รายงาน: ปัญหาคุณภาพครู เงินเดือนปรับ คุณภาพไม่ปรับ

ตลอดช่วงสองทศวรรษของการปฏิรูปการศึกษา นับตั้งแต่ปี 2542 ข้าราชการครูเป็นกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง ด้วยความหวังว่าครูจะมีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาโดยรวมได้  ดังจะเห็นได้จากตัวเลขงบประมาณที่บุคลากรครูได้รับมีสัดส่วนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ของงบประมาณการศึกษาทั้งหมด

นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2547 -2554 มีการขึ้นเงินเดือนครูถึง 5 ครั้ง โดยในปี 2547 ปรับเงินเดือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3  ปี 2549 ปรับเพิ่มอีกร้อยละ 5  ปี 2551 ปรับเพิ่มอีกร้อยละ 4 และปี 2552 ปรับเพิ่มเงินเดือนถึง 2 ครั้ง ครั้งแรก ร้อยละ 8 และครั้งสอง ร้อยละ 5

กระนั้น เป้าหมายที่คาดหวังจากการปฏิรูปการศึกษา นั่นคือ การสร้างนักเรียนที่มีคุณภาพ ยังคงเป็นเป้าหมายที่แลดูห่างไกล ทั้งที่มีการลงทุนด้านบุคลากรและงบประมาณเป็นจำนวนมาก

เพราะเหตุใดบทบาทของครูบนเส้นทางการปฏิรูปการศึกษาจึงทำหน้าที่ได้อย่างไม่สัมฤทธิ์ผล?

งานวิจัยของ ศ.ดร.อภิชัย พันธเสน และคณะ เรื่อง การสังเคราะห์งานวิจัยว่าด้วยปัญหาและข้อเสนอแนะในกระบวนการจัดการศึกษาไทย: ประเด็นปัญหาคุณภาพการศึกษา (2535-2558) (2558) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาสำคัญประการหนึ่ง นั่นคือ ปัญหาคุณภาพของระบบครู 

แต่เดิมการศึกษาจะเน้นการสอนแบบท่องจำ ซึ่งใช้ได้ดีในยุคหนึ่งเท่านั้น แต่สภาพแวดล้อมของโลกปัจจุบันนั้นมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ดังนั้น ผู้เรียนจึงต้องมีทักษะการปรับตัวที่ค่อนข้างไว ทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนยุคนี้คือการคิดวิเคราะห์ การจัดการศึกษาจึงควรให้ความสำคัญกับทักษะดังกล่าว ผ่านกิจกรรมที่ให้เด็กได้คิด เรียนรู้ และแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง กิจกรรมการเรียนรู้ที่ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง (child-centered) อย่างไรก็ดี ผลการวิจัยเผยว่า ในช่วงเวลาของการปฏิรูปในตอนต้น ไม่มีการเตรียมความพร้อมด้านนี้ให้แก่ครู ครูจำนวนมากไม่ทราบว่าจะจัดการเรียนการสอนโดยยึดเด็กเป็นศูนย์กลางอย่างไร ปล่อยให้นักเรียนค้นหาความรู้เอาเองแบบตามมีตามเกิด นักเรียนจับแนวทางการศึกษาไม่ถูก ทิศทางการเรียนรู้จึงไม่มี ไม่ก่อเกิดความรู้หรือทักษะแต่อย่างใด จนเกิดวลีเด็ดที่ล้อวิธีการเรียนแบบนี้ว่า “ควายเซ็นเตอร์”

งานวิจัยได้อธิบายสาเหตุส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ “ควายเซ็นเตอร์” ว่าช่วงนั้นเป็นช่วงจัดโครงสร้างบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการใหม่ กระทรวงศึกษาธิการจึงให้ความสนใจประเด็นอื่นมากกว่าจะสนใจอบรมให้ครูมีความรู้เรื่องแนวทางการศึกษาแบบใหม่ ขาดโอกาสในการพัฒนาการศึกษาอย่างเป็นระบบ

แม้ว่าภายหลังกระทรวงศึกษาธิการได้มีการจัดอบรมความรู้ให้แก่ครูและบุคลากรการศึกษาทั่วประเทศเป็นประจำทุกปี โดยได้ตั้งงบประมาณไว้ประมาณหมื่นล้านบาท แต่การฝึกอบรมส่วนใหญ่เป็นการอมรมความรู้ในระยะสั้นเพียง 2-3 วันเท่านั้น เนื้อหาการฝึกอบรมก็เกี่ยวข้องกับเรื่องหลักการ แนวทางในการปฏิบัติ หรือการประชาสัมพันธ์หรือชี้แจงนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ แต่มิได้มีการลงมือปฏิบัติจริง การฝึกอบรมครูจึงสร้างความสูญเสียหลายประการ ทั้งค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม ทั้งเวลาปฏิบัติงานสอนของครู โดยไม่ส่งผลพัฒนาคุณภาพครูดังที่ควรจะเป็น

นอกจากนั้น กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดภาระงานสอนค่อนข้างสูง ทั้งครูและนักเรียนต้องอยู่ในห้องเรียนเป็นเวลานาน นักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาไม่ต่ำกว่า 1,000 ชั่วโมงต่อปี ในขณะที่ระดับมัธยมศึกษาไม่ต่ำกว่า 1,200 ชั่วโมงต่อปี ถ้าเป็นครูของโรงเรียนขนาดเล็กซึ่งมักมีครูไม่ครบชั้น ครูหนึ่งคนอาจต้องใช้เวลา 1,000 – 2,500 ชั่วโมงต่อปี ทั้งที่ครูมีเวลาทำงานจริงเพียง 1,400 ชั่วโมงต่อปีเท่านั้น หากเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่ม OECD ครูของเขาใช้เวลาสอนจริงราวร้อยละ 40-60 ของเวลาทำงานเท่านั้น โดยครูประถมและมัธยมจะใช้เวลาสอน 704 และ 658 ชั่วโมงต่อปีตามลำดับ ชั่วโมงสอนของครูไทยที่มากเกินไป มิพักต้องพูดถึงงานธุรการที่กินเวลาประมาณร้อยละ 20-50 ของเวลาทำงานทั้งหมด ทำให้ครูไม่มีเวลาแสวงหาความรู้เพิ่มเติมและเตรียมการสอนอย่างมีคุณภาพ แม้ตั้งแต่ปี 2558 จะมีประกาศลดชั่วโมงเรียนให้เหลือ 800 ชั่วโมงต่อปี แต่ก็พบว่าไม่มีการปรับกระบวนทัศน์และปรัชญาการจัดการศึกษา อีกทั้งไม่ได้พิจารณาความสามารถและความเหมาะสมของแต่ละสถานศึกษา หากมุ่งเน้นการสั่งการจากส่วนกลางด้วยกฎกติกาชุดเดียวกัน

ในด้านการประเมินเพื่อเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งของครู พบว่า เกณฑ์ที่ใช้ประเมินไม่สอดคล้องกับการเพิ่มสมรรถนะในการเรียนการสอนของครูโดยตรง ตัวอย่างเช่น “ผลงานวิชาการ” ที่ใช้ในการพิจารณาวิทยฐานะนั้นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการยกระดับคุณภาพของผู้เรียนโดยตรง ผลงานวิชาการส่วนมากมักเป็นงานเชิงทฤษฎีการศึกษา ซึ่งทำออกมาแล้วก็ไม่ได้มีการนำไปใช้จริง มิหนำซ้ำ คนที่มีตำแหน่งสูงและอายุงานมากมักได้รับพิจารณาให้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งง่ายกว่า นั่นแปลว่า คนมีตำแหน่งสูง เงินเดือนสูง อาจไม่ได้มีสมรรถนะสูงตามไปด้วย ผลก็คือค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาสูงไม่ได้ให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียนสูงตามไปด้วย

สำหรับทางออกของปัญหา งานวิจัยชิ้นนี้ได้กล่าวถึงประเด็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ ได้แก่

  • ปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนของครูให้เป็น “ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้”
  • ปรับปรุงระบบพัฒนาครูอย่างเป็นองค์รวม ใช้ระบบพี่เลี้ยง ครูต้นแบบ การเรียนรู้ด้วยตนเอง การฝึกปฏิบัติจนชำนาญ และสร้างระบบเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกัน
  • ปรับปรุงระบบการประเมินผลงานครู โดยพิจารณาความแตกต่างระหว่างผลผลิตกับปัจจัย (net gain)

ทางออกเหล่านั้นจะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อมีการกระจายอำนาจในการบริหารจัดการอย่างสมบูรณ์ ทั้งเรื่องวิชาการ งบประมาณ และการบริหารบุคคล

อ่านเพิ่มเติม: โครงการวิจัยเรื่อง การสังเคราะห์งานวิจัยว่าด้วยปัญหาและข้อเสนอแนะในกระบวนการจัดการศึกษาไทย: ประเด็นปัญหาคุณภาพการศึกษา (2559) โดย อภิชัย พันธเสน และคณะ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)