เมื่อนึกถึงคำว่า “ความมั่นคง” หลายคนคงมองเห็นภาพทหาร กองทัพ และอาวุธยุทโธปกรณ์ แต่นั่นไม่ใช่ “ความมั่นคง” ในความหมายที่ Knowledge Farm – ฟาร์มรู้สู่สังคม อยากชวน รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยด้านการเมืองภาคประชาชน และนักเคลื่อนไหวทางสังคมด้านสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน มานั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน
การพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ได้วัดกันที่ความเข้มแข็งของกองทัพ หากวัดกันที่ความอยู่ดีมีสุขของประชาชนทั่วทั้งสังคม “ความมั่นคง” ที่เราสนใจ จึงเป็นเรื่อง “ความมั่นคงทางอาหาร” ไม่ใช่ “ความมั่นคงทางการทหาร”
“ความมั่นคงทางอาหาร” คืออะไร สังคมจะไปถึงได้อย่างไร ความมั่นคงทางอาหารเชื่อมโยงกับการปฏิรูปภาคเกษตร สิทธิชุมชนในการดูแลจัดการทรัพยากร ความหลากหลายของเมล็ดพันธุ์ รวมถึงการแข่งขันและการผูกขาดในธุรกิจการเกษตรอย่างไร
“ประชาธิปไตย” เกี่ยวพันกับ “ความมั่นคงทางอาหาร” อย่างไร
มาล้อมวงคุย “ฟาร์มรู้” กับผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คนปัจจุบัน อดีตรองผู้อำนวยการฝ่ายชุมชนและสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) คนนี้กันครับ
…………………
“ความมั่นคงทางอาหาร” คืออะไร ความรู้จากงานวิจัยต่างๆ เสนอคำตอบอะไรให้เราว่า เราจะไปถึงสังคมที่มีความมั่นคงทางอาหารได้อย่างไร
นิยามของ “ความมั่นคงทางอาหาร” ที่ยอมรับร่วมกันคือ การมีอาหารในปริมาณที่เพียงพอสำหรับทุกคนเข้าถึงได้ มีระบบการกระจายอาหารที่เป็นธรรม ช่วงหลังก็มีการพูดถึงเรื่องโภชนาการ แล้วขยายไปสู่การมีคุณค่าทางโภชนาการ ดีต่อสุขภาพ รวมถึงเรื่องของความยั่งยืน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
ถึงกระนั้น ผมคิดว่าเวลาเราพูดถึงความมั่นคงทางอาหารในแบบที่เราอยากให้เป็น มันอาจจะนำไปสู่ข้อถกเถียงหรือข้อขัดแย้งในตัวเองหลายอย่าง เช่น เราอยากได้ระบบการกระจายอาหารที่ทั่วถึงและเพียงพอ และดีต่อโภชนาการด้วย แต่ในความเป็นจริง ทั้งสองเป้าหมายบรรลุพร้อมกันได้ยาก อย่างแถวบ้านผม พี่น้องจะบอกว่าต้องปลูกแบบใช้สารเคมี ถึงจะได้ผลผลิตเยอะและเพียงพอต่อความต้องการ แต่มันไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพ
อีกประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงสำคัญคือ ใครคือผู้ผลิต เช่น อาหารถูกผลิตโดยเกษตรกรรายย่อยหรือผลิตโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ คำถามนี้นำมาสู่ข้อถกเถียงต่อเรื่องของความเป็นธรรม การกระจาย หรือการเข้าถึงทรัพยากร
ส่วนทิศทางด้านความมั่นคงทางอาหารของไทย เรามุ่งเน้นเรื่องประสิทธิภาพเป็นหลัก แต่มีคำถามเรื่องความเป็นธรรมเต็มไปหมด เช่น ถ้าผลิตโดยเกษตรกรรายย่อย ระบบการกระจายเป็นอย่างไร การเข้าถึงทรัพยากรเป็นอย่างไร ปัญหาเรื่องที่ดิน ปัญหาเรื่องระบบตลาด เราจะกินอาหารแบบที่อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เรียกว่า “แดกด่วน” หรือกินอาหารหลากหลาย อย่างเช่น ข้าว เรากินพวกข้าวถุง เรารู้ไหมว่ามันมาจากไหน มีหัวนอนปลายตีนไหม ทั้งหมดมันเกี่ยวข้องกันในเชิงโครงสร้าง นโยบาย และทิศทางของประเทศด้วยว่า เราจะพากันไปทางไหน
ถ้าเราจะมีอาหารดีๆ มีคุณค่าทางโภชนาการ ปลอดภัย และคำนึงถึงความเป็นธรรมของผู้คนที่ผลิตอาหาร เราจำเป็นจะต้องวิเคราะห์ให้ถึงภาพใหญ่ในระดับชาติด้วย
ถ้าใช้หลักที่อาจารย์เล่ามาเป็นเกณฑ์ในการประเมิน สถานการณ์ด้านความมั่นคงทางอาหารในประเทศไทยขณะนี้เป็นอย่างไร
ในแง่ของการผลิตอาหาร เราก้าวเข้าสู่การผลิตแบบที่เรียกว่า “พืชเชิงเดี่ยว” มาตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่หนึ่ง เรื่องข้าวนี่ชัดเจนมาก เราเปลี่ยนมาเป็นข้าว กข (กรมการข้าว) ทำลายระบบการผลิตแบบเดิม เข้าไปทดแทนและทำลายข้าวพันธุ์พื้นเมือง ส่วนในช่วงหลังๆ ทิศทางการผลิตอาหารก็ยิ่งชัดเจน นั่นคือเราส่งเสริมการผลิตโดยบริษัทการเกษตรขนาดใหญ่มากขึ้น เพราะมีประสิทธิภาพในการผลิตมากกว่า
แต่นอกจากเรื่องประสิทธิภาพ ผมคิดว่ายังมีหลายโจทย์ที่เราต้องตอบให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเป็นธรรม ความหลากหลาย หรือคุณค่าทางโภชนาการต่างๆ
ปัจจุบันไม่รู้จะไปหาข้าวอร่อยๆ กินได้ที่ไหนแล้ว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานว่ามีการปลูกข้าวอินทรีย์จำนวน 66,000 ไร่ จากนาข้าวทั้งประเทศ 70 ล้านไร่ ข้าวส่วนใหญ่จึงเป็นข้าวเคมี ใช้ปุ๋ยเคมี ใช้สารเคมี ใช้ยาฆ่าแมลง นี่คือระบบที่เรากำลังอยู่ในปัจจุบัน เราเดินมาในทิศทางนี้โดยตลอด
ถึงกระนั้น ผมเห็นฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่นของ สกว. เข้าไปทำงานกับชาวบ้านเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ถึงแม้ว่างานที่ทำอยู่จะเป็นงานเล็กๆ แต่ผมคิดว่างานวิจัยเหล่านั้นสะท้อนให้เห็นว่ามีระบบการผลิตอาหารที่หลากหลายหลงเหลืออยู่สังคมไทย กล่าวคือ ผลิตโดยเกษตรกรรายย่อย ผลิตอย่างสอดคล้องกับระบบนิเวศของท้องถิ่น การทำนาแบบที่ชาวบ้านทำอยู่แล้วในหลายพื้นที่คือความมั่นคงทางอาหารที่สำคัญ เป็นการผลิตที่หลังพิงอยู่กับระบบนิเวศหรือฐานทรัพยากร การผลิตอาหารมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมและชุมชน ระบบเช่นนี้ทำให้เรามีอาหารดีๆ กิน เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ
ในแง่ของทิศทางของการผลิต ก็ต้องมาดูว่าเราจะเลือกเดินไปในทิศทางแบบใด ระหว่างการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่หรือเกษตรรายใหญ่ กับการส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยซึ่งพึ่งพิงอยู่กับฐานทรัพยากร ที่ผ่านมาเรามัวแต่เฝ้าหวังเฝ้ารอว่าถ้ามีรายได้เยอะๆ ก็จะไปซื้ออาหารดีๆ มากิน วิธีคิดแบบนี้น่าจะผิดในปัจจุบัน ถึงถูกก็ไม่น่าจะถูกทั้งหมด เพราะในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าเราอาจมีเงินเยอะ แต่หาซื้อของดีๆ กินได้ยากเต็มที นี่คือระบบที่มันเป็นอยู่
แล้วเราควรจะทำอย่างไรต่อไป งานวิจัยของ สกว. พยายามชี้ให้เห็นสองมิติ มิติแรกคือ การหาบทเรียนด้านความมั่นคงทางอาหารจากเครือข่ายชาวบ้านในระดับพื้นที่ อีกมิติก็คือ การชี้ให้เห็นถึงเงื่อนไขในเชิงนโยบายเพื่อบรรลุความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืน
ถ้าเราอยากจะบรรลุความมั่นคงทางอาหารให้ได้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ละฝ่าย เช่น รัฐ เกษตรกร หรือคนในชุมชนควรทำอะไร อย่างไร อะไรคือทางออกเพื่อการแก้ปัญหาความมั่นคงทางอาหารของไทย
งานวิจัยของ สกว. หลายชิ้นได้ชี้ให้เห็นถึงสภาพปัญหาของไทย เช่น เรื่องข้าว หากยังอยู่ในโครงสร้างการผลิตแบบเก่าก็รอดยาก ปัจจุบันข้าวมีราคาถูกมาก จำเป็นต้องมีการปรับตัว เราต้องทำความเข้าใจการปรับตัวของชาวนาและเกษตรกร เงื่อนไขในเชิงนโยบายในปัจจุบันมีปัญหาอะไร นโยบายของรัฐเกาไม่ค่อยถูกที่คันอย่างไร งานวิจัยชี้ว่า ทรัพยากรที่รัฐลงไป มีแต่แผน แต่การปฏิบัติจริงมีปัญหามาก เพราะฉะนั้น การกำกับตรวจสอบนโยบายของรัฐเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการหนุนเสริมในเชิงนโยบายที่ดี
หากมองต่ำลงมา จากระดับนโยบายสู่เรื่องนวัตกรรม ซึ่งมีหลายมิติ ชาวนามักบอกว่าปลูกข้าวกันมาเป็นร้อยปี แต่ปลูกแล้วได้แต่ข้าวที่มีคุณภาพต่ำไปขาย พอจะให้มาปรับมาปลูกข้าวอินทรีย์ที่มีคุณภาพดีกว่า ก็ใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ เพราะต้องใช้ความรู้ด้านเทคโนโลยีต่างๆ ถึงกระนั้น ทีมวิจัย สกว. ก็มีความพยายามในการสร้างนวัตกรรมอยู่ โดยส่งทีมไปเรียนรู้ร่วมกับชาวบ้าน ที่เรียกว่า “เครือข่ายช่างชาวนา” คิดค้นนวัตกรรมร่วมกับชาวนา เป็นนวัตกรรมที่ไม่ได้เกิดจากนักเทคนิคหรือวิศวกร
งานวิจัย สกว. ของทีมอาจารย์อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันชาวนาเปลี่ยนมาเป็นผู้ประกอบการแล้ว ในแง่ของการจัดการในฐานะผู้ประกอบการ มีความรู้หลายอย่างที่ชาวนายังไม่มี เช่น เทคนิคการบริหารจัดการ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น เพราะฉะนั้น มันต้องการการหนุนเสริมทั้งในระดับนโยบาย นวัตกรรม หรือเทคนิค เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยเข้าใจระบบการผลิตและกระจายสินค้า สร้างระบบใหม่มารองรับการผลิตและการกระจายที่มีคุณภาพได้ ตลอดจนการปรับความสัมพันธ์ระหว่างคนกินและคนปลูกด้วย การทำงานความรู้กับผู้บริโภคก็เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าคนกินยังกินข้าวแบบไม่มีหัวนอนปลายตีน ก็ยากที่จะขยายตลาดได้
การสร้างความมั่นคงทางอาหารแยกไม่ออกกับการปฏิรูปภาคเกษตร อะไรคือ “คำถามที่ใช่” ในเรื่องการปฏิรูปภาคเกษตรให้ยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่องระบบข้าว และงานวิจัยของ สกว. เสนอคำตอบอะไร
ถ้ามองภาพใหญ่ ณ วันนี้เราอยู่ในโครงสร้างการผลิตแบบเก่าที่ไม่ยั่งยืน ผลิตข้าวคุณภาพต่ำ ใช้ปุ๋ยเคมี ใช้ยาฆ่าแมลง ส่งออกก็ลำบาก ที่พูดแบบนี้ไม่ได้แปลว่าจะให้เลิกการผลิตแบบนี้ไปทั้งหมด มันยาก เพราะเราผลิตข้าวทั้งหมด 38 ล้านตัน ตอนนี้อาจลดลงเหลือ 32-33 ล้านตัน ขณะที่เราบริโภคข้าวกันเองในประเทศประมาณ 10 ล้านตัน นั่นแปลว่า ข้าวคุณภาพต่ำคงต้องผลิตต่อไป ถึงเราจะผลิตข้าวดีๆ ก็กินไม่หมด ไม่งั้นต้องกินข้าววันละเก้ามื้อถึงจะหมด (หัวเราะ) ในแง่ของการปรับเปลี่ยน ควรมีนโยบายการหนุนเสริม แต่นโยบายที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น การจำนำยุ้งฉาง กลับไม่ได้คำนึงถึงการปรับเปลี่ยนในระยะยาว
ถ้าจะไปให้ไกลกว่านี้ นโยบายควรเป็นอย่างไร
ควรเป็นนโยบายที่หนุนเสริมให้มีการปรับเปลี่ยนมาปลูกข้าวที่มีคุณภาพดี เช่น การรับจำนำข้าวอินทรีย์ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้แก่พี่น้องเกษตรกรหันมาปลูกข้าวอินทรีย์มากขึ้น แต่นโยบายนี้ก็ไม่เคยอยู่ในสายตาของรัฐบาลไหนๆ เลย
หรือนโยบายที่หนุนเสริมให้มีการปรับเปลี่ยนออกจากนาเคมี ลดพื้นที่หรือลดปริมาณของนาเคมีลง เช่น การใช้พืชหลังนาหรือปุ๋ยพืชสด หรือให้ชาวนาพักทำนา เช่น จากทำนาปีละ 3 ครั้งเหลือปีละ 1-2 ครั้ง แล้วให้รัฐช่วยอุดหนุน ระบบอุดหนุนไม่ควรเป็นการอุดหนุนแบบที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเต็มไปด้วยปัญหาและความโกลาหล
ดูเหมือนว่านโยบายหนุนเสริมข้าวคุณภาพดีที่มีความหลากหลายจะมีน้อยเกินไป แล้วนอกจากการหนุนเสริมด้วยกลไกราคา เช่น เปลี่ยนมารับจำนำข้าวอินทรีย์แทน มีทางเลือกเชิงนโยบายอื่นอีกไหม
ผมยังนึกถึงการอุดหนุนเพื่อปรับเปลี่ยนจากนาเคมีเป็นนาอินทรีย์ ผมเคยเสนอว่าไม่ให้ชาวนาเผาฟาง แต่ใช้วิธีหมักฟาง แล้วให้ไปเลยไร่ละ 2,000 บาท ตอนเขานี้ให้ 2,000 บาท ฟรีๆ อยู่แล้ว เรียกว่าค่าเก็บเกี่ยว ทำความสะอาดข้าว และปรับปรุงคุณภาพข้าว แต่ถ้าเราสร้างเงื่อนไข เช่น ห้ามเผาฟาง เพิ่มเข้าไปถึงจะได้เงินช่วยเหลือ มันก็จะนำไปสู่การลดใช้ปุ๋ยหรือยาเคมีต่างๆ ได้ ความจริงยังคิดได้อีกมากมาย ถ้าคิด แล้วลงไปสู่ระดับปฏิบัติการ
แล้วเรื่องความหลากหลายของพันธุ์ข้าว แก้อย่างไรดี
เรื่องพันธุ์ข้าว เราเลือกทางข้าว กข ข้าวคุณภาพต่ำ มาตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรก เราทิ้งข้าวพันธุ์พื้นเมืองไปหมด ตอนนี้ในกลุ่มที่ผมทำงานด้วยที่คลองโยงก็พยายามนำข้าวพันธุ์พื้นเมืองกลับมา ตอนนี้ปลูกกันอยู่และพยายามจะขยาย แต่อย่างไรก็ดี มันต้องมีการปรับปรุงพันธุ์ เพราะข้าวพันธุ์พื้นเมืองมีปัญหามาก เช่น สูงท่วมหัว ปีหนึ่งปลูกได้แค่ครั้งเดียว ผลผลิตก็น้อย แต่มันกินอร่อย ทีนี้จะทำอย่างไรให้เหมือนข้าว กข คือ ปลูกได้ทั้งปี ต้นเตี้ย ผลผลิตมาก แต่ยังคงรสชาติ ความหอม ความนุ่มได้อยู่ สิ่งเหล่านี้ต้องการการหนุนเสริมเรื่องเทคโนโลยีและการปรับปรุงพันธุ์
ปัจจุบันทีมนักวิจัยของ สกว. ก็ทำงานร่วมกับชาวบ้านอยู่หลายเครือข่าย เราสร้างนักปรับปรุงพันธุ์ และข้าวพันธุ์ดีๆ มากมาย ตัวอย่างเช่น โรงเรียนชาวนาที่นครสวรรค์และยโสธร ซึ่งทำให้เราได้พันธุ์ข้าวเกิดขึ้นเยอะเลย
ผมเองก็มีพันธุ์ข้าวส่วนตัว ในอนาคตว่าจะประกาศอยู่ อาจจะตั้งชื่อว่านิลประภาสหรือชมพูประภาส (หัวเราะ) นี่คือสิ่งที่ชาวนาสามารถทำได้ อาจารย์ที่ทำงานด้านเทคนิคท่านหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า พันธุ์ข้าวพันธุ์หนึ่งที่หน่วยงานราชการทำต้องใช้เงินประมาณ 25 ล้านบาท และใช้เวลาเป็นสิบปี ส่วนของผม ทำเล่นๆ เริ่มจากไปเรียนผสมปรับปรุงพันธุ์ที่มูลนิธิข้าวขวัญ เครือข่ายเราใช้เงินน้อยมาก ใช้เวลาไม่นานเท่า
ทิศทางของการวิจัยความรู้ในเรื่องนี้ควรจะเป็นความรู้แบบที่ลงไปทำงานกับผู้คน และหาทางออกร่วมกัน เราอย่าไปคิดว่ามหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานจะมีความรู้มากกว่าชาวบ้าน แต่แน่นอนว่านักเทคนิค นักปรับปรุงพันธุ์ รู้เรื่องทางเทคนิคต่างๆ มาก เช่น เรื่องดีเอ็นเอ ซึ่งก็ช่วยเหลือพวกเราได้ ผมเองก็เอาข้าวมาให้เพื่อนอาจารย์ที่ภาควิชาพฤกษศาสตร์ช่วยวิเคราะห์ดีเอ็นเอ หาคุณค่าทางโภชนาการ ผมกับชาวบ้านจะได้นำไปโฆษณาสรรพคุณต่อ กลายเป็นว่า ตอนนี้เพื่อนผมคนนี้เลยเอาข้าวหอมนครชัยศรีของผมมาทำเป็นไอศกรีมขาย และก็ขายดิบขายดี แต่กว่าจะเกิดสิ่งเหล่านี้ เกิดการแปรรูปเป็นสินค้าได้ เราก็ต้องลงมาคุยกับชาวนา และมาช่วยชาวนาทำ ให้มันสอดคล้องกับการ “ด้น” ชีวิตของชาวนา
แต่ตอนนี้นโยบายของรัฐไม่ได้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวนา เหมือนเป็นเพลงคนละท่วงทำนอง จังหวะมันไม่เข้ากัน หรือเหมือนรัฐบาลกำลังเล่นงิ้ว แต่ชาวนาดันเล่นลิเก ส่วนเรื่องงานวิจัยก็สำคัญ จากประสบการณ์ที่อยู่ใน สกว. มาเกือบปี ก็เห็นงานวิจัยที่มาในทิศทางที่ถูกต้อง
พวกเราจะได้ชิมข้าวนิลประภาสหรือชมพูประภาสเมื่อไหร่
เมื่อวานเย็น ผมก็หนีไปเกี่ยวมา มีพอสมควร ไว้ผมหุงให้กิน แต่ทหารไม่ต้องมาช่วยเกี่ยวนะ (หัวเราะ)
เวลาเราพูดถึงความมั่นคงทางอาหาร ก็ต้องพูดถึงเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน เรื่องสิทธิของชุมชนในการดูแลจัดการทรัพยากรของตัวเอง ความมั่นคงไม่ได้หล่นลงมาจากฟ้า แต่มันมาจากผืนดิน มาจากคนที่อยู่บนผืนดินรอบข้างกัน จากการรวมตัวกันต่อรอง จากการดูแลตัวเอง ที่เกริ่นมาเพื่อจะชวนคุยว่า ประชาธิปไตยโยงกับเรื่องความมั่นคงทางอาหารอย่างไร
เวลาที่เราพูดถึงเรื่องทิศทางของการเกษตร หรือวิถีการผลิตแบบต่างๆ จะเป็นแบบนาแปลงใหญ่ แบบประชารัฐ หรือใครจะเป็นคนนำในการผลิต ทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องของการกระจายทรัพยากร รวมถึงงบประมาณที่ลงไปกับนโยบาย เวลาโครงการพัฒนาต่างๆ ของรัฐ ซึ่งมีอยู่มากพอสมควร เข้าไปในพื้นที่ ถ้าไม่มีระบบการต่อรองกัน งบประมาณก็มักจะกระจุกอยู่ที่ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และเครือข่ายกลุ่มเล็กๆ ปีนี้ประธานกลุ่มเกษตรกรแถวบ้านผมประกาศว่าจะไม่เสียภาษี เพราะเขารู้สึกว่าเงินที่ลงไป เขาไม่ได้ มันอยู่แต่ในกลุ่มก้อนชนชั้นนำของท้องถิ่น เขาบอกว่า เดี๋ยวนี้กำนันผู้ใหญ่บ้านอยู่ในตำแหน่งจนถึงอายุ 60 ปี พวกนี้ก็ไม่จำเป็นต้องง้อเรา แต่ถ้าต้องผ่านการเลือกตั้งสี่ปีครั้ง ยังไงก็ต้องง้อพวกเราบ้าง ถ้าไม่เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข หรือไม่ประนีประนอมกลุ่มต่างๆ ก็จะแพ้เลือกตั้ง ฉะนั้น การหย่อนบัตรเลือกตั้งจึงสำคัญมาก
นี่คือประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน เป็นกลไกที่สำคัญที่ทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงทรัพยากรหรือต่อรองกันได้
มากกว่าไปนั้น การรวมกลุ่มของเกษตรกรและชาวนาชาวไร่ เช่น ขบวนการชาวนา สมาคมชาวนา เป็นองค์กรที่ผมเรียกว่า “ผีกระสือ” คือมีแต่หัว ตัวไม่มี มีแต่ผู้นำแกนนำ แต่ไม่เชื่อมโยงกับพี่น้อง ไม่ได้ทำหน้าที่ต่อรองให้พี่น้อง ได้แค่ไปนั่งเป็นกรรมการตรงโน้นตรงนี้แต่ไม่มีพลังในการต่อรอง ทำให้นโยบายถูกกำหนดมาจากภาคธุรกิจหรือบริษัทการเกษตรขนาดใหญ่ ซึ่งมีที่ทางในกลไกการตัดสินใจเชิงนโยบาย การเมืองแบบล็อบบี้ของกลุ่มธุรกิจอาศัยความสัมพันธ์ที่พวกเรามองไม่เห็นหรอก แตกต่างจากพวกชาวไร่ชาวนาที่ต้องแสดงตัวตนบนท้องถนน ถึงจะได้ผล พอชาวนาไม่รวมตัวกันก็ไม่มีอำนาจต่อรอง ทิศทางจึงถูกกำหนดโดยธุรกิจขนาดใหญ่ ตัวละครในระบบไม่สามารถแข่งขันกันอย่างเท่าเทียมได้
ที่เราคุยกันมาทั้งหมด สิ่งสำคัญคือเรื่องประชาธิปไตย ธรรมาภิบาล หรือกระบวนการกำหนดนโยบายที่ทำให้ผู้คนมีส่วนร่วม สามารถต่อรองได้ โหวกเหวกโวยวายได้ อย่างตอนนี้ทหารห้ามทำนาฤดูแล้ง บางที่ยังไม่ได้ทำนาเลย เพราะว่าแล้งแล้วมาเจอฝน ก็ทำไม่ได้อีก แต่ชาวบ้านเดินขบวนก็ไม่ได้ ต่อรองอะไรไม่ได้เลย
สัมภาษณ์ : วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน 2559