รายงาน: หลากแพร่งทางออกการศึกษาไทย

จากความสำเร็จของภาพยนตร์สั้น “เรื่องสยองการศึกษาไทย” ซึ่งสะท้อนปัญหาของระบบการศึกษาไทยอันชวนสยองขวัญ สู่ Knowledge Farm Talk คุยฟาร์มรู้ ครั้งที่ 2 “7 แพร่ง ทางออกการศึกษาไทย” ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เชิญชวนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบการศึกษา ทั้งนักวิชาการ นักการศึกษา ครู และนักเรียน รวมถึงประชาชนทั่วไป มาร่วมกันถกหา ‘ทางออก’ ให้กับระบบการศึกษาไทย

Knowledge Farm – ฟาร์มรู้สู่สังคม “ล้อมวงหาทางออกการศึกษาไทย” กับ ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก ที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ อาจารย์จำรัส ช่วงชิง อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนกุดเสถียร จังหวัดยโสธร รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล รองผู้อำนวยการด้านการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ สกว. และคุณพริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน) อดีตเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท

และนี่คือรายงานบรรยากาศและความคิดที่สกัดมาจากบทสนทนาในวันนั้น

 

เรื่องสยองการศึกษาในชีวิตจริง

ระบบการศึกษาเหมือนยาฝิ่น

พริษฐ์ ชิวารักษ์ กล่าวว่าปัญหาการศึกษานั้นใหญ่มาก ที่พูดถึงในคลิปนั้น เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น แต่สิ่งหนึ่งที่เขาสังเกตได้คือ เมื่อพูดถึงครูและโรงเรียน เขารู้สึกโชคดีที่อยู่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ไม่ค่อยได้เจอเรื่องสยองการศึกษาเท่าไร นั่นคือครูก็มีครบ ทรัพยากรต่างๆ ก็มีอย่างเพียบพร้อม

“มันมีท่อนหนึ่งในคลิปที่น่าสนใจ นั่นคือ ตอนจบที่มีตัวละครผู้ชายใส่แว่นชื่อ ปัญญา บอกว่าเขาเป็นผีที่ตายไปพร้อมกับระบบการศึกษา คำถามคือเขาตายอย่างไร และอะไรที่ตาย ถ้าเกิดว่าเราตีความให้คลิปเป็นวรรณกรรมหน่อย ความตายหมายถึงจิตวิญญาณของเขาได้ตายไปแล้ว ระบบการศึกษาของเราไม่ได้เอาหนังสือไปฟาดหัวใคร แต่มันทำลายตัวตนของนักเรียน มันคือวิธีที่ทำให้คนเรากลายเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่ตัวตนของเราอีกต่อไป”

พริษฐ์ยังได้เสริมอีกว่า ระบบการศึกษาของเราถูกออกแบบมาให้จำกัดทางเลือกของตัวผู้เรียน นั่นคือ เมื่อเด็กเรียนมาถึงจุดหนึ่ง เขาก็ต้องเลือกว่าจะเป็นอะไรต่อไป ซึ่งทางเลือกที่มีให้ก็มีอยู่แค่ 2-3 อย่างเท่านั้น ในแง่หลักสูตร ก็ล้วนแต่เน้นการท่องจำ ซึ่งเรื่องนี้อาจไม่รุนแรงเท่าไร เพราะการเรียนรู้แทบทุกอย่างก็ต้องมีการท่องจำเป็นองค์ประกอบบ้าง แต่ที่มีปัญหาหนักๆ ก็คือ เราต้องท่องจำในสิ่งที่ไม่ต้องการหรือไม่อยากเรียน พริษฐ์ได้ยกตัวอย่างว่า ในระดับชั้นมัธยมปลาย เด็กมีโอกาสเลือกวิชาเรียนเองได้ไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ซึ่งมีวิชาเลือกให้นักเรียนได้ลงทะเบียนเรียนจำนวนมาก ด้วยเหตุผลที่เราเรียนในรายวิชาที่ถูกบังคับโดยไม่ได้สนใจจริงๆ จึงทำให้ เราเรียนรู้ได้แบบผิวเผิน

“บางครั้งเราอาจจะมองว่า ม.ปลายได้เลือกระหว่างสายวิทย์และสายศิลป์ แค่นี้น่าจะพอแล้ว ไม่จริง มันไม่พอ เราควรจะส่งเสริมให้เด็กได้เลือกในสิ่งที่ละเอียดกว่านั้น เช่น ถ้าไม่ชอบเรียนสังคมเลย เอาแค่พื้นฐานก็พอ ขอไปมุ่งกับวิชาอื่นดีกว่า เราควรจะมีโอกาสได้เลือกสิ่งนี้ในโรงเรียน

“มันมีคำพูดอยู่เสมอว่าโรงเรียนคือการจำลองชีวิต พอเราใช้คำว่าจำลอง ก็เลยแปลว่าที่อยู่ในโรงเรียนมันไม่ใช่ชีวิตจริงสักอย่าง การที่ต้องจำลองชีวิตเพราะคิดว่าเด็กเป็นเด็ก จะได้โตไปเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งมีความคิดเหมือนผู้ใหญ่สมัยนี้ ซึ่งไม่จริง ชีวิตของเด็กมันจริงตั้งแต่เกิดออกมาแล้ว ดังนั้น พอเราไปตีความว่าชีวิตของเด็กไม่จริง การเลือกก็ไม่จำเป็น เพราะเลือกไปก็เท่านั้น ก็เป็นสิ่งจำลองอยู่ดี” พริษฐ์กล่าววิพากษ์วิจารณ์การศึกษาไทยอย่างตรงไปตรงมา

คุณพริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน) อดีตเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท

พริษฐ์ย้ำเพิ่มเติมว่า ถ้าปล่อยให้เด็กไม่มีสิทธิเลือกว่าเขาจะเรียนวิชาอะไรได้บ้างตามความถนัดหรือความต้องการของตนเอง จะกลายเป็นว่าเด็กยิ่งเรียน ยิ่งเสียเวลาไปกับสิ่งที่ไม่คุ้มค่า ที่ร้ายกว่านั้นคือ จะทำให้พวกเขาเสียตัวตน เพราะแทนที่พวกเขาจะยิ่งเรียนและยิ่งฉลาดขึ้น แต่กลับโง่ลง พริษฐ์สรุปว่า  ระบบการศึกษาไทยจึงเปรียบเสมือนยาฝิ่นที่มอมเมาเยาวชน ไม่ให้สามารถทำเป็นคิดเป็น

“การศึกษาเราเป็นเหมือนยาฝิ่น คือมันไม่ได้ฆ่าเราทันที แต่มันทำให้เราเฉื่อยชา ทำให้คนเราชิน ทำให้คนเราไม่กล้าที่จะทำอะไร สุดท้ายก็จะเป็นคนที่เรื่อยๆ อะไรก็ได้ เขาสั่งอะไรก็ทำ และสุดท้ายสิ่งที่แย่ที่สุดคือเราจะเสียความเป็นตัวเอง มันทำให้คนเป็นทาส แต่ไม่ใช่เป็นทาสที่รู้สึกว่าโดนข่มเหง ทาสที่เลวร้ายไปกว่านั้น คือทาสที่ไม่กล้าคิด ไม่ได้เคลื่อนไหว และคนที่ไม่เคลื่อนไหว ย่อมไม่รู้สึกได้ถึงโซ่ที่ล่ามพวกเขาอยู่” พริษฐ์กล่าวทิ้งท้าย

 

การขาดความอิสระในการจัดการศึกษา

ในด้านของอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนกุดเสถียร อาจารย์จำรัส ช่วงชิง ได้แสดงความเห็นว่า ความสยองทางการศึกษาเกิดมาจากการที่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาโดยเฉพาะผู้บริหารในทุกระดับ ขาดเสรีภาพในการจัดการศึกษา

ปัจจุบันนี้ การศึกษาของไทยใช้ระบบการสั่งการจากเบื้องบนเป็นส่วนใหญ่ ถึงแม้ว่าในกระแสการปฏิรูปการศึกษา จะบอกว่าเน้นการกระจายอำนาจการบริหารการศึกษาในหลายๆ ด้าน แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ได้เป็นไปตามแผนการปฏิรูป ทุกอย่างจะถูกสั่งการมาจากเบื้องบน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบาย ทรัพยากร หรือแม้กระทั่งรูปแบบการประเมินผล ทั้งหมดนี้ได้สร้างปัญหาให้กับการจัดการศึกษาในพื้นที่

“ถ้าเปรียบเทียบคนในกระทรวงเป็นหมอ เขาก็บังคับว่า ยาขนานเดียวของคุณหมอที่จ่ายมา มันสามารถรักษาได้ทุกโรค ผมว่าไม่ใช่ ในฐานะที่ผมอยู่ภาคสนาม เด็กแต่ละภาคมีบริบทแตกต่างกันไป เราขอให้อำนาจกับหมอที่อยู่ใกล้ชิดเด็ก ก็คือครูหรือชุมชน มีส่วนในการวินิจฉัยโรคได้ไหม แล้วให้ยาทานให้เหมาะกับเด็ก เด็กเขาเป็นโรค เขาควรจะกินขนาดนี้ ปริมาณนี้ เหมาะขนาดนี้ แต่ทำไม่ได้ เพราะขาดเสรีภาพ” อำจารย์จำรัสกล่าว

อาจารย์จำรัสยังได้เสริมอีกว่า การขาดเสรีภาพในการจัดการศึกษายังได้ส่งผลเสียต่อระบบการประเมินผลอีกด้วย นั่นคือ ผู้บริหารโรงเรียนในพื้นที่จะประเมินตามสภาพจริง โดยอิงพัฒนาการของผู้เรียน สังคม และวิถีชุมชนไม่ได้ ทั้งนี้เพราะหน่วยงานข้างบนได้สั่งมาแล้วว่าต้องวัดผลด้วยโอเน็ตเท่านั้น และเมื่อยึดแต่การทำข้อสอบจากส่วนกลาง พอถึงช่วงเวลาปลายเดือนมกราคมของแต่ละปี ครูต่างจังหวัดก็แทบไม่ต้องทำอะไรอย่างอื่น เพราะต้องเอาเวลามาติวเด็กนักเรียนให้สามารถทำข้อสอบโอเน็ตให้ผ่านเกณฑ์

อาจารย์จำรัส ช่วงชิง อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนกุดเสถียร จังหวัดยโสธร

“สิ่งที่ผู้บริหารโรงเรียนคุยกันคือ ‘โอเน็ตปีนี้เป็นอย่างไร ผ่านหรือไม่ผ่าน’ คุยกันเรื่องแค่นี้ ผมถือว่าเป็นเรื่องสยองการศึกษามากๆ นอกจากนี้ รู้ไหมครับว่าคะแนนโอเน็ตที่เด็กได้มา มันเป็นคะแนนหลอกระดับชาติทั้งนั้น เพราะเวลาจะสอบ ผู้ใหญ่ก็สั่งไปที่เขตให้ได้คะแนนตามเป้า ผู้บริหารจะต้องทำให้ได้ แต่ถ้ามันไม่ได้ จะให้ทำอย่างไรครับ ก็ต้องใช้กระบวนการวิชามาร นั่นคือ เอาครูมาช่วยเฉลยข้อสอบก่อน เพราะข้อสอบจะไปถึงสนามสอบก่อน 1 คืน เสร็จตอนเช้าก็เอาฉบับก็อปปี้ไปวางให้เด็กส่งต่อๆ กันไป พอสอบเสร็จ ผู้บริหารก็มาคุยกันว่า คณิตศาสตร์ผ่าน วิชายากๆ ผ่านหมด แต่ความจริง มันหลอกกันชัดๆ”

อาจารย์จำรัสได้กล่าวสรุปในเบื้องต้นว่า การขาดอิสรภาพในการจัดการศึกษาของแต่ละพื้นที่ถือเป็นความทุกข์ที่สุดสำหรับบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ ซ้ำร้ายกว่านั้น ความทุกข์นี้ยังสามารถนำมาสู่เรื่องเลวร้ายหลายๆ เรื่องได้อีกด้วย หนึ่งในนั้นก็คือ เรื่องการโกงข้อสอบดังที่เล่าให้ฟัง

 

ความสยองจากระบบการศึกษา  

ในฐานะที่เคยทำงานเป็นผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ และมีประสบการณ์ทำงานเชิงนโยบายมาอย่างยาวนาน ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก ได้แสดงความเห็นว่า ถ้าพูดอย่างตรงไปตรงมา ทุกวันนี้การศึกษาเหมือนจะเป็นจำเลยสังคม เพราะไม่ว่ามองจากจุดไหนก็ดูมีปัญหาในทุกๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สะท้อนได้จากโอกาสที่แตกต่างกันในการเข้าถึงบริการการศึกษาที่มีคุณภาพ

“เด็กแต่ละคนมีโอกาสเข้าโรงเรียนดีๆ ไม่เท่ากัน ถ้าเราเคยไปเยี่ยมเด็กที่อยู่ห่างไกล แถวแม่ฮ่องสอน ตาก เราจะสะท้อนใจมากเลยว่าเด็กพวกนั้นขาดโอกาสอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพมีความเหลื่อมล้ำแน่นอน ทั้งระหว่างเด็กในเมืองกับเด็กที่อยู่ต่างจังหวัด เด็กรวยกับเด็กจน หรือเด็กในโรงเรียนขนาดใหญ่กับโรงเรียนขนาดเล็ก” 

นอกจากเรื่องความเหลื่อมล้ำ ดร.รังสรรค์ ยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาด้านปัจจัยทางการศึกษาขั้นพื้นฐานอีกด้วย เขากล่าวว่า งบประมาณการศึกษาของไทยมีปริมาณมหาศาล แต่ประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณไม่มี จึงทำให้เกิดปัญหาตามมาทั้งระบบการศึกษา

ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก ที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ

เรื่องสยองการศึกษาที่กำลังพบอยู่นี้น่าจะมาจากสองสาเหตุ สาเหตุแรกคือ การปฏิบัติตามนโยบายการศึกษาไม่ได้จริง จริงๆ แล้วนโยบายหรือกฎหมายการศึกษาหลายเรื่องนั้นเขียนไว้ดีมาก และไม่จำเป็นต้องปฏิบัติให้ได้ครบ 100% ขอแค่เพียงทำตามแผนไปได้ 70-80% ก็ถือว่าเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากแล้ว แต่ในความเป็นจริง การปฏิบัติตามแผนไม่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ส่วนสาเหตุที่สองคือ ทั้งระบบและบุคลากรก้าวไม่ทันการเปลี่ยนแปลง

“คือเหนื่อยนะ ผู้บริหารเหนื่อย ครูเหนื่อย คนในกระทรวงก็เหนื่อย เหนื่อยกันหมดเลย จะไปโทษข้างล่างมากก็ไม่ได้เพราะอาจารย์จำรัสก็สะท้อนไปเมื่อสักครู่นี้แล้วว่า ส่วนใหญ่ทำตามการสั่งการ กลายเป็นว่าทำแบบเดิมๆ มันเหนื่อย และผลก็ไม่เปลี่ยนแปลง นี่ก็แสดงว่าเราก้าวไม่ทันการเปลี่ยนแปลง หลักสูตรเราก็แข็งตัวไป ไม่ยืดหยุ่น ไม่หลากหลาย ไม่ตอบสนองความต้องการ การเรียนการสอนก็เหมือนในหนังเลย คือมันแข็งไป ไม่ตอบสนอง เด็กเรียนไม่สนุก เน้นบอกความรู้ ไม่เน้นให้นักเรียนคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาได้”

ดร.รังสรรค์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สาเหตุลึกๆ ของปัญหาการศึกษาไทยน่าจะมาจาก “วิธีคิด” (mindset) ของผู้มีอำนาจในเชิงนโยบาย นั่นคือ พวกเขายังไม่เชื่อว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้ สิ่งที่ออกมาจึงเป็นเพียงวาทกรรมหรือคำพูดสวยหรูเท่านั้น ดังนั้น ในเบื้องต้นถ้าหากต้องการให้การศึกษาพัฒนาขึ้น ผู้มีอำนาจในการกำหนดความเป็นไปทางการศึกษาของไทย จะต้องมีความเชื่อว่า การศึกษาคือความเจริญ และความงอกงามทางปัญญา และถ้าหากว่าคนมีเจตคติที่ดีว่าการศึกษาสร้างคน และคนสร้างชาติได้ ปัญหาในการบริหารการศึกษาก็คงไม่แย่เหมือนปัจจุบัน แต่การเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของคนโดยเฉพาะผู้มีอำนาจยังเป็นเรื่องที่ยากมาก

 

ระบบการศึกษาที่ทำร้ายเด็ก

ทางด้าน รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่าตัวเองได้เกี่ยวข้องกับการศึกษาในหลายฐานะทั้งเป็นผู้ปกครอง อาจารย์ และนักวิจัย จึงทำให้ได้ประสบพบเจอกับความสยองทางการศึกษาหลายเรื่อง

ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัย รศ.ดร.ปัทมาวดี เล่าว่าต้องทำหน้าที่ในการรับนักศึกษาแรกเข้า จากการได้สอบถามพูดคุยกับนักศึกษาใหม่ทำให้พบความสยองที่น่าตกใจอย่างหนึ่งนั่นคือ นักศึกษาไม่รู้ว่าที่ตัวเองเข้ามาเรียนนั้นเพื่ออะไร

“เราถามนักศึกษาว่าไม่รู้หรือว่าตัวเองชอบอะไร เขาบอกว่า ก็หนูเรียนทุกวัน ไม่มีโอกาสได้หยุดคิดว่าจริงๆ แล้วหนูชอบอะไร นี่คือเด็กกรุงเทพฯ เป็นเด็กโรงเรียนดีด้วย มุ่งมั่นในการเรียนอย่างมาก แต่ถึงที่สุดก็ไม่สามารถตอบสิ่งที่เกี่ยวข้องกับทักษะชีวิต การเข้าใจชีวิต การรู้จักตัวเองได้” 

รศ.ดร.ปัทมาวดี วิเคราะห์ว่า เหตุที่นักศึกษาเป็นเช่นนี้ เพราะถูกระบบการศึกษาไทยทำร้าย เรียนหนักและมัวแต่ท่องจำ จนไม่มีเวลาที่ได้เรียนรู้และค้นหาตัวเองก่อนที่จะเข้ามหาวิทยาลัย ในบทบาทของคนเป็นแม่ ก็รู้สึกตกใจกับการสอนหนังสือของครูสังคมศาสตร์ของไทยอย่างมาก เนื่องจากการเรียนด้านสังคมศาสตร์ควรเน้นที่การสร้างความเข้าใจ แต่ในความเป็นจริง ครูมักจะสอนให้เด็กท่องจำ ซึ่งไม่ทำให้เด็กรู้จักการคิดวิเคราะห์ กลายเป็นว่าเมื่อสถานการณ์รอบตัวเปลี่ยนแปลง พวกเขาก็ไม่สามารถวิเคราะห์ทำความเข้าใจและประยุกต์ใช้อะไรได้

“พอไปดูข้อสอบและตำราที่ลูกเรียน เด็กประถมปลายต้องเรียนกฎหมายมหาชน เขาก็ท่องว่ากฎหมายมหาชนคืออย่างนู้นอย่างนี้ แต่ถามว่ารู้จักไหมว่ากฎหมายคืออะไร ทำไมต้องมีกฎหมาย เขาบอกไม่รู้หรอก ระบบการเรียนการสอนของเราทำให้เด็กไม่สามารถคิดต่อหรือไปต่อได้เลย ซึ่งก็ไม่แปลกใจกับผล PISA ที่ออกมา” 

รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล รองผู้อำนวยการด้านการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ สกว. (ขวา) และ ผศ.ปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการ The101.world หัวหน้าโครงการการจัดการความรู้และสื่อสารสาธารณะงานวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ของ สกว. (ซ้าย)

ในบทบาทของนักวิจัย ได้มีโอกาสคิดโจทย์และทำงานวิจัยด้านการศึกษาจำนวนมาก พบว่า ในปัจจุบันปัญหาการศึกษามีมากมาย เพราะการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ ครอบคลุมหลายมิติ ดังนั้น การให้กระทรวงศึกษาธิการเข้ามาควบคุมและสั่งการทั้งหมดจึงไม่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบันเท่าไรนัก พูดอย่างตรงไปตรงมาก็คือ ปัญหาการศึกษาไทยเกิดจากการไม่กระจายอำนาจในการจัดการการศึกษานั่นเอง

สิ่งที่ต้องทำต่อไปก็คือ การกระจายอำนาจในการจัดการศึกษา แต่การกระจายอำนาจที่ว่านี้ ไม่ใช่การกระจายอำนาจจากกระทรวงไปสู่กรม หรือหน่วยงานราชการต่างๆ ในพื้นที่เท่านั้น หากยังต้องกระจายอำนาจไปสู่ตัวละครอื่นๆ อีกด้วย เช่น ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือแม้กระทั่งวิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprise) ที่เน้นทำธุรกิจจัดอุปกรณ์การเรียนต่างๆ ทั้งนี้เพื่อสร้างเครือข่ายเชิงนโยบายการศึกษาที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาที่เหมาะสมต่อตัวผู้เรียนแต่ละพื้นที่ให้มากที่สุด

 

หลากแพร่งทางออกการศึกษาไทย

 

ต้องแก้ระบบการศึกษาอย่างรอบทิศ

เมื่อพูดถึงทางออกของการศึกษาไทย ดร.รังสรรค์ เสนอว่า หากต้องการให้ระบบการศึกษาไทยเดินหน้าไปได้ พร้อมๆ กับมีการกระจายอำนาจอย่างทั่วถึง ในอดีตเรามักฝากความหวังไว้กับกระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะผู้ปกครองก็มักจะฝากความหวังไว้กับครูและโรงเรียน แต่จริงๆ แล้ว การศึกษาต้องเป็นเรื่องของทุกคน เราต้องช่วยกันดูแล ปรับปรุง และแก้ไข ส่วนในเรื่องความเป็นธรรม ปัจจุบันเรามักจะให้ความสำคัญกับความเสมอภาคทางการศึกษามากกว่าความเป็นธรรม

“ทุกวันนี้เน้นเรื่องความเสมอภาค เรียนฟรีก็แจกหมดเลย คนรวยคนจนเอาไปเหมือนกันหมด อันนี้คือเสมอภาค แต่จริงๆ แล้วเสมอภาคอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเป็นธรรมด้วย คนที่อยู่ลำบาก คนที่อยู่ห่างไกล คนที่ขาดโอกาส เขาต้องได้รับการชดเชยการเสียโอกาสเหล่านั้น” 

ดร.รังสรรค์ กล่าวเสริมเรื่องการสร้างความเป็นธรรมในการจัดการศึกษาว่า สำหรับครูที่สอนในโรงเรียนไกลๆ แน่นอนว่าต้องพบกับความลำบาก สุดท้ายก็จะขาดแรงจูงใจในการสอนให้มีคุณภาพ ระบบการศึกษาจะต้องชดเชยค่าเสียโอกาสของครูเหล่านั้น เช่น ให้เงินเดือนหรือสวัสดิการที่มากขึ้น ทั้งนี้ ถ้าหากต้องการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้เกิดขึ้นจริง กระทรวงศึกษาธิการควรเข้ามามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมเชิงนโยบาย โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ หลักสูตร รูปแบบการเรียนการสอน สื่ออุปกรณ์ และการวัดประเมินผล เพื่อมาอุดช่องว่างความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมต่างๆ ซึ่งจะทำเช่นนี้ได้ กระทรวงศึกษาธิการจะต้องกระจายอำนาจทางการศึกษาอย่างจริงจัง

ในเรื่องการกระจายอำนาจ ดร.รังสรรค์ เสนอว่า ต้องมีการแยกบทบาทระหว่างผู้กำหนดนโยบาย (policy maker) ผู้สนับสนุน (supporter) ผู้กำกับตรวจสอบ (regulator) และผู้ปฏิบัติการ (operator) ให้ชัด นั่นคือ หน่วยงานหรือกลไกทางด้านการศึกษาหนึ่งๆ ไม่ควรรับหลายบทบาทพร้อมกัน เพราะทุกวันนี้หลายหน่วยงานยังทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกันอยู่ โดยเฉพาะหน่วยงานจากส่วนกลางที่สวมบทบาทเป็น policy maker แล้วก็ยังลงมาเป็น operator คอยปฏิบัติการในพื้นที่ด้วย การที่หน่วยงานหนึ่งๆ ทำหน้าที่หลายบทบาท นอกจากจะสร้างความสับสนในการปฏิบัติตามนโยบายแล้ว ยังจะเป็นการสร้างช่องโหว่ให้เกิดการทุจริตได้อีกด้วย นอกจากนี้ การที่ให้หน่วยงานส่วนกลางลงมาปฏิบัติงานในพื้นที่ ยังทำให้การจัดการศึกษาไม่เหมาะสม เพราะขาดความเข้าใจในบริบทของแต่ละพื้นที่ เรื่องในพื้นที่ต้องปล่อยให้คนในพื้นที่

“ผมสนับสนุนให้มีการกระจายอำนาจและความรับผิดชอบ ต้องคู่กัน และส่งเสริมการมีส่วนร่วม” ดร.รังสรรค์เน้นย้ำ

สิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปกับการกระจายอำนาจในทัศนะของ ดร.รังสรรค์ ได้แก่

ประการแรก เนื่องจากปัจจุบัน บุคลากรในโรงเรียนมีภาระงานมากจนไม่มีเวลาคิดและสร้างสรรค์รูปแบบการสอนที่เหมาะสม ดังนั้น จึงต้องมีการลดภาระงานของโรงเรียน ผู้บริหาร และครูลง

ประการที่สอง การเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรครูให้มีทักษะที่เหมาะสมต่อการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการผลิตและพัฒนาครูรุ่นใหม่โดยเฉพาะคณะครุศาสตร์ จะต้องปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับยุคสมัยมากขึ้น หรือแม้กระทั่งในโรงเรียน ก็ต้องมีการจัดอบรมที่เหมาะสมแก่ครูที่มีอยู่แล้วด้วย

ประการที่สาม ต้องปรับปรุงรูปแบบการเรียนการสอนให้ทันสมัยมากขึ้น

ประการที่สี่ ต้องสร้างระบบการประเมินผลนักเรียน ที่เน้นการพัฒนาผู้เรียน มิใช่ทำร้ายผู้เรียน และในส่วนของการประเมินครู โรงเรียนควรเน้นการประเมินระหว่างปฏิบัติงาน และต้องจัดให้มีการแลกเปลี่ยนผลการประเมินระหว่างผู้ประเมินและผู้ถูกประเมินอยู่ตลอดเวลา

ประการสุดท้าย โรงเรียนต้องมีสื่อ อุปกรณ์ นวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะทำให้คนเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก

“ผมคิดว่านักเรียนต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่อย่างนั้นชีวิตของเขาจะไม่สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข นักเรียนต้องเรียนได้ everywhere, every time สื่อต่างๆ ต้องเอื้อ โครงสร้างพื้นฐานทางอินเทอร์เน็ตต้องเอื้อให้ทำได้จริง” ดร.รังสรรค์กล่าวย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องมีสื่อและนวัตกรรมทางการศึกษาใหม่ๆ

 

สกว. ชูเพาะพันธุ์ปัญญา และโค้ชชิ่งครู เพื่อแก้ไขปัญหาการศึกษา

ทางด้าน รศ.ดร.ปัทมาวดี มองทางออกของการศึกษาไทยว่า สกว. มีงานวิจัยมากมายหลายชิ้นที่พูดถึงเรื่องทางออกทางการศึกษา โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับครู นักเรียน และโรงเรียนโดยตรง เพราะทั้งครู นักเรียน และโรงเรียน ล้วนเป็นหน่วยที่สำคัญในการสร้างการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง

หนึ่งในงานสำคัญที่สามารถเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาการศึกษาไทยก็คือ โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา หัวใจของโครงการนี้คือ การลดความสัมพันธ์เชิงอำนาจนิยมระหว่างครูและนักเรียนภายในห้องเรียน และเปิดพื้นที่ให้นักเรียนได้กล้าแสดงออกและตั้งคำถามกับครู เพื่อให้นักเรียนได้เติบโตทางความคิด

“การทำโครงงานก็คือการปฏิบัติจริง ไม่ใช่เรียนจากตำราแล้วท่องๆ ไปสอบ แต่ให้นักเรียนทดลองทำและคิดแบบตรรกะ ไม่ใช่โครงงานแบบเปิดอินเทอร์เน็ต ก็อปปี้มาแปะแล้วส่งครู” รศ.ดร.ปัทมาวดี เล่าถึงแนวทางของโรงเรียนในสังกัดเพาะพันธุ์ปัญญา

อีกโครงการหนึ่งก็คือ การโค้ชชิ่งครู (teacher coaching) แนวคิดคือ การพัฒนาครูขณะที่ทำงานอยู่ในโรงเรียน ให้ผลดีกว่าการอบรมหรือการฟังสัมมนา ทั้งนี้ การโค้ชชิ่งมีอยู่หลายระดับ สำหรับขั้นพื้นฐาน ครูในโรงเรียนจะต้องรวมตัวกันเพื่อสร้างวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยนำนักเรียนมาเป็นตัวตั้งในการพูดคุย เรียกว่า ชุมชนแห่งการเรียนรู้ ซึ่งเป้าหมายของชุมชนก็คือ 1) การจัดการความรู้ (knowledge management) ในด้านการเรียนการสอนของครู และ 2) สร้างแนวทางในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการสอนของครู เพื่อทำให้เด็กมีคุณภาพมากขึ้น ในระยะยาวการโค้ชชิ่งจะทำให้โรงเรียนเกิดการเปลี่ยนแปลง และระบบการศึกษาในภาพรวมก็จะพัฒนาขึ้น

“การโค้ชไม่ใช่ทำเป็นครั้งคราวตามที่ถูกสั่ง แต่จะต้องมีกระบวนการที่ต่อเนื่อง เรียนรู้แล้วก็พัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ และจะต้องเอาเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยด้วย”

 

ปล่อยให้พื้นที่จัดการการศึกษา

ในมุมมองอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนที่คลุกคลีอยู่ในพื้นที่มานาน อาจารย์จำรัสกล่าวว่า หากต้องการแก้ไขระบบการศึกษา ฝ่ายต่างๆ ในภาคสนาม ไม่ว่าจะเป็นครู ผู้บริหาร รวมถึงชุมชนจะต้องเปลี่ยนวิธีคิด นั่นคือ ผู้บริหาร ครู และชุมชน จะต้องกล้าตัดสินใจจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในพื้นที่ ในทางที่สอดรับกับนโยบาย แต่วิธีการดำเนินการไม่จำเป็นต้องเหมือนกับที่อื่น หรือเหมือนตามที่กระทรวงกำหนดมา วิธีการทำงานในแต่ละพื้นที่ควรแตกต่างกันไปโดยขึ้นอยู่กับบริบทของพื้นที่

“กระทรวงศึกษาฯ อาจจะบอกว่า เวลากินส้มตำต้องใช้กระบวนการอย่างนี้ แต่ผมขอปรับเป็นลีลาส้มตำบ้านผมนะ เป้าหมายคือได้ส้มตำอร่อย และเป็นที่ต้องการแถวนี้มากกว่า”

นอกจากนี้ อาจารย์จำรัสได้ยกตัวอย่างประสบการณ์การบริหารโรงเรียนของตน เพื่อสะท้อนเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาการศึกษาโดยชุมชน เขาเล่าว่า ก่อนที่จะได้เป็นผู้อำนวยการ โรงเรียนกุดเสถียรได้ถูกตัดสินให้ยุบทิ้งแล้ว ไม่มีใครสนใจ และกลายเป็นโรงเรียนร้าง ส่วนนักเรียนก็ถูกโอนไปอยู่โรงเรียนใกล้เคียง ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ นักเรียนเหล่านี้ต้องเดินทางไกล ระหว่างหมู่บ้านและโรงเรียนถูกกั้นด้วยลำห้วยอยู่เป็นระยะ ซ้ำร้ายกว่านั้น เด็กจากโรงเรียนกุดเสถียรที่ย้ายไปอยู่โรงเรียนอื่นมักถูกปฏิบัติอย่างไม่ค่อยดีเท่าไร

“เวลาที่เขาดูแลเด็ก จะแบ่งออกเป็นสองส่วน เด็กโรงเรียนเขา คือลูกเมียหลวง กับเด็กที่ไปอาศัยโรงเรียนเขา เปรียบเสมือนลูกเมียน้อย เพราะฉะนั้นเวลามีการจัดงบ เช่น ทุนการศึกษา แจกอาหาร แจกขนมวันเด็กเด็กกลุ่มนี้จะไม่ค่อยได้รับการเหลียวแล เหลือเท่าที่จะได้ ผมเห็นแล้ว น้ำตาไหล”

อาจารย์จำรัสเล่าต่อว่า ชาวบ้านทนไม่ไหวจึงต้องรวมเงินกันเช่ารถเพื่อจัดส่งนักเรียนให้เดินทางสะดวกขึ้น ประกอบกับพยายามประสานไปยังหลายหน่วยงานเพื่อให้โรงเรียนกุดเสถียรกลับมาเปิดอีกครั้ง แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะหน่วยงานต่างๆ อ้างว่าโรงเรียนยังขาดความพร้อมหลายด้าน แต่ถึงอย่างนั้น ชุมชนก็พยายามหาหนทางแก้ไขต่อไป แม้ว่าอาจไม่มีประสิทธิภาพเท่าไรนัก เช่น ชาวบ้านได้รวมตัวกันไปขอร้องให้ครูซึ่งเป็นคนในชุมชน มาดูแลโรงเรียน แต่ก็ทำได้เพียงแค่เฝ้า มิได้มีการจัดกิจกรรมเรียนรู้แต่อย่างใด

จนกระทั่งหลังจากอาจารย์จำรัสเข้ามาเป็นผู้อำนวยการเมื่อปี 2549 จึงได้เสนอแนวคิดว่า การแก้ไขปัญหาคงต้องเริ่มจากตัวเราหรือชุมชน จะไปหวังรอนโยบายคงไม่ได้ โรงเรียนจึงได้เริ่มร่วมมือกับชุมชนวางแผนการศึกษาของโรงเรียนโดยเน้นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง ทั้งนี้ กระบวนการการเรียนรู้ต้องถูกบูรณาการเข้ากับความรู้และวิถีชีวิตของชุมชน พูดอีกอย่างหนึ่ง โรงเรียนกุดเสถียรได้ใช้แนวคิดการมีส่วนร่วมและเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแกนกลางในการจัดการการศึกษา

“มันต้องอยู่บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วม โรงเรียนผมไม่ต้องพูดถึงครู ไม่มีอยู่แล้ว ตามงบ ตามอัตรา ตามสัดส่วนระหว่างครูต่อเด็กมันไม่ได้ ผมก็ถือว่าคนในชุมชนเป็นครูภูมิปัญญาเต็มไปหมด ทำไมไม่เอาเขามาสอนบ้าง การที่จะนั่งรอให้ส่วนกลางส่งบุคลากรมาให้ กับการที่เราแก้ปัญหาเอง ตัดสินใจเอง คุยกับชุมชนเอง ผมว่าอย่างหลังน่าจะดีกว่า

“คนในชุมชนมีความรู้หลากหลาย บางทีเป็นเด็กจบปริญญาตรีแต่ไม่ได้ทำงาน เขามีความรู้ความสามารถมาสอนได้ มันขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการและการประสานงานของผู้บริหารกับชุมชน ว่าให้เกียรติเขาไหม เวลาพูดถึงชุมชนปุ๊บ ผู้ใหญ่หลายคนก็บอกว่า เขาไม่มีวุฒิครู ไม่มีใบประกอบวิชาชีพครู สอนไม่ได้ เอาล่ะ ผมเชื่อว่าครูภูมิปัญญาทำได้ ผมก็ไปขอชาวบ้าน ยายมาช่วยผมเถอะ ผมชวนครูภูมิปัญญามาสอนผ่านกระบวนการในลักษณะโครงงาน เช่น ยายคนนี้เก่งเรื่องทอผ้า ผมก็เอาสอนทอผ้า โดยสอนผ่านการบูรณาการวิชาต่างๆ สอนคณิตศาสตร์ก็คำนวณเส้นด้าย สอนศิลปะการเอาเปลือกไม้มาย้อม เคมีก็คือกระบวนการหมักเปลือกไม้ หมักกี่วัน สีเข้มอย่างไร เราสอนได้หมดแหละครับ ขึ้นอยู่กับวิธีการของเรา

“ดังนั้น ผู้บริหารต้องชัดเจน ต้องแม่น ต้องมั่นใจ ที่สำคัญเด็กที่ผ่านกระบวนการนี้ มีทั้งทักษะชีวิต พึ่งพาตัวเองได้ และเป็นคนดีในสังคม” 

จากโรงเรียนเล็กๆ ที่มีครูเพียง 1 คน ผู้อำนวยการ 1 คน และนักเรียน 11 คน กลายเป็นโรงเรียนที่เป็นที่รู้จักและได้รับคำชื่นชมไปทั่วประเทศ หลายหน่วยงานติดต่อขอมาดูงาน ก่อนที่อาจารย์จำรัสจะเกษียณอายุในปี 2558 โรงเรียนกุดเสถียรมีนักเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 123 คน สะท้อนให้เห็นว่าโรงเรียนน่าจะมีคุณภาพมากขึ้น จนผู้ปกครองแห่กันส่งบุตรหลานมาเรียนมากขึ้น การที่ผู้บริหารโรงเรียนแต่ละที่มีความมั่นใจและกล้าจะนำชุมชนเข้ามาช่วยทำงานการศึกษาเป็นปัจจัยเบื้องหลังความสำเร็จ

 

ลดอำนาจผู้ใหญ่ เพิ่มอำนาจเด็ก 

พริษฐ์เสนอว่า การแก้ปัญหาการศึกษาต้องมองไปไกลกว่าโรงเรียน หรือตัวระบบการศึกษาด้วย เพราะการสูญเสียตัวตนของเด็กเป็นผลมาจากสังคมด้วย แต่การแก้ที่สังคมก็ยากอีก เพราะเราคงไม่สามารถเปลี่ยนทัศนคติของคนทั้งสังคมได้ ดังนั้น เราควรที่จะตั้งโจทย์ใหม่ว่า ทำไมเด็กถึงไม่สามารถที่จะเป็นตัวของตัวเองได้ พริษฐ์เสนอว่า เพราะว่าเด็กไม่มีอำนาจในการกำหนดความเป็นไปของตนเอง ครูไม่ยอมให้เด็กได้เลือกวิชาเรียนเอง ทั้งนี้ก็เพราะการที่เด็กไม่ได้เลือกวิชาเรียนไม่มีผลต่อครู

“ดังนั้นโจทย์ของการปฏิรูประบบ คือการคืนอำนาจให้กับนักเรียน แต่ปัจจัยหนึ่งในระบบทุนนิยมคือ มันเกิดการแข่งขันระหว่างแบรนด์ และแบรนด์ต้องมีการปรับตัว คือถ้าเกิดว่าไม่ดี ลูกค้าก็ไม่ซื้อ เนื่องจากทุกคนต้องเรียน ดังนั้นคำถามคือทำอย่างไรให้การตัดสินใจ ความพึงพอใจของนักเรียน สามารถมีผลในทางปฏิบัติต่อโรงเรียนได้ เช่น ครูคนนี้สอนไม่ดี ไล่ออกได้ไหม หรือวันนี้ ผอ.เพิ่มวิชานี้เข้ามาเป็นวิชาเลือกพิเศษ แล้วเด็กไม่ชอบ ขอเปลี่ยนได้ไหม หรือไม่เรียนได้ไหม”

ส่วนการกระจายอำนาจการจัดการศึกษานั้น เป็นเรื่องที่ดี แต่เราต้องลงไปดูในรายละเอียดว่า เมื่อกระจายอำนาจไปแล้ว อำนาจนั้นจะไปตกอยู่ที่ใคร ไม่ควรตกอยู่แค่ผู้อำนวยการโรงเรียน แต่ต้องให้มีการกระจายอำนาจมาสู่นักเรียนด้วย ให้นักเรียนได้มีส่วนในการบริหารจัดการโรงเรียนอย่างแท้จริง เช่น คณะกรรมการบริหารโรงเรียน ควรมีนักเรียนอยู่ข้างในด้วย หรือไม่ก็เสริมอำนาจให้กับสภานักเรียนในการตรวจสอบการทำงานของโรงเรียน เป็นต้น พริษฐ์ยังเสนออีกว่า หากจะแก้ปัญหาทางการศึกษาอย่างแท้จริง เราต้องทำให้สิทธิการศึกษาเป็นของทุกคน นั่นคือ ในอุดมคติทุกคนไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินเพื่อรับการศึกษาด้วยซ้ำ

พริษฐ์ วิจารณ์ว่า ปัจจุบันสถานการณ์การศึกษาไทยยังไม่เดินหน้าไปในแนวทางที่เสริมอำนาจนักเรียนเท่าไรนัก มีนโยบายต่างๆ ที่กดทับและทำลายความสร้างสรรค์ของเด็กๆ อยู่ เช่น นโยบายค่านิยม 12 ประการ หรือการบังคับให้นักเรียนต้องตัดผมทรงมาตรฐาน ดังนั้น นักเรียนยังต้องเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องดังกล่าวอยู่ เพื่อจะบอกกับสังคมว่าสิ่งเหล่านี้ไร้สาระ และไม่ได้เป็นการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนแต่อย่างใด

“เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว เราไม่เห็นด้วยกับการที่ สพฐ. บังคับให้ท่องจำค่านิยม 12 ประการ มันจะได้ผลหรือไม่ก็ไม่รู้ แต่อย่างน้อย เราได้ส่งเสียงออกไปแล้ว พวกเราเป็นเด็กรุ่นใหม่ มีข้อได้เปรียบหลายอย่าง เราชำนาญในการใช้สื่อโซเชียลมีเดียมากกว่าคนอายุมาก เราพูดในสิ่งที่หลายๆ คนคิดแต่ไม่ได้พูดออกมา เช่น ทำไมต้องมานั่งท่องจำวิชาโง่ๆ ทำไมต้องแต่งตัวแบบนี้ ทำไมต้องตัดผมเท่านี้ แต่หลายคนยังมองว่าประเด็นที่พวกผมทำเป็นสิ่งที่ไม่สำคัญ เด็กจัง ไร้สาระ แต่จริงๆ มันซ่อนอะไรหลายๆ อย่าง เช่น มันสะท้อนภาพอำนาจนิยมในระบบการศึกษา แม้แต่ทรงผม แม้แต่เครื่องแบบ คุณก็คิดไม่ได้ คุณก็ต้องทำตามนี้ สิ่งเหล่านี้คืองานที่เราทำมาตลอด ผมรู้สึกเสมอว่า นี่คือยุคของเรา” พริษฐ์เล่าถึงประสบการณ์การทำกิจกรรมด้านการศึกษาของตน

 

ระบบศึกษาเพื่อความจริง ความงาม ความดี

ในช่วงท้ายของงานเสวนา รศ.ดร.ปัทมาวดีได้ให้ข้อคิดว่า หากระบบการศึกษาของไทยจะเดินหน้าไปได้ ต้องสามารถสร้างความสุขให้ผู้เรียน ไม่ใช่สร้างความทุกข์ทรมาน ทุกคนต้องหันมาช่วยกันแก้ไข

“ดิฉันชอบสิ่งที่อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เชื่อมั่น ว่าเราต้องกลับมาเริ่มที่การให้ความสำคัญกับความจริง ความงาม ความดี สังคมไทยละเลยความงาม สุนทรียภาพในด้านจิตใจ เราไปมุ่งกับการสอบมากเกินไป มันก็เลยดึงเอาแต่อะไรที่มันจะต้องสอบ ทำให้การศึกษาเป็นเรื่องของความทุกข์ เราไม่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เติบโต เราจำเป็นต้องตั้งปรัชญาการศึกษากันใหม่ ดิฉันเชื่อว่าเราสามารถบ่มเพาะได้ ทำได้” รศ.ดร.ปัทมาวดีกล่าวด้วยความหวัง

ในส่วนของ ดร.รังสรรค์ กล่าวเสริมว่า แนวทางที่จะทำให้ระบบการศึกษาไทยสัมฤทธิ์ผลคือ ต้องเชื่อมโยงการศึกษาเข้ากับชีวิตจริงให้ได้ โดยส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนหนังสือตามความถนัดและความชอบของตนเอง เมื่อมีความสุขในการเรียน นักเรียนก็จะมีแรงจูงใจในการศึกษาเพิ่มมากขึ้น สุดท้ายก็จะไม่มีคำถามว่าเราจะเรียนไปทำไม

การจะสร้างระบบการศึกษาที่เพียบพร้อมเช่นนี้ได้ ดร.รังสรรค์ ย้ำว่ามีสามองค์ประกอบสำคัญ นั่นคือ ระบบการศึกษาต้องมีการกระจายอำนาจในการจัดการศึกษาแก่โรงเรียนในพื้นที่อย่างแท้จริง  บุคลากรทางการศึกษาจะต้องเป็นคนเก่ง และปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และนักเรียนในระบบต้องมีความพร้อม กล่าวคือ รู้ตัวว่าตนต้องการอะไรจากการศึกษา ซึ่งโรงเรียนมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนผ่านระบบแนะแนวที่ดี