หนึ่งในหนทางในการยกระดับประเทศให้พ้นจากกับดักรายได้ประเทศปานกลาง คือ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในการพัฒนาและสร้างเมืองอัจฉริยะหรือที่เรียกกันว่า ‘Smart City’ ประสบการณ์ในต่างประเทศชี้ว่า Smart City ไม่เพียงแต่จะมีส่วนสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพ (Efficient) เท่านั้น หากแต่ยังทำให้เมืองมีความน่าอยู่อาศัย (Livable) และมีความยั่งยืน (Sustainable) อีกด้วย
“โครงการวิจัยเชิงนโยบายเพื่อเสนอแนะแนวทางการยกระดับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้กรอบของ Internet of Things และ Smart City” โดยเอกชัย สุมาลีและคณะ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ชี้ว่า ในอนาคตอันใกล้โครงสร้างทางกายภาพ (Physical Infrastructure) และโครงสร้างดิจิทัล (Digital Infrastructure) จะถูกนำมาผสานกันเป็นนวัตกรรมที่เรียกว่า “Internet of Things” (IoT) ซึ่งหมายถึง กระบวนการเชื่อมต่ออุปกรณ์ (Hardware) ต่างๆ รอบตัวเราผ่านเครือข่ายที่โยงใยกันโดยไม่ต้องใช้คนเป็นตัวกลางอีกต่อไป โดยอุปกรณ์ IoT เหล่านี้จะมีชิพคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กฝังไว้เพื่อประมวลผลและติดต่อสื่อสารกับอุปกรณ์อื่นๆ รวมถึงผู้ใช้ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
การมาถึงของ IoT เป็นโอกาสสำคัญในการสร้าง ‘Smart City’ ทว่า การมีเทคโนโลยีอย่างเดียวนั้นยังไม่เพียงพอ แต่เมืองจะต้องมีศักยภาพที่จะเป็น ‘Smart City’ ด้วยเช่นกัน
เมืองทั่วไปจะมีองค์ประกอบเพียง 2 องค์ประกอบเท่านั้น ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานและประชากร แต่แนวคิด Smart City ได้เพิ่มองค์ประกอบที่สามให้กับเมือง คือ ระบบการจัดการโครงสร้างพื้นฐานที่เข้ามาช่วยจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ในต่างประเทศมีโครงการพัฒนาเมือง Smart City หลายแห่ง อาทิ อัมสเตอร์ดัม และเบอร์ลิน เป็นต้น โดยรูปธรรมของ Smart City ในเมืองเหล่านี้ได้แก่ การเก็บข้อมูลของเมืองในหลายมิติและเป็นระบบ โดยข้อมูลที่จัดเก็บจะเปิดให้สาธารณะสามารถเข้าถึงข้อมูลและใช้ประโยชน์ได้อย่างง่าย การมีข้อมูลจะทำให้ทุกภาคส่วนของสังคมสามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ผู้ประกอบการสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการสร้างธุรกิจใหม่ได้ ภาครัฐปรับปรุงการบริการให้มีประสิทธิภาพขึ้น ภาคอุตสาหกรรมสามารถยกระดับการผลิตให้ดีขึ้นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และภาคประชาสังคมสามารถนำข้อมูลไปใช้ขับเคลื่อนประเด็นความยั่งยืน เป็นต้น
ในประเทศไทย มีเมืองต้นแบบที่รัฐบาลเลือกที่จะส่งเสริมให้เป็น Smart City อยู่หลายเมือง อาทิ นครนายก ภูเก็ต เชียงใหม่ เทศบาลเมืองแหลมฉบัง และเทศบาลเมืองขอนแก่น แต่คณะผู้วิจัยได้เลือกทำการศึกษาการพัฒนา เทศบาลนครแหลมฉบัง และเทศบาลเมืองขอนแก่น เป็นการเฉพาะเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง ทั้งนี้นอกจากเหตุผลโครงสร้างพื้นฐานและความสำคัญของเมืองที่มีอยู่เดิมแล้ว เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่คณะผู้วิจัยเลือกศึกษาเทศบาลแหลมฉบังและเทศบาลเมืองขอนแก่นเป็นกรณีศึกษา เพราะเมืองทั้งสองมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับหลักเกณฑ์ของ European Smart City ได้แก่ (1) การมีประชากรใกล้เคียงกับ 100,000 คน (2) การมีมหาวิทยาลัยในพื้นที่อย่างน้อย 1 แห่ง และ (3) การมีฐานข้อมูลเกี่ยวเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาเมืองที่เปิดให้เข้าถึงได้
กรณีศึกษา Smart City กับแหลมฉบัง
เทศบาลนครแหลมฉบังเป็นพื้นที่ในโครงการพัฒนาเศรษฐกิจชายฝั่งภาคตะวันออกที่ได้รับการยกระดับเป็นเทศบาลนครในปี 2553 ถือเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีมูลค่าการลงทุนและการจ้างงานอันดับต้นๆของจังหวัดชลบุรี และยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อไปอีกมาก นอกจากนี้ แหลมฉบังยังมีการวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงการพัฒนาอื่นๆในอนาคตอันใกล้เพื่อพัฒนาการขนส่งสินค้าให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย ในแง่ของการบริหารจัดการ ตัวเทศบาลนครมีพื้นที่ของเมืองชัดเจนและค่อนข้างจำกัด ทำให้สามารถกำหนดบทบาทและพื้นที่การบริหารจัดการได้ ปัจจุบัน แหลมฉบังมีประชากรอาศัยอยู่รวมทั้งสิ้นราว 80,000 คน โดยทำงานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจอุตสาหกรรม การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมส่งผลให้ยังมีความต้องการแรงงานและตำแหน่งงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจนำไปสู่การอพยพย้ายถิ่นและความแออัดของประชากรเกินกว่าโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคในปัจจุบันจะรองรับได้
ด้วยลักษณะข้างต้น งานวิจัยชิ้นนี้เสนอว่า แหลมฉบังควรที่จะวางแผนพัฒนาเมืองตามแนวทาง Smart City โดยควรวางระบบใน 3 ด้านที่สอดรับกับโครงสร้างพื้นฐานเดิมของเมือง ได้แก่
1. การสร้าง Smart Logistics ด้วยการนำเทคโนโลยีขนส่งไปเชื่อมโยงกับระบบกระจายผลผลิตทางอุตสาหกรรมให้เกิดกระบวนการขนส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น การมีระบบการขนส่งอัจฉริยะที่มีประสิทธิภาพและมีการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบจะประโยชน์ต่อผู้ประกอบการเอกชนและหน่วยงานที่ดูแลเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ การมีฐานข้อมูลที่ดียังเป็นส่วนสำคัญในการดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติตัดสินใจลงทุนด้วย
2. การสร้าง Smart Industry ซึ่งเป็นการวางยุทธศาสตร์พัฒนามาตรฐานของอุตสาหกรรมในพื้นที่ทั้งด้านความปลอดภัย การใช้พลังงาน ระบบเครือข่ายข้อมูล เพื่อให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นที่มีศักยภาพและสามารถแข่งขันได้โดยไม่ต้องพึ่งการลงทุนจากต่างประเทศ เพิ่มผลิตภาพของอุตสาหกรรมในพื้นที่ และส่งเสริมอุตสาหกรรมมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือลดผลกระทบต่อชุมชน
3.การสร้าง Smart Space เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน ผ่านการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ โดยพยายามสร้างสมดุลระหว่างพื้นที่อุตสาหกรรมและพื้นที่อยู่อาศัย เริ่มตั้งแต่ระบบขนส่งสาธารณะที่มีความเที่ยงตรง เชื่อถือได้ คลอบคลุมทุกพื้นที่ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นอกจากนี้ การทำระบบเก็บข้อมูลแบบใหม่ซึ่งจะช่วยในเรื่องสาธารณสุข การเกิดอุบัติเหตุ และความปลอดภัยของประชาชนได้
กรณีศึกษา Smart City กับขอนแก่น
ขอนแก่นเป็นศูนย์กลางทางยุทธศาสตร์สำคัญระหว่างภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำโขง มีการเติบโตทั้งด้านธุรกิจและการท่องเที่ยว การคมนาคมก็เชื่อมต่ออย่างทั่วถึง ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและบริการสาธารณะของขอนแก่นก็คลอบคลุมทุกพื้นที่ละมีประสิทธิภาพ ทำให้ตัวเมืองมีความน่าอยู่อาศัยและมีประชากรเข้ามามากขึ้น เหมาะกับการพัฒนาเพื่อขยายตัวออกไปในอนาคต ขอนแก่นยังมีสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงซึ่งช่วยดึงดูดผู้คนมามากยิ่งขึ้น
ยิ่งกว่านั้นขอนแก่นยังเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมที่สำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีมรดกทางวัฒนธรรมมากมายที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ได้ การวางแผนพัฒนาเมืองเพื่อสอดรับกับความต้องการนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ปัญหาของขอนแก่นคือจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆอันเนื่องมาจากความน่าอยู่อาศัยและการขยายตัวของภาคธุรกิจและท่องเที่ยวดังกล่าวอาจทำให้บริการสาธารณะไม่อาจรองรับผู้คนได้อย่างทั่งถึงและมีบริการที่ด้อยคุณภาพลง การขยายตัวของตลาดก็อาจนำไปสู่การกีดกันผู้ประกอบการท้องถิ่นจากตลาดการแข่งขันได้
คณะผู้วิจัยมีข้อเสนอในการพัฒนาเมืองเพื่อเป็น Smart city โดยเห็นว่าเมืองขอนแก่นควรที่จะพัฒนาใน 3 ด้านสำคัญได้แก่
1. Smart Connectivity คือ การวางแผนยุทธศาสตร์ผ่านเครือข่ายโทรคมนาคมและคมนาคมเพื่อให้ขอนแก่นกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในระดับภูมิภาคได้ ให้กระบวนการขนส่งสินค้ามีประสิทธิภาพ ทั่วถึง และรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดธุรกิจท้องถิ่นใหม่ๆและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของท้องถิ่นมากขึ้น ตัวอย่างของกรณีนี้คือการให้บริษัทเอกชนเข้ามาวางระบบติดตาม จัดการข้อมูล และควบคุมคุณภาพการขนส่งสินค้าด้วยเทคโนโลยี Smart Solution
2. Smart Economy คือการสร้างยุทธศาสตร์เพื่อให้ขอนแก่นเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการผลิตของภูมิภาคได้ มีการใช้ Smart Solution มารองรับนักท่องเที่ยวทั้งด้านสิ่งอำนวยความสะดวก บริการสาธารณะต่างๆที่เชื่อมต่อเข้ากับโครงข่ายขนส่งของประเทศรอบข้าง มีการให้ข้อมูลของตัวเมืองผ่าน Smart Security อย่างทั่วถึงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ เช่น การนำ Smart Solution ปรับใช้กับการโปรโมตงานประเพณี-เทศกาลท้องถิ่นเพื่อเผนแพร่วัฒนธรรมและส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นต้น
3. Smart Living เป็นการนำ Smart Solution มาปรับใช้ให้ขอนแก่นกลายเป็นเมืองที่น่าอยู่ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในเมืองในฐานะโครงการนำร่อง สามารถเป็นแบบอย่างให้การพัฒนาให้เมืองอื่นๆได้ มีการใช้ Smart Housing เพื่อช่วยในด้านคุณภาพที่อยู่อาศัยไม่ให้แออัดกัน ลดขยะและสิ่งปฎิกูลที่จะเกิดขึ้น ส่วน Smart Healthcare จะมาช่วยคัดแยกผู้ป่วยตามข้อมูลที่มีอยู่เพื่อให้แพทย์สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึงยิ่งขึ้น ส่วน Smart Mobility ก็จะมาช่วยในด้านขนส่งสาธารณะให้เพียงพอต่อการใช้งานและครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น ให้สอดรับกับประชากรที่เพิ่มขึ้นของขอนแก่น และใช้ระบบ Smart Education ในการวางระบบบันทึกพฤติกรรมนักเรียนเพื่อป้องกันเหตุทะเลาะวิวาทและอาชญากรรมเยาวชน เป็นต้น
บทบาทของรัฐ ท้องถิ่น และเอกชน ในการสร้าง Smart City
ในภาพรวม งานวิจัยเสนอว่า การพัฒนา Smart City จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งรัฐบาลกลาง เทศบาลท้องถิ่น และภาคอุตสาหกรรมหรือผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยภาครัฐควรลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆเพื่อรองรับ IoT และ Smart City รวมถึงเป็นทั้งผู้ลงทุน ผู้ให้การสนับสนุน และเป็นคนประสานงานระหว่างเอกชนกับหน่วยงานอื่นๆส่วนบทบาทของเทศบาลเมืองคือการสร้างความเชื่อมั่นในความเป็นชุมชนของเมือง ให้ประชาชนได้มีส่วนในการกำหนดอนาคตของเมือง เช่นการออกแบบแพลตฟอร์มให้ประชาชนได้ร้องเรียนและแสดงความคิดเห็นต่อเทศบาลเมือง รวมถึงคอยตรวจสอบทั้งจุดเด่น-จุดด้อยของเมือง และประเมินถึงแนวทางที่เหมาะสมในการพัฒนาเมืองตามแนวทาง IoT และ Smart Cityภาคอุตสาหกรรมหรือผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ก็มีความสำคัญเช่นกันในการมองยุทธศาสตร์ของการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้สอดคล้องกับการพัฒนาเมืองตามแบบ Smart City ซึ่งสามารถต่อยอดไปได้ในอนาคต
ที่มา: โครงการวิจัยเชิงนโยบายเพื่อเสนอแนะแนวทางการยกระดับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้กรอบของ Internet of Things และ Smart City (2560) โดย รศ.ดร.เอกชัย สุมาลี และคณะ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)