รายงานสกว. : สูงวัย อารมณ์ดี

ขวัญชนก ลีลาวณิชไชย เรียบเรียง

 

“สวย รวย หล่อ มีอารมณ์ดีตลอดเวลา” ใครๆ ก็อยากมี ยิ่งถ้ามีเงินไม่ขาดมือในยุคที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” ในปี 10 ปีข้างหน้าที่มีการคาดการณ์จากงานวิจัยไว้ว่าในปี ค.ศ. 2030 หรือปี พ.ศ. 2573 สังคมไทยจะเข้าสู่ “Super-aged society” หรือสังคมสูงวัยเต็มรูปแบบดังเช่นที่ประเทศญี่ปุ่นกำลังประสบอยู่ ยิ่งทำให้คนรุ่นใหม่ คนวัยทำงานต้องรู้จักเตรียมตัวล่วงหน้า รวมถึงคนที่เกษียณจากงานว่าเราจะต้องวางแผนในเรื่องใดบ้างถึงจะมีชีวิตสูงวัยแบบดูดี มีความสุข และอารมณ์ดี

 

สูงวัย ไม่ใช่ภาระสังคม

 

ณ เวลานี้ ประเทศไทยมีประชากรสูงอายุอยู่ร้อยละ 15 ของประชากรไทย 65 ล้านคน และในอีกประมาณ 6 ปีข้างหน้า จำนวนการเกิดของประชากรจะค่อย ๆ ลดลง และจะมีจำนวนประชากรสูงวัยสูงถึงร้อยละ 32 ในอีก 20-30 ปีข้างหน้า ฉะนั้น คนที่มีอายุ 40 ปีในขณะนี้ หากยังไม่ได้เตรียมดูแลเรื่องสุขภาพตัวเอง ยังไม่ได้เตรียมพร้อมเรื่องการออมที่ดีพอ ก็น่าจะเป็นปัญหาได้ในอนาคต จะเห็นได้จากข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทยที่ระบุว่าคนที่อายุต่ำกว่า 30 ปีของประเทศไทยในเวลานี้มีหนี้สินเยอะมาก รวมถึงข้อมูลจากงานวิจัยยังระบุว่า ตลอดช่วงชีวิตของประชากรไทย 1 คน ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเสียชีวิต จะติดลบคนละประมาณเกือบ 3 หมื่นบาท รวมจำนวนคนไทยทั้งประเทศแล้วจะติดลบรวม 1 ล้านล้านบาท และในอีก 30 ปีจะติดลบรวม 1.4 ล้านล้านบาท และยิ่งสังคมไทยกำลังเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” ยิ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่าจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ดังนั้นการจัดการด้านการเงินจึงเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมความพร้อมไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้มีชีวิตแบบผู้สูงวัยอย่างมีความสุข และไม่เป็นภาระสังคม เป็นสังคมแบบพุทธพลัง คือ มีสุขภาวะที่ดีด้านร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ เป็นสังคมแบบเอื้ออาทร มีสุขภาวะด้านสิ่งแวดล้อม ด้านจิตวิญญาณ ด้านการงาน ด้านปัญญา และด้านการรู้คิด

ศ. ดร.เกื้อ ผู้ศึกษาเรื่องเศรษฐกิจอายุวัฒน์ (Longevity economy) มองว่า ถ้าสังคมไทยเป็นสังคมเศรษฐกิจอายุวัฒน์ ไม่มองผู้สูงอายุเป็นภาระ ก็จะต้องเปลี่ยนมุมมองและวิธีคิดจากการมองว่าผู้สูงอายุเป็นภาระของสังคม เปลี่ยนเป็นมองว่าต้องสนับสนุน ส่งเสริมให้ประชากรในวัยตั้งแต่ 30 ปีเป็นต้นไป รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกาย กินอาหารดี ทำงานอย่างมีคุณภาพ เรียนรู้ตลอดชีวิต และต้องมีเงินออมที่เพียงพอ ซึ่งส่วนหนึ่งรัฐบาลต้องมีนโยบายส่งเสริมในด้านต่าง ๆ ด้วย

 

ดูแลสุขภาพการเงิน = ดูแลสุขภาพตัวเอง

 

เงินใช้จ่ายหลัง “เกษียณ”เริ่มเป็นประเด็นสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับสังคมไทยที่กำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงเกิดคำถามว่าจะมีวิธีการออมอย่างไร ควรเริ่มเมื่อไร และด้วยเม็ดเงินเท่าไรดี

โครงการ CSR โดย WealthMagik.com ในปี 2012 และโครงการต้านเกษียณจน ของบริษัท เว็ลธ์ แมแนจเม้นท์ ซิสเท็ม จำกัด ริเริ่มขึ้นเพื่อให้คนไทยรู้เรื่องการลงทุน โดยเป็นโครงการที่ต่อยอดจากงานวิจัยของ ศ. ดร.เกื้อ เพื่อให้คนไทยตระหนักถึงการวางแผนออมและลงทุนสำหรับเกษียณ

“เราเชื่อว่าหากนำ ระบบวิจัยและพัฒนา ของ Bonanza ซึ่งเป็นระบบจัดการลงทุนที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุด ใช้บริหารเม็ดเงินกว่า 3.7 ล้านล้านบาทในบริษัทจัดการกองทุน และสถาบันการเงินชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศ มาย่อส่วนให้เหมาะสมกับคนทั่วไป จะทำให้ความมั่งคั่งส่วนบุคคล (Private Wealth) ไม่ใช่เอกสิทธิ์ของคนรวยอีกต่อไป” คุณสมเกียรติ ซีอีโอ บริษัท เว็ลธ์ แมแนจเม้นท์ ซิสเท็ม จำกัด กล่าว

การดูแลสุขภาพการเงิน ก็คล้ายๆ กับการดูแลสุขภาพตัวเอง คือ หากเราลงทุนตั้งแต่เนิ่น ๆ เราจะได้ดอกเบี้ยทบต้น และความเสี่ยงจะลดลง ยกตัวอย่างที่สหรัฐอเมริกา มีกองทุนหนึ่งทำวิจัยและได้ข้อสรุปเป็นตัวเลขว่า ถ้าลงทุนกองทุนหุ้นตัวหนึ่ง ความเสี่ยงที่โอกาสขาดทุนมีประมาณร้อยละ 27 แต่ถ้าถือครองยาว 5 ปี ความเสี่ยงจะลดจากร้อยละ 27 เหลือร้อยละ 11 และถ้าถือครองจนครบ 20 ปี ความเสี่ยงขาดทุนจะเท่ากับ 0

สำหรับคนที่ยังอายุน้อย ๆ การใช้โปรแกรม WealthMagik ก็เหมือนกับการขับรถถอยเข้า-ออกจนกว่าจะได้ระดับเป้าหมายการลงทุนและความเสี่ยงที่เหมาะสม และสามารถยึดเป็นแผนดูแลสุขภาพการเงินในระยะยาวของตนได้ สำหรับคนที่อายุมากแล้ว ถ้ามีเงินลงทุนไม่พอตามเป้าหมายที่โปรแกรมระบุ ในโปรแกรมจะแนะนำวิธีเพิ่มเงินออมในแต่ละปี หรือวิธีหาผลตอบแทนด้วยวิธีอื่น

 

ยิ่งสูงวัย ยิ่งเก๋า ยิ่งเจ๋ง ถ้ารู้จักวางแผน

 

ผลงานวิจัยในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และเยอรมนี ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีจำนวนประชากรสูงวัยมากขึ้น และมีประชากรวัยทำงานเป็นคนสูงวัยโดยนับคนทำงานที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ล้วนทำงานมีประสิทธิผลมากกว่า เพราะผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก ยกตัวอย่างคนอายุ 60-65 ปีขึ้นไปในสหรัฐอเมริกาจำนวน 17% ของจำนวนประชากรในประเทศเปิดธุรกิจเอง และประสบความสำเร็จมากมายในธุรกิจด้านเทคโนโลยี ไม่ใช่พออายุมากแล้วจะเป็นคนล้าหลัง เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัวเลยว่าเราจะไม่มีคุณค่า…ยิ่งสูงวัย ยิ่งเก๋า ยิ่งเจ๋ง ถ้าเรารู้จักวางแผน และจากงานวิจัยเรื่องวัฒนธรรมในหลายประเทศทั่วโลก นอกจากคนไทยแล้ว ยังมีคนในอีกหลายประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ที่ยังไม่รู้จักการออม ….รศ. ดร.ศิริยุพา ให้ความเห็นว่า ”ศาสตร์ง่ายที่สุดสำหรับเริ่มต้นการออม คือ การหัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ส่วนคนที่มีทักษะหรือคนทำงานต้องฝึกวิธีคิด วิธีการมองโลก ปรับทัศนคติให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning)”

 

รับมือ “สังคมอายุวัฒน์”

 

ป็นโจทย์ที่สังคมไทยต้องแก้ให้ได้ว่า จะทำอย่างไรให้คนที่อยู่ในวัยทำงานจำนวน 40 ล้านคนในปัจจุบันมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และมีเงินออมเมื่อสูงวัยด้วย โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม สิงคโปร์ เกาหลี ไต้หวัน มาเลเซีย ซึ่งร้อยละ 70 จะเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 30 เรียนทางด้านสังคมศาสตร์ และมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต รู้จักการเตรียมเรื่องสุขภาพที่ดีพอ มีความตื่นตัวกับสังคมสูงวัย รู้ว่าเงินประกันสังคม เงินประกันเมื่อชราภาพในอนาคตจะมีไม่เพียงพอสำหรับพวกเขา เนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกปีในขณะที่อัตราการเกิดลดลง รัฐบาลช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุตั้งแต่ตอนต้น ครอบคลุมทั้งเรื่องการพัฒนาระบบสาธารณสุขแบบบูรณาการทุกด้าน สนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีงานทำและมีเงินออมในวัยหลังเกษียณ และสุดท้ายคือการต่อยอดส่งเสริมพัฒนาชุมชนผู้สูงอายุให้มีสังคมร่วมกันอย่างไม่โดดเดี่ยวในบั้นปลายชีวิต

จากสถิติพบว่าประชากรไทยในกลุ่มเยาวชนวัยรุ่นช่วงอายุ 15-24 ปี ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ กลุ่มอายุ 30-34 ปี ส่วนใหญ่เสียชีวิตเนื่องจากการติดเชื้อโรคเอดส์ และอายุประมาณ 50 ปีขึ้นไปส่วนใหญ่จะเป็นโรคในกลุ่มไม่ติดต่อ (Non-communicable diseases; NCDs) ซึ่งเกิดจากการเตรียมตัวเรื่องสุขภาพที่ไม่ดีพอ เช่น ขาดการออกกำลังกาย รับประทานอาหารหวานจัด เค็มจัด ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และความเครียดซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคนี้ได้…จะทำอย่างไรให้เหมือนกับประเทศในแถบสแกนดิเนเวียที่มีความตระหนักในเรื่องการตรวจสุขภาพประจำปี คือ ถ้าปีนี้ตรวจร่างกายแล้วผลตรวจอยู่ในเกณฑ์ที่ดี พวกเขาก็จะจ่ายเงินประกันสังคมลดลง เหมือนการประกันรถ จะทำให้มีเงินออมมากขึ้น

วิธีที่ดีที่สุดอีกวิธีคือ ต้องรู้จักพึ่งตนเอง ก่อนที่จะให้ภาครัฐมาช่วยเหลือ จากผลสำรวจแรงงานในกลุ่มประเทศอาเซียนพบว่า แรงงานไทยมีแนวโน้มที่จะเป็นแรงงานระดับล่าง เพราะจะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ และ AI (Artificial Intelligence) เช่น นักวิเคราะห์ด้านการเงิน AI ก็มาทำงานแทนได้ หรือนักลงทุนก็สามารถใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทำแทนได้ หุ่นยนต์มีความสามารถคล้ายมนุษย์หรือเลียนแบบพฤติกรรมมนุษย์ซึ่งจะยิ่งตอกย้ำให้คนไทยกลายเป็นคนสูงวัยที่ไม่ค่อยมีความรู้และไม่มีเงินเลี้ยงชีพในวัยเกษียณ

คนไทยต้องทำอย่างไรที่จะเตรียมตัวเอง พัฒนาตนเอง พัฒนาความรู้ของตัวเองให้มีความสามารถที่จะทำในสิ่งที่คนอื่นทำไม่ได้… ยกตัวอย่างสิ่งหนึ่งที่ประเทศไทยทำได้ดีคือเรื่องเกี่ยวกับอาหาร การท่องเที่ยว และด้านการแพทย์ ในเรื่องการท่องเที่ยวและการแพทย์เป็นเรื่องที่ต้องเข้าถึงด้านจิตใจ ซึ่งหุ่นยนต์ไม่มีความรู้สึกแบบนี้…

“ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” เราทุกคนทำได้ด้วยการวางแผนชีวิตกันเสียแต่เนิ่น ๆ ทั้งด้านสุขภาพกาย สุขภาพใจ และสุขภาพการเงิน เพื่อให้พวกเราก้าวสู่การเป็นผู้สูงวัยที่มีความสุข และอารมณ์ดี

 


หมายเหตุ:

1. เรียบเรียงจากเวทีเสวนา “สูงวัย อารมณ์ดี” ซึ่งจัดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของงาน “25 ปี สกว.: สร้างคน สร้างความรู้ สร้างอนาคต” เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2560  ณ สยามพารากอน ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ศ.ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน เมธีวิจัยอาวุโส รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข รองผู้อำนวยการสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณสมเกียรติ ชินธรรมมิตร์ CEO บริษัท เว็ลธ์ แมเนจเม้นท์ ซิสเท็ม จำกัด ผศ.ดร.ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

2. เผยแพร่ครั้งแรกในจดหมายข่าวประชาคมวิจัย ฉบับที่ 135 ปีที่ 23 เดือน กันยายน-ตุลาคม 2560 ในชื่อ สูงวัย อารมณ์ดี