ชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ เรื่อง
“…การจัดการน้ำชุมชนนั้น เห็นความสำเร็จในบางชุมชนแล้วให้ชุมชนชาวบ้านที่มีความรู้ ประสบความสำเร็จ มีประสบการณ์จัดการและพัฒนาน้ำในพื้นที่ มาช่วยขยายผลไปยังชุมชนอื่น…”
จากความตอนหนึ่งในพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่พระราชทานให้กับผู้เกี่ยวข้องกับ”การจัดการน้ำชุมชน” เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2554 ณ ห้องประชุมสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ชั้น 14 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ช่วยสร้างแรงบันดาลใจต่อการขับเคลื่อนโครงการวิจัยการจัดการน้ำชุมชน ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้สนับสนุนชุมชนท้องถิ่น หน่วยงาน และสถาบันการศึกษา ดำเนินงานวิจัยในหลายพื้นที่ของประเทศไทย
การวิจัยการจัดการน้ำชุมชน นับว่าเป็นกระบวนการสำคัญที่ต้องการบริหารจัดการทั้งด้านปริมาณและคุณภาพอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ชุมชน รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ควรต้องร่วมกันทบทวนและปรับปรุงกระบวนการจัดการน้ำชุมชนให้มีความเหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ โดยคำนึงถึงความเป็นจริงและสามารถปฏิบัติได้ มีการใช้ข้อมูลในการตัดสินใจอย่างรอบด้าน เงื่อนไขสำคัญ คือ ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องเข้าใจในรากเหง้าแห่งปัญหาอย่างแท้จริง สร้างกลไกการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในการทำงานแบบร่วมด้วยช่วยกันคิด ช่วยกันหารูปแบบและวิธีดำเนินการแก้ปัญหาต่าง ๆ แบบบูรณาการในทุกมิติ จึงจะบังเกิดผลเชิงรูปธรรมและไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคม
การดำเนินการวิจัย “การจัดการน้ำชุมชน” ทีมวิจัยได้มองย้อนกลับไปทบทวนถึงการตั้งถิ่นฐานของชุมชนท้องถิ่นไทยตั้งแต่อดีตว่าล้วนผูกพันสายใยชีวิตกับคำว่า ”แหล่งน้ำ” ซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามบริบทพื้นที่ เช่น ห้วย หนอง คลอง บึง แพรก ลำปะโดง แม่น้ำ เป็นต้น คนไทยกับ”แหล่งน้ำ”จึงพึ่งพาในมิติที่หลากมิติทั้งด้านการคมนาคมขนส่ง ศิลปวัฒนธรรม ขนมธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิต อาชีพ ซึ่งล้วนเกี่ยวพันกับ”แหล่งน้ำ”ทั้งสิ้น แต่ทั้งนี้ภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมที่ถาโถมเข้ามา บทบาทของ “แหล่งน้ำ”ได้ถูกลดทอนคุณค่าไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ คนส่วนใหญ่มองและให้คุณค่า“แหล่งน้ำ” เป็นเพียงที่อยู่ ที่เก็บ เส้นทางผ่าน เส้นทางลำเลียงน้ำ เท่านั้น คุณค่าและความหมายของ ”แหล่งน้ำ” ที่มีความสำคัญและผูกพันทางคติ ความเชื่อ จิตใจ เฉกเช่นในอดีตที่ผ่านมาได้ถูกลดทอนลงไป ส่งผลให้การบำรุงดูแลรักษา “แหล่งน้ำ” ก็ถูกลดทอนคุณค่าลงไปด้วยเช่นกัน
“แหล่งน้ำ” จึงเป็นต้นทางสำคัญของ “การจัดการน้ำ” ซึ่งมีความหมายถึงการจัดหาและพัฒนา การจัดสรรและใช้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ รวมตลอดถึงการอนุรักษ์และฟื้นฟู“แหล่งน้ำ” ให้คงอยู่และมีใช้อย่างยืนยาว รวมทั้งการแก้ไขปัญหาอันเกิดจากทรัพยากรน้ำทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ
จุดเริ่มต้นของโครงการวิจัยการจัดการน้ำชุมชน ที่จะนำไปสู่ผลสำเร็จได้นั้นจะต้องเริ่มจากการศึกษาข้อมูลและเข้าใจบริบทพื้นที่ โดยผู้คนในชุมชนต้องลุกขึ้นมาศึกษาข้อมูลด้วยตนเองและต้องได้รับการยอมรับจากผู้คนในชุมชน ถึงแม้จะมีการดำเนินการวิจัยด้วยคนในชุมชนเองแล้ว ในบางครั้งข้อมูลในชุมชนเพียงส่วนเดียวอาจจะยังไม่เพียงพอสำหรับการตัดสินใจกำหนดทางเลือกทางออกในการจัดการน้ำของชุมชน ดังนั้นในการวิจัยจึงต้องเชื่อมโยงความรู้ในท้องถิ่นกับความรู้ทางวิชาการจากภายนอกเข้ามาหนุนช่วย อันจะนำไปสู่การสร้างเครือข่ายนักวิจัย “การจัดการน้ำชุมชน” ซึ่งเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมในการทำงานระหว่างชุมชน นักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเก็บรวบรวม สรุปวิเคราะห์ และนำข้อมูลไปสู่การจัดการความมั่นคงด้านน้ำร่วมกัน โดยการผสมผสานความรู้ทางวิชาการกับภูมิปัญญาท้องถิ่น
ในการบริหารจัดการงานวิจัย “การจัดการน้ำชุมชน” จึงต้องยึดเอา “คน” เป็นศูนย์กลาง ในการทำงานโดยเริ่มจากการทำให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกัน ผ่านการเรียนรู้จนเกิดความเข้าใจบริบทและเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ รวมถึงต้องเชื่อมโยงกับข้อมูลปริมาณและคุณภาพน้ำ ความต้องการการใช้น้ำของชุมชนในทุกกลุ่มเป้าหมาย นำมาวิเคราะห์และกำหนดเป็นแผนการจัดการน้ำของชุมชนให้สอดคล้องกับบริบทและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงจังหวะเวลา แต่การที่จะทำให้คนในพื้นที่เกิดความเข้าใจและมาร่วมกันวางแผนการจัดการน้ำโดยชุมชนนั้น จำเป็นต้องใช้เครื่องมือการเก็บข้อมูลที่เน้นการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในชุมชน รวมถึงการวิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูลร่วมกันผ่านกระบวนการต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ โดยสามารถสรุปเป็นกระบวนการในการบริหารงานวิจัยการจัดการน้ำชุมชน ได้ดังนี้
การออกแบบกิจกรรม
ทีมวิจัยต้องออกแบบกิจกรรมและวางแผนการทำงานให้สอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่น และสร้างการมีส่วนร่วม ให้”คน”เข้ามามีส่วนร่วม พบปะ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผ่านกิจกรรมที่ช่วยเชื่อมร้อยคน
รูปแบบกิจกรรมสำคัญ ได้แก่
• กิจกรรมการพัฒนาฐานข้อมูล โดยสำรวจภาคสนามของเส้นทางน้ำ แหล่งน้ำ และนำข้อมูลของภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาประกอบ พร้อมกับให้ชาวบ้านได้วิเคราะห์ สังเคราะห์การใช้ประโยชน์ และการเปลี่ยนแปลงของแหล่งน้ำ
• กิจกรรมทำแผนผังน้ำทำมือโดยชาวบ้าน ผ่านการเก็บรวบรวมข้อมูลในพื้นที่ และนำมาวาดภาพเส้นทางน้ำเพื่อให้เห็นระบบไหลเวียนภาพของน้ำ และเชื่อมฐานข้อมูลเส้นทางน้ำในรูปแบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System; GIS) โดยภาพถ่ายที่ผ่านการสำรวจภาคสนามด้วยกระบวนการเชื่อมโยงทุกมิติ (hyperlink) นำมาสร้างความเชื่อมโยงฐานข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์กับรูปภาพ
• กิจกรรมการทำผังน้ำรวม ที่ให้ชาวบ้านนำข้อมูลในพื้นที่ของตัวเองมาประกอบเป็นผังน้ำรวมของพื้นที่ทำให้เห็นความเชื่อมโยงของวิถีชีวิตคนในพื้นที่ต่าง ๆ โดยมีน้ำเป็นองค์ประกอบหลัก
• กิจกรรมให้ชาวบ้านร่วมกันวิเคราะห์ภาพอนาคตที่ชุมชนอยากให้เป็นโดยเชื่อมโยงกับ “ภาพอนาคต” เพื่อให้ร่วมกันออกแบบภูมิสถาปัตย์ของชุมชนที่ต้องการ
• ให้ชาวบ้านร่วมกำหนดแนวทางการจัดการน้ำที่สอดคล้องระบบนิเวศของชุมชน
ดึงทุกภาคส่วนเข้าร่วม
การดึงการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยใช้โครงการวิจัยฯ เป็นกลไกสำคัญการดึง “คน” จากทุกภาคส่วน คือ แกนนำชาวบ้านในพื้นที่ อาทิ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กลุ่มเด็กและเยาวชนในพื้นที่ เป็นต้น โดยให้เข้าร่วมผ่านความสมัครใจ เน้นใช้วิธีดึงกลุ่มคนที่เข้าร่วมทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ในพื้นที่เป็นประจำ ขณะเดียวกันทีมวิจัยต้องประสานงานกับส่วนราชการและท้องถิ่นให้เข้ามาร่วมกระบวนการด้วย อาทิ เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล หรือส่วนงานที่เกี่ยวข้องของจังหวัด รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ อาทิ ชลประทานในพื้นที่ เป็นต้น โดยใช้วิธีขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานต้นสังกัด และย้ำให้เจ้าหน้าที่คนเดิมมาร่วมกิจกรรมสม่ำเสมอโดยเฉพาะช่วงกิจกรรมสำรวจภาคสนาม ทำให้ท้องถิ่นและส่วนราชการเห็นข้อมูลร่วมกับชาวบ้าน และยังเป็นช่องทางสำคัญให้หน่วยงานรัฐมีโอกาสรับฟังเสียงของคนเล็กคนน้อยช่วยให้ปัญหาสามารถนำไปสู่การแก้ไขได้ง่ายขึ้น
รู้จักบ้านเกิด
การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของท้องถิ่นเพื่อให้ชาวบ้านได้รู้จักชุมชนของตนเองเป็นเครื่องมือที่ทีมวิจัยใช้สร้างความตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามากระทบร่วมกัน เพื่อดึงการมีส่วนร่วม สำหรับเนื้อหาการเรียนรู้ ได้แก่ ที่มาของชุมชน วิถีชีวิตในอดีต สถานที่หรือจุดสำคัญที่สูญหายไป และที่ยังคงอยู่ อาทิ วัดเก่าแก่ สะพานไม้ ต้นไม้ใหญ่ ตลาดเก่า เป็นต้น
การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ยังช่วยนำไปสู่การทบทวนเส้นทางน้ำ แหล่งน้ำที่มีในพื้นที่ และความสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนในชุมชน และเพื่อให้เห็นความสำคัญเป็นรูปธรรม ให้มีการประเมินคุณค่าทางเศรษฐศาสตร์ของแหล่งน้ำ เปรียบเทียบมูลค่าที่เกิดในปัจจุบัน กับมูลค่าที่เพิ่มขึ้นหากแหล่งน้ำมีความสมบูรณ์ จากนั้นให้ชาวบ้านแต่ละชุมชนเขียนแผนที่น้ำ หรือเส้นทางไหลของน้ำด้วยตัวเองและนำมาแลกเปลี่ยนระหว่างพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลโดยมีนักวิชาการมาช่วยด้านเทคนิค และให้ชาวบ้านเรียนรู้เทคนิคการเชื่อมโยงข้อมูลไปพร้อมกันด้วย
สร้างคนรุ่นใหม่สืบทอดงานท้องถิ่น
ความต่อเนื่องเป็นสิ่งสำคัญ จึงจำเป็นต้องมีการสร้างเด็กรุ่นใหม่เพื่อสร้างแนวร่วมในอนาคต ดังนั้นควรเชิญชวนชาวบ้านที่ร่วมโครงการให้นำเด็กและเยาวชนเข้ามาในกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับผู้ใหญ่ด้วยทำให้เด็กเยาวชนได้เห็นถึงสถานการณ์และสภาพปัญหาไปพร้อมกับผู้ใหญ่ และควรเพิ่มเติมความรู้เกี่ยวกับการจับพิกัด GPS (Global Positioning System) เพื่อทำแผนที่ทางน้ำไหลผ่านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ทำให้เด็กเรียนรู้การนำเทคโนโลยีใหม่มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน
ผลักดันแผนการจัดการน้ำสู่ระดับนโยบาย (Bottom-up)
ทีมวิจัยควรกำหนดให้หน่วยงานรัฐและท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่ต้น ทำให้เห็นสถานการณ์ ปัญหาร่วมกัน และมีส่วนร่วมกับชาวบ้านทำแผนการจัดการน้ำชุมชน ทำให้แผนฯ มีโอกาสถูกผลักดันไปสู่ระดับนโยบายและปฏิบัติได้จริง เป็นแผนจากล่างขึ้นบน (bottom up) หรือแผนที่เกิดจากความต้องการของประชาชน จากที่มักเป็นแผนจากบนลงล่าง หรือแผนที่กำหนดโดยฝ่ายนโยบายเพื่อให้ประชาชนนำเอาใช้ปฏิบัติ (top down)
พบปะสม่ำเสมอ
มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้สม่ำเสมอ โดยทีมวิจัยกำหนดตารางพบปะระหว่างเครือข่ายคนทำงานท้องถิ่นจากพื้นที่ต่าง ๆ เป็นประจำทุกเดือน หมุนเวียนสลับไปจัดในพื้นที่อื่น ๆ ทั้งในและนอกพื้นที่ เนื่องจากเรื่องทรัพยากรน้ำมีความเกี่ยวข้องกันในหลายพื้นที่ การขับเคลื่อนเฉพาะพื้นที่ของตนเองอาจทำให้ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเบ็ดเสร็จ การเป็นเจ้าภาพเพื่อพบปะทีมวิจัยชาวบ้านในพื้นที่ต่าง ๆ ต้องหาคนกลางที่ได้รับความเชื่อถือ จึงจะทำหน้าที่นี้ได้ดี
สำหรับแก่นของการทำกิจกรรมพบปะเครือข่ายคนทำงานท้องถิ่นได้ให้แต่ละพื้นที่นำเสนอความก้าวหน้าของการทำงาน เพื่อกระตุ้นให้ทำกิจกรรม หรือโครงการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการรวมกลุ่มการทำงาน และติดตามการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่อย่างใกล้ชิด ซึ่งจะทำให้แต่ละพื้นที่มีโครงการอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ตามมา
ก้าวแห่งความยั่งยืน
การคิดจากล่างขึ้นบน (bottom up) หรือการคิดจากชาวบ้านสู่การกำหนดนโยบายประเทศของรัฐ จะต้องนำกระบวนการฝึกอบรมมาเสริมด้วย เพื่อพัฒนาศักยภาพของชาวบ้านให้เป็นนักวิจัยในอนาคตที่สามารถคิด วิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ รวมถึงมีขีดความสามารถในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ประโยชน์ในการเรียนรู้
สำหรับรูปแบบการอบรม ทีมวิจัยควรเติมทั้งองค์ความรู้ที่เป็นเทคนิคใหม่ ๆ การอบรมทักษะ และกระบวนการคิด โดยทำพร้อมกันทุกภาคส่วนทั้งชาวบ้านและเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และส่วนราชการในท้องถิ่น ให้เรียนรู้ร่วมกัน
สำหรับการจัดอบรมทักษะและกระบวนการคิด เน้นทักษะการมองโลกเชิงนิเวศวิทยาหรือเชิงระบบ (system thinking) เพื่อให้มองทุกมิติที่เกี่ยวข้องอย่างเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน (integration) ทำให้ทุกภาคส่วนเห็นความข้องเกี่ยวของปัจจัยต่าง ๆ ตามทฤษฎีผีเสื้อกระพือปีก หรือเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว ก่อให้เกิดภาพที่ชัดเจนและมองอย่างเชื่อมโยงเป็นระบบ ทำให้ทุกคนเห็นว่าทุก ๆ การกระทำของตนเองที่ส่งผลเสีย จะมีผลไปถึงเรื่องอื่น ๆ และพื้นที่ต่าง ๆ ด้วย อาทิ การปล่อยน้ำเสีย ที่สร้างผลกระทบในวงกว้าง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ผลจากการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการทำงานกับทุกภาคส่วน ทำให้เกิดรูปธรรมการขับเคลื่อนงานอย่างยั่งยืน มีการนำเสนอแผนการจัดการน้ำเข้าสู่ท้องถิ่น ได้แก่ เทศบาลตำบลกระดังงา อบต.บางสะแก อบต.แควอ้อม อบต.บางคนที จัดทำโครงการลงแขกลงคลองอย่างต่อเนื่อง ปี 2558 สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 7 กรมทรัพยากรน้ำสนับสนุนงบประมาณขุดลอกคลองในพื้นที่ อบต.ปลายโพงพาง งบประมาณ 7.43 ล้านบาท และได้อนุมัติวงเงิน 30 ล้านบาท
ในแผนปี 2559 หอการค้าจังหวัดสมุทรสงครามและภาคีเครือข่ายได้นำข้อมูลแผนการจัดการน้ำนำเสนอต่อคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) จังหวัดสมุทรสงคราม สภาพัฒนาการเมืองนำข้อมูลแผนน้ำไปต่อยอดการจัดทำแผนน้ำระดับจังหวัด เทศบาลตำบลสวนหลวงนำข้อมูลผลการวิเคราะห์คุณภาพน้ำและดินตะกอนไปใช้ในการบริหารจัดการลำปะโดงและการจัดการคุณภาพน้ำผ่านการสนับสนุนงบประมาณดำเนินงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จากสภาวิจัยแห่งชาติ
ปี 2559 เกิดการจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่นของตำบลบางสะแก – บ้านปราโมทย์ เพื่ออนุรักษ์ลำปะโดง โดยการจัดทำแผนผังชุมชนอย่างมีส่วนร่วม กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน สิ่งก่อสร้าง และการปลูกสร้างภูมิสถาปัตย์ริมน้ำที่เอื้อต่อการจัดการลำปะโดง อปท. มีการเก็บและปรับปรุงลำปะโดงอย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปใช้ในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น โครงการชลประทานสมุทรสงครามและสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 7 นำข้อมูลจาก อปท. ไปใช้ในการวางแผนการพัฒนาในระดับพื้นที่และลุ่มน้ำแม่กลอง รวมทั้งเกิดการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำของประชาคมคนรักแม่กลองในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
รูปธรรมการการบูรณาการการจัดทำแผนความมั่นคงด้านน้ำจากระดับชุมชน ตำบล อำเภอ และจังหวัด ผ่านการจัดทำข้อมูลเชิงวิชาการจากทุกภาคส่วนและผลักดันเข้าสู่ อปท. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ นำไปสู่การลดความขัดแย้งในพื้นที่ เกิดเป็นพื้นที่ต้นแบบในการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนให้กับพื้นที่อื่นที่มีปัญหาเช่นเดียวกัน จนได้รับการเผยแพร่ในรายการหนึ่งในพระราชดำริ ตอน “สายน้ำ สายสัมพันธ์สู่ชุมชน” ออกอากาศเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2558 และมีหลักสูตรเสริมพลังชุมชนการจัดทำแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีส่วนร่วมในระดับชุมชน ท้องถิ่น และจังหวัด สำหรับเจ้าหน้าที่และชุมชนที่เกิดจากการดำเนินโครงการ เป็นบทเรียนที่สามารถนำไปขยายผลให้กับพื้นที่และมีหน่วยงานที่สนใจมาศึกษาดูงาน เช่น กองการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมชลประทาน สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เป็นต้น
ท้ายที่สุดนี้เราจะจัดการน้ำในยุคปัจจุบันให้เกิดผลได้อย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของชุมชน ซึ่งแนวทางจากการวิจัยที่นำเสนอมาทั้งหมด ก็ด้วยตระหนักถึงสภาพปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำที่ในปัจจุบันมีปัญหามากมาย มีผลกระทบโดยตรงกับผู้คนที่อาศัยอยู่ในชุมชน ด้วยความมุ่งหวังที่จะให้ “การวิจัยการจัดการน้ำโดยชุมชน” เป็นทางเลือก ทางออกของการบริหารจัดการแนวใหม่ที่มุ่งสู่ประสิทธิภาพและคุณภาพอย่างแท้จริงที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถจัดการให้มีทรัพยากรใช้อย่างเพียงพอทั่วถึงตามศักยภาพของพื้นที่และความต้องการ มีการใช้น้ำที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุดภายใต้การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยให้ทุกส่วนในสังคม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชนและประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมในการจัดการน้ำอย่างมีเอกภาพเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
เรื่องเล็ก ๆ ในชุมชนที่ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานได้ หากมีการหลอมรวมคนทำงานเป็นเครือข่าย เก็บรวบรวม สรุปวิเคราะห์ข้อมูล และเชื่อมโยงองค์ความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นและความรู้จากนักวิชาการ นำเสนอต่อองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น อำเภอ จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็สามารถบูรณาการงบประมาณและแผนการจัดการน้ำร่วมกันในระดับชุมชน ภูมิภาค และลุ่มน้ำสาขาในประเทศจนเกิดรูปธรรมที่ยั่งยืนต่อไป
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในจดหมายข่าวประชาคมวิจัย ฉบับที่ 134 ปีที่ 23 เดือน กรกฎาคม-สิงหาคม 2560 ในชื่อ การบริหารจัดการชุดโครงการวิจัยการจัดการน้ำชุมชน