รายงานสกว. : บทบาทของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น กับการสร้างความเป็นธรรมทางสังคม

ศ.สุริชัย  หวันแก้ว และคณะ เรื่อง

‘งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น’ (Community-Based Research: CBR) โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) นั้นดำเนินงานมาตั้งแต่ปลายปี 2541 โดยมีเป้าหมายสำคัญในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักวิจัยชาวบ้าน คนในชุมชนท้องถิ่น นักวิชาการ ข้าราชการ นักพัฒนาและผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อสร้างความรู้ กลไกการจัดการปัญหาและการพึ่งตนเองของชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่วิจัย โดยที่งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นมีความแตกต่างจากงานวิจัยในความหมายทั่วไปในหลายประการ โดยเฉพาะงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเน้นที่ภาคปฏิบัติการ (social action)

 

‘งานวิจัยท้องถิ่น เพื่องานวิจัยที่ทำโดยชาวบ้าน จากความจำเป็นในชีวิตที่จะต้องแก้ปัญหาของตนเอง จึงเป็นงานที่ยึดโยงอย่างเหนียวแน่นกับข้อมูลเชิงประจักษ์ (empirical data) และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย’ (ปิยะวัติ บุญหลง,2553) กล่าวได้ว่า งานวิจัยท้องถิ่นมิได้เกิดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์มุ่งลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางสังคมโดยตรง หากแต่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาของท้องถิ่น จุดเริ่มต้นของงานวิจัยท้องถิ่นมาจากปัญหาในท้องถิ่นนั้นๆ

บทความฉบับนี้มุ่งตอบโจทย์ที่สำคัญว่าโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่มีความหลากหลายในวัตถุประสงค์หลายพันโครงการภายใต้ สกว. ที่ผ่านมา มีผลต่อการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางสังคมในมิติใดบ้าง โดยผ่านการทบทวนและสังเคราะห์งานวิจัยท้องถิ่นโดยเฉพาะในภาคกลาง ตะวันออกและตะวันตก องค์ความรู้หรือปฏิบัติการจากงานวิจัยท้องถิ่น มีส่วนให้เกิดการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางสังคมได้หรือไม่ อย่างไร

 

การพัฒนากรอบวิเคราะห์แนวการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำของงานวิจัยท้องถิ่น

การพิจารณางานวิจัยท้องถิ่นในมิติของความเหลื่อมล้ำและความเป็นธรรมทางสังคมในครั้งนี้ มีความจำเป็นจะต้องอาศัยแว่นตาหรือเลนส์เฉพาะที่ช่วยกรองภาพข้อมูลรูปธรรม ตามแนวคิดของนักสังคมวิทยาการเมืองชาวสวีเดนชื่อ Göran Therborn จัดแบ่งประเภทของความเหลื่อมล้ำเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประการแรกความเหลื่อมล้ำในชีวิต หมายถึงโอกาสในชีวิตที่เหลื่อมล้ำกันที่เกิดจากบริบททางสังคม ประการที่สอง ความเหลื่อมล้ำในการดำรงชีวิต หมายถึง การจัดสรรคุณค่าเกี่ยวกับบุคคลที่เหลื่อมล้ำ เช่น ความเป็นอิสระ ศักดิ์ศรี เสรีภาพและสิทธิที่จะได้รับการเคารพและพัฒนาตนเอง ประการสุดท้าย ความเหลื่อมล้ำด้านทรัพยากร ทำให้มนุษย์มีทรัพยากรที่เหลื่อมล้ำกันในการกระทำ โดยทรัพยากรในที่นี้หมายรวมทั้งทรัพยากรที่ซื้อขายได้ และซื้อขายไม่ได้ เช่น โอกาส การเคลื่อนย้ายทางสังคม เป็นต้น

ข้อที่น่าสนใจทางทฤษฎี ได้แก่ การที่เขาเสนอแนวในการวิเคราะห์กลไกการสร้างความเหลื่อมล้ำควบคู่ไปกับการแก้ไขความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมด้วย ซึ่งโครงการใช้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนากรอบวิเคราะห์

 

เนื่องจากการวิจัยเพื่อท้องถิ่นเน้นการทำงานวิจัยที่เป็นกระบวนการ social process ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพัฒนากรอบการวิเคราะห์เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ผลต่อเนื่องทางสังคมจากงานวิจัยท้องถิ่น ณ ที่นี่เราจึงจัดแบ่งผลกระทบของงานวิจัยท้องถิ่นเป็น 5 ระดับ หรือขั้นตอนที่พัฒนาขึ้นในโครงการ

 

ทั้งนี้ ระดับหรือขั้นตอนไม่จำเป็นต้องเรียงเป็นลำดับตายตัว ในขณะเดียวกันงานวิจัยหนึ่ง ๆ อาจก่อให้เกิดผลกระทบหลายระดับ หรือหลายมิติก็ได้

 

1) การเปลี่ยนแปลงระดับปัจเจกบุคคล

กระบวนการของงานวิจัยท้องถิ่นมีลักษณะเป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการและมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมและกระบวนการเรียนรู้ของคนในชุมชน ในระดับปัจเจกบุคคล นักวิจัยชุมชนต้องพัฒนาสมรรถนะเพื่อให้เรียนรู้ในกระบวนการคิดเชิงเหตุผล พัฒนาความสามารถในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ปัญหา การพัฒนาศักยภาพของนักวิจัยท้องถิ่นในพื้นที่แพรกหนามแดงกลายเป็นต้นแบบการปฏิบัติการในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในกระบวนการวิจัย จนสามารถเป็นวิทยากรและถ่ายทอดกระบวนการทำวิจัยให้พื้นที่อื่นๆ ในขณะเดียวกันยังขยายพื้นที่และสร้างการยอมรับทั้งจากคนในพื้นที่และคนนอกพื้นที่ได้อย่างกว้างขวาง ดังนั้นในระดับบุคคล กระบวนการวิจัยท้องถิ่นจึงเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและพัฒนาศักยภาพของนักวิจัยท้องถิ่นให้มีความมั่นใจ สามารถสื่อสารกับคนทั้งในชุมชนและนอกชุมชนได้

ในประเด็นนี้ กาญจนา แก้วเทพ ได้วิเคราะห์ให้เห็นว่า เฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง ตะวันออก ตะวันตก สามารถก่อให้เกิดการพัฒนานักวิจัยชาวบ้านประมาณ 500 คน ซึ่งเท่ากับเป็นกระบวนการสร้างผู้คนที่มีขีดความสามารถในการพัฒนาชุมชนระดับรากฐานให้มากขึ้น (กาญจนา แก้วเทพ, 2553) ดังนั้นในแง่นี้จึงกล่าวได้ว่า งานวิจัยท้องถิ่นมีส่วนในการสร้างความเป็นธรรมผ่านกลไกการฟื้นฟูสมรรถนะทางสังคม ซึ่งส่งผลให้เกิดการผนวกรวม (inclusion) นักวิจัยและองค์ความรู้ท้องถิ่นในการแก้ปัญหาในสังคมท้องถิ่นนั่นเอง

 

2) การเปลี่ยนแปลงระดับชุมชน

กระบวนการวิจัยท้องถิ่นได้สร้างเงื่อนไขให้เกิดการฟื้นฟูความสัมพันธ์ในชุมชนที่เป็นเป้าหมายของการวิจัยท้องถิ่น ทั้งความสัมพันธ์ของชุมชนโดยทั่วไป ความสัมพันธ์ระหว่างรุ่น เช่น การฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนกับผู้นำชุมชน ในโครงการกระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพเด็กและเยาวชนในการสืบทอดดูแลรักษาป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคี การศึกษาสถานการณ์และภาวะหนี้สินของชุมชนบ้านหนองอ้อ ตำบลบ้านสิงห์ จังหวัดราชบุรี และโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษามอญด้วยการสร้างวรรณกรรมสำหรับเยาวชนของชาวมอญ อำเภอบ้านโป่ง ความสัมพันธ์ระหว่างผู้พิการกับคนในชุมชนพุทธมณฑล ยิ่งไปกว่านั้น งานบางชิ้นยังก่อให้เกิดการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างคู่ขัดแย้ง เช่น ระหว่างคนใช้น้ำจืดกับน้ำเค็มในคลองแพรกหนามแดง หรือระหว่างชาวบ้านสะเนพ่องกับเจ้าหน้าที่รัฐด้วย โดยนัยนี้ งานวิจัยท้องถิ่นมีฐานะเป็นกลไกหนึ่งในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำจากการกีดกันเนื่องมาจากความขัดแย้งในอดีต และยังส่งผลให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรแบบใหม่ (redistribution) ในเวลาเดียวกันด้วย

นอกเหนือจากการฟื้นฟูความสัมพันธ์ งานวิจัยท้องถิ่นในกลุ่มศิลปวัฒนธรรม/ประวัติศาสตร์ชุมชนท้องถิ่น และอัตลักษณ์ของชุมชน ยังสะท้อนให้เห็นความพยายามในการสร้างพื้นที่ให้กับคนกลุ่มอัตลักษณ์และวัฒนธรรมกำลังจะสูญหายอย่างชาวชอง (ตำบลตะเคียนทอง และ ตำบลคลองพลู กิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี) กะซอง (บ้านคลองแสง ตำบลด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด) ก๋อง (บ้านกกเชียง อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี) หรือแม้แต่การเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้ในการประกอบอาชีพด้านเกษตร (วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี จังหวัดสิงห์บุรี) เป็นต้น เมื่อพิจารณาในแง่นี้ กระบวนการวิจัยท้องถิ่นจึงมีส่วนสำคัญในการยอมรับและเปิดพื้นที่แก่อัตลักษณ์และวัฒนธรรมชายขอบ ข้อนี้จึงเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในด้านอัตลักษณ์และวัฒนธรรมด้วย

 

3) การเปลี่ยนแปลงระดับสถาบัน

เนื่องจากงานวิจัยท้องถิ่นมีวัตถุประสงค์หลักในการแก้ปัญหาในระดับท้องถิ่น จึงไม่อาจเห็นการลดความเหลื่อมล้ำและการสร้างความเป็นธรรมเชิงสถาบันได้อย่างชัดเจน ปรากฏการณ์ที่พอจะสะท้อนการลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในระดับสถาบันได้ คือ การที่นักวิจัยท้องถิ่นใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยท้องถิ่น จนนำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรใหม่ ๆ (redistribution) มาแก้ปัญหาในท้องถิ่น ดังในกรณีโครงการรูปแบบการจัดการน้ำในคลองตำบลแพรกหนามแดง ที่ชาวบ้านสามารถผลักดันจนทำให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดจัดสรรงบประมาณมาเพื่อสร้างประตูระบายน้ำในพื้นที่ หรือโครงการศึกษากระบวนการจัดสวัสดิการที่สอดคล้องกับการดำรงชีวิตของชุมชนแพรกหนามแดง ที่ทำให้ชุมชนสามารถดึงทรัพยากรจากหน่วยงานพัฒนาอย่างสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเข้ามาใช้ประโยชน์ในชุมชนได้ จึงอาจกล่าวได้ว่ากระบวนการของงานวิจัยท้องถิ่นที่ประสบความสำเร็จ สามารถเสริมพลังให้กับชาวบ้านในชุมชน จนสามารถเข้าไปต่อรองและมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ได้

 

4) องค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยท้องถิ่นกับการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

ในเชิงวิธีวิทยา งานวิจัยท้องถิ่นให้ความสำคัญแก่ความสามารถในการแก้ไขปัญหาที่เป็นจริง (กาญจนา แก้วเทพ, 2553) จากฐานการเรียนรู้และประสบการณ์ของผู้วิจัยในท้องถิ่น แต่ก็มิได้ปฏิเสธการใช้เทคนิคสมัยใหม่ในการทำวิจัยในพื้นที่ เช่น การใช้ GPS ในการจับพิกัดแผนที่แนวเขตการใช้ประโยชน์ในโครงการการปรับใช้ภูมิปัญญา “ลือกาเวาะ” ในการดูแลรักษาพื้นที่หาอยู่หากินของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านสะเนพ่อง ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี หรือความพยายามในการออกแบบประตูน้ำที่สอดคล้องกับธรรมชาติของน้ำในคลองแพรกหนามแดง เป็นต้น

ตัวอย่างสำคัญจากรายงานการวิจัยเรื่อง ปัญหาภาวะหนี้สินของชุมชนบ้านหนองอ้อ จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นงานวิจัยท้องถิ่นของคนในชุมชนที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นตามนโยบายมุ่งเน้นการผลิตตามความต้องการของตลาดตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 โดยได้รับสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ อีก 9 หน่วยงาน แต่ผ่านไป 20 ปี สมาชิกในชุมชนยังไม่สามารถปลดหนี้จาก ธกส. ได้รวมมูลค่า 137,516,532 บาท ผลจากรายงานการวิจัยระบุว่า จากการเก็บรวบรวมข้อมูลที่ได้จากเวทีชาวบ้าน ทำให้ ธกส. ยอมรับความล้มเหลวของโครงการและทำหนังสือประกาศยกเลิกดอกเบี้ยมูลค่า 92 ล้านบาท และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการกลางจากกระทรวงการคลัง เพื่อหาทางออกที่ยุติธรรมให้กับทั้งสองฝ่าย ในขณะที่แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินที่ได้จากโครงการวิจัย ก็ไม่ได้แตกต่างจากแนวทางที่มีอยู่เดิมมากนัก กล่าวคือ การปรับพฤติกรรม ลดรายจ่ายโดยสร้างแหล่งอาหารภายในชุมชนให้มากขึ้น เพิ่มการออมด้วยการเสริมการรวมกลุ่มการออมแบบเครดิตยูเนียน และการปรับปรุงรายได้จากภาคเกษตรให้สม่ำเสมอมากขึ้น อย่างไรก็ดี รายงานตั้งข้อสังเกตตอนท้ายไว้ว่า โครงการประสบข้อจำกัดในเรื่องการขยายผล โดยมีสมาชิกชุมชนเพียง 16 ครัวเรือนจาก 80 ครัวเรือนเท่านั้นที่เข้าร่วมกระบวนการวิจัย

จากตัวอย่างโครงการข้างต้น ถ้าจะพิจารณาว่าสิ่งที่ได้จากงานวิจัยคืออะไร การรวบรวมข้อมูลหนี้สินของชาวบ้านอย่างเป็นระบบ ทำให้หน่วยงานรับผิดชอบ ยอมรับความจริงจากหลักฐานข้อมูล (evidence-based) และการยอมรับปัญหานี้นำไปสู่การขับเคลื่อนให้เกิดการแก้ไขปัญหา แม้จะยังไม่สามารถขยายผลได้อย่างที่คาดหวัง ในที่นี้ ปัญหาหนี้สินของชาวบ้านในชุมชนเป็นเพียงตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงความสลับซับซ้อนของปัญหา และขีดจำกัดของชุมชนในการสร้างองค์ความรู้ และพัฒนาองค์ความรู้ของตนจากความเข้าใจปัญหาของตนเอง

ในขณะที่โครงการการปรับใช้ภูมิปัญญา “ลือกาเวาะ” ในการดูแลรักษาพื้นที่หาอยู่หากินของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านสะเนพ่อง ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ที่ทำให้หน่วยงานป่าไม้ยอมรับข้อมูลพื้นที่แนวเขตพื้นที่การใช้ประโยชน์ของชาวบ้านที่ได้จากกระบวนการทำวิจัยท้องถิ่น จนนำไปสู่การปรับความสัมพันธ์และยกสถานะของชาวบ้านจากการเป็นจำเลยในปัญหาการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ให้กลายเป็นผู้มีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร และมีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่น ตัวอย่างจากโครงการนี้ชี้ให้เห็นระดับที่แตกต่างกันของชุดความรู้ที่ได้จากงานวิจัยท้องถิ่น อันนำไปสู่ระดับการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกัน

ตัวอย่างของโครงการทั้งสองชี้ให้เห็นว่า องค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยท้องถิ่นมีความหลากหลาย และมีระดับที่แตกต่างกัน จึงมีผลต่อการสร้างความเป็นธรรมและการลดความเหลื่อมล้ำในระดับที่แตกต่างกัน โจทย์ขั้นต่อไป คือการทำความเข้าใจว่ามีเงื่อนไขอะไรที่จะทำให้องค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยท้องถิ่น สามารถเข้าไปมีส่วนในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำให้ชัดเจนได้มากขึ้น

 

สรุป

เมื่อพิจารณาจากงานวิจัยท้องถิ่นภาคกลางข้างต้น แสดงให้เห็นว่าจุดร่วมที่สำคัญของงานวิจัยเหล่านี้คือความพยายามในการผลักดันให้คนในท้องถิ่นสร้างองค์ความรู้เพื่อแก้ไขปัญหาของตนเอง ดังนั้น ผลลัพธ์ที่ชัดเจนที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงในระดับปัจเจกบุคคลและกลุ่มบุคคล งานวิจัยท้องถิ่นจึงมีจุดเด่นในแง่ที่ทำให้เกิดการเสริมสมรรถนะในชุมชน เรียนรู้ และใช้กระบวนการวิจัยในการแก้ปัญหาของตนเอง ซึ่งบางกรณีที่ประสบความสำเร็จ ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดความเปลี่ยนแปลงระดับชุมชน ความสัมพันธ์ และอาจส่งผลต่อนโยบายและโครงสร้างในการจัดการทรัพยากรในชุมชนด้วย

โครงสร้างการวิจัยแต่ไหนแต่ไรมา มักถือเป็นเรื่องของจำเพาะแต่นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาระดับสูง โครงสร้างผูกขาดการวิจัยแบบนี้เป็นที่ยอมรับกันตลอดมานี้ ในอีกด้านหนึ่งกลับกลายเป็นโครงสร้างที่ปฏิเสธการมีส่วนรวมในกิจกรรมความรู้ของชาวบ้าน กดทับความรู้ และองค์ความรู้ของคนในชุมชนท้องถิ่นในการกำหนดนโยบายการพัฒนา จากบทเรียนของงานวิจัยท้องถิ่นที่คัดสรรมา พบว่านักวิจัยชาวบ้านสามารถมีสมรรถนะในการวิจัย สามารถผลิตองค์ความรู้ นำเสนอและผลักดันให้ท้องถิ่นใช้องค์ความรู้ในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาตนเอง

โดยนัยนี้จึงกล่าวในภาพรวมของสังคมได้ว่า งานวิจัยท้องถิ่นส่งผลให้เกิดการสร้างความเป็นธรรมในด้านความรู้ในสังคมอย่างสำคัญโดยปริยายด้วย ดังนั้น หากรัฐบาลและสังคมมีความมุ่งมั่นจะสร้างความเป็นธรรมอย่างแท้จริงแล้ว การยกระดับการวิจัยเพื่อท้องถิ่นอย่างเป็นระบบทั้งในด้านการบริหารจัดการและการเสริมสมรรถนะแก่บุคลากรการวิจัยท้องถิ่น ย่อมจะเป็นสิ่งจำเป็นอย่างไม่ต้องสงสัย

การดำเนินตามเป้าหมายดังกล่าวย่อมต้องมีเงื่อนไขสำคัญได้แก่ การพิจารณาการวิจัยท้องถิ่นด้วยความเข้าใจบริบท คุณลักษณะ และคุณประโยชน์อย่างถ่องแท้

 

เอกสารอ้างอิง

ภาษาไทย
กาญจนา แก้วเทพ. คุณลักษณะ & วิธีวิทยางานวิจัยเพื่อท้องถิ่น. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น. เชียงใหม่: หจก.วนิดาการพิมพ์. 2553.

ปิยะวัติ บุญ-หลง และคณะ. การวิจัยเพื่อท้องถิ่น. ใน อาภรณ์ จันทร์สมวงศ์ บรรณาธิการ. การวิจัยเพื่อท้องถิ่น: รากฐานแห่งพลังปัญญา. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.). เชียงใหม่: วนิดาเพรส. 2543: 42-53.

วิจารณ์ พานิช. สถานภาพชุมชนท้องถิ่นและการวิจัยเพื่อท้องถิ่นท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลง. ใน อาภรณ์ จันทร์สมวงศ์ บรรณาธิการ. การวิจัยเพื่อท้องถิ่น: รากฐานแห่งพลังปัญญา. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.). เชียงใหม่: วนิดาเพรส. 2543: 29-40.

สินธุ์ สโรบล. วิธีวิทยาวิจัยเพื่อการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาชุมชน: บทสังเคราะห์งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในประเทศไทยและประสบการณ์จากต่างประเทศ. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.). เชียงใหม่: วนิดาเพลส. 2554.

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2556. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. 2558.

ภาษาอังกฤษ
Göran Therborn. The Killing Fields of Inequality. Polity Press. 2013


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในจดหมายข่าวประชาคมวิจัย ฉบับที่ 128   ปีที่ 22 เดือน กรกฏาคม  สิงหาคม   2559 ในชื่อ ‘แม้เพียงให้ความรู้ท้องถิ่นมีที่ยืน ก็เป็นก้าวแรกของความเป็นธรรมทางสังคมแล้ว – บทบาทของงานวิจัยท้องถิ่น