รายงาน: ประเด็นเร่งด่วนในการสร้างสังคมสงบสุข ยุติธรรม และสร้างสถาบันที่มีประสิทธิภาพ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาปากท้องของผู้คนในสังคม

ในทางเศรษฐกิจช่องว่างทางรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจนเพิ่มมากขึ้น เพราะการกำหนดเส้นความยากจนที่เพิ่มขึ้น หรือการช่วยเหลือคนจนแบบสังคมสงเคราะห์ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจในระดับฐานราก ในขณะที่การลงทุนกับชาวต่างชาติและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมก็ไม่ได้ส่งผลประโยชน์ต่อทุกคนอย่างเท่าเทียม

ใช่แต่เรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น สถานการณ์ ‘ความไม่เป็นธรรม’ ยังขยับขยายไปถึงเรื่องสิทธิด้วย ผู้คนจำนวนไม่น้อยในสังคมยังถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานและไม่ได้รับความยุติธรรมจากกระบวนการยุติธรรม ในด้านหนึ่งสิ่งเหล่านี้นับเป็นปัจจัยสำคัญที่เกิดปัญหาอื่นๆ กระทบต่อไปเป็นลูกโซ่ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ปัญหาที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงระบบการจัดการของภาครัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้กำหนด “เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน” (Sustainable Development Goals: SDGs) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการผลักดันกระบวนการพัฒนาที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยมีเป้าหมายที่ 16 ว่าด้วยการส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม และสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผล รับผิดชอบและครอบคลุมในทุกระดับ เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญที่ต้องไปให้ถึง

Knowledge Farm – ฟาร์มรู้สู่สังคม ชวนผู้อ่านมาสำรวจ “ประเด็นเร่งด่วนในการสร้างสังคมสงบสุข ยุติธรรม และสร้างสถาบันที่มีประสิทธิภาพ?” ซึ่งจิรวัฒน์ สุริยะโชติชยางกูล และนณริฏ พิศลยบุตร ได้ทำการศึกษาไว้ในงานวิจัยเรื่อง “การสำรวจสถานะของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในบริบทประเทศไทย และทางเลือกมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ สังคม และกฎหมายสำหรับ เป้าหมายที่ 16: การส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ทุกคนเข้าถึง ความยุติธรรม และสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผล รับผิดชอบและครอบคลุมในทุกระดับ” สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

 

ว่าด้วยเป้าหมายที่ 16 สังคมสงบสุข ยุติธรรมและสร้างสถาบันที่มีประสิทธิภาพ

 

เป้าหมายที่ 16 แบ่งออกเป็น 10 เป้าประสงค์ ได้แก่ (1) การลดความรุนแรงและอัตราการตาย (2) หยุดการค้ามนุษย์และการทรมานเด็ก (3) สร้างหลักประกันว่าทุกคนจะเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม (4) ลดการลักลอบอาวุธและเงิน (5) ลดการทุจริตและรับสินบน (6) พัฒนาสถาบันให้โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ (7) สร้างหลักประกันว่าทุกคนจะมีส่วนร่วมในทุกระดับการตัดสินใจ (8) เสริมความแข็งแกร่งกับการมีส่วนร่วมของประเทศที่กำลังพัฒนาในระดับโลกาภิบาล (9) จัดให้ทุกคนเข้าถึงกฎหมาย และ (10) สร้างหลักประกันว่าทุกคนจะมีเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามกฎหมายในประเทศและข้อตกลงระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ยังมีเป้าประสงค์ในการนำไปปฏิบัติอีก 2 ข้อคือ (1) เสริมความแข็งแกร่งของสถาบันระดับชาติ เพื่อป้องกันความรุนแรงและต่อสู้กับการก่อการร้ายและอาชญากรรม (2) ส่งเสริม-บังคับใช้กฎหมายและนโยบายที่ไม่เลือกปฏิบัติ

เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ คณะผู้วิจัยจำแนกเป้าประสงค์เป็น 3 ประเด็นหลัก คือ

(1) สังคมสงบสุข ประกอบด้วย เป้าประสงค์ที่ 1, 2, 4 และ 5 (ลดความรุนแรง หยุดการค้ามนุษย์ ลดการลักลอบอาวุธและเงิน และลดการทุจริตและรับสินบน ตามลำดับ)

(2) การเข้าถึงความยุติธรรม ประกอบด้วย เป้าประสงค์ที่ 3, 7, 9, 10 และเป้าประสงค์ปฏิบัติที่ 2 (สร้างหลักประกันว่าทุกคนจะเข้าถึงความยุติธรรม สร้างหลักประกันว่าทุกคนจะมีส่วนร่วมในทุกระดับการตัดสินใจ จัดให้ทุกคนเข้าถึงกฎหมาย สร้างหลักประกันว่าทุกคนจะมีเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และ ส่งเสริม-บังคับใช้กฎหมายและนโยบายที่ไม่เลือกปฏิบัติ ตามลำดับ) (3) สถาบันที่มีประสิทธิภาพ และในแต่ละประเด็นสามารถจำแนกเป้าประสงค์ได้ดังนี้

(3) ประเด็นสถาบันที่มีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย เป้าประสงค์ที่ 6, 8 และเป้าประสงค์ปฏิบัติที่ 1 (พัฒนาสถาบันให้โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ เสริมความแข็งแกร่งกับการมีส่วนร่วมของประเทศกำลังพัฒนา และ เสริมความแข็งแกร่งของสถาบันระดับชาติ ตามลำดับ)

 

ประเด็นเร่งด่วนจำเป็นในการบรรลุเป้าหมายที่ 16

 

คณะผู้วิจัยได้สอบถามความคิดเห็นถึงความสำคัญของประเด็นที่ทำให้บรรลุเป้าหมายที่ 16 ได้ โดยใช้เกณฑ์ช่วงคะแนนระหว่าง 1 ถึง 5 ซึ่ง 1 คะแนนหมายถึงประเด็นที่มีความสำคัญน้อย และ 5 คะแนนหมายถึงประเด็นที่มีความสำคัญมาก

จากผลสำรวจและการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ประเด็นที่ควรแก้ไขอย่างเร่งด่วนมักอยู่ในหมวด “สังคมสงบสุข” และ 5 ประเด็น/เป้าประสงค์ที่ได้คะแนนสูงที่สุดคือ ประเด็นการค้ามนุษย์ 4.65 คะแนน ส่วนประเด็นจำนวนเหยื่อการฆาตกรรมโดยเจตนา ประเด็นบุคคลที่ให้และรับสินบนจากเจ้าหน้าที่รัฐ และประเด็นองค์กรที่ให้และรับสินบนจากเจ้าหน้าที่รัฐ ได้คะแนนเท่ากันคือ 4.29 คะแนน และสุดท้ายประเด็นจำนวนคดีฆาตกรรม/ลักพาตัว/กักขัง/ทรมาน 4.18 คะแนน

ทั้งนี้คณะผู้วิจัยกำหนดกรอบการวิเคราะห์ความสำคัญออกเป็น 3 ระดับคือ เรื่องที่ดำเนินการได้ทันที เรื่องที่เมื่อดำเนินการแล้วจะช่วยต่อยอดในการพัฒนาเรื่องอื่นๆ และเรื่องที่มีความพร้อมอยู่แล้ว

งานวิจัยให้ความสำคัญกับเรื่องที่ดำเนินการได้ในทันที เพราะเป็นปัญหาพื้นฐานที่จะกระทบต่อเรื่องอื่นๆ อีกทั้งถ้าแก้ไขจะช่วยบรรเทาปัญหาอื่นๆ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นประเด็นการค้ามนุษย์ การรับสินบน และประเด็นหลักประกันว่าประชาชนจะมีเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

อย่างไรก็ตามสถานการณ์และข้อเสนอแนะของประเด็นเร่งด่วนข้างต้นในงานวิจัยสรุปได้ดังนี้

ประเด็นการค้ามนุษย์

การค้ามนุษย์ตามเป้าประสงค์ที่ 2 กล่าวถึงกรณีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การค้าบริการทางเพศ การบังคับให้ขายดอกไม้หรือขอทาน ทำงานรับใช้ กรณีใช้เด็กมาลอบวางเพลิง แรงงานภาคการประมง ฯลฯ ซึ่งปัญหานี้รัฐบาลคสช.ได้ใช้อำนาจมาตรา 44 ในการแก้ไขปัญหา

อีกทั้งที่ผ่านมาประเทศสหรัฐอเมริกาได้ทำรายงานค้ามนุษย์ Trafficking in Persons (TIP) Report เพื่อประเมินสถานการณ์การค้ามนุษย์จาก 188 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่ต้องจัดทำรายงานให้รัฐสภาสหรัฐฯ ทุกเดือนมิถุนายนของทุกปี และในรายงานปี 2559 ประเทศไทยถูกเลื่อนจากบัญชีระดับ 3 ประเทศที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน สู่บัญชีระดับ 2 คือสถานะต้องจับตา ส่วนปี 2560 ปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับ 2 มา 2 ปีซ้อน

ประเด็นการรับสินบน

คณะผู้วิจัยอ้างอิงแนวคิดของ Robert Klitgaard นักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ว่า หากจะแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นต้องลดการใช้อำนาจผูกขาด (Monopoly) และดุลยพินิจ (Discretionary) ขณะเดียวกันก็ต้องเพิ่มความรับผิดชอบต่อหน้าที่ (Accountability) ให้มีประสิทธิภาพ

เมื่อนำโมเดลดังกล่าวนำมาปรับใช้กับบริบทประเทศไทย คณะผู้วิจัยเสนอว่า การจะลดอำนาจผูกขาดได้ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เช่น พ.ร.บ.แข่งขันการค้า พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของราชการ เป็นต้น การลดดุลยพินิจจะต้องสร้างระบบให้มีการใช้วิจารณญาณน้อยที่สุด ส่วนการเสริมความรับผิดชอบก็ต้องปรับกฎหมายที่ให้โทษกับการทุจริตอย่างจริงจัง และส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูล (ซึ่งตรงกับเป้าประสงค์ที่ 6)

ทว่าปัจจุบันประเทศไทยไม่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลองค์กรธุรกิจที่เคยให้หรือรับสินบนกับเจ้าหน้าที่รัฐ

ประเด็นการสร้างหลักประกันว่าประชาชนจะมีเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย

เป้าประสงค์ที่ 10 นี้คณะผู้วิจัยมุ่งเน้นไปที่การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารทั้งหมดเท่าที่จะทำได้ และเสนอให้แก้ไขพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารราชการ ให้เป็น ข้อมูลข่าวสาร ‘สาธารณะ’ เพราะครอบคลุมถึงข้อมูลของภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ

หากมีข้อมูลที่เปิดเผยไม่ได้ก็ต้องระบุให้ชัดว่าข้อมูลใดเข้าข่ายที่ไม่ต้องเปิดเผย มีกี่ชนิด และมีการทดสอบใดที่พิสูจน์ได้ว่าควรหรือไม่ควรเปิดเผย อีกทั้งคณะผู้วิจัยเสนอให้ปรับปรุงระบบและมาตรฐานการจัดเก็บข้อมูลอีกด้วย

การส่งเสริมบทบาทของสื่อ ตั้งแต่เรื่องการป้องกันการแทรกแซงโดยรัฐ กำหนดให้โครงสร้างองค์กรสื่อมีฝ่ายธุรกิจและฝ่ายข่าวที่แยกออกจากกัน คณะผู้วิจัยเสนออีกว่าให้มีกรรมการที่ไม่ได้อยู่ในวงการสื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในสมาคมวิชาชีพสื่อและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


ที่มา: โครงการวิจัย การสํารวจสถานะของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในบริบทประเทศไทย และทางเลือกมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ สังคม และกฎหมายสําหรับ เป้าหมายที่ 16: การส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ทุกคน เข้าถึง ความยุติธรรม และสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผล รับผิดชอบและครอบคลุมในทุกระดับ โดยจิรวัฒน์ สุริยะโชติชยางกูล และนณริฏ พิศลยบุตร สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)