รายงานสกว. : การเสวนาเรื่อง “วิกฤตน้ำกับสังคมไทย”

น้ำเป็นทรัพยากรสาธารณะที่มีจำกัด แต่มนุษย์กลับใช้น้ำอย่างฟุ่มเฟือย ไม่ตระหนักถึงการขาดแคลนน้ำในอนาคต ตัวอย่างเช่น ประเทศไทยในแถบลุ่มเจ้าพระยา อุปสงค์ต่อน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ปริมาณน้ำผิวดินคงที่ และมีความแปรปรวนมากขึ้นในอนาคต ทำให้ความขัดแย้งและการแก่งแย่งน้ำนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น หากยังไม่มีการปฏิรูปการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

สืบเนื่องมาจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยค่อนข้างทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่ เมื่อปีพ.ศ. 2554 และปัญหาภัยแล้งในช่วงปีที่ผ่านมา จึงทำให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และมีการจัดการเสวนาเรื่องนี้ขึ้นเพื่อแก้ไขและหาทางออกของประเทศไทยในการรอดจากวิกฤตการณ์น้ำที่เผชิญอยู่ โดยมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำทั้ง 3 ท่านมาร่วมเสวนาและให้ข้อเสนอแนะ ดังนี้

รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าวิกฤตการณ์น้ำถือเป็นปัญหาทางสังคม ซึ่งส่งผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ในเชิงเศรษฐกิจให้มีผลทางบวกและลบ โดยจีดีพีของประเทศไทยนั้นมีแนวโน้มไม่เพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย เป็นต้น เนื่องจากจำนวนนักวิจัยน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากร โดยชี้ประเด็นให้เห็นว่าถึงแม้จะมีแผนการการจัดการน้ำที่ดีแล้ว แต่ยังคงมีปัจจัยการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อแผนการจัดการน้ำที่มีอยู่ ดังนั้นหากเรานำฐานงานวิจัยและวิทยาศาสตร์มาเป็นนโยบายการจัดการน้ำของรัฐบาล ก็จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องน้ำอย่างตรงประเด็น และทำให้การจัดการน้ำมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดย รศ.ดร.สุจริตได้เสนอแนวทางและกระบวนการผลักดันผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำสู่สาธารณชน ดังนี้

• การจัดประชุมสัมมนา/การประชุมนโยบายสาธารณะของ สกว. ประจําทุกปี

• การจัดสัมมนาวิชาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อถ่ายทอดและขยายผลงานวิจัย

• การนำเสนอผลงานในงานสัมมนาที่ทาง สกว. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้จัด เพื่อแลกเปลี่ยนและเผยแพร่เทคนิคและผลที่ได้จากการวิจัย

• การจัดทําบทความวิชาการที่เสนอในการประชุมวิชาการนานาชาติ

• การถ่ายทอดความรู้ผ่านทางเว็บไซต์ https://www.watercu.eng.chula.ac.th

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดบางประการ อาทิ มีรายงานข้อมูลทรัพยากรน้ำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้หน้าที่และความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานแยกกัน ไม่มียุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่เป็นทางการ รวมถึงขาดแผนแม่บทด้านการจัดการน้ำในประเทศไทยที่ครอบคลุมทุกภาค

ขณะที่ รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า ทุกวันนี้น้ำเป็นทรัพยากรสาธารณะที่มีจำกัด แต่มนุษย์กลับใช้น้ำอย่างฟุ่มเฟือย ไม่ตระหนักถึงการขาดแคลนน้ำในอนาคต ตัวอย่างเช่น ประเทศไทยในแถบลุ่มเจ้าพระยา อุปสงค์ต่อน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ปริมาณน้ำผิวดินคงที่ และมีความแปรปรวนมากขึ้นในอนาคต ทำให้ความขัดแย้งและการแก่งแย่งน้ำนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น หากยังไม่มีการปฏิรูปการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

แต่การจัดการน้ำของรัฐบาลไทยในปัจจุบันยังมีปัญหาและค่อนข้างล้าหลัง เนื่องจากมีจัดการแบบรวมศูนย์อำนาจในสภาวะปกติ และจัดการแบบกระจายอำนาจในกรณีที่เกิดสภาวะฉุกเฉิน ซึ่งตรงข้ามกับผลการศึกษาของ Eleanor Ostrom ที่พบว่า ชุมชนจำนวนมากของประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา สหรัฐอเมริกา และประเทศกำลังพัฒนา เช่น เนปาล อินเดีย บังกลาเทศ แอฟริกา เป็นต้น สามารถจัดการทรัพยากรธรรมชาติและน้ำชลประทานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย Ostrom สร้างทฤษฎีเศรษฐศาสตร์สถาบันแนวใหม่ช่วยอธิบายจุดอ่อนจุดแข็งของรูปแบบการบริหารจัดการน้ำของประเทศเหล่านั้นได้ โดยการวิเคราะห์ประเด็นด้านโครงสร้างของคณะกรรมการลุ่มน้ำ และปัจจัยสำคัญที่กำหนดโครงสร้างและอำนาจหน้าที่

รศ.ดร.นิพนธ์ศึกษาวิจัยเรื่องน้ำโดยสร้างสถานการณ์จำลองเพื่อช่วยในการตอบคำถามเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นจริง อีกทั้งช่วยในการออกแบบและพัฒนากฎระเบียบและนโยบายที่เหมาะสมได้ ผลการศึกษาพบว่า การกระจายอำนาจไปสู่ชุมชุมโดยมีหลายภาคส่วนร่วมมือกัน จะทำให้การจัดการน้ำมีประสิทธิภาพและนำไปสู่การสร้างกลุ่มผู้ใช้น้ำอย่างเข้มแข็ง ในปัจจุบันมาตรการสื่อสารกับชาวนาและแนวทางแก้ไขปัญหาจากรัฐบาลมี 8 มาตรการ ซึ่งเน้นการช่วยเหลือเกษตรกรและการรับรู้เรื่องขาดแคลนน้ำ อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวยังไม่เพียงพอในการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ภัยแล้งปีพ.ศ. 2558 ดังนั้นจึงอาจมีมาตรการประกาศในวันที่ 11 มกราคม 2559 เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาได้ตรงประเด็นมากขึ้น

ด้าน ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงวิกฤตน้ำกับสังคมไทยในแง่มุมทางสังคมศาสตร์ โดยชี้ประเด็นให้เห็นว่า ในสังคมไทยการเข้าถึงน้ำยังไม่เท่าเทียมกันและอำนาจในการควบคุมน้ำมักผันแปรตามสภาพทางภูมิศาสตร์ ทางเลือกทางเทคนิค และการจัดวางทางการเมืองและกฎหมาย ในอดีตการจัดการน้ำระดับท้องถิ่นไม่ผูกขาดการจัดการ และทุกครั้งที่เกิดวิกฤตการณ์ มักจะเกิดโครงการขนาดใหญ่ขึ้น (mega projects) เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ศ.ดร.อานันท์กล่าวถึงธรรมาภิบาลน้ำ โดยมี 3 หลักการ ดังนี้

• มีการศึกษาวิจัยเพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียฝ่ายต่างเข้าร่วมสร้างข้อตกลงในการบริหารจัดการน้ำ

• มีการจำแนกแยกแยะระดับในการบริหารจัดการน้ำแทนการรวมศูนย์

• มีการเสนอให้การกระจายอำนาจในการจัดการน้ำให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

ตัวอย่างผลกระทบจากการจัดการน้ำที่ไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ชาวประมงถูกบีบให้หันมาเลี้ยงปลาในกระชังแบบพันธสัญญา ต้องแบกรับความเสี่ยงของต้นทุนเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ ชาวบ้านถูกผลักให้เข้าไปติดกับดักปัญหาสามสูง ได้แก่ ค่าเช่าสูง (High Rent) ความเสี่ยงสูง (High Risk) และการสูญเสียตัวตนสูง (High Loss)

ท้ายที่สุด ศ.ดร.อานันท์สรุปว่า วิกฤตการณ์น้ำของประเทศไทยเกิดขึ้นจากวิกฤตของปัญญาความรู้ วิกฤตของโครงสร้างการบริหารจัดการที่ไร้ธรรมาภิบาล และวิกฤตของการไร้กลไกเชิงสถาบันที่ช่วยเสริมการแก้ไขปัญหา


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในจดหมายข่าวประชาคมวิจัย ฉบับที่ 16   ปีที่ 22 เดือน สิงหาคม 2560 ในชื่อ การเสวนาเรื่อง “วิกฤติน้ำกับสังคมไทย”