การเพิ่มแรงงานที่มีคุณวุฒิและทักษะที่จำเป็นต่อภาคอุตสาหกรรมเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ดี ขณะนี้จำนวนคนที่เข้าสู่ระบบอาชีวศึกษาเพื่อพัฒนาคุณวุฒิและทักษะยังมีไม่มาก จึงจำเป็นต้องสร้างช่องทางอื่นเพื่อเพิ่มแรงงานที่มีคุณวุฒิและทักษะตามมาตรฐานที่ตลาดแรงงานต้องการ
แนวทางหนึ่งคือ การเทียบโอนมาตรฐานฝีมือแรงงานเพื่อคุณวุฒิการศึกษาวิชาชีพ ซึ่งเป็นระบบที่เปิดโอกาสให้คนที่ไม่ได้เรียนในระบบอาชีวศึกษา แต่มีทักษะวิชาชีพจากการทำงานจริงได้มีโอกาสสอบวัดมาตรฐานฝีมือแรงงานตามอาชีพจากสถานศึกษาอาชีวศึกษา เมื่อผ่านการทดสอบก็จะได้คุณวุฒิการศึกษาวิชาชีพเหมือนดังการเรียนในสถาบัน ซึ่งจะสร้างความน่าเชื่อถือของแรงงานว่าสามารถปฎิบัติวิชาชีพนั้นได้อย่างมีมาตรฐาน นายจ้างก็มีความเชื่อมั่นการจ้างงาน ส่วนแรงงานก็สามารถเรียกร้องเงินเดือนได้ตามระดับคุณวุฒิของตน กระนั้น ในปัจจุบันประเทศไทยยังมีปัญหาหลายประการทั้งในระดับสถานศึกษา บุคลากร หรือระบบการศึกษา จนทำให้ไม่มีรูปแบบการเทียบโอนมาตรฐานฝีมือแรงงานที่ดี จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพื่อพัฒนารูปแบบการเทียบโอนที่เหมาะสม
งานวิจัยเรื่อง การพัฒนารูปแบบการเทียบโอนมาตรฐานฝีมือแรงงานเพื่อคุณวุฒิการศึกษาวิชาชีพ (2557) ของ ผศ.ดร.อนุชัย รามวรังกูล และ อ.ดร.นลินรัตน์ รักกุศล แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้เสนอรูปแบบการเทียบโอนมาตรฐานฝีมือแรงงานเพื่อคุณวุฒิการศึกษาวิชาชีพที่เหมาะสมกับประเทศไทย โดยข้อเสนอดังกล่าวเป็นผลมาจากการวิเคราะห์รูปแบบและแนวทางการเทียบโอนมาตรฐานฝีมือแรงงานในต่างประเทศ ปัจจัยเงื่อนไขของระบบการเทียบโอนมาตรฐานฝีมือแรงงานในประเทศไทย และการกำหนดรูปแบบการเทียบโอนมาตรฐานฝีมือแรงงานที่สอดคล้องกับบริบทประเทศไทย
ตัวอย่างรูปแบบและระบบการเทียบโอนมาตรฐานฝีมือแรงงานเพื่อคุณวุฒิการศึกษาวิชาชีพในต่างประเทศ
จากการศึกษารูปแบบและระบบการเทียบโอนของ 4 ประเทศ ได้แก่ สหภาพยุโรป อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และมาเลเซีย งานวิจัยชี้ว่าการเทียบโอนความรู้มีองค์ประกอบหลายส่วน โดยองค์ประกอบที่ต่างประเทศให้ความสนใจ คือ ผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning Outcomes) และมาตรฐานวิชาชีพ (Occupational Standards) ซึ่ง 2 องค์ประกอบนี้เป็นส่วนที่ช่วยเชื่อมโลกการศึกษาและโลกการทำงานเข้าด้วยกัน โดยผลลัพธ์การเรียนรู้ก็คือ ความรู้และทักษะซึ่งผู้เรียนได้รับเมื่อจบหลักสูตร ส่วนมาตรฐานอาชีพคือ ความรู้และทักษะที่แรงงานต้องมีในการประกอบอาชีพนั้น นอกจากนี้ ยังมีองค์ประกอบด้านวิธีการวัดและประเมินผลการเรียนรู้และประสบการณ์ที่ผ่านมาของผู้เรียน โดยวิธีการวัดและประเมินนั้นมีหลากหลายที่จะเอื้อให้แรงงานหรือผู้เรียนวัยผู้ใหญ่สามารถกลับเข้ามาเรียนในระบบการศึกษาได้ ทั้งนี้ วิธีการวัดผลประกอบไปด้วยการทดสอบ การจัดทำแฟ้มสะสมงาน การสัมภาษณ์ และการใช้เอกสารหลักฐานอ้างอิง
ส่วนการเทียบโอนความรู้และประสบการณ์นั้นจะใช้ระบบการสะสมหน่วยกิต (Credit Bank) โดยผู้ต้องการเทียบโอนสามารถนำผลการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย มาเทียบโอนเป็นหน่วยกิตและสะสมไว้ใช้เพื่อศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น โดยจะมีหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ดูแล เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาเลือกวิธีวัดผลโดยใช้แฟ้มสะสมงาน แบบทดสอบ หรือการเทียบหน่วยกิตจากการฝึกอบรมที่ได้รับการรับรอง โดยหน่วยงานหลักที่เข้ามากำกับดูการเทียบโอนคือองค์กรมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ
ปัจจัยเงื่อนไขของระบบการเทียบโอนมาตรฐานฝีมือแรงงานเพื่อคุณวุฒิการศึกษาวิชาชีพ
งานวิจัยนำเสนอว่ามีปัจจัย 41 ประการที่ส่งผลต่อการดำเนินระบบเทียบโอนมาตรฐานฝีมือแรงงานของสถานศึกษาอาชีวศึกษาทั้งภาครัฐบาลและเอกชนของประเทศไทยให้เกิดความสำเร็จ โดยสามารถจัดกลุ่มปัจจัยต่าง ๆ เป็น 4 ด้าน ดังนี้
(1) ด้านผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษา เช่น สนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรในงานการเทียบโอนมาตรฐานอาชีพในสถานศึกษา จัดตั้งหน่วยงานเฉพาะเรื่องนี้ในสถานศึกษา มีนโยบายชัดเจน สร้างเครือข่ายงานเทียบโอนมาตรฐานอาชีพระหว่างสถานศึกษา เป็นต้น
(2) ด้านความร่วมมือของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานกับหน่วยงานต้นสังกัด เช่น ร่วมกันพัฒนาระบบประเมินมาตรฐานฝีมือ ร่วมกันกำหนดสมรรถนะมาตรฐานอาชีพ ร่วมกันพัฒนาครูฝึกวิชาชีพ กำหนดให้มีหน่วยงานกลางดูแลระบบเทียบโอนโดยเฉพาะของสถานศึกษา สร้างระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการทำงาน เป็นต้น
(3) ด้านความพร้อมสถานศึกษาอาชีวศึกษา เช่น จัดตั้งคณะกรรมการการเทียบโอนมาตรฐานอาชีพภายในสถานศึกษา พัฒนาหลักสูตรการเทียบโอนเป็นของตนเอง ร่วมมือกับสถานประกอบการในการเทียบโอนมาตรฐานอาชีพ พัฒนาคู่มือการเทียบโอน เป็นต้น
(4) ด้านความร่วมมือของสถานประกอบการและความพร้อมของคณาจารย์ เช่น สถานประกอบการมีการจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรร่วมกับสถานศึกษา พัฒนาระบบการนิเทศผู้เรียนที่ผ่านการเทียบโอนร่วมกับสถานศึกษา คณาจารย์มีการติดตาม และประเมินผลการทางานของผู้เรียนในสถานประกอบการ เป็นต้น
รูปแบบการเทียบโอนมาตรฐานฝีมือแรงงานเพื่อคุณวุฒิการศึกษาวิชาชีพที่เหมาะสมกับสถานศึกษาทางการอาชีวศึกษาไทย
ผลการวิจัยบอกว่า สำหรับการกำหนดรูปแบบการเทียบโอนมาตรฐานที่เหมาะสมต่อประเทศไทย ระบบการสะสมหน่วยกิต (Credit Bank) กล่าวคือ แรงงานที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานสามารถนำผลสอบมาเทียบโอนสมรรถนะรายวิชาเพื่อเป็นหน่วยกิตทั้งในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพและประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูงได้ โดยแรงงานสามารถเก็บเป็นหน่วยกิตสะสมและนำมาใช้ศึกษาต่อได้ โดยมีหน่วยงานกลางคอยดูแล ระบบเช่นนี้สร้างเสริมโอกาสในการการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับแรงงานได้อย่างดี
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
ผู้วิจัยได้เสนอข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อพัฒนารูปแบบการเทียบโอนมาตรฐานฝีมือแรงงานเพื่อคุณวุฒิการศึกษาวิชาชีพสำหรับประเทศไทยให้มีความพร้อม เช่น
- รัฐบาลควรจัดตั้งหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ดูแลและกำกับ Credit Bank ให้เป็นรูปธรรมเพื่อการเทียบโอนมาตรฐานฝีมือแรงงาน ตลอดจนการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อเก็บข้อมูลรายบุคคล และสถานศึกษาที่เกี่ยวกับการเทียบโอนหน่วยกิตในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพและประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง
- รัฐบาลควรเสนอกฎหมายว่าด้วยอาชีวศึกษาและการพัฒนาฝีมือแรงงานให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน และเชื่อมโยงโลกการศึกษากับโลกการทำงานเข้าด้วยกัน
- กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนควรจัดทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการพัฒนาสาขาอาชีพ และการสร้างเครือข่ายในการจัดตั้งศูนย์ทดสอบความรู้และความสามารถในสถานศึกษาอาชีวศึกษา
อ่านเพิ่มเติม: งานวิจัยเรื่อง การพัฒนารูปแบบการเทียบโอนมาตรฐานฝีมือแรงงานเพื่อคุณวุฒิการศึกษาวิชาชีพ (2557) โดย อนุชัย รามวรังกูร และ นลินรัตน์ รักกุศล สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)