รายงานสกว. : การศึกษาข้ามวัฒนธรรม รากฐานใหม่เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ภัทรา มาน้อย เรื่อง

 

ในยุคสมัยที่มีการกล่าวถึงรูปแบบการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 นักการศึกษาหลายสำนักให้ความสำคัญกับแนวคิดของการศึกษาตลอดชีวิตอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในปี 2515 องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO จัดประชุมใหญ่สามัญครั้งที่ 17 ได้เสนอรายงานของคณะกรรมาธิการระหว่างชาติว่าด้วยการพัฒนาการศึกษา ชื่อ Learning to Be โดย เอดการ์ ฟอร์ (Edgar Faure) มีแนวคิดโดยสรุปว่า “การศึกษาตลอดชีวิตเท่านั้นที่จะทำให้คนเป็นคนที่สมบูรณ์ ในชีวิตนั้นบุคคลจะต้องเผชิญกับข้อจำกัดต่าง ๆ เพราะฉะนั้นการให้การศึกษาเพียงช่วงเดียวไม่เพียงพอที่จะทำให้คนเป็นคนที่สมบูรณ์ได้ จะต้องเป็นการศึกษาต่อเนื่องตลอดชีวิต” (Faure, 1978, น. 182 อ้างโดยสุมาลี สังข์ศรี, 2555, น.7-8) โดยมุ่งเน้นไปที่แนวทางการจัดการศึกษาหรือมุ่งเน้นที่ตัวผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองตลอดชีวิต เรียนรู้อย่างเหมาะสมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง

ดังนั้น ความหมายของการศึกษาตลอดชีวิต (Lifelong education หรือ Lifelong learning) จึงสามารถจัดให้ครอบคลุมทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ที่สามารถจัดให้แก่บุคคลทุกช่วงอายุตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งอาจได้รับการศึกษารูปแบบใดรูปแบบหนึ่งหรือหลายรูปแบบผสมกันที่สัมพันธ์กับวิถีการดำเนินชีวิตของบุคคลในมิติต่าง ๆ มุ่งพัฒนาบุคคลให้มีความรู้ทักษะประสบการณ์อย่างเพียงพอต่อการดำรงชีวิต และปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคมสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างเหมาะสมในทุกช่วงชีวิต (สุมาลี สังข์ศรี, 2556, น.15)

ดังนั้น หากรัฐบาลไทยภายใต้รูปแบบการพัฒนาประเทศไทย 4.0 มีความพยายามที่จะส่งเสริมให้ประชาชนได้ใช้ความรู้ของตนสำหรับสร้างสรรค์สังคม ชุมชน และองค์กรแห่งการเรียนรู้ กลไกดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้หากประชาชนเห็นความสำคัญและได้รับการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญของสังคมโลกในการมุ่งพัฒนาการศึกษาเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ประเวศ วะสี (วารสารสื่อพลัง, 2555) กล่าวไว้ในเวทีสมัชชาการศึกษาทางเลือกว่า “การศึกษาในยุคที่ผ่านมา สร้างให้คนมีการรับรู้ที่แคบ เห็นแคบ และมีความคิดที่แยกส่วน การพัฒนามนุษย์จึงถูกแยกเป็นส่วน ๆ ทางรอดคือ ต้องปฏิรูปแนวคิดการศึกษาใหม่ เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง การสั่งสอนเป็นการเรียนรู้ที่ให้ผลน้อยเพียงร้อยละ 10 การเห็นคนอื่นทำและได้ร่วมทำเป็นการเรียนรู้ที่ได้ผลมากเพราะเมื่อได้ปฏิบัติจริงก็เกิดผลจริง การเรียนรู้จากชีวิตเป็นพลวัตและเป็นปัจจุบัน การเรียนรู้จากการปฏิบัติทำให้เข้าใจสาระสำคัญได้โดยอัตโนมัติ หากเอาฐานวิชาที่ไม่ได้มาจากฐานชีวิต การเรียนก็จะกลายเป็นเรื่องที่ทำแล้วยาก”

แม้ประเทศไทยจะมีแนวคิดการปฏิรูปประเทศมาอย่างต่อเนื่อง และวาระของการปฏิรูประบบการศึกษาก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีการกล่าวถึงเพื่อหยิบยกขึ้นมาทบทวนในรัฐบาลทุกยุคสมัย ซึ่งสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสังคมโลกที่ส่งผลต่อความจำเป็นที่ต้องทบทวนระบบการจัดการศึกษาประเทศไทย และส่งผลต่อความไม่มั่นใจในรูปแบบของการศึกษาที่จะเป็นที่พึ่งพาของสังคมได้ ระบบการศึกษาที่มุ่งเน้นเฉพาะการศึกษาในระบบโรงเรียน จำกัดเนื้อหาการเรียนรู้ไว้เพียงบางด้าน บทบาทการศึกษาที่เคยทำหน้าที่บูรณาการการเรียนรู้ให้ครอบคลุมทุกด้านจึงกลายเป็นการศึกษาแบบแยกส่วนที่มุ่งพัฒนาความสามารถและทักษะเฉพาะด้าน การศึกษาในระบบจึงมีบทบาทจำกัดและไม่ครอบคลุมการพัฒนาทักษะของคนในชุมชนหรือสังคมที่เป็นกลไกสำคัญของประเทศได้ ส่งผลต่อความสามารถของชุมชนโดยรวม เพราะไม่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างกว้างขวางแบบเดิม ภูมิปัญญาที่สั่งสมและพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจึงถูกทอดทิ้ง เพราะการศึกษาที่เน้นให้ความสำคัญของแหล่งความรู้เพียงแหล่งเดียว (โรงเรียน) ชุมชนและสังคมโดยรวมจึงอ่อนแอเนื่องจากถูกลดทอนบทบาทลง ขาดการถ่ายทอดความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ คุณธรรม จริยธรรม ถูกถ่ายทอดในวงจำกัดไม่กว้างขวาง และไม่สัมพันธ์กับวิถีชีวิต สภาพแวดล้อม สังคม วัฒนธรรมได้ (อุทัย ดุลยเกษม และ อรศรี งามวิทยาพงศ์, 2540, น. 81-82)

ความอ่อนแออ่อนล้าของกลไกการเรียนรู้ ทำให้ชุมชนหลายพื้นที่เริ่มตระหนักถึงความแตกต่างเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและเริ่มคิดหาทางออกทางด้วยตนเอง เกิดรูปแบบของการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ รวมพลังกลุ่มในชุมชนให้เข้มแข็ง สร้างหลักสูตรการเรียนรู้ที่มาจากฐานความรู้ในชุมชน แสวงหาความรู้ใหม่ที่เหมาะกับท้องถิ่นเพื่อเป็นฐานของการสร้างกระบวนการเรียนรู้ต่อยอด ภายใต้รูปแบบของการสร้างการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ หรือ รวมกลุ่มเป็นเครือข่ายการทำงานเพื่อสร้างแนวทางของการศึกษาทางเลือก โดยชุมชนมีเจตนารมณ์ในการสร้างทางเลือกแห่งการเรียนรู้ให้แก่สังคมไทยด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคการศึกษาสำหรับเป็นทางเลือกในการนำพาชุมชนไปสู่สังคมของการใฝ่เรียน ใฝ่รู้ตลอดชีวิต โดยไม่คล้อยตามการเปลี่ยนแปลง หรือมีความพยายามที่จะปรับตัว เลือกรับ-ปฏิเสธ กระแสการเปลี่ยนแปลงในบางเรื่องที่สอดคล้องกับบริบทของตนเองผ่านปฏิบัติการทางสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตัวอย่างของพื้นที่ที่พยายามกำหนดนิยามของการสร้างรูปแบบการเรียนรู้ของคนในชุมชน โดยมีภาคีทางการศึกษาอย่างสำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จังหวัดพะเยา ร่วมสร้างบทเรียนการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตแบบยั่งยืน 2 พื้นที่ ผ่านกระบวนการของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น (Community Based Research: CBR) เป็นเหมือนการสะท้อนภาพของการจัดการศึกษาเพื่อสร้างการเรียนรู้ที่สัมพันธ์กับชีวิตโดย “ใช้ชีวิตเป็นตัวตั้ง ไม่ได้ใช้วิชาเป็นตัวตั้งในการสร้างองค์ความรู้” โครงการวิจัย “การพัฒนากระบวนการผลิตผ้าผ่านการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรมของชุมชนบ้านร่องส้าน หมู่ 20 อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา” เป็นโครงการที่มุ่งหวังให้เกิดแนวทางของการบริหารจัดการชุมชนบนความแตกต่างหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์

ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) อำเภอเชียงคำ และแกนนำในชุมชน ได้ร่วมตั้งคำถามเพื่อสะท้อนมุมคิดในประเด็นที่น่าสนใจคือ “แนวทางในการจัดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างชุมชนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ควรเป็นไปในรูปแบบใด?” บนปัจจัยที่มีความแตกต่างกันทั้งวิธีคิด วิธีปฏิบัติ ในด้านต่างๆ ทั้งการประกอบอาชีพ การดำเนินชีวิต วิถีวัฒนธรรม เหล่านี้เป็นข้อจำกัดที่ส่งผลต่อกลไกในการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต

กศน.เชียงคำ ในฐานะผู้ที่มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้เกิดประสิทธิภาพ เอื้อต่อการเรียนรู้และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มผู้ขาดโอกาสทางการศึกษา ลงพื้นที่เพื่อวิเคราะห์จุดร่วมที่เป็นฐานขององค์ความรู้ท้องถิ่นทางวัฒนธรรมของ กลุ่มไทยอีสาน บ้านร่องส้านหมู่ 8 ที่มีประชากรอพยพมาพำนักอาศัยอยู่ก่อนหน้าในพื้นที่ มีอาชีพหลักในด้านการทำการเกษตร กลุ่มสตรีไทยอีสานได้นำภูมิปัญญาการปลูกหม่อนเลี้ยงหม่อนไหมมาสร้างเป็นอาชีพเสริม ในอดีตเคยมีทักษะการทอผ้าแต่ไม่ถูกฝึกฝนเป็นเวลานานจึงจางหายและถูกลบเลือน แต่ยังคงดำเนินวิถีชีวิตดั้งเดิมตามบรรพบุรุษของชาติพันธุ์ไทยอีสานขนานแท้ ในขณะที่ในปี 2537 กลุ่มชนชาติพันธุ์ม้งได้อพยพจากศูนย์อพยพบ้านแก อำเภอเชียงคำ และจังหวัดเชียงราย มาอาศัยรวมอยู่กับกลุ่มอีสานบ้านร่องส้าน หมู่ที่ 8 จนกระทั่งปี 2545 ทางหน่วยงานรัฐบาลกำหนดให้มีการแยกหมู่บ้าน โดยจัดสรรประชากรกลุ่มไทยอีสาน 85 ครัวเรือนออกมา และจัดตั้งเป็นบ้านร่องส้าน หมู่ที่ 20 ขึ้นเป็นหมู่บ้านใหม่ และในปี 2559 มีกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง 4 ครัวเรือน ได้อพยพจากบ้านเชงเม้ง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย มาอาศัยอยู่ร่วมกัน โดยมีอาชีพหลักเป็นการทำไร่ ทำนา และสตรีชาวม้งมีอาชีพเสริมจากการปักผ้า จากทักษะการปักผ้าที่เป็นลายพื้นเมืองที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษเพื่อใช้ตกแต่งและตัดเย็บในชุดแต่งกายสำหรับใช้ในงานประเพณีปีใหม่ม้ง ลวดลายที่สื่อความหมายที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสิ่งรอบข้าง มีขนบธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติที่ยังคงรักษาไว้อย่างเข้มงวด

นางเหลา มูลลิวัล สตรีไทยอีสานอดีตผู้นำชุมชน และหัวหน้ากลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหม สะท้อนถึงความห่วงใยและกังวลต่อแนวทางการอยู่ร่วมกันในอนาคตของคน 2 กลุ่ม แม้ปัจจุบันทั้ง 2 กลุ่มสามารถอยู่ร่วมกันได้ ไม่เกิดความขัดแย้ง แต่ด้วยความต่างของวิถีวัฒนธรรม การดำเนินชีวิตจึงเป็นไปในลักษณะต่างคนต่างอยู่ ไม่ได้สนใจหรือมีกิจกรรมที่จะต้องปฏิสัมพันธ์กัน และปัจจุบันแนวโน้มของประชากรกลุ่มชาติพันธุ์ม้งจะเพิ่มจำนวนของครัวเรือนและประชากรมากขึ้น ภาพอนาคตของการอยู่ร่วมกันบนฐานของความหลากหลายทางวัฒนธรรมจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ชุมชนต้องกลับมาทบทวนแบบจริงจัง แนวคิดการสร้างจุดร่วมโดยใช้กิจกรรมทางวัฒนธรรมอย่างสันติวิธีโดยใช้ “ผืนผ้า” เป็นเครื่องมือในการเชื่อมร้อยความคิด และสร้างการเรียนรู้บนฐานของชีวิตที่สัมพันธ์กับคนทั้ง 2 กลุ่ม “เราอยากเห็นลายปักของพี่น้องม้งอยู่บนผืนผ้าไหมของคนอีสาน” นี่คือเป็นภาพสะท้อนคิดถึงวิธีการเชื่อมโยงความสัมพันธ์บนความแตกต่างทางวัฒนธรรมอย่างสันติของกลุ่มสตรีบ้านร่องส้าน หมู่ที่ 20 ไว้ได้อย่างน่าสนใจ

ซึ่งกลไกของ กศน.ที่มีหน้าที่หลักในการหนุนเสริมกระบวนการพัฒนาทักษะชีวิต และกระบวนการคิดเพื่อพัฒนาคนในชุมชนให้มีความรู้ความสามารถในการดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสม สู่แนวทางในการพัฒนารูปแบบอาชีพและสร้างรายได้ จึงเป็นรูปแบบของการจัดการศึกษาที่สัมพันธ์กับชุมชนได้อย่างลงตัว ข้อค้นพบจากการสนับสนุนโครงการวิจัยในลักษณะนี้สามารถมองให้ไกลไปถึง “สังคมไทยในอนาคต” ที่จะขยายตัวเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ พื้นที่ในอนาคตจะไร้พรมแดน ที่ประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม การเรียนรู้ความแตกต่างเพื่อป้องกันความขัดแย้งแตกแยก จึงเป็นสิ่งสำคัญที่พึงปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การพัฒนาทั้งในเชิงพื้นที่และความเจริญก้าวหน้าในอนาคต

การที่งานวิจัยนี้มีความพยายามในการแสวงหาจุดร่วมของอัตลักษณ์ของแต่ละกลุ่มคนที่เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ที่สะท้อนความเป็นตัวตนของกลุ่มบุคคลที่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง การอยู่ร่วมกันของผู้คนท่ามกลางความหลากหลายอย่างกลมกลืน ทำให้ชุมชนบ้านร่องส้านมีรูปแบบของการเรียนรู้บนฐานของวิถีวัฒนธรรมที่มีความยืดหยุ่นสูงและสามารถนำพาให้เกิดการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมอย่างกลมกลืน ซึ่งจะเห็นได้จากการเคารพและการยอมรับความหลากหลายภายใต้ความแตกต่าง ภายใต้กติการ่วม การเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อค้นหาหรือทำการสืบค้นความเป็นอัตลักษณ์ร่วมผ่านกระบวนการของงานวิจัย การชวนคิด ชวนลงมือทำ ชวนแก้ไขคลี่คลายปัญหา มีการเปิดใจให้กว้างและมีความพยายามในการยอมรับความแตกต่างที่เกิดขึ้น และพยายามปรับตัวให้เข้ากับความแตกต่างของเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม มีความระมัดระวังในการกระทำและคำพูด ที่อาจนำมาซึ่งความแตกแยกขัดแย้ง ตลอดจนเคารพในหน้าที่ สิทธิเสรีภาพของกันและกัน การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ซึ่งจะพบเจอได้อย่างต่อเนื่องในกลุ่มของสมาชิกที่เข้ามาร่วมกิจกรรม ทั้งกลุ่มสตรีไทยอีสานและกลุ่มสตรีชนชาติพันธุ์ม้ง

ข้อค้นพบที่เป็นบทสรุปสำคัญคือ (1) การเรียนรู้ความแตกต่าง โดยการสร้างรูปแบบของการศึกษาวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อ ศาสนา ภาษา ของชนกลุ่มอื่น ผ่านแหล่งความรู้ ภูมิปัญญาที่มีอยู่อย่างหลากหลาย และควรศึกษาด้วยใจที่เป็นกลาง ปราศจากอคติ กำหนดให้มีการเข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม หรือกิจกรรมที่มีคนจากหลายวัฒนธรรมมาทำกิจกรรมร่วมกัน (2) ยึดมั่นในหลักของการสร้างสังคมที่มีความสุข มีความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่าง ปรับวิธีคิดและท่าทีให้เป็นกลาง สอดคล้องกับสภาพสังคมแห่งความหลากหลาย เคารพและให้เกียรติต่อความแตกต่างของเพื่อนร่วมสังคม ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นความเป็นอัตลักษณ์ของกันและกัน (3) คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน มีความยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติหรือให้สิทธิพิเศษเฉพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่กระทำการที่ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือความเจ็บปวดทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ แก่เพื่อนร่วมสังคม ปฏิบัติตามหน้าที่ สิทธิ เสรีภาพของตน โดยไม่ไปละเมิดหน้าที่ สิทธิ เสรีภาพของผู้อื่น แนวปฏิบัติพื้นฐานเหล่านี้เป็นบทเรียนชั้นดีของหน่วยงานที่จะนำไปสู่การพัฒนา เพื่อให้เกิดการประสานความร่วมมือร่วมกับชุมชนในการร่วมกันพัฒนาชุมชนโดยคนในชุมชนเป็นหลักและมีหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้องเข้าไปมีส่วนร่วมเป็นตัวผลักดัน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้นและเท่าเทียมกัน

ในกรณีของบ้านร่องส้านเอง บทเรียนเหล่านี้ยังสามารถนำไปต่อยอดสู่แนวทางของการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจจากฐานภูมิปัญญาวัฒนธรรมของกลุ่มสตรีไทยอีสานและกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง พัฒนาชุดความรู้สู่การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนของกลุ่มที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่เหมาะสมของ กศน.ได้เป็นอย่างดี สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปการจัดการงานการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยตามแนวทางเพื่อสร้างการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับชุมชนเป็นหลัก

อีกพื้นที่ที่ใช้งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในการสร้างการเรียนรู้ที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิต คือ โครงการ “แนวทางการพัฒนาศักยภาพกลุ่ม “สตรีชาวลาว” ในพื้นที่ตำบลภูซาง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา” พื้นที่นี้เป็นความร่วมมือในการแสวงหาแนวทางของการจัดการศึกษาที่สัมพันธ์กับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่เป็นกลุ่มคนต่างด้าวบริเวณแนวชายแดนที่มีเขตติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) โดยมีศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภอภูซาง เป็นหน่วยงานหลักในการสร้างรูปแบบของการเรียนรู้ที่เหมาะสมให้กับผู้รับบริการ

บ้านฮวก หมู่ที่ 3 ถึงบ้านต้นผึ้งหมู่ที่ 16 ตำบลร่มเย็น อำเภอเชียงคำ ระยะทาง 36 กิโลเมตร โดยมีช่องทางกิ่วหก (PB 502763) หมู่ที่ 12 ตำบลภูซาง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา เป็นพื้นที่ชายแดนที่ติดต่อระหว่างบ้านฮวกกับบ้านปางมอญ เมืองคอบ แขวงไชยะบุรี สปป.ลาว และเป็นเส้นทางที่สามารถเชื่อมต่อไปยังเมืองเดียนเบียนฟู ประเทศเวียดนาม และประเทศจีนได้ เป็นเส้นทางใหม่ในการค้าชายแดนของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ 2 (ล้านนาตะวันออก) ที่ประกอบด้วยจังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ และจังหวัดน่าน กับ สปป.ลาว “จุดผ่อนปรนชายแดนบ้านฮวก” ปัจจุบันปรับสถานะเป็นด่านถาวรไทย – ลาว แต่ยังไม่เปิดให้ใช้บริการ โดยรัฐบาลคาดหวังที่จะใช้เป็นพื้นที่ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนทางด้านเศรษฐกิจที่อำเภอภูซางและอำเภอข้างเคียง จากที่ผ่านมาเป็นเพียงด่านที่เปิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ทางด้านมนุษยธรรม ส่งเสริมความสัมพันธ์ในระดับท้องถิ่น โดยให้ประชาชนทั้งสองประเทศสัญจรไปมาเพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าอุปโภคบริโภคระหว่างกันได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00 – 18.00 น. และเป็นจุดที่ตั้งขึ้นเพื่อควบคุมการเข้าออกของประชาชนทั้งสองประเทศที่อยู่ในความดูแลของฝ่ายกิจการพิเศษที่ทำการปกครอง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา

ในอนาคตหากพื้นที่มีการปรับเปลี่ยนสภาพทางโครงสร้างเศรษฐกิจแม้จะมีกฎหมายควบคุมดูแลประชาชนของทั้ง 2 ประเทศอย่างเข้มงวด แต่ในสภาพความเป็นจริงการตั้งรับกับสถานการณ์ดังกล่าวยังคงเป็นเรื่องของคนในพื้นที่ที่ต้องทบวนและตั้งรับอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสถานการณ์การอพยพย้ายถิ่นของสตรีชาวลาว ที่เข้ามาพำนักอาศัยแบบถาวรด้วยเหตุผลของความแร้นแค้น และขาดแคลนปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก กลุ่มสตรีชาวลาวที่ตัดสินใจทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดและแต่งงานกับชายไทยเพื่อยกระดับของคุณภาพชีวิตของตนเองและคนในครอบครัว โดยแลกกับการถูกตัดสิทธิ์ของการเป็นพลเมืองของ สปป.ลาว โดยสิ้นเชิง หน่วยงานปกครองในพื้นที่ได้ทำการสำรวจและขึ้นทะเบียนในสถานะเป็นบุคคลต่างด้าวที่มาอาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยจำกัด/ควบคุมการเข้าถึงสิทธิตามกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น การถือครองที่ดิน การลักลอบค้าประเวณี ยาเสพติด รวมไปถึงการจำกัดขอบเขตของพื้นที่ที่พำนักอาศัย แม้จะมีการควบคุมตามกฎหมาย แต่แนวโน้มของจำนวนประชากรต่างด้าวในพื้นที่ชายแดนที่เพิ่มขึ้น ก็น่าจะสัมพันธ์กับปัจจัยที่รัฐบาลส่งเสริมการเปิดพื้นที่ทางการค้าแบบไร้พรมแดน กำหนดจุดยุทธศาสตร์ทางด้านเศรษฐกิจการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ดังนั้นการตั้งรับกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

งานวิจัยนี้จึงมุ่งสาระสำคัญไปที่กลุ่มของสตรีชาวลาวที่เข้ามาในประเทศไทย และแต่งงานกับชายไทยอย่างถูกต้องตามขนบธรรมเนียมประเพณี กระจายตัวอยู่ในชุมชนหมู่ที่ 3, 4 และ 12 ตำบลภูซาง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา สตรีชาวลาวกลุ่มนี้เป็นบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร์ แต่พำนักอาศัยในฐานะผู้อยู่อาศัยโดยมีสามีชาวไทยเป็นผู้รับรอง มีการดำเนินชีวิตแบบเรียบง่าย ปรับตัวให้เข้ากับชุมชน ขยันขันแข็ง ช่วยเหลืองานในชุมชน ประกอบอาชีพตามสามีเป็นหลัก ไม่มีอาชีพเป็นของตนเอง ไม่สามารถมีบทบาทในชุมชน วิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนไปตามสภาพของการดำเนินชีวิตทั้งการแต่งกาย ภาษาพูด การแสดงตัวตนถึงรากเหง้าถิ่นฐานจึงถูกกลบกลืนไว้ ลดทอนความมั่นใจในการแสดงสถานะของตนเองและใช้ชีวิตบนสถานะของคนไร้สัญชาติ

 
ตัวแทนสตรีชาวลาว นางอุสา ไทยอุบล ผู้ตั้งประเด็นคำถามสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของสตรีชาวลาวที่ไร้สัญชาติว่า “มีวันหนึ่งลูกกลับจากโรงเรียนและให้ช่วยสอนการบ้าน แต่อุสากลับทำไม่ได้เพราะอ่านภาษาไทยไม่ออก จึงเกิดความทุกข์ใจ เลยตัดสินใจเดินมาหาครู กศน. เพื่อที่จะให้สอนหนังสือภาษาไทยให้สามารถอ่านเขียนได้ แต่ก่อนไม่เคยคิดที่จะมาเรียนกับ กศน. เพราะคิดว่าไม่จำเป็นและช่วยสามีทำงาน แต่พอไม่รู้หนังสือทำให้ชีวิตมีข้อจำกัด สอนลูกไม่ได้ ไม่รู้ภาษา ไม่รู้เส้นทาง ไม่รู้กฎหมาย” จากจุดเริ่มต้นนี้จึงเป็นจุดเปลี่ยนของวิธีคิดที่สำคัญของกลุ่มสตรีชาวลาวอย่างสิ้นเชิง จากที่ต้องเก็บตัวไม่สุงสิงในฐานะของคนต่างด้าวที่ไม่ได้รับการยอมรับ ขาดโอกาสที่จะเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ในสังคมจากมายาคติที่เป็นกับดักภายในจิตใจว่าด้อยค่า โอกาสที่ได้รับจาก กศน.ภูซาง ที่จัดรูปแบบของการศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐาน การพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยร่วมกันออกแบบแนวทางการจัดการศึกษาบนฐานของผู้ไม่รู้หนังสือ ใช้เนื้อหาที่เชื่อมโยงถึงเรื่องราวที่เป็นวิถี ความเป็นอยู่ผสมผสานทั้งของไทย-ลาว ทำให้ “อุสา” และสตรีชาวลาวจำนวนหนึ่งที่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจ สามารถเรียนรู้ภาษาไทยขั้นพื้นฐานจนจบหลักสูตร และให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า “การรู้หนังสือเป็นช่องทางที่จะนำพาเราไปสู่ความเข้าใจในเรื่องอื่น ๆ ทั้งความเข้าใจในวิถีชีวิตที่แตกต่าง การรู้และเข้าใจกฎหมาย การเสริมสร้างรายได้ให้กับครอบครัวที่ต้องอาศัยจากอาชีพเกษตรเพียงอย่างเดียว ที่สำคัญพอมีความรู้มากขึ้นก็ทำให้กล้าที่จะดำเนินชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีมากขึ้น ไม่ต้องเป็นภาระให้กับครอบครัวต่อไป” กศน. ภูซาง ใช้กลไกของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเพื่อค้นหา “รูปแบบของการจัดการศึกษาที่เหมาะสมในเขตพื้นที่ชายแดน” โดยกลุ่มสตรีชาวลาวถือได้ว่าเป็นกลุ่มด้อยโอกาสทางการศึกษา ขาดโอกาสในการเข้าถึงการเรียนรู้ที่เหมาะสมในด้านต่าง ๆ ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชน มาตรา 4 ที่กล่าวถึง “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง” ซึ่งในฐานะของหน่วยงานสนับสนุนการศึกษาตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ.2551 ที่บัญญัติไว้ว่า ความเสมอภาคในการเข้าถึงและได้รับการศึกษาอย่างกว้างขวางและเป็นธรรมให้กับบุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย

 
แม้กฎหมายจะถูกระบุไว้แต่ที่ผ่านมายังไม่เป็นรูปธรรมที่เห็นได้ชัดเจน จึงทดลองจัดการศึกษาในรูปแบบการจัดการเรียนรู้สำหรับ “ผู้ไม่รู้หนังสือ” โดยให้สตรีชาวลาวที่มาเรียนกับศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอภูซางจำนวน 35 คน โดยจัดรูปแบบการจัดการเรียนการสอนให้สอดแทรกกับการพัฒนาศักยภาพของสตรีชาวลาวไปพร้อมกัน โดยอาศัยฐานทางสังคม เช่น ระบบความสัมพันธ์ ผังเครือญาติ การอพยพและการกระจายตัวของกลุ่มสตรีชาวลาว ฐานทางวัฒนธรรม เช่น ประเพณี วิถีชีวิตการดำเนินชีวิต ที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ของสตรีชาวลาว ฐานทางเศรษฐกิจ เพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ เกิดการรวมกลุ่ม ฐานของการศึกษา เช่น การอ่านออกเขียนได้ การรู้หนังสือ เพื่อให้เข้าใจในบทบาทหน้าที่ของความเป็นพลเมือง และการเข้าถึงความรู้ในด้านอื่น ๆ ที่สามารถใช้พัฒนาศักยภาพตนเอง เป็นแนวทางที่จะพัฒนากลุ่มสตรีชาวลาวในพื้นที่ เพื่อให้เห็นถึงคุณค่าของตัวเอง ดึงความรู้ความสามารถออกมาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ สามารถดำรงชีวิตได้ด้วยตนเอง อย่างมีเกียรติ และเป็นที่ยอมรับของสังคม รวมถึงเป็นแนวทางสำคัญในการรักษาสัมพันธภาพที่ดีพื้นที่ชายแดนไทย-ลาว ต่อไปในอนาคตบทสรุปสำคัญต่อบทบาทของศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภอภูซาง ในฐานะที่เป็นสถานศึกษาที่เปิดโอกาสให้ผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายในพื้นที่อำเภอภูซาง ได้รับบทเรียนด้านการพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาที่เหมาะสมและสอดคล้องกับกลุ่มผู้ไม่รู้หนังสือ แนวทางการจัดการศึกษาที่ไม่ได้ถูกจำกัดการเรียนการสอนแบบสั่งตรงจากหลักสูตรกลาง (fit for all) แต่ออกแบบให้มีความยืดหยุ่นและใช้งานได้ ปลายทางเป้าหมายคือ ผู้ให้บริการเกิดการเรียนรู้และนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเองได้อย่างยั่งยืนการจัดการศึกษาที่สามารถนำไปสู่การสร้างการยอมรับในศักดิ์ศรีและคุณค่าของสตรีชาวลาว ที่ยังเป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำในมิติทางสังคมจะช่วยลดช่องว่างและสร้างความมั่นใจในกลุ่มสตรีชาวลาวสู่การสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน และเป็นกำลังสำคัญในการขยายผลไปยังกลุ่มคนอื่น ๆ ในเขตชายแดน เพื่อเข้าถึงความรู้ ซึ่งจะช่วยคลี่คลายและตั้งรับกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้อย่างชัดเจน

ประเด็นท้าทายที่มีบทสรุป คือ ทีมครู กศน. ที่ทดลองปรับการจัดการเรียนการสอนที่สร้างแรงบันดาลใจในการสร้างการเรียนรู้ให้กลุ่มผู้เรียนที่เป็นผู้ด้อยโอกาสทางสังคม และสร้างความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเองในการดำเนินชีวิต กระบวนการหนึ่งที่น่าสนใจคือ การค้นหาวิธีการจัดการเรียนการสอน การค้นหาข้อมูลที่สัมพันธ์กับกลุ่มผู้เรียนที่เป็นสตรีชาวลาว คือการปรับทั้งวิธีการเรียนการสอน ปรับทั้งเนื้อหา และปรับทัศนคติของครูเอง สู่แนวทางการปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ในพื้นที่หรือกลุ่มคนที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งจะนำไปสู่บทเรียนของการดำเนินชีวิตที่สร้างความเชื่อมั่นในสถานะของผู้ด้อยโอกาสได้อย่างแท้จริง ซึ่งจำเป็นต้องสร้างตัวชี้วัดที่บ่งชี้ถึงความสำเร็จระยะยาวด้วยเช่นกัน

 
ผลในเชิงพัฒนาทำให้พบว่าแนวทางในการจัดการเรียนการเรียนรู้ในลักษณะนี้ เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส หรือกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ชายแดน เพื่อให้เป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ การพัฒนาตนเองให้เข้าใจความหมายและกติกาทางสังคม ในลักษณะของการพึ่งพาอาศัย และร่วมกันการดูแลพื้นที่ชายแดนตามข้อตกลงของทั้งสองประเทศ ทั้งประเด็นยาเสพติดบริเวณชายแดน การรักษาหลักเขตชายแดน ความร่วมมือเพื่อเป้าหมายทางด้านมนุษยธรรม และการส่งเสริมความสัมพันธ์ในระดับท้องถิ่น เพื่อใช้เป็นฐานของการนำไปสู่แนวทางของการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในเขตพื้นที่ชายแดนในอนาคตหากมองความเชื่อมโยงถึงรูปแบบของการศึกษาที่เหมาะสมของทั้ง 2 พื้นที่ต่อสถานการณ์ที่ชุมชนต้องเผชิญอยู่ภายใต้ความจริงในปัจจุบัน แนวคิดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยของ กศน. ที่จัดขึ้นโดยใช้ฐานของการจัดการศึกษาที่มาจากชุมชนเป็นที่ตั้ง เพื่อมุ่งสู่แนวทางของการศึกษาตลอดชีวิต (lifelong education) ของคนในชุมชน หรือคนไทยในอนาคต ก็น่าจะเป็นอีกทางเลือกที่เหมาะสมโดยเน้นไปที่แนวทางของการพัฒนาคนในชุมชนหรือสังคมให้เต็มศักยภาพ มีความพร้อมที่จะใช้ความรู้และความสามารถในการดำรงชีวิต ภายใต้รูปแบบของการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น และหลากหลายMichael W. Galbraith (1995) กล่าวว่า แนวคิดการศึกษาโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (community – based education) เป็นการศึกษาที่เติมเต็มชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกด้าน พร้อมทั้งเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ของสมาชิกชุมชน ภาพของการจัดการศึกษาในอนาคตจึงมีแนวโน้มที่จะเป็นไปในรูปแบบของการสร้างการเรียนรู้ที่สัมพันธ์กับการดำเนินชีวิต ที่มีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของบุคคลและชุมชน เป็นเนื้อหาที่มีความทันสมัยซึ่งหมายถึงเท่าทันกับสถานการณ์ที่ชุมชนเผชิญอยู่ สามารถนำไปใช้ได้ในการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง มีกิจกรรมที่เน้นกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เน้นกระบวนการคิดและปฏิบัติจากการประยุกต์ใช้ความรู้จากประสบการณ์จริง

งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่สนับสนุนการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับชุมชนและหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดการศึกษา น่าจะพอมีบทสรุปในเชิงรูปธรรมที่อธิบายถึงผลของการจัดการศึกษาที่เหมาะสม ถูกที่ ถูกทาง ถูกจังหวะและเวลา ซึ่งแนวทางดังกล่าวสัมพันธ์กับเป้าหมายการปฏิรูปการเรียนรู้สำหรับคนไทย ให้พร้อมรับกับการพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ในยุคที่ชุมชนต้องตั้งรับ ปรับตัวโดยการสร้างความรู้จากบทเรียนด้วยตนเอง


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในจดหมายข่าวประชาคมวิจัย ฉบับที่ 133   ปีที่ 22 เดือน พฤษภาคม – มิถุนายน 2560 ในชื่อ การศึกษาข้ามวัฒนธรรม…รากฐานใหม่เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต