“ปัญญาจะเกิดขึ้น เด็กพร้อมจะเรียนรู้ได้ ต่อเมื่อห้องเรียนคือพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเขา นี่คือหลักสำคัญ ถ้าห้องเรียนเป็นพื้นที่แห่งความหวาดกลัว เด็กจะเรียนด้วยความทุกข์ สมองจะไม่เปิดรับการเรียนรู้ การเปลี่ยนห้องเรียน คือการเปลี่ยนสภาพบรรยากาศ ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็ก ให้เป็นบรรยากาศที่เด็กรู้สึกปลอดภัย”
โครงการ ‘เพาะพันธุ์ปัญญา’ เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กับธนาคารกสิกรไทย เป้าหมายสำคัญคือการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ ใช้การเรียนรู้ฐานวิจัย (research-based learning) เป็นธงนำ พัฒนาทักษะการคิด การใช้เหตุผล และการสังเคราะห์สร้างความรู้ได้ด้วยตัวนักเรียนเองจากการลงมือทำจริงและเชื่อมโยงเข้ากับ ‘กฎธรรมชาติ’ ครูปรับบทบาทมาเป็นโค้ช ภายใต้หลัก ‘ถามคือสอน’ ในห้องเรียนที่นักเรียนรู้สึก ‘ปลอดภัย’
ในวาระที่โครงการ ‘เพาะพันธุ์ปัญญา’ เดินทางมาครบห้าปีเต็ม Knowledge Farm – ฟาร์มรู้สู่สังคม ชวนอ่านบทสัมภาษณ์ของ รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หัวหน้าหน่วยจัดการกลางโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ซึ่งตัดตอนมาจากบางส่วนของหนังสือ Re-learning จากเรียนรู้สู่เรียนคิด (สกว., 2559)
อ่านแล้วสนใจร่วม ‘เพาะพันธุ์ปัญญา’ ขอเชิญเข้าร่วมงาน “เพาะพันธุ์ปัญญาสำหรับเด็กไทย 4.0” เวทีนำเสนอผลงานระดับประเทศ ประจำปี 2560 ในวันเสาร์ที่ 25 มีนาคม 2560 เวลา 8.30-16.30 น. ณ ศูนย์ประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ติดตามรายละเอียดและลงทะเบียนฟรีได้ที่เฟซบุ๊คเพาะพันธุ์ปัญญา
Re-learning จากเรียนรู้สู่เรียนคิด : เพาะพันธุ์ปัญญา
อาทิตย์ เคนมี อภิรดา มีเดช รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์ สัมภาษณ์และเรียบเรียง
เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล ภาพ
แนวความคิดในการเปลี่ยนห้องเรียนของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กๆ อย่างไรบ้าง
ปัญญาจะเกิดขึ้น เด็กพร้อมจะเรียนรู้ได้ ต่อเมื่อห้องเรียนคือพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเขา นี่คือหลักสำคัญ ถ้าห้องเรียนเป็นพื้นที่แห่งความหวาดกลัว เด็กจะเรียนด้วยความทุกข์ สมองจะไม่เปิดรับการเรียนรู้
การเปลี่ยนห้องเรียน คือการเปลี่ยนสภาพบรรยากาศ ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็ก ให้เป็นบรรยากาศที่เด็กรู้สึกปลอดภัย ครูเองก็ไม่รู้สึกว่าสูญเสียหน้าตาเพราะไม่มีอำนาจ ขณะนี้หน้าตาของครูอยู่ที่การมีอำนาจเหนือเด็ก ต้องไปเปลี่ยนที่ครู เมื่อเปลี่ยนครูได้ ความสัมพันธ์กับเด็กจะเปลี่ยน บรรยากาศห้องเรียนจะเปลี่ยน มันจะกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยของเด็ก แล้วเด็กก็จะกล้าในการคิด
เมื่อใดที่ห้องเรียนเป็นพื้นที่แห่งอำนาจ เด็กจะไม่กล้าคิด เมื่อไม่กล้าคิด ก็ไม่เกิดความคิดหลากหลายมาแชร์กัน มันก็ไม่เกิดความสัมพันธ์ในการถาม ตอบ เถียง โต้แย้ง เรียนรู้ เอาข้อมูลที่เถียง ที่โต้แย้ง มาประมวลสรุป…มันไม่มี ก็ต้องรอฟังอย่างเดียว หรือกลายเป็นว่าฉันต้องเชื่อครูอย่างเดียว
ปัญหาอยู่ที่ว่าจะจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างครูกับเด็กนักเรียนอย่างไร
ต้องลดความสัมพันธ์เชิงอำนาจลง ให้ครูเข้าใจว่า การเรียนรู้และการเกิดปัญญาของผู้เรียน มันเกิดในพื้นที่ที่เขารู้สึกปลอดภัย ไม่หวาดกลัว
การเรียนการสอนสมัยใหม่จึงพยายามเน้นให้เด็กเป็นศูนย์กลางใช่ไหม
ใช่ แต่ครูไม่รู้ว่าการสอนแบบเอาเด็กเป็นศูนย์กลางเป็นอย่างไร แบบเดียวกับ backward design ก็ไม่รู้ว่าทำอย่างไร โรงเรียนจึงปล่อยให้เด็กเรียนเอง เพราะครูไม่รู้
ปัญหาอีกอย่างคือ มันเกิดจากระบบอบรม ไม่เอาครูมาทำ PLC (Professional Learning Community หรือชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ) กัน การสอนคนและการสร้างการเรียนรู้มันเกิดจากทักษะปฏิบัติเยอะมาก คนที่เป็นครูจำนวนมาก เขาเป็นได้เพราะทักษะในการปฏิบัติ คือนอกจากจะมีความรู้ในตัวเองแล้ว เขายังเข้าใจวิธีการเรียนของลูกศิษย์
แล้ววิธีการเรียนของลูกศิษย์สมัยใหม่ ครูต้องเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ถาม อย่างที่ผมสอนคุณเรื่องการออกแบบ ผมตั้งคำถามว่า อะไรทำให้น้ำแข็งละลาย เมื่อคุณตอบไม่ได้ผมก็ถามใหม่ เอาน้ำแข็งไปตั้งไฟมันละลายเร็วไหม เพื่อให้คุณตอบให้ได้ว่ามาจากความร้อน เมื่อคุณรู้ว่าความร้อนทำให้น้ำแข็งละลาย ผมก็ถามต่อว่า ความร้อนมาจากไหน คุณก็จะเห็นว่าความร้อนมาจากข้างนอกที่มันเข้ามา ถ้าผมถามต่อไปเรื่อยๆ เดี๋ยวคุณก็จะรู้ว่าความร้อนมาจากยา โดยการตั้งคำถามว่า ถ้าเราต้องการให้ยาเย็นลงจากเดิมอยู่ที่อุณหภูมิ 30 องศา เราทำให้มันเย็นได้ยังไง เดี๋ยวคุณก็จะตอบว่ามันสูญเสียความร้อน แล้วความร้อนที่ทำให้น้ำแข็งละลายมายังไง ผมก็จะถามไปเรื่อยๆ จนกระทั่งคุณรู้เอง นี่คือกระบวนการสอนด้วยถาม ครูต้องเปลี่ยนบทบาท ไม่ใช่ผู้บอกอีกต่อไป
ถามคือสอน เป็นทักษะใหม่ของครู เพราะครูติดนิสัยบอก ความคิดของครูต้องไวมาก เมื่อเด็กตอบมา ครูต้องตั้งคำถามใหม่ เมื่อคุณตอบมา ผมรู้ว่าคุณไม่รู้ ผมก็ต้องตั้งคำถามใหม่ เดี๋ยวก็รู้เอง ครูที่ตั้งคำถามต้องไวมาก ไวจากการฟังคำตอบของผู้เรียน แล้วตั้งคำถามใหม่ พอเขาตอบมาใหม่ ก็ตั้งคำถามใหม่ จนกระทั่งเขารู้เอง
เพราะฉะนั้นครูไม่ใช่ผู้บอกความรู้ ครูคือผู้ถามต้อนความคิด ครูคือหมาต้อนแกะ เวลาจะต้อนแกะ หมาต้องรู้หลายอย่าง หนึ่ง-ประตูคอกอยู่ตรงไหน ถ้าไม่รู้ตำแหน่งของประตูคอกมันต้อนไม่ได้แน่ๆ เพราะต้องต้อนแกะให้เข้าคอก สอง-รู้ภูมิประเทศที่แกะจะไป ต้องไปดักไว้ไม่ให้แกะหลบเข้าป่า สาม-ต้องรู้จริตการวิ่งของแกะ รู้ว่าแกะกลัวเสียงเห่า หมาจึงต้อนได้สำเร็จ
แกะ คือความคิดของเด็กที่จะต้องถูกครูต้อนไปเข้าสู่ประตูการรู้ด้วยตัวเอง เมื่อแกะเข้าประตูเองแล้วจึงค่อยปิดประตู
การถามคือการสอนของครู ครูต้องเข้าใจวิธีการต้อนความคิดของเด็ก ครูต้องรู้ 3 อย่าง หนึ่ง-รู้ความรู้สุดท้ายที่ต้องการให้เด็กไปถึง สอง-รู้เส้นทางการเดินของความคิด สาม-รู้ความคิดของเด็กขณะนั้น ว่าเขารู้อะไร ไม่รู้อะไร ต้องตั้งคำถามใหม่ ต้อนไปเรื่อยๆ นี่คือทักษะการถามคือสอน ซึ่งครูทำไม่ได้โดยง่าย เพราะครูเป็นผู้ไปท่องความรู้เพื่อมาบอกเด็ก แล้วเด็กก็จะไม่ชอบตอบ เพราะบรรยากาศไม่เอื้อ แต่ถ้าหากถามต้อนแบบนี้เด็กสนุกจะตาย
นอกจากการเปลี่ยนบรรยากาศห้องเรียน ยังมีวิธีใดอีกบ้างที่จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน
ครูต้องหาโจทย์จากเรื่องใกล้ตัว สร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก สร้างความสนใจให้เขา เขาจะเรียนจากแรงบันดาลใจ การสร้างแรงบันดาลใจเกิดจากหลายอย่าง วิธีการที่ครูสามารถทำได้ เช่น การมานั่งทบทวนความรู้สึกต่อกัน การเขียนไดอารี แล้วเอาไดอารีมานั่งคุยกัน การมองเป้าหมายไปข้างหน้าร่วมกัน สารพัดอย่าง ซึ่งเรื่องเหล่านี้ครูต้องรู้
กรณีห้องเรียนเพาะพันธุ์ปัญญาที่โรงเรียนแจ้ห่มวิทยา ถือเป็นการบูรณาการการเรียนรู้ที่ไม่ได้แยกศาสตร์แต่ละแขนงออกจากกัน แล้วจัดการอย่างไรกับตารางสอนปกติ
ตอนที่เราทำเพาะพันธุ์ปัญญา เราบอกว่า หนึ่ง-เราขอครูมาบูรณาการสาระ 4-5 คน ให้จัดทีมมา สอง-เราทำทั้งห้อง สาม-เราทำเรื่องเดียว แต่แตกประเด็นไปหลายเรื่อง คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ห้องหนึ่งมี 30-40 คน แตกไป 10 เรื่อง เรื่องหนึ่งก็ทำประมาณ 3-4 คน เลือกว่าใครทำคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์
ทุกอาทิตย์เราจะให้มีหนึ่งบ่ายหรือหนึ่งเช้า ให้เวลา 3 ชั่วโมงเป็นของเขา ให้เขาเอาสิ่งที่ค้นพบในอาทิตย์นั้นๆ มาแลกเปลี่ยนกัน คนที่ทำโจทย์วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ จะมาเล่าเรื่องที่ตัวเองกำลังทำ ว่าทำไปถึงไหนแล้ว พวกที่ออกไปหาข้อมูลสังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หรือมนุษยศาสตร์ก็จะเอาเรื่องที่ตัวเองทำมาเล่า
ทีนี้มันอาจจะกระทบตารางสอน สมมุติว่า ม.3 มี 5 ห้อง แล้วเราทำโครงการอยู่ห้องเดียว มันกระทบตารางสอนหมด มันก็ทำยาก แต่ถามว่าจริงๆ ทำได้ไหม ก็ทำได้ เพราะเด็กต้องทำการศึกษาด้วยตัวเอง (Individual Study: IS) เยอะมากอยู่แล้ว ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เคมี ชีวะ ทำ IS หมด ผมก็บอกทั้งหมดนี้ให้ลองเอาชั่วโมงเรียนเข้ามารวมกันสิ แล้วจัดตารางสอนใหม่ ถ้าเราเอาพวกนี้มาบูรณาการ แล้วเอามารวม เวลามันก็จะได้
แต่หนึ่งชั้นเรียนจะมีหลายห้อง มันจะกระทบตารางสอนของห้องอื่นด้วย เพราะครูมารวมกันตรงนี้เสียแล้ว ถูกล็อคเวลาแล้ว ฉะนั้น ข้อเสนอของเราเรื่องการจัดการเรียนการสอนให้เกิดประสิทธิภาพ อาจยังไม่ได้รับการตอบสนองเท่าไหร่ เพราะกระทบเขาเยอะมาก แต่ถ้าครูมีใจแล้ว เขาทำของเขาเองได้ ไม่ว่าจะเป็นช่วงเย็น หรือเสาร์-อาทิตย์
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคือ เมื่อเด็กเปลี่ยน ครูคนอื่นจะเริ่มเห็นว่าเด็กเปลี่ยนไปเยอะ แล้วเขาจะตั้งคำถามว่าเกิดจากอะไร เพราะว่าเพาะพันธุ์ปัญญามีครูเพียง 5-10 คนในโรงเรียน ขณะที่โรงเรียนมีครูเป็นร้อย สัดส่วนมันน้อย เขาอาจจะไม่รู้ เขาจะรู้ก็ต่อเมื่อเด็กขึ้นชั้นไปอีกชั้นหนึ่ง แล้วเขาสงสัยว่า ทำไมเด็กพวกนี้พฤติกรรมเปลี่ยน ไม่เหมือนเด็กกลุ่มอื่นๆ เพราะวิธีการเรียนของเด็กจะเปลี่ยนไป เด็กจะกล้าพูด กล้านำเสนอ กล้าตอบ กล้าแย้ง สารพัดอย่าง
โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาที่ลงพื้นที่ตามมหาวิทยาลัย โดยให้อาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นพี่เลี้ยง มีลักษณะเป็นอย่างไร
คือต้องมีคนดูแลในพื้นที่ ปัญหาของการศึกษาที่ไปลงโครงการต่างๆ ในโรงเรียน คือไปแล้วก็ทิ้ง ให้เงินก้อนหนึ่งไปทำ แล้วก็ไม่มีใครช่วยสานต่อ
เวลาทำเพาะพันธุ์ปัญญา โครงงานฐานวิจัยเป็นเรื่องยาก เพราะฉะนั้นครูจะกลัว เว้นแต่ว่ามีแบ็คอัพเป็นที่ปรึกษา เราก็สร้างระบบพี่เลี้ยงขึ้นมา เราไปเยี่ยมครู ไปเยี่ยมโรงเรียน ตรงนี้ครูชอบมาก เพราะครูบอกว่าโครงการต่างๆ ที่ สพฐ. ให้มา เหมือนรับจ๊อบ อบรม 3-4 วัน แล้วก็จบไป กลับไปอาจจะทำต่อไม่ได้ เพราะไม่รู้จะหาใครมาช่วย แต่โครงการนี้พี่เลี้ยงจะได้รับมอบหมายให้ลงไปช่วยครูที่โรงเรียน เพราะฉะนั้นครูจะรู้สึกสบายใจขึ้น คือมีที่ปรึกษาให้ มีอะไรก็ถามได้ อันนี้คือข้อดี และเราลงทุนกับการมีพี่เลี้ยง
แต่ก่อนที่จะทำอย่างนี้กับพี่เลี้ยงได้ เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดพี่เลี้ยงอีกรอบหนึ่งก่อน เพราะพี่เลี้ยงใน 8 มหาวิทยาลัย มีครุศาสตร์อยู่ส่วนหนึ่ง ในส่วนของพี่เลี้ยงก็มีการเปลี่ยนตัวไปหลายคน ต้องเหลือคนที่มีใจรักจริงๆ จากการได้เข้าไปสัมผัสครูและนักเรียนในพื้นที่
มีกระบวนการการคัดสรรพี่เลี้ยงอย่างไร
ผมไม่ได้หาพี่เลี้ยงเอง สกว. เป็นคนส่งมาให้ ผมหาพี่เลี้ยงเองแค่ 2 มหาวิทยาลัย คือ ศิลปากร กับสงขลานครินทร์ ที่เหลือ สกว. จะบอกว่าคนไหนเป็นพี่เลี้ยงได้ หน้าที่ของผมก็คือ ไปเจอเขาครั้งแรก แล้วก็นั่งคุยกัน แล้วก็เล่าให้ฟังว่าเราจะทำอะไรกัน ถ้าคุณจะทำ เรามีวิธีการอย่างนี้ แล้วผมก็เริ่มพัฒนาพี่เลี้ยงให้รู้จัก RBL หรือ Research-based Learning ก่อน ให้รู้จักเหตุกับผลก่อน
ปกติแล้วตัวพี่เลี้ยงเองต้องใช้เวลาปรับเปลี่ยนวิธีคิดมากน้อยแค่ไหน
ถ้าเป็นฝั่งคณะวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์น่าจะโอเค แต่ถ้าเป็นครุศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์อาจจะต้องมีเวลาทำความเข้าใจกัน ซึ่งเราใช้เวลาทำความเข้าใจ ทั้งเรื่องเหตุและผล เรื่องการศึกษา หลักสูตร และวิชาโครงงาน รวมแล้วประมาณ 6 เดือน
นอกจากต้องให้ครูเข้าใจกระบวนการเรียนรู้แล้ว เรื่องจิตวิญญาณของความเป็นครูจะต้องปลูกฝังกันอย่างไรบ้าง
เราเวิร์คชอปกัน 3 วัน 2 คืน มันจะออกมาประมาณว่า ครูร้องไห้ แล้วสารภาพผิด นั่นแหละคือคำตอบ ทำให้ครูสารภาพผิด แล้วบอกว่าฉันจะกลับตัวใหม่ ฉันจะปรับปรุงตัวใหม่ นี่คือกระบวนการพัฒนาครูในเรื่องจิตวิญญาณ
ในความเห็นของอาจารย์มองว่า จิตวิญญาณของครูสูญเสียให้กับอะไรบ้าง
สูญเสียให้กับระบบจนชินในระบบอำนาจ ฉันเป็นผู้คุมอำนาจ จึงลืมจัดพื้นที่ปลอดภัยให้เด็ก
หลังจากที่ครูร้องไห้แล้ว ครูปรับปรุงตัวจริงหรือเปล่า
ผมคิดว่าการร้องไห้คือการ transform จากข้างใน ร้องไห้เมื่อไหร่แสดงว่าสำนึกตัว และเมื่อ transform จากข้างในแล้วมันจะมั่นคง อย่างครูคนหนึ่งที่อีก 3 ปีจะเกษียณ เขาถามว่า ทำไมต้องมาเรียนรู้เพาะพันธุ์ปัญญา โครงงานฐานวิจัย ไม่เอาแล้วๆ อีกอย่างเขาก็ไม่ได้สอนวิทยาศาสตร์ แต่เรียนๆ ไป เรื่องจิตตปัญญาไป transform ตัวเขา สุดท้ายครูคนเดียวกันนี้เป็นคนบอกว่า นี่คือรางวัลของชีวิตการเป็นครูมา 30 ปี
อย่างที่โรงเรียนเขมราฐพิทยาคม อุบลราชธานี มีครูคนหนึ่งชื่อ ครูเรวดี ปีแรกเข้าโครงการของเราครูตื่นเต้นมากเลย เธอเขียนสะท้อนมาว่ามีความรู้สึกอย่างไรที่เข้ามาร่วมโครงการนี้หลังจากผ่านเวิร์คชอปมาแล้ว เธอมีความรู้สึกว่า ฉันค้นพบใหม่แล้ว ฉันมีพลังแล้ว กลับไปฉันจะทำงานนี้ให้สำเร็จ นี่คือปีแรก
ปีที่สอง ผมเจอครูเรวดี ผมก็เฝ้าดูครูเรวดี ปีที่แล้วเธอคึกมากเลย ปีนี้เธอห่อเหี่ยว บอกจะเลิก มันเกิดอะไรขึ้น คาดว่าน่าจะเกิดจากระบบข้างใน เพราะครูคนนี้มีเจตจำนงแน่วแน่มากในปีแรก เธอเขียนเอาไว้กินใจมากว่าจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง แต่ทำไมปีสองเธอห่อเหี่ยว เธอจะเลิก
สาเหตุที่ครูเรวดีท้อแท้ เพราะเรื่องปกติของโรงเรียน ผมก็บอกพี่เลี้ยง ช่วยดูครูเรวดีให้ผมหน่อย ข้างในครูมั่นคงนะ ต้องมีอะไรมากระทบแน่ พอพ้นปีที่สองไปได้ ปีที่สามครูเรวดีไปโลดเลย
อีกกรณีของโรงเรียนเขมราฐพิทยาคม นอกจากสิ่งที่เกิดขึ้นกับครู ก็เป็นการ transform ของเด็กผู้หญิงที่ชื่อ ออย
ส่วนอีกคนชื่อ ครูตุ้ม โรงเรียนท้ายหาด ของศูนย์มหิดล เขามาพบผมก่อนหน้านี้ เขาบอกไม่ไหว ที่โรงเรียนไม่มีใครเข้าใจสิ่งที่เขาทำเลย ตัวเขาเองก็ใกล้จะเกษียณแล้ว แต่เมื่อผมเจอเขาอีกครั้งหนึ่ง เขาบอกว่ารอบนี้เขาลุกขึ้นสู้ใหม่ ไม่กลัวใครแล้ว เขาตั้งใจว่าเขาจะทำอย่างนี้แหละ
อยากทราบความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับออย
ออยเป็นเด็กเก่งกิจกรรมที่ย้ายมาจากโรงเรียนอื่น มาเข้าโรงเรียนเขมราฐพิทยาคม แล้วมาอยู่ห้องเพาะพันธุ์ปัญญา เธอเข้ากับเพื่อนไม่ได้ เพราะจะเด่น จะนำ ไม่ยอมฟังเพื่อน มีความเป็นตัวของตัวเองสูงมาก สุดท้ายไปบอกครูว่า หนูขอแยกกลุ่ม หนูจะทำคนเดียว อย่าให้ใครมายุ่งกับหนู ออยก็ไปทำคนเดียว
เสร็จแล้วออยก็เริ่มเรียนรู้จากการที่ทำงานคนเดียว จากการไม่มีเพื่อนให้คำปรึกษา เพราะมันไม่เป็นโครงงานแบบที่เธอเคยรู้จักมาก่อน เมื่อทำไม่ได้ เธอร้องไห้ บอกครูว่าขอเลิก แล้วก็นั่งคุยกัน
สุดท้ายออยเรียนรู้ด้วยตัวเองว่า เริ่มทำงานนี้ด้วยการเอาตัวเองเป็นใหญ่ ออยกลับไปร้องไห้ขอโทษเพื่อน แล้วเพื่อนก็ยอมรับเธอกลับมาเข้ากลุ่มอีกครั้ง แล้วออยก็มาเล่าให้ฟังว่ามีความสุขมาก จากเดิมที่เข้ากับเพื่อนไม่ได้ เพราะเธอย้ายมาจากโรงเรียนต่างถิ่น ไม่มีเพื่อน เป็นนักกิจกรรม โดดเด่น แล้วมั่นใจในตัวเองว่าจะทำโครงงานนี้ได้ แต่โครงงานนี้มันยากเกินไปเมื่อเทียบกับโครงงานเดิมที่เธอรู้จัก ออยกลับมาเข้าใจตัวเอง เข้าใจเพื่อน แล้วออยก็ลดตัวเองลง จากเดิมที่ไม่ยอมฟังใคร อัตตาสูงมาก แล้วเขาบอกว่า เขาเปลี่ยนแปลงได้ เพราะเขายอมลดตัวเอง นั่นเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงของออย ซึ่งน่าสนใจมาก
อันนี้ต่างจากกรณีแจ้ห่ม แจ้ห่มคือการเปลี่ยนแปลงของเด็กทั้งกลุ่ม ซึ่งต้องผ่านงานหนักที่มีอุปสรรค ผ่านกระบวนการที่หดหู่ แล้วครูเข้าไปช่วย ครูเขียนจดหมายถึงนักเรียน ซึ่งจดหมายครูน่าอ่านมาก แล้วจดหมายที่เด็กตอบครูก็น่ารักมาก นั่นทำให้ครูกับเด็กกลับมาฮึดใหม่ บอกว่าเราจะสู้กันใหม่ แล้วก็เริ่มต้นไถนาใหม่เลย ซึ่งมันมหัศจรรย์มาก
อาจารย์ติดตามความเคลื่อนไหวและการเติบโตของเด็กๆ อย่างไร
ผมติดตามจากในเฟซบุ๊ค ตอนที่ผมเห็นภาพเด็กถางหญ้า ตัดหญ้า ผมบอก ครูนิ่ม-ตรีนุช เพชรแสนงาม ว่า ผมกลัวจังเลย หนึ่ง-เด็กไม่เคยทำงาน ขุดจอบไม่เป็นหรอก มือพอง สอง-เด็กไม่รู้หรอกว่า ความสนุกวันนี้ จริงๆ มันต้องดูแลไปอีก 3-4 เดือน เดี๋ยวมันจะมีน้ำแห้ง เดี๋ยวเพลี้ยจะมา หญ้ารก เด็กไม่รู้หรอก เด็กเห็นเฉพาะหน้าวันนี้ แล้วต่อไปวันหน้าเกิดมีอุปสรรคขึ้นมา แล้วเขาแพ้ มันจะเป็นบาดแผลนะ ว่าเขาทำไม่สำเร็จ ทั้งๆ ที่เขาเป็นเด็กเก่ง ทำไมแค่นี้ทำไม่สำเร็จ
ผมก็บอกว่า ครูนิ่มต้องระวังนะ งานนี้ครูนิ่มทำเกินตัว ทำอยู่คนเดียว ไปคุมเด็ก 29 คน ทำงานหนักแล้วมองไม่เห็นอนาคต ว่าจะแก้อุปสรรคอย่างไร ผมขออย่างเดียว เมื่อไหร่ที่เกิดอุปสรรคขึ้น ครูต้องอย่าให้เด็กล้ม ไม่อย่างนั้นมันจะเป็นบาดแผลของการทำงานในโครงงานเพาะพันธุ์ปัญญา เด็กจะไม่มั่นใจ เพราะเป็นเด็กเก่ง แต่ทำไม่สำเร็จ
จากนั้น เด็กเริ่มมีปัญหากัน เริ่มทิ้งงาน เริ่มบ่น เริ่มทะเลาะกันในเฟซบุ๊ค พอผมรู้อย่างนี้ ผมรีบบอกครูนิ่มว่า ครูต้องหาวิธี นั่นล่ะ แล้วเธอก็เขียนจดหมาย ความในใจของครูนิ่ม แล้วส่งให้เด็กอ่าน ครูนิ่มเล่าในคลิปของเธอเอง มูลนิธิสยามกัมมาจลไปทำเรื่องราวของครูนิ่มเลย ครูนิ่มเขามีวิธีการที่น่าสนใจมาก เขาเปิดเวทีเปิดใจก่อน แล้วชวนเด็กมานั่งล้อมวง เสร็จแล้วก็บอกว่า พวกเราจะเปิดใจคุยกัน ครูจะเป็นแรกที่เปิดใจกับพวกเธอ แล้วครูก็นั่งตรงกลาง ครูก็เล่าชีวิตครู เปิดใจ แล้วก็ร้องไห้ เด็กก็ตกใจ
ทีนี้ ผมตามดูไดอารี ครูนิ่มไม่ยอมเขียนไดอารีตอนนี้ แต่เด็กเขียน ผมเลยรู้ เด็กเขียนว่า ครูนิ่มมานั่งเปิดใจกับพวกเรา แล้วก็ร้องไห้ แต่ครูนิ่มไม่เขียน
ความจริงเรื่องครูนิ่ม ผมไปเจอครั้งแรกที่ราชภัฏลำปาง ครูนิ่มเป็นครูรุ่นที่สองที่ได้รับมอบหมายให้มาทำ เสร็จแล้วเธอไม่รู้อะไรเลย กลุ้มใจมาก เธอก็ไปอ่านหนังสือที่ผมเคยแจกไว้ พออ่านหนังสือก็บันทึกลงสมุด เธอบอกว่า อ่านหนังสือเล่มแรกของผม เธอเข้าใจแล้ว มันต้องทำอย่างนี้แหละ เธอสื่อสารกับตัวเอง เสร็จแล้วพอปฏิบัติไประยะหนึ่ง ที่ลำปางเขาเปิดเวทีลำปางวิจัย ก็คือให้อาจารย์มหาวิทยาลัยมีเวทีในการนำเสนอผลงานวิจัย แล้วเขาจัดเวลาให้ครูเพาะพันธุ์ปัญญาไปนำเสนอด้วย ครูนิ่มก็ทำวิจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงของนักเรียน ว่าเขาเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
งานวิจัยชิ้นแรกของครูนิ่มไปเสนอ International Conference ที่หัวหิน ศูนย์พี่เลี้ยงมหิดลจัด แล้วเราเอางานวิจัยของครูไปได้ประมาณ 7 เรื่อง เราก็บอกว่าเราจะเปิดเวที แล้วนำเสนอเป็นภาษาอังกฤษ ครูไม่เคยไปไง พี่เลี้ยงก็ช่วยกันใหญ่ ฝึกภาษาอังกฤษกันน่าดู พอครูขึ้นเวทีได้ ก็ดีใจกันมากๆ
แล้วงานที่ลำปางเป็นงานก่อนหัวหิน ผมก็ไปดูงานลำปางวิจัย ครูนิ่มก็นำเสนอในห้องใหญ่ เด็กนักเรียนก็มานั่งฟัง ครูนิ่มก็เล่าวิธีการทำวิจัยของเธอ วิธีการเก็บข้อมูล แล้วก็มาสรุปการเปลี่ยนแปลงของนักเรียน เพราะงานวิจัยของเธอคือ การเปลี่ยนแปลงของนักเรียนในด้านต่างๆ ของศตวรรษที่ 21 อันเนื่องมาจากโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา
วิธีการของครูนิ่มคือ ให้เด็กเป็นคนเขียนไดอารีบันทึกการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง แล้วเอามาทำ content analysis แต่พอขึ้นสไลด์สุดท้าย ครูพูดไม่ออก ข้อสรุปงานวิจัยนี้ เรื่องการเปลี่ยนแปลงของนักเรียน แล้วเธอก็ชูไดอารี เสร็จแล้วก็ร้องไห้ พูดไม่ออก เด็กๆ ก็ปรบมือกัน แล้วครูก็เก็บของลงจากเวที
เหตุการณ์วันนั้น ครูนิ่มไม่ยอมบันทึก แต่เด็กบันทึก เด็ก 4-5 คนเขียนไดอารีบอกว่า วันนี้ครูนิ่มขึ้นเวทีนำเสนอ ตอนแรกดูสนุกมากเลย ที่ครูฉายมีแต่รูปพวกเรากำลังทำงานกัน แต่ไปๆ มาๆ สุดท้ายครูนิ่มร้องไห้ แล้วเด็กก็เล่าความรู้สึกของตัวเองตอนที่เห็นครูนิ่มร้องไห้
วันนั้นผมอยู่ในเหตุการณ์ มันแปลกมากเลยที่คนขึ้นไปร้องไห้ โดยพูดสไลด์สุดท้ายไม่ออก ต่อหน้าเด็กนักเรียนของตัวเอง มันจะเกิดอะไรขึ้น นักเรียนต้องช็อกแน่ๆ เห็นครูนั่งร้องไห้ ผมก็เลยนัดครูนิ่ม ว่าอีก 2 อาทิตย์ผมจะขอไปดูที่โรงเรียน ผมก็ได้ไปเห็นทุ่งนาที่เด็กทำ ผมคิดว่ามันเกิดความเปลี่ยนแปลงกับตัวเขา มันเกิด group transformation แล้วเด็กรุ่นนี้เป็นเด็กที่รักกันมาก ผ่านอุปสรรคมาด้วยกัน เหมือนชาวค่ายที่ไปเข้าค่ายกัน กินข้าวหม้อเดียวกัน ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน
นอกจากความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นกับเด็กๆ แล้ว ตัวครูเองก็มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างมากใช่ไหม
ผมคิดว่า ครูนิ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงข้างในจากการที่ครูมาเข้าโครงการนี้ แล้วเปลี่ยนตัวเอง อย่างที่บอก ทีแรกเธอเป็นครูประเภทฮาร์ดคอร์ เฮี้ยบ ดุ เธอเปลี่ยนไปเยอะ ครั้งแรกครูนิ่มสอนแบบตั้งคำถามไม่เป็น ผมเห็นในเฟซบุ๊คนะ ผมจึงพัฒนาเทคนิคขึ้นใหม่ คือสอนให้ฝึกการตั้งคำถาม รอบเดียวครูนิ่มเป็นเลย เสียดายตอนนี้เธอย้ายโรงเรียนแล้วเพราะเป็นคนในเมืองลำปาง เลยย้ายจากแจ้ห่มไปอยู่โรงเรียนลำปางกัลยาณี ซึ่งไม่อยู่ในโครงการของเรา
หลังจากที่ครูนิ่มร้องไห้ ผมก็ลงพื้นที่อีก 2 อาทิตย์ แล้วผมอ่านไดอารี อาทิตย์ถัดมาเกิดปัญหาในโรงเรียน ผมเลยแปลกใจ ตอนที่ผมลงไปทุกคนคึกคักมากเลย พอผมกลับมาอาทิตย์เดียวปัญหาเกิดขึ้นทันที ปัญหาในโรงเรียนมัน dynamic มาก ตอนที่ผมลงไปดูโรงเรียน ผมไปพบกับครู แล้วเอาพี่เลี้ยงไปอยู่กับนักเรียน นั่งทำกิจกรรม ผมไปแก้ปัญหาให้ครู เอาโจทย์มานั่งคุยกัน แล้วดูดีไซน์ตัวโครงงาน เสร็จแล้วตอนที่จะลงท้องนา ครูก็ไปเจอกับเด็ก มีภาพหนึ่งตอนที่ครูเดินเข้าไป เด็กเข้ามาขอบคุณแล้วร้องไห้อีกรอบหนึ่ง เพราะว่าอะไรรู้ไหม เพราะว่าตอนที่ผมไป ปกติ ผอ. มาต้อนรับ ครูนิ่มก็ออกไปกล่าว เพราะ ผอ. ก็ไม่รู้เรื่องว่าทำอะไรกันอยู่
ครูนิ่มก็ออกไปกล่าวรายงาน กล่าวรายงานได้สักนาที เธอร้องไห้ เสร็จแล้วก็มีตัวแทนนักเรียนไปกล่าวขอบคุณ ผอ. เด็กก็ร้องไห้ เสร็จแล้วผมบอกว่าครูไปทำกิจกรรมกับผมก็แล้วกัน ครูก็ไป นักเรียนก็อยู่กับพี่เลี้ยง พี่เลี้ยงบอกให้นักเรียนเขียนจดหมายถึงครู เขียนบันทึกลงกระดาษเอสี่ ใช้ปากกาเมจิกเขียนสั้นๆ ว่าฉันรู้สึกอย่างไรเมื่อเห็นครูร้องไห้ เด็กก็เขียนกัน แล้วพี่เลี้ยงก็รวบรวมเอาไว้ ผมก็ไปอยู่กับครู
สักพักหนึ่งพอได้เวลา ผมก็พาครูมาหาเด็กเพื่อจะลงท้องนา เด็กก็เข้ามากอดครูแล้วร้องไห้อีกรอบหนึ่ง นั่นคือ transform แล้ว ครูกับศิษย์ transform แล้ว transform ดูตรงไหน มันดูการเปลี่ยนข้างในของครู การเปลี่ยนของครูที่จิตใจ มันเห็นครูเปลี่ยนแปลง
ที่โรงเรียนขุนหาญวิทยาสรรค์ จังหวัดศรีสะเกษ มีปรากฏการณ์ที่น่าศึกษาเกิดขึ้น หลังจากเราพาครูทั่วประเทศไปดูเคสครูนิ่ม พอกลับไปเขาก็ทำตามกันหมดเลย ครูแจ๋ว ที่ขุนหาญก็ชวนเด็กๆ ไปทำนาบ้าง ทีนี้พอเปิดเทอมใหม่ เด็กเพาะพันธุ์ปัญญารุ่นพี่อยากให้น้องเรียน ก็ตั้งโต๊ะแคมเปญให้น้องมาเรียนเพาะพันธุ์ปัญญา รอง ผอ. ฝ่ายวิชาการไม่ยอม เพราะเด็กแห่เข้ามาเรียนเพาะพันธุ์ปัญญา รอง ผอ. บอกว่าไม่ได้ ต้องแบ่งไปรองรับโครงการต่างๆ ของ สพฐ. ด้วย
เด็กๆ ที่เข้าแถวลงทะเบียนเลยต้องถูกตัดแถว ปรากฏว่า เด็กร้องไห้ เพราะไม่ได้เรียนเพาะพันธุ์ปัญญา หลังเลิกเรียนก็กลับไปบอกแม่ พอดีเด็กบางคนแม่เป็นครู แม่กลับมาถามว่า ทำไมลูกฉันไม่มีสิทธิ์ได้เรียน ลูกฉันต้องมีสิทธิ์ได้เรียน ก็เป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตเลย
นี่คือปรากฏการณ์ที่เห็นผลไปยังผู้ปกครอง เพราะว่าพฤติกรรมของนักเรียนนั้นเปลี่ยนไปเยอะ
จากประสบการณ์ที่สั่งสม สู่โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ความเชื่อที่เกิดจากประสบการณ์
ในฐานะที่ไม่ได้เป็นผู้จบด้านการศึกษาโดยตรง ทำให้ผมกลับยิ่งเชื่อในประสบการณ์ ผมเชื่ออะไร? และความเชื่อนั้นกลายมาเป็นโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาได้อย่างไร
- เชื่อว่า Learning by Doing ต้องไม่หยุดที่ปฏิบัติ การศึกษาต้องเอาผลจากการปฏิบัติมาอธิบายด้วยสาระอันเป็นกฎธรรมชาติ
- กระบวนการหมุนเกลียวปัญญาของมนุษย์ ให้ปัญญายกระดับสูงขึ้น เรียกว่า ‘วิจัย’
- เห็นว่า ‘วิจัยคือกระบวนการสร้างปัญญาให้แก่ผู้ทำวิจัย’ ทำให้เชื่อว่า วิจัย คือ กระบวนการของการศึกษายุคใหม่ ยุคที่ความรู้หาได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส
- ครูต้องเป็นผู้เข้าใจวิจัยในมิติกระบวนการการศึกษาที่พัฒนาปัญญาผู้เรียน และต่อไปนักเรียนคือผู้ทำวิจัย ไม่ใช่ครู เราต้องเชื่อว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่พัฒนาปัญญาได้ด้วยตนเอง ครูเป็นผู้ชี้แนะ (coach) เท่านั้น ปัญหาคือ ครูเข้าใจวิจัยอย่างไรต่างหาก
- เราเชื่อว่าครูเป็นผู้ทำวิจัย เพื่อให้เชี่ยวชาญในความรู้ หรือวิธีการหาความรู้ แล้วเอาความรู้นั้นมาจัดการศึกษาให้เกิดผลสัมฤทธิ์แก่นักเรียน แต่อดีตได้พิสูจน์แล้วว่าผิด ครูได้เลื่อนวิทยฐานะกันถ้วนหน้า แต่นักเรียนกลับมีผลการศึกษาแย่ลง ดังนั้น วิธีที่ปฏิบัติกันมานั้นควรต้องพิจารณาใหม่
- ไม่ปฏิเสธวิชาสถิติ แต่ปฏิเสธการเอาสถิติมาเป็นเครื่องมือวิจัยเพื่อการศึกษาของครูและนักเรียนมัธยม มิใช่เพราะสถิติดอกหรือที่ทำให้ครูทั่วประเทศกลัววิจัย
- การวิจัยแบบที่ครูทำกันนั้นเป็นงานวิจัยหาความรู้สมัยก่อนพุทธกาล วิจัยที่ทำให้พ้นทุกข์แท้ที่จริงแล้วเกิดจากการเปลี่ยน paradigm มาเป็น ‘ผลเกิดจากเหตุ’ (อิทัปปัจจยตา) กฎธรรมชาติข้อนี้ค้นพบมา 2,600 ปีแล้ว
- โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาต้องเปลี่ยนครูให้เข้าใจวิจัยในหลัก ‘ผลเกิดจากเหตุ’ ซึ่งที่ผ่านมาเปลี่ยนความเข้าใจของครูได้ แต่ครูยังเอาไปปฏิบัติเพื่อ coach นักเรียนไม่ได้ดีนัก เราต้องหาทาง detox ครูกันอีกมาก เพราะความเป็นปัจจัตตัง ผมจึงคิดว่าไม่น่ามีวิธีใดดีกว่าการให้ครูทำวิจัยในแนวคิดนี้ให้เป็นด้วยตนเองก่อน
- ที่ ครูตรีนุช (แจ้ห่มวิทยา) เขียนในเฟซบุ๊ค และผมเอามาบันทึกนี้ ทำให้ยืนยันแนวทางการเปลี่ยนแปลงว่า เราต้องเปลี่ยนที่ครู และการเปลี่ยนต้องเปลี่ยนไปที่ใจ ปัจจัยที่ทำให้ครูเปลี่ยนที่ใจคือ ‘การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม’ ของนักเรียน เราเปลี่ยนคนให้มีความรู้ได้จากการสอน แต่การเปลี่ยนพฤติกรรมต้องใช้เครื่องมือใหม่อย่างที่เพาะพันธุ์ปัญญาใช้อยู่ การเปลี่ยนของนักเรียนปลุกจิตสำนึกของความเป็นครูได้ไม่ยาก เพราะคนที่มาเป็นครูล้วนมีเป้าหมายเพื่อการเป็นครู
- ผมเชื่อว่า การศึกษาต้องเปลี่ยนอุปนิสัย (character) ของผู้เรียน เมื่อนิสัยเปลี่ยน ผลสัมฤทธิ์การเรียนจะตามมาเอง ผมเห็นว่าการให้การศึกษาปัจจุบันไม่เห็นประเด็นนี้ จึงเน้นไปที่การอัดด้วยสาระวิชาเพื่อให้รู้
เรียบเรียงจาก: ฤดูกาลเรียนรู้ที่แจ้ห่มวิทยา, สุธีระ ประเสริฐสรรพ์, มีนาคม 2558