โรคกลุ่ม NCDs เป็นโรคที่เกี่ยวกับพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ซึ่งโรคกลุ่มนี้จะค่อย ๆ สะสมอาการ และเมื่อมีอาการของโรคแล้วจะเกิดการเรื้อรังของโรคตามมาด้วย เป็นภัยเงียบถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันเวลา และพบว่าผู้ป่วยจำนวนมากเสียชีวิตด้วยโรคกลุ่มนี้ ประกอบกับในยุคดิจิทัล หลายคนมีพฤติกรรมเสพติดหน้าจอ ยิ่งเป็นอัตราเร่งที่ทำให้เกิดภาวะเสี่ยงของโรคกลุ่มนี้มากขึ้น
โรคกลุ่ม NCDs ต้องเน้นป้องกันไม่ให้เกิดโรค
โรคกลุ่ม NCDs ย่อมาจากคำเต็มว่า Non-Communicable Diseases ประกอบด้วย 4 กลุ่มโรคใหญ่ คือ กลุ่มโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน มะเร็ง และกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง โดยกลุ่มโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ
ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา กล่าวว่า “ตัวเลขคนไทยที่มีอายุเกิน 60 ปีอยู่ที่ร้อยละ 18 และในระยะเวลาอีกไม่เกิน 2 ปี เราเชื่อว่าคนไทยที่มีอายุเกิน 60 ปีจะสูงถึงร้อยละ 20 แนวโน้มจำนวนประชากรของประเทศไทยทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ และลดลง จำนวนประชากรในวัยเด็กมีแนวโน้มจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ประชากรผู้สูงอายุมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ทำให้พีระมิดประชากรจะเปลี่ยนไปเป็นพีระมิดทรงระฆังคว่ำ สังคมไทยจะเปลี่ยนจากสังคมที่มีวัยแรงงานมาไปเป็นสังคมของผู้สูงอายุ ปัญหาที่จะพบตามมาคือ รัฐจะต้องมีรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในด้านที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคกลุ่ม NCDs จะเป็นอีกวิธีที่จะลดความเสี่ยงที่จะทำให้ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาภาวะเศรษฐกิจ”
จากตัวเลขอัตราการตายของกลุ่มโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด พบว่าคนไทยมีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) มากกว่ากลุ่มโรคระบบหัวใจประมาณ 1.4 เท่า โดยผู้ชายมีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคนี้ในวัย 15-65 ปีสูงกว่าผู้หญิง และทั้งผู้ชายและผู้หญิงมีแนวโน้มการเสียชีวิตจากโรคนี้เพิ่มขึ้นทุกปี และจากข้อมูลงานวิจัย “แนวโน้มผลสัมฤทธิ์หลักประกันสุขภาพจากการสำรวจสุขภาพคนไทยโดยการตรวจร่างกาย” ของ ศ. นพ.วิชัย เอกพลากร คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ล่าสุดเมื่อปี 2557 พบว่าภาวะอ้วน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงอายุ 40-70 ปี ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ที่ส่งผลถึงสุขภาพ โดยเฉพาะภาวะอ้วนลงพุง (metabolic syndrome) เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติของกระบวนการเผาผลาญอาหารในร่างกาย ส่งผลให้ผู้ป่วยมีไขมันสะสมที่หน้าท้องและมีรอบเอวขนาดใหญ่ มีระดับความดันโลหิต ไขมัน และน้ำตาลในเลือดสูง มักเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคเบาหวาน และโรคหัวใจได้มากขึ้น
ดังนั้นการป้องกันเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ทำอย่างไรให้คนไม่เป็นโรค และมีสุขภาวะที่ดี
มาเป็น“สังคมไร้พุง” กันเถอะ
ข้อมูลงานวิจัยของ ศ. ดร. นพ.นิพนธ์ ฉัตรทิพากร พบว่าภาวะอ้วนลงพุง มักเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนของการเกิดโรคต่าง ๆ ตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือที่รู้จักกันดีว่าหัวใจวาย (heart attack) ประกอบกับถ้าเรามีอายุมากขึ้น ฮอร์โมนเพศทั้งชายและหญิงจะเริ่มลดลงโดยเฉพาะในวัยหมดประจำเดือนของเพศหญิง ทางทีมวิจัยพบว่า ภาวะอ้วนและดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลินจากการรับประทานอาหารไขมันสูงเป็นระยะเวลานานร่วมกับการขาดฮอร์โมนเพศจะเพิ่มความรุนแรงของความผิดปกติในการทำงานของหัวใจได้มากกว่ากรณีที่มีภาวะอ้วนเพียงอย่างเดียว หรือขาดฮอร์โมนเพศเพียงอย่างเดียว โดยผลที่พบจากการศึกษาวิจัยครั้งนี้ทำให้ทราบถึงกลไกระดับเซลล์ที่ทำให้เกิดความผิดปกติในการทำงานของหัวใจ และจะสามารถนำไปสู่การค้นหาและพัฒนาวิธีการรักษาความผิดปกติที่เกิดขึ้นในคนสูงอายุที่มีภาวะอ้วนและขาดฮอร์โมนเพศได้
ยิ่งอ้วน (ยิ่งสูงอายุ) ยิ่งสมองเสื่อม
ศ.ดร.ทพญ.สิริพร ฉัตรทิพากร กล่าวว่า “หลายคนไม่ทราบว่า นอกจากโรคอ้วนลงพุงจะส่งผลต่อหัวใจแล้วยังส่งผลให้สมองเสื่อมด้วย โดยโรคอ้วนลงพุงทำให้การเรียนรู้และความจำเสื่อมถอยอย่างมหาศาล ขณะเดียวกันก็ส่งผลต่อหัวใจ ทำให้หัวใจทำงานผิดปกติ และอาจนำไปสู่การเพิ่มอัตราการเสียชีวิตอีกมหาศาล ในอนาคตเราจะมีประชากรผู้สูงอายุมากขึ้น ซึ่งคนกลุ่มนี้มีความเสื่อมเรื่องหัวใจและสมองเป็นทุนอยู่แล้ว ถ้ายิ่งเป็นโรคอ้วนลงพุง ก็จะยิ่งเสริมให้แย่เข้าไปอีก”
ยิ่งไปกว่านั้น งานวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าเมื่อร่างกายหมดฮอร์โมนเพศแล้ว จะทำให้เกิดภาวะเสื่อมทางสมองได้ คล้าย ๆ กับภาวะอ้วนลงพุง ที่สำคัญคือ หากร่างกายหมดฮอร์โมนเพศแล้วและยังมีภาวะอ้วนร่วมด้วย ก็จะยิ่งมีผลเสียรุนแรงต่อการเรียนรู้และความจำมากขึ้น
ศ.ดร.ทพญ.สิริพร ฉัตรทิพากร ได้เน้นความเชื่อมโยงระหว่างงานวิจัยในระดับสัตว์ทดลองไปถึงการพยายามนำไปใช้จริงในผู้ป่วย โดยกล่าวว่า “ในการขาดฮอร์โมนเพศในวัยสูงอายุนั้น ผลวิจัยยังพบว่ายาต้านเบาหวานบางชนิดนอกจากสามารถช่วยเรื่องภาวะดื้อต่ออินซูลินในภาวะอ้วนแล้ว ยังสามารถช่วยลดการสูญเสียการเรียนรู้และความจำในภาวะอ้วนลงพุงได้ดีพอ ๆ กับการให้ฮอร์โมนเพศทดแทน เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าฮอร์โมนเพศที่ให้ทดแทนภาวะขาดฮอร์โมนเพศนั้น สามารถก่อให้เกิดผลเสียข้างเคียงได้มาก ความรู้จากผลงานวิจัยนี้ ได้เปิดแนวคิดใหม่ต่อแนวทางการรักษาในอนาคต เนื่องจากอาจก่อให้เกิดทางเลือกใหม่ในการป้องกัน และการรักษาการสูญเสียการเรียนรู้และความจำในผู้สูงอายุที่หมดฮอร์โมนเพศแล้วได้ในอนาคต”
ภัยเงียบของกระดูกพรุน ป้องกันได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
โรคกระดูกพรุน เป็นโรคเกิดจากมีมวลกระดูกลดต่ำลงจนเป็นปัจจัยเสี่ยงหรือเป็นสาเหตุของกระดูกหักได้สูง เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากโรคหนึ่งโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ผู้หญิงพบได้บ่อยกว่าผู้ชาย
ศ.ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ ได้ให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนเพื่อลดภาวะเสี่ยงกระดูกพรุนว่าคนรุ่นใหม่ก่อนอายุ 25-30 ปี หรือก่อนที่มวลกระดูกจะลดน้อยลง โดยเฉพาะผู้หญิงก่อนวัยหมดประจำเดือนเพื่อให้ร่างกายได้รับแคลเซียมอย่างเหมาะสม ทุกคนควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมเพียงพอ พักผ่อน ได้รับแสงแดด เพราะแสงยูวีในแสงแดดจะช่วยกระตุ้นให้ผิวหนังของเราผลิตวิตามินดี ซึ่งทำให้กระดูกแข็งแรง ดังนั้นจึงไม่ควรหลบแดดมากนัก ควรใช้ครีมกันแดดที่หน้า แต่ควรให้แขนขาโดนแดดช่วงเวลา 08.30-10.30 น.ประมาณ 20 นาทีทุกวันก็เพียงพอ นอกจากนี้การออกกำลังกายก็มีความสำคัญมาก เพราะการเคลื่อนไหวเป็นแรงกดทำให้กระดูกแข็งแรง ผู้ป่วยที่นอนอยู่เฉยๆ เป็นเวลานานจะสูญเสียมวลกระดูก ดังนั้นเด็ก ๆ และหนุ่มสาวควรเล่นกีฬา ส่วนผู้สูงอายุควรใช้วิธีเดินเร็ว 30 นาที ประมาณ 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ และใช้การยกน้ำหนักที่ไม่หนักมาก จะช่วยกระตุ้นให้กระดูกแข็งแรงขึ้น
สังคม 4.0 ต้องมี SEX ให้สม่ำเสมอและเหมาะสม
เทคโนโลยีได้นำพาเราก้าวสู่สังคมดิจิทัล 4.0 อย่างเต็มรูปแบบ ชีวิตประจำวันต้องวนเวียนกับการพึ่งพาอุปกรณ์ไฮเทคเพื่อเข้าถึงโลกออนไลน์ที่คอยอำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสาร พฤติกรรมของสังคมดิจิทัลได้ฉุดให้คนรุ่นใหม่ มี SEX ลดลงอย่างน่าใจหาย
ศ.ดร.นพ.นิพนธ์ อ้างถึงคำกล่าวของอาจารย์อาวุโสท่านหนึ่ง ที่ทำให้จำได้ง่ายถึงสาเหตุหลักของ NCDs ไว้ว่า “ยุคดิจิทัลนี้ทำให้คนมี “S-E-X” ไม่เพียงพอ ไม่เหมาะสม และไม่สม่ำเสมอ โดยในที่นี้ S หมายถึง Sleep E คือ Eat และ X หมายถึง Exercise สรุปคือว่า สังคมในยุคดิจิทัลโดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่และคนวัยทำงาน ส่วนใหญ่มักจะมี Sleep ไม่เพียงพอ มักนอนดึกมาก จากทั้งติดเกม ติดมือถือในสังคม online ติดคอมพิวเตอร์ Eat ไม่เหมาะสม เพราะเลือกรับประทานอะไรที่ง่าย ๆ รวดเร็ว มีน้ำตาลและไขมันสูง และสุดท้ายคือขาดการ Exercise อย่างสม่ำเสมอ มักจะชอบอยู่เฉยๆ ไม่ชอบขยับไปไหน ทั้งสามอย่างนี้ต้องปรับเปลี่ยนให้ได้ เพื่อลดโอกาสเกิด NCDs”
“อ้วนลงพุง ความจำเสื่อม และกระดูกพรุน” จะไม่ส่งผลกระทบกับเราในสังคมยุคดิจิทัล ถ้าเรารู้จักป้องกันไว้ก่อนด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ รู้จักเลือกรับประทานอาหาร และออกกำลังกายให้เหมาะสม
หมายเหตุ:
1. เรียบเรียงจากเวทีเสวนา “ป้องกันโรค NCDs ในยุค Aging Society” ซึ่งจัดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของงาน “25 ปี สกว.: สร้างคน สร้างความรู้ สร้างอนาคต” เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2560 ณ สยามพารากอน ผู้ร่วมเสวนา ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ศ.ดร.นพ.นิพนธ์ ฉัตรทิพากร เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ศ.ดร.ทพญ.สิริพร ฉัตรทิพากร เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ศ.ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ ศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น สกว.
2. เผยแพร่ครั้งแรกในจดหมายข่าวประชาคมวิจัย ฉบับที่ 135 ปีที่ 23 เดือน กันยายน-ตุลาคม 2560 ในชื่อ ป้องกันโรค NCDs ในยุค Aging Society