รายงาน: เตรียมรับมือครัวเรือนชนบทไทยโฉมใหม่

ปรากฏการณ์สังคมสูงวัยไม่ได้มีผลกระทบต่อครัวเรือนในเมืองเท่านั้น หากยังส่งผลกระทบต่อครัวเรือนในชนบทอีกด้วย แต่องค์ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบของสังคมสูงวัยต่อครัวเรือนชนบทยังมีอยู่น้อย จึงทำให้ยังไม่เกิดการเตรียมความพร้อมรับมือสังคมสูงวัยสำหรับครัวเรือนชนบทอย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกันจัดทำโครงการวิจัย “ความอยู่ดีมีสุขของครอบครัวไทย”  ซึ่งประกอบด้วยงานวิจัยย่อยเรื่อง ความอยู่ดีมีสุขของครอบครัวชนบทไทยภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางประชากรและสังคม (2559) โดย ดร.ปิยวัตน์ เกตุวงศา และคณะ งานวิจัยชิ้นดังกล่าวชี้ว่าครัวเรือนชนบทไทยได้รับผลกระทบจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยในหลายมิติ ซึ่งสามารถอธิบายผลการศึกษา ได้ดังนี้

household1

1. รูปแบบและลักษณะการอยู่อาศัยของครัวเรือนชนบทไทยภายใต้ความเปลี่ยนแปลง

ในแง่การเปลี่ยนแปลงเชิงปริมาณ งานวิจัยชี้ว่า ครัวเรือนชนบทไทยมีขนาดเล็กลง โดยในปี 2530 ครัวเรือนชนบทมีขนาดเฉลี่ยอยู่ที่ 4.3 คน ขณะที่ปี 2557 มีขนาดเฉลี่ย 3.3 คน ทั้งนี้เกิดจากสาเหตุกระแสการย้ายถิ่นของสมาชิกวัยแรงงานจากชนบทสู่เมืองที่มีมากขึ้นจนทำให้ประชากรในชนบทเหลือแต่เพียงผู้สูงอายุและเด็กเป็นส่วนใหญ่

ในแง่การเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพ การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างประชากรส่งผลให้เกิดครัวเรือนชนบทลักษณะพิเศษต่างๆ ได้แก่  (1) ครัวเรือนผู้สูงอายุคนเดียว (ร้อยละ 8.6) เป็นครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุอยู่คนเดียวไม่มีใครดูแล (2) ครัวเรือนข้ามรุ่น (ร้อยละ 1.5) เป็นครัวเรือนที่มีแต่สมาชิกรุ่นปู่ย่าตายายและรุ่นหลานเท่านั้น (3) ครัวเรือนผู้หญิงเป็นหัวหน้าครัวเรือน (ร้อยละ 34.7) เป็นครัวเรือนที่ผู้หญิงมีบทบาทนำในการดูแลครอบครัว (4)  ครัวเรือนที่มีสมาชิกหม้าย หย่า หรือแยก (ร้อยละ 27.6) เป็นครัวเรือนที่มีสมาชิกผู้หญิงคนใดคนหนึ่งมีสถานภาพสมรสลักษณะ “หม้าย” (คู่สมรสเสียชีวิต) ลักษณะ “หย่า” (การเลิกกับคู่สมรสอย่างเป็นทางการ แล้วกลับมาอยู่บ้านในชนบท) หรือลักษณะ “แยก” (ไม่ได้เลิกกับคู่สมรสอย่างเป็นทางการ แต่แยกกันอยู่ และย้ายกลับเข้ามาอยู่ในชนบท)

ผู้วิจัยได้จำแนกครัวเรือนลักษณะพิเศษต่างๆ เป็น 2 กลุ่มหลัก โดยกลุ่มแรก คือ ครัวเรือนผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว หรืออยู่เฉพาะกับคู่สมรส เรียกว่า “ครัวเรือนโดดเดี่ยวขนาดเล็ก” ส่วนกลุ่มที่สองคือ ครัวเรือนข้ามรุ่น ครัวเรือนที่มีสตรีเป็นหัวหน้าครอบครัว และครัวเรือนที่มีสมาชิกหม้าย หย่า และแยก เรียกว่า “ครัวเรือนขยายขนาดย่อม” ผู้วิจัยได้เปิดประเด็นว่า ลักษณะของครัวเรือนพิเศษทั้ง 2 กลุ่ม มีความเปราะบางสูง และต้องการผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังสะท้อนถึงสภาพความเป็นอยู่ วิถีชีวิต และบทบาทของสมาชิกครัวเรือนที่เปลี่ยนไป รวมถึงปฏิสัมพันธ์และการพึ่งพิงระหว่างสมาชิกที่อาจลดลงได้ด้วย

2. คุณภาพชีวิตครัวเรือนชนบทไทยภายใต้ความเปลี่ยนแปลง

ความอยู่ดีมีสุขตามอัตภาพ  

ผลการศึกษาชี้ว่า จากการสำรวจสุขภาพจิตคนไทยในปี 2558 ครัวเรือนชนบทไทยมีระดับความสุขทางจิตใจอยู่ที่ 7.90 คะแนน (เต็ม 10 คะแนน) ขณะที่ระดับความพึงพอใจสุขภาพกายอยู่ที่ 7.84 คะแนน นอกจากนี้ ในแง่ความปลอดภัยในชุมชน ครัวเรือนชนบทไทยร้อยละ 96 มีความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนว่าครัวเรือนชนบทไทยยังมี “ความอยู่ดีมีสุข” เนื่องจากส่วนใหญ่ยังมีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและมีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

การปรับตัวต่อความทันสมัย

ภาคชนบทไทยมีการเปลี่ยนแปลงในบางมิติ นั่นคือ การเข้ามาของเทคโนโลยี ทำให้ครัวเรือนชนบทต้องปรับตัวมากขึ้น โดยอาศัยเทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสารระหว่างสมาชิกมากขึ้น เช่น การใช้โทรศัพท์ ไลน์ หรือเฟซบุ๊กเพื่อการติดต่อสื่อสารในชุมชน ซึ่งผู้สูงอายุบางกลุ่มก็ยังปรับตัวรับเทคโนโลยีใหม่ไม่ได้ อย่างไรก็ดี ครัวเรือนชนบทยังใช้การติดต่อสื่อสารกันโดยตรงเหมือนดังเช่นในอดีตอยู่ โดยเฉพาะลูกหลานที่อยู่ละแวกบ้านใกล้เคียง ซึ่งมักไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ด้วยตัวเอง

สำหรับการทำอาชีพ ครัวเรือนชนบทก็ได้ปรับตัวโดยการทำโฮมสเตย์ หรือการขายสินค้าและบริการต่างๆ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวของคนภายนอกชุมชนมากขึ้น

การดูแลและการพึ่งพาอาศัยที่ยังคล้ายเดิม

งานวิจัยชี้ว่าครัวเรือนชนบทไทย (ร้อยละ 65.4) มีความผูกพันกันมาก โดยส่วนใหญ่ยังทำกิจกรรมในบ้านร่วมกัน เช่น การนั่งดูทีวี นั่งคุย การหยอกล้อ ส่วนการทำกิจกรรมนอกบ้านร่วมกัน เช่น การกินข้าวนอกบ้าน หรือการไปเที่ยวนั้น มีครัวเรือนชนบทเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่ทำ ส่วนการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาในครัวเรือนนั้น ครัวเรือนชนบทส่วนใหญ่ไม่นิยมทำกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในครัวเรือนชนบทยังไม่มีความขัดแย้งจนถึงขั้นใช้ความรุนแรง นอกจากนี้ ยังพบว่าสมาชิกครัวเรือนส่วนใหญ่ยังคงปฏิบัติตามบทบาทของตน เช่น การปฏิบัติเป็น พ่อแม่หรือลูกที่ดี และสำหรับคุณธรรมที่ใช้ในการดำเนินชีวิต พบว่าคนในชนบทส่วนมาก (ร้อยละ 66) ยังปฏิบัติหรือแสดงความกตัญญูรู้คุณต่อบิดามารดาของตนทุกครั้งเมื่อมีโอกาส ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าครัวเรือนชนบทยังมีการดูแลระหว่างสมาชิกด้วยกันอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ดี การดูแลผู้สูงอายุในความเป็นจริง ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ (ร้อยละ 90) มักดูแลตัวเอง ส่วนผู้ที่ดูแลผู้สูงอายุรองลงมาคือ บุตรหญิง (ร้อยละ 4.5) คู่สมรส (ร้อยละ 3.1) บุตรชาย (ร้อยละ 1.5) ตามลำดับ

ในภาพรวม ถึงแม้ว่าครัวเรือนชนบทไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงในแง่รูปแบบและลักษณะ รวมถึงต้องปรับตัวเข้าสู่สภาวะสมัยใหม่บ้างก็ตาม แต่ครัวเรือนชนบทไทยยังคงมีวิถีชีวิตการพึ่งพาอาศัยคล้ายเดิม และยังคงมีความอยู่ดีมีสุข เห็นได้จากการช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างคนในชนบทที่เกิดขึ้นเป็นประจำ

ถึงกระนั้น สถานการณ์ครัวเรือนชนบทไทยก็มีความล่อแหลมที่น่าจับตามอง คือ กลุ่มผู้สูงอายุที่มีมากถึงร้อยละ 90 ซึ่งไม่มีใครดูแล แม้กลุ่มนี้ยังสามารถดูแลตัวเองได้ในปัจจุบัน แต่ในอนาคตเมื่อเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ กลุ่มผู้สูงอายุเหล่านี้จะมีอายุมากขึ้นจนดูแลตัวเองได้ยากลำบาก และเมื่อผู้สูอายุไม่สามารถดูแลตัวเองและผู้อื่นได้แล้ว เด็กในครัวเรือนข้ามรุ่นจะยิ่งมีความเปราะบางมากขึ้น ประกอบกับเทคโนโลยีที่จะมีการพัฒนามากขึ้น ผู้สูงอายุจะมีความยากลำบากในการใช้ชีวิตท่ามกลางเทคโนโลยีใหม่มากขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงต้องเร่งหาวิธีรับมืออย่างรวดเร็วและเหมาะสม

3. บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการสนับสนุนและดูแลครัวเรือนชนบทไทย

สำหรับการแก้ไขปัญหาดังที่กล่าวมา

งานวิจัยได้ชี้ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองมีหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุข และรู้จักใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่เขตชนบทมากที่สุด ควรเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ

ทั้งนี้ จากงานศึกษาพบว่า อปท. ได้มีบทบาทช่วยเหลือครัวเรือนชนบทมาตลอด โดยได้ใช้งบประมาณที่ได้จากภาครัฐมาจัดสรรเบี้ยยังชีพ รวมถึงส่งเสริมจัดตั้งกองทุนหรือสวัสดิการในระยะยาวให้แก่ผู้สูงอายุ นอกจากนี้ อปท. หลายแห่งยังใช้เงินงบประมาณของท้องถิ่นเอง มาจัดบริการรับส่งผู้สูงอายุยามฉุกเฉินและเจ็บป่วยไปยังสถานพยาบาล รวมถึงการจัดบริการเยี่ยมเยือนเพื่อมอบของยังชีพหรือส่งทีมหมอประจำชุมชนเพื่อตรวจสุขภาพของผู้สูงอายุ นอกจากนี้ อปท. ยังได้กำหนดนโยบายยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กอีกด้วย โดยจัดสถานเลี้ยงเด็กในชุมชน หรือรับเลี้ยงดูลูกหลานที่ย้ายถิ่นมาจากภายนอก รวมถึงส่งเสริมให้ปู่ย่าตายายร่วมดูแลลูกหลานอย่างเหมาะสม

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ อปท. จะมีบทบาทในการจัดสรรสวัสดิการให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุและเด็กมากกว่าแต่ก่อน แต่ยังมีการปฏิบัติไม่แพร่หลายเมื่อเทียบกับความต้องการที่เกิดขึ้นจริง

ด้วยเหตุนี้ ผู้วิจัยจึงได้เสนอข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของครัวเรือนชนบทที่มีแนวโน้มเข้าสู่สถานการณ์ที่ล่อแหลม ดังนี้

  1. ส่งเสริมให้ อปท. มีบทบาทในการดูแลครัวเรือนผู้สูงอายุและครัวเรือนข้ามรุ่นอย่างสร้างสรรค์ โดยไม่เน้นกิจกรรรมด้านสังคมสงเคราะห์เท่านั้น หากจะต้องส่งเสริมให้เกิดความอยู่ดีมีสุขในวิถีชีวิต
  2. จัดให้มีสถานเลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพ เพื่อช่วยลดภาระของผู้สูงอายุที่ต้องดูแลหลานแต่ฝ่ายเดียว
  3. ผลักดันกระบวนการเสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรมของชุมชน เพื่อเป็นรากฐานในการพึ่งพาอาศัยในครัวเรือนชนบท
  4. กระตุ้นให้เกิดการทำธุรกิจเกิดใหม่ที่สามารถพึ่งพิงตัวเองได้อย่างยั่งยืน เพื่อสร้างสังคมชนบทที่เข้มแข็ง
  5. สนับสนุนให้เกิด “ความฉลาดทางเทคโนโลยี” ในกลุ่มประชากรผู้สูงอายุเพี่อยกระดับคุณภาพชีวิต
  6. ส่งเสริมความเข้าใจสถานการณ์ครัวเรือนกึ่งเมืองกึ่งชนบท เพราะครัวเรือนปัจจุบันเริ่มมีส่วนผสมของความเป็นเมืองและชนบทมากขึ้นกว่าอดีต การสร้างความเข้าใจจะทำให้ครัวเรือนสามารถปรับตัวได้ดีขึ้น
  7. ส่งเสริมให้สมาชิกชุมชนใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยเพื่อติดต่อสื่อสารในยามช่วยเหลือกันได้ง่ายขึ้น
  8. ส่งเสริมให้ผู้ย้ายถิ่นกลับ บุตรหลาน เพื่อนบ้าน องค์กรชุมชน รวมถึงผู้สูงอายุที่มีจิตอาสารับบทบาทเป็น “ผู้เกื้อกูลหลักของครัวเรือนชนบท” เพื่อเป็นแกนหลักในการช่วยเหลือสมาชิกในระดับชุมชน

ที่มา: งานวิจัย ความอยู่ดีมีความสุขของครัวเรือนชนบทไทยภาคใต้การเปลี่ยนแปลงทางประชากรสังคม (2558) โดย ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา ดร.ศุทธิดา ชวนวัน และนายวิชาญ ชูวัตน์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล