รายงาน: เปิดมุมมอง 3 นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ ว่าด้วยเศรษฐกิจใหม่ในสังคมสูงวัย

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2559 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ได้จัดเวทีสาธารณะเรื่อง “สังคมสูงวัย: ความท้าทายและการปรับตัวสู่สมดุลใหม่” ขึ้น เพื่อสำรวจสภาพปัญหา ความท้าทาย โอกาส และการเตรียมพร้อมรับมือของสังคมไทยในการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมสูงวัย

รายงาน Knowledge Farm – ฟาร์มรู้สู่สังคม ขอนำเสนอแนวคิดของสามนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่จากสามสถาบันการศึกษา รศ.ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และ ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวงเสวนาย่อยเรื่อง “เศรษฐกิจใหม่ในสังคมสูงวัย”  ว่าด้วยความท้าทายที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญในยุคสังคมสูงวัย

‘สังคมสูงวัย’ เป็นปรากฎการณ์เปลี่ยนผ่านทางสังคมที่มีหลายปัจจัยเชื่อมโยงกันอยู่ หลายคนอาจมองว่าสังคมสูงวัยเป็นเรื่องไกลตัวหรือเป็นเรื่องของคนหลังเกษียณเท่านั้น แต่หากทำความเข้าใจจริงๆ จะพบว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้มีผลจากจำนวนผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นเท่านั้น ทว่ามาจากการที่เด็กเกิดใหม่มีจำนวนลดลงด้วย ซึ่งหมายความว่า จำนวนแรงงานรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาทดแทนแรงงานสูงอายุที่ปลดระวางไปก็จะน้อยลงด้วย การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคโดยตรง

รศ.ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ คาดการณ์ว่า

เศรษฐกิจไทยจะขาดแคลนแรงงานในอนาคต โดยอีก 12 ปีข้างหน้า จำนวนประชากรไทยจะเริ่มลดลง และ 25 ปีหลังจากนี้ จำนวนประชากรไทยจะน้อยลงกว่าปัจจุบันถึง 1 ล้านคน ส่งผลให้อัตราการเติบโตของประเทศลดต่ำลงไปด้วย ผลสืบเนื่องคือปัญหาความยากจน ความเท่าเทียมในสังคม รวมถึงคุณภาพชีวิตของผู้คนที่แย่ลง

“อัตราการเติบโตที่เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย เมื่อมองในระยะยาว กลับมีนัยสำคัญมากพอสมควร ยกตัวอย่างเช่น ประเทศหนึ่งมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ 2.5% เมื่อผ่านไป 100 ปี ความมั่งคั่งของเขาจะเพิ่มขึ้น 1,000% ส่วนอีกประเทศหนึ่ง แม้ว่าอัตราการเติบโตจะห่างกันแค่ 0.5% กลับทำให้ความแตกต่างของความมั่งคั่งห่างกันประมาณ 400% ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่สูงมาก  กล่าวสำหรับประเทศไทย ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product – GDP) จะเติบโตน้อยลงประมาณ 1-1.6% ดังนั้น อัตราการเติบโตเฉลี่ย 4.5% ที่เราเคยเห็นกันในช่วงทศวรรษก่อนน่าจะเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว ทุกวันนี้เศรษฐกิจไทยอาจจะโตได้แค่ 3-3.5% เท่านั้น” รศ.ดร.สมประวิณ กล่าว

นอกจากจำนวนแรงงานที่ลดลงแล้ว รศ.ดร.สมประวิณ ยังกล่าวถึงลักษณะการเลือกอาชีพของแรงงานไทยที่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปมากในปัจจุบัน โดยชี้ให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่เลือกที่จะเป็นนายจ้างหรือเป็นนายของตัวเอง เมื่ออายุมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณลูกจ้างลดลง ในอนาคตประเทศไทยจะมีแรงงานจ้างตัวเองเพิ่มสูงขึ้น แต่แรงงานจ้างตัวเองนั้นมีผลิตภาพต่ำเมื่อเทียบกับแรงงานที่เป็นเจ้าของกิจการและลูกจ้าง เพราะไม่สามารถยกระดับตัวเองให้เป็นนายจ้างได้ ซึ่งจะส่งผลให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประเทศลดลงร้อยละ 30 ในอีก 30 ปีข้างหน้า ซึ่งถือเป็นจำนวนมหาศาล และปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น

ทางด้าน ศ.ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ มองว่า การเข้าสู่สังคมสูงวัยเป็นเรื่องที่ต้องบูรณาการหลายฝ่ายมาทำงานร่วมกัน

แต่หัวใจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ คือเรื่องผลิตภาพ (productivity) เมื่อพิจารณาผลิตภาพในแต่ละอุตสาหกรรมจะมองเห็นความแตกต่าง อุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักรมาก ผลิตภาพแรงงานจะสูงกว่าเพราะมีเครื่องมือมาช่วย สินค้าที่มีผลิตภาพแรงงานต่ำนั้นส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักรน้อย

หากพิจารณาระดับผลิตภาพแยกตามภูมิภาคจะพบว่าภาคตะวันออกมีผลิตภาพสูงสุด เพราะเต็มไปด้วยนิคมอุตสาหกรรม และมีการลงทุนค่อนข้างมาก ในขณะที่ภาคที่มีผลิตภาพต่ำสุดคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นภาคเกษตรกรรม อย่างไรก็ตาม การวัดผลิตภาพด้วยตัวเลขทั้งหมดมีจุดอ่อนอีกมากที่จะบอกว่าผลิตภาพเพิ่มขึ้นแล้วดีอย่างไร เพราะยังมีปัจจัยเรื่องการจัดการระบบทรัพยากรบุคคลในองค์กร ความแตกต่างของตำแหน่งงาน รวมไปถึงนโยบายและระดับเทคโนโลยี ที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบ

ศ.ดร.พิริยะ ยังกล่าวด้วยว่า “แรงงานถือเป็นปัจจัยหลักในการเพิ่มผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรม ซึ่ง ปัจจุบันเรามีความคาดหวังสูงว่าแรงงานรุ่นใหม่จะทำอะไรได้มากกว่าคนในสมัยก่อนเพื่อชดเชยกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน เมื่อเราตั้งความหวังแบบนั้นก็ต้องส่งเสริมให้เขาปรับทักษะความสามารถเรื่องอินเทอร์เน็ตกับเทคโนโลยีให้อิงกับยุคอุตสาหกรรม 4.0 และเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นในโลกอนาคต เช่น ทักษะการแก้ไขปัญหาซับซ้อน การคิดวิเคราะห์ การคิดสร้างสรรค์ การจัดการคน การทำงานเป็นทีม และการมีความฉลาดทางอารมณ์”

ขณะที่ ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ ขยายความในบริบทภาคเอกชนว่าการเพิ่มผลิตภาพเป็นความคาดหวังของนักเศรษฐศาสตร์ทั้งสิ้น แต่ปัจจุบันยังมีจุดบกพร่องในระบบการจ้างงานอยู่พอสมควร โดยปกติภาคธุรกิจจะยึดอายุเกษียณตามที่กฎหมายประกันสังคมกำหนดไว้ว่า บำเหน็จบำนาญจะเริ่มเมื่ออายุ 55 ปี และต้องไม่มีสถานภาพเป็นผู้ประกันตน ซึ่งหมายความว่า ต้องออกจากงานแล้ว นอกจากนี้ ยังระบุอีกว่า ถ้าทำงานครบ 180 เดือนขึ้นไปจะได้รับบำนาญ ในขณะที่ทำงาน 179 เดือนจะได้บำเหน็จ แรงงานจึงต้องตัดสินใจว่าจะอยู่ในระบบต่อหรือไม่ในช่วงระหว่าง 179 และ 180 ชั่วโมง สิ่งเหล่านี้กลายเป็นข้อจำกัดสำคัญของการขยายโอกาสและการได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ

แนวทางที่ภาครัฐควรเข้ามาแก้ไข เช่น การให้ผู้สูงวัยสามารถทำงานไปได้ด้วย โดยที่ประกันสังคมจ่ายส่วนหนึ่ง ส่วนภาคธุรกิจก็ลดเงินเดือนหรือค่าตอบแทนลงได้เล็กน้อย เพื่อชดเชยกับผลิตภาพที่ลดลง แต่กระแสเงินรายรับของแรงงานไม่ได้เปลี่ยนแปลง เพราะมีเงินส่วนเสริมจากบำนาญเข้ามา ถ้าทำแบบนี้ประกันสังคมก็จะสามารถชะลอโดยจ่ายก้อนเล็กได้ แทนที่จะต้องจ่ายก้อนใหญ่ทีเดียว นี่เป็นสถานการณ์ที่ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ (win-win situation)

ผศ.ดร.ศุภชัย กล่าวเสริมด้วยว่า “เอกชนมีการปรับตัวเข้าสู่สังคมสูงวัยอยู่เสมอ แต่จะปรับอย่างไร ใช้เวลานานหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐจะเป็น facilitator (ผู้อำนวยความสะดวก) แบบไหน และในแง่หนึ่งสังคมสูงวัยก็ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจ เมื่อจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ความต้องการสินค้าและบริการใหม่ๆ ก็ตามมา กลายเป็นเทรนด์ของธุรกิจในอนาคต เช่น สินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อผู้สูงอายุ เวชภัณฑ์ อาหารเพื่อสุขภาพ การออกแบบโครงสร้างอาคาร การออกแบบสถาปัตย์เพื่อผู้สูงอายุ รวมถึงการให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่”

สำหรับทางออกเศรษฐกิจไทยเมื่อเข้าสู่สังคมสูงวัย นักเศรษฐศาสตร์ทั้งสามคนมีข้อเสนอดังนี้

รศ.ดร.สมประวิณ เสนอวิธีการรับมือสังคมสูงวัยไว้ 4 ประการ ดังนี้

(1) ขยายอายุเกษียณการทำงาน หากเลื่อนอายุเกษียณการทำงานจาก 60 ปี เป็น 65 ปี จะสามารถเลื่อนการชะลอตัวเศรษฐกิจได้ 10 ปี แต่ก็นับเป็นการซื้อเวลาเท่านั้น

(2) การยกระดับผลิตภาพ เป็นทางออกที่ยั่งยืน อาจทำได้โดยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรม (technology and innovation) นอกจากนั้น ควรปรับปรุงเรื่อง โครงสร้างสถาบันทางเศรษฐกิจ เช่น แก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ความบิดเบือนทางตลาด และการลดการผูกขาด

(3) การพัฒนาระบบการเงิน อาจทำได้โดยการพัฒนาระบบข้อมูลเครดิตของผู้ประกอบการรายย่อย รายใหม่ และนอกระบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจ รวมถึงคัดกรองผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีศักยภาพและนวัตกรรมให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้

(4) การพัฒนาทักษะเฉพาะทาง คือ เสริมความรู้ด้านวิชาชีพ เพื่อนำไปใช้ในการทำงานจริง

ทางด้าน ศ.ดร.พิริยะ ก็เน้นย้ำเรื่องการพัฒนาทักษะแรงงานเช่นกัน โดยกล่าวว่า การวัดผลิตภาพโดยรวมของไทยอาจไม่ถึงเป้าด้วยหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นแรงงานที่ลดลง คุณภาพการศึกษาและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แต่แนวทางแก้ไขที่สามารถทำได้ภายใน 5 ปีนี้ คือ การแก้ mismatch หรือทักษะและความรู้ที่ไม่สอดคล้องกับงานที่ทำ ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับ 2 ส่วน นั่นคือ degree mismatch และ skill mismatch

(1) degree mismatch แยกออกเป็น แนวดิ่ง หมายถึง การทำงานต่ำกว่าวุฒิตัวเอง เช่น จบปริญญาโท แต่ทำงานในวุฒิปริญญาตรี ส่วน แนวราบ คือการทำงานไม่ตรงกับสาขาที่เรียนจบ เช่น จบวิศวกรรมมาเป็นพนักงานขาย เราพบว่า mismatch ที่สูงมากคือ ปริญญาโท ซึ่ง 91.9% ทำงานต่ำกว่าวุฒิ ในขณะที่ปัญหาแนวราบ พบมากใน ปวช. และปวส. ซึ่งครึ่งนึงของผู้สำเร็จการศึกษาด้านนี้ไม่ได้จบสายช่าง

(2) skill mismatch เราควรให้ความสำคัญกับทักษะที่จำเป็นต่อองค์กร ได้แก่ ทักษะด้านภาษาและไอที หรือทักษะเฉพาะด้าน เช่น ถ้าอยากให้คนชุมชนนี้ปลูกข้าวเก่ง ก็ให้อบต.ไปจัดการหาคนสอนปลูกข้าว ซึ่งช่วยเพิ่มผลิตภาพให้คนในชุมชน และยังอาจทำให้ชุมชนนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคตได้อีกด้วย

ส่วน ผศ.ดร.ศุภชัย เล่าถึงตัวอย่างการเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงานของบริษัทแพรนด้าจิวเวลรี่ ที่ให้ลูกจ้างรับงานไปทำที่บ้าน ส่วนบริษัททำหน้าที่ส่งเครื่องมือให้ช่างฝีมือ และตรวจสอบควบคุมคุณภาพก่อนรับของกลับมา ข้อดีของการจ้างงานลักษณะนี้คือ เมื่อลูกจ้างไม่ต้องเดินทางมาโรงงาน ก็ไม่ต้องเผชิญกับสภาพการจราจร รวมทั้งสามารถอยู่กับลูกหลานได้ ส่วนบริษัทก็ยังได้งานเหมือนเดิม แต่ภาระค่าใช้จ่ายในเชิงประกันสังคมและสวัสดิการภาคบังคับก็ลดลง ในขณะเดียวกัน ถ้าช่างฝีมือสูงอายุเหล่านี้ยังสามารถมาทำงานได้ ก็ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้มาเป็นครูของช่างแทน ทำหน้าที่ให้คำปรึกษากับแรงงานรุ่นใหม่ ซึ่งสามารถตอบโจทย์ของสถานประกอบการได้เป็นอย่างดี และอาจเป็นตัวอย่างให้กับธุรกิจอื่นๆ ได้อีกด้วย