ข่าวรอบรั้ว: #SDGMove: บทเรียนสำคัญจากการประชุม High-Level Political Forum ต่อประเทศไทย

ชล บุนนาค

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หัวหน้าโครงการประสานงานการวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) สกว.

 

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เป็นเป้าหมายการพัฒนาที่จัดทำขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations) ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมในทุกระดับตั้งแต่ระดับรัฐไปจนถึงกลุ่มคนเปราะบางในประเทศต่างๆ โดยมีผู้มีส่วนร่วมกับกระบวนการที่นำมาซึ่ง SDGs ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2012 ถึง 2015 กว่า 8.5 ล้านคนทั่วโลก [1] สมาชิก 193 ประเทศร่วมกันให้การรับรองวาระการพัฒนาปี ค.ศ.​ 2030 (Agenda 2030) และจะร่วมกันบรรลุเป้าหมาย (Goals) ทั้ง 17 ข้อ และเป้าประสงค์ (Targets) 169 เป้าประสงค์ ให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2030

ในกระบวนการบรรลุเป้าหมายนั้น จำเป็นที่จะต้องมีการติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินการ ในการนี้องค์กรสหประชาชาติได้จัดให้มีการประชุมทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-Level Political Forum on Sustainable Development) ขึ้นเป็นเวทีในการติดตามความก้าวหน้าการบรรลุ SDGs ในระดับโลกและระดับประเทศ โดยเปิดโอกาสให้ประเทศต่างๆ สามารถแจ้งความจำนงที่จะนำเสนอรายงานความก้าวหน้าโดยสมัครใจ (Voluntary National Review: VNR) ได้ ซึ่งปีที่ผ่านมา (ค.ศ. 2017) ประเทศไทยได้เข้าร่วมการนำเสนอ VNR ในเวที HLPF ระหว่างวันที่ 10-20 กรกฎาคม ที่ผ่านมาด้วย ผู้สนใจสามารถชมเทปบันทึกการถ่ายทอดการประชุมจากห้องประชุมหลักได้ ที่นี่  และติดตามรายละเอียดต่างๆ ข้อสรุปจากการประชุม และรายงาน VNR ของประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยได้ ที่นี่

สำหรับรายงานนี้จะขอนำเสนอบทเรียนบางประการที่ผู้เขียนซึ่งมีโอกาสได้เข้าร่วมการประชุม HLPF ตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้าย ได้เรียนรู้และเห็นว่ามีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทยเท่านั้น โดยจะโยงเอาประสบการณ์จากการขับเคลื่อนในประเทศไทยและองค์ความรู้อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาประกอบด้วย เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเป็นเรื่องเดียวกันมากยิ่งขึ้น บทเรียนนั้นมีทั้งหมด 6 ประการหลักๆ ดังต่อไปนี้

 

SDGs ต้องดูที่เป้าประสงค์

 

ประการแรก ระดับของการพิจารณา SDGs เพื่อนำไปปฏิบัตินั้นจะต้องพิจารณาในระดับเป้าประสงค์ (Targets)

Mr.Charles Arden-Clarke, Head of 10YFP Secretariat, Economy Division, UN Environment ได้กล่าวเอาไว้ในการประชุมหัวข้อ Leveraging Interlinkages for effective implementation of SDGs ในวันศุกร์ที่ 14 กรกฎาคม 2017 ว่า SDGs นั้นเป็นเรื่องในระดับเป้าประสงค์ (Targets) เพราะนั่นคือจุดที่บอกรายละเอียดทั้งหมด SDGs กระบวนการเจรจาที่ผ่านมาเป็นไปเพื่อให้ได้รายละเอียดในเป้าประสงค์ที่ทุกประเทศยอมรับได้ ถือได้ว่าเป็นสัญญาประชาคม (Social Contract)

เป้าประสงค์ของ SDGs มีทั้งหมด 169 เป้าประสงค์ แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มหลัก กลุ่มที่ 1 คือกลุ่มเป้าประสงค์ที่เป็นผลลัพธ์ที่คาดหวัง (Outcome targets) ของ SDGs ซึ่งครอบคลุมทั้งลักษณะของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง สุขภาวะ และโครงสร้างทางสังคม ที่ควรเกิดขึ้นเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าประสงค์เหล่านี้คือเป้าประสงค์ที่มีเลขเป้าหมาย จุด แล้วตามด้วยตัวเลข เช่น เป้าประสงค์ที่ 6.1, 8.9, 15.2 เป็นต้น

กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่เป็นเป้าประสงค์เชิงวิธีการในการบรรลุเป้าหมายผ่านนโยบายภายในประเทศหรือความร่วมมือระหว่างประเทศรูปแบบต่างๆ (Mechanism targets)  เป้าประสงค์เหล่านี้คือเป้าประสงค์ที่มีเลขเป้าหมาย จุด แล้วตามด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษ เช่น เป้าประสงค์ที่ 6.a เป็นต้น

นอกจากนี้ เป้าประสงค์แต่ละข้ออาจมีความชัดเจนในรายละเอียดไม่เท่ากัน บางเป้าประสงค์มีความชัดเจนมาก เช่น “เป้าประสงค์ข้อ 1.1 ภายในปี 2573 ขจัดความยากจนขั้นรุนแรงทั้งหมด ซึ่งในปัจจุบันวัดจากคนที่มีค่าใช้จ่ายดำรงชีพรายวันต่ำกว่า 1.25 ดอลลาร์ สรอ. ต่อวัน” ในขณะที่บางเป้าประสงค์ควบรวมเอาหลายประเด็นไว้ด้วยกันในที่เดียว ซึ่งต้องอาศัยการตีความเป็นส่วนๆ เพื่อให้เข้าใจรายละเอียดของเป้าประสงค์ เช่น “เป้าประสงค์ข้อ 9.1 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ ยั่งยืน และมีความทนทาน ซึ่งรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาคและที่ข้ามเขตแดน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ โดยมุ่งเป้าที่การเข้าถึงได้ในราคาที่สามารถจ่ายได้และเท่าเทียมสำหรับทุกคน” เป็นต้น

ฉะนั้น หากเราต้องการจะประเมินให้ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ละประเทศจะต้องพิจารณารายละเอียดของเป้าประสงค์และออกแบบวิธีการบรรลุเป้าหมายและกำหนดตัวชี้วัดที่เพิ่มเติมจากของ UN จึงจะสามารถบรรลุเป้าประสงค์ของ SDGs ได้ตามเจตนารมณ์ที่ระบุไว้

ประการที่สอง คือ เป้าหมายและเป้าประสงค์ของ SDGs ไม่สามารถพิจารณาแยกส่วนกันได้

คำว่า Indivisibility ซึ่งแปลว่า ไม่สามารถแบ่งแยกจากกันได้ เป็นคำสำคัญที่ถูกเน้นย้ำบ่อยมากในการประชุม HLPF และด้วยความที่แยกจากกันไม่ได้นี้เอง ทำให้ประเด็นเรื่องของความเชื่อมโยงกันระหว่างเป้าประสงค์ (Interlinkages) ได้รับความสำคัญอย่างยิ่งในการประชุมนี้ ทั้งในกำหนดการที่เป็นทางการของการประชุม และในกิจกรรมคู่ขนาน (Side event)

ยิ่งไปกว่านั้น ในปีนี้ทางสภาวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศ (International Council for Science: ICSU) เปิดตัวหนังสือ A Guide to SDG Interactions: From Science to Implementation ซึ่งเป็นคู่มือที่แนะนำกรอบแนวคิดในการประเมินการปฏิสัมพันธ์ระหว่างเป้าหมายและเป้าประสงค์ของ SDGs อีกด้วย ความเข้าใจความเชื่อมโยงกันระหว่าง SDGs มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากจะช่วยชี้ให้เห็นว่า เป้าประสงค์ใดมีความเกี่ยวโยงในเชิงเสริมแรงกัน (Synergy) หรือขัดแย้งกัน (Trade-offs) อาจทำให้เห็นว่าเป้าประสงค์ใดควรเป็นเป้าประสงค์ที่ควรจัดสรรทรัพยากรไปให้เพราะจะส่งผลกระทบทางบวกหรือส่งเสริมเป้าประสงค์อื่นๆ และความสัมพันธ์ระหว่างเป้าประสงค์ใดควรระมัดระวังเพื่อลดความขัดกัน

ในที่ประชุม HLPF มีการเสนอหลายเป้าหมายและเป้าประสงค์เป็นประเด็นแกนกลางที่เชื่อมโยงเป้าหมายและเป้าประสงค์อื่นๆ ไว้ด้วยกัน ตามแต่ session ที่มีการกล่าวถึงเป้าหมายนั้นๆ บ้างก็เสนอว่าเป้าหมายที่ 1 เรื่องความยากจน จะเป็นประเด็นแกนกลางที่เชื่อมโยงกับทุกประเด็นได้ทั้งสิ้น เพราะความยากจน (Poverty) นั้นมีหลายมิติ (Multi-dimensional Concept) มิใช่เรื่องทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่รวมไปถึงเรื่องสุขภาพ การศึกษา ความเท่าเทียมกันทางเพศ และต้องอาศัยการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ยั่งยืนและครอบคลุม ฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาลและสันติภาพในการแก้ไขปัญหา

บ้างก็เสนอว่ามิติเชิงเพศสภาพ (Gender) ที่เป็นประเด็นหลักของเป้าหมายที่ 5 ควรเป็นประเด็นแกนกลาง เพราะเรื่องความเท่าเทียมกันระหว่างเพศเป็นประเด็นที่ต้องได้รับการให้ความสำคัญในทุกเป้าหมายของ SDGs

บ้างก็ว่าเป้าหมายที่ 7 พลังงาน ควรเป็นประเด็นแกนกลาง เพราะว่าประเด็นเรื่องพลังงานนั้นพันผูกกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทรัพยากรน้ำ และการใช้ที่ดิน ซึ่งไปสัมพันธ์กับประเด็น SDGs อื่นๆ อีกทีหนึ่ง

บ้างก็เสนอว่า เป้าหมายที่ 16 โดยเฉพาะการมีกติกาหรือกฎหมายที่โปร่งใส บังคับใช้เสมอหน้ากัน และเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ผู้คนเข้าถึงบริการทางสังคมและโอกาสทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เท่าเทียมกัน จึงถือเป็นประเด็นที่เชื่อมโยงกับทุกเป้าประสงค์และเป้าหมาย ไม่ว่าจะใช้ประเด็นไหนเป็นประเด็นแกนกลาง เราต้องตระหนักว่า SDGs นั้นเชื่อมโยงกัน ขึ้นอยู่กับว่าเรากำลังพิจารณาเป้าหมายหรือเป้าประสงค์ใด

 

กลไกในการขับเคลื่อน SDGs แบบข้ามกระทรวงและการมีส่วนร่วมที่มีความหมายจากภาคส่วนต่างๆ

 

ประการที่สาม เมื่อเป้าประสงค์เชื่อมโยงกัน การขับเคลื่อน SDGs จำเป็นต้องมีกลไกการขับเคลื่อนแบบข้ามกระทรวง (Inter-ministerial Mechanism) ด้วย

กลไกนี้ได้รับการกล่าวถึงมากในการประชุมตามกำหนดการหลักของ HLPF และมีการกล่าวถึงในรายงาน VNR หลายประเทศ ทั้งนี้เพื่อรองรับธรรมชาติของความเชื่อมโยงกันของเป้าประสงค์และเป้าหมายต่างๆ

สำหรับประเทศไทยนั้น โดยหลักการเรามีคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ กพย. (National Committee for Sustainable Development) ซึ่งทำหน้าที่เป็นกลไกการขับเคลื่อนแบบข้ามกระทรวงในประเทศไทย แต่หากพิจารณากันตามจริงในทางปฏิบัติแล้ว การขับเคลื่อนของ กพย. ยังไม่อาจทำให้เกิดการทำงานร่วมกันแบบข้ามหน่วยงานของภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพมากนักด้วยข้อจำกัดหลายด้าน ทั้งโครงสร้างการทำงานของภาครัฐและสายงานบังคับบัญชา โครงสร้างแรงจูงใจของข้าราชการ โครงสร้างและกระบวนการด้านงบประมาณ และวิธีการกำหนดตัวชี้วัดขององค์กรที่ยังมักจะเป็นแบบผลผลิต (Output) ในรูปของจำนวนผู้เข้าร่วม จำนวนโครงการที่จัดขึ้น มากกว่าจะเป็นผลลัพธ์ (Outcome) ว่าโครงการที่จัดขึ้นส่งผลสร้างประโยชน์หรือลดปัญหาจริงหรือไม่

สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่านี้หากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) และสำนักงบประมาณ มีส่วนร่วมกับการขับเคลื่อน SDGs อย่างเต็มตัว และมีการปรับระบบการทำงานและระบบงบประมาณของข้าราชการไทย นอกจากนี้ อนุกรรมการย่อยของ กพย. โดยเฉพาะอนุกรรมการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน อาจต้องมีบทบาทมากกว่านี้ในการทำหน้าที่เป็นกลไกการขับเคลื่อนแบบข้ามกระทรวง

ประการที่สี่ การมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ อย่างมีความหมาย (meaningful participation)

ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ผู้แทนภาคประชาสังคมไทยเรียกร้องจากรัฐบาลไทยในเวที HLPF และเป็นสิ่งที่เวที HLPF แสดงเป็นตัวอย่างที่ค่อนข้างชัดเจน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามการกำหนดของ UN นั้นมิได้มีเพียงแค่ 4-5 กลุ่มแบบในประเทศไทย (รัฐ เอกชน ประชาสังคม ชุมชน วิชาการ เป็นต้น) แต่ครอบคลุมถึง 9 กลุ่มหลัก (เรียกว่า Major Groups)ประกอบด้วย ภาคธุรกิจเอกชน เด็กและเยาวชน เกษตรกร คนพื้นเมือง รัฐบาลท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ชุมชนนักวิชาการ กลุ่มผู้หญิง และแรงงานและสหภาพแรงงาน

ในการประชุม HLPF ทุกช่วงการประชุมที่เป็นทางการ มีพื้นที่เปิดให้ตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ทั่วโลกได้นำเสนอความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ถึงกระนั้นก็ยังมีตัวแทนจากกลุ่มผู้พิการและผู้สูงอายุที่เข้ามาติติงในเวทีเป็นระยะว่า SDGs อาจจะไม่ให้ความสำคัญกับพวกเขามากเท่าที่ควร ซึ่งหากเราพิจารณาการทำงานของรัฐบาลไทย กลไก กพย. เรียกได้ว่าขาดตัวแทนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ ข้างต้นไปแทบทั้งหมด มีเพียงภาคเอกชนซึ่งประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรรมฯ สภาหอการค้าไทย และภาควิชาการ ประกอบด้วย สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สถาบันธรรมรัฐฯ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เท่านั้น

นอกจากนี้ ในการประชุม กพย. จริงๆ แล้วไม่ได้มีกระบวนการมีส่วนร่วมใดๆ นอกจากฟังท่านนายกรัฐมนตรีและรองนายกฯ บางท่านพูดเท่านั้น ไม่มีช่วงเวลาเปิดให้ผู้ใดเสนอความคิดเห็น ในการประชุมอย่างเป็นทางการที่จัดขึ้นโดยหน่วยงานต่างๆ เองก็ขาดกระบวนการที่เหมาะสมที่จะให้ภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วมกับกระบวนการขับเคลื่อน SDGs อย่างมีความหมายตั้งแต่เริ่มต้น มิใช่เพียงแค่มาฟังและให้ความเห็นชอบกับแผนการต่างๆ ของรัฐบาล

รัฐบาลต้องจัดให้มีกลไก ที่เรียกว่า Multi-stakeholder platform (เวทีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลาย)

มีการนำเสนอกลไกนี้ในหลายโอกาสในเวที HLPF ทั้งในประเด็นการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ กับการขับเคลื่อน SDGs และประเด็นเรื่องของการกำหนดทิศทางการวิจัยเพื่อสนับสนุน SDGs และยังถือว่าเป็นกลไกที่ยังขาดในประเทศไทย ยิ่งหากจัดขึ้นโดยคณะอนุกรรมการฯ ขับเคลื่อน เปิดให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ ได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นอย่างจริงจัง

ที่สำคัญไปกว่านั้น การจัดเวทีลักษณะนี้ควรจะต้องมีการเตรียมกระบวนการที่เหมาะสม กระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมศึกษาและเตรียมข้อมูลมาล่วงหน้า และทำให้ชัดว่านอกจากการนั่งฟังแล้วบทบาทของแต่ละส่วนจะเป็นอย่างไร ผลลัพธ์ที่คาดหวังคืออะไร มีการเตรียมกระบวนการสำหรับดำเนินกระบวนการในกลุ่มย่อยอย่างมืออาชีพ หากทำได้เช่นนี้จะยิ่งทำให้ความคิดเห็นของคนกลุ่มต่างๆ เข้าถึงผู้กำหนดนโยบายได้โดยตรงและทั่วถึงมากขึ้นโดยไม่ต้องผ่านกลไกหลายขั้นตอนมากเกินไป

 

บทบาทรัฐบาล”ผู้นำ-ผู้อำนวยความสะดวกและกลไกทางเลือกในการขับเคลื่อน”

 

ประการที่ห้า บทเรียนจากประเทศต่างๆ สะท้อนว่ารัฐบาลกลางมิได้มีบทบาทนำในการขับเคลื่อน SDGs อย่างเดียว

แนวทางที่ควรจะเป็นคือการเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนบางประเด็นหรือบางพื้นที่โดยภาครัฐเป็นผู้อำนวยความสะดวกและจัดสรรทรัพยากรให้ กลไกประชารัฐอาจเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อน SDGs ในประเทศไทย ซึ่งจริงอยู่ว่าเป็นกลไกที่ให้เอกชนเป็นผู้นำแล้วทำงานร่วมกันกับชุมชนและ NGOs ในพื้นที่ แต่ประเทศไทยไม่ควรมีเพียงกลไกเดียวในการขับเคลื่อน SDGs การขับเคลื่อน SDGs ต้องมีความหลากหลายและยืดหยุ่น เข้าถึงคนได้หลายกลุ่ม การจะเป็นเช่นนั้นได้แปลว่าเราต้องการคนจากทุกกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและทุกๆ พื้นที่มาร่วมกันเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change agent) ในพื้นที่ ผ่านช่องทางที่หลากหลายและรูปแบบที่หลากหลาย

กลไกนอกเหนือจากกลไกแบบประชารัฐมีหลายตัวอย่าง ในระดับโลก มีโครงการ UNLEASH ที่เป็นความริเริ่มแบบไม่แสวงหากำไรโดยความร่วมมือขององค์กรหลายภาคส่วนจากหลายประเทศ เพื่อเป็น Global Innovation Lab ที่รับสมัครผู้คนที่มีความสามารถมากมายมาเพื่อร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาใหม่ๆ (Disruptive Solutions) เพื่อบรรลุ SDGs โดยเฉพาะ มุ่งเน้นที่คนรุ่นใหม่ และสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างเจ้าของไอเดียนั้นกับผู้คน บริษัท NGOs รัฐบาล นักลงทุน มูลนิธิ ฯลฯ ที่อยู่ตรงพรมแดนความรู้ของนวัตกรรมและการพัฒนาในด้านนั้นๆ นอกจากนี้ โครงการจะคัดเลือกโครงการที่ดีที่สุดในด้านต่างๆ ให้เป็นจริง ผ่านการสนับสนุนด้านทั้งด้านความรู้และการสนับสนุนทางการเงินให้ไอเดียเหล่านั้นเป็นจริงขึ้นมาได้ ซึ่งอาจจะเป็นทั้งที่ทำกำไรหรือไม่ทำกำไรก็ได้

ในทางการวิจัย โครงการ Horizon 2020 ของสหภาพยุโรปเป็นตัวอย่างที่ดี โครงการนี้เป็นโครงการวิจัยและนวัตกรรมที่ใหญ่ที่สุดของสหภาพยุโรป มีทุนกว่า 80 ล้านยูโร ให้ทุนเป็นระยะเวลา 7 ปี จากปี ค.ศ. 2014 ไปจนถึงปี ค.ศ. 2020 ให้ทุนวิจัยทั้งด้าน Excellent Science, Industrial Leadership, Societal Challenges, Spreading Excellence and Widening Participation, Science with and for Society, Cross-cutting Activities (focus areas), Fast Track to Innovation Pilot, European Institute of Innovation and Technology (EIT), Euratom, และ Smart Cyber-Physical Systems โดยประเด็นของ SDGs แฝงอยู่ในหลายส่วน โดยเฉพาะด้าน Societal Challenges ซึ่งหากประเทศไทยมีการให้ทุนวิจัยเป็นโครงการระยะยาวลักษณะนี้น่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการสร้างนวัตกรรมและหาวิธีการในการแก้ปัญหาด้านความยั่งยืนได้มาก

สำหรับการนำ SDGs ไปปฏิบัติในระดับท้องถิ่น (Localizing SDGs) ตัวอย่างจากเมือง Utrecht (อูเทรฆต์) ประเทศเนเธอร์แลนด์ถือเป็นตัวอย่างที่ได้รับการยอมรับมิใช่เฉพาะในเนเธอร์แลนด์เท่านั้น แต่ในระดับโลกด้วย เทศบาลเมือง Utrecht มีทั้งโครงการที่สนับสนุนให้ผู้คนริเริ่มโครงการที่ตอบโจทย์ SDGs และโครงการที่ทางเทศบาลริเริ่มเอง ยกตัวอย่างเช่น โครงการ Utrecht 4 Global Goals เป็นโครงการที่ให้รางวัลแก่โครงการต่างๆ ที่สร้างแรงบันดาลใจและช่วยในการบรรลุ SDGs หนึ่งในตัวอย่างที่ถูกยกใน VNR ของเนเธอร์แลนด์ ก็คือ เจ้าของร้านอาหารออร์แกนิก ชื่อ Gijs Werschkull เปิดร้านอาหารใหม่ชื่อ Syr ที่จ้างงานผู้อพยพชาวซีเรีย และเสิร์ฟอาหารซีเรียนที่มีการประยุกต์ผสมผสานกับวิถีของยุโรป ภายใต้แนวคิด “Eating connects people and fosters solidarity” เป็นต้น โครงการนี้ยังเปิดโอกาสให้คนในเมืองเสนอโครงการที่ส่งเสริมการบรรลุ SDGs เพื่อขอการสนับสนุนจากเทศบาลแบบออนไลน์ได้อีกด้วย

นอกจากนี้ Utrecht ยังเป็นต้นแบบของเทศบาลที่ยั่งยืน ทำผลงานด้านความยั่งยืนในระดับชาติได้ดีมากและมีระบบการจัดซื้อจัดจ้างที่ยั่งยืน รวมทั้งยังมีโครงการ HeelUtrechtU เป็น digital platform ที่ให้คนในเมือง Utrecht สามารถแบ่งปันเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ SDGs และเสนอชื่อโครงการต่างๆ เกี่ยวกับ SDGs และรู้จักโครงการเหล่านี้มากขึ้นได้ด้วย ในระดับชาติ เนเธอร์แลนด์มีโครงการ Municipalities4GlobalGoals ที่ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศให้ยั่งยืนอีกด้วย

 

ประเทศไทยต้องเรียนรู้จากโลกให้มากกว่านี้

 

ประการสุดท้าย ประเทศไทยต้องเรียนรู้จากโลกให้มากกว่านี้

จากกิจกรรมคู่ขนาน (Side events) ที่ HLPF 2017 ทำให้ทราบว่า ในโลกนี้มีเครื่องมือต่างๆ สำหรับผลักดัน SDGs มากมายที่ประเทศไทยสามารถนำไปปรับประยุกต์ได้ ในด้านการศึกษาและให้ความรู้กับเยาวชนเรื่อง SDGs โครงการ World’s Largest Lesson สนับสนุนโดย Unicef และ UNESCO นำเสนอสื่อการเรียนการสอน บทเรียนและหลักสูตรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้ความรู้เรื่อง SDGs กับเยาวชนผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย  ซึ่งเยาวชนที่ผ่านการเรียนการสอนตามแนวทางของ World’s Largest Lesson ได้มาแลกเปลี่ยนความคิดในกิจกรรมคู่ขนานของ UNICEF ด้วย

นอกจากนี้ สภาเยาวชนแห่งชาติของประเทศไอร์แลนด์ยังมีการรวบรวมเครื่องมือกิจกรรมสำหรับเยาวชนเอาไว้เป็นคู่มือชื่อ Sustainable Development and Youth: Resource Pack เอาไว้ให้ไปปรับใช้ในกิจกรรมต่างๆ ได้อีกด้วย

ภาคธุรกิจเองก็มีเครื่องมืออยู่ไม่น้อยทีเดียว UN Global Compact (UNGC) และ World Business Council for Sustainable Development (WBCSD) ซึ่งในประเทศไทยบริษัทที่เป็นสมาชิกด้วย ร่วมกับ Global Reporting Initiative (GRI) ในการพัฒนาเครื่องมือ (Toolbox) และเวทีในการปฏิบัติ (Action Platform) โดยในด้านเวทีในการปฏิบัติ (UN Global Compact Action Platforms) เป็นเวทีที่ UNGC จะเป็นเจ้าภาพในการเชิญภาคส่วนต่างๆ มาร่วมกันแก้ปัญหาสังคมซับซ้อน พร้อมทั้งหานวัตกรรมและโอกาสรอบๆ ประเด็น SDGs ด้วย ปีที่ผ่านมาได้มีหลายประเด็นสำหรับ Action Platform ที่เริ่มขึ้นไปแล้ว เช่น The Blueprint for SDG Leadership, Reporting on the SDGs, Financial innovation for SDGs เป็นต้น

ในด้านเครื่องมือก็เช่น (1) SDG Compass เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้การปฏิบัติการของบริษัทนั้นมีความสอดคล้องกับ SDGs มากขึ้นพร้อมทั้งมีเครื่องมือช่วยวัดความก้าวหน้าของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ด้วย (2) SDG Industry Matrix เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการระบุความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ในแต่ละภาคเศรษฐกิจ พัฒนาโดย KPMG (3) WEPs Gender Gap Analysis Tool เป็นเครื่องมือเพื่อใช้ในการประเมินความก้าวหน้าเรื่องความเท่าเทียมกันระหว่างเพศสภาพภายในบริษัท และบริษัทสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อสนับสนุนเรื่องนี้ ผู้สนใจสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้ที่ห้องสมุดออนไลน์ของ UNGC

สำหรับภาครัฐเองก็สามารถเรียนรู้ได้มากมายจากประเทศต่างๆ ในโลกที่เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณผ่านกลไก HLPF และรายงาน VNR ซึ่งในปีที่ผ่านมามีถึง 43 ประเทศส่งรายงาน VNR เข้ามา นอกจากนี้ ยังมี Sustainable Development Solution Network (SDSN) ที่เป็นเครือข่ายนักวิชาการทั่วโลกที่ทำวิจัยหาทางออกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยทำหน้าที่ในการสนับสนุนด้านองค์ความรู้ในการดำเนินนโยบายให้แก่ประเทศต่างๆ และองค์การสหประชาชาติอีกด้วย ในด้านข้อมูลทางสถิติที่บ่งบอกสถานะด้านความยั่งยืนของประเทศต่างๆ ก็สามารถติดตามได้จาก sdgindex.org และเว็บไซต์ของ World Bank  เพิ่มเติมจากระบบข้อมูลสถิติที่มีในประเทศได้ ฉะนั้น อาจกล่าวได้ว่าการขับเคลื่อน SDGs ในระดับประเทศนั้นมีองค์ความรู้และประสบการณ์จากประเทศต่างๆ สนับสนุนอยู่ค่อนข้างมากทีเดียว การเรียนรู้จากโลก หากมาผสานกับองค์ความรู้และประสบการณ์แบบไทย โดยเฉพาะปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จะยิ่งทำให้การบรรลุ SDGs ของไทยเป็นไปได้โดยสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

 

สรุป

 

บทเรียนที่ผู้เขียนได้จากการเข้าร่วม HLPF 2017 อาจสรุปได้อีกครั้งดังนี้

(1) การพิจารณา SDGs ต้องพิจารณาที่ระดับเป้าประสงค์ เพราะรายละเอียดของ SDGs อยู่ตรงนั้น

(2) เป้าประสงค์ทั้ง 169 เป้าประสงค์ และ 17 เป้าหมาย เป็นสิ่งที่แบ่งแยกไม่ได้ และมีความเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่น การเข้าใจความเชื่อมโยงมีความสำคัญต่อการกำหนดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน

(3) เมื่อเป้าประสงค์เชื่อมโยงกันแบบนั้น เราจึงต้องการกลไกการทำงานแบบข้ามกระทรวงที่ทำงานได้จริงและมีประสิทธิภาพ

(4) กลไกการมีส่วนร่วมที่มีความหมายจากภาคส่วนต่างๆ มีความสำคัญอย่างยิ่ง

(5) ประเทศไทยยังควรให้ความสำคัญกับกลไกในการขับเคลื่อน SDGs มากกว่าการขับเคลื่อนแบบรวมศูนย์และความร่วมมือกับภาคเอกชนแบบประชารัฐให้มากกว่านี้ โดยเปิดพื้นที่ให้ภาคส่วนอื่นเล่นบทบาทนำและภาครัฐเป็นผู้อำนวยความสะดวกบ้าง ซึ่งกลไกและเครื่องมือในการขับเคลื่อนนั้นมีองค์ความรู้และประสบการณ์ของประเทศต่างๆ อยู่แล้ว

(6) ประเทศไทยควรเรียนรู้จากโลกให้มากขึ้น เพื่อจะได้ผสานองค์ความรู้จากโลกให้เข้ากับองค์ความรู้และประสบการณ์ในประเทศไทย


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกเว็บไซต์ไทยพับลิก้า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2560 ในชื่อ #SDGMove: บทเรียนสำคัญจากการประชุม High-Level Political Forum ต่อประเทศไทย

เชิงอรรถ   [ + ]

1. ที่มา: https://www.ph.undp.org/content/philippines/en/home/presscenter/speeches/2015/10/23/the-formulation-process-of-the-sustainable-development-goals-and-un-support.html