ข่าวรอบรั้ว: ลงจากหอคอยงาช้าง! “Knowledge Farm”วิชาการไม่จำกัด ย่อยงานวิจัยอ่านง่าย เข้าถึงได้ทุกคน

เรามักจะได้ยินอยู่เสมอว่า “งานวิจัย” เป็นเรื่องซับซ้อนเข้าใจยาก เเละได้รับความสนใจเเค่ในหมู่เเวดวงวิชาการเท่านั้น  ส่วนชาวบ้านคนทั่วไปเข้าถึงยากเเสนยาก เเถมยังน่าเบื่อ จนเกิดวาทะติดหูว่างานวิชาการอยู่เเต่บน “หอคอยงาช้าง” ที่ได้ยินกันมาหลายยุคหลายสมัย

มาในสมัยนี้ ยุคดิจิทัลที่ทุกคนอยู่ในโลกไร้พรมเเดน เพียงคุณเข้าถึงอินเทอร์เน็ตก็สามารถหาความรู้ต่างๆนานาได้เพียงปลายนิ้วคลิก การนำ “งานวิจัย” มาเผยเเพร่ให้ประชาชนทุกคนได้ค้นคว้าผ่านเว็บไซต์เเละสื่อโซเชียลในรูปแบบที่สนุกสนาน คลิป อินโฟกราฟฟิกน่าสนใจ การย่อยงานที่เยอะเเละยาก มาให้อ่านกันในสรุปเดียว เเถมยังคงความน่าเชื่อถือสามารถอ้างอิงได้เช่นเดิม…ช่างเป็นไอเดียที่น่าชื่นชม

เว็บไซต์ Knowledge Farm : ฟาร์มรู้สู่สังคม” ของหน่วยวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ถือเป็นการเปิดประตูโลกวิชาการเพื่อนำไปสู่การ “เเบ่งปันความรู้” สไตล์ดิจิทัลที่สามารถนำไปพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เเละประเทศชาติต่อไปได้

“ในสมัยก่อน งานวิจัยมักจะถูกมองว่าอยู่บนหิ้ง การอยู่บนหิ้งนั้นก็มีประโยชน์ เเต่ยังอยู่ในวงจำกัด เราจึงอยากทำให้งานวิจัยไม่ได้จำกัดเเค่คนจำนวนน้อยอ่าน เเต่ต้องออกไปสู่สังคมวงกว้าง งานวิจัยเเต่ละปีที่สกว.ทำกว่าพันโครงการ หนังสือดีๆเป็นพันเล่ม จะได้มีคนอ่านเยอะๆ  โดยเราจะช่วยจัดสรรเอางานวิจัยที่มีคุณภาพสื่อสารกับคนทุกคน ดังนั้น Knowledge Farm จึงเปรียบเสมือนสะพานเชื่อมระหว่างโลกวิชาการเเละโลกสังคมผ่านการสื่อสารสาธารณะ” 

ผศ.ปกป้อง จันวิทย์ หัวหน้าโครงการจัดการความรู้เเละสื่อสารสาธารณะ การวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ของสกว.กล่าวพร้อมเปิดเผยว่าทางเว็บไซต์ เพจเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์เเละช่องทางยูทูบของ Knowledge Farm จะนำเสนองานวิจัยของสกว. ในรูปแบบที่สร้างสรรค์ เข้าใจง่ายเเละมีสไตล์ เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในสังคม เว็บไซต์นี้จะเป็นเหมือนบ้านที่เก็บรวบรวมผลงานความรู้ที่ถูกนำไปปรุงรสให้อร่อย จัดการความรู้ด้วยวิธีหลากหลาย

“จะมีการนำเสนอรายงานโดยการย่อยให้กระชับเเละอ่านง่าย มีบทสัมภาษณ์นักวิจัยผู้ลงสนามจริงกับผลงานของพวกเขา สังเคราะห์ให้เป็นสารคดีที่มีสีสัน อินโฟกราฟฟิกที่ดึงดูด สรุปงานสัมมนา อีกทั้งยังเป็นคลังรวบรวมงานวิจัยเเละหนังสือฉบับเต็มอีกด้วย โดยจะมีทีมงานคอยอัพเดทงานวิจัยตลอดเเละสามารถเข้าชมเว็บไซต์ได้ 24 ชั่วโมง”

ด้าน ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสกว. กล่าวว่า งานวิจัยจะไม่ได้อยู่เเค่ในวงวิชาการอีกเเล้ว เเต่จะต้องเข้าถึงทุกคน ชาวไทยมีการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เเละเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้จำนวนมาก เราจึงสามารถเรียนรู้ไปพร้อมๆกันในโลกไร้พรมเเดนได้ เข้าถึงคนมหาศาลได้ในเวลาอันสั้น เเละเชื่อว่าคนเราเมื่อได้รับความรู้ใหม่ๆ จะมีความปิติยินดี อีกทั้งยังนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ Knowledge Farm จะหยิบยกเรื่องที่น่าสนใจมานำเสนอ เช่น ผลวิจัยตัวเลขประชากรไทยที่อายุเกิน 100 ปี ที่เราอาจยังไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่ามีจำนวนกว่าพันคนเลยทีเดียว เเละเหตุผลปัจจัยที่ทำให้คนเจนวายไม่นิยมมีบุตร เป็นต้น

โดยการนำคลังความรู้ของสกว.มาเผยเเพร่ต่อสาธารณะครั้งนี้ เกิดขึ้นภายหลังการจัดกรอบประเด็นการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Research Issue : SRI) 12 เรื่อง ซึ่งเป็นเป้าหมายในการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศอย่างบูรณาการ สิ่งที่คาดหวังคือ เเนวคิดใหม่ องค์ความรู้ใหม่ ข้อเสนอเชิงนโยบาย ทั้งเทคโนโลยีเเละนวัตกรรมสังคมที่เป็นรูปธรรมบนฐานความรู้ ตอบโจทย์ประเทศเตรียมสู่อนาคตเพื่อสังคมไทยเติบโตอย่างยั่งยืน

ด้าน รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล รองผู้อำนวยการด้านการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ของสกว. กล่าวว่าในยุคนี้สื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นสื่อใหม่เเละมีอิทธิพลในการเปลี่ยนเเปลงสังคมมาก ได้เปิดพื้นที่ให้เราเผยเเพร่ความรู้ งานวิจัยที่มีความน่าเชื่อถือ มีหลักฐานเชิงประจักษ์ ข้อเท็จจริงมาก เชื่อว่าสังคมจะมีการมองในมุมที่มีเหตุมีผลมากขึ้นเเละใช้ดุลยพินิจในการเเก้ไขปัญหาต่างๆ คนไทยจะได้เรียนรู้ร่วมกันเเล้วจะเกิดพลังในการเปลี่ยนเเปลงที่มีทิศทาง จึงอยากสร้างเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ของสังคม สกว.เองต้องเรียนรู้เเละปรับตัวอีกมากในการที่จะย่อยงานให้เข้าใจง่ายเเละสื่อสารกับคนหมู่มาก ซึ่งเราจะต้องมาคุยกันอย่างจริงจังว่าพอมีพื้นที่เปิดในโลกออนไลน์เเล้วจะนำใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างไรให้ได้มากที่สุด

ทำไมจึงใช้ชื่อว่า”Knowledge Farmฟาร์มความรู้” ?

ผศ.ปกป้องเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้มีการคิดกันมาหลากหลายชื่อ ตกลงสรุปได้เป็น ฟาร์มความรู้ด้วยความหมายที่ว่าเป็น “ฟาร์มที่ปลูกความรู้” เเบบน่ารักๆ มีวิธีเล่าเรื่อง มีบรรยากาศการสนทนาเเลกเปลี่ยนทัศนะ เหมือนต้นไม้ที่เเผ่กิ้งก้านเเละมีรากฐานขององค์ความรู้

“เป็นกันเอง ใฝ่รู้ ตั้งคำถาม ไว้วางใจได้ ตอบโจทย์ทุกคนที่มีความอยากรู้…นี่คือคาเเร็กเตอร์ของ Knowledge Farm ” 


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 ในชื่อ ลงจากหอคอยงาช้าง! “Knowledge Farm”วิชาการไม่จำกัด ย่อยงานวิจัยอ่านง่าย เข้าถึงได้ทุกคน