อินโฟกราฟิก: ห้องต้นแบบสำหรับผู้สูงวัย

ในยุคสังคมสูงวัย การดูแลสุขภาพของผู้สูงวัยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง สภาพแวดล้อมการอยู่อาศัยของผู้สูงวัยควรได้รับความสนใจและถูกออกแบบอย่างดี

Knowledge Farm – ฟาร์มรู้สู่สังคม ขอเสนอห้องต้นแบบที่เหมาะสมกับผู้สูงวัย ซึ่งเป็นผลงานจากงานวิจัย เรื่องมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับที่พักอาศัยและสภาพแวดล้อมของผู้สูงอายุ (2548) ของ รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ และคณะ สนับสนุนโดยสำนักงานสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.)

อ่านงานวิจัยเพิ่มเติม: ที่นี่


 

ห้องน้ำ – “ … อาบน้ำ … สบายหายเมื่อยกับห้องน้ำสำหรับผู้สูงวัย”

ห้องน้ำที่ผู้สูงวัยยิ่งใช้ ยิ่งมีความสุข ควรมีความกว้าง 1.50-2.00 เมตร ประตูเปิด-ออกกับพื้นที่ภายใน-ภายนอกควรมีระดับเท่ากัน มีราวจับขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 ซม. เพื่อให้ผู้สูงวัยสามารถเคลื่อนไหวได้ทั่วห้อง สำหรับบริเวณฝักบัวและที่อาบน้ำ ควรมีที่นั่งและสัญญาณฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้สูงวัยเรียกขอความช่วยเหลือในกรณีเกิดเหตุไม่คาดฝัน ฝักบัวควรถูกออกแบบมาให้มีแรงดันต่ำ ก๊อกน้ำต้องเป็นแบบก้านโยก เพื่อให้ผู้สูงวัยใช้งานได้ง่าย สุดท้ายพื้นผิวไม่ควรทำจากวัสดุที่ลื่นและมัน เพราะอาจส่งผลให้ผู้สูงวัยประสบอุบัติเหตุในห้องน้ำได้ง่าย

 

ห้องครัว – “ … ผัด … สบายหายเมื่อยกับห้องครัวสำหรับผู้สูงวัย”

ผู้สูงวัยยุคใหม่ยังมีความกระฉับกระเฉงอย่างมาก หลายคน ถึงแม้มีอายุย่างเข้าวัยเลขเจ็ดเลขแปดแล้ว แต่ก็ยังมีตื่นตัวอยากทำนู่นทำนี่อยู่เสมอ

กิจกรรมหนึ่งที่ผู้สูงวัยชอบทำยามว่างคือ การเข้าห้องครัวเพื่อทำอาหารตามเมนูที่ตนชื่นชอบ แต่ใช่ว่าห้องครัวทุกประเภทนั้นจะถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้สูงวัยได้แสดงฝีมือด้านคหกรรมได้อย่างสบายและปลอดภัยเสมอไป

ห้องครัวที่สามารถเอื้อให้ผู้สูงวัยได้สร้างสรรค์เมนูอาหารของคนได้อย่างปลอดภัย ควรมีองค์ประกอบดังนี้ นั่นคือ ระดับโต๊ะและเคาน์เตอร์ควรสูงจากพื้น 80 ซม. ด้านล่างของอ่างล้างมือควรมีพื้นที่ว่างสำหรับให้รถเข็น (wheelchair) เคลื่อนเข้าไปได้ ส่วนเตา ตู้เย็น หรือลิ้นชักไม่ควรอยู่ตามมุมห้อง หิ้งและตู้ต่างๆ ไม่ควรสูงเกิน 150-168 ซม. เพื่อให้ผู้สูงวัยสามารถเอื้อมหยิบได้สะดวก ควรมีระบบระบายอากาศที่ดี สามารถให้แสงธรรมชาติได้เข้ามาในห้องได้ ในบางจุดที่อับแสง จะต้องมีการติดตั้งแสงไฟเอาไว้ ปลั๊กไฟตรงเคาน์เตอร์ควรสูงจากพื้น 90 ซม.

 

ห้องนอน – “ … หลับ … สบายหายเมื่อยกับห้องนอนสำหรับผู้สูงวัย”

การนอนนับเป็นกิจกรรมที่สำคัญสำหรับผู้สูงวัย ส่วนหนึ่งเพราะการนอนที่ดี จะทำให้ผู้สูงวัยมีสุขภาพแข็งแรงและจิตใจแจ่มใส และใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพได้

อย่างไรก็ดี การนอนก็สามารถนำไปสู่ผลเสียต่อผู้สูงวัยได้เช่นกัน อาทิ หากเตียงนอนของผู้สูงวัยสูงกว่าพื้นเกินไป และผู้สูงวัยเป็นคนนอนดิ้น ในขณะนอนหลับอยู่ ผู้สูงวัยอาจประสบอุบัติเหตุพลักตกลงมาจากเตียง จนกระทั่งได้รับบาดเจ็บถึงขั้นรุนแรงได้

การออกแบบห้องนอนเพื่อให้ผู้สูงวัยได้นอนอย่างมีคุณภาพ ต้องคำนึงถึงคุณลักษณะหลายประการ นั่นคือ หน้าต่างในห้องนอนควรสูงจากพื้น 50 ซม. และมองเห็นทิวทัศน์ภายนอกได้ เตียงนอนควรมีความยาวไม่ต่ำกว่า 180 ซม. และมีพื้นที่ว่าง 90 ซม. รอบเตียงทั้ง 3 ด้าน เตียงไม่ควรอยู่ในมุมอับ ในห้องนอน ควรมีพื้นที่ไว้สำหรับเตียงคู่ และควรอยู่ใกล้ห้องน้ำ เพื่อให้ผู้สูงวัยลุกเข้าห้องน้ำในยามดึกได้อย่างสะดวก บริเวณหัวเตียงควรมีโทรศัพท์ และสัญญาณฉุกเฉิน ระดับเตียงควรสูงไม่เกิน 40 ซม. เผื่อกรณีที่ผู้สูงวัยพลักตกลงมา จะได้ไม่บาดเจ็บมาก ตู้เสื้อผ้าควรเป็นบานเลื่อน ห้องนอนควรมีแสงสว่างมากพอที่จะอ่านหนังสือได้ และมีระบบระบายอากาศที่ปลอดโปร่ง ส่วนพื้นห้องนอน ควรใช้สีสว่าง นุ่ม และบำรุงรักษาง่าย

 

ห้องนั่งเล่น – “ … นั่ง … สบายหายเมื่อยกับห้องนั่งเล่นสำหรับผู้สูงวัย”

เมื่อย่างเข้าวัยปลดเกษียณ ผู้สูงวัยจะมีเวลาว่างเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ในยามว่าง ผู้สูงวัยจะมีโอกาสได้ทำกิจกรรมนันทนาการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่หลากหลาย เช่น การอ่านหนังสือ การเล่นกับลูกหลาน หรือแม้กระทั่งทำงานอดิเรกอื่นๆ ที่ตนชื่นชอบ

ห้องนั่งเล่นซึ่งเป็นห้องที่ผู้สูงวัยจะมาใช้ในยามว่างจึงมีความสำคัญอย่างมาก

การออกแบบห้องนั่งเล่นดังกล่าว ลูกหลานต้องคำนึงถึงองค์ประกอบหลายประการ เช่น ไม่ควรมีสิ่งของหรือเฟอร์นิเจอร์กีดขวางทางเดิน ควรมีพื้นที่กว้างพอที่จะทำให้จัดกิจกรรรมต่างๆ เช่น นันทนาการหรือบันเทิงได้ ควรจัดเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เพื่อส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกที่มาใช้งาน ควรติดตั้งหน้าต่างให้สูงกว่าพื้น 50 ซม. และสามารถมองออกไปเห็นทิวทัศน์ข้างนอกได้ ควรมีการติดตั้งระบบระบายอากาศที่ดี ควรใช้สีสว่าง นุ่ม และบำรุงรักษาง่ายสำหรับพื้นห้อง ควรให้พื้นผิวอุปกรณ์และส่วนของอาคารมีสีที่แตกต่างกัน