ข่าวรอบรั้ว: สกว.รุกจัดการความรู้ ย่อยงานวิจัยให้เคี้ยวง่ายผ่านเว็บไซต์ Knowledge Farm

สกว.เปิดตัวเว็บไซต์ Knowledge Farm.in.th หวังให้เป็นสะพานเชื่อม 2 โลก คือ ระหว่างโลกวิชาการ และโลกสังคม ผศ.ปกป้อง ยันเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ หยิบงานวิจัยมาเล่า ย่อยขนาดสั้นให้เข้าใจง่าย มีอินโฟกราฟฟิก

วันที่ 16 พฤศจิกายน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) แถลงข่าว พร้อมเปิดตัวเว็บไซต์ “Knowledge Farm : ฟาร์มรู้สู่สังคม” ณ ห้องเอนกประสงค์ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวถึงการสนับสนุนการวิจัยที่ผ่านมา สกว.เน้นให้ทุนวิจัยในมหาวิทยาลัยเป็นหลัก ปัจจุบันเราปรับยุทธศาสตร์ใช้ปัญหาสังคมเป็นจุดตั้งต้น โดยโจทย์วิจัยจึงมาจากสังคม เช่น เรื่องความเหลื่อมล้ำ  เป็นต้น

“เราอยากให้สกว.เป็นของคนไทย ให้ได้ประโยชน์จากงานวิจัย ผ่านการสื่อสารทางโซเชี่ยลมีเดีย เว็บไซต์ เช่น ตัวเลขผู้สูงอายุ เกิน 100 ปี ซึ่งมีอยู่ 1 พันกว่าคน ในประเทศไทย ข้อมูลเหล่านี้ทำไมเราต้องสนใจ เป็นต้น นี่คือการสื่อสารทางสังคมให้ เข้าถึงคนจำนวนมหาศาลในเวลาอันสั้นที่สุด และเป็นบทบาทหน้าที่สื่อสารงานวิจัยออกไปให้ได้มากที่สุด  ได้ความรู้ใหม่ๆ”

ผอ.สกว.กล่าวด้วยว่า การให้ทุนวิจัยจะเกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ และส่วนใหญ่มีข้อมูลซับซ้อน เล่มหนามาก ที่ผ่านมามีงานวิจัยของสกว.กว่าหมื่นโครงการ และพบว่า มีการค้นหาข้อมูลมากกว่า 2 แสนครั้ง สมาชิกเข้ามาดาวโหลดในเว็บไซต์ สกว.กว่า 3 แสนครั้ง ขณะที่เมื่อมีการตีพิมพ์ออกมาก็เข้าใจยาก ต่อจากนี้ช่องว่างการเข้าถึงประชาชน จะมีการเชื่อมข้อมูลให้เข้าใจง่าย เป็นความพยายามการสื่อสารของ สกว.

รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกุล รองผอ.ด้านการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ สกว. กล่าวถึงกรอบวิจัยทางยุทธศาสตร์ 12 เรื่อง  อาทิ งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจะเห็นโจทย์ระดับพื้นที่ คนพิการ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร การขับเคลื่อแนแผนประชากร ซึ่งทำงานร่วมกับสภาพัฒน์ฯ อยากเห็นศักยภาพของคนรุ่นหนุ่มสาว รวมถึงการส่งเสริมการมีบุตร

“การสื่อสารออนไลน์ ถือเป็นการเปิดพื้นที่การสื่อสารสองทาง เชื่อว่าจะสามารถเสนอโจทย์ใหม่ๆให้สกว.ได้”

ขณะที่ผศ.ปกป้อง จันวิทย์ หัวหน้าโครงการจัดการความรู้และสื่อสาธารณะการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ ของสกว.กล่าวถึงการทำงานวิจัยและไม่ถูกเผยแพร่ จนมีการพูดกันว่า งานวิจัยไทยขึ้นหิ้ง ซึ่งมองว่า งานวิจัยดีๆ  สามารถเผยแพร่สู่สังคมวงกว้างได้ โดยต้องมีการจัดการ ปรุงรสให้น่าชิมมากขึ้น

“เว็บไซต์ Knowledge Farm.in.th หวังให้เป็นสะพานเชื่อมระหว่าง 2 โลก คือ ระหว่างโลกวิชาการ และโลกสังคม  เว็บไซต์นี้จะมีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ เช่น การหยิบงานวิจัยมาเล่า ย่อยงานวิจัยให้มีขนาดสั้น เข้าใจง่าย นำเสนอแบบอินโฟกราฟฟิก นำความรู้มาสังเคราะห์นำเสนอเป็นสารคดีสั้น หนังสั้น มีดารามาแสดง เป็นต้น” ผศ.ปกป้อง กล่าว และว่า นอกจากนี้ยังเป็นคลังเก็บงานวิจัยฉบับเต็มด้วย ต่อไปคนเห็นเว็บไซต์นี้จะนึกถึงสกว. โดยมีประตูเข้าสามช่องทาง เฟชบุค ทวิตเตอร์ และยูทิวป์

ผศ.ปกป้อง กล่าวด้วยว่า โลกยุคใหม่เราต้องทำงานสื่อสารกับประชาชน เมื่อประชาชนเข้าใจข้อเสนอ มีฐานความรู้ การผลักดันนโยบายดีๆ สู่รัฐบาลไม่ใช่เรื่องยาก


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกเว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 ในชื่อ สกว.รุกจัดการความรู้ ย่อยงานวิจัยให้เคี้ยวง่ายผ่านเว็บไซต์ Knowledge Farm