รายงาน: เศรษฐกิจสีน้ำเงิน: พื้นที่ใหม่ของการพัฒนาเศรษฐกิจ

หลายทศวรรษที่ผ่านมา การใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจทวีความสำคัญมากขึ้น ทั้งในแง่ของการนำมาใช้โดยตรง อาทิ การทำประมงและการขุดก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน และการใช้ประโยชน์โดยอ้อม เช่น การท่องเที่ยว ท่าเรือ การขนส่งทางเรือ การดูดซับคอร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น

นับวัน ชุมชนนโยบายยิ่งให้ความสนใจเรื่องการใช้ทรัพยากรทางทะเลในฐานะพื้นที่ใหม่ของการพัฒนาเศรษฐกิจ (New Economic Frontier) โดยมีรูปธรรมสำคัญคือ แนวคิด ‘เศรษฐกิจสีน้ำเงิน’  (Blue Economy)

รายงานของ OECD เรื่อง The Ocean Economy in 2030 ประเมินว่า ในปัจจุบันเศรษฐกิจสีน้ำเงินมีมูลค่าอย่างน้อยที่สุด 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และครอบคลุมการจ้างงานกว่า 31 ล้านตำแหน่ง โดยภายในปี 2030 คาดว่ามูลค่าของเศรษฐกิจสีน้ำเงินจะเพิ่มขึ้น 2 เท่า คิดเป็นมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และจ้างงานเพิ่มขึ้นอีกราว 10 ล้านตำแหน่ง

แนวคิด ‘เศรษฐกิจสีน้ำเงิน’ เกิดขึ้นครั้งแรกในที่ประชุม United Nations Conference on Sustainable Development ในปี ค.ศ. 2012 ณ กรุงรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล หรือที่รู้จักกันในนาม  ‘RIO+20’

หลังการประชุม ‘RIO+20’ แนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงินได้รับการขานรับจากชุมชนโยบายทั่วโลกเป็นอย่างดี องค์กรโลกบาลและภาคีเครือข่ายนานาชาติ อาทิ องค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลก กลุ่มประเทศ OECD และพันธมิตรเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมทางทะเลในเอเชียตะวันออก (Partnership Management for the Seas of East Asia: PEMSEA) ต่างหยิบยกหัวข้อนี้เป็นวาระสำคัญทางนโยบาย สำหรับประเทศไทย ‘เศรษฐกิจสีน้ำเงิน’ เป็นหนึ่งในประเด็นวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Research Issues: SRI) ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้การสนับสนุน

Knowledge Farm – ฟาร์มรู้สู่สังคม ชวนผู้อ่านมาสำรวจ ‘เศรษฐกิจสีน้ำเงิน 101’ เศรษฐกิจสีน้ำเงินคืออะไรกันแน่ แตกต่างจากเศรษฐกิจแบบปกติธรรมดาอย่างไร อะไรคือศักยภาพ โอกาส และความท้าทายของเศรษฐกิจสีน้ำเงิน

 

 

เศรษฐกิจสีน้ำเงินคืออะไร

 

กล่าวอย่างง่ายที่สุด ‘เศรษฐกิจสีน้ำเงิน’ คือ เศรษฐกิจฐานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งครอบคลุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะลทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิ การเป็นแหล่งอาหาร แร่ ทรัพยากรธรรมชาติ การเป็นแหล่งพลังงาน การท่องเที่ยว การขนส่ง และภาคบริการที่เกี่ยวเนื่อง ฯลฯ

ธนาคารโลกเชื่อว่า เศรษฐกิจสีน้ำเงินจะเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในประเทศที่เป็นชายฝั่งและเกาะขนาดเล็ก ซึ่งมักเป็นประเทศรายได้ต่ำหรือรายได้ปานกลางค่อนมาทางต่ำ ส่วนประเทศที่มีเศรษฐกิจบนแผ่นดิน (land-based economy) เข้มแข็งอยู่แล้ว เศรษฐกิจสีน้ำเงินจะเป็นฐานสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและนับรวมทุกคน (sustainable and inclusive growth)

 

ที่มา: World Bank Group (2016)

 

การใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจสีน้ำเงินต้องการวิธีคิดและการจัดการที่แตกต่างจากเศรษฐกิจบนแผ่นดิน (land-based economy) เพราะบริบทของเศรษฐกิจทั้งสองแบบแตกต่างกันอย่างสำคัญอย่างน้อย 7 ประการ

ประการแรก ผืนน้ำมีขนาดใหญ่กว่าแผ่นดินเป็นอย่างมากและครอบคลุมพรมแดนหลายประเทศ ดังนั้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในทะเล (เช่น การเดินเรือ การประมง ฯลฯ) จึงไม่ได้ผูกติดกับระบบกฎหมายของประเทศใดประเทศหนึ่ง กฎ กติกา และการกำกับดูแลมักมีลักษณะหลายระบบ (multi-system) ขึ้นอยู่กับว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นที่ใด นอกจากนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจในท้องทะเลยังเกิดขึ้นในเขตน่านน้ำสากล ซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจของรัฐใดรัฐหนึ่งอีกด้วย

ประการที่สอง มนุษย์เข้าใจกิจกรรมทางเศรษฐใต้ท้องทะเลได้ยากกว่าบนแผ่นดิน เพราะเทคโนโลยีที่ใช้อยู่ในปัจจุบันยังไม่สามารถทำการสำรวจและทำวิจัยใต้ท้องทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การศึกษาวิจัยใต้ท้องทะเลเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ในแต่ละครั้งยังมีต้นทุนที่สูงกว่าการวิจัยบนแผ่นดินอย่างเทียบกันไม่ได้

ประการที่สาม ท้องทะเลมีลักษณะแบบ ‘3 มิติ’ มากกว่าแผ่นดิน สิ่งมีชีวิตทางทะเลส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทั้งบนผิวน้ำและลึกลงไปใต้ก้นทะเล ส่งผลให้เศรษฐกิจสีน้ำเงินมีความกว้าง ความยาว และความลึกต่างจากเศรษฐกิจบนแผ่นดินที่สิ่งมีชีวิตแทบทั้งหมดอาศัยอยู่บนพื้นผิว (แม้จะมีบางชนิดที่สามารถบินได้ และบางชนิดที่อยู่ใต้ดิน แต่ก็ยังถือว่าอยู่บนผิวดิน) ในแง่นี้ เศรษฐกิจสีน้ำเงินจึงมี ‘ความลึก’ มากกว่าเศรษฐกิจบนแผ่นดินอย่างเทียบกันไม่ได้ ดังนั้น องค์ความรู้ วิธีคิด และการจัดการบนผิวดินที่มีลักษณะแบบ 2 มิติจึงมีข้อจำกัดอย่างมากเมื่อต้องถูกปรับมาใช้กับเศรษฐกิจสีน้ำเงิน

ประการที่สี่ ท้องทะเลมีลักษณะลื่นไหล (fluid) และเชื่อมต่อกันแบบไร้ขอบเขต ดังนั้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจในที่แห่งหนึ่งจึงส่งผลกระทบต่อที่อื่นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนในกรณีนี้คือ การปล่อยมลพิษลงท้องทะเล และการปล่อยสายพันธ์ุต่างถิ่น (alien species) สู่มหาสมุทรใหม่ เป็นต้น

ประการที่ห้า สัตว์ทะเลเดินทางได้ไกลกว่าสัตว์บก ลักษณะเช่นนี้ทำให้การจัดการสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล เช่น การควบคุมการประมง ทำได้ยาก

ประการที่หก กระแสน้ำทะเลมีการหมุนเวียนเปลี่ยนผันตามวัฏจักร การจัดการเศรษฐกิจสีน้ำเงินจึงมีความซับซ้อนตามไปด้วย เช่น ปัญหามลพิษในพื้นที่หนึ่งอาจหายไปเมื่อกระแสน้ำทะเลเปลี่ยนแปลง และสามารถกลับมาใหม่ได้ถ้ากระแสน้ำทะเลกลับมาเป็นเหมือนเดิม หรือสัตว์ทะเลบางชนิดก็อพยพตามกระแสน้ำทะเลด้วยเช่นกัน

ประการที่เจ็ด มนุษย์ไม่ได้อาศัยอยู่ในทะเล และทะเลไม่ใช่สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์คุ้นเคย ดังนั้น เศรษฐกิจสีน้ำเงินจึงต้องพึ่งพิงความก้าวหน้าเทคโนโลยีมากกว่าเศรษฐกิจบนแผ่นดิน ทั้งในแง่ของเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีทางสังคม

 

ศักยภาพของเศรษฐกิจสีน้ำเงิน

 

การศึกษาของ OECD พบว่า อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสีน้ำเงินหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมการเดินเรือ อุตสาหกรรมต่อเรือ อุตสาหกรรมท่าเรือและบริการที่เกี่ยวเนื่อง อุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวชายฝั่งและทางทะเล มีศักยภาพที่จะเติบโตมากกว่าเศรษฐกิจโลกโดยเฉลี่ย เศรษฐกิจสีน้ำเงินจะมีมูลค่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2030 โดยอุตสาหกรรมท่องเที่ยวชายฝั่งและท่องเที่ยวทางทะเลจะมีสัดส่วนสูงที่สุด (26%) ตามมาด้วยอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (21%) และท่าเรือ (16%)

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่ศักยภาพของเศรษฐกิจสีน้ำเงินที่ OECD ประเมินจะต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะเป็นการประเมินภายใต้สมมติฐานที่ว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายและเทคโนโลยีใดๆ เลย นอกจากนี้ การประเมินยังไม่ได้รวมอุตสาหกรรมที่ข้อมูลไม่สมบูรณ์อยู่หลายอุตสาหกรรม รวมถึงไม่ได้นับรวมประเทศเกิดใหม่หลายประเทศที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงินด้วย

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมที่อยู่บนฐานเศรษฐกิจสีน้ำเงินยังมีศักยภาพในการจ้างงานด้วย การประเมินพบว่า ในปี 2030 การจ้างงานในอุตสาหกรรมเหล่านี้จะมากถึง 40 ล้านตำแหน่ง หรือคิดเป็นประมาณ 1% ของแรงงานในตลาดโลก ที่น่าสนใจคือ ในช่วงระยะเวลาระหว่างปี 2010-2030 การจ้างงานในอุตสาหกรรมที่อยู่บนฐานของเศรษฐกิจสีน้ำเงินจะขยายตัวกว่า 30 % ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดแรงงานโลกที่ขยายตัวประมาณ 19 %

ลักษณะของการจ้างงานในเศรษฐกิจสีน้ำเงินมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ สำหรับประเทศชายฝั่งขนาดเล็ก อุตสาหกรรมท่องเที่ยวชายฝั่งและท้องทะเล และอุตสาหกรรมประมง จะเป็นอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานสูงและเป็นหัวใจสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ในขณะที่อุตสาหกรรมการเดินเรือและบริการที่เกี่ยวเนื่องจะสร้างงานจำนวนมากในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา

 

ความท้าทายของเศรษฐกิจสีน้ำเงิน

 

ความท้าทายที่สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจสีน้ำเงินคือ ‘ความยั่งยืน’ เพราะยิ่งเศรษฐกิจสีน้ำเงินมีมูลค่าสูงเท่าไหร่ แรงกดดันต่อการใช้ทรัพยากรยิ่งมากตามไปด้วย ธนาคารโลกได้สรุปปัญหาของเศรษฐกิจสีน้ำเงินที่คาดว่าจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อมนุษย์ ดังนี้

  • การจับปลาเกินขนาดที่เหมาะสม (overfishing) ซึ่งเป็นผลมาจากเทคโนโลยีในการจับปลาที่ก้าวหน้ามากขึ้น ประกอบกับการกำกับดูแลที่ไร้ประสิทธิภาพ มีการประเมินว่า ปัจจุบันมีการจับปลาแบบผิดกฎหมายประมาณ 11-26 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 10-22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ความเสื่อมโทรมของที่อยู่อาศัยชายฝั่งทะเล ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาชายฝั่งอย่างไร้ทิศทาง การทำลายป่าชายเลน การทำเหมือง และการปล่อยมลพิษ
  • ภาวะโลกร้อน ซึ่งส่งผลต่อระดับน้ำทะเลและนิเวศวิทยาในท้องทะเลโดยตรง ตัวอย่างที่ชัดเจนในกรณีนี้คือ ปรากฏการณ์เอลนีโญ-ลานีญาที่ทำให้อุณหภูมิและสภาพความเป็นกรดของน้ำทะเลเปลี่ยนแปลงไปจนส่งผลกระทบต่อชีวิตใต้ท้องทะเลอย่างมีนัยสำคัญ

การจัดการเศรษฐกิจสีน้ำเงินอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และยั่งยืนจำเป็นต้องมีวิธีคิดแบบใหม่ที่เป็นระบบมากขึ้น ต้องอาศัยความเข้าใจและความร่วมมือระดับนานาชาติ นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงบริบทของเศรษฐกิจสีน้ำเงินที่แตกต่างจากเศรษฐกิจบนแผ่นดินอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย


อ้างอิง

OECD. 2016. “The Ocean Economy 2030”.