ข่าวรอบรั้ว: สกว.แถลงข่าวกรณี PISA และทางออกการศึกษาไทย เด็กไทยไม่มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์จริงหรือ?

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดงานแถลงข่าว TRF Press Forum “กรณี PISA และทางออกการศึกษาไทย” เพื่อเสนอทางออกในการยกระดับความสามารถในการเรียนรู้ของนักเรียนไทยต่อกรณีที่ได้คะแนน PISA น้อย

ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผอ.สกว. กล่าวว่า “จากประเด็นที่มีการกล่าวถึงกันมากในสังคมไทย หลังจากที่ผลการประเมิน PISA หรือประเมินผลนักเรียนนานาชาติ ของโครงการขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD ปีล่าสุดได้ถูกประกาศออกมาว่า นักเรียนไทยมีคะแนนต่ำกว่ามาตรฐานและถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 57, 54 และ 54 จาก 70 ประเทศ ในการประเมินความสามารถด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ตามลำดับ และอยู่ในลำดับที่เทียบไม่ได้กับประเทศอาเซียนอย่างสิงคโปร์ซึ่งอยู่ในอันดับ 1 ในทุกด้าน หรือแม้แต่แย่กว่าเวียดนาม ประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งที่สำคัญซึ่งอยู่ในอันดับที่ 32, 22 และ 8 ตามลำดับ นับเป็นดัชนีสะท้อนคุณภาพการศึกษาโดยรวมได้เป็นอย่างดี และนอกเหนือจากประเทศเวียดนามแล้ว เด็กไทยยังได้คะแนน้อยกว่าอินโดนีเซียเช่นกัน

การจะแก้ไขปัญหานี้คงไม่ใช่เพียงหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ แต่เป็นหน้าที่ของทุกคน หากประเทศจะ ก้าวเข้าสู่ความเป็น Thailand 4.0 ต้องมีความสามารถในการแข่งขันในทุกๆด้าน โดยมีการศึกษาเป็นฐานรากที่สำคัญ โครงการวิจัยด้านการศึกษาที่ สกว. ให้การสนับสนุนและคิดว่าทางออกให้กับปัญหานี้ได้คือ โครงการวิจัย “การศึกษาความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์และการมีจิตสาธารณะเพื่อพัฒนาศักยภาพการเป็นคนดีคนเก่งของนักเรียนไทย” ของ รศ.ดร.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ จากวิทยาลัยประชากรศาสตร์ และ ผศ. ดร. ยศวีร์ สายฟ้า จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ “โครงการวิจัยเพาะพันธุ์ปัญญา” ของ รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ม.สงขลานครินทร์ ทั้งนี้จากนโยบายของรัฐบาลที่กำลังจะก้าวไปสู่ Digital Thailand คาดการณ์ว่า “อินเทอร์เน็ต” จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลทางบวกมากกว่าทางลบต่อการเรียนรู้ของเด็ก

ด้าน รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล รองผู้อำนวยการด้านการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ สกว. ในฐานะผู้ติดตามโครงการวิจัย “การศึกษาความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์และการมีจิตสาธารณะเพื่อพัฒนาศักยภาพการเป็นคนดีคนเก่งของนักเรียนไทย” กล่าวถึงงานวิจัยชิ้นนี้ว่า “เป็นผลงานวิจัยที่สะท้อนภาพของคะแนน PISA ได้เป็นอย่างดี เพราะทีมวิจัยได้ทำการออกแบบแบบทดสอบการคิดวิเคราะห์ (คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน) ตามโครงสร้างของข้อสอบ PISA และแบบทดสอบโครงการศึกษาแนวโน้มการจัดการศึกษาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของนักเรียนไทยเทียบกับนานาชาติ หรือ TIMSS นอกจากด้านการคิดวิเคราะห์แล้ว ยังมีจัดทำแบบทดสอบวัดความมีจิตสาธารณะ โดยนำแบบประเมินทั้ง 2 แบบ ไปทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักเรียนระดับชั้น ป.6 ม.4 และ ปวช. 1 จำนวนทั้งสิ้น 6,235 คนใน5 ภูมิภาค 10 จังหวัด โดยมีการศึกษาปัจจัยด้านผู้เรียน โรงเรียน การใช้เวลา และครอบครัวประกอบด้วย

ผลการวิจัยพบว่า เด็กไทยได้คะแนนการคิดวิเคราะห์ เกินร้อยละ 60 ในทุกวิชา เพียงร้อยละ 2 โดยเด็กที่มีผลการเรียนดี (วัดด้วยคะแนนสะสมในโรงเรียน) จะมีทักษะการคิดวิเคราะห์น้อยกว่า และมีจิตสาธารณะน้อยกว่าเด็กที่มีผลการเรียนต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ผลทางสถิติพบว่า เด็กที่มีทักษะการคิดวิเคราะห์จะมีแนวโน้มที่มีจิตสาธารณะที่ดีด้วย เด็กไทยมีจิตสำนึกรู้ถึงความรับผิดชอบของตนเองและการช่วยเหลือผู้อื่นในระดับหนึ่ง แต่ยังมีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อโรงเรียนชุมชนสังคมน้อย

จากผลการวิจัยเชิงสถิติ นักเรียนไทยมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์อยู่ในระดับที่ต่ำมาก แม้ว่าจะมีการประเมินผลการเรียนในโรงเรียนอย่างเข้มข้น ผลการศึกษาพบว่า ระดับการคิดวิเคราะห์แปรผกผันกับเกรดเฉลี่ย แสดงถึงการไม่บรรลุวัตถุประสงค์ทางด้านการเรียนการสอนด้านการคิดวิเคราะห์ หรือการวัดผลการคิดวิเคราะห์ในโรงเรียนอาจไม่มีประสิทธิผล ทางด้านการมีจิตสาธารณะพบว่า นักเรียนส่วนใหญ่ยังมีการแสดงออกถึงการริเริ่มหรือการสร้างสรรค์ต่อส่วนรวม ความรับผิดชอบต่อสังคม ความเคารพสิทธิของผู้อื่น ตลอดจนมีความซื่อสัตย์สุจริตในระดับที่ไม่มากนัก ดังนั้นการส่งเสริมให้นักเรียนทำกิจกรรมจิตสาธารณะในทุกด้านควรได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย เริ่มจากครอบครัว ชุมชน สถานศึกษา และสังคมอย่างต่อเนื่อง

ทักษะสำคัญสำหรับทรัพยากรมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ชี้ให้เห็นว่า การเป็นเด็กเก่งเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องมีการพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ และควรส่งเสริมและพัฒนาให้มีจิตสาธารณะควบคู่กันไปเพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาทางสังคม จากผลการศึกษาพบว่า เกรดเฉลี่ยของนักเรียนในโรงเรียนแปรผกผันกับการมีจิตสาธารณะเช่นเดียวกับทักษะการคิดวิเคราะห์ โรงเรียนต้องส่งเสริมให้โรงเรียนจัดกิจกรรมบูรณาการประยุกต์ใช้ความรู้ด้านคิดวิเคราะห์กับการมีจิตสาธารณะให้นักเรียนมากขึ้น และมีการวัดผลและประเมินจากกิจกรรมโดยใช้ตัวชี้วัดทั้งด้านการคิดวิเคราะห์และจิตสาธารณะร่วมกันและไม่เน้นการท่องจำ

นอกจากนี้ผลการศึกษาพบว่านักเรียนที่มีการเรียนพิเศษเสริมทักษะด้านการเรียนมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์มากกว่านักเรียนที่ไม่ได้เรียนพิเศษ ชี้ให้เห็นว่า ระบบการเรียนในโรงเรียนที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่เอื้อต่อการพัฒนาการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรพิจารณาการปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เอื้อต่อการพัฒนาการคิดวิเคราะห์ให้มากขึ้น ทั้งนี้อาจส่งผลให้อัตราการเรียนพิเศษทางด้านวิชาการลดลงด้วย

การสำรวจครั้งนี้พบว่าที่ว่า เด็กที่สังคมให้คุณค่าว่าเก่ง มีผลการเรียนดี เป็นเด็กที่มีจิตสาธารณะน้อย ควรมีการปรับปรุงหลักสูตรในโรงเรียนให้ลดการแข่งขันและมุ่งเน้นการทำงานร่วมกันโดยดำเนินการตามหลักการ “เด็กเก่งดีได้” โดยการส่งเสริมการมีจิตสาธารณะอาจส่งเสริมควบคู่ไปกับการเสริมทักษะด้านศิลปะ ดนตรี และกีฬาในโรงเรียน การพัฒนาศักยภาพการคิดวิเคราะห์และการมีจิตสาธารณะของนักเรียนควรคำนึงถึงประเด็นด้านความเหลื่อมล้ำและข้อจำกัดของการเรียนรู้ของท้องถิ่นเพื่อยกระดับคุณลักษณะทั้ง 2 อย่าง อย่างเหมาะสมในแต่ละภูมิภาค

อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า ความล้มเหลวของการสอนสังคมศาสตร์แบบท่องจำเป็นสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในยุคศตวรรษที่ 21 เพราะนักเรียนไม่สามารถตั้งคำถามกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่ท่วมท้นและรู้เท่าทันสื่ออย่างแท้จริง ครูมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็ก ถ้าพ่อแม่ทำงานร่วมกับครู มีกระบวนการและใช้พื้นที่เรียนรู้ในชนบทเป็นเครื่องมือ ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่เชิงระบบ เด็กจะคิดวิเคราะห์ได้มากขึ้น”

ด้าน รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ นักวิจัยด้านการศึกษา กล่าวว่า “กรณีที่ไทยได้คะแนนเฉลี่ย PISA น้อย แม้ว่าเด็กที่ได้คะแนนเป็นอันดับ 1 ของประเทศจะได้คะแนนเทียบเคียงประเทศสิงคโปร์ แสดงให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะเด็กไทยเรียนเพื่อสอบ ไม่ใช่การเรียนแบบการเข้าใจ ขาดระบบคิดแบบเหตุผลและผล หลายคนไม่แปลกใจกับผลการสอบ PISA ที่ออกมารอบนี้ เพราะรู้อยู่แล้วว่า น่าจะเป็นอย่างนี้ หากจะถามผมว่าเราควรแก้อะไร ที่นึกออกตอนนี้คือ ทักษะการอ่านจับใจความ เข้าใจเรื่องราว ทำไมผมเน้นจุดนี้ ? เพราะเป็นจุดเริ่มต้นการทำข้อสอบ PISA ถ้านักเรียนไม่เข้าใจโจทย์ก็ทำไม่ได้ การอ่านเพื่อเข้าใจโจทย์เป็นปัญหาใหญ่มาก เพราะการเรียนของเด็กไม่สนใจการอ่าน ไม่สนใจการทำความเข้าใจภาษาที่ซับซ้อน ภาษาวิชาการ ผมกล้าพูดเช่นนี้เพราะนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ผมสอนอยู่ทำข้อสอบไม่ได้เพราะตีความโจทย์ไม่ออก ในการเรียนวิศวฯ เราวัดด้วยข้อสอบที่บอกเรื่องราว ผู้สอบตีความแล้วเอาหลักการ ความรู้ มาแก้ปัญหา ถ้าเริ่มต้นด้วยการตีความโจทย์ไม่ได้ ก็ทำอะไรต่อไม่ได้ นักศึกษาจำนวนมากจึงตอบแบบ “ไปไหนมา สามวาสองศอก” ถ้าอ่านจับความไม่ได้ ก็ไม่มีทางได้คำตอบ ไม่รู้ว่ากำลังต้องทำอะไร ไม่มีทางทำข้อสอบได้ ผมจึงเห็นว่าจุดอ่อนของเราอยู่ที่ทักษะการอ่าน ถ้าถามต่อว่าแก้กันยังไง ผมมีคำตอบคือ เด็กต้องเขียนเองให้เป็น การศึกษาเราไม่เน้นเขียน วัดที่ปรนัย พอจะให้สอบอัตนัยทั้งครูและนักเรียนร้องลั่น นักเรียนต้องเขียนมากขึ้น วิธีฝึกการเขียนให้เป็นจนทำข้อสอบได้ คือ “ให้นักเรียนออกข้อสอบเอง” เป็นจังหวะที่เขาจะบูรณาการความรู้มาเขียนเรื่องราว ต้องเขียนมากขึ้น ทั้งขยายความและย่อความจับประเด็น เพื่อแก้ปัญหาการอ่าน ทำโครงงานฐานวิจัย ที่ บูรณาการความรู้ที่เรียน นอกจากนี้คุณครูควร ลดบรรยากาศความเป็นอำนาจในห้องเรียน สร้างบรรยากาศที่ไม่กดศักยภาพของนักเรียน ถ้าจะให้เด็กคิดเป็นต้อง “ถาม” ให้เด็กคิดมากกว่าการบอกเล่าให้เขาฟัง หรือที่เรียกว่า “ถามคือสอน


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ สำนักงารกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2559 ในชื่อ สกว. แถลงข่าว “กรณี PISA และทางออกการศึกษาไทย เด็กไทยไม่มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์จริงหรือ?”