รายงาน: จัดการ “การค้าข้างทาง” อย่างไร ให้สร้างประโยชน์แก่ “คน-เมือง”

ในช่วงหลายปีมานี้ สถานการณ์การค้าข้างทางโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ข้อถกเถียงสำคัญประการหนึ่งคือ การค้าข้างทางสร้างประโยชน์ให้แก่คนกรุงเทพฯ จริงหรือไม่? ความเห็นของผู้คนแตกออกเป็นสองฝ่ายระหว่าง ‘เอา’ หรือ ‘ไม่เอา’ หาบเร่แผงลอยข้างทาง

ในที่สุด กรุงเทพมหานครก็ได้ดำเนินนโยบาย ‘คืนทางเท้าให้ประชาชน’ ในปี 2557 ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า กรุงเทพมหานครได้ตัดสินใจว่า การค้าแผงลอยสร้างผลเสียมากกว่าผลดี นโยบายดังกล่าวเป็นการจัดระเบียบทางเท้าผ่านการควบคุมเวลาขายของประเภทหาบเร่แผงลอยอย่างเข้มงวดในหลายพื้นที่

ผลลัพธ์จากการดำเนินนโยบายนี้ตลอดสามปีที่ผ่านมา นอกจากจะสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวหาบเร่แผงลอยแล้ว การที่รัฐใช้วาทกรรม ‘คืนทางเท้าให้ประชาชน’ ยังเป็นการชักจูงให้คนกรุงเทพฯ โดยทั่วไปเห็นว่าผู้ค้าหาบเร่แผงลอยเป็นตัวปัญหาหรือผู้ร้ายมากขึ้นอีกด้วย

สถานการณ์ดังกล่าวนอกจากจะทำให้ความขัดแย้งบานปลายมากขึ้นแล้ว ยังเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนในปัจจุบันอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ การกลับมาทบทวนถึงสถานะของการค้าข้างทางในสังคมไทยอีกครั้งจึงเป็นเรื่องสำคัญ – แท้จริงแล้ว ผู้ค้าข้างทางคือผู้ร้ายหรือไม่ การค้าข้างทางเป็นปัญหาหรือโอกาสกันแน่

Knowledge Farm – ฟาร์มรู้สู่สังคม ชวนผู้อ่านมาสำรวจความรู้เรื่องการค้าข้างทางของไทยผ่านงานวิจัยเรื่อง การบริหารจัดการการค้าข้างทาง (Street Vending) ในประเทศไทย: สถานการณ์และทิศทางนโยบายที่ควรจะเป็น (2560) โดย รศ.ดร.นฤมล นิราทร สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวเป็นงานวิจัยที่ใช้วิธีการศึกษาทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยมีเป้าประสงค์เพื่อสำรวจองค์ความรู้เกี่ยวกับการค้าข้างทางของไทยโดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมกับเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาการค้าข้างทางในเบื้องต้น

การค้าข้างทางคืออะไร และใครคือผู้ค้าข้างทาง? 

งานวิจัยได้ทบทวนองค์ความรู้เกี่ยวกับการค้าข้างทาง โดยเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าอะไรคือการค้าข้างทาง และใครคือผู้ค้าข้างทางกันแน่  จากการเก็บข้อมูลทางประวัติศาสตร์ นักวิจัยพบว่า ประเทศไทยมีการค้าข้างทางมานานแล้ว โดยการค้าข้างทางเริ่มปรากฏตัวในเมืองหลวงอย่างชัดเจนในช่วงหลังปี 2504 กลุ่มประชากรแรกๆ ที่เข้ามาประกอบอาชีพนี้คือ ‘ชาวจีนอพยพ’ เหตุผลเพราะชาวจีนอพยพเหล่านี้ต้องการใช้การค้าข้างทางเป็นบันไดในการขยับชนชั้นของตนเอง

ผู้วิจัยได้กำหนดคำนิยามของ “การค้าข้างทาง” ว่า เป็นการประกอบอาชีพค้าขายทั้งขายอาหารและสิ่งของตามข้างถนน โดยผู้ประกอบอาชีพนี้สามารถโยกย้ายสถานที่ประกอบอาชีพได้อย่างอิสระ การค้าขายข้างถนนมักถูกนับให้อยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบ (informal economy) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐจัดเก็บข้อมูลและภาษีได้ยากนั่นเอง

จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ พบว่า แต่เดิมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเช่นกรุงเทพมหานครนั้นไม่ค่อยดำเนินนโยบายในการจัดการการค้าข้างทางอย่างเข้มงวดเหมือนอย่างในปัจจุบันเท่าใดนัก กล่าวคือ มีการผ่อนปรนพื้นที่ขายของริมทาง หรือจัดตั้งธนาคารประชาชน ส่วนหนึ่งก็เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนได้ประกอบอาชีพอย่างอิสระ ยืดหยุ่น และสามารถพึ่งพาตนเอง

จากการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับผู้ค้าข้างทางในเขตบางรัก เขตปทุมวัน เขตพระนคร และเขตสัมพันธวงศ์ในปัจจุบัน พบว่า ผู้ค้าข้างทางในกรุงเทพฯ มีคุณลักษณะที่หลากหลาย

ในเรื่องของอายุ ผู้ค้าส่วนใหญ่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และผู้ค้ามากกว่าครึ่งทำอาชีพนี้มาเกิน 10 ปี มีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่เพิ่งมาทำอาชีพนี้ได้ไม่เกิน 5 ปี นอกจากนี้ ผู้ค้าข้างทางร้อยละ 75 เป็นผู้หญิง และผู้ค้าส่วนมากราวร้อยละ 60 ประกอบกิจการในจุดผ่อนผันที่ทางการจัดเอาไว้

ในส่วนของการศึกษา ต้องยอมรับว่าผู้ค้าส่วนใหญ่ยังมีการศึกษาไม่สูงนัก กล่าวคือ มีผู้ค้าที่สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรีเป็นจำนวนมาก

ผู้วิจัยยังได้ค้นพบว่า เหตุผลที่ผู้ค้าส่วนใหญ่ตัดสินใจประกอบอาชีพนี้ เพราะสามารถสร้างรายได้ต่อวันได้จำนวนมาก กล่าวคือ รายจ่ายเฉลี่ยของผู้ค้าอยู่ที่ 2,237 บาทต่อวัน ขณะรายรับจะอยู่ที่เฉลี่ย 3,208 บาทต่อวัน เท่ากับว่าผู้ค้าได้กำไรต่อวันราวหนึ่งพันบาท และถ้าเทียบเป็นรายได้ต่อเดือน ผู้ค้าจะได้รายได้ประมาณ 25,000-30,000 บาท ซึ่งสูงกว่ารายได้ต่อเดือนเฉลี่ยของพนักงานออฟฟิศในช่วงเริ่มต้นการทำงานเสียอีก

ในแง่อื่น เหตุผลที่ผู้ค้าเลือกประกอบอาชีพนี้ เนื่องจากมีความอิสระและความยืดหยุ่นในการทำงาน ส่วนหนึ่งเพราะผู้ค้าเป็นเจ้านายตัวเอง และสามารถกำหนดเวลาการทำงานของตนได้ อย่างไรก็ดี มีบางส่วนที่บอกเหตุผลว่าเป็นเพราะไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว

ประเภทสินค้าที่ผู้ค้าข้างทางนิยมขายคือ อาหาร (ที่ปรุง ณ จุดขาย) เพราะสามารถทำได้ง่าย และใช้ต้นทุนน้อย อีกทั้งชาวเมืองก็ต้องการอาหารราคาถูก ผู้ค้าจึงสามารถขายอาหารและมีรายได้สูง

ด้วยข้อดีต่างๆ เหล่านี้ คนเมืองที่รักอิสระและต้องการรายได้ที่พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้องจำนวนมากจึงหันมาสนใจประกอบอาชีพนี้กันมากขึ้น

ประโยชน์ของการค้าข้างทางต่อเมือง

หลังจากทบทวนองค์ความรู้เกี่ยวกับผู้ค้าข้างทางในเบื้องต้น ผู้วิจัยชวนตั้งคำถามต่อว่าการค้าข้างทางมีประโยชน์ต่อเมืองอย่างไรบ้าง

จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากพื้นที่และงานวิจัยจากต่างประเทศ พบว่า ถึงแม้การประกอบอาชีพการค้าข้างทางอาจสร้างปัญหาอยู่บ้าง แต่สามารถแก้ได้ หากเมืองมีแนวทางการจัดการที่เหมาะสม ในทางกลับกัน หากรัฐจัดการการค้าข้างทางอย่างสร้างสรรค์ การค้าข้างทางก็สามารถสร้างคุณประโยชน์ให้กับเมืองได้ในหลายๆ ด้าน

จากการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่าร้อยละ 60 ของผู้ค้าบอกว่าผู้ซื้อส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประจำ ทั้งนี้ ผู้ซื้อจะมีทุกกลุ่มอายุ และส่วนใหญ่เป็นแรงงาน ร้อยละ 35 ของผู้ซื้อมักมีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 9,000 บาท โดยผู้ซื้อประมาณเกือบครึ่งหนึ่งบอกว่าตนซื้อของข้างทางทุกวัน ใช้จ่ายเกินกว่า 100 บาทในแต่ละครั้ง

ทั้งนี้ ผู้ซื้อมองว่าเหตุที่ตนเลือกซื้อของข้างทางมากกว่าในห้างสรรพสินค้า เพราะมีความสะดวกสบาย สินค้าราคาถูก และผู้ขายก็มีความเป็นกันเอง ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกใจที่ผู้ซื้อและประชาชนทั่วไปถึงร้อยละ 95 ของกลุ่มตัวอย่างในงานวิจัย จะยอมรับว่าการค้าข้างทางมีความสำคัญต่อกรุงเทพมหานคร นอกจากนั้น ผู้วิจัยยังพบคุณประโยชน์ของการค้าข้างทางในด้านอื่นอีก เช่น การค้าข้างทางมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างงานและอาชีพในเมือง โดยมอบโอกาสให้ประชากรที่มีโอกาสน้อยในการเลื่อนฐานะทางเศรษฐกิจสามารถประกอบอาชีพที่สร้างรายได้พอสมควร จนพัฒนาตัวเองต่อไปได้

การค้าข้างทางยังช่วยลดแรงเสียดทานในระบบทุนนิยม นั่นคือ การที่ผู้ค้าข้างทางขายสินค้าราคาย่อมเยาช่วยทำให้แรงงานจากภาคส่วนต่างๆ สามารถเข้าถึงปัจจัยในการดำรงชีพได้ง่ายและทั่วถึง ทั้งนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการค้าข้างทางมอบความสะดวกสบายในการดำรงชีวิตแก่ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะในช่วงชั่วโมงทำงาน สินค้าข้างทางจะมีความจำเป็นเป็นพิเศษ ด้วยเหตุนี้ การค้าข้างทางจึงทำให้ชาวเมืองไม่รู้สึกว่าใช้ชีวิตอย่างลำบากภายใต้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม

การค้าข้างทางสามารถสร้างเม็ดเงินจำนวนมากแก่เมืองได้ไม่แพ้ห้างสรรพสินค้า จากรายรับของผู้ค้าต่อคนประมาณ 3,208 บาทต่อวัน เงินจำนวนนี้นับว่าไม่น้อย หากพิจารณากลุ่มตัวอย่างในรายงานวิจัย 400 ราย ซึ่งผู้ค้าส่วนใหญ่ทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน หมายความว่า กลุ่มผู้ค้าข้างทางกลุ่มนี้สร้างรายรับต่อวันได้ถึง 894,992 บาทเป็นอย่างน้อย หากคิดเป็นสัปดาห์ก็จะสูงถึง 5.37 ล้านบาท และเป็นปีก็จะสูง 279.23 ล้านบาท หากรัฐมีวิธีการจัดเก็บภาษีที่เหมาะสม ก็สามารถนำไปใช้พัฒนาประเทศได้อีกมาก

สำหรับความสำคัญด้านวัฒนธรรม พบว่า การขายอาหารข้างมีความหลากหลายอย่างยิ่ง และถือเป็นเอกลักษณ์และหน้าตาของประเทศไทย เช่น ร้านอาหารริมถนนย่านเยาวราช ด้วยเหตุนี้ การดำรงอยู่ของการค้าข้างทางจึงช่วยรักษาความหลากหลายของอาหารและวัฒนธรรมของไทยได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ความไม่เป็นทางการของการค้าข้างทางยังมีส่วนช่วยทำให้การใช้ชีวิตในเมืองของประชากรกลุ่มต่างๆ ไม่รู้สึกแปลกแยกต่อกันอีกด้วย

จะเห็นได้ว่า การค้าข้างทางในกรุงเทพฯ มีประโยชน์มากมายหลายมิติ การกล่าวอ้างว่า ผู้ค้าข้างทางเป็นต้นเหตุของปัญหาเมืองหลายอย่าง จนเสมือนว่าพวกเขาเป็นผู้ร้ายที่ยากจะกลับใจได้ และต้องถูกขจัดออกไปจากเมือง จึงดูไม่เป็นธรรมเท่าใดนัก

ในทางกลับกัน หากมีการจัดการปัญหาอย่างเหมาะสม การค้าข้างทางจะเป็นภาคส่วนที่สร้างคุณประโยชน์ต่อเมืองได้อย่างมหาศาล

ก้าวต่อไปของการจัดการการค้าข้างทาง 

หากประเทศไทยมีแนวทางการจัดการการค้าข้างทางที่เหมาะสมและสอดคล้องกับแนวทางพัฒนาเมืองที่ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง (inclusive cities) จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาประสบการณ์การจัดการการค้าข้างทางทั่วโลกที่ประสบความสำเร็จ

การจัดการการค้าข้างของรวันดา เป็นหนึ่งในโมเดลที่ประสบความสำเร็จ หาบเร่แผงลอยเป็นหนึ่งในกิจกรรมทางเศรษฐกิจนอกระบบที่เป็นแหล่งสร้างรายได้สำคัญของประเทศ รัฐบาลรวันดาพยายามจัดการกับการค้าแผงลอยเพื่อยกระดับเศรษฐกิจนอกระบบด้วยการใช้ระบบสหกรณ์

ตัวอย่างสำคัญของการใช้ระบบสหกรณ์ในการจัดการการค้าข้างทางเกิดขึ้นในเมือง ‘Kigali’ ผู้บริหารเมืองได้ย้ายผู้ค้าข้างทางจำนวน 312 รายจากพื้นที่ข้างทางเข้าไปในศูนย์การค้า ด้วยเงินออมของผู้ค้าและการสนับสนุนจากรัฐบาลท้องถิ่น

สำหรับกระบวนการจัดตั้งสหกรณ์นั้น รัฐบาลท้องถิ่นจะเป็นผู้ดูแลกระบวนการ เริ่มตั้งแต่การระบุจำนวนผู้ค้า การสนับสนุนผู้ค้าให้เข้าร่วมกระบวนการสหกรณ์ ตลอดจนการสร้างแรงจูงใจในระยะนำร่องของโครงการด้วยการจัดสรรพื้นที่ค้าขายในศูนย์การค้า การลดหย่อนค่าธรรมเนียมเป็นเวลา 1 ปี และการลดดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับผู้ค้าที่มีทุนทรัพย์น้อย

สำหรับการก่อสร้างตลาดหรือศูนย์การค้านั้น ผู้ค้าจะต้องร่วมลงขันรายละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐผ่านสหกรณ์ แต่หากรายใดยังมีทุนไม่พอ ก็สามารถเข้าร่วมทุนแบบเท่าที่มีได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าพวกเขาต้องมีทุนขั้นต่ำจำนวน 323 ดอลลาห์สหรัฐเสียก่อน หากยังไม่มี รัฐบาลท้องถิ่นจะพิจารณาลดหย่อนอัตราค่าเช่าเป็นรายกรณีไป อย่างไรก็ดี ในระยะแรกที่ผู้ค้ายังมีเงินไม่มากพอ รัฐบาลท้องถิ่นอาจช่วยเหลือด้วยจ่ายเงินอุดหนุนไปก่อน นอกจากการสร้างศูนย์การค้า รัฐบาลเมือง ‘Kigali’ ยังสนใจพัฒนาผู้ค้าอย่างยั่งยืนอีกด้วย ตัวอย่างเช่น การจัดอบรมเพื่อสนับสนุนให้เกิดผู้ค้าที่มีความรับผิดชอบ สามารถประกอบกิจการได้อย่างเป็นระบบ และร่วมปรับปรุงสภาพแวดล้อมเมืองอีกด้วย ตัวอย่างถัดมาคือ อินเดียการจัดการการค้าข้างทางเริ่มจากการเคลื่อนไหวขององค์กรพัฒนาเอกชนชื่อ ‘สมาคมผู้ประกอบอาชีพอิสระสตรี’ (Self-Employed Women’s Association: SEWA) สมาคมแรงงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย

SEWA เคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องการจัดการการค้าที่เหมาะสมจากรัฐบาลมาตลอดหลายปี จนในปี 2014 รัฐบาลชาติก็ได้ประกาศใช้ ‘กฎหมายการประกอบอาชีพการค้าข้างทาง’ (Street Vendors Bill) ทั้งนี้ เนื้อหาหลักของกฎหมายดังกล่าวคือ การยอมรับอย่างเป็นทางการว่าการค้าข้างทางเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีประโยชน์ต่อผู้ขายและผู้บริโภค

กฎหมายกำหนดว่าในแต่ละท้องถิ่นหรือเมืองจะต้องมีคณะกรรมการชื่อว่า ‘Town Vending Committee’ ทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดนโยบายการค้าข้างทางของแต่ละท้องถิ่น และผู้ที่จะมาเป็นสมาชิกคณะกรรมการก็ต้องมาจากหลากหลายสาขาอาชีพและกลุ่มผู้อยู่อาศัยในเมือง เช่น หน่วยงานท้องถิ่น ตำรวจ ผู้ค้าข้างทาง ประชาชนธรรมดา ในคณะกรรมการนี้ จะต้องมีผู้ค้าข้างทางอยู่ร้อยละ 40 และอย่างน้อยหนึ่งในสามของผู้ค้าข้างทางต้องเป็นผู้หญิง กฎหมายยังกำหนดให้ผู้ค้ารายใหม่ต้องมาลงทะเบียนกับคณะกรรมการนี้เสียก่อน

หน้าที่หลักของคณะกรรมการคือ การสำรวจจำนวนผู้ค้า และการกำหนดจุดที่ผู้ค้าสามารถขายของได้ ซึ่งหากเกิดกรณีที่ผู้ค้าไม่ยอมปฏิบัติตาม คณะกรรมการจะส่งเจ้าหน้าที่ไปตักเตือนก่อน และหากไม่เป็นผล ก็จะให้มีการลงโทษปรับตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งการลงโทษตามมติของคณะกรรมการก็ได้รับความร่วมมือจากผู้ค้าเป็นอย่างดี ส่วนหนึ่งเพราะคณะกรรมการดังกล่าวมาจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลาย

ในกรณีของ สิงคโปร์ แต่เดิม การค้าข้างทางไม่เป็นที่ยอมรับจากภาครัฐเท่าใดนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบาย ‘Clean and Green Singapore’ ของลีกวนยูในช่วงสร้างประเทศใหม่ๆ รัฐบาลสิงคโปร์จึงดำเนินมาตรการที่ค่อนข้างเด็ดขาดกับพวกค้าหาบเร่แผงลอย ตัวอย่างเช่น การจดทะเบียนผู้ค้าที่มีอยู่จริง การโซนนิ่ง การกำหนดคุณภาพของอาหาร (เช่น ห้ามสูบบุหรี่ระหว่างทำอาหาร) และการไล่รื้อ

อย่างไรก็ดี ในระยะต่อมา รัฐบาลสิงคโปร์กลับเปลี่ยนทิศทางของนโยบายให้เป็นมิตรต่อการค้าข้างทางมากขึ้น เพราะมองในอีกมุมหนึ่งว่า การค้าข้างทางเป็น ‘อาชีพ’ ที่สำคัญของชาวสิงคโปร์ ดูได้จากผลสำรวจในปี 1970 ที่บอกว่า ร้อยละ 80 ของผู้ค้าข้างทางจ้างสมาชิกในครอบครัวเป็นแรงงานเพื่อประกอบธุรกิจ กล่าวได้ว่า การค้าข้างทางเป็นแหล่งรายได้สำคัญของครอบครัว รัฐบาลสิงคโปร์จึงจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลเรื่องการค้าข้างทางโดยตรง โดยมีการสร้างศูนย์การค้าข้างทาง (Hawker Center) ไว้ทั่วประเทศ ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้ลงทุนสร้างศูนย์การค้าต่างๆ เอง ทั้งนี้ รัฐบาลกำหนดให้ผู้ค้าข้างทางย้ายไปอยู่ในศูนย์ดังกล่าว โดยผู้ค้าจะต้องย้ายไปยังศูนย์การค้าที่อยู่ใกล้กับพื้นที่ขายของเดิมให้มากที่สุด และสำหรับการเช่าแผงของผู้ค้า รัฐบาลช่วยสนับสนุนเงินบางส่วนด้วย

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ส่งเสริมให้ความรู้แก่ผู้ค้าข้างทางด้านสุขาภิบาลอาหาร รวมถึงมีการประเมินคุณภาพสินค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ค้าข้างทาง โดยในปี 2001 รัฐบาลได้นำเสนอโครงการยกระดับสินค้า (Upgrading Programme) เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพสินค้าของผู้ค้าข้างทางให้ต่อยอดทางธุรกิจได้อย่างจริงจัง

ในปี 2011 สิงคโปร์มีศูนย์การค้าข้างทางถึง 113 แห่ง และมีผู้ค้าใช้ศูนย์เหล่านี้มากกว่า 6,000 คน

สำหรับกรณีของไทย หลังจากที่วิเคราะห์ข้อมูลการค้าข้างทางในพื้นที่และทบทวนการจัดการการค้าข้างทางที่ดีของต่างประเทศ ผู้วิจัยจึงเสนอว่า หากประเทศไทยต้องการจัดการปัญหาโดยไม่ไล่ผู้ค้าข้างทางออกจากเมืองหรือซุกปัญหาไว้ใต้พรม จะต้องมีแนวทางการจัดการอย่างครอบคลุมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ข้อเสนอระยะสั้น คือ รัฐต้องทบทวนการยกเลิกการผ่อนผันแบบปูพรม เร่งสำรวจพื้นที่ที่สามารถอนุญาตให้ขายได้ กำหนดหลักเกณฑ์จุดผ่อนผัน จัดพื้นที่ทดลองขายให้ผู้ค้า จากนั้นก็ประเมินและขยายผล โดยขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้ต้องลงมือทำอย่างมีธรรมาภิบาล

สำหรับข้อเสนอระยะยาว รัฐควรกำหนดยุทธศาสตร์การจัดการการค้าข้างทางอย่างชัดเจน จัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยมีหน้าที่มากกว่าการจัดระเบียบ ต้องสามารถขับเคลื่อนนโยบายได้ และแนวนโยบายต่างๆ ของหน่วยงานนั้นต้องวางอยู่บนฐานคิดที่เน้นความยั่งยืนมากกว่าเพื่อจัดการกับปัญหาเฉพาะหน้า

นอกจากนี้ หน่วยงานต้องศึกษาสถานภาพทางเศรษฐกิจของผู้ค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยในการตัดสินใจจัดสรรพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม กำกับดูแลสุขาภิบาลอาหารอย่างจริงจังและทั่วถึง รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ค้ารวมกลุ่มและมีตัวแทน โดยอาจรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ หรือในรูปของคณะกรรมการก็ได้ ทั้งนี้เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบต่อชุมชน


ที่มา: โครงการวิจัยเรื่อง การบริหารจัดการการค้าข้างทาง (Street Vending) ในประเทศไทย: สถานการณ์และทิศทางนโยบายที่ควรจะเป็น (2560) โดย รศ.ดร.นฤมล นิราทร สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)