ศ.ดร.อารยะ ปรีชาเมตตา เรื่อง
ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่ถูกละเลยมานานในหลายประเทศนั้น ดูเหมือนว่ากำลังส่งผลกระทบที่สั่นสะเทือนต่อระบบการเมืองและเศรษฐกิจในหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว จนมีท่าทีว่าปัญหาอาจจะลุกลามไปกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกได้ในที่สุด ตัวอย่างล่าสุด ในกรณีของ Brexit และกรณีผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปีที่ผ่านมาเป็นสิ่งยืนยันได้ดีที่สะท้อนให้เห็นถึงความผิดหวังของผู้คนจำนวนมากต่อความล้มเหลวของนักการเมืองและนักการเงินการธนาคารที่บริหารเศรษฐกิจผิดพลาดจนนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 2008 และความไม่พอใจในภาครัฐที่ไม่สามารถเกลี่ยกระจายผลประโยชน์จากโลกาภิวัตน์ไปสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง หรือไม่มีอำนาจจัดการกับปัญหาผู้อพยพต่างประเทศที่เข้ามาแย่งงาน เช่นในกรณีของประเทศอังกฤษ เป็นต้น
ตัวอย่างเหตุการณ์ทั้งสองข้างต้น สะท้อนให้เห็นความไม่พร้อมทางด้านปัจจัยเชิงสถาบันของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วในการรับมือกับปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น เพราะว่าระบบภาษีและระบบสวัสดิการสังคมที่มีอยู่นั้นแม้ว่าจะมีความพร้อมมากกว่าในประเทศด้อยพัฒนาอื่นแล้ว แต่ก็ยังตามไม่ทันกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในขณะนี้
ดังนั้น การมองปัญหาของวันข้างหน้าให้ออกได้ล่วงหน้าจึงมีความสำคัญมาก ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมก็คือ ข้อเสนอของ Bill Gates เมื่อไม่นานนี้ที่เสนอให้มีการจัดเก็บภาษีกับเจ้าของหุ่นยนต์ที่มาแย่งงานกับมนุษย์ในอนาคต ซึ่งสะท้อนว่า นักธุรกิจที่สามารถควบคุมเทคโนโลยีสำคัญได้ ก็จะได้เป็นผู้คุมอำนาจทางเศรษฐกิจด้วย เหมือนเช่นในอดีตที่เจ้าของปัจจัยแรงงานและเจ้าของที่ดินเคยทำได้มาก่อน ดังนั้น จึงต้องเก็บภาษีกับเจ้าของหุ่นยนต์เพื่อมาใช้แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำต่อไป หนังสือของโครงการวิจัยนี้ที่ชื่อว่า ดุลยภาพที่เหลื่อมล้ำ (2559) ก็ได้กล่าวถึงบทบาทสำคัญของเทคโนโลยีที่จะมีต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำในบทที่ 8 ไว้ว่า
แน่นอนว่า ประเด็นปัญหาเรื่องความเลื่อมล้ำทางสังคม ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญ เนื่องจากว่ามีคนหลากหลายเชื้อชาติจำนวนมากสามารถอพยพย้ายถิ่นได้โดยสะดวกมากกว่าในอดีต ซึ่งบ่อยครั้งก็กลายเป็นสาเหตุของความขัดแย้งทางเชื้อชาติ อัตตลักษณ์ และปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้วย ตัวอย่างล่าสุดก็คือ กรณีการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศเนเธอร์แลนด์ในวันที่ 15 มีนาคม 2560 นี้ ซึ่งมีประเด็นร้อนเรื่องเชื้อชาติมาเกี่ยวข้อง เนื่องจากว่า หนึ่งในผู้สมัครท้าชิงเป็นนักการเมืองชาตินิยมฝ่ายขวาที่มีแนวคิดต่อต้านชาวมุสลิมซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยในประเทศ
บทความหนึ่งในโครงการวิจัยนี้ของผู้เขียนที่ชื่อว่า พลวัตความเหลื่อมล้ำทางรายได้ภายใต้สมมติฐานการเลือกกลุ่มอัตลักษณ์ทางสังคม (วารสารเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ 2558) ก็ได้ประยุกต์ใช้ประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอัตลักษณ์ทางสังคม (social identity) ไปใช้วิเคราะห์ปัญหาการกระจายรายได้ (redistribution) ของไทยในสามช่วงเวลาที่ผ่านมาคือ สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ก่อนสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง สมัยยุคล่าอาณานิคม และสมัยปัจจุบันที่มีแนวคิดทางการเมืองแบบสองขั้ว ผลการศึกษาชี้ว่า ปัจจัยเรื่องอัตตลักษณ์ทางสังคมจะสามารถช่วยทำให้ดุลยภาพทางเศรษฐกิจแบบที่มีความเหลื่อมล้ำสูงนั้น ไม่จำเป็นต้องมีความวุ่นวายทางสังคมตามมาด้วยถ้าหากว่าคนจำนวนมากที่มีรายได้น้อยนั้นมีอัตตลักษณ์ทางสังคมที่เหมือนกับคนร่ำรวยจำนวนน้อยในสังคมนั้น ดังนั้น ดุลยภาพดังกล่าวจึงเป็นหนึ่งในหลาย ๆ พหุดุลยภาพ (multiple equilibria) ของระบบสังคมเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมนั่นเอง
โครงการวิจัยเรื่อง “พลวัตการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไทยในเชิงพื้นที่กับปัญหาความเหลื่อมล้ำ” เป็นผลงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากทุนเมธีวิจัยอาวุโส สกว. โดยมีผู้เขียนและคณะนักวิจัยประกอบด้วย ผศ.ดร. พรเทพ เบญญาอภิกุล, ผศ.ดร. เฉลิมพงษ์ คงเจริญ, ผศ.ดร.วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์, ดร. ธร ปิติดล, อ.กุศล เลี้ยวสกุล และ Dr. Bui Thi Minh Tam ผลงานของโครงการนี้นอกจากบทความวิชาการแล้ว ก็ยังมีหนังสือจำนวนสามเล่ม ได้แก่ (1) ดุลยภาพที่เหลื่อมล้ำ (2) พัฒนาเศรษฐกิจ ลดวิกฤติเหลื่อมล้ำ และ (3) Regional Inequality in Thailand
ตัวอย่างของผลการศึกษาที่ได้จากโครงการวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่า
(ก) รายได้ของครัวเรือนและการศึกษาของหัวหน้าครัวเรือนเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อความแตกต่างของสัดส่วนประชากรที่อยู่ในระบบการศึกษา นอกจากนี้ ต้นทุนอื่น ๆ เช่น ค่าเดินทาง ก็มีส่วนสำคัญต่อความเหลื่อมล้ำของการได้รับโอกาสในการศึกษา ดังนั้นการดำเนินนโยบายอุดหนุนการศึกษาแก่เด็กในวัยเรียน จึงควรมุ่งเป้าไปที่กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและหัวหน้าครัวเรือนที่มีการศึกษาน้อยเป็นหลัก
(ข) ผลการวิเคราะห์ของแบบจำลองดุลยภาพทั่วไปพบว่า นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเป็นหลักนั้นจะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในระยะยาวได้ โดยมีสาเหตุมาจากการความเหลื่อมล้ำในการถือครองปัจจัยการผลิตทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับช่วงรายได้ต่าง ๆ ของครัวเรือน และนโยบายสนับสนุนการลงทุนที่เน้นการใช้เครื่องจักรและปัจจัยทุนจะสร้างประโยขน์ให้กับผู้เป็นเจ้าของปัจจัยทุนมากกว่าแรงงาน
(ค) สาเหตุประการหนึ่งของปัญหาเรื่องการกระจุกตัวของที่ตั้งอุตสาหกรรมในเชิงพื้นที่นั้นเกิดจากผลของการประหยัดจากขนาดการผลิตของสถานประกอบการแต่ละแห่ง ดังนั้นการดำเนินมาตรการให้สิทธิพิเศษการลงทุนที่แตกต่างกันตามเขตพื้นที่ จะมีผลเสมือนหนึ่งมีการจัดเก็บภาษีในอัตราที่ไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่ด้วย ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดการกระจายของอุตสาหกรรมในเชิงพื้นที่ได้มากขึ้น
(ง) ผลจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไปสู่ประชาธิปไตยที่มีมากขึ้นในอดีต ได้มีส่วนทำให้เกิดการขยายตัวของรายจ่ายด้านนโยบายสวัสดิการด้านสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2538-2550 และในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2535-2540 นั้น นโยบายบัตรสุขภาพสำหรับคนยากจนได้ขยายการคุ้มครองไปอย่างกว้างขวางและเชื่อมโยงเข้ากับนโยบายการให้บริการทางสุขภาพฟรีต่อคนชราและกลุ่มผู้ยากไร้อื่น ๆ และพัฒนาการที่สำคัญที่สุดทางด้านของนโยบายสวัสดิการด้านสุขภาพของไทยเกิดขึ้นภายหลัง พ.ศ. 2540 คือ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งเป็นนโยบายสวัสดิการสังคมแบบแรกของไทยที่ให้บริการแบบถ้วนหน้า (universal coverage)
(จ) ประเทศไทยจำเป็นต้องมีหน่วยงานวิจัยที่ทำหน้าที่วางแผนศึกษาและติดตามข้อมูลเพื่อนำเสนอมาตรการที่สามารถรับมือกับผลของโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐและเอกชน ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตเมืองและชนบทกันอย่างขนานใหญ่ ซึ่งก็จะมีผลกระทบต่อเรื่องการกระจายรายได้ของแต่ละพื้นที่ด้วย เพราะการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่เหล่านี้ ย่อมจะก่อให้เกิดผลกระทบทั้งที่เป็นบวกและลบต่อพื้นที่ด้วย (Irreversible investment) และถึงแม้ว่าจะมีตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติร่วมเป็นฝ่ายกลั่นกรองพิจารณาในทุกโครงการก่อนอยู่แล้วก็ตาม แต่ก็คงจะตรวจสอบได้ค่อนข้างยาก หากขาดการศึกษาวิจัยทางด้านนโยบายที่เหมาะสมตั้งแต่ต้น
อ่านงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ได้ ที่นี่
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในจดหมายข่าวประชาคมวิจัย ฉบับที่ 132 ปีที่ 22 เดือน มีนาคม – เมษายน 2560 ในชื่อ ‘การใช้ประโยชน์ด้านนโยบาย : การวิจัยพลวัตเศรษฐกิจไทย กับปัญหาความเหลื่อมล้ำ’