สัมภาษณ์: ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ “ต้องปฏิรูประบบการเรียนรู้ พัฒนาเด็กให้คิดวิเคราะห์เป็นและมีจิตสาธารณะ”

เรามีความหวังที่จะให้ประเทศไทยเดินไปสู่ “ประเทศไทย 4.0” ที่มีความพร้อมทั้งในแง่สังคมที่อุดมปัญญาและเศรษฐกิจที่มั่งคั่ง แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นจริงได้ สังคมไทยต้องมี “ระบบการเรียนรู้” ที่เข้มแข็ง และสามารถพัฒนาทุนมนุษย์ให้มีคุณภาพได้จริง แต่เมื่อย้อนกลับมาดูระบบการเรียนรู้ของไทย เรายังเผชิญกับปัญหาในหลายเรื่อง

Knowledge Farm – ฟาร์มรู้สู่สังคม ชวน รศ.ดร.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ อาจารย์ประจำวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิจัยเรื่องการปฏิรูปการเรียนรู้ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มาเปิดประเด็นและล้วงลึกปัญหาระบบการเรียนรู้ตั้งแต่ระดับนโยบาย ระดับโรงเรียน ตลอดจนระดับห้องเรียน

แท้จริงแล้ว ปัญหาระบบการเรียนรู้ไทยเกิดขึ้นจากอะไรกันแน่? และทางออกของปัญหาคืออะไร? บทสัมภาษณ์นี้มีคำตอบ

 

รศ.ดร.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ อาจารย์วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ระบบการศึกษาไทยหยิบจับตรงไหนก็เป็นปัญหาไปหมด เราควรจัดลำดับความสำคัญในการจัดการกับปัญหาอย่างไร อะไรคือควิกวินในการปฏิรูประบบการเรียนรู้ของไทย

จริงๆ แล้ว เรื่องการศึกษานี่คุยกันหลายเวทีมาก แล้วตัวเองก็บ่นมาตลอด ควิกวินจริงๆ แล้วต้องมีผู้นำ ประเทศไทยเราคุยแล้วก็บ่น บ่นแล้วก็คุย คุยแล้วก็บ่นกันอีก ทุกเวทีเลย แต่ไม่ได้ทำอะไรต่อ

ตัวเองเคยเขียนบทความชิ้นหนึ่งเรื่อง “สอบ สอบ สอบ (เพื่อ??)” แชร์กันเยอะเลย แต่ก็ไม่ได้เกิดอะไรตามมา เวลาที่เราไปคุยในวงไหน ไม่ว่าวงวิชาการหรือวงนโยบาย ก็บ่นกันใหญ่เลยว่า การศึกษาไทยแย่ คนไทยแย่ เด็กไทยแย่ แล้วเราจะไปอย่างไร สรุปทุกคนก็บอกว่า ระบบต้องถูกแก้ แต่ประเด็นที่ถามในบทความคือ ระบบอยู่ตรงไหน? เพราะฉะนั้น เราต้องมีผู้นำมาลงมือแก้ปัญหา

 

สมมติว่าเจอคนที่เป็นผู้นำแล้ว อาจารย์จะบอกให้เขาแก้อะไรบ้าง

ต้องแก้ “ระบบการเรียนรู้” ระบบการเรียนรู้ของไทยผิดหมดเลย เราได้ดูคลิปต่างๆ ที่สะท้อนถึงปัญหาการศึกษามากมาย คนทั่วไปทราบหมดเลยว่าควรจะทำอย่างไร พ่อแม่ก็แค้นใจมาก ทำไมลูกฉันต้องไปโรงเรียน แล้วต้องเจออย่างนู้นอย่างนี้ ตอนนี้อินสุดๆ ค่ะ เพราะลูกอยู่ชั้นประถม (ป.4 กับ ป.2) และต้องเจอกับปัญหาการศึกษาที่ยังแก้ไม่ตก

 

ระบบการเรียนรู้ของไทยผิดตรงไหนบ้าง

เราอาจจะมีข้อดีตรงที่เราอยากให้เด็กเรียนรู้นู่นนี่นั่นตามระบบของกระทรวง แต่การวัดผล เราไปผิดทางหมดเลย ประเด็นก็คือว่า เราบอกให้เด็กสอบ ขนาดกระโดดเชือก เรายังสอบเลยค่ะ เพราะฉะนั้น เราจะเอาอะไร เราต้องการเด็กที่มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ใช่ไหม แต่ระบบการเรียนรู้ของเราไม่ได้นำไปสู่ผลลัพธ์นั้น นี่จึงเป็นที่มาของโครงการวิจัยที่ทำร่วมกับ สกว. โดยเป้าหมายของโครงการนี้คือการวิเคราะห์ว่าเด็กไทยเป็นอย่างไร รู้ไหมว่าเวลาเด็กเราไปสอบ PISA (Programme for International Student Assessment) กับเด็กประเทศอื่นๆ เราเป็นอันดับท้ายๆ ของอาเซียน ประเด็นก็คือทำไม ก็เพราะว่าการคิดวิเคราะห์ของเด็กไทยแย่มาก ทำอย่างไรระบบการเรียนรู้ของไทยจะดีขึ้น

การเรียนในห้องเรียนของเราต้องปรับใหม่หมด ไม่ใช่ให้เรานั่งหน้ากระดานเรียงกันแบบนี้ เรียนกันเหมือนเดิม แล้วพอเรียนไป เด็กก็จะถามอาจารย์ว่า “อาจารย์คะ จะสอบอะไรบ้าง?” มันเป็นคำถามที่ถามกันไปถึงระดับปริญญาเอกเลยนะคะ ทุกวันนี้สอนนิสิตปริญญาเอก เขาต้องเดินมาถามว่า “อาจารย์จะออกข้อสอบกี่ข้อ?” “ออกอะไรบ้าง?” “เปเปอร์เรื่องนี้ต้องอ่านหรือเปล่า?” นี่คือ mentality (วิธีคิด) ของเด็กเรา แบบนี้ผิดหมด

ฉะนั้น ถ้าจะแก้ระบบต้องแก้ที่ระบบความคิดด้วย เราต้องสอนให้เด็กไทยคิดวิเคราะห์เป็น

 

 

มีคนบอกว่า “You are what your measure.” – เราวัดอะไร มันก็สะท้อนว่าเราเป็นคนแบบนั้น ทีนี้ระบบการวัดของเรา มันวัดอะไร มันสะท้อนอะไร 

การวัดยังสะท้อนว่าเราอยากได้คนแบบไหนด้วย ทุกวันนี้เราวัดความจำ เราวัดการคิดวิเคราะห์น้อยมาก

ยกตัวอย่างโครงการวิจัยเรื่อง “การศึกษาความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์และการมีจิตสาธารณะเพื่อพัฒนาศักยภาพการเป็นคนดีคนเก่งของนักเรียนไทย” (2559) ที่เราทำให้ สกว. เราวัดความสามารถเด็กทั่วประเทศ เป็นโครงการที่มีระเบียบวิธีวิจัยที่ดีมาก เราออกข้อสอบวัดการคิดวิเคราะห์ของเด็กไทยในระดับ ป.6 กับ ม.4 โดยอิงจากข้อสอบ PISA และ TIMMS (Trends in International Mathematics and Science Study) ที่ทดสอบกัน 3 วิชา นั่นคือ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ และปรับให้เหมาะกับเด็กไทย ป.6 และ ม.4 ยกตัวอย่างข้อสอบการอ่าน เราจะมีจดหมายให้อ่าน เป็นจดหมายที่เขียนถึงเพื่อนและค่อนข้างซับซ้อน ข้อสอบก็ถามโดยให้คิดวิเคราะห์จากจดหมาย ซึ่งถ้าเป็นข้อสอบไทยคงถามว่าใครเป็นผู้เขียนจดหมายฉบับนี้

ขอเล่าถึงตัวอย่างในห้องเรียนของลูกสาวดิฉัน ครูให้ลูกสาวไปอ่านหนังสือที่บ้าน กำหนดเลยว่าให้อ่านบทนั้นบทนี้ ถ้าเป็นสมัยตัวเองก็สอบมานีมานะ แต่สมัยนี้เป็นใบบกใบบัว คำถามข้อสอบการอ่านจะถามว่า ใบบกใบบัวเป็นช้างตัวผู้หรือตัวเมีย และที่แค้นส่วนตัวมากเลยก็คือ เขาถามว่าใบบกร้องอย่างไร ข้อ ก. เอ้กๆ ข้อ ข.  อ้ากๆ ข้อ ค. แอ๋งๆ (หัวเราะ)

ส่วนลูกสาว ป.4 อีกคน ครูให้ไปอ่านเรื่องป้าแสงดา บัณสิทธิ์ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ จริงๆ เราสามารถเรียนรู้จากท่านได้เยอะมาก แต่ครูถามอะไรในห้องเรียนรู้ไหมคะ ถามว่า “ป้าแสงดานามสกุลอะไร?” (หัวเราะ)

ประเด็นคือเราควรจะฝึกเด็กให้รู้จักคิดวิเคราะห์ แต่ความจริงในโรงเรียนมันไม่ใช่ ข้อสอบที่โครงการวิจัยเอาไปให้เด็ก ป.6 กับ ม.4 ทำ เพื่อวัดระดับการคิดวิเคราะห์ของเด็กไทย ผลการวิจัยออกมาแล้ว ถ้าเทียบเป็น 100 คะแนน เด็กไทยได้แค่ 37 คะแนน ถ้าเราเอาเกณฑ์สอบผ่านอยู่ที่ 60%  เด็ก ป.6 ที่สอบผ่านทั้ง 3 วิชา คือการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ มีเพียง 1.07% เท่านั้น

 

 

ถ้าเราอยากได้เด็กที่คิดวิเคราะห์เป็น ข้อสอบต้องเป็นอย่างไร

ข้อสอบก็ต้องเน้นการคิดวิเคราะห์ แต่อย่าเพิ่งไปพูดถึงจุดสุดท้ายคือการสอบเลยค่ะ มันต้องอยู่ที่กระบวนการเรียนรู้ด้วย ทีนี้ถ้าเราจัดกระบวนการเรียนรู้ ก็ไม่ควรให้เด็กไปอ่านแล้วท่องมาสอบ ควรจะมีการอภิปรายในห้อง ให้มีลักษณะ “การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน” หรือ “Problem-Based Learning” (PBL)

แต่เมื่อมาดูการเรียนรู้ของไทยในปัจจุบัน มันกลับทิศกลับทาง ยกตัวอย่างการกระโดดเชือกในวิชาพลศึกษา เขากำหนดว่าเด็กทุกคนควรกระโดดเชือกได้กี่ครั้ง ถ้าเกิดกระโดดไม่ได้ ก็จะมีข้อสอบภาคทฤษฎีมาช่วยเด็ก เพราะฉะนั้นเราจะไปสอบพละทำไม การเรียนพลศึกษาคือ การทำให้เด็กมีสุขภาพที่ดีขึ้น ดังนั้น เด็กที่กระโดดได้ดีแล้ว อย่างลูกชายของดิฉันเป็นนักกีฬา สามารถกระโดดอย่างสบายใจ กระโดดขาเดียวได้ด้วย ก็ควรจะไปช่วยเพื่อนแก้ปัญหาให้กระโดดได้ ส่วนหนึ่งก็จะได้ฝึกให้มีภาวะผู้นำมากขึ้นด้วย แบบนี้คือลักษณะของ PBL แล้วเด็กที่กระโดดไม่ได้ไม่ใช่ว่าคุณไปเอาทฤษฎีมาช่วยคะแนนเขา แต่ควรจะทำอย่างไรให้เราวัดผลเด็กคนนี้ได้ นี่คือลักษณะการเรียนรู้ที่เน้นที่กระบวนการ และเน้นที่การพัฒนาเด็ก

ส่วนการคิดวิเคราะห์ในวิชาคณิตศาสตร์หรือเรื่องวิชาอื่นๆ ไม่ใช่ให้แต่เด็กนั่งท่อง ยกตัวอย่างข้อสอบวิทยาศาสตร์ของโครงการวิจัย เราจะถามว่ามีช็อคโกแลตแท่งหนึ่งซึ่งประกอบด้วยสารต่างๆ มากมาย แล้วเราก็มีตารางบอกว่าช็อกโกแลตจะหลอมละลายที่อุณหภูมิเท่านี้ และถามว่าถ้าอุณหภูมิเท่านี้ อะไรจะละลายบ้าง เด็กก็ต้องคิดวิเคราะห์ ส่วนข้อสอบไทยถามอะไรรู้ไหม เขาถามว่าช็อกโกแลตจะหลอมละลายที่อุณหภูมิเท่าไร

นี่คือประเด็น เราต้องเปลี่ยนระบบการเรียนรู้ใหม่หมด ซึ่งถ้าต้องการจะเปลี่ยนแปลงให้ได้ผล เราต้องการผู้นำการเปลี่ยนแปลง แต่พอไปถามในวงนโยบาย เขาก็ยังบอกว่า “อาจารย์ เราต้องแก้ที่นโยบาย แก้ที่ระบบ”

 

งานวิจัยของอาจารย์ที่ทำให้ สกว. ไม่ได้วัดเด็กแค่ความสามารถในการคิดวิเคราะห์อย่างเดียว แต่ยังวัดการมีจิตสาธารณะของเด็กด้วย ฉะนั้นถ้าอยากให้เด็กวิเคราะห์เป็นและมีจิตสาธารณะ เราต้องสร้างระบบอย่างไร

เมื่อเราวัดออกมาแล้ว เด็กไทยไม่ได้มีจิตสาธารณะที่แย่เลยนะคะ องค์ประกอบที่มีผลกับจิตสาธารณะจริงๆ คือ ครอบครัว เราพบว่าปัจจัยที่สำคัญมากๆ คือ รูปแบบการเรียนรู้ในครอบครัว ถ้าเด็กได้รับการเรียนรู้ที่อบอุ่นจากพ่อแม่ จิตสาธารณะจะดี แล้วการคิดวิเคราะห์ก็จะดีด้วย

ประเทศไทยเราเน้นเรื่องสอบ เรื่องเรียน เรื่องคะแนน เรื่องการสอบเข้ากันมาก จนทำให้เด็กไม่ได้มีความคิดหรือมีเวลาที่จะไปเรียนรู้เรื่องจิตสาธารณะ เพราะฉะนั้น หากเราจะให้เด็กมีการวิเคราะห์และจิตสาธารณะควบคู่ไปด้วยกัน เราต้องพัฒนาที่ห้องเรียน โดยส่งเสริมให้ใช้กระบวนการเรียนรู้แบบ PBL และการสอนที่เน้นการบูรณาการและเน้นคิดวิเคราะห์

ในศตวรรษที่ 21 เราพูดกันเหลือเกินว่าอยากจะไปให้ถึง Thailand 4.0 แต่เราไปถึงไม่ได้ เพราะเด็กคิดไม่เป็น ทำไม่เป็น ประยุกต์ไม่ได้ ฉะนั้น การเรียนการสอนที่เน้นการคิดวิเคราะห์ในห้องเรียนจึงสำคัญมาก โดยองค์ประกอบของการคิดวิเคราะห์ได้ก็มีหลายอย่าง เช่น การแก้ปัญหาเป็น และการจับประเด็นได้

ดังนั้น ถ้าเด็กได้เรียนรู้ในห้องแบบเน้นวิเคราะห์ ไม่ได้ท่องจำ เด็กก็ไม่ต้องมีความกังวลว่าฉันจะต้องไปสอบ เขาจะมีเวลาเรียนรู้อะไรอื่นๆ ได้มากขึ้น อีกทั้งพ่อแม่ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องผลสอบของลูก

ตัวอย่างในประเทศเยอรมนี เขามีการสอนแบบ PBL โดยตั้งโจทย์ให้เด็กไปทำ เช่น ให้เงินเด็กไปหนึ่งพัน แล้วต้องไปทำอะไรที่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติ ฉะนั้น เด็กก็ต้องรวมกลุ่มไปทำโครงการมา เด็กก็เริ่มคิดและวิเคราะห์กันว่า เงินหนึ่งพันสามารถเอาไปทำอะไรได้บ้าง คนที่ไม่ค่อยเก่งจะมีหน้าที่แบบหนึ่ง ส่วนคนที่เก่งมากก็จะเป็นผู้นำเพื่อน อย่างนี้เป็นต้น แล้วทุกองค์ประกอบที่ได้จากการเรียนรู้หรือการเรียนการสอนแบบนี้ จะนำมาสู่การคิดวิเคราะห์และจิตสาธารณะได้โดยที่เราไม่ต้องไปยัดเยียดอะไรมาก แต่ตอนนี้การเรียนการสอนในประเทศไทยไม่ได้เป็นแบบนี้เลย เด็กทุกคนจะถามว่า สอบเมื่อไร ได้เกรดเฉลี่ยเท่าไร ต้องเกรดเฉลี่ยประมาณเท่าไรถึงจะได้ทุน

 

 

นิยามจิตสาธารณะในงานวิจัยของอาจารย์มีการกำหนดไปเป็นขั้นๆ เริ่มตั้งแต่ขั้นแรก ความรับผิดชอบต่อตัวเอง ขั้นต่อไปคือไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ขั้นต่อมาคือช่วยเหลือคนอื่นและสังคม ไล่ไปเป็นขั้นๆ 

ยังมีกำหนดไปถึงขั้นสุดท้ายด้วย นั่นคือ การเคารพสิทธิของผู้อื่น และการมีจิตใจรักประชาธิปไตย เป็นต้น ซึ่งการมีจิตสาธารณะในระดับนี้จะเป็นส่วนช่วยที่ทำให้บ้านเมืองเราไม่วุ่นวายแบบนี้

 

เรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ควรจัดการอย่างไร 

เราจำเป็นต้องปฏิรูปหลักสูตรซึ่งจะไปเกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะหลักสูตรที่เป็นประถมวัย ป.1-ป.6 หลักสูตรไม่ได้ตอบโจทย์ให้เราไปถึงอุตสาหกรรม 4.0 และให้เด็กเรามีทักษะในศตวรรษที่ 21 เลย เรายังใช้หลักสูตรเดิม แต่ก่อนเด็กเรียนอะไร วันนี้ก็ยังเรียนแบบนั้น อย่างเมื่อวาน ลูกชายสอบเขียนไทย เด็ก ป.2 ต้องเขียนคำว่า “วิสรรชนีย์” “ยัติภังค์” เรายังเขียนกันไม่ค่อยถูกเลย

ประเด็นก็คือ ถ้าหลักสูตรยังเป็นแบบนี้ มันจะมีคำว่า “เด็กในหลอด” ซึ่งก็คือเด็กที่เรียนได้ดีตามที่หลักสูตรกำหนด พ่อแม่มีตังค์ ก็ส่งเด็กไปติวไปสอบได้ เด็กในหลอดก็จะประสบความสำเร็จ ขณะที่เด็กที่ไม่ได้อยู่ในหลอด เช่น เด็กต่างจังหวัด หรือเด็กที่อยู่ในระดับล่างๆ เขาก็จะเห็นว่าหลักสูตรหรือระบบการเรียนแบบนี้ จะเรียนไปทำไม คำถามคือ เรียนแคลคูลัสไปทำไม เรียนแล้วเอาไปปลูกข้าวได้ไหม ฉะนั้น ถ้าเป็นเด็กนอกหลอด พวกเขาก็จะรู้สึกเบื่อหน่ายกับการเรียนในหลักสูตรแบบนี้ สุดท้ายความเหลื่อมล้ำจะมีมากขึ้น ต่อไปผู้บริหารประเทศหรือคนที่ทำงานในตำแหน่งดีๆ ก็จะมีแต่ลูกคนรวยที่มีสิทธิได้เรียนสูงๆ เท่านั้น ส่วนลูกคนจนก็ไร้หนทาง

ความเหลื่อมล้ำจึงเป็นประเด็นที่สำคัญมาก และรากฐานของมันก็อยู่ที่การศึกษา ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยอาจเริ่มจากการปรับหลักสูตร

 

ฉะนั้น เราต้องแก้กันอย่างไรเพื่อที่จะให้มีเด็กเก่งเด็กดีแบบที่เราต้องการ 

ในส่วนของการส่งเสริมเด็กมีจิตสาธารณะ ครอบครัวจะต้องมีกระบวนการเรียนรู้ที่อบอุ่น งานวิจัยของเราชี้ชัดเจนว่าเรื่องจิตสาธารณะนี้มาจากครอบครัว ความอบอุ่นในที่นี้หมายถึง การไม่กดดันลูก อย่าไปกดดันลูกเรื่องการเรียนมาก และพ่อแม่ก็ต้องให้ความใส่ใจกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น เด็กชอบอะไร สนใจอะไร เราควรสนับสนุน แต่ตอนนี้มันไม่ใช่อย่างนั้น เพราะถ้าเด็กสนใจอะไรแล้วมันขายไม่ได้ มันเอนทรานซ์ไม่ติด ได้เกรดไม่ดี คะแนนไม่ดี พ่อแม่ก็ไม่สนับสนุน

ในโรงเรียนก็ต้องมีการปรับระบบการเรียนการสอนใหม่ทั้งหมด เรายังมีการเรียนการสอนแบบบรรยาย เราควรมีการเรียนการสอนแบบ PBL ให้เด็กทำงานเป็นกลุ่ม เน้นการคิดวิเคราะห์ ระบบการประเมินผลก็ต้องปรับใหม่ทั้งหมด

หลักสูตรก็ต้องมีการปฏิรูปด้วย เราควรปรับหลักสูตรให้มีความเป็นปัจจุบันมากขึ้น ให้สามารถรองรับอนาคตได้ ทักษะที่เด็กต้องการมี 2 ประเภท คือ ทักษะทางปัญญา (cognitive skills) เช่น การคิดวิเคราะห์ และทักษะทางอารมณ์และสังคม (non-cognitive skills) เช่น ความรับผิดชอบ การทำงานเป็นกลุ่ม ความมีน้ำใจต่อกัน หรือการรับผิดรับชอบ เราควรปลูกฝังทักษะเหล่านี้ตั้งแต่ตอนที่เด็กอยู่ชั้นประถมวัยให้ได้

อีกสิ่งหนึ่งที่หลักสูตรสมัยใหม่ควรมุ่งเน้น คือ เด็กควรเรียนวิชาต่างๆ ที่ส่งเสริมด้านการเรียนรู้และใช้ชีวิต เช่น การเรียนวิชาเกี่ยวกับภัยพิบัติ ถ้าเกิดภัยพิบัติ เด็กๆ ควรทำอย่างไร ควรบริหารชีวิตอย่างไร หรือควรบริหารการเงินอย่างไร เด็กจะได้มีโอกาสลองแก้ปัญหาต่างๆ ฉะนั้น เราไม่ควรจะมีวิชาการอ่านหรือคณิตศาสตร์แบบแยกโดดๆ เราสามารถฝังพวกวิชาคณิตศาสตร์ไปตามวิชาที่เน้นการแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ นอกจากนี้ เด็กก็ควรเรียนรู้วิธีการดูแลสุขภาพด้วย

ฉะนั้น วิชาต่างๆ ในหลักสูตรควรจะปรับใหม่ โดยไม่ต้องให้มันจับเป็นกลุ่มก้อนตามกลุ่มสาระซึ่งเยอะมากดังที่เห็นกันอยู่ อย่างไรก็ดี วิชาพลศึกษาก็ควรจะให้มีอยู่

อีกเรื่องที่สำคัญคือการปฏิรูปครู ต่อให้เราเขียนหลักสูตรดีแค่ไหน แต่ครูยังถามเหมือนเดิม คือ ป้าแสงดามีนามสกุลอะไร มันก็ไม่มีประโยชน์

ท้ายที่สุดเพื่อให้การปฏิรูปได้ผล เราต้องมาตั้งธงกันก่อนว่าการเรียนการสอนของไทยเราจะให้เด็กเก่ง หรือให้เด็กดี หรือให้เด็กเก่งและดีไปพร้อมกัน ทั้งนี้ เราก็ต้องสร้างความสมดุล (balance) โดยปฏิรูประบบการเรียนรู้ในแต่ละด้านที่ว่ามาให้สอดคล้องไปกับธงที่เราตั้งไว้ด้วย