รายงาน: จากฟองสบู่ ถึง รัฐบาลทหาร คอร์รัปชันไทย เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

ปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัญหาสําคัญที่เหนี่ยวรั้งการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยโดยตลอดและรอการแก้ไข สํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สํานักงาน ป.ป.ช.) ประเมินมูลค่าความเสียหายจากคดีที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดอยู่ที่ 3.33 แสนล้านบาท (ข้อมูล ปี 2557) สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) รายงานว่า มูลค่าความเสียหายทางงบประมาณในช่วงเวลาระหว่างปี 2549 – 2553 สูงถึง 1.51 แสนล้านบาท ในขณะที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประมาณการว่า การทุจริตมีมูลค่าเป็นร้อยละ 1-15 ของงบประมาณ หรือคิดเป็น 6.13 หมื่นล้านบาทถึง 1.84 แสนล้านบาท (ข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2560)

ด้วยสถานการณ์ข้างต้น ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่การต่อต้านคอร์รัปชันจะกลายเป็นวาระสำคัญทางสังคม ปัญหาคอร์รัปชันถูกหยิบยกมาอภิปรายอย่างกว้างขวางทั้งในเวทีวิชาการ หน้าหนังสือพิมพ์ สภากาแฟ กระทั่งในห้องนั่งเล่นของครอบครัว  อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง การมองปัญหาคอร์รัปชันมักถูกมองในกรอบระยะเวลาที่สั้นและผูกติดกับแค่บุคคล คณะบุคคล และกลุ่มการเมืองกลุ่มใด จนทำให้การแก้ปัญหาคอร์รัปชันในเชิงระบบถูกมองข้ามและละเลยไปอย่างน่าเสียดาย

Knowledge Farm – ฟาร์มรู้สู่สังคม ชวนผู้อ่านทบทวนสถานการณ์คอร์รัปชันไทยในรอบ 30 ปีที่ผ่านมาบางส่วนของงานวิจัยของเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และคณะ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยวิจัย (2560) ในโครงการ “ประมวลองค์ความรู้ด้านการเสริมสร้างธรรมาภิบาลและการลดคอร์รัปชัน”เพื่อถอดบทเรียนและหาแนวทางในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันที่พ้นไปจากความขัดแย้งและตัวบุคคล

 

 

การทุจริตและคอร์รัปชันในช่วง พ.ศ. 2530 – 2539

 

ในระหว่างปี พ.ศ.2530 – 2539 การทุจริตและคอร์รัปชันส่วนใหญ่มีที่มาจากการจัดซื้อจัดจ้างโครงสร้างพื้นฐานของรัฐในช่วงยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ทำให้มีการลงทุนในด้านอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างจำนวนมาก ลักษณะของการทุจริตในช่วงนี้มีอยู่สองลักษณะ ได้แก่ การอนุมัติโครงการขาดหลักเกณฑ์ขั้นตอนและตรวจสอบ การกําหนดเงื่อนไขการประมูล หรือราคากลางเอื้อเอกชน (การล็อคสเปก)

ในช่วงนี้กรณีการทุจริตในเรื่องจัดซื้อจัดจ้างและการให้สัมปทานเอกชนมีกรณีที่มักถูกยกเป็นกรณีศึกษาทุจริตก่อสร้าง 6 กรณี ได้แก่ (1) โครงการรถไฟยกระดับโฮปเวลล์ พ.ศ. 2533 (2) โครงการคดีทุจริตจัดซื้อที่ดิน ต.เขาไม้แก้ว อ.บางละมุง เพื่อใช้ฝังกลบขยะเมืองพัทยา 400 ไร่ พ.ศ. 2537 (3) โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต พ.ศ. 2538 (4) กรณีการแก้ราคากลางจ้างถมทรายสร้างสนามบินหนองงูเห่า พ.ศ. 2539 (5) โครงการก่อสร้างบ่อบําบัดน้ำเสียคลองด่าน พ.ศ. 2539 และ (6) คดีแก้ราคากลางโครงการสร้างบ่อพักและท่อร้อยสายไฟฟ้ารอบสวนจิตรลดา พ.ศ. 2539

ข้อสังเกตสำคัญคือ การทุจริตในช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่นั้นล้วนเกี่ยวโยงกับโครงการก่อสร้างของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ การขาดกฎหมายที่เข้ามากํากับดูแลโครงการร่วมทุนระหว่างภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ก่อนปี พ.ศ. 2535 ทําให้การทุจริตดําเนินการได้อย่างง่ายดาย ที่เป็นที่อื้อฉาวและรู้จักดีคือ กรณีโฮปเวลล์ที่ได้รับการอนุมัติจาก ครม. ด้วยกระดาษเพียง 3 แผ่น

 

การทุจริตและคอร์รัปชันในช่วง พ.ศ. 2540 – 2549

 

ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2540 – 2549 ลักษณะของการคอร์รัปชันไปปรากฎในการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย ที่ไม่สามารถตรวจสอบและและถ่วงดุลอำนาจการบริหารได้อันเนื่องมาจากกลไกของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540

แม้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 จะถูกออกแบบมาเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับฝ่ายบริหารของประเทศ แต่ก็มีความพยายามในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันไว้ด้วยเช่นกัน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้บัญญัติให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อทําหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตในภาครัฐ เช่น ป.ป.ช. สตง. สํานักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง เป็นต้น และยังได้กําหนดกลไกในการตรวจสอบการทุจริตของนักการเมืองที่หลากหลาย เช่น การกําหนดให้นักการเมืองและข้าราชการระดับสูง (รวมถึงกรรมการรัฐวิสาหกิจ) ต้องเปิดเผยทรัพย์สินก่อนและหลังดํารงตําแหน่ง ห้ามรัฐมนตรีถือหุ้นในธุรกิจ (พ.ร.บ. การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543) ห้ามสมาชิกสภามีผลประโยชน์ในธุรกิจที่รับสัมปทานจากรัฐ ฯลฯ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ระเบียบการเมืองใหม่นี้ทําให้กรณีการทุจริตคอร์รัปชันมีวิวัฒนาการที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ การออกแบบการเลือกตั้งที่ทําให้ระบบการเมืองมีเสถียรภาพและประสิทธิภาพมากขึ้นทําให้พรรคไทยรักไทยผงาดขึ้นมามีอํานาจแบบเบ็ดเสร็จจากคะแนนเสียงที่ได้อย่างท่วมท้น รัฐบาลที่มั่นคงแม้จะเป็นผลดีที่ทําให้การบริหารประเทศทําได้อย่างมีประสิทธิภาพเนื่องจากไม่ต้องพึ่งพาพรรคร่วมรัฐบาล แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้การตรวจสอบถ่วงดุลจากพรรคร่วมและพรรคฝ่ายค้านอ่อนแอลง อันเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการทุจริตในช่วงนี้สะดวกมากขึ้น

รูปแบบการคอร์รัปชันในยุคนี้แตกต่างจากยุค พ.ศ. 2530 – 2539 อย่างมีนัยสำคัญคือ การทุจริตมีความสลับซ้บซ้อนมากขึ้น หลายกรณีเป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวางว่า “เข้าข่ายทุจริต” หรือไม่ ลักษณะสำคัญของการคอร์รัปชันในยุคนี้ ได้แก่ กรณีทุจริตจัดซื้อจัดจ้างและสัมปทาน กรณีทุจริตแก้ไขสัญญาหรือตรวจรับงานเอื้อเอกชน กรณีทุจริตที่มีคู่ค้าอยู่ต่างประเทศ และกรณีทุจริตในโครงการที่เป็นนโยบายช่วยประชาชน

 

การทุจริตและคอร์รัปชันในช่วง พ.ศ. 2550 – 2556

 

การทุจริตในช่วงระหว่างปี 2550 -2556 เป็นมรดกตกทอดมาจากการทุจริตในช่วง 2540 – 2549 โดยส่วนใหญ่ยังคงเกี่ยวข้องกับโครงการทุจริตการใช้เงินงบประมาณและโครงการนโยบายการแทรกแซงตลาดสินค้าเกษตรของรัฐ อย่างไรก็ตาม โครงการแทรกแซงตลาดสินค้าเกษตรของรัฐในช่วงนี้มีแนวโน้มที่จะใช้เงินแผ่นดินสูงมากขึ้น รวมไปถึงมีการเร่งอนุมัติโครงการ และมีการกําหนดคุณสมบัติหรือจัดทําราคากลางเอื้อผู้ประมูลรายใดรายหนึ่ง

นอกจากการทุจริตในแทรกแซงตลาดสินค้าเกษตรที่มีความสลับซับซ้อนสูงแล้ว โครงการทุจริตอื่นๆ ในยุคนี้ไม่ได้มีความสลับซับซ้อนสักเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ยังเป็นการทุจริตในรูปแบบเดิม เช่น การทุจริตงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้างและสัมปทาน และการทุจริตจากการช้ำอำนาจบริหารราชการ เป็นต้น

 

การทุจริตและคอร์รัปชันในช่วง พ.ศ. 2557 – 2559

 

ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2557-2559 ซึ่งเป็นรัฐบาลทหาร  พบการทุจริตในโครงการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการที่มีลักษณะไม่ซับซ้อนและตรวจสอบได้ง่ายจำนวนมาก และในหลายกรณีมักมีข้อครหาว่ามี “ค่าหัวคิว” เช่น กรณีจัดซื้อไมโครโฟนในทําเนียบรัฐบาล พ.ศ. 2557 กรณีจัดซื้อกล้อง cctv และรถดับเพลิงของ อบจ.อุบลราชธานี (พ.ศ. 2557) กรณีก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ซึ่งรับบริจาคไม่โปร่งใส (พ.ศ. 2557) กรณีจัดจ้างประดับไฟแอลอีดี 39.5 ล้าน ของ กทม. (พ.ศ. 2558) กรณีลูกชาย ‘พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหมรับเหมาก่อสร้างกองทัพภาคที่ 3 (พ.ศ. 2558) และกรณีจัดซื้อรถกู้ภัยพวงมาลัยซ้าย 8 ล้านบาทของ กทม. (พ.ศ. 2559) เป็นต้น

การดําเนินการในการตรวจสอบการทุจริตในกรณีดังกล่าวยังไม่มีความคืบหน้าเท่าใดนัก ยกเว้นในกรณีของการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ซึ่ง ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยุติการสืบสวนไปเมื่อเดือนกันยายน 2558

บทเรียนสำคัญของการคอร์รัปชันในรอบ 30 ปี คือ คอร์รัปชันไม่ใช่เรื่องของตัวบุคคล หากแต่เป็นเรื่องการออกแบบระบบ

เมื่อใดที่ระบบการเมืองและเศรษฐกิจผูกขาด การใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐมีมาก และกลไกการตรวจสอบเอาผิดไม่ทำงาน เมื่อนั้นการคอร์รัปชันก็จะตามมา


ที่มา: โครงการวิจัย “ประมวลองค์ความรู้ด้านการเสริมสร้างธรรมาภิบาลและการลดคอร์รัปชัน” โดย ดร. เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และคณะ (2560)  สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)