รายงาน: รู้จัก “คนร้อยปี” ไทยให้มากขึ้น

“คนร้อยปี” หรือ “ศตวรรษิกชน” คือประชากรที่มีอายุเกิน 100 ปี ขึ้นไป คนร้อยปีมักเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนและสังคมมาโดยตลอด เห็นได้จากการรายงานข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ที่มักถ่ายทอดเรื่องราวการดำรงชีวิตของคนร้อยปี ทั้งนี้ เพราะความเป็นอยู่ของคนร้อยปีเป็นดัชนีชี้วัดความยืนยาวของชีวิต (longevity) ของคนในสังคม ซึ่งสะท้อนถึงภาวะสุขภาพที่ดีของคนในสังคมนั้น นอกจากนั้น คนร้อยปีเป็นกลุ่มประชากรที่มีคุณค่า เพราะเป็นแหล่งสะสมภูมิปัญญาและสามารถเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตให้แก่คนรุ่นหลังได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ดี ความรู้เกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของคนร้อยปีของสังคมไทยในภาพรวมยังมีน้อย เราไม่ทราบแน่ชัดว่าคนร้อยปีไทยมีจำนวนเท่าไร และสภาพความเป็นอยู่ของพวกเขาเป็นอย่างไร ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับคนร้อยปียังเป็นแนวทางให้คนไทยได้เรียนรู้เพื่อเตรียมตัวเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพได้อีกด้วย

100old1

งานวิจัยเรื่อง “การศึกษาศตวรรษิกชนคนร้อยปีในประเทศไทย” (2559) โดย ศ.ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุลและคณะ แห่งสถาบันวิจัยสังคมและประชากร มหาวิทยาลัยมหิดล สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ศึกษาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางประชากรของผู้สูงอายุวัยปลาย และลักษณะประชากรศาสตร์ของศตวรรษิกชนคนร้อยปีในประเทศไทย นับเป็นงานวิจัยที่ศึกษาคนร้อยปีในไทยอย่างเป็นระบบที่สุด

แม้ข้อมูลทะเบียนราษฎรในปี 2558 ระบุว่ามีจำนวนคนร้อยปีมากถึง 29,052 คน แต่งานวิจัยชิ้นนี้สำรวจพบคนร้อยปีที่ยังมีชีวิตอยู่จริงในสังคมไทยเพียง 1,026 คน เท่านั้น ทั้งนี้งานวิจัยได้ทบทวนพัฒนาการของการจัดทำทะเบียนราษฎรของประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและพบว่า ข้อมูลคนร้อยปีตามทะเบียนราษฎรของกระทรวงมหาดไทยไม่มีความถูกต้อง เนื่องมาจากความผิดพลาดในการพัฒนาระบบทะเบียนราษฎรในอดีต อันเกิดจากความไม่ถูกต้องของต้นฉบับทะเบียนบ้าน และความผิดพลาดในขั้นตอนของการถ่ายข้อมูลจากเอกสารกระดาษไปสู่ระบบคอมพิวเตอร์ รวมถึงระบบการลบชื่อคนตายออกจากระบบ

การที่ไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับคนร้อยปีอย่างแน่ชัด ส่งผลให้การกำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมหรือช่วยเหลือคนร้อยปีไม่มีความถูกต้องมาโดยตลอด

งานวิจัยรายงานว่า ในจำนวนคนร้อยปี 1,026 คน (คิดเป็นร้อยละ 3.5 ของจำนวนคนร้อยปีตามหลักฐานทะเบียนราษฎร) คิดเป็นชาย 209 คน และหญิง 817 คน โดยอาศัยอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ดังนี้

  • กรุงเทพมหานคร 131 คน ชาย 28 คน หญิง 103 คน
  • ภาคกลาง 191 คน ชาย 36 คน หญิง 155 คน
  • ภาคเหนือ 175 คน ชาย 55 คน หญิง 120 คน
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 259 คน ชาย 45 คน หญิง 214 คน
  • ภาคใต้ 270 คน ชาย 45 คน หญิง 225 คน

นอกจากนี้ งานวิจัยยังได้เผยสถานะสุขภาพของคนร้อยปีอีกด้วย จากการประเมินสุขภาพของกลุ่มตัวอย่างคนร้อยปีจำนวน 45 ราย จาก 4 จังหวัด ใน 4 ภาค โดยแบ่งการประเมินสุขภาพเป็น 5 ด้าน ได้แก่ ความจำ การเคลื่อนไหว การมองเห็น การได้ยิน และความสามารถในการนำอาหารเข้าปาก พบว่าคนร้อยปีร้อยละ 47 เท่านั้นที่มีสุขภาพโดยรวมในเกณฑ์ดี ส่วนคนร้อยปีอีกร้อยละ 53 ถูกจัดว่ามีสุขภาพไม่ดี โดยปัญหาสุขภาพของคนร้อยปีสามารถจำแนกได้ดังนี้

  • ด้านความจำ คนร้อยปีที่มีความจำดีมากและสามารถสื่อสารได้ดีนั้นมีเพียงร้อยละ 34 ส่วนพวกที่มีอาการหลงลืมจำอะไรไม่ได้มีอยู่ร้อยละ 14
  • ด้านการเคลื่อนไหว เกือบครึ่งของคนร้อยปี (ร้อยละ 45) ยังพอเคลื่อนไหวได้ ลุกขึ้นนั่งได้ และยังสามารถกระเถิบกระถัดไปด้วยตนเองได้ อย่างไรก็ดี ยังมีคนร้อยปีอีกประมาณหนึ่งในสี่ (ร้อยละ 24) ไม่สามารถขยับตัวไปไหนได้ หรือนอนติดเตียง
  • ด้านการมองเห็น ร้อยละ 48 ของคนร้อยปียังพอมองเห็นบ้าง แต่ไม่ชัดนัก ในขณะที่คนร้อยปีร้อยละ 15 หรือหนึ่งส่วนสี่ตาบอดสนิท หรือฝ้าฟางจนเลือนราง
  • ด้านการได้ยิน ร้อยละ 55 หรือครึ่งหนึ่งของคนร้อยปีมีปัญหาหูหนักหรือหนวก ต้องพูดเสียงดังถึงจะได้ยิน มีเพียงคนร้อยปีร้อยละ 11 เท่านั้น ที่มีอาการหูบอดสนิท
  • ด้านการกิน คนร้อยปีร้อยละ 80 ยังสามารถทานอาหารได้ด้วยตัวเอง

ถึงแม้คนร้อยปีจะเป็นกลุ่มคนที่มีอายุยืนยาวเป็นพิเศษ แต่ภายใต้ความยืนยาวของอายุก็นำมาซึ่งความเสื่อมถอยแก่ร่างกายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จากสภาพที่เห็น มากกว่าครึ่งหนึ่งของคนร้อยปีมีสุขภาพไม่ดี เช่น ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เคลื่อนไหวลำบาก ความจำเลอะเลือน หูดับ ปัจจัยเหล่านี้นำมาซึ่งความทุกข์ใจและความลำบากแก่คนร้อยปีอย่างมาก ซึ่งสังคมมีหน้าที่จะต้องดูแลกลุ่มคนร้อยปีเหล่านี้ให้เหมาะสม อย่างไรก็ดี ด้วยจำนวนผู้สูงอายุรวมถึงคนร้อยปีที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าสังคมจะต้องมีหน้าที่แบกรับภาระดูแลกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความเปราะบางเหล่านี้มากขึ้น

มากกว่าครึ่งหนึ่งของคนร้อยปีมีสุขภาพไม่ดี เช่น ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เคลื่อนไหวลำบาก ความจำเลอะเลือน หูดับ ปัจจัยเหล่านี้นำมาซึ่งความทุกข์ใจและความลำบากแก่คนร้อยปีอย่างมาก ซึ่งสังคมมีหน้าที่จะต้องดูแลกลุ่มคนร้อยปีเหล่านี้ให้เหมาะสม

ด้วยเหตุนี้ งานวิจัยจึงได้เสนอข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อเตรียมรับมือปัญหาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนร้อยปี ดังนี้

  1. ควรมีการวางแผนทางนโยบาย และวางมาตรการในการเพิ่มจำนวนปีที่ปลอดทุพพลภาพและลดช่วงเวลาของการอยู่ในภาวะทุพพลภาพของผู้สูงอายุวัยปลาย โดยต้องดำเนินการให้ครอบคลุมทุกด้าน เช่น การรณรงค์ให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพก่อนวัยสูงอายุ เพิ่มสวัสดิการรักษาพยาบาลและป้องกันโรคในทุกช่วงวัย หรือนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของผู้สูงอายุเพื่อส่งเสริมให้เกิดการสูงวัยอย่างมีความกระฉับกระเฉง
  2. ควรตรวจสอบคนร้อยปีที่ไม่มีชีวิตหรือไม่มีตัวตนอยู่แล้วเพื่อคัดออกจากทะเบียนราษฎร และสร้างระบบทะเบียนราษฎรที่แม่นยำและถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อให้สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการวางแผนหรือนโยบายได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
  3. ควรคำนึงถึงการตรวจสอบอายุจริงของคนร้อยปี และใช้ประกอบการพิจารณาประกาศเกียรติคุณต่างๆ เพื่อให้รางวัลแก่ผู้ที่อายุถึง 100 ปีอย่างแท้จริง อันจะเป็นการสร้างความภูมิใจแก่คนร้อยปีอย่างสมเกียรติ

อ่านเพิ่มเติม: งานวิจัยการศึกษาศตวรรษิกชนคนร้อยปีในปะเทศไทย (2559) โดย ศ.ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล และคณะ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)