ และข้อสี่ ปฏิรูปการประเมินผลนักเรียน

หลายคนตอบว่าปฏิรูปหลักสูตร แต่ข้อเสนอแนะของผมคือข้อสี่ นั่นคือ การปฏิรูปวิธีการประเมิน ตอนนี้ระบบประเมินแบบสอบ สอบ และสอบ มีเยอะมาก สอบมิดเทอม สอบไฟนอล สอบ O-NET สอบเต็มไปหมด ประเด็นคือว่าเราสอบแล้วเอาไปทำอะไรต่อ ถามว่าการสอบมีประโยชน์อะไรบ้าง รัฐบาลเอาการสอบไปใช้อะไรไหม อย่างมากก็แค่บอกว่าเด็กเราได้คะแนนเท่านั้นเท่านี้ เรียนเก่งหรือเรียนอ่อน แล้วครอบครัวมีความสุขกับการสอบไหม

การสอบเป็นเรื่องของยุคไดโนเสาร์ เป็นยุค 1.0 ที่ต้องการคนขยัน คนจำเก่งๆ ไม่ใช่ยุคของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการคนสมาร์ท สุดท้ายแล้ว การสอบจะไปจำกัดความคิดสร้างสรรค์ของคน เพราะมีคำตอบมาให้แล้ว

เพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ข้อเสนอของผมก็คืออยากให้รัฐบาลยกเลิกการสอบทั้งหมด ถ้าจะสอบก็ต้องสร้างสรรค์กว่านี้ เช่น ไม่ต้องมาสอบ ก. ข. ค. ง. ในประเทศญี่ปุ่น เด็กอายุ 10 ขวบไม่มีการสอบเลย เลื่อนชั้นโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องคิดมาก เพราะเด็กเล็กต้องพัฒนาด้านอื่น แทนที่จะเอาเวลามาติวสอบ ให้เขาไปเล่นไปทำอะไรก็แล้วแต่ นั่นคือหน้าที่ของเด็ก หน้าที่ของเด็กเล็กคือเล่น เด็กโตจะสอบก็ค่อยว่ากันไป

พอเลิกและลดการสอบ เราก็ปฏิรูปหลักสูตรต่อได้ เขียนหลักสูตรใหม่ ผมสามารถวัดคุณแบบไอทีก็ได้ สามารถวัดคุณแบบความคิดสร้างสรรค์ คุณตอบอะไรก็ได้ หลักสูตรสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทันทีเมื่อไม่มีการสอบแบบเดิมๆ มากดไว้

สำหรับการปฏิรูปครู พอหลักสูตรเปลี่ยนแปลง ครูก็เปลี่ยนแปลงได้ เราสามารถเอาคนอย่างโอนิสึกะมาเป็นครู หรือเอานักเรียนมาเป็นครูได้ มันสร้างสรรค์มาก คุณสามารถเอาช่างไม้หรือชาวนามาเป็นครูในบางวิชาก็ยังได้

เริ่มต้นจากการลดการสอบ แค่นี้ เราก็ปฏิรูปต่อได้อีกหลายอย่าง ครูแบบ Thailand 4.0 ก็จะเกิดขึ้นตามมาเอง