สัมภาษณ์: ประภาพร ขอไพบูลย์ “ทางออกของประเทศไทยเรื่องความมั่นคงทางอาหารและความปลอดภัยของอาหาร”

Knowledge Farm – ฟาร์มรู้สู่สังคม ชวน  รศ.สพญ.ดร.ประภาพร ขอไพบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายเกษตร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สนทนาถึงผลงานวิจัยด้านความมั่นคงของอาหารและความปลอดภัยของอาหาร

อะไรคือโจทย์สำคัญในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร อะไรคือคำตอบที่ได้จากงานวิจัยของ สกว. และก้าวต่อไปของงานวิจัยในประเด็นสำคัญนี้คืออะไร

มาคุยฟาร์มรู้กับอาจารย์ประภาพรกันครับ

 

ศ.สพญ.ดร.ประภาพร ขอไพบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายเกษตร สกว.

 

ในช่วงที่ผ่านมา ยุทธศาสตร์การทำงานวิจัยด้านความมั่นคงทางอาหารเดินไปในทิศทางไหน และผลงานหลักๆ ที่ได้ทำแล้วมีอะไรบ้าง  

“ความมั่นคงทางอาหาร” (Food Security) เป็นคำที่ใหญ่มาก ถ้าไปดูทฤษฎีจะครอบคลุมหลายประเด็นตั้งแต่การเข้าถึงอาหาร (accessibility) ปริมาณอาหารที่มีอยู่ (availability) ความยั่งยืนของอาหาร (stability) จนถึงการนำอาหารไปใช้ประโยชน์ (utility) เพราะฉะนั้น จึงมีหลายประเด็นที่ต้องทำวิจัย ในระยะที่ผ่านมา เราได้พยายามออกแบบตัวชี้วัด (index) เกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารในแต่ละด้าน ซึ่งก็คืบหน้าไปมาก

คุณหมอยุคล ลิ้มแหลมทอง ประธานคณะกรรมการกำกับงานวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงทางอาหาร เคยบอกว่าสถานการณ์อาหารของประเทศไทยมีความมั่นคง เพราะว่าเราผลิตอาหารส่วนเกิน (surplus) ได้มาก แต่ถ้ามองในแง่อื่น โดยเฉพาะเรื่องความเสี่ยงเชิงพื้นที่ แต่ละพื้นที่มีความเสี่ยงไม่เหมือนกัน ที่ผ่านมาเราเลยกำหนดว่าต้องทำวิจัยในเกี่ยวกับความเสี่ยงของความมั่นคงทางอาหารในแต่ละพื้นที่

 

หมายถึงเราต้องลงไปทำงานวิจัยในระดับพื้นที่เพื่อให้เข้าใจความเสี่ยงที่แตกต่างกันไป? 

เราจะลงพื้นที่ไปศึกษาวิจัยเรื่องความมั่นคงทางอาหารในแต่ละท้องถิ่น โดยจะเอาตัวชี้วัดความมั่นคงทางอาหารไปวิเคราะห์ จากนั้นก็จะดูว่าแต่ละพื้นที่ขาดเหลืออะไรบ้าง มีหลายพื้นที่ที่ทำงานวิจัยกับเรา แล้วนำผลการศึกษาไปปรับเป็นกฎระเบียบ เช่น พื้นที่ในจังหวัดนครราชสีมา

รูปแบบการทำงานหลักๆ ของเราคือ เข้าไปหาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามแต่ละพื้นที่ ร่วมกันพัฒนาโจทย์วิจัยขึ้นมา ผลลัพธ์ที่เราคาดหวังก็คือ เมื่อเสร็จงานวิจัยในแต่พื้นที่ ท้องถิ่นจะต้องรู้ว่าพื้นที่ของตนมีความมั่นคงทางอาหารหรือไม่ และอยู่ในประเด็นไหน ซึ่งจะทำให้ท้องถิ่นสามารถเอางานวิจัยของเราไปใช้ต่อได้ง่าย

 

อยากให้ลองยกตัวอย่างการทำงานจริงในระดับพื้นที่ให้ฟัง

พื้นที่ที่เราจับตาและติดตามอย่างต่อเนื่องมีอยู่ 2 พื้นที่

พื้นที่แรกคือ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย งานวิจัยในพื้นที่นี้นำโดย เอกรินทร์ พึ่งประชา และคณะ น่าสนใจตรงที่ว่า ลักษณะของพื้นที่ด่านซ้ายจะมีความคล้ายคลึงกับจังหวัดน่าน นั่นคือ มีเนินมีเขามาก ปัญหาที่พบเจอคือป่าที่อยู่บนเขาบนเนินกำลังหายไป เนื่องจากมีการปลูกข้าวโพดแทนข้าวมากขึ้น

ด่านซ้ายมีลุ่มน้ำสำคัญ นั่นคือ ลุ่มน้ำหมัน แต่ปัญหาคือ ข้างบนเขาหรือเนินเปลี่ยนวิถีการปลูกมาเป็นข้าวโพดมากขึ้น ซึ่งเราก็เข้าใจว่าคนที่อยู่บนพื้นที่ข้างบนปลูกข้าวไม่ได้แล้ว จึงต้องปลูกอย่างอื่น โดยเฉพาะข้าวโพด ทีนี้พอเขาปลูกอย่างอื่นก็จะทำลายป่า ทำให้ร่องน้ำที่เป็นน้ำซับหายไป ต้นน้ำเปลี่ยนแปลง ส่งผลกระทบกับคนข้างล่าง เพราะน้ำลงมาน้อยลง สถานการณ์ทางอาหารจึงเริ่มไม่ปลอดภัย กลายเป็นปัญหาร่วมกันทั้งชุมชน

อย่างไรก็ตาม มีนักวิจัยด้านมานุษยวิทยาโบราณคดีคนหนึ่งเคยมาศึกษาชนเผ่าที่นั่นมาก่อน แล้วก็เห็นวัฒนธรรมเยอะ เมื่อเขามีโอกาสได้ทำงานกับเรา ก็เห็นว่าพื้นที่นี้มีวัฒนธรรมดั้งเดิมหลายอย่างที่เอื้อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารในแง่การปกป้องทรัพยากรในการผลิต เขามองว่าน่าจะใช้วัฒนธรรมเหล่านี้มาช่วยในการสร้างความมั่นคงทางอาหารได้

นักวิจัยของเราจึงไปจับมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาล ชุมชน และโรงเรียนในพื้นที่ รวมตัวเป็นเครือข่ายทางสังคม (social network) เพื่อช่วยกันรื้อฟื้นวัฒนธรรมเก่าๆ และนำมาช่วยจัดการทรัพยากรธรรมชาติและอาหาร อย่างเช่น การนำผีตาโขนมาแสดงและอบรมให้คนในพื้นที่ช่วยกันรักษาป่าผ่านความเชื่อดั้งเดิมที่เน้นสร้างสมดุลระหว่างป่าและคน หรือการส่งเสริมภูมิปัญญาการกินอาหารของคนด่านซ้าย เพราะส่วนใหญ่เขาจะเก็บผักจากป่า ตอนนี้ เราได้เอาทั้งวัฒนธรรมการกินอาหารของคนด่านซ้ายกับผีตาโขนมาจัดเป็นประเพณี จัดเป็นกิจกรรมทุกปี ซึ่งทำให้เกิดการกระตุ้น ชุมชนเกิดการเรียนรู้และเห็นว่าจริงๆ ชีวิตเขาต้องพึ่งกับทรัพยากรธรรมชาติพวกนี้ ถ้าไปทำลายป่า ความมั่นคงทางอาหารก็ไม่มี

 

ถ้าต้องการความมั่นคงทางอาหาร เราคงต้องสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับคนในพื้นที่ควบคู่ไปด้วยใช่ไหม

ใช่ อย่างที่ด่านซ้าย ไม่ใช่ว่าเราเอาวัฒนธรรมมาจับกับเรื่องความมั่นคงทางอาหารแล้วจบ ยังมีมิติอื่นที่เราต้องให้ความสนใจ โดยเฉพาะเรื่องปากท้องของชาวบ้าน อย่าลืมว่าชาวบ้านก็มีลูกที่จะต้องส่งไปโรงเรียน ดังนั้น ทีมวิจัยของเราก็ต้องลงไปหาว่าความเปราะบางในเชิงรายได้อยู่ตรงไหน เพื่อที่จะได้ไปเสริมไปอุดได้

อย่างชาวบ้านในพื้นที่ด่านซ้าย สมมติว่าเขาปลูกข้าวโพด 60 ไร่บนเขา และมีรายได้อยู่ประมาณ 6-7 หมื่นบาท ซึ่งน้อยอยู่ดี เราก็ไปวิเคราะห์ดูว่าเทคโนโลยีตัวไหนเหมาะสมที่จะใช้ในพื้นที่บ้าง แล้วจึงเสนอกับชาวบ้านในพื้นที่ว่าเรามีเทคโนโลยีจากฝ่ายเกษตรที่เรียกว่า “ปุ๋ยสั่งตัด” สุดท้ายชาวบ้านในเครือข่ายวิจัยของเราซึ่งก็ปลูกข้าวโพดนั่นแหละได้ลองใช้ดู เราให้เขาลองใช้ปุ๋ยสั่งตัดดูสัก 5 ไร่ แล้วเปรียบเทียบกับส่วนที่เหลือว่าผลลัพธ์ที่ได้เป็นอย่างไร ปรากฏว่าเขาสามารถลดต้นทุนการเพาะปลูกไปได้ 30% รวมถึงผลผลิตก็เพิ่มขึ้น เมื่อปากท้องเขาอิ่ม ชาวบ้านก็เริ่มเชื่อในเทคโนโลยีเรา

เมื่อเห็นว่าคนในพื้นที่เอาด้วยกับเรามากขึ้น เราก็เริ่มเสนอว่าให้ชาวบ้านกันพื้นที่ของตนที่สามารถรองรับน้ำได้สักครอบครัวละหนึ่งไร่ แล้วมาปลูกพริกกัน โดยพริกที่เราส่งเสริมให้ปลูกคือ “พริกปลอดภัย” เราเองได้ช่วยเชื่อมโยงตลาด เครือข่ายในพื้นที่ที่ปลูกพริกก็ทำหน้าที่จัดส่งไปกรุงเทพฯ จากนั้นทางกรุงเทพฯ ก็ได้จัดส่งไปต่างประเทศ ทำไปทำมา ปรากฏว่าแค่ขายรอบแรก เราสามารถขายได้เป็นแสนบาท พอดีกับตอนนี้ ข้าวโพดราคาถูก ชาวบ้านเลยหันมาปลูกพริกกันมากขึ้น

เมื่อเขาเห็นว่าปลูกพริกแล้วได้รายได้ดี ก็เลยหันมาปลูกกันมากขึ้น ตอนนี้ก็มีความเป็นไปได้ว่าเขาจะคืนพื้นที่ป่ามากขึ้น แต่เนื่องจากเป็นที่ดินของเขาเอง การตัดสินใจเลยขึ้นอยู่กับชาวบ้าน เราจึงร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านวนเกษตรลงไปสำรวจไปดูว่า จะปลูกอะไรดีให้เขามีรายเพิ่มอีก โดยอาจเป็นการส่งเสริมให้ปลูกต้นไม้ใหญ่ เพราะส่วนหนึ่งจะได้ป่าคืนมาด้วย นี่คือสิ่งที่เราทำในพื้นที่ด่านซ้าย

 

ปุ๋ยสั่งตัด” นี่เป็นผลงานวิจัยของ สกว. เลยใช่ไหม 

ใช่ค่ะ มาจากงานวิจัยเรื่อง การส่งเสริมเทคโนโลยี ปุ๋ยสั่งตัด เพื่อสร้างทางเลือกให้เกษตร อ.ด่านซ้าย จ.เลย (2558) โดย เอกรินทร์ พึ่งประชา และคณะ ปุ๋ยชนิดนี้จะมีลักษณะพิเศษตรงที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้สำหรับดินและพืชเฉพาะพื้นที่ ซึ่งแตกต่างจากปุ๋ยทั่วไปที่ถูกผลิตขึ้นมาแบบ “เสื้อโหล” ซึ่งอาจใช้ได้ไม่ตรงตามแต่ละพื้นที่ รัฐบาลพยายามที่จะใช้ปุ๋ยสั่งตัดมานาน แต่ด้วยรัฐบาลเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาบ่อย จึงทำให้ไม่มีการใช้อย่างจริงจัง

อย่างไรก็ดี โชคดีที่เรามีชุมชนที่เขาสนใจติดตามอย่างต่อเนื่องอยู่ เราก็เลยเอาชุมชนหนึ่งมาสอนอีกชุมชนหนึ่งให้ใช้ปุ๋ยชนิดนี้กัน โดยในตอนแรกจะชวนนักวิชาการมาคิดค้นออกแบบการใช้ปุ๋ยในแง่เทคนิค แต่เมื่อถึงขั้นตอนปฏิบัติ ชุมชนเขาจะรู้ว่าต้องทำอย่างไร ก็เลยใช้เกษตรกรเข้าร่วมในการทำงานด้วย

 

 

แล้วอีกพื้นที่หนึ่ง? 

อีกพื้นที่หนึ่งคือ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ แต่เดิมแม่แตงเป็นฐานผลิตอาหารของคนเชียงใหม่ เพราะเต็มไปด้วยหุบเขาและลุ่มน้ำ เราเห็นแล้วว่าต่อไปความเป็นเมืองจะขยายตัวรุกล้ำเข้ามา ในพื้นที่เริ่มมีการปลูกข้าวกันมาก ซึ่งปลูกแต่ข้าว ไม่ทำอย่างอื่น เราเห็นความเปราะบางของที่นั่น

เครือข่ายนักวิจัยของเราจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยไปทำวิจัยในพื้นที่ จนได้ข้อมูลที่มีประโยชน์มากชุดหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพื้นที่นี้เหมาะจะปลูกอะไร ลุ่มน้ำมีสภาพแบบไหน ตอนนี้ปลูกอะไรกันอยู่ และควรจะปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง เราต้องนำความรู้พวกนี้ไปปรับประยุกต์ในพื้นที่ แต่ทีนี้การปรับเปลี่ยนจะเกิดขึ้นไม่ได้ นอกจากคนในพื้นที่จะเห็นประโยชน์ที่จะได้เสียก่อน

เราเลยต้องเอาเทคโนโลยีลงไปทดลองเพื่อทำให้เขารู้ว่าจริงๆ แล้วปริมาณน้ำในพื้นที่มีมากแค่ไหน เขาควรใช้ระบบการปลูกพืชชนิดไหนถึงจะได้ผลตอบแทนมาก เราเริ่มด้วยการลงไปทำวิจัยกับชาวบ้าน จนกระทั่งชาวบ้านเริ่มเข้าใจมากขึ้น ซึ่งต่อไปเราจะลงไปวิเคราะห์อย่างละเอียดว่า พื้นที่แบบนี้ในช่วงเวลาไหนควรจะปลูกอะไรเขาถึงจะได้เงิน

เห็นไหมว่าการทำวิจัยเรื่องความมั่นคงทางอาหารนั้นต้องสร้างอาชีพสร้างเงินให้กับชาวบ้านได้ด้วย ถามว่าคนมีข้าวกินแล้วไม่มีเงินได้ไหม คำตอบก็คือ เดี๋ยวนี้ไม่ได้แล้ว

 

แล้วงานวิจัยเรื่องความปลอดภัยของอาหารมีเรื่องราวที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง 

งานวิจัยเรื่องความปลอดภัยของอาหารเป็นผลมาจากการทำข้อตกลงร่วมมือกับองค์การอาหารและยา (อย.) เอาไว้ โดยโจทย์ของงานคือ อย. ต้องการให้เราไปดูสารเร่งเนื้อแดงหรือที่เขาเรียกว่า “แรคโตพามีน” ในเนื้อหมูว่าจะมีความปลอดภัยมากน้อยอย่างไร เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดนโยบายด้านการค้าของเรา ซึ่งจะส่งผลต่อนโยบายทางการค้าของสหรัฐอเมริกาที่ตอนนี้เขาพยายามกดดันให้เราใช้สารเร่งเนื้อแดงในหมูมากขึ้น ผู้ดูงานวิจัยนี้ก็คือ ผศ.ดร.เวณิกา เบ็ญจพงษ์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล

งานฝ่ายเราไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดทำข้อมูลผลดีผลเสียของแรคโตพามีนเท่านั้น แต่ต้องมีบทบาทในการออกแบบกระบวนการเจรจาต่อรองอีกด้วย เพราะต้องใช้ความละเอียดอ่อนมาก เรารู้เลยว่าสหรัฐอเมริกามาชนเราเรื่องนี้ เราก็มองเห็นว่าสหรัฐอเมริกามีเป้าหมายสองอย่าง นอกจากเพื่อค้าขายสารตัวนี้แล้ว เขาจะเอาเนื้อหมูบางชิ้นส่วนที่ส่งออกไม่ได้มาทุ่มตลาดที่เรา อุตสาหกรรมหมูบ้านเราก็จะพัง เพราะว่าอุตสาหกรรมหมูในเมืองไทยเรากินทุกส่วน แม้กระทั่งคากิเราก็กินหมด แต่ทางอเมริกา เขากินไม่ได้ทุกชิ้นส่วน เขาเห็นว่าหมูไม่อร่อย เพราะเขาใช้สารเร่งเนื้อแดง

สำหรับการออกแบบการเจรจา เราต้องคำนึงว่าถ้าเขามาแบบนี้ เราจะเจรจาด้วยเรื่องอะไรดี จะดูแง่มุมอะไรในการเจรจา เขาใช้ประเด็นอะไรในการเจรจา พร้อมๆ กับเราก็ต้องรู้ว่าผู้ที่ต้องไปเจรจา เช่น กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อย. กรมปศุสัตว์ ต้องการข้อมูลอะไรบ้าง

 

ตอนนี้การเจรจาเป็นอย่างไร เริ่มขึ้นแล้วหรือยัง

การเจรจาจะดำเนินไปเรื่อยๆ ตอนนี้เนื่องจากทรัมป์มาเป็นประธานาธิบดี เราก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะเล่นไหม เพราะว่าถ้าเจอก่อนหน้านี้ ในยุคโอบามา เขาจะมีกรอบการค้าที่เรียกว่า TPP หรือ Trans Pacific Partnership ซึ่งจะเล่นเราแน่ๆ แต่ตอนนี้เรากำลังรอดูนโยบายของทรัมป์ว่าจะทำหรือไม่ทำเรื่องนี้ ถ้าไม่เอาก็ต้องดูว่าเขาจะเอาแบบไหน แต่แน่นอนว่าทรัมป์จะต้องเห็นถึงผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาอยู่แล้ว

ที่สำคัญ เราอยากให้มีการสื่อสารงานวิจัยออกไป เพื่อให้ผู้บริโภคซึ่งก็คือพวกเราเองนี่แหละมีความรู้ว่าถ้ามีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างอยู่ในเนื้อหมูจะกินไหม เพราะว่าบ้านเรานิยมกินเครื่องในกันเยอะ ลองคิดดูถ้าสหรัฐอเมริกาเอาเครื่องในจากบ้านเขามาขาย เราจะเจอสารเร่งเนื้อแดงมากขนาดไหน

 

งานวิจัยเรื่องอื่นๆ ที่ทำร่วมกับ อย. มีอะไรน่าสนใจอีกบ้าง 

สำหรับงานวิจัยที่ร่วมทำกับ อย. อื่นๆ ก็จะมีโครงการวิจัยเรื่อง “การประเมินความเสี่ยงทางจุลินทรีย์ของน้ำในพื้นที่ประสบอุทกภัยในเขตภาคกลางของประเทศไทย” (2555) ซึ่งเราเล่นเรื่องนี้กับการประปา โดยเฉพาะการประปาส่วนภูมิภาค งานวิจัยนี้มีที่มาจากคราวน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 เราไม่แน่ใจว่าน้ำในระบบประปาจะปนเปื้อนสารมากน้อยแค่ไหน เราเลยลงไปทำประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับน้ำประปา (risk assessment) ซึ่งจริงๆ แล้วองค์การอนามัยโลกให้เราทำประเมินความเสี่ยงเพื่อประกันว่าน้ำประปาที่จะบริโภคมีคุณสมบัติตามมาตรฐานน้ำดื่มอยู่แล้ว

เราได้นักประเมินความเสี่ยงมือหนึ่ง นั่นคือ รศ.น.สพ.ดร.ศุภชัย เนื้อนวลสุวรรณ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักเรียนทุนอานันทมหิดล มาเป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ทีมวิจัยได้ทำงานร่วมกับการประปาจนกระทั่งสามารถทำยืนยันความเสี่ยง (risk proof) ได้ และพัฒนาปรับปรุงระบบน้ำ จนกระทั่งถ้าตอนนี้ถามว่าปลอดภัยไหม ต้องบอกว่าปลอดภัยมาก

ตอนนี้ เราเลยอยากทำงานต่อกับการประปาส่วนภูมิภาคบ้าง เพราะมองเห็นถึงปัญหาของระบบประปาของภูมิภาค การประปาภูมิภาคจริงๆ แล้วขึ้นกับเมืองใหญ่ๆ ส่วนประปาของเมืองเล็กๆ ขึ้นอยู่กับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. ซึ่งมีมาตรฐานไม่เหมือนกัน ตรงนี้เราก็จะเข้าไปพัฒนาน้ำประปาส่วนภูมิภาค

 

มีการทำวิจัยเรื่องความปลอดภัยของอาหารในมิติการนำเข้าส่งออกบ้างไหม

ตอนนี้เรากำลังเล่นเรื่องของการแก้ไขระบบการนำเข้าส่งออกอาหาร ตอนนี้มีมาตรฐานการนำเข้าส่งออกอาหารระหว่างประเทศที่ใช้เป็นการสากลอยู่ตัวหนึ่ง นั่นคือ CODEX (มาจาก Codex Alimentarius Austriacus) ทีนี้ CODEX จะมีไกด์ไลน์เยอะแยะ เราเลยมาทำวิจัย เพื่อดูว่าของกฎระเบียบของบ้านเราเดินตามเขาไหม ถ้าหากยังไม่เป็นไปตามนั้น เราต้องดูอะไรบ้าง และวิจัยเพื่อสร้างระบบการควบคุมอาหารระดับชาติ (national food control system) ขึ้นมา

ระบบดังกล่าวจะถูกสร้างขึ้นมาให้มีมาตรฐานเท่ากับระบบในประเทศสากล (equivalence) และถ้าเราทำได้เท่าเทียมกับสากลจริงๆ สมมติส่งออกหรือนำเข้า เราก็ไม่จำเป็นต้องสุ่มตรวจ เพราะมันดีมาตั้งแต่ระบบแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรับรอง การออกกฎหมายที่โปร่งใส การบังคับใช้กฎหมาย ส่วนการทำ equivalence ส่วนมากจะทำเป็นข้อตกลงทวีภาคี (bilateral  agreement) ระหว่างประเทศ A และประเทศ B ทำทีเดียวหลายประเทศแบบอาเซียนไม่ได้

การทำ equivalence ในอนาคต จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างแน่นอน

 

 

อาจารย์ดูแลฝ่ายเกษตรของ สกว. มีงานวิจัยเด่นๆ ที่น่าสนใจอะไรบ้าง

เรื่อง “เกษตรแม่นยำ”  ต้องเริ่มจากว่าการทำเกษตรในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ทั้งเรื่องการเพาะปลูกและปัญหา ดังนั้น หากเราช่วยเกษตรกรให้ทราบว่า สถานการณ์ของเขาในปัจจุบันและสิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไปเป็นอย่างไรอย่างแม่นยำ ก็จะช่วยได้มาก เพราะจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต นี่คือไอเดียของเราว่าจะทำให้เกษตรกรทำการเกษตรอย่างแม่นยำได้อย่างไร

งานของเราเริ่มมาหนึ่งปีแล้ว มีอาจารย์มหาวิทยาลัยเก่งๆ หลายท่านร่วมทีมและลงไปในพื้นที่ที่ทำเกษตรเพื่อไปสร้างระบบเซ็นเซอร์ที่จะทำให้รู้ว่าแต่ละช่วงอากาศเป็นอย่างไร การเปลี่ยนแปลงของพืชเป็นอย่างไร มี response อย่างไร นอกจากนี้ ยังได้ลงไปเก็บตัวอย่างมาสังเคราะห์เพิ่มเติมอีกว่าถ้าวัดดิน น้ำ อากาศแบบนี้ จะมีระบบอะไรเข้ามาจัดการ โดยใช้ Big Data ที่เก็บได้ผ่านเซ็นเซอร์ให้เป็นประโยชน์ ผลลัพธ์ต่างๆ ที่วัดได้จะขึ้นไปอยู่บนแอพพลิเคชันเกษตรแม่นยำ

ที่ดูกันไว้ในเบื้องต้นคือ เมื่อเกษตรกรอยากทำเกษตรแม่นยำ ก็จะต้องซื้อตัวเซ็นเซอร์ซึ่งจะมีแอพพลิเคชั่นแถมมาด้วย เกษตรกรก็จะทราบได้ง่ายๆ ว่าสวนของเขาขาดอะไร กำลังอยู่ในสถานะไหน หรือจะมีปัญหาอะไรผ่านแอพพลิเคชัน ในทางกลับกัน แอพพลิเคชันก็จะคำนวณว่าจากสภาพสวนที่เป็นอยู่นั้นต้องมีการเพิ่มเติมส่วนไหนบ้าง ระบบจะคิดมาให้อย่างแม่นยำ

 

ต่างประเทศเขาทำเกษตรแม่นยำมากันก่อนไหม

วิธีนี้ต่างประเทศทำกันมาก เรากำลังอยู่ในขั้นทดลองเอง ตอนนี้เริ่มเอาเซ็นเซอร์ไปลงแล้วเก็บ data เพื่อรัน model เท่านั้น

เราเคยทดลองทำเกษตรแม่นยำที่สวนลำไย บ้านแพ้ว จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นสวนลำไยที่อร่อยมาก แต่ช่วงกรกฎาคมถึงสิงหาคมที่ผ่านมามีลมร้อนมาจากอันดามันพัดเข้ามา ดอกลำไยนี่ร่วงกันเต็ม เราจึงต้องลงไปพิสูจน์ ตอนนี้ให้ทางทีมวิจัยที่มหาวิทยาลัยมหิดลเข้าไปในพื้นที่ ใช้เซ็นเซอร์เป็นตัวจับ เรื่องความแม่นยำนี้เราให้ความสำคัญกับสวนผลไม้มาก เพราะมีมูลค่า

 

เรื่องการใช้สารเคมีในภาคเกษตรมีประเด็นอะไรที่น่าสนใจจากงานวิจัย

งานวิจัยอีกเรื่องที่เราให้ความสนใจมากคือ การใช้สารเคมีในพืช ตอนนี้มีสวนส้มที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งแต่เดิมมี 500,000 ไร่ แต่ตอนนี้เหลือ 20,000 ไร่ เพราะเกิดโรค เขาจึงฉีดยาปฏิชีวนะ (antibiotics) เข้าไป เราจึงอยากพิสูจน์ว่าสารเหล่านี้มีตกค้างในส้มมากน้อยเพียงใด เราเห็นว่าต้องมีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้ จึงได้เชิญอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยลาดกระบังมาลองใช้จุลินทรีย์ในดินและพัฒนาวิธีเพื่อให้รักษาโรคได้ แต่ก็ต้องมีการจัดการแปลงที่ดีด้วย

เราพยายามเปลี่ยนส้มที่เน้นฉีดสารให้เป็นส้มอินทรีย์ (ส้มธรรมชาติ) ตอนนี้ทำไป 3 เดือน ปรากฏว่าส้มดีขึ้นมาก ถ้าทำต่อไป และสำเร็จ ก็จะเป็นการแสดงให้เห็นว่าไม่ต้องใช้สารเคมีก็ได้ ต่อไปเราจะไปทำกับทุเรียนด้วย โดยพยายามจะใช้สารเคมีให้น้อยที่สุด

สิ่งต่างๆ ที่เราทำอยู่น่าจะเป็นทางออกของประเทศไทยได้ไม่น้อย