ข่าวรอบรั้ว: มองสามมุมเรื่องสถานการณ์และทางออกเศรษฐกิจไทย

แม้ประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทว่าโมเดลการพัฒนาแบบเดิมเริ่มมาถึงขีดจำกัด เมื่อต้องเผชิญกับข้อจำกัดหลายประการ อาทิ ผลิตภาพการผลิตต่ำ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การแข่งขันทางเศรษฐกิจที่รุนแรงในตลาดโลก การขาดเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ทำให้ไม่สามารถยกระดับการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการได้ ฯลฯ สถานการณ์เช่นนี้ ประเทศไทยต้องหาโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ที่มีคุณภาพ

ข้อถกเถียงเกี่ยวโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ยิ่งมีความแหลมคมมากขึ้น เมื่อตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจของรัฐสวนทางกับความรู้สึกของผู้คนในโลกจริง ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาสสอง ปี 2560 อยู่ที่ 3.7% ซึ่งสูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ ในขณะที่คนส่วนใหญ่ในประเทศกลับไม่ได้รู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้นแต่อย่างใด

เกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจไทยกันแน่? เรากำลังเผชิญหน้ากับปัญหาอะไร? อะไรคือประเด็นเศรษฐกิจที่สังคมไทยควรจับตา? อะไรคือทางออกสำหรับอนาคตของเศรษฐกิจไทย?

ร่วมสำรวจสถานการณ์และทางออกเศรษฐกิจไทยกับ รศ.ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา รศ.ดร.พีระ เจริญพร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ผศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผ่านมุมมองเศรษฐกิจมหภาค นโยบายอุตสาหกรรม และการปฏิรูปการศึกษา

เศรษฐกิจมหภาคไทย : ป่วย แก่ กระจุก 

ดร.สมประวิณ ชี้ว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเปรียบเสมือนคนชราและคนป่วยจนทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตได้ช้า แม้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 ตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจะสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ผู้คนจำนวนมากกลับรู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดี เพราะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยเป็นเพียงแค่การฟื้นไข้เท่านั้น แต่ความ ‘แก่’ ยังคงอยู่ เศรษฐกิจไทยจึงยังคงฟื้นตัวช้า และอาจไม่สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วอีกแล้วภายใต้โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเดิม

“โรคจริงๆ ของเศรษฐกิจ คือ ‘แก่’ เราพัฒนามาหลายลำดับขั้นแล้ว เริ่มตั้งแต่ขุดทรัพยากรมาขาย แล้วพัฒนาด้วยการใส่ปัจจัยการผลิต ใส่ทุน และแรงงานเข้าไป จนมาถึงปัจจุบัน เครื่องยนต์ที่ใช้ก็เริ่มเก่าแล้ว แต่ทางยังชันอยู่ ก็ไม่แปลกที่เราจะเจริญเติบโตได้ช้า” ดร.สมประวิณ ยกตัวอย่าง

ดร.สมประวิณ อธิบายเพิ่มเติมว่า อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ได้ดีขึ้น เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของการส่งออก ซึ่งกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มคนจำนวนน้อยและบริษัทไม่กี่รายเท่านั้น

นอกจากนี้ การรู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดีนั้นอาจเป็นผลมาจากการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจด้วย เช่น ภาคค้าปลีกของไทยที่เปลี่ยนผ่านมาสู่โลกออนไลน์มากขึ้น ในการวิเคราะห์จีดีพี ภาคค้าปลีกขยายตัวประมาณ 5.5% แต่การซื้อขายในห้างขยายตัวแค่ 2.3% ในขณะที่ออนไลน์ขยายตัวกว่า 15%

“ผู้ประกอบการต้องถามคำถามตัวเองให้ดีว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของวัฏจักรเศรษฐกิจ การกระจุกตัว หรือว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งการแก้ปัญหาจะต่างกัน” ดร.สมประวิณกล่าว

เมื่อถูกถามถึงทางออกของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ดร.สมประวิณ ชี้ว่า มีประเด็นหลัก 3 ประเด็นที่สังคมไทยต้องตอบ

ประเด็นแรก ความเท่าเทียมในการกระจายโอกาส โดยมีตัวชี้วัดอย่างง่ายคือ ‘ความง่ายในการทำธุรกิจ’ (ease of doing business) ดูได้จากการที่ผู้ประกอบการรายเล็กจะต้องไม่แบกรับต้นทุนในการทำธุรกรรมกับรัฐมากเกินไป

ประเด็นที่สอง การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ประเทศไทยจำเป็นต้องหาเครื่องมือทางการเงินแบบใหม่ๆ เพื่อให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงบริการทางการเงินได้

ประการที่สาม การแข่งขันที่เป็นธรรม กฎระเบียบต้องเอื้อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่แบบไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบได้

 

กับดักทางความคิดของภาคอุตสาหกรรมไทย : การทำวิจัยและพัฒนา

ที่ผ่านมา การพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยขึ้นอยู่กับการลงทุนของบรรษัทข้ามชาติค่อนข้างมาก แต่ในปัจจุบันสัดส่วนการลงทุนจากต่างชาติกำลังลดลง และไม่ได้เลือกประเทศไทยเป็นฐานในการผลิตสินค้าชนิดใหม่

ทำไม?

ดร.พีระ ชี้ว่า ปัญหาสำคัญของภาคอุตสาหกรรมไทยคือ กับดักทางความคิดที่มุ่งเน้นแต่การทำวิจัยและพัฒนาเพียงอย่างเดียว ในขณะที่กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมีมากกว่านั้น เช่น การออกแบบ การทำวิศวกรรมย้อนกลับ (reverse engineering) การพัฒนาสินค้า ฯลฯ

แม้จะเน้นการวิจัยและพัฒนาเพียงอย่างเดียว แต่การวิจัยและพัฒนาของไทยยังมีปัญหาอยู่หลายด้าน ไม่ว่างบลงทุนที่น้อยเกินไป หรือเอกชนมีบทบาทในการวิจัยและพัฒนาน้อยเกินไป ในขณะที่ภาครัฐกลับมีบทบาทในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก

“การวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนและภาครัฐไม่เหมือนกัน ภาครัฐทำแล้วมักจะขึ้นหิ้งทำให้ไม่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจริง” ดร.พีระกล่าวถึงปัญหาเรื่องการทำวิจัยและพัฒนาของภาครัฐ

นอกจากนี้ ภาครัฐไทยยังมีเครื่องมือเชิงนโยบายที่ใช้สนับสนุนการทำวิจัยและพัฒนาที่จำกัดมาก ประเทศไทยใช้แต่แรงจูงใจทางภาษีเพียงอย่างเดียว ซึ่งงานวิจัยเป็นจำนวนชี้ว่าเป็นเครื่องมือที่ไม่ได้ผล ดร.พีระ เสนอว่า ประเทศไทยควรเครื่องมืออื่นมาส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะการให้ทุนสนับสนุนของรัฐแก่ภาคเอกชน

กับดักทางความคิดอีกประการหนึ่งในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา คือ รัฐไทยไม่มีแนวคิดในการให้เงินทุนสนับสนุนบริษัทข้ามชาติ ซึ่ง ดร.พีระเห็นว่า เป็นนโยบายทางเลือกที่น่าสนใจและเคยประสบความสำเร็จในต่างประเทศมาแล้ว

“ถ้าเราอยากเป็นประเทศที่ผลิตนวัตกรรมและขยับขึ้นเป็นประเทศรายได้สูงแล้ว เราจำเป็นที่จะต้องมีเครื่องมือทางนโยบายที่หลากหลาย” ดร.พีระกล่าวย้ำ

สำหรับทางออกของภาคอุตสาหกรรมไทย ดร.พีระชี้ว่า รัฐไทยต้องเข้าใจว่าเศรษฐกิจไทยมีความหลากหลาย ดังนั้น รัฐควรออกแบบนโยบายเฉพาะส่วนแทนที่จะใช้นโยบายแบบเดียวกันหมด เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็กควรใช้นโยบายที่ให้ความสำคัญกับการขยายขนาดธุรกิจ (scale up) เพราะจะช่วยให้ผลิตภาพการผลิตสูงขึ้น หรือการออกแบบนโยบายอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยล่าสุดควรออกแบบในระดับบริษัท (tailor made) เนื่องจากผู้ประกอบการมีความเสี่ยงในการลงทุนที่แตกต่างกัน

 

การปฏิรูปการศึกษาต้องเริ่มต้นที่ระบบครู

ดร.วีระชาติ เริ่มต้นการอภิปรายด้วยการชี้ให้เห็นว่า การศึกษาเป็นกระบวนการที่จำเป็นต้องอาศัยปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ครูจึงเป็นผู้มีบทบาทในกระบวนการเรียนรู้ของเด็กเป็นอย่างมาก ดังนั้น หัวใจของการปฏิรูปการศึกษาต้องเริ่มต้นที่ระบบครู

“ทุกวันนี้ด้วยโครงสร้างผลตอบแทนที่เป็นอยู่ทำให้เราได้คนเก่งพอสมควรมาเป็นครู แต่ถ้าเราไม่เปลี่ยนระบบ คนเก่งเหล่านี้ก็เข้าไปอยู่ในระบบแบบเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง” ผศ.วีระชาติ กล่าวถึงความจำเป็นในการแก้ปัญหาระบบครู

ดร.วีระชาติชี้ว่า ปัญหาสำคัญของระบบครูมีอย่างน้อย 2 ประการ

ประการแรก การออกแบบระบบแรงจูงใจให้ครูส่วนใหญ่ตั้งใจสอนและปรับตัวเข้ากับการเรียนรู้ในโลกสมัยใหม่ได้ ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการพยายามแก้ปัญหานี้ด้วยการให้อำนาจส่วนกลางในการกำกับดูแล ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ผิดทิศผิดทาง

ประการที่สอง การเลือกใช้วิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพ โดยวิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพไม่ได้หมายถึง ‘วิธีที่ดีที่สุดในโลก’ ที่มีคนเก่งใช้ได้ไม่กี่คน หากแต่หมายถึง ‘วิธีที่ดีพอสมควร’ แต่เป็นวิธีที่ครูทั่วไปส่วนใหญ่สามารถนำไปใช้สอนได้จริง

เมื่อถามถึงทางออกของโจทย์ทั้ง 2 ประการ ผศ.วีระชาติชี้ว่า ยังไม่มีคำตอบที่น่าพอใจนักว่าต้องทำอย่างไร เพราะเป็นปัญหาค่อนข้างซับซ้อน แต่ก็ยังพอมองเห็นทางออกที่พอจะเป็นไปได้ คือ การกระจายอำนาจและการดึงผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องต่อกัน

“เป็นความท้าทายที่จะทำให้กระทรวงศึกษายอมรับบทบาทของผู้ปกครอง เพราะด้วยโครงสร้างรวมศูนย์ที่ผ่านมาทำให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมได้ไม่เต็มที่ สภาพเช่นนี้ไม่ได้ส่งเสริมให้ผู้ปกครองรู้สึกว่าตนเองเข้ามามีบทบาทได้ ” ดร.วีระชาติ กล่าว

 

สมคิด พุทธศรี เรื่อง

หมายเหตุ: เรียบเรียงจากเวทีเสวนาสาธารณะ Knowledge Farm Talk #3 “เศรษฐกิจไทย: สถานการณ์ปัจจุบันและทางออกสำหรับอนาคต” ซึ่งจัดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของงาน “25 ปี สกว. : สร้างคน สร้างความรู้ สร้างอนาคต” เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2560 ณ สยามพารากอน


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกเว็บไซต์ the101.world เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2560 ในชื่อ มองสามมุมเรื่องสถานการณ์และทางออกเศรษฐกิจไทย