ข่าวรอบรั้ว: ห่วง’เศรษฐกิจไทย’โตกระจุก ระยะยาวเหมือน’คนแก่ป่วย’

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ

 

สัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2560 ออกมาเติบโต 3.7% สูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์เอาไว้ ขณะเดียวกัน สศช. ยังได้ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้เพิ่มเป็น 3.5-4% มีค่าเฉลี่ยกลางอยู่ที่ 3.7% โดยตัวเลขดังกล่าวค่อนข้างสวนทางกับความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ในประเทศ

ในงานสัมมนาเรื่อง “เศรษฐกิจไทย สถานการณ์ปัจจุบันและทางออกสำหรับอนาคต” ซึ่งจัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ได้เชิญนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิด ที่มีต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคตซึ่งภายในงานสัมมนานี้ได้สะท้อนถึงภาพรวมเศรษฐกิจที่การเติบโตยัง ค่อนข้างกระจุกตัวและไส้ในยังคงมี ความเปราะบางให้เห็นอยู่

“สมประวิณ มันประเสริฐ” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา บอกว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2560 ที่ สศช. รายงานออกมาซึ่งขยายตัว ได้ถึง 3.7% สูงกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์เอาไว้นั้น อาจไม่ได้ส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้มากนัก

“เศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกเติบโตได้ดีกว่าที่คาดไว้มาก แต่ก็เกิดคำถามมากมายว่า ทำไมเศรษฐกิจขยายตัวได้ดี แต่คนยังมองว่า เศรษฐกิจไทยไม่ดีอยู่ หากพิจารณาใน รายละเอียดจะพบว่าการขยายตัวนั้น อยู่เฉพาะกลุ่มเท่านั้น”

สมประวิณ ประเมินด้วยว่า การขยายตัว ส่วนใหญ่มาจากภาคการส่งออกที่เติบโต ได้ดีกว่าที่คาดไว้ ผู้ที่ได้รับอานิสงส์จากการส่งออกขยายตัวส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทข้ามชาติ ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย และธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องบางส่วน

ผลจากเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวดีขึ้นส่งผลให้ ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงศรี ได้ปรับมุมมองของเศรษฐกิจไทยดีขึ้น โดยคาดว่า จีดีพีทั้งปีจะขยายตัว 3.7% จากเดิมขยายตัว 3.1% แต่ธนาคารยังประเมินว่าการบริโภคในประเทศและการลงทุนภายในประเทศยังอ่อนแออย่างมาก มีแรงกดดันของเอ็นพีแอล อยู่ในระดับสูง และจะสูงสุดในช่วงไตรมาสที่ 4

อย่างไรก็ตาม สมประวิณ มองว่า ภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว เปรียบเหมือนคนแก่ที่ป่วย กล่าวคือ การเติบโตของเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับ ที่ต่ำมาก จากเมื่อ 10 ปีก่อนจีดีพีเติบโต ปีละ 10% เหลือระดับ 3-4% และการผลิตอยู่ในอุตสาหกรรมรูปแบบเก่าไม่มีการลงทุนใหม่ อีกทั้งใช้รูปแบบผลิตสินค้าราคาถูกไม่เน้นการเพิ่มผลิตภาพซึ่งจะเป็นข้อจำกัดการเติบโตของประเทศไทยในระยะยาว

นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีโครงสร้างที่ไม่เอื้อกับการเติบโตของบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก(เอสเอ็มอี) ทั้งการจัดตั้งบริษัทที่มีความยุ่งยาก การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ได้ยากเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทขนาดใหญ่ ขาดความเท่าเทียมในการแข่งขัน

สำหรับมุมมองของกระแสธุรกิจ สตาร์ทอัพนั้น มองว่า ปัจจุบันผู้ที่ต้องการเป็นสตาร์ทอัพสูงมาก แต่จะพบว่า มีจำนวนน้อยมากที่มีความรู้เพียงพอ ในการดำเนินการต่างๆ ทั้งการทำธุรกิจการเงิน รวมถึงแผนการเติบโตยังเป็นจุดอ่อน ที่สำคัญฉุดการเติบโตในอนาค

“พีระ เจริญพร” คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า ประเทศไทยมีการพัฒนางานวิจัยจำนวนมาก แต่ยังขาด การเชื่อมโยง ทั้งการทำการตลาด การนำ การวิจัยและพัฒนาไปต่อยอดให้ใช้ได้จริง ในภาคธุรกิจ รวมถึงมีข้อจำกัดมาก โดยจะพบว่าหน่วยงานรัฐไม่กล้าจะร่วมมือวิจัย และพัฒนากับบริษัทข้ามชาติ ทั้งที่ การจะก้าวขึ้นไปอยู่ในระดับแนวหน้า จะต้องพึ่งพิงกลุ่มบริษัทดังกล่าว

แม้ไทยมีการวิจัยพัฒนาจำนวนมาก แต่เม็ดเงินที่ใช้ยังอยู่ในระดับต่ำเพียง 0.4% ของจีดีพี เมื่อเทียบกับเกาหลีใต้ที่ 4 % ของจีดีพี งานวิจัยกว่า 60% เป็นของภาครัฐบาล ที่ขาดการนำไปใช้ต่อ

สำหรับภาพเอสเอ็มอีมองว่าต้อง ผลักดันให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนและเข้าถึงการสนับสนุนของภาครัฐให้มากขึ้น รวมถึง การผลักดันให้เอสเอ็มอีมีระดับผลิตภาพ ที่สูงขึ้นผลักดันให้นำนวัตกรรมเข้ามามี ส่วนร่วมเพื่อยกระดับของสินค้าให้มีคุณภาพและมีราคาที่สูง

“วีระชาติ กิเลนทอง” คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย หอการค้าไทย มองว่า ภาพรวม ของการศึกษาไทยมีปัญหาเชิงคุณภาพ แม้จะมีเม็ดเงินที่ถูกทุ่มลงไปมาก แต่ได้รับผลตอบแทนที่ต่ำ เกิดจากระบบการสอนของครูยังเป็นรูปแบบเดิม คือการท่องจำ ขาดการมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้

“จำนวนครูทั่วประเทศมีอยู่ 5 แสนคน ผมมองว่าเงินเดือนไม่ใช่ปัญหา และผู้ที่ เข้ามาเป็นครูจะพบว่ามีคุณภาพมากขึ้น แต่สิ่งที่เป็นปัญหาเกิดจากกระบวนการเรียนการสอน ที่อยู่ในรูปแบบเดิมๆ ที่เคยทันสมัยเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ตอนนี้ มันล้าสมัย”

อย่างไรก็ตามการยกระดับการเรียนการสอน จะเป็นประโยชน์กับทุนมนุษย์ ในระยะยาว โดยสิ่งที่จะต้องสร้างคือสร้างแรงจูงใจให้ครูตั้งใจทำงานมากขึ้น นำเอาการเรียนการสอนที่นักเรียนมี ส่วนร่วมเข้ามาใช้รวมถึงต้องเลิกการปกป้องสถานศึกษา ต้องปล่อยให้สถานศึกษาสามารถ ล้มหายตายจากได้ กระตุ้นให้เกิดการแข็งขัน อย่างแท้จริง เพิ่มอำนาจของผู้ปกครองให้มีบทบาทในการกำหนดนโยบายการเรียนการสอนได้

สศช.จี้วางนโยบายเสริมแกร้ง‘เอสเอ็มอี’

ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สศช.ระบุว่าประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ต้องให้ความสำคัญทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกประเทศ โดยปัจจัยภายนอก ยังต้องจับตานโยบายการเงินการคลัง ของสหรัฐ ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงส่งผล ให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าสวนทางกับเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจากการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศ

สศช.ได้ปรับการคาดการณ์อัตราแลกเปลี่ยนจาก 35 – 36 บาทต่อดอลลาร์ มาเป็น 34 – 35 บาทต่อดอลลาร์เนื่องตามทิศทางเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น แต่ยังมองว่า การแข็งค่าของเงินบาทในขณะนี้ไม่อันตรายและไม่กระทบต่อเป้าหมายการส่งออก

สำหรับปัจจัยภายในประเทศต้องให้ความสำคัญกับ การเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้ กรอบงบประมาณโครงการสำคัญๆให้ได้ตาม เป้าหมาย การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยลดข้อจำกัดการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการเข้าถึงสินเชื่อ

ขณะเดียวกันยังต้อง เร่งรัดการเบิกจ่าย เม็ดเงินโครงการตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2560 การดูแลเกษตรกรและ ผู้มีรายได้น้อย โดยเตรียมมาตรการรองรับผลผลิตทางการเกษตรที่จะออกสู่ตลาด มากขึ้นรวมทั้งการป้องกันและบรรเทาปัญหา ภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะปัญหาอุทกภัยที่อาจส่งผลกระทบต่อการบริหารเศรษฐกิจในภาครวม


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกเว็บไซต์ กรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 ในชื่อ ห่วง’เศรษฐกิจไทย’โตกระจุก ระยะยาวเหมือน’คนแก่ป่วย’