รายงาน: งานวิจัย สกว. เสนอแนวทางการยกระดับคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก

ในปัจจุบันโรงเรียนขนาดเล็ก หรือโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนไม่เกิน 120 คน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะจำนวนนักเรียนลดน้อยลงจากอัตราการเกิดที่ลดลง และพ่อแม่นิยมส่งลูกไปเรียนในเมือง จากข้อมูลปี 2556 ของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) พบว่า โรงเรียนขนาดเล็กมีจำนวน 14,816 แห่ง ในจำนวนนี้มีโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 60 คน จำนวน 5,962 แห่ง เพิ่มขึ้นอย่างมากจากจำนวนราว 10,000 แห่งในปี 2536

โรงเรียนขนาดเล็กมักถูกตั้งคำถามเรื่องคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากร ดังที่กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายยุบและควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กอยู่เสมอ เช่น เมื่อปี 2554 ต้องการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก 7,000 แห่งภายในปี 2561 แต่อีกด้านหนึ่ง นโยบายดังกล่าวก็มักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ยิ่งทำให้ความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาสูงขึ้น สร้างภาระและต้นทุนให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่อยู่ในพื้นที่ด้อยโอกาส เช่น นักเรียนอาจต้องออกจากโรงเรียน ผู้ปกครองต้องรับค่าใช้จ่ายสูงขึ้น เป็นต้น

งานวิจัยเรื่อง กรณีศึกษารูปแบบความสำเร็จการจัดการศึกษาโรงเรียนนาดเล็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (2557) โดย ดร.จันทร์จิรา จูมพลหล้า ดร.พงษ์นิมิตร พงษ์ภิญโญ และ อ.พรทิพา หล้าศักดิ์ แห่งคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้สำรวจความคิดเห็นผู้บริหาร ครู และผู้ปกครองนักเรียนของโรงเรียนขนาดเล็ก 80 แห่ง เกี่ยวกับตัวชี้วัดในการยุบ ควบรวม และคงอยู่ของโรงเรียนขนาดเล็ก รวมถึงศึกษาแนวทางบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ 4 แห่ง

 

ผลการวิจัยพบว่า แนวคิดปฏิรูปโรงเรียนขนาดเล็กด้วยการยุบหรือควบรวมโรงเรียนไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาที่ประสบความสำเร็จในทุกกรณี ควรให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของผู้ปกครองและคนในชุมชน

 

นอกจากนั้น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ทั้งผู้บริหารโรงเรียน ครู ผู้ปกครอง และชุมชน ควรหาแนวทางยกระดับคุณภาพของโรงเรียนร่วมกัน ตั้งแต่การวางแผน การพัฒนาหลักสูตร การจัดกระบวนการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล การพัฒนาแหล่งเรียนรู้และสื่อการสอน และการหางบประมาณ

ในด้านตัวชี้วัดในการยุบ ควบรวม และคงอยู่ของโรงเรียนขนาดเล็ก พบว่า ชุมชนมีความพึงพอใจต่อโรงเรียนขนาดเล็กในด้านการเรียนการสอน ทั้งด้านวิชาการ การพัฒนาทักษะ กิจกรรมการเรียนรู้ รวมถึงความสะดวกในการเดินทาง ผู้ให้สัมภาษณ์เห็นว่า ตัวชี้วัดที่ถูกออกแบบโดยหน่วยงานส่วนกลางเพื่อยุบและควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กมีปัญหา เพราะมุ่งเน้นที่ผลสัมฤทธิ์การศึกษาของนักเรียนผ่านคะแนนข้อสอบ O-Net ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญต่อความรู้ของเด็กเพียงด้านเดียวเท่านั้น ไม่ได้ตระหนักถึงวิถีชีวิตของชุมชน นอกจากนี้ การประเมินคุณภาพด้วยมาตรฐานตัวชี้วัดจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและการประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ไม่เหมาะสมต่อบริบทของโรงเรียนขนาดเล็ก เนื่องจากโรงเรียนขนาดเล็กมีศักยภาพไม่เท่ากับโรงเรียนขนาดกลางและใหญ่ที่มีความพร้อมหลายด้าน รวมทั้งการประเมินโดยใช้เอกสารไม่สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียน

ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่ควรพิจารณาก่อนยุบหรือควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก คือ การรับฟังความเห็นของผู้ปกครอง และชุมชนว่าต้องการยุบหรือควบรวมโรงเรียนหรือไม่ และอย่างไร เพราะหากภาครัฐทำไปโดยไม่ถามความเห็นจากคนในชุมชน แทนที่จะทำให้เกิดประโยชน์ อาจก่อปัญหาแก่คนในชุมชนมากขึ้น อย่างไรก็ดี หากโรงเรียนขนาดเล็กที่มีความพร้อมแต่ไม่สามารถทำให้เด็กมีคุณภาพ (ดี เก่ง และมีความสุข) ได้ ชุมชนก็พร้อมจะยุบและควบรวมโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพต่อไป

จากการศึกษาปัจจัยความสำเร็จของโรงเรียนขนาดเล็กต้นแบบ 4 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนบ้านนาแก จ.สกลนคร โรงเรียนบ้านถิ่นสุขาวิทยา จ.อุดรธานี โรงเรียนเครือข่ายแก่งจันทร์ จ.เลย และโรงเรียนบ้านกุดเสถียร จ.ยโสธร พบจุดร่วมแห่งความสำเร็จของโรงเรียนต้นแบบทั้งสี่ ดังนี้

ปัจจัยนำเข้า ได้แก่ (1) ผู้บริหารที่มีภาวะผู้นำ มีความรู้ความสามารถ และมีทัศนคติเชิงบวกต่อการบริหารโรงเรียนขนาดเล็ก (2) ครูดี มีจิตวิญญาณความเป็นครู มีความรู้ความสามารถ มีประสิทธิภาพ เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และ (3) ชุมชนและผู้ปกครอง มีศักยภาพในการสนับสนุนการจัดการและการพัฒนาการศึกษา (4) ผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง และชุมชน ทำงานขับเคลื่อนร่วมกันอย่างเป็นระบบ

กระบวนการ ได้แก่ (1) การบริหารจัดการที่ดี ใช้โรงเรียนเป็นฐาน เน้นการมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียนและชุมชน (2) มีหลักสูตรที่เหมาะสมกับผู้เรียนและท้องถิ่น (3) การจัดการชั้นเรียนโดยเน้นการจัดแบบคละชั้นและแยกชั้น ตามบริบทของโรงเรียน (4) กระบวนการเรียนรู้โดยเน้นการอ่านออกเขียนได้ พัฒนาทักษะกระบวนการ คุณธรรม เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ และเน้นบูรณาการการเรียนรู้กับภูมิปัญญาท้องถิ่น (5) วัดและประเมินผลตามสภาพจริงด้วยวิธีที่หลากหลาย (6) นิเทศการสอนเป็นประจำ (7) ใช้แหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น (8) มีสื่อการเรียนการสอนที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และ (9) มีงบประมาณที่เพียงพอ

ผลผลิตและผลลัพธ์  นักเรียนมีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษา มีพัฒนาการทุกด้าน เป็นคนดี คนเก่ง มีความสุข สามารถเรียนต่อในระดับที่สูงและประกอบอาชีพต่อได้ รวมถึงโรงเรียนได้เป็นที่ชื่นชมของชุมชน และเป็นแบบอย่างตลอดจนให้ความช่วยเหลือแก่ชุมชนและโรงเรียนอื่น

จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า โรงเรียนขนาดเล็กสามารถพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาภายใต้ข้อจำกัดด้านบุคลากรและงบประมาณได้ ดังนั้น การเติมเต็มจุดบกพร่องของโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น แนวทางการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กอย่างมีประสิทธิภาพ จึงควรเน้นที่การปรับวิธีคิดของผู้บริหาร การสร้างโรงเรียนให้เป็นองค์กรนวัตกรรม การเน้นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การปรับระบบบริหารจัดการโรงเรียนจากแนวดิ่งมาเป็นแนวราบผ่านระบบเครือข่าย เป็นต้น

ท้ายที่สุด งานวิจัยชิ้นนี้ได้เสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในด้านต่างๆ ดังนี้

ด้านปัจจัยนำเข้า (1) ปรับปรุงหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้อำนวยการโรงเรียน โดยให้ความสำคัญกับทัศนคติ ความมุ่งมั่น ภาวะผู้นำ ความต่อเนื่องในการบริหาร สวัสดิการพิเศษ และการพัฒนาติดตามผลเป็นระยะ (2) ส่งเสริมการบรรจุครูท้องถิ่นในโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อลดปัญหาการย้ายออก ควรขยายอายุเกษียณเป็นกรณีพิเศษด้วย (3) จัดทำแผนพัฒนาผู้บริหารและครูในโรงเรียนขนาดเล็กให้มีความรู้และทักษะที่รอบด้าน (4) สร้างระบบประเมินและส่งเสริมความก้าวหน้าของบุคลากรในทางที่สอดคล้องกับภาระงานในบริบทของโรงเรียนขนาดเล็ก และมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพนักเรียนเป็นสำคัญ (5) ส่งเสริมให้มีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการจากสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันทางการศึกษาอื่น เช่น สถาบันพัฒนาครู

ด้านกระบวนการ (1) สร้างระบบบริหารจัดการโรงเรียนโดยมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน สร้างกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างครอบครัว โรงเรียน และชุมชน (2) ปรับโครงสร้างระบบบริหารงานของโรงเรียนขนาดเล็กให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เน้นผลลัพธ์เป็นสำคัญ (3) ส่งเสริมให้นำรูปแบบการบริหารจัดการของโรงเรียนขนาดเล็กต้นแบบมาปรับใช้ เช่น โรงเรียนพี่โรงเรียนน้อง หรือ mobile teacher เป็นต้น (4) จัดทำหลักสูตรโดยเปิดให้มีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย และออกแบบหลักสูตรที่ยึดโยงกับท้องถิ่น รวมถึงการวัดผลควรเชื่อมโยงกับหลักสูตรท้องถิ่นและมีวิธีการที่หลากหลาย (5) ส่งเสริมให้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบองค์รวม สอดคล้องกับวิถีชุมชน เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ เป็นต้น

ด้านอื่นๆ (1) ปรับระบบการวัดและประเมินผลการศึกษา รวมถึงระบบประกันคุณภาพ ให้สอดคล้องบริบท (2) ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กอย่างจริงจัง (3) ส่งเสริมให้มีวิจัยในชั้นเรียนและนำผลที่ได้มาพัฒนาคุณภาพการศึกษา (4) เปิดโอกาสให้ครูภูมิปัญญาท้องถิ่น ครูจิตอาสา และนักศึกษาฝึกประสบการณ์อาชีพครู เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ (5) ตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงานของโรงเรียนขนาดเล็กอย่างสม่ำเสมอ


อ่านเพิ่มเติม: งานวิจัยเรื่อง กรณีศึกษารูปแบบความสำเร็จการจัดการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (2557) ของ จันทร์จิรา จูมพลหล้า และคณะ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)