ข่าวรอบรั้ว: Blue Economy กำลังก่อตัวในน่านน้ำทะเลเอเชียตะวันออก (ตอน 2)

ปุณฑริกา เรืองฤทธิ์ รายงาน

 

สำนักงานกองทุนสนับสนุนวิจัย (สกว.)ร่วมกับ พันธมิตรเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมทางทะเลในเอเชียตะวันออก (Partnership Management for the Seas of East Asia: PEMSEA) จัดงานสัมมนาระดับนานาชาติ Blue Economy Forum 2017 ในช่วงวันที่ 14-15 พฤศจิกายน ขึ้นในไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการและประสบการณ์เกี่ยวกับ Blue Economy จากผู้แทนประเทศสมาชิกกว่า 11 ประเทศ และหน่วยงานพันธมิตรในระดับนานาชาติ เพื่อร่วมกันสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อมทางทะเล

 

ต่อจากตอนที่ 1

สถานะแต่ละประเทศ

Blue Economy Forum 2017 ครั้งนี้มีการนำเสนอข้อมูลภาวะทางทะเลและชายฝั่งรวมทั้งโครงการ Blue Economy ในไทยและ Blue Economy ในฐานะแหล่งธุรกิจเศรษฐกิจใหม่ของโลก ซึ่งหลายประเทศก็มีความริเริ่มใหม่ๆ และมีแนวทางมุ่งไปสู่การสร้างความยั่งยืนในบริบท Blue Economy

จีน

โดย  ZHU Xiaotong จาก CHINA-PEMSEA Sustainable Coastal Management Cooperation Center กล่าวว่า จีนมีที่ตั้งค่อนไปทางตะวันออกและตอนกลางของเอเชียติดกับชายฝั่งตะวันตกของมหาสุทรแปซิฟิก จึงล้อมรอบไปด้วยทะเล 4 ทะเลคือ ทะเลโป๋ไห่ ทะเลเหลือง ทะเลจีนตะวันออก และทะเลจีนใต้

พื้นที่ทางทะเลของจีนรวมกันมีขนาด 3 ล้านตารางกิโลเมตร มีประชากรจีนจำนวน 1,375 ล้านคน โดยที่ 43.3% เป็นประชากรในแถบชายฝั่ง

สำหรับ Ocean Economy ของจีน มี GVA (Gross Value Added, มูลค่าเพิ่ม) ที่คำนวณในราคาคงที่รวม 3.809 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 9.51% ของจีดีพี และมีการจ้างงาน 1.58% ของการจ้างงานรวม โดยการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีมูลค่า 64.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ท่าเรือและขนส่งทางเรือ 84.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การท่องเที่ยวทางทะเล 162.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ 14.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อุตสาหกรรมการผลิตทางทะเล 1.260  ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ การก่อสร้างทางทะเล 311.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การบริการการวิจัยและการศึกษาทางทะเล 1.911 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

ความเสี่ยงต่อทะเลของจีนคือ ความสูญเสียระบบนิเวศ ปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ และการกัดเซาะตามชายฝั่ง ซึ่งรัฐบาลได้นำกฎหมายมาแก้ปัญหาด้วยการขยายพื้นที่คุ้มครองทางทะเลออกไป รวมทั้งมีโครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยา พื้นที่คุ้มครองทางทะเลของจีนมีสัดส่วน 3.3% ของน่านน้ำประเทศ มีการจัดการชายฝั่งแบบบูรณาการ (Integrated Coastal Management : ICM) ราว 29%

คุณภาพสิ่งแวดล้อมทางทะเลของจีนอยู่ในเกณฑ์ดี โดยน้ำทะเลในระดับแรกมีคุณภาพดี แต่ก็มีความเสี่ยงตรงบริเวณปากน้ำ รัฐบาลได้ออกกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล  แผนประหยัดพลังงาน การลดก๊าซคาร์บอน และการดูแลสิ่งแวดล้อมฉบับที่ 13 ก็บรรจุเรื่องนี้ไว้

ส่วนความริเริ่มด้านความยั่งยืนของ Blue Economy จีนมีโครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาด้วยการพัฒนาป่าชายเลนในชายฝั่งภาคใต้และพัฒนาป่าสนในชายฝั่งภาคเหนือ รวมทั้งจัดสรรพื้นที่ปลอดภัย ลดมลภาวะให้กับพื้นที่ลุ่มต่ำชายฝั่ง รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งนี้ได้อาศัยกฎหมายมาแบ่งการใช้พื้นที่ทางทะเล การทำแผนพัฒนาระบบนิเวศวิทยาทางทะเล กฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล  นอกจากนี้ ยังให้สำนักงานประมงและมหาสมุทรท้องถิ่นมีส่วนในการรับผิดชอบดูแล

จีนส่งเสริมการทำฟาร์มสัตว์น้ำแบบยั่งยืนในชานตง ด้วยการกำหนดพื้นที่เพื่อวางปะการังเทียม  แบ่งพื้นที่สำหรับการท่องเที่ยว การประมง ความบันเทิงชายฝั่ง ไว้ 2 ส่วน มีพื้นที่ฟาร์มเพาะเลี้ยงหอยในดินใต้ทะเล 3 แห่ง พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 4 แห่ง และยังมีอีกหลายพื้นที่สำหรับฟาร์มสัตว์น้ำที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย ซึ่งคาดว่าจะช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศ เพิ่มจำนวนปลา และเพิ่มรายได้ให้กับชาวประมง ตลอดจนรักษาระดับการผลิตผลิตภัณฑ์ทางทะเลไว้ได้ที่ 4.53 ล้านตันในมูลค่า 95 พันล้านดอลลาร์ต่อปีไว้ได้ภายในปี 2020 และตั้งเป้าเข้าสู่ SDG 14

อินโดนีเซีย

Dr.Achmad Fahrudin  vice Director Center for Coastal and Marine Resources Studies, จาก IPB / Bogor Agricultural University และ Dasminto Rahmudi จาก กระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ (Ministry of Environment and Forestry) ร่วมกันให้ข้อมูลว่า  Ocean Economy ของอินโดนีเซีย ปี 2015 มี GVA ที่คำนวณในราคาคงที่รวม 182.53 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 28.34% ของจีดีพี โดยการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีมูลค่า 14,702.52 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ท่าเรือและขนส่งทางเรือ 2,164.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การท่องเที่ยวทางทะเล 19,304.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การทำเหมืองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ 22,045.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อุตสาหกรรมการผลิตทางทะเล 38,799.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การก่อสร้างทางทะเล 63,251.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ความมั่นคงทางทะเล 22,270.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

คุณภาพสิ่งแวดล้อมทางทะเลของอินโดนีเซียโดยรวมแย่ลงทั้งป่าชายเลน หญ้าทะเล ปะการัง และพื้นที่ลุ่มราบน้ำขึ้น โดยป่าชายเลนซึ่งมีเนื้อที่รวมอยู่ในสภาพดี 23,471.09 ตารางกิโลเมตร มีพื้นที่ที่มีคุณภาพดี 3,036.80 ตารางกิโลเมตรหรือมีสัดส่วนเพียง 12.94% ของพื้นที่ป่าชายเลนทั้งหมด พื้นที่ที่เสียมีสัดส่วนกว่า 55%  ส่วนแนวปะการังมีพื้นที่จัดว่าดีมาก คือ 1,333 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นสัดส่วน 5.29% ของพื้นที่ทั้งหมดที่รวมกัน 25,223 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ที่ดีมากมีสัดส่วน 27% พื้นที่ที่เสีย 30%

Value of ecosystem services ของอินโดนีเซียมีมูลค่า  77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พื้นที่คุ้มครองทางทะเลของจีนมีสัดส่วน 5.8% ของน่านน้ำประเทศ มี ICM ราว 47% ปัจจุบันพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเลของอินโดนีเซียอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ กับกระทรวงกิจการทางทะเลและประมง

อินโดนีเซียได้นำระบบการให้คะแนนมาใช้สำหรับ Blue Economy ในแต่ละด้าน ทั้งการจัดการสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงาน การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การอนุรักษ์น้ำ การกำจัดขยะพิษ การกำจัดขยะมูลฝอย การคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ การพัฒนาชุมชน ซึ่งมีระดับคะแนนทั้ง Green หากผ่านขั้นต่ำ และ Gold สำหรับคะแนนที่สูงขึ้นไป เกณฑ์นี้ใช้สำหรับพื้นที่นอกการควบคุม

สำหรับพื้นที่การควบคุมนั้นต้องปฏิบัติตาม 1. เกณฑ์การควบคุมมลภาวะทางทะเล 2. การจัดการกับขยะพิษ 3. เกณฑ์มลภาวะทางอากาศ 4. เกณฑ์มลภาวะทางน้ำ 5. เกณฑ์ EIA  ซึ่งบริษัทที่ผ่านทั้ง  5 ข้อจะได้ป้าย Blue บริษัทที่ไม่ผ่านได้ป้าย Red บริษัทที่ไม่ทำเลยจะได้ป้าย Black

การดำเนินการด้าน Blue Economy อินโดนีเซียได้ริเริ่มท่าเรือสีเขียว หรือ Green Port มีการใช้เทคโนโลยีเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการรีไซเคิลวัสดุเหลือใช้  สร้างการรับรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงานฟอสซิล มีระบบจัดการของเสียที่ครอบคลุม เช่น การแยกน้ำกับน้ำมัน และยังมีการจัดทำแผนปฏิบัติการการกำจัดขยะพลาสติกแห่งชาติ ที่มีหลัก 5 ประการ คือ ปรับปรุงพฤติกรรม ลดการทิ้งขยะบนดิน ลดการทิ้งขยะทางทะเลและการรั่วไหล ลดการผลิตและใช้พลาสติก เพิ่มการใช้กลไกทางการเงิน การปฏิรูปนโยบายและการบังคับใช้กฎหมาย

นอกจากนี้ มีการประสานงานระหว่างหน่วยงานในการจัดการของเสีย  นำเทคโนโลยีมาใช้ในการกำจัดขยะพลาสติกและสร้างการรับรู้เพื่อลดปริมาณ รีไซเคิลพลาสติกและนำกลับมาใช้ใหม่

มาเลเซีย

Cheryl Rita Kaur, Head, Centre for Coastal and Marine Environment, Maritime Institute of Malaysia (MIMA) จากมาเลเซีย ให้ข้อมูล Ocean Economy ของมาเลเซียว่า ปี 2015 มี GVA ที่คำนวณในราคาคงที่รวม 2.454 พันล้านริงกิต คิดเป็น 23% ของจีดีพี และมีการจ้างงาน 4% ของการจ้างงานรวม

ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งมีคุณภาพที่ไม่ดีนัก โดยป่าชายเลนที่เคยอยู่ในระดับดีกลับแย่ลง แหล่งหญ้าทะเลที่แย่อยู่แล้วเลวร้ายลงอีก เช่นเดียวกับป่าพรุและป่าเสม็ด ยกเว้นแนวปะการังที่ดีขึ้น

สำหรับการจัดการความยั่งยืนของ Blue Economy นั้น มาเลเซียได้ปรับปรุงท่าเรือให้เป็นท่าเรือสีเขียว (Green Ports) คือ ท่าเรือกลัง และท่าเรือตันจัง ซึ่งได้รับรางวัล Green Port Award System จาก APEC Port Services Network (APSN) ซึ่งมูลค่าการขนส่งทางเรือคิดเป็น 95% ของการขนส่งสินค้าในมาเลเซีย

มาเลเซียตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 40% จากจีดีพีภายในปี 2025 อีกทั้งได้ริเริ่มโครงการเพื่อตอบสนองต่อคำมั่นในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  ได้แก่ 1. ศึกษาคุณภาพในการใช้เชื้อเพลิงในการขนส่งทางเรือในแต่ละท่าเรือในมาเลเซีย 2. ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและพลังงานเชื่อเพลิงลง เช่น เปลี่ยนมาใช้ระบบ LED 3. เพิ่มโครงการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมรอบชายฝั่ง และเฝ้าระวังการจัดการน้ำ 4. การจัดการทรัพยากรพื้นดินใต้น้ำ เช่น ส่งเสริมความเข้าใจให้ผู้ประกอบการระมัดระวังการถ่วงเรือ ซึ่งอาจทำอันตรายต่อระบบนิเวศใต้น้ำได้ และเรื่องอื่นๆ เช่น การลดการรั่วไหลของน้ำมันสู่พื้นผิวน้ำ เป็นต้น

เกาหลีใต้

Dr.Dong-Oh CHO จาก Korea Ocean Foundation ให้ข้อมูลว่า Ocean Economy ของเกาหลีใต้มีแนวโน้มที่เปลี่ยนไป โดยสัดส่วนของอุตสาหกรรมการประมงใน Ocean Economy ลดลงต่อเนื่อง แต่อุตสาหกรรมต่อเรือกับอุตสาหกรรมเดินเรือกลับมีสัดส่วนมากขึ้น ซึ่ง GVA รวม ในปี 2010  มีมูลค่ารวม 37.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 3.3% ของจีดีพี

แม้ชายฝั่งทะเล พื้นที่น้ำขึ้น จะมีคุณภาพที่เลวลง การทำการประมงได้รับผลกระทบ แต่คุณภาพน้ำทะเลยังดีและพื้นที่คุ้มครองทางทะเลของเกาหลีใต้กลับเพิ่มขึ้นเป็น 4.3% ของน่านน้ำ

ภายใต้ความริเริ่ม Blue Economy เกาหลีใต้มีเป้าหมายเข้าสู่ SDG 12 และ SDG14 โดยในเป้าหมายข้อ 12 นั้นมีการกำหนดพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรประมง ทั้งทะเลสาบ แม่น้ำ และชายฝั่ง ส่วนเป้าหมายข้อ 14 เพิ่มพื้นที่คุ้มครองทางทะเล ที่ครอบคลุมการอนุรักษ์พื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ชายฝั่ง และทั้งสองเป้าหมายมีการประสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งชาวประมงและชุมชนในท้องถิ่น

พื้นที้คุ้มครองทางทะเลมี 12 แห่ง มีพื้นที่รวม 254.3 ตารางกิโลเมตร เพื่อคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเล โดยที่มี 1 แห่งซึ่งมีพื้นที่ 91.2 ตารางกิโลเมตรนั้นมีเป้าหมายเพื่อคุ้มครองภูมิทัศน์ทางทะเล และในพื้นที่คุ้มครองทางทะเลนั้นกำหนดข้อห้ามดังนี้ 1. ห้ามจับ เก็บ แปลงสภาพ หรือทำลายสิ่งมีชีวิตทางทะเล 2. ห้ามมิให้มีการก่อสร้างใหม่หรือขยายอาคาร หรือโครงสร้างใดๆ 3. ห้ามเปลี่ยนโครงสร้างของระบบน้ำสาธารณะ หรือเพิ่ม หรือลด ระดับหรือปริมาณน้ำทะเล 4. ห้ามเปลี่ยนคุณภาพน้ำสาธารณะหรือดิน 5. ห้ามเก็บทรายจากทะเล แร่ควอตซ์ ดินหรือหิน 6. ห้ามทิ้งขยะหรือสิ่งของที่มีผลกระทบต่อคุณภาพน้ำ

นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ลุ่มต่ำที่อยู่ในการอนุรักษ์ 14 แห่ง รวมพื้นที่ 235.8 ตารางกิโลเมตร ที่มีข้อห้ามเช่นเดียวกับพื้นที่คุ้มครองทางทะเล คือ ห้ามมิให้มีการก่อสร้างใหม่หรือขยายอาคาร หรือโครงสร้าง ห้ามเพิ่ม หรือลด ระดับหรือปริมาณน้ำ ห้ามเก็บดิน ทราย กรวดหรือหิน ห้ามขุดแร่ ส่วนพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรประมงมีด้วยกัน 30 แห่ง รวมพื้นที่ 3,161 ตารางกิโลเมตร ทั้งในน้ำ บนบก ชายฝั่ง และพื้นที่ด้านใน

เกาหลีใต้มีโครงการ TAC Program มีเป้าหมายเพื่อคุ้มครองปลาหลากหลายชนิด เช่น ปลาแม็คเคอเรล ปลาซาร์ดีน รวมไม่ต่ำกว่า 12 ชนิดและยังกำหนดรูปแบบธุรกิจการประมงไว้ 11 แบบ รวมทั้งมีโครงการสร้างบ้านปลา (Marine Ranch Program) ในชายฝั่งที่ความลึก 20 เมตร มีการติดตั้งแนวหินเทียม

สำหรับท่าเรือได้ปรับท่าเรือปูซานเป็น Green Port ที่ลดค่าใช้จ่ายและลดการใช้พลังงานได้ถึง 90%

 

กัมพูชา

Roath Sith Deputy Director จากกระทรวงสิ่งแวดล้อมของกัมพูชา ให้ข้อมูลเศรษฐกิจทางทะเลว่า การประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมี GVA ราว 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2013 มีสัดส่วน 8-12% ของจีดีพี ส่งผลให้มีการจ้างงาน 2.4 ล้านคน ส่วนท่าเรือและการขนส่งมีมูลค่า 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีการจ้างงาน 944 คน ส่วนการท่องเที่ยวทางทะเลเฉพาะที่เมืองสีหนุวิลล์ทำรายได้ 96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีการจ้างงานตรง 789,000 คน

ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งของกัมพูชาประกอบด้วย ป่าชายเลน แหล่งหญ้าทะเล แนวปะการัง ที่ลุ่มต่ำชายทะเล และพื้นที่คุ้มครองทางทะเล ซึ่งระบบนิเวศนี้มีมูลค่าการบริการ (Value of ecosystem services) 83.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความริเริ่มของกัมพูชาในเรื่อง Blue Economy นั้นได้ตั้งโครงการรักษาสิ่งแวดล้อมและยกระดับคุณภาพชีวิตในจังหวัดพระสีหนุและแหล่งท่องเที่ยวอื่น โดยได้นำมาตรฐานสากลเข้ามาใช้ เช่น ท่าเรือและการขนส่งใช้แนวปฏิบัติ MARPOL, SOLAR และเกณฑ์สิ่งแวดล้อมอื่นที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังจัดแบ่งพื้นที่ (Zoning) ชัดเจนทั้งแหล่งธุรกิจ พื้นที่สีเขียว พื้นที่สาธารณประโยชน์ พื้นที่ทิ้งขยะ ตลอดจนนำมาตรฐานการบำบัดน้ำเสียมาใช้ ส่งเสริมการประยัดพลังงานและไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม

ผลที่ได้คือสามารถกำจัดขยะมูลฝอยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้เงินน้อยทั้งการดำเนินงานและการบำรุงรักษาเครื่องกำจัดขยะ รวมทั้งท่าเรือและมาตรการจัดการสิ่งแวดล้อมยังได้มาตรฐานสากล ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจากทั้งนโยบายและกฎหมาย มีการออกกฤษฏีกาย่อยเรื่องการจัดการขยะมูลฝอย ทฤษฎีการย่อยด้านการควบคุมมลภาวะทางน้ำ สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ

ปัจจุบันกัมพูชากำลังจะบรรลุเป้าหมาย SDG 7, SDG 8, SGD 11, SDG 14

ไทย

รศ. ดร.อรพรรณ ศรีเสาวลักษณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ให้ข้อมูลว่า ในปี 2016 ป่าชายเลน โดยเฉพาะต้นโกงกางลดลงเป็นจำนวนมาก เป็นสาเหตุหลักของป่าเสื่อมโทรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากพื้นที่ป่าชายเลนเสื่อมโทรมเพิ่มมากขึ้น สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่ง องค์การสหประชาชาติด้านอาหารและการเกษตร (U.N. Food and Agricultural Organization: FAO) ได้จัดทำนโยบายเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อขจัดปัญหาดังกล่าว เช่น โครงการอะควาโพนิกส์ (Aquaponics) ที่เป็นการรวบรวมระบบการเลี้ยงสัตว์น้ำและเลี้ยงพืชเข้าด้วยกัน เป็นต้น

สำหรับป่าชายเลนของประเทศไทยลดลงจาก 2 ล้านไร่ในปี 1975 เหลือ 1.5 ล้านไร่ในปี 2014 พื้นที่ป่าชายเลนส่วนใหญ่ใช้ในการทำบ่อกุ้งและถูกเปลี่ยนเป็นสถานตากอากาศ

นายธนา ยิ่งเจริญ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทางทะเลและชายฝั่งของไทยมี 89 ฉบับ เกี่ยวข้องกับ 32 หน่วยงาน แต่มีการออกกฎหมายใหม่ คือ พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 มีทั้งหมด 30 มาตรา แบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลัก คือ  1. การส่งเสริมการจัดการแบบบูรณาการและยั่งยืน 2. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน 3. ส่งเสริมการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และ 4. ส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมาย

โทษสูงสุดของกฎหมายฉบับนี้คือปรับไม่เกิน 200,000 บาท จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

โอกาสทางธุรกิจของ Blue Economy

Dr.Sukarno Wagiman  Director General, Department of Marine Park, Ministry of Environment and Natural Resources ประเทศมาเลเซีย ได้นำเสนอรายงานแผนงานการท่องเที่ยวทางธรรมชาติอย่างยั่งยืนที่มีการดำเนินงานอยู่ทั้งหมด 2 แผนงานด้วยกัน คือ 1. นโยบายความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ ปี 2016-2025  (National Biological Diversity Policy 2016-2025) และ แผนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ปี 2016-2025  (National Ecotourism Plan 2015-2025) ในฐานะที่เป็น 1 ใน 12 ประเทศที่ความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก โดยเน้นหลัก 2 ประการ คือ 1. หลักการอนุรักษ์พื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล 2. การนำพื้นที่ดังกล่าวไปใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

Dr.Kwang Soo Lee, Coastal Engineering Research Division Korea Institute of Ocean Science and Technology (KIOST) ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน ผู้นำด้านโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออก คือ ประเทศเกาหลีใต้ โดยโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำทะเลนำร่อง คือ โรงไฟฟ้าซีฮวา (Sihwa Lake Tidal Power Plant) โรงไฟฟ้าจากพลังงานน้ำทะเลได้ช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำในทะเลสาบและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมรอบๆ ทะเลสาบ สามารถผลิตพลังงานสะอาดหมุนเวียน และยังช่วยเพิ่มโอกาสการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการสร้างโรงไฟฟ้า และยังทำให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง นอกจากโรงไฟฟ้าซีฮวาแล้ว ยังมีโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำทะเลอัล ดอลมอก (Uldolmok Current Power Pilot Plant) ซึ่งมีการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยี ทำให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่าเดิม

สำหรับไทย รศ. ดร.นิรมล สุธรรมกิจ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งวิจัยในหัวข้อ ศักยภาพการพัฒนา Blue Economy ในจังหวัดชายทะเลของไทย ได้เปิดเผยว่า ไทยมีชายฝั่งยาวรวมกันถึง 3,148 กิโลเมตร มีป่าโกงกาง 1.5 ล้านไร่ และมีประชากรในจังหวัดชายทะเล 26 ล้านคน โดยจังหวัดที่ทำการศึกษามี 7 จังหวัด

จากการศึกษาตัวบ่งชี้ Blue Economy ของไทยพบว่า รายได้จากเศรษฐกิจทางทะเลและชายฝั่งมีสัดส่วน 50% ของจีดีพี รายได้ประชากรต่อหัวของจังหวัดมีเศรษฐกิจชายทะเลสูงกว่าจังหวัดอื่นโดยเฉลี่ย

แต่ละจังหวัดมีแผนพัฒนาของตัวเอง ส่วนใหญ่มุ่งไปที่การประมงและการท่องเที่ยวเท่านั้น ส่วนการใช้ประโยชน์ป่าโกงกางมุ่งไปที่การทำฟาร์มกุ้ง ขณะที่การประมงมีการแปรรูปอาหารทะเลและอาหารทะเลแช่แข็ง และท่าเรือมีทั้งท่าเรือเพื่อการค้ากับท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยว

ปัญหาหลักที่มีผลต่อ Blue Economy ในไทย คือ 1. การทำงานของหน่วยงานรัฐไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน 2. แนวคิด Blue Economy ยังเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย 3. งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดและไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาในระดับจังหวัด 4. การจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งต้องเชื่อมโยงกับการจัดการน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค 5. ปัญหาการน่านน้ำและชายฝั่งในอยู่ความรับผิดชอบของหลายหน่วยงานทำให้ดำเนินงานทับซ้อนกัน


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกเว็บไซต์ไทยพับลิก้า เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 ในชื่อ Blue Economy กำลังก่อตัวในน่านน้ำทะเลเอเชียตะวันออก (ตอน 2)