สัมภาษณ์: รำลึกถึง ‘โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์’ ด้วยแนวคิดการพัฒนาในยุค ‘เกิดน้อย ตายยาก ย้ายถิ่น’

เขียน: ปกป้อง จันวิทย์

ผมมีโอกาสสัมภาษณ์คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ แบบเจาะลึกสองครั้ง ทั้งคู่เป็นการจับเข่าคุยเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ตั้งแต่เส้นทางการพัฒนาในอดีต สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน และความท้าทายในอนาคต
 
ครั้งแรก เป็นการสัมภาษณ์เรื่อง “เศรษฐกิจไทยในโลกที่เปลี่ยนแปลง” ร่วมกับภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ตีพิมพ์ในหนังสือ Macrotrends ภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลกใหม่และการปรับตัวของไทย จัดพิมพ์โดยสมาคมเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ร่วมกับ openbooks เมื่อปี 2552 (หน้า 158-189) 
 
ครั้งที่สอง เป็นการสัมภาษณ์เพื่อตีพิมพ์ในหนังสือ 30 ปี ทีดีอาร์ไอ 30 ปี การพัฒนาเศรษฐกิจไทย จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในปี 2557 (หน้า 110-129) 
 

ทุกครั้งที่ได้พบปะพูดคุยกับคุณโฆสิต ไม่ว่าครั้งสัมภาษณ์ยาว ในเวทีสัมมนา หรือในห้องประชุม ผมไม่เคยรู้สึกเลยว่าคุณโฆสิตเป็นนายแบงก์หรือนักธุรกิจเอกชน แต่สัมผัสได้ถึงความเป็น “เทคโนแครต” ตัวจริงเสียงจริง ผู้สนใจเรื่องการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง และการรับมือกับโจทย์ระยะยาวของประเทศ

คุณโฆสิตเคยบอกผมว่า ไม่ว่าจะสวมหมวกอะไร ท่านก็คงเป็นเทคโนแครตโดยสามัญสำนึก หากให้ไปทำธุรกิจเอง ก็คงเจ๊ง เพราะท่านสนุกกับการคิดมากกว่าการทำ แต่ตัวท่านก็ไม่ใช่เทคโนแครตแบบเด็กๆ อีกแล้ว ไม่ได้ไปอ่านไปหาเครื่องมือจากตำรามาใช้ทำมาหากิน ท่านศึกษาเรียนรู้จากความจริงในโลกจริง แล้วใช้สามัญสำนึก ใช้วิธีคิดเรื่องการพัฒนาเป็นกรอบในการเข้าใจปัญหาและแก้ไขปัญหา สำหรับคุณโฆสิต การพัฒนาคือการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ และท่านพูดเสมอว่า งานพัฒนาคืองานชั่วชีวิตของท่าน

ผมเคยถามคุณโฆสิตว่า สวมหมวกทำงานมาหลายหมวก เคยดำรงตำแหน่งทั้งในระบบราชการ บริษัทเอกชน และคณะรัฐมนตรี งานอะไรที่มีความสุขที่สุด ท่านตอบแบบไม่ลังเลว่าสมัยเป็นผู้อำนวยการศูนย์ประสานการพัฒนาชนบทแห่งชาติ ครั้งเป็นข้าราชการสังกัดสภาพัฒน์ในยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ช่วงนั้นคุณโฆสิตเป็นกำลังหลักของภาครัฐในด้านการพัฒนาชนบทและการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น ท่านสนุกกับการลงพื้นที่ เรียนรู้ปัญหาจริง และทำงานกับชาวบ้าน

เท่าที่ผมได้รู้จัก คุณโฆสิตเป็นคนง่ายๆ สบายๆ มองโลกในแง่ดี ไม่มีพิธีรีตอง และเมตตาให้เกียรติคนรุ่นหลังเสมอ แม้ท่านจะจริงจังเรื่องงาน แต่ก็สัมผัสได้ถึงการปล่อยวางตามธรรมชาติ ดังที่เคยให้สัมภาษณ์เรื่องหลักคิดในการทำงานไว้ว่า คนเราทำทุกอย่างไม่ได้ และไม่สามารถทำทุกอย่างได้ดีหมด งานบางอย่าง ถ้าเราเริ่มแล้วอาจทำไม่สำเร็จ แม้ทำเต็มที่แล้วก็ตาม สิ่งที่ควรทำคือดับความโลภตรงนี้ แล้วหาทางส่งต่อความคิดนี้ให้คนอื่นสืบสานต่อไป โจทย์สำคัญคือทำอย่างไรให้คนอื่นหันมาสนใจในงานที่เราให้คุณค่า

เช่นนี้แล้ว ทุกครั้งที่ได้สนทนากัน คำพูดของคุณโฆสิตที่ผมได้ยินบ่อยจนติดหูจึงเป็นคำว่า “การพัฒนา” “ระยะยาว” “มองไกล” สมกับความเป็นนักพัฒนาชั่วชีวิต และความเป็นเทคโนแครตโดยสามัญสำนึกของท่าน

ประเด็นหนึ่งที่คุณโฆสิตให้ความสำคัญมากในช่วงหลังคือเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรกับผลกระทบต่อสังคมเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ทั้งในระดับมหภาคคือการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงระดับครัวเรือนและบุคคล ขอไว้อาลัยคุณโฆสิตด้วยการชวนทุกท่านย้อนอ่านบทสัมภาษณ์ขนาดยาวว่าด้วยแนวทางการพัฒนาประเทศในยุค “เกิดน้อย ตายยาก ย้ายถิ่น” โดยสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ตีพิมพ์เมื่อปี 2558 ครับ

 
……….

ไทยพับลิก้า: “โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์” ชี้อาการ “เกิดน้อย ตายยาก ย้ายถิ่น” ถ้าไม่ทำอะไร ประเทศจะเดินไปสู่ความลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ – ถึงเวลาต้องสื่อสาร “ชุดข้อมูล ชุดความคิดใหม่” (ตีพิมพ์ 10 กุมภาพันธ์ 2558)

ดูเหมือนว่าเรื่องการเติบโตเศรษฐกิจกับเรื่องการ “เกิดน้อย ตายยาก และย้ายถิ่น” จะเป็นคนละเรื่องเดียวกัน ที่เกี่ยวพันแยกกันไม่ออก

วันนี้ผลของการเข้าสู่ยุค “เกิดน้อย ตายยาก และย้ายถิ่น” เห็นผลที่ชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่าอัตราการเติบโตของประเทศเริ่มโตลดลงเรื่อยๆ

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านของโครงสร้าง “ประชากร” ที่ค่อยๆ ซึมลึกแบบตั้งตัวไม่ทันว่าการ “เกิดน้อย ตายยาก และย้ายถิ่น”ส่งผลให้ครอบครัวเปลี่ยนไป นโยบายไม่สามารถเอื้อให้คนสุขทุกช่วงวัย สภาพที่คนไม่ได้กินดีอยู่ดี ไม่ได้มั่งมีศรีสุขถ้วนหน้า จึงส่งผลต่อศักยภาพการเติบโตของประเทศ แม้จะดูเป็นเรื่องจับต้องไม่ได้ แต่สะท้อนผ่านความมั่นคงของบุคคลเริ่มสั่นคลอนจากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มตกต่ำ

ดร.โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และในฐานะประธานคณะอนุกรรมการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ.2553-2583 ให้สัมภาษณ์ไทยพับลิก้า ถึงอนาคตประเทศไทยจากภาวะ “เกิดน้อย ตายยาก และย้ายถิ่น” ปรากฏการณ์ที่กำลังบั่นทอนความมั่งคั่งและความเข้มแข็งของประเทศว่า

การเปลี่ยนโครงสร้างประชากร มีผลกระทบใน 3 ระดับใหญ่ๆ ในระดับส่วนรวมจะมีผลกระทบต่อความเจริญเติบโต ในระดับของบุคคลจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงิน เพราะคนเราเมื่ออายุยืนขึ้น ก็จะมีเวลาหลังจากตัวเองที่ไม่มีรายได้ยาวขึ้น ก็กระทบต่อความมั่นคงทางการเงินของบุคคล ในเรื่องครอบครัวก็จะทำให้ครอบครัวเล็กลงและความสามารถของครอบครัวที่จะเอื้อเฟื้อต่อทั้งเด็กและคนชรามันก็จะจำกัด มันเลือกเอื้อได้คนเดียว เช่น เอื้อลูก ก็จะทำให้พ่อแม่ไม่ได้รับการดูแล นอกจากจะอยู่เป็นโสด เพราะฉะนั้นก็จะมีผลใหญ่ๆ 3 เรื่องนี้

เรื่องครอบครัวจะโยงไปถึงชุมชนด้วยจะเป็นแบบญี่ปุ่น คือเมื่อครอบครัวเล็กลง บวกด้วยการอพยพย้ายถิ่น คือสมาชิกในครัวเรือนไม่อยู่ด้วย จึงกลายเป็นสภาพครอบครัวที่อ่อนแอ ชุมชนเองที่หวังจะเข้มแข็ง แต่ถ้าคนอายุมากขึ้นเรื่อยๆ มีแต่คนแก่ชุมชนจะเข้มแข็งได้อย่างไร ขณะนี้สังคมไทยก็ยังเข้าใจในข้อสมมติฐานของนักวิชาการที่ว่าชุมชนเข้มแข็งอยู่ และทุกคนก็ดูจะหวัง แต่ว่าชุมชนแก่ขึ้นซึ่งเรากำลังเข้าสู่ยุคนั้น มันคงต้องเปลี่ยนข้อสมมติฐานนี้เสีย

แต่ไม่มีใครรู้ว่ามันจะเปลี่ยนไปยังไง นี่คือเรื่องหนึ่งที่ใหญ่มากว่า ดังนั้น “ฐานชุมชน” มัน “ใช่คำตอบ”สำหรับอนาคตหรือไม่ ความจริงมันเคยเป็นคำตอบที่ “ใช่” แต่อนาคต มันกำลังเปลี่ยนแปลงไป เพราะว่าแน่นอนว่าอายุมีผลต่อความมีประสิทธิภาพอะไรทั้งหลายทั้งปวง ความกระตือรือร้น โน่นนี่นั่น แต่คุณบอกว่าชุมชนเข้มแข็ง แล้วชุมชนที่อายุเฉลี่ย 60-70 ปี จะเข้มแข็งอย่างไร นี่คือคำถามง่ายๆ

เรื่อง “ความเจริญเติบโต” เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะว่าศักยภาพการเจริญเติบโตก็คือ จำนวนคนคูณด้วย productivity (ผลิตภาพ) ที่นี้เรื่องจำนวนคนไทยจะลดลงไปเรื่อยๆ ค่า productivity ไม่ขึ้น growth potential (ศักยภาพในการเติบโต) ก็จะตกลง นี่คือเรื่องของคนทำงาน

ในขณะเดียวกัน สัดส่วนของคนทำงานต่อคนไม่ทำงานมันก็จะแย่ลง ก็คือคนทำงาน 1 คนจะต้องดูแลคนที่ไม่ทำงานในสัดส่วนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะเป็นภาระ เพราะคนทำงานคือคนจ่ายภาษี เพราะฉะนั้นก็จะเป็นภาระทางการคลังว่าคนที่เป็นฝ่ายพึ่งพิงก็คงต้องจัดสวัสดิการอะไรให้เขา ก็เป็นเรื่องใหญ่ว่า ถ้าตราบใดที่ฐานภาษีมันแคบ แล้วจะเอาเงินที่ไหนไปทำสวัสดิการ แล้วยิ่งมีประชานิยมเข้ามาแย่งไปอีก สวัสดิการก็ไม่มี นี่คือเรื่องที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโต

ถ้าเราจะเอา productivity เป็นหลัก มันก็ต้องมีการลงทุน แต่ถ้าลงทุนแล้วไม่มีการออมมารองรับ มันก็เจ๊งแบบกรีซ เป็นต้น มันเป็นยวงที่ใหญ่มากเลย หรือทัศนคติของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ต้องการให้การบริโภคนำ เมื่อการบริโภคมาก การออมก็น้อย

ความตระหนักรู้ของเรื่องนี้ต่ำมาก เพราะว่าเป็นเรื่องระยะยาว ขาดทุนจำนำข้าว 5-6 แสนล้านบาทก็เรื่องเล็ก เพราะมันไม่เห็นวันนี้ แต่ถ้าคุณใช้วิธีนี้ไปเรื่อยๆ การออมทรัพย์ไม่เกิด แล้ววันหนึ่งตัวที่จะไปขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจโดยการลงทุนมันทำไม่ได้ เพราะว่าไม่มีเงินออมมาสนับสนุน ถ้าคุณจะหันไปหาการบริโภค ก็อาจจะทำไม่ได้ด้วย และไม่ควรทำ เพราะจะยิ่งไปทำลายการออมมากขึ้น มันก็เลยติดกึกกักๆ อยู่ตรงนี้ เพราะการเปลี่ยนแปลงในประชากรนี่แหละ มันจึงเป็นเรื่องใหญ่มาก นี่คือการเจริญเติบโต

เรื่อง “ส่วนบุคคล” เมื่อชีวิตยาวก็ต้องการการออมมากขึ้นเพื่อดูแลตัวเอง แต่ว่า ณ เวลานี้ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้เอื้อการออมเงิน เช่น นโยบายการเงิน มีหน้าที่สนับสนุนการเจริญเติบโต ต้องดูแลสมดุลทางเศรษฐกิจ ฉะนั้น ยิ่งโครงสร้างประชากรเปลี่ยน มันก็มีน้ำหนักมากขึ้นเรื่อยๆ กับความไม่มั่นคง และความเป็นห่วงตัวเองของประชาชน

ความเป็นห่วงตัวเองของประชาชน มันจะเป็นจุดใหญ่ที่เป็นความแตกแยกทางความคิด ระหว่างที่ว่า ถ้าคุณเป็นห่วง ก็อาจจะมีพรรคการเมืองเสนอว่า หากคุณเป็นห่วง เราจะแจกเงินคุณ เพื่อผ่อนคลายความเป็นห่วง หรืออาจจะมีพรรคการเมืองอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นเจ้าของภาษีอากร คือพวกที่ทำมาหากินแล้วจ่ายเงินภาษี ก็อาจจะคัดค้านความคิดแบบนี้ ความแตกแยกทางความคิดก็จะเป็นด้วยเหตุนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

ฝ่ายที่บอกว่ารับรู้ความเป็นห่วงและต้องการจะให้คำตอบด้วยการผ่อนคลายระยะสั้น กับฝ่ายที่มีความเข้าใจว่า การผ่อนคลายระยะสั้นคือความสูญเสีย ความสูญเปล่า ซึ่งวันนี้ก็เห็นว่ามีหลายพรรคที่คิดอย่างนี้ คิดอย่างนั้น หรืออยู่ตรงกลางๆ นี่คือความคิดของกลุ่มต่างๆในสังคม

แต่ความคิดหลักคือเรื่องของประชากร เพราะยิ่งคนอายุมากขึ้นความเป็นห่วงตัวเองก็มากขึ้นเป็นธรรมดา ฉะนั้น โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปมันกว้างมาก อย่างน้อยๆ ในความคิดของพวกเราก็คือว่า ถ้าตระหนักรู้ดี จะได้มีนโยบายที่สมดุลระหว่างระยะสั้นกับระยะยาว แต่ขณะนี้ก็กระเดียดไปทางระยะสั้น เพราะใครๆ ก็ชอบระยะสั้น แต่ระยะยาวมันไม่มี พอหนักเข้าๆ เราก็เห็นตัวอย่าง เช่น กรีซ จนสุดท้ายแล้วกลายเป็นความอ่อนแอของชาติไป

ตัวอย่างว่าประเทศที่เข้มแข็งที่สุดอย่างญี่ปุ่นก็ยังมีปัญหาเรื่องโครงสร้างประชากร ที่ทำให้เขาจัดการยากมาก วันนี้นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นก็พยายามจัดการ เขามองในประเด็นประชากรมากขึ้นเรื่อยๆ อาทิ ทำอย่างไรให้ผู้หญิงจะสามารถเข้ามาร่วมเพื่อเพิ่มจำนวนคนงาน ทำอย่างไรจะทำให้เขาอยากมีลูก นี่คือมิติทางประชากร หรือทำอย่างไรจะไม่ให้ผู้หญิงต้องอยู่แบบผู้ชายคืออยู่ดึกๆ ค่ำๆ แล้วไม่มีใครดูแลลูก

เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องยาวมาก จำเป็นอย่างมากที่ต้องสื่อสารกับสังคม สื่อสารจากชีวิตจริงของคน เพราะตอนนี้คนพบกับโจทย์แบบนี้ ถ้าประชาชนเข้าใจ รับรู้ เขาอาจจะมีความเห็นที่เป็นกลางระหว่างระยะสั้นกับระยะยาวมากกว่านี้ แล้วสังคมจะแตกแยกน้อยกว่านี้

 

thumbnail_interview_kosit

 

ไทยพับลิก้า: คนพูดเรื่องสังคมสูงอายุ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งแต่ไม่ได้พูดภาพใหญ่ทั้งหมด

ใช่ๆ ไม่มีใครพูด แต่ว่าสภาพัฒน์ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ในแผนนี้ก็จะตั้งต้นอย่างนี้ กำลังพูดอย่างนี้

แต่ในเรื่องครอบครัวตอนที่วางแผนกันก็รู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่านโยบายสังคมของไทยเป็นเฉพาะด้านและเฉพาะกลุ่ม เช่น สาธารณสุข การศึกษา เด็ก ผู้หญิง ผู้ใหญ่ คนแก่ เหล่านี้เป็นส่วนประกอบของสถาบันทางสังคมที่เรียกว่า “ครอบครัว”

แต่ถ้าถามว่าคำว่า “ครอบครัว” มีความหมายต่อนโยบายสาธารณะอย่างไรหรือไม่ คำตอบคือน้อยมาก เพราะฉะนั้นจึงกลายเป็นว่า ประเทศไทยกำลังสมมติว่า “ครอบครัวไทยยังมีศักยภาพ” ยังมีประเพณีแบบเดิม ศักยภาพคือมีความสามารถที่จะเกื้อกูลกัน และช่วยส่วนรวมลดทอนปัญหาในครอบครัว แล้วประเพณีคือไปมาหาสู่ เยี่ยมเยือน ให้กำลังใจ ให้ความอบอุ่น แต่ทั้งสองอย่างกำลังล้มเหลวเพราะ 2 เรื่องที่เป็นปัจจัยทางประชากร

เรื่องที่ 1 คือ จำนวนคนเกิดที่น้อยลง ทำให้ครอบครัวมีจำนวนน้อยลง ปัจจัยที่ 2 คือ การอพยพย้ายถิ่น ซึ่งทำให้คนออกไปสู่งาน แต่คนที่ออกไปสู่งานได้มีบางช่วงอายุ จึงมีครอบครัวฟันหลอ คือ มี ปู่ย่าหรือตายายกับหลาน

หลายคนให้ความสำคัญกับบางจุด เช่น แม่วัยใส พ่อ/แม่เลี้ยงเดี่ยว แต่ว่าถ้าเรานิยามครอบครัวในลักษณะวงกว้าง แม่วัยใสก็เป็นครอบครัว เพราะว่าเขาก็มีปู่ย่า ตายาย เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะมีนโยบายครอบครัวก็ต้องรวมครอบครัวเขา ยาเสพติดก็เป็นประเด็นครอบครัวเหมือนกัน

ในขณะที่ถามว่าครอบครัวมีบทบาทอย่างไร…ไม่มี ไม่ได้รับการมองในมิตินั้น หรือพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวก็คือครอบครัวเหมือนกัน อย่างนี้เป็นต้น

เพราะฉะนั้นจึงคิดว่า “ครอบครัว” เป็นตัวสำคัญ เพราะเป็นกลไกในการออกแบบนโยบายว่าทำอย่างไรถึงจะสามารถให้บริการในลักษณะที่เป็นครอบครัว คือบางทีก็เป็นเรื่องยากเหมือนกันที่จะคิดแบบนี้ เพราะว่าประเทศไทยไม่มี แล้วเราก็สงสัยว่าประเทศอื่นเขามีหรือเปล่า ก็ปรากฏว่าหลายๆ ประเทศมี

สิ่งที่อยากเห็นคือประเทศนี้เริ่มมีคนคุยกันเรื่องนโยบายครอบครัว ถ้าครอบครัวมีศักยภาพน้อยลง รัฐบาลก็จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่เข้ามาเสริม แล้วองค์ประกอบในการเสริมจะเป็นอย่างไร เช่น เขาปล่อยปละละเลยลูกเขาเมื่อวัยเด็ก ดังนั้น childcare ควรจะเป็นอย่างไร อะไรพวกนี้ก็อยากให้คิดในกรอบนี้ ซึ่ง childcare ก็ต้องรวมพ่อแม่เข้าไปด้วย ให้เข้ามามีส่วนร่วมและเข้าใจสิ่งต่างๆ

หรือว่าเด็กผู้หญิงไม่รักนวลสงวนตัว ก็เกี่ยวข้องกับเวลาการดูแลลูกเขาด้วยเช่นด้วยกัน ก็ไปถึงเรื่อง work life balance (สมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต) ว่าผู้หญิงควรจะเป็นอย่างไร หน้าที่ของเพศ ผู้ชายควรมีส่วนร่วมแค่ไหน เป็นต้น ดังนั้น นโยบายครอบครัว ซึ่งเราไม่มี แต่มันควรมี

ขณะนี้เรากำลังไปให้ สกว. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) เข้ามาเป็นเจ้าภาพเพื่อที่จะดึงดูดนักวิชาการ ซึ่งขณะนี้กำลังสนใจเรื่องชุมชนเข้มแข็ง stimulate economy (กระตุ้นเศรษฐกิจ) ให้เข้ามาดูระยะยาวขึ้น ซึ่งกำลังทำอยู่

ไทยพับลิก้า: เหตุที่โครงสร้างประชากรเปลี่ยนมาจากบริบทอะไรบ้าง ปัจจัยอะไรที่สำคัญๆ

เรื่องประชากรก็มี 3 เรื่อง คือ เกิด ตาย ย้าย เหตุที่ประชากรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพราะเรื่องการเกิดก็มีหลายทฤษฎีว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเพราะว่าเมื่อเรารณรงค์และมีการพัฒนา ทำให้เกิดความจำเป็นของคนส่วนใหญ่ที่จะมีลูกมากลดลงตามลำดับ เช่น ความจำเป็นของเกษตรกรในชนบทที่จะมีลูกมาช่วยในงานไร่นา ก็ไม่จำเป็น หรือคนที่อยู่ในเมืองที่จะมีลูกที่กินเงินเดือน ก็ไม่มีความจำเป็น คนเดียวก็พอแล้ว ก็มีความจำเป็นเฉพาะเจ้าของธุรกิจที่อยากมีลูกเยอะๆ ยิ่งมีลูกธุรกิจเยอะ แต่ว่าคนเหล่านั้นเป็นส่วนน้อยของประเทศ เพราะฉะนั้น อัตราการเกิดลงเรื่อยๆ ณ วันนี้ยังลดลงอยู่

การตาย ก็ชัดเจนว่าเราประสบความสำเร็จเรื่องการแพทย์การสาธารณสุข แล้วประชาชนเข้าใจ ขณะนี้คนก็ดูแลตัวเอง ซึ่งเซกเตอร์นี้ สื่อสารได้ผล แต่เซกเตอร์อื่นๆ ที่ผมพูดถึงยังสื่อสารไม่ได้ผล โดยฉพาะเซกเตอร์การเงินการออม ซึ่งการตายก็ชะลอไปเรื่อยๆ

การย้าย ก็เพราะว่ากระบวนการพัฒนาประเทศของเรา จะต้องเอาคนออกจากแหล่งที่มีผลตอบแทนต่ำไปหางานที่มีผลตอบแทนสูง ซึ่งในบริบทนี้เกิดขึ้นมา 30-40 ปีแล้ว เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าต่างจังหวัดคือผู้ที่ป้อนแรงงาน วันนี้งานที่เกิดขึ้นทั้งหลายนั้น คนไทยมีไม่พอด้วยซ้ำไป เพราะว่ารูปแบบการพัฒนาของไทยเป็น labour intensive (เน้นการใช้แรงงาน) แล้วก็ low value (มูลค่าต่ำ) ขณะนี้มันก็ไม่มีคนพออยู่แล้ว แต่การย้ายถิ่นออกมานั้น สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอายุของคนในชนบท

ทั้งหมดก็มีผลกระทบต่อส่วนรวม ต่อส่วนบุคคล และครอบครัว อย่างที่กล่าวมาข้างต้น

ไทยพับลิก้า:เมื่อเห็นสัญญาณชัดเจนว่ามันเปลี่ยน ต้องทำอะไร อย่างไร

ต้องทำให้คนเข้าใจ และเรื่องนี้มันไม่ใช่การสั่งการ เป็นเรื่องการสื่อสารเพื่อให้เกิดการรับรู้และตระหนัก

เรื่องนี้ต้องพูดกับประชาชน คือไม่เกี่ยวกับรัฐบาลด้วยซ้ำไป เพราะรัฐบาลต้องฟังประชาชนในระบบประชาธิปไตยของเราใช่ไหม ถ้าประชาชนบอกว่าอย่าพูดเรื่องอนาคต เพราะวันนี้ฉันจะตายอยู่แล้ว หรือเวลาผมไปพูดเรื่องเงินออม คนฟังฟังแค่ 2 ประโยคก็เบื่อแล้ว เพราะว่าวันนี้จะกินยังไม่มีเลย ทัศนคติแบบนี้

ไทยพับลิก้า: จะเปลี่ยนทัศนคติอย่างไร

ก็ต้องเปลี่ยน ต้องสื่อสารตรง การสื่อสารด้วยชุดข้อมูลใหม ถ้าไม่ทำ อันตรายจะเป็นอย่างนี้ๆ มันถึงขนาดว่าบ้านเมืองจะอยู่กันยาก

แต่เดิมมีการรณรงค์เรื่องการเกิดน้อย ว่าทำเรื่องพวกนี้เถอะเพราะว่าเป็นสิ่งดีงาม ทำแล้วจะเกิดประโยชน์กับตัวเองระยะยาว แต่วันนี้ เราพอจะมีความเข้าใจมากขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งว่า ถ้าไม่ทำ บ้านเมืองนี้จะอยู่ไม่ได้

ไทยพับลิก้า: ต้องสื่อสารด้วยชุดข้อมูลใหม่แล้ว

ใช่ อย่างนั้นแหละ คือมันเริ่มมีความเร่งด่วนมากขึ้น

ไทยพับลิก้า: เป็นการทิ้งช่วงนานเกินไปไหมกว่าจะสื่อสารด้วยชุดข้อมูลใหม่ ทำให้อาการมันเริ่มแย่

ขณะนี้ถ้าเรามองจากนักเศรษฐศาสตร์อย่างเดียว ความเร่งด่วนมันมากขึ้นเพราะ growth potential มันต่ำลง แต่ถ้าไปทาบกับนักประชากรเขา คือถ้าผมอยู่ในวัยทำงาน ตอนนี้ผมบริโภคอย่างเดียวไม่ต้องคิดถึงการออม และมีหนี้สินเป็นเรื่องธรรมดา เพราะผมยิ่งอายุมากขึ้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะทำให้รายได้ผมสูงขึ้น นั้นคือ scenario หนึ่ง แต่ scenario นั้นผ่านไปแล้ว

วันนี้ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ใช่ร้อยละ 9-10 เหมือนตอนที่ผมอยู่สภาพัฒน์ฯ ตอนนี้ร้อยละ 1-2 ก็ได้แต่หวัง ซึ่งทุกคนก็ให้ความหวัง ก็เป็นความหวัง แต่ว่ามันยากมาก ไม่ว่าจะใช้วิธีไหนก็แล้วแต่ เพราะว่าสุดท้ายแล้วขึ้นอยู่กับ productivity

ไทยพับลิก้า: ที่คุณโฆสิตพูดถึงว่า นโยบายแยกส่วนของกระทรวงต่างๆ

พวกนั้นก็ต้องแยกส่วนไป แต่ว่าจะต้องมี อย่างสมมติว่าขณะนี้เรามีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ คือเป็นเรื่องมหภาคทางสังคม อย่างน้อยนโยบายครอบครัวก็น่าจะอยู่ในกรอบความคิดนี้

ระดับมหภาคเป็นเรื่องยากไม่ว่าจะเรื่องเศรษฐกิจหรือสังคม ซึ่งมหภาคทางสังคมยากกว่าเศรษฐกิจด้วยซ้ำ เพราะว่าไม่ตรงกับผลประโยชน์ย่อยๆ คือเป็นผลประโยชน์ของส่วนรวมกับส่วนย่อย การที่จะให้คนมีประโยชน์อย่างนี้แล้วมองส่วนรวม มันยากเหมือนกัน

เราต้องยอมรับว่าครอบครัวเมื่อมองเป็นองค์รวมก็จะมีชุดความคิดอย่างหนึ่งว่า จะทำอย่างไรให้ครอบครัวมีความมั่นคง มีความราบรื่น มีความเอื้ออาทรกัน ผมในฐานะปัจเจกบุคคลก็มองอีกอย่างหนึ่งว่า ถ้าผมไม่ได้ตามที่ผมเชื่อ ผมชอบ หรืออยากได้ ครอบครัวก็สำคัญน้อยกว่าผม

ถ้าเรามองปัจเจกกับองค์รวม แต่ปัจเจกก็ต้องจัดการอย่างหนึ่ง องค์รวมก็ต้องจัดการอีกอย่างหนึ่ง ถามว่าเกี่ยวข้องกันไหม แน่นอนว่าถ้ามององค์รวมก็จะเห็นช่องว่างได้ดีขึ้น แต่ว่าทุกคนเป็นซินเดอเรลล่าก็คงไม่ใช่หรอก เป็นไปไม่ได้ ยิ่งสังคมโต มีความซับซ้อน ยิ่งมีความวุ่นวาย

แต่ถ้าเรามองเห็นภาพความอยู่ดีมีสุขนั้น ก็ต้องมองในระดับครอบครัว เพราะความอยู่ดีมีสุขส่วนตัวก็ยากเหมือนกัน เพราะพ่อแม่เราล่ะ ลูกเราล่ะ

ไทยพับลิก้า: การวิเคราะห์ก็ทำได้ยากมาก ว่าเหตุที่ครัวเรือนเปลี่ยนมีอะไรบ้าง บริบทมันเยอะไปหมดไม่รู้ว่าจะเจาะจงอย่างไร

ไม่มีทางที่จะวิเคราะห์ออกมาเป็นอย่างนั้นได้ ต้องวิเคราะห์หาว่า ความอยู่ดีมีสุขก็คือ คนมีครอบครัว แล้วในครอบครัวมีเวลาที่จะเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน อันนี้ก็วิเคราะห์ได้ แล้วถ้าสมมติว่าคนที่ขัดสนก็ต้องมีบริการมาสนับสนุนถึงจะวิเคราะห์ได้

เพราะฉะนั้น ขณะนี้ทั้งเวลาและความสามารถของครอบครัวที่ต่างกันก็วิเคราะห์ได้ คือสวัสดิการถ้าแยกส่วน สมมติคนแก่ ให้ 500 บาท หรือเด็ก ต้องไปเรียนอนุบาล ต้องแยกส่วนไป หรือต้องมีอยู่ แต่ก็ต้องมีอีกอันข้างบนที่ดูว่าพ่อแม่ทำงานทั้งคู่แล้วจัดการอย่างไร มันต้องมีความเข้าใจ มิฉะนั้นภาคเอกชนเขาก็จะไม่ยอม เขาต้องให้คนทำงาน

ไทยพับลิก้า: เทคโนโลยีทันสมัยมากขึ้นยิ่งทำให้สังคมเปลี่ยนเร็วหรือไม่

ไม่มีใครแน่ใจ ทุกคนรู้เท่ากันหมด ถ้าเรามองดูประเทศที่เขาก้าวหน้ากว่าเรา เขาก็มีนโยบายครอบครัวพวกนี้

เรามองสถาบันครอบครัวในฐานะยูนิตหนึ่งที่จะมาช่วยพัฒนาสังคม ช่วยพัฒนาประเทศ พัฒนาสังคมคือ บ่มเพาะสมาชิก ให้เด็กโตอย่างมีคุณภาพ อีกด้านคือการพัฒนาประเทศ คือต้องมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานไปด้วย และต้องผลิตสมาชิกเพื่อไม่ให้เราขาดกำลังแรงงาน

เนื่องจากนโยบายเราไม่ดูแลให้สถาบันครอบครัวอยู่ได้ ทุกคนทำงานหามรุ่งหามค่ำ ภาครัฐไม่มีการแทรกแซงที่ทำให้คนดูแลสมาชิกได้ ต่างคนต่างอยู่ ช่วยตัวเองกันเองตลอดโดยที่รัฐไม่รู้ว่าจะมีนโยบายอย่างไร เพราะไม่รู้จะจัดการอย่างไร ปล่อยให้เป็นเรื่องที่คน 2 คน ที่ต้องดูแลกัน มันเลยทำให้สังคมยิ่งเลวร้ายไปใหญ่ เพราะว่ามีลูกก็ไม่ได้ดูแลลูก มีคนแก่ ครอบครัวก็ไม่ได้ดูแล

หน้าที่ที่ครอบครัวในอดีตเคยทำ มันไม่ได้ทำหน้าที่นั้นแล้วในตอนนี้ ซึ่งกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กำลังทำให้ครอบครัวทำหน้าที่เดิม แต่การทำหน้าที่เดิมมันไม่ใช่กฎหมาย การพยายามเอากฎหมายเข้าไปจับ ไม่ได้ ซึ่งจริงๆ มันเกี่ยวกับการทำงาน เกี่ยวกับสถานที่ทำงาน การพัฒนาประเทศ นโยบายรัฐที่จะเข้าไปทำให้ครอบครัวสามารถฟังก์ชั่นได้ ขณะนี้มันไม่มี ไม่เหมือนประเทศอื่นที่มีแล้ว

ต้องค่อยๆ คิด ตอนนี้เรายังคิดแยกส่วนอยู่ แต่ถ้าว่าจะสร้างให้เด็กดี พ่อแม่ต้องมีเวลา ลักษณะนั้น แต่ทีนี้พ่อแม่จะมีเวลาได้อย่างไรในเมื่อทั้งสองคนต้องทำงาน นี่เป็นโจทย์ที่ต้องคิดกัน ถ้าจะทำงานก็ต้องคิดต่อไปว่าแล้วเอกชนจะว่าอย่างไร ก็ต้องทำความเข้าใจกันไปเรื่อยๆ ฉะนั้นผมถึงได้บอกว่าเรื่องนี้ที่สภาพัฒน์เริ่มแล้ว แต่ก็คงเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้นเอง เพราะว่าต้องสื่อสารกับประชาชน ซึ่งผมคิดว่าการที่สังคมเข้าใจและช่วยประคับประคองส่วนรวมสำคัญกว่า

ยกตัวอย่างง่ายที่สุด เวลาของครอบครัว มันสำคัญหรือไม่สำคัญ ในฐานะปัจเจกเขาก็บอกสำคัญแต่เขาทำไม่ได้หรอก รัฐในหลายๆ ประเทศเขาก็แทรกแซง แต่ไม่ใช่การแทรกแซงทางเศรษฐกิจ แต่แทรกแซงโดยการที่ว่าดูแลจัดระเบียบ การดูแลเด็กเล็ก ไม่ใช่ว่าเอาไปฝากชาวบ้านเลี้ยงแล้วทำร้าย ทำรุนแรง พวกนี้ถ้ารัฐให้การสนับสนุน ก็จะเป็นรายจ่ายมากขึ้นๆ กลับไปสู่เรื่องใหญ่ที่สุดว่า แล้วเรามีกำลังมาจากไหน กำลังเราก็มาจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ถ้าขณะนี้เราจะเอาการบริโภคมาผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในระยะยาวก็จะมีปัญหา ถ้าจะเอาการลงทุนมาผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ก็ต้องมีการออม ก็จะวนแบบนี้

ไทยพับลิก้า: เหมือนไก่กับไข่จะเริ่มอะไรก่อน จะทำให้ครอบครัวเข้มแข็งก่อน หรือสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็งก่อน

ผมว่าไม่ใช่ มันเป็นเรื่องบริหารจัดการมากกว่า ทีนี้ ถ้าการบริหารจัดการ ถ้าบอกว่าทุกคนไม่ต้องจัดการ ไม่ต้องบริหาร ให้รัฐบาลทำ ก็เป็นไปไม่ได้ ซึ่งการบริหารจัดการต้องมีกรอบความสมดุลระยะสั้นกับระยะยาว ถ้าส่วนไหนที่เขาจัดการไม่ได้ หน้าที่ของรัฐคือเข้ามาเสริม อย่างนั้นต่างหาก แต่ต้องให้เขาเข้าใจ เขาก็ต้องให้ความร่วมมือไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม

สมมติว่ากรณีของเรื่องนโยบายมหภาค นักธุรกิจก็อยากให้กระตุ้นการบริโภค แต่ยิ่งกระตุ้นการบริโภคการออมก็ยิ่งต่ำ ดังนั้นรัฐบาลก็มีหน้าที่มาอธิบายว่าเรื่องเป็นอย่างนี้ เส้นทางที่ดีที่สุดคือโดยผ่านการลงทุน แต่การลงทุนต้องมีการออมหนุนหลัง ซึ่งเป็นเรื่องที่อธิบายง่าย แต่ว่าไม่มี เมื่อไม่มีก็กลายเป็นว่าไปเน้นการกระตุ้น แล้วข้างหน้าก็ยากขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นแค่นี้เอง

วันนี้ขออนุญาตเอาการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มาชี้ให้เห็นว่า ถ้าไม่ทำอะไร ประเทศจะเดินไปสู่ความลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ

ถ้าสมมติว่ารัฐบาล จะไปหวังให้เขาเข้าใจเรื่องพวกนี้ก็ไม่ได้ เพราะเขาต้องตอบสนองต่อสิ่งเรียกร้องและเหตุการณ์ต่างๆ ประชาชนก็จะไปหวังให้เขาเข้าใจอะไรระยะยาวๆ ก็คงจะหวังไม่ได้ในวันนี้ พรุ่งนี้ นอกจากเขาจะเข้าใจ แต่ว่ามันยากขึ้นทุกวันเพราะว่าอายุมากขึ้น เขาก็เป็นห่วงตัวเองมากขึ้น ขณะนี้เหตุการณ์ที่ชัดเจนที่สุดคือข้อกังวลจะเยอะขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม่ดีต่อเสถียรทางการเมือง เพราะประชาชนวิตก ทำไมเขาวิตก เพราะเขาต้องอยู่อีกนาน อายุยาว เกษียณ 60 ปี เลิกไม่มีรายได้หลังจากนั้นเขาจะอยู่อย่างไรและไม่มีหลักประกัน

เราหวังน้อยๆ ว่าจะเอา 3 เรื่องนี้ เกิดน้อย ตายยาก ย้ายถิ่น ไปอธิบายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะเหล่านี้คือปัจจัยของที่เปลี่ยนไป แต่เดิม 3 คำนี้ไม่มีน้ำหนักอะไร แต่จริงๆ แล้ว 3 ตัวนี้กำลังส่งผลที่สำคัญ เราเอาแค่นี้ เพราะเอามากมายก็เยอะไปเราทำไม่ได้

ก็เกิดน้อยชัดเจน ตายยากชัดเจน แล้วคนโยกไปหางานก็เกิดการย้าย

เดี๋ยวนี้ก็มีครอบครัวในลักษณะที่มีถิ่นฐานคนละแห่ง ไม่ใช่ครอบครัวขยาย แบบอบอุ่นไม่ใช่ มันเป็นไปไม่ได้ โดยเรายังไม่เข้าใจว่าเป็นไปไม่ได้ เรายังนึกถึงกรอบครอบครัวเดิม ชุมชนก็เป็นไปได้ ที่จะให้คนอายุ 50-60 ปีฟิตปั๋งเหมือนคนอายุ 30 ปี เราก็ยังเข้าใจเหมือนเดิม หมอประเวศ วะสี ก็ยังบอกชุมชนเข้มแข็งๆ ตัวท่านเองก็ 90 ปีแล้ว

ไทยพับลิก้า: คือบริบทเปลี่ยนหมดแล้วแต่นโยบายตามไม่ทันใช่ไหม

บริบทเปลี่ยนด้วยเหตุผลของตัวนี้ ถามว่ารัฐบาลจะเปลี่ยน 3 ตัวนี้ได้ไหม คำตอบคือไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายถึงไม่พยายามนะ เพราะหลายๆ ประเทศก็จะพยายาม เช่น เกิดน้อย สิงคโปร์ก็พยายามอยู่ ก็มีนโยบายหลายอย่างที่ทำได้ รวมถึงการย้ายถิ่นด้วย ส่วนตายยากไม่มีใครพยายาม เพราะของดี ใครๆ ก็อยากอายุยืน เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณา

ส่วนเรื่องครอบครัวเล็กลงมันเป็นผลจากการเกิดและการตาย และสิ่งที่เราคิดเองว่าทำได้คือประเด็นการเกิด ทำอย่างไรไม่ให้เกิดน้อยลงไปเรื่อยๆ ก็กำลังมีวิจัยใหญ่ ซึ่ง สกว. เป็นเจ้าภาพโดยมีเรื่องที่ทำคือ มหภาค ครอบครัว ชนบท ก็จะมาแบ็คอัพเรื่องพวกนี้ ก็จะมีนักวิชาการเข้ามาทำ สกว. ก็จะให้เป็นโครงการสำคัญของเขาใน 3 ปีนี้

ความรู้เราไม่พอหรอก เพียงแต่เรามองภาพใหญ่ๆ ได้อย่างนี้ เพราะปัจจัยประชากรไม่เคยเป็นประเด็น ไม่เคยมีคนพูดว่าเกิดน้อยดีหรือไม่ดี ไม่มีใครตั้งคำถามแบบนี้ แล้วมันมีผลอย่างไรไม่เคยถาม ส่วนตายยากก็ไม่เคยมีใครถาม แต่ทั้งหมดรวมกันแล้วกลายเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องเอาเข้ามาพิจารณาในนโยบายต่างๆ แน่นอนเราคงไม่สามารถจะบรรยายได้ว่าจะปรับอย่างไร และไม่มีความสำคัญด้วย เพราะความสำคัญคือเราจะเอา 3 เรื่องนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินนโยบายหรือไม่ ถ้าอย่างนี้พวกเราโดยเฉพาะผมคิดว่า “ควร” เพราะที่ผ่านมามันไม่เป็นปัจจัย เช่น เกิดน้อยใครดูแลเรื่องนี้ล่ะ

แล้วอีกหน่อยจะไปอีกยุคหนึ่งเหมือนคนอื่นเขา คือ ไม่ใช่ว่าไม่มีคน มี เริ่มมี แต่ว่าเขาผ่านระบบการศึกษาแล้ว แต่ไม่ทำงาน ก็จะเกิดการว่างงาน โดยการว่างงานนี้เป็นของผู้จบปริญญา เราจะมีเรื่องพวกนี้เกิดขึ้น ถ้าความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจยังต่ำอยู่

นี่คือผลของการเกิดน้อย ซึ่งผลมันหลายด้านเหลือเกิน แต่คำถามพวกนี้ไม่เคยถูกให้น้ำหนัก

ไทยพับลิก้า: ที่พูดว่าลำบากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าลงรายละเอียดแล้วจะมีอะไรบ้าง

ก็มี 3 ด้าน เรื่องการเจริญเติบโต เรื่องความมั่นคงทางการเงินของบุคคล และเรื่องความอยู่ดีมีสุขของครอบครัว

ถ้าครอบครัวอยู่ไม่ดี ไม่มีสุข ประชาชนวิตกกังวลมาก ประเทศก็ไม่โต

ในขณะนี้เกิดไหมล่ะ แล้วมามันจากไหน ถ้าให้พวกผมพูด มันมาจาก 3 ปัจจัยทางประชากรนี่แหละ

ไทยพับลิก้า: เวลาบอกว่าจีดีพีไม่โต จะให้เหตุผลจากการส่งออกบ้างเรื่องอื่นบ้าง

ก็เป็นจริงแต่เรื่องระยะสั้นๆ ถึงปัจจัยภายนอกดี อะไรดี อัตราการเติบโตที่เขาพูดกัน 4 % เพดานมันไม่สูง สมัยก่อนหลังวิกฤติใหม่ๆเศรษฐกิจกระเด้งขึ้น ตอนนั้น 6%, 7%

ไทยพับลิก้า: มีคนเริ่มพูดว่าที่โต 1% มาจาก productivity ที่ต่ำ แต่ไม่มีใครอธิบายมากกว่านั้นว่ามันโยงมาถึงเรื่อง “เกิดน้อย ตายยาก ย้ายถิ่น” ยังไง

ประชากรก็มีส่วน แต่แน่นอนมีหลายๆ ปัจจัย แต่ที่มีส่วนมากที่สุด คือการที่เราไม่ได้คิดอย่างนี้ เมื่อ 3-4 ปีก่อน ทำให้เรากระตุ้นการบริโภค เราใช้เงินไปกับจำนำข้าว แล้วมันก็เป็นข้อจำกัด เรากระตุ้นรถคันแรก แต่ถ้าเราคิดอย่างนี้มาตั้งแต่ต้นว่า ไม่ได้ อย่ามุ่งให้คนบริโภค วันนี้เราก็ไม่ใช่ 1% เพราะว่า 1% ก็คืออุปสงค์ของวันนี้ที่น่าจะมากกว่า 1% ที่ถูกเอาไปใช้เมื่อ 3 ปีก่อน

“ถ้าเราคิดอย่างนี้เมื่อ 3 ปีก่อน รถคันแรกก็คงขายไม่ได้ 1.4 ล้านคัน แต่ปีนี้อาจจะได้มากกว่า 8 แสนคัน ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ก็จะดีกว่า อธิบายสั้นๆ ง่ายๆ อย่างนี้”

และถ้าโครงการจำนำข้าว 15,000 บาท ถ้าชาวนาให้ 10,000 บาท และอีก 1,000 บาทให้กับการดูแลครอบครัวฟันหลอ ให้การดูแลเด็ก ผู้ใหญ่ หรือการช่วยเหลือลักษณะนี้ควรดูแลโดยใคร ชุมชนหรือไม่ เหล่านี้จะเป็นเรื่องที่จะผ่อนคลายความวิตกของบุคคลได้

ไทยพับลิก้า: เพราะลูกๆ ที่ส่งเงินให้ครอบครัวฟันหลอก็ให้บ้างไม่ให้บ้าง

บางทีก็ไม่ให้ แต่พอให้เงินจำนำข้าว 15,000 บาท พวกครอบครัวฟันหลอ ปู่ย่า/ตายายก็ไม่ได้เงิน เพราะเขาไม่ได้ผลิตอะไรแล้ว ไม่มีข้าวไปจำนำ ก็มีข่าวตลอดเวลาว่าเด็ก 6 ขวบ เด็ก 10 ขวบ ต้องอดข้าวกลางวัน มาดูแลปู่ย่า/ตายายอยู่เรื่อยๆ เพราะฉะนั้น แทนที่จะให้ 15,000 บาทก็ลดเหลือ 10,000 บาท ก็ยังสูงกว่าราคาข้าวในตลาดอยู่แล้ว ช่วยประหยัดได้ 5,000 บาท สมมติเอามาให้ครอบครัวฟันหลอ ก็ช่วยดูแลประชาชนเหมือนกัน แต่แน่นอนว่าคนที่ไม่ได้ 15,000 บาทก็ไม่ชอบ

คือเป็นเรื่องของชุดความคิดที่จะทำให้ไม่สุดโต่ง มีอะไรมาคานไว้แล้วจะดี แต่เพื่อจะให้ไม่สุดโต่งต้องสร้างความเข้าใจเรื่องนี้เสีย ถ้าเราสร้างความเข้าใจได้ว่าเรื่องนี้จริง เกิดน้อย ตายยาก ย้่ายถิ่น ทำให้โครงสร้างประชากรเปลี่ยนนะ ไม่มีทางแก้ไขได้ โครงสร้างประชากรนี้จริง แล้วเราต้องอยู่กับมัน เพราะฉะนั้นผลลัพธ์ของมันในทางหนึ่งต้องดี เพราะว่าคนอายุยืนขึ้น แต่อีกทางมันสร้างความกังวลมหาศาล เพราะจำนวนคนที่น้อยลง ที่จะมาช่วยกันทำงาน เรื่องนี้ก็ชัดเจน

ไทยพับลิก้า: ตอนนี้ชุดข้อมูลพร้อมแล้วเหลือแต่ชุดทางความคิดใช่ไหม

ผมคิดว่า เหลือแต่คนเอามาสังเคราะห์ เอาไปสื่อสารกับกลุ่มคน

การเปลี่ยนโครงสร้างประชากร เริ่มต้นจากชื่อก็ไม่จูงใจให้ฟัง จริงๆ เป็นเรื่องคนเกิดน้อยตายยาก แต่วันนี้ถ้าพูดแค่นี้คนก็ไม่ได้สนใจเพราะเขาไม่รู้ว่า “เกิดน้อย ตายยาก ย้ายถิ่นนั้นทำให้ประเทศเราต้องเปลี่ยนแปลง” การเปลี่ยนแปลงนี้เราจะอยู่เหมือนเดิมทำทองไม่รู้ร้อน บอกว่าครอบครัวยังอบอุ่น ชุมชนยังเข้มแข็ง มันไม่ใช่แล้ว เศรษฐกิจเติบโต มันใช่ แต่มันโตยาก ชุมชนก็เข้มแข็งยาก ความมั่นคงของประชาชนก็ยาก ยากกว่าโครงสร้างประชากรแบบเก่าที่มีลูก 3 คน ลูกคนนี้ไม่สบาย ลูกอีกคนก็เอื้ออาทร เดี๋ยวนี้เหลือ 3 คน พ่อแม่ลูก พ่อกับแม่ทั้งสองคนต่างก็มีพ่อแม่ ทำให้สองคนตรงกลางต้องดูแล 4 คนข้างบนและ 1 คนข้างล่าง และเขาก็เลือก 1 คนข้างล่าง ทิ้ง 4 คนข้างบน

แต่ไม่มีใครถามเรื่องแบบนี้ คนก็ยังบอกชุมชนเข้มแข็ง มันจะเข้มแข็งได้ยังไง ในเมื่อ 4 คนข้างบน อยู่อีกแห่งหนึ่ง สองคนตรงกลางก็อยู่อีกแห่ง

ไทยพับลิก้า: มันต้องมีอะไรมาเชื่อม

คือต้องมีอะไรมาบอกว่าต้องคิดถึงความจริงข้อนี้ คือ เกิดน้อยจริง ตายยากจริง อย่างผู้หญิงอายุเฉลี่ย 79 ปี เขาก็ต้องวิตกแล้ว พออายุ 50 ปีขึ้นไป แต่จะใช้ทฤษฎีเก่าก็ใช้ไม่ได้ ว่าเป็นหนี้ไปเดี๋ยวก็มีรายได้มา แล้วมันก็ไม่เหมือนเดิมที่ว่า เมื่อเศรษฐกิจโตช้า ก็ไม่เป็นไร ซื้อที่ดิน ไว้เดี๋ยวราคาที่ดินขึ้น ก็ไม่ใช่แล้ว เพราะที่ดินก็ซื้อไม่ได้ ราคาแพง และที่ดินก็ไม่ขึ้นเหมือนสมัยก่อนแล้วที่สูงขึ้น 1,000 เท่า อย่างรุ่นผมที่ซื้อ 200 ตารางวา ได้เยอะเลย รุ่นนี้ซื้อที่ 200 ตารางวาได้ตรงไหน อย่าว่าแต่ที่ดิน คอนโดมีเนียมก็ยังซื้อยาก

เรื่องพวกนี้จะทำอย่างไรให้คนรู้ว่าต้องคิดไม่เหมือนเดิม เพราะสถานการณ์ไม่เหมือนเดิม ได้แก่ เศรษฐกิจเติบโตช้า จริงๆเศรษฐกิจเติบโตช้าเป็นผลจากการเกิดน้อย มีส่วนมาจากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยน และในระยะยาวมันค่อยๆ เลื่อนลง จึงน่ากลัว

ส่วนวิกฤติไม่น่ากลัวเพราะทุกๆ วิกฤติจะมีการฟื้นตัวเสมอ


หมายเหตุ: ปรับปรุงเพิ่มเติมจากบทความ อาลัย โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ โดย ปกป้อง จันวิทย์ ตีพิมพ์ครั้งแรกใน เว็บไซต์โลกความคิดของปกป้อง จันวิทย์ วันที่ 2 มิถุนายน 2559