ข่าวรอบรั้ว: รัฐเชียร์ ‘สาวไทยแก้มแดง’ ปั้มลูก! แต่มีลูกไม่ใช่เรื่องง่ายความกังวลของสาวไทยใครจะช่วย

THANET RATANAKUL

สมดุลชีวิตกับการมีลูกต่างหากที่เราต้องการ การสนับสนุนให้สาวไทยมีลูกเพื่อลดปัญหาการชะลอตัวของเด็กเกิดใหม่ ไม่ควรหยุดที่การแจก ‘ธาตุเหล็กและโฟลิก’ ความวิตกกังวลของผู้หญิงยุคใหม่ต่อการมีครอบครัวซับซ้อนกว่านั้นเยอะ

 

ไม่มีใครยอมท้องง่ายๆ ในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ ‘ข้อจำกัด’ มีมากกว่าโอกาส ภาระค่าใช้จ่ายสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดสวนทางกับเวลาในการทำงานที่เบียดเสียดแน่นตาราง ออกจากบ้าน 6 โมงครึ่ง เพื่อกลับบ้านอีกที 3 ทุ่ม ยุคนี้หารายได้ทางเดียวก็ใช่ว่าจะพอ

 

มีแฟนกับเขาสักคน ดูใจกันมานานเป็นโกฏิปี ญาติๆ ก็เชียร์เอาทุกวัน เจอหน้าเมื่อไหร่เป็นถาม

“เมื่อไหร่จะมีลูกล่ะ?”

“อยากอุ้มหลานแล้ว”

ถามเรื่องอื่นบ้างได้ไหม พวกโลกร้อน ดาวอังคาร จักรวาล ฟิสิกส์ควันตัม อะไรทำนองนั้น

พอเหลือบมองไปเห็นตัวเลขในบัญชีก็หนาวสะท้านไปถึงขั้วหัวใจ เอาเป็นว่าคนรอบตัวคุณมีแต่จะเชียร์ แต่ไม่มีใครยื่นมือมาช่วยเหลือ หรือมานั่งทำความเข้าใจกับสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออกที่คุณกำลังเผชิญอยู่

ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงถึงโครงการส่งเสริม ‘สาวไทยแก้มแดง มีลูกเพื่อชาติ’ ด้วยวิตามินแสนวิเศษ มาในกล่องรูปหัวใจหวานซึ้ง เน้นพัฒนาสมองและการเรียนรู้ด้วยธาตุเหล็กและโฟลิก เปิดเผยสถิติอันน่ากังวลในเชิงประชากรศาสตร์เมื่อผู้หญิงไทยแต่งงานน้อยลงเพราะนิยมอยู่เป็นโสดมากขึ้น ทำให้อัตราการเพิ่มประชากรไทยลดลงจาก 2.7% ในปี 2513 ลดลงเหลือ 0.4%

 

ถ้าหากไม่มีการดำเนินการใดๆ ภายใน 10 ปี ในปี 2558  อัตราการเพิ่มประชากรไทยจะเท่ากับ 0

 

0 ในทีนี้คือ อัตราการเกิดเท่ากับอัตราการตาย โดยไม่มีจำนวนประชากรเพิ่มเลย

 

ใช่แล้ว! สัดส่วนดังกล่าวช่างน่ากังวลในการผลักดันพัฒนาการเกือบทุกด้านของประเทศ เมื่อไม่มีผู้เล่นหน้าจิ้มลิ้มใหม่ๆ เข้ามาทำงาน เราจะเป็นสังคมผู้สูงอายุที่รวดเร็วที่สุดในอาเซียน หากไม่มีสาวๆ คนไหนอยากเป็น ‘สาวไทยแก้มแดง’ อย่างที่รัฐหวังไว้

 

สาวไทยกังวล มีลูกไม่ง่าย มันเป็นเรื่องสมดุล

หากรัฐจะแก้ปัญหาประชากร รัฐต้องเข้าใจความต้องการของผู้หญิงก่อน เพราะความรับผิดชอบเกือบทุกอย่างจะตกไปที่ครอบครัวแบบเบ็ดเสร็จ ไม่มีใครอยากมีลูกเมื่อพวกเขาไม่พร้อม การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต้องอุทิศตัว ทรัพยากร และเวลา

จากผลงานวิจัยในประเด็น “การให้คุณค่าเกี่ยวกับการสร้างครอบครัว ในกลุ่มเจนเอ็กซ์ (Generation) และเจนวาย (Generation Y)” โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พาเราไปสำรวจทัศนคติของสาวไทยยุคใหม่ที่น่าสนใจและทำลายกระบวนทัศน์เดิมๆในเรื่องการมีครอบครัวที่ไม่เอาท์และอัพเดทสุดๆ

 

สาวไทยยุคใหม่ มองว่า การมีคู่/แต่งงาน/มีลูก ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การมีครอบครัวที่สมบูรณ์อีกแล้ว และไม่ใช่ทุกอย่างของความสุข พวกเธอจะแต่งงานก็ต่อเมื่อมีความพร้อมเท่านั้น

กลายเป็นว่าส่วนใหญ่ผู้ชายต่างหากที่อยากมีลูก การสำรวจผู้ชายทุกสถานะทางเศรษฐกิจเชื่อว่า การมีลูกเป็นความสุขที่ธรรมชาติกำหนดมา จะช่วยทำให้ชีวิตพวกเขาสมบูรณ์ขึ้นโดยการมีความรับผิดชอบ และเด็กๆ คือจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่ทำให้ความเป็นพ่อมาเติมเติมความหมายของชีวิต

 

เมื่อผู้หญิงต้องคิดถึงการมีลูก ย่อมซีเรียสจริงจังกว่า และมันไม่ ‘โรแมนติก ใสใส’ เหมือนอย่างที่ผู้ชายวาดฝันไว้เสมอไป

 

ผู้หญิงมีความกังวลในการเลี้ยงลูกมากกว่าทั้งในเรื่องค่าใช้จ่าย การมีเวลาเลี้ยงดู และเรื่องความไม่ปลอดภัยของสังคม สาวๆ ยุคใหม่ ไม่หวังมีลูกเพื่อพึ่งพายามแก่เฒ่าเหมือนคนรุ่น Baby Boomer อีกแล้ว  ไม่ได้คาดหวังว่าบุตรจะมาเป็นผู้เลี้ยงดูในยามสูงวัย เพราะเห็นลู่ทางที่จะแก่ไปอย่างมีคุณภาพและดูแลตัวเองได้

 

บทบาททางเพศแม้จะมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ แต่มาดูกันเนื้อในจริงๆ ก็ยังไม่เท่าเทียมกันอยู่ดี ผู้หญิง Gen Y และ Gen X ที่มีสถานะเศรษฐกิจปานกลางมีความคาดหวังให้ผู้ชายในบ้านมีบทบาทเช่นเดียวกัน ‘ฉันทำ เธอก็ควรทำด้วย’

ไอ้ความคาดหวังนี้ทำให้ผู้หญิงมักตกเป็นผู้เสียเปรียบอยู่เสมอ เพราะต้องรับผิดชอบความเรียบร้อยของบ้านเป็นหลักและเลี้ยงลูกด้วยเป็น option ราคาแพง ทั้งๆ ที่เธอและผู้ชายก็ต้องทำงานนอกบ้านพร้อมๆ กัน  (บ้านไหนจัดการจุดนี้ได้ ก็ถือว่าพวกคุณโชคดีเว่อร์ เพราะส่วนใหญ่มักไม่ลงเอยกันด้วยดี) 

 

‘สมดุลชีวิต’ ผู้หญิงหวงกว่าผัว! นะจะบอกให้

 

เสียทองเท่าหัว ไม่ยอมเสียผัวให้ใคร” ใช้ไม่ได้กับสาวๆ ยุคนี้ พวกเธอไม่สนทั้งทอง ทั้งผัว แต่เป็น ‘สมดุลทางเวลา’ ที่พวกเธอต้องการ moment ดีๆ เพื่อตัวเองและใช้มันพัฒนาศักยภาพโดยไม่หยุดอยู่กับที่ อย่างการมีเวลาส่วนตัวได้ทำกิจกรรมที่ชอบ ได้ดูแลตัวเอง ออกกำลังกาย กินเลี้ยงกับเพื่อนฝูงบ้าง ทำงานอดิเรก โดยที่ไม่มีผู้ชายมาคอยเกะกะหรือขัดจังหวะ

 

ผู้หญิงกลัวการถูกแช่แข็ง และความไม่ก้าวหน้า หลายคนนึกถึงการมีลูกเหมือนการย้อนไปอยู่ในยุคน้ำแข็ง แช่ตัวเองใน permafrost ที่กว่าจะละลายแล้วกลับไปทำงานอีกครั้งก็มีคนอื่นมาตัดหน้าเสียบตำแหน่งไปแล้ว ในขณะที่ผู้ชายยังกลับไปทำงานในตำแหน่งเดิมได้อยู่โดยไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

ผู้หญิงให้ความสำคัญกับเวลามากที่สุด การผูกมัดมักสิ้นเปลืองเวลา แต่เมื่อเราหันกลับมาสำรวจผู้ชายบ้าง ผู้ชาย Gen Y ให้ความสำคัญกับการสร้างรายได้ เพราะทรัพยากรทางการเงินเป็นตัวแปรสำคัญเพื่อยืนยันการมีครอบครัวที่ดี ครอบครัวที่มีความสุขส่วนหนึ่งก็ต้องใช้เงิน ผู้ชายจึงมีแรงกดดันให้ต้องทำงานเพื่อหาเงินเป็นหลัก ในขณะผู้หญิงแคร์เงินเพื่อการสร้างครอบครัวน้อยกว่า แต่ก็ต้องทำงานอยู่ดีนะ เพียงไม่ต้องมากอย่างที่ผู้ชายคาดเอาไว้

โดยสรุปแล้ว ปัจจัยที่จะทำให้สมดุลได้หากจะมีลูกคือต้องมีงานที่ยืดหยุ่น โดยเฉพาะ ‘ความยืดหยุ่นของเวลา’ ดังนั้นทุกคนจึงมองว่าการมีธุรกิจของตัวเองจะทำให้มีเวลาพอ ที่จะเลี้ยงดูลูกได้

ผู้หญิง Gen Y กำลังเรียกร้องให้ผู้ชายมีความรับผิดชอบในการเลี้ยงดูลูกด้วย บทบาทของปู่ย่าตายายเองก็ต้องมี ไม่ใช่เห่อลูกตามเทศกาลหรือบ่นอยากแต่จะอุ้มหลาน ผู้สูงอายุต้องมีส่วนร่วมเช่นกัน ซึ่งปู่ย่าตายายจะช่วยแบ่งเบาภาระได้และต้องไม่มานอยด์เอาตอนหลัง บทบาทสถานรับเลี้ยงเด็กในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับความไว้วางใจจากหนุ่มสาว Gen Y เนื่องจากยังไม่มีมาตรฐานในเรื่องความสะอาด ความปลอดภัย ทั้งยังขาดกิจกรรมในการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ที่วางใจได้จริงๆ ก็มีราคาสูงมากจนพ่อแม่ที่มีรายได้ปานกลางเอื้อมไม่ถึง

รัฐต้องขยับ หากจะโน้มน้าวให้สาวไทยมีลูก โดยต้องริเริ่มนโยบายแบบจริงจังทุกภาคส่วน ซึ่งในงานวิจัยนี้แนะนำแนวทางที่น่าสนใจ ไว้ดังนี้

 

  • ขยายวันลาคลอดของแม่แบบรับค่าจ้าง (Maternity leave with pay) ควรได้รับค่าจ้างตามอนุสัญญาขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศที่กำหนดไว้อย่างน้อย 14 สัปดาห์ และต้องสนับสนุนความพร้อมให้แม่ให้นมลูก 6 เดือน รวมถึงขยายวันคลอดได้ถึง 6 เดือน ซึ่งยังต้องปรับให้เหมาะสมในแต่ละโมเดลธุรกิจ
  • อย่าให้พ่อเดียวดาย ส่งเสริมการลาของพ่อด้วย (Paternity Leave) เพราะพ่อเองต้องมีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูลูก และสร้างเวลาให้พวกเขาแสดงออกถึงบทบาทสำคัญ มันยังช่วยเชื่อมโยงให้ผู้ชายเห็นความเท่าเทียมทางเพศในสังคมด้วย ซึ่งในภาคเอกชนมักมองข้ามไปเสมอๆ และไม่ควรจำกัดเฉพาะคู่สมรสที่จดทะเบียนเท่านั้น
  • ต้องมีการ ‘ลาเพื่อดูแลบุตร’ ให้เป็นสิทธิในการลาอีกรูปแบบหนึ่งไปเลย นอกเหนือจาก ‘ลากิจ’ โดยเป็นการลาที่ใช้ในกรณีลูกเจ็บป่วยไม่สบาย หรือต้องไปร่วมกิจกรรมของโรงเรียน
  • จัดบริการศูนย์เด็กเล็กให้มีประสิทธิภาพกว่านี้ หรือเงินชดเชยเงินเพื่อการเลี้ยงดูลูก การใช้บริการศูนย์ดูแลเด็กเล็กที่ไว้ใจได้อยู่ใกล้บ้านหรือที่ทำงาน หรือในกรณีที่ต้องไปใช้บริการเอกชน รัฐเองควรมีมาตรการทางการเงินเพื่อชดเชยด้วย
  • เอกชนก็ต้องขยับ รัฐก็ต้องพร้อมส่งเสริม บรรยากาศการทำงานต้องมีความยืดหยุ่นสำหรับ แม่/พ่อที่มีลูก โดยอาจให้แรงจูงใจทางภาษีให้กับองค์กรที่มีนโยบาย Family Friendly เช่น ลดภาษีหากบริษัทเอกชนออกแบบกฎบริษัทที่ตอบสนองการเป็นพ่อเป็นแม่
  • ความยืดหยุ่นต้องเป็นสาระสำคัญในการทำงานยุคต่อไป แต่ละคนมีความหลากหลายต่างกัน เช่น พ่อแม่ที่มีลูกต่ำกว่า 5 ปี (ก่อนเข้าโรงเรียนอนุบาล) สามารถขอทำงานแบบยืดหยุ่นเวลาได้ หรือสนับสนุนให้ทำงานในภูมิลำเนาของตัวเองเพื่อให้ไม่ต้องห่างปู่ย่าตายาย ผู้เป็นตัวช่วยสำคัญตัดทิ้งไม่ได้ คนแก่ไม่ใช่ภาระ แต่เป็นมือที่คอยยื่นมาเสมอเมื่อพ่อหรือแม่ตกอยู่ในภาวะลำบาก เอาลูกให้ยายเลี้ยงบ้างไม่อกตัญญูหรอก
  • พ่อแม่ ‘ฟรีแลนซ์’ ก็อย่าได้ทิ้งเชียว กองทุนครอบครัว เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะ ‘คนทำงานนอกระบบ’ กำลังเพิ่มจำนวนมากแบบเท่าตัว และมักเป็นผู้ไม่ได้รับสิทธิการคุ้มครองจากกฎหมาย อาจเป็นระบบสมาชิกตามความสมัครใจโดยสมาชิกจ่ายเงินสะสม และรัฐสมทบบางส่วน

 

ยิ่งคลี่ปัญหาออกมาเรื่อยๆ ยิ่งเห็นความละเอียดอ่อนของคำว่า ‘ครอบครัว’

เอาเป็นว่าเมื่อเรื่องครอบครัวอยู่ตรงหน้า ใครๆ ก็ต้องคิดมากกันทั้งนั้น

เชียร์อย่างเดียวไม่พอ ต้องรับผิดชอบลูกฉันด้วยนะ!

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

การส่งเสริมการมีบุตรผ่านการสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ โดย มนสิการ กาญจนะจิตรา และคณะ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกเว็บไซต์ THE MATTER เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 ในชื่อ รัฐเชียร์ ‘สาวไทยแก้มแดง’ ปั้มลูก! แต่มีลูกไม่ใช่เรื่องง่ายความกังวลของสาวไทยใครจะช่วย