ข่าวรอบรั้ว: สกว. หนุนงานวิจัยท้องถิ่นสร้างความมั่นคงทางอาหาร หวั่นเกษตรกรรายย่อยล่มสลายถ้าปรับตัวไม่ทันการณ์

ศ. นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ประธานกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัย และประธานคณะกรรมการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการ “ทิศทางการวิจัยเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารฐานชุมชนจากภูสู่ทะเล” ซึ่งจัดโดยฝ่ายวิจัยเพี่อท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ ปาร์ค เพื่อนำเสนอชุดความรู้งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นประเด็นความมั่นคงอาหารทั้ง 4 ภาค รวมถึงแลกเปลี่ยนเติมเต็มสถานการณ์และความรู้ด้านความมั่นคงอาหาร ตลอดจนร่วมกันหาทิศทางสร้างโจทย์วิจัยใหม่ๆ ของกลุ่มงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นด้านความมั่นคงอาหาร อันเนื่องจากการกำหนดวาระชาติเรื่องความมั่นคงทางอาหารของรัฐบาลผ่านรูปแบบการทำงานด้วยคณะกรรมการระดับชาติ แต่นโยบายระดับท้องถิ่นยังไม่สอดคล้องเชื่อมโยงกันเท่าที่ควร ดังนั้น “งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” ระดับชุมชนอาจจะต้องตั้งโจทย์ใหม่เพื่อให้เท่าทันสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในสังคมเวลานี้

ศ. นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์
ศ. นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์

ทั้งนี้ ศ. นพ.ไกรสิทธิ์กล่าวว่า จำเป็นต้องมีงานวิจัยใหม่ ๆ สนับสนุนเพิ่มเติม และเชื่อว่าหลังการประชุมครั้งนี้จะมีการขับเคลื่อนในเชิงคุณภาพและมีการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ด้านความมั่นคงด้านอาหารต่อไป โดยขณะนี้โลกกำลังต้องการอาหารที่มีคุณค่าทางทางโภชนาการและสุขภาพมากขึ้น รวมถึงอาหารสัตว์ พืชพลังงาน และผลิตภัฑณ์ชีวภาพ ประเด็นหนึ่งที่อยากให้นักวิจัยเน้นคือ โภชนาการเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างอาหารและสุขภาพ การได้รับให้พอเพียงกับที่ร่างกายต้องการเพื่อสุขภาวะที่ดีในวัยต่าง ๆ ของมนุษย์ โดยเน้นหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารอย่างแท้จริง และอยากเห็นการรวมกลุ่มสหกรณ์ของไทยให้มีความเข้มแข็งมากกขึ้น ลดการสูญเสียอาหารหลังการผลิตและลดขยะจากอาหารเหลือทิ้ง สำหรับการพัฒนาฐานข้อมูลและการจัดการ นอกจากจะสนับสนุนการเชื่อมโยงและการใช้ประโยชน์ข้อมูลแล้ว ยังต้องมีระบบการจัดการข้อมูลสารสนเทศด้านหารและพัฒนาระบบเตือนภัยด้านอาหาร การวิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอาหารของชุมชนต้องมีการขยายผล ทั้งนี้เมื่อมองด้านห่วงโซ่อุปทานเพื่อให้มีภาคการเกษตรที่เข้มแข็ง จะต้องทำการเกษตรให้เป็นอาชีพที่มั่นคง มีแผนอาชีพในระดับชุมชน ส่งเสริมให้เกษตรกรเป็น Food Educator (Smart Farmers) โดยเชื่อมโยงการผลิตและการตลาดเพื่อให้อยู่ได้ และต่อยอดผลผลิตหรือเพิ่มมูลค่า รวมถึงส่งเสริมสุขภาพในชุมชนอย่างบูรณาการ โดยการให้บริการพื้นฐานร่วมกันระหว่างการเกษตร สาธารณสุข การศึกษา มหาดไทย และอื่น ๆ ตลอดจนหาแนวทางการขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์อาหารไทยระดับพรีเมียมเพื่อตอบโจทย์ครัวไทยสู่ครัวโลกตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งงานวิจัยเรื่องพริกปลอดภัยและการอบลำไยของ สกว. นับเป็นตัวอย่างที่ดี

ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ
ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ

ขณะที่ ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า ความมั่นคงทางอาหารเป็นประเด็นที่น่าสนใจและ สกว.ให้การสนับสนุนมายาวนาน ขณะนี้ชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากโดยเฉพาะวิกฤติด้านอาหาร เนื่องจากซูเปอร์มาร์เก็ตชุมชนและป่าชุมชนลดลง มีการแย่งพื้นที่ทางการเกษตร การเข้าถึงแหล่งอาหารยากลำบากมากขึ้น ทำให้ฐานชุมชนอยู่ในภาวะวิกฤติ นอกจากนี้ยังมีการเข้าถึงและการขายอาหารในพื้นที่ที่รุกเข้าไป จึงจำเป็นต้องมีการวิจัยเพื่อนำไปสู่องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องและรูปแบบการแก้ไขปัญหา ซึ่ง สกว. จะยังคงให้การสนับสนุนงานวิจัยด้านความมั่นคงอาหารเพื่อนำไปสู่การเชื่อมโยงนโยบายระดับชาติและความมั่นคงอาหารทุกระดับ

รศ.สมพร อิศวิลานนท์
รศ.สมพร อิศวิลานนท์

รศ.สมพร อิศวิลานนท์ จากสถาบันคลังสมองของชาติ ระบุว่า ภาวะคุกคามต่อความมั่นคงอาหาร ความท้าทายเชิงมหภาคที่สำคัญ คือ ความรุนแรงของสภาพการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศโลก ซึ่งจะนำไปสู่ความแปรปรวนของปริมาณน้ำฝนและอุณหภูมิ นำมาซึ่งความเสี่ยงต่อการผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณทั้งด้านน้ำท่วมและฝนแล้ว ส่วนความท้าทายเชิงท้องถิ่น คือ แรงงานกดดันจากท้องถิ่นในด้าน 1. ทุนทางสังคมและพลังความร่วมมือของผู้คนในท้องถิ่นหดหายไป เรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญ เพราะคนหันไปให้ความสำคัญกับสิทธิส่วนบุคคลมากขึ้น แต่ละคนคิดถึงประโยชน์ส่วนตน ขาดแนวคิดการเสริมสร้างและสนับสนุนส่วนรวม ไม่มีใจและขาดแนวคิดร่วมกันจัดการเพื่อการรักษาและปกป้องทรัพยากรสาธารณะของส่วนรวมไว้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน 2. เกษตรกรเข้าสู่ยุคผู้สูงวัยและขาดแคลนแรงงานในท้องถิ่น ทำให้กระทบต่อการทำการเกษตรของครัวเรือน ซึ่งจะส่งผลต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นและความไม่เข้มแข็งของชุมชม 3. พฤติกรรมของคนในท้องถิ่นเปลี่ยนแปลงไปพึ่งกลไกตลาดมากขึ้น ทำให้ความหลากหลายของพืชท้องถิ่นลดลง 4. เกษตรกรที่มีขนาดเล็กจำนวนมากขาดความรู้ในการจัดการ 5. ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติขยายตัวในวงกว้างและกระทบต่อห่วงโซ่อาหารในท้องถิ่น

ทั้งนี้การขับเคลื่อนเชิงนโยบายเพื่อความมั่นคงอาหาร ควรหลอมรวมนโยบายเกษตรเพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารด้านการเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพการผลิต โดยลงทุนพัฒนาแหล่งน้ำและการชลประทานโดยพยายามพี่งพาตนเองให้ได้และขยายหลักเศรษฐกิจพอเพียงในการใช้ปัจจัยภายในครัวเรือนให้มากที่สุด การวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตร การจัดกหาที่ดินและการคุ้มครองในการถือครองที่ดิน การจัดสินเชื่อเกษตร ขยายทักษะการจัดการไร่นาให้กับเกษตรกรเพื่อลดความเสี่ยงและการจัดการเชิงธุรกิจฟาร์ม ส่วนด้านศักยภาพทางการตลาด จะต้องสร้างประสิทธิภาพและแก้ความไม่เป็นธรรม โดยปรับปรุงระบบการขนส่งและการเก็บรักษา ปรับปรุงโครงสร้างตลาดภายในและตลาดส่งออก และปรับปรุงตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า ขณะที่ด้านราคาและรายได้ ประกอบด้วย การพยุงราคาหรือประกันราคา การสร้างเสถียรภาพราคา การประกันรายได้ การรับจำนำ และการอุดหนุนปัจจัยการผลิต

“ข้อกังวลในขณะนี้คือ การเผชิญปัญหาของเกษตรรายย่อยและความเสี่ยงของครัวเรือนและท้องถิ่นต่อความมั่นคงทางอาหาร ทั้งการก้าวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการจัดการ การผลิตที่ขาดความเข้าใจถึงผู้บริโภค ไม่ทันต่อการตอบสนองของกลไกการตลาดสมัยใหม่ ผลิตสินค้าคละโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพและมาตรฐานตามกฎกติกาการค้าใหม่ทำให้ไม่ได้ราคา อีกทั้งการผลิตเป็นรายเล็กรายน้อยทำให้การเข้าถึงตลาดสมัยใหม่ทำได้ยากและจำกัด ซึ่งจะทำให้เกิดการสุ่มเสี่ยงต่อภาวะล่มสลายของเกษตรกรรายย่อยที่ปรับตัวไม่ได้ เกษตรกรรายย่อยถอดใจแต่รายใหญ่เห็นโอกาสและเกิดการกว้านซื้อที่ดินเพื่อการเกษตรและเก็งกำไร ธุรกิจอาหารขนาดใหญ่จะขยายตัวและปรับตัวเป็นธุรกิจข้ามชาติ ความมั่นคงอาหารของครัวเรือนขนาดเล็กในชนบทจะสั่นคลอนและเกิดการขยายตัวของความยากจนทางอาหาร”


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกเว็บไซต์สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย วันที่ 28 พฤษภาคม 2556 ในชื่อ สกว.หนุนงานวิจัยท้องถิ่นสร้างความมั่นคงทางอาหาร หวั่นเกษตรกรรายย่อยล่มสลายถ้าปรับตัวไม่ทันการณ์